3 ข้อต้องคิดก่อนรีไฟแนนซ์

3 ข้อต้องคิดก่อนรีไฟแนนซ์

Categories : Infographic
Tags : , ,

ความฝันของผู้ที่มีบ้านส่วนใหญ่ คือ อยากจะปิดหนี้ไวๆ ยิ่งเมื่อได้รับใบเสร็จจากธนาคารทุกคนคงตกใจ เมื่อเห็นว่าเงินที่ผ่อนชำระเกือบทั้งหมดเป็นส่วนของดอกเบี้ย แทบจะไม่ได้ลดเงินต้นลงเลย จนทำให้รู้สึกว่า “การผ่อนบ้านนั้นช่างยาวนานเสียเหลือเกิน” และเมื่อกู้เงินผ่านมาสักระยะหนึ่ง คนส่วนมากจะคิดถึงการ “รีไฟแนนซ์บ้าน” เพื่อให้ภาระดอกเบี้ยลดลง

การรีไฟแนนซ์ คือ การกู้เงินก้อนใหม่ไปชำระหนี้ยอดเดิมที่มีอยู่ ทำให้การผ่อนต่อเดือนน้อยลง โดยขยายระยะเวลากู้ออกไป หรือขอลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงตามโปรโมชั่นที่มีอยู่ของสถาบันการเงิน นอกจากนี้ สถาบันการเงินบางแห่งยังยื่นข้อเสนอเพิ่มเงินกู้ให้อีก หากมูลค่าบ้านในการประเมินครั้งใหม่สูงกว่ายอดหนี้เดิมที่มี อย่างไรก็ดี บทความนี้มี 3 ข้อควรคิด…ก่อนวางแผนรีไฟแนนซ์ ที่ควรพิจารณาให้รอบคอบ ดังนี้

1.ค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ แบ่งเป็น

– ค่าใช้จ่ายให้กับสถาบันการเงินเดิม ได้แก่ ค่าปรับกรณีไถ่ถอนหลักประกันก่อนกำหนด ซึ่งโดยทั่วไปมักกำหนดระยะเวลาห้ามไถ่ถอนไว้ที่ไม่เกิน 3 ปีนับจากวันเริ่มกู้ และมักมีค่าปรับประมาณ 2-3% ของยอดหนี้
– ค่าใช้จ่ายให้กับสถาบันการเงินใหม่ ได้แก่ ค่าประเมินมูลค่าหลักประกัน ค่าธรรมเนียมการใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fix Rate) และนอกจากนี้ยังมีเบี้ยประกันอัคคีภัย หากกรมธรรม์เดิมยังมีความคุ้มครอง เจ้าของบ้านสามารถแจ้งโอนผลประโยชน์จากสถาบันการเงินเดิม เพื่อยกผลประโยชน์ให้สถาบันการเงินแห่งใหม่ได้
– ค่าใช้จ่ายกรมที่ดิน ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการจดจำนอง 1% และค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้

2.ผลประโยชน์ที่ได้รับเพิ่มขึ้นจากการรีไฟแนนซ์ เช่น หากมียอดหนี้ที่ต้องการโอน 1 ล้านบาท ปัจจุบันเสียอัตราดอกเบี้ยที่ 7.13% ต่อปี ขณะที่สถาบันการเงินแห่งใหม่เสนออัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี เท่ากับ 3.45% ต่อปี คิดเป็นส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเท่ากับ 3.68% ต่อปี หรือสามารถประหยัดดอกเบี้ยในช่วง 3 ปี ได้ถึง 108,253 บาท (คิดแบบลดต้นลดดอกเบี้ย)

3.เงื่อนไขอื่นๆ จากการรีไฟแนนซ์ เพื่อใช้ในการพิจารณาก่อนการตัดสินใจ

– พิจารณาค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น หากมีโครงการที่จะขายบ้านในช่วง 3 ปีหลังรีไฟแนนซ์ อาจมีค่าปรับในการปิดบัญชีก่อนกำหนดเพิ่มอีก 2-3% ของวงเงินกู้
– พิจารณายอดหนี้และระยะเวลาการผ่อนชำระที่เหลือ เช่น หากยอดหนี้คงเหลือไม่มากนัก ระยะเวลาการผ่อนเหลืออีกแค่ 1-2 ปี หรืออาจมีเงินโบนัสมาปิดหนี้ก่อนกำหนด การรีไฟแนนซ์อาจเป็นทางเลือกที่ได้ไม่คุ้มเสีย
– พิจารณาเงื่อนไขอื่น เช่น สถาบันการเงินบางแห่งมีเงื่อนไขให้ผ่อนค่างวดได้ไม่เกิน 2 เท่าของยอดผ่อนปกติ หรือมีค่าปรับกรณีชำระหนี้ก่อนกำหนด เท่ากับว่าหากมีเงินสดก็ไม่สามารถลดยอดหนี้ได้ในระยะเวลาที่ใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่

การวางแผนรีไฟแนนซ์จะคุ้มค่าหรือไม่นั้น เจ้าของบ้านควรเปรียบเทียบค่าใช้จ่าย ผลประโยชน์ที่ได้รับเพิ่มขึ้นและเงื่อนไขอื่นๆ ที่เป็นข้อจำกัด ทั้งนี้ ควรพิจารณาถึงปัจจัยที่ไม่ได้เป็นตัวเงินด้วย เช่น ค่าเดินทาง ค่าเสียเวลาในการประเมินหลักประกัน ฯลฯ สำหรับหลายๆ ท่านที่ติดเงื่อนไขการไถ่ถอนหลักประกันก่อนกำหนด ทำให้ต้องเสียค่าปรับเพิ่ม 2-3% หากตัดเงื่อนไขนี้ออกไปแล้ว จะทำให้การรีไฟแนนซ์นั้นได้รับประโยชน์มากขึ้น ดังนั้น การรีไฟแนนซ์ที่ดีควรดูช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมด้วยจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก K-Expert

บทความ Infographic ล่าสุด