ก่อสร้างหรือดัดแปลงบ้าน ต้องมีระยะร่น

ก่อสร้างหรือดัดแปลงบ้าน ต้องมีระยะร่น

กฎหมายควบคุมอาคารมีข้อกำหนดให้อาคารทุกประเภทต้อง “ร่นแนวอาคาร” จากแนวเขตที่ระบุไว้

นอกเหนือจากการต้องเว้นให้มีที่ว่างสำหรับอาคารทุกหลังที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงแล้ว กฎหมายควบคุมอาคารยังมีข้อกำหนดให้อาคารทุกประเภทต้อง ร่นแนวอาคาร  จากแนวเขตที่ระบุไว้ ไม่ว่าจะเป็นการต้องร่นแนวอาคารจากเขตถนนสาธารณะ หรือร่นจากเขตทางน้ำสาธารณะ บางข้อกำหนดให้ ผนังหรือระเบียงต้องห่าง  จากแนวเขตที่ดิน หรือต้องห่างจากผนังอาคารของผู้อื่นที่อยู่ข้างเคียง หรือต้องห่างจากผนังหรือระเบียงอาคารอื่นที่อยู่ในที่ดินเจ้าของเดียวกัน

หลายคนเรียกข้อกำหนดนี้ว่า ระยะร่น” และ “ระยะห่าง” ของอาคาร

ก่อนดูในรายละเอียดของระยะร่น ท่านเจ้าของบ้านควรต้องทราบแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการร่นแนวอาคาร เพราะกฎหมายควบคุมอาคารกำหนดให้ต้อง ร่นแนวอาคาร  แต่ไม่ได้เขียนให้ชัดว่า แนวอาคาร  ที่ว่านั้นหมายถึงแนวไหนของตัวอาคาร หากไม่ใช่ข้อกำหนดที่ระบุชัดว่าเป็นผนังหรือระเบียง หลายคนเลยอาจคิดว่าแนวอาคารอาจหมายถึง แนวชายคา แนวกันสาด หรือแนวใดๆของอาคารยื่นออกไปมากที่สุด

ปัจจุบันแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นโดยทั่วไปแล้วจะพิจารณาแนวอาคาร โดยถือเอาแนวผนังอาคาร หรือแนวเสาของอาคารที่อยู่ริมด้านนอกสุด แต่จะไม่รวมถึงกันสาด ชายคา หรือหลังคา 
(อ้างอิงจากหนังสือตอบข้อหารือของกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่ มท.0710/10880 และที่ มท.0710/13604)

โดยระยะร่นทั้งหลายก็ให้วัดจากแนวเขตที่กฎหมายกำหนด เช่น กึ่งกลางถนนสาธารณะไปจนถึงผนังอาคารหรือเสาที่อยู่ริมนอกสุดของอาคารที่จะ ก่อสร้างหรือดัดแปลงนั่นเอง อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นเพียงแนวปฏิบัติ ดังนั้นในอนาคตก็อาจมีแนวปฏิบัติที่แตกต่างออกไป

ระยะร่นอาคารจากแนวเขตที่กฎหมายกำหนดที่สำคัญ คือ ระยะร่นจากถนนสาธารณะ  เนื่อง เพราะถนนเป็นที่สาธารณะ ซึ่งอาคารส่วนใหญ่มักจะก่อสร้างใกล้ถนน และต้องก่อสร้างไม่ให้ส่วนใดของอาคารล้ำเข้าไปในที่สาธารณะ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นกรณีไป

ระยะร่นจากถนนสาธารณะ
กฎหมายควบคุมอาคารกำหนดให้อาคารทุกประเภทที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงต้องมีระยะร่นจากถนนสาธารณะ

โดยระยะที่ต้องร่นแนวอาคารขึ้นกับว่าถนนสาธารณะที่อยู่ใกล้นั้นมีความกว้างเท่าใด และขึ้นกับว่าอาคารที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงนั้นเป็นอาคารประเภทใด โดยกฎหมายเขียนเรื่องนี้อยู่ในข้อเดียวกัน แต่เขียนเป็นสองวรรค

(แต่ละวรรคก็คือแต่ละย่อหน้านั่นเอง เพียงแต่กฎหมายในระดับรอง เช่นกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติ ใช้คำเรียกว่า “วรรค” ในที่นี้จึงขอเขียนคำว่าวรรคนำหน้าเพื่อให้อ้างอิงได้)

– วรรคแรก ถนนสาธารณะที่มีความกว้างเขตทางน้อยกว่า 6 เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากกึ่งกลางถนนสาธารณะไม่น้อยกว่า 3 เมตร กรณีนี้ไม่ได้ระบุประเภทอาคารจึงบังคับใช้กับทุกอาคาร

– วรรคสอง สำหรับอาคารที่สูงเกิน 2 ชั้นหรือเกิน 8 เมตร ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว อาคารพาณิชย์ โรงงาน อาคารสาธารณะ ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย หรือคลังสินค้า ที่ก่อสร้างสร้างใกล้ถนนสาธารณะที่มีความกว้างต่างๆ ให้มี ระยะร่นดังนี้

1. ถนนสาธารณะที่มีความกว้างน้อยกว่า 10 เมตร
ให้ร่นแนวอาคารห่างจากกึ่งกลางถนนสาธารณะไม่น้อยกว่า 6 เมตร

2. ถนนสาธารณะที่มีความกว้างตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป แต่ไม่เกิน20 เมตร
ให้ ร่นแนวอาคารห่างจากเขตถนนสาธารณะไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของความกว้างของเขตถนนนั้นๆ เช่น ถ้าถนนกว้าง 12 เมตร แนวอาคารต้องร่นห่างจากเขตถนนเท่ากับ 1.20 เมตร

3. ถนนสาธารณะที่มีความกว้างตั้งแต่ 20 เมตรขึ้นไป
ให้ร่นแนวอาคารห่างจากเขตถนนสาธารณะไม่น้อยกว่า 2 เมตร

หลายคนอ่านแล้วอาจคิดต่อว่าในวรรคสอง (1) กำหนดความกว้างของถนนสาธารณะว่ากว้างน้อยกว่า 10 เมตร แปลว่า ถ้าถนนกว้างเพียง 4 เมตร จะเข้าเกณฑ์ทั้งวรรคแรกและวรรคสอง (1) แล้วจะใช้ระยะร่นตามวรรคไหน เพราะวรรคแรกให้ร่นเพียง 3 เมตรแต่วรรคสอง (1) ให้ร่นถึง 6 เมตร แต่ให้สังเกตว่าในวรรคสองนั้นมีกำหนดประเภทของอาคารไว้ด้วย

หมายความว่าอาคารตามที่ระบุเท่านั้นจึงใช้ตัวเลขระยะร่นตามวรรคสอง (1) นอกจากนั้นจึงให้ใช้ตัวเลขระยะร่นตามวรรคแรก ซึ่งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดก็มีระบุไว้แตกต่างกัน

ดังนั้น ถ้าสร้างบ้านใกล้ถนนสาธารณะที่กว้างน้อยกว่า 6 เมตร จะใช้ระยะร่นตามวรรคแรกก็ต่อเมื่อ บ้านนั้นสูงไม่เกิน 2 ชั้นหรือไม่เกิน 8 เมตร กรณีสร้างอยู่ต่างจังหวัด แต่หากเป็นบ้านที่สร้างในกรุงเทพฯ จะต้องเป็นบ้านที่สูงไม่เกิน 3 ชั้นหรือไม่เกิน 10 เมตร และพื้นที่ไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร โดยบ้านที่สร้างนั้นต้องไม่ใช่ห้องแถว ตึกแถวหรือบ้านแถว นอกเหนือจากนี้ต้องใช้ตัวเลขระยะร่นตามวรรคสอง (1)

ตัวอย่างเช่น ถ้าก่อสร้างบ้านพักอาศัยสูง 4 ชั้นใกล้กับถนนสาธารณะที่กว้างน้อยกว่า 6 เมตร จะต้องร่นแนวอาคารจากกึ่งกลางถนนสาธารณะไม่น้อยกว่า 6 เมตร

ประเด็นสำคัญที่ท่านเจ้าของบ้านต้องทราบไว้ คือ
หากท่านหรือใครก็ตามเป็นเจ้าของที่ดินในต่างจังหวัด แล้วยินยอมให้คนทั่วไปใช้ที่ดินนั้นเป็นทางผ่าน โดยจะเก็บค่าผ่านทางหรือไม่ก็ตาม กฎหมายควบคุมอาคารจะถือว่าที่ดินนั้นเข้าข่ายเป็น “ถนนสาธารณะ” ทันที

เมื่อเป็นถนนสาธารณะ อาคารที่สร้างใกล้กับที่ดินที่ยอมให้คนทั่วไปผ่านนั้น ก็ต้องก่อสร้างให้มีระยะร่นเช่นเดียวกับที่ต้องร่นจากถนนสาธารณะ สำหรับในเขตกรุงเทพฯ ที่ดินที่ยินยอมให้คนทั่วไปใช้เป็นทางผ่าน

หากมีความยาวไม่เกิน 500 เมตรหรือมีการปักป้ายหวงห้ามกรรมสิทธิ์ไว้ จะถือว่าเป็น “ทางส่วนบุคคล” ไม่ถือเป็นถนนสาธารณะ แต่หากไม่เข้าสองเงื่อนไขนี้จะเข้าข่ายเป็นถนนสาธารณะตามกฎหมายควบคุมอาคารและก็จะต้องมีระยะร่นเช่นกัน

เรื่องของกฎหมายควบคุมอาคารเกี่ยวกับระยะร่นหรือระยะห่างอาคารนั้น มีข้อกำหนดอยู่ค่อนข้างมาก จะค่อยๆ นำแต่ละกรณีมาเขียนให้ทราบต่อไป

หมายเหตุ : ท่านที่ต้องการอ้างอิงข้อกฎหมายในเรื่องระยะร่นจากถนนสาธารณะ หากเป็นที่ดินในต่างจังหวัดให้ดูกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ข้อ 41 หากเป็นที่ดินในกรุงเทพฯ ให้ดูข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 ข้อ 50

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มาจาก
คมกฤช ชูเกียรติมั่น
ผู้อำนวยการสถาบันสถาปนิกสยาม สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

บทความ Infographic ล่าสุด