บ้านมีหลายหลัง ดอกเบี้ยลดหย่อนอย่างไร?

บ้านมีหลายหลัง ดอกเบี้ยลดหย่อนอย่างไร?

หลายคนทราบดีอยู่แล้วว่า “ดอกเบี้ยบ้าน” เป็นอีกค่าลดหย่อนหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งหากมีบ้านหลังเดียวก็คงทำความเข้าใจได้ไม่ยาก ว่าสามารถนำดอกเบี้ยบ้านมาใช้ลดหย่อนภาษีได้เท่าไร แต่หากมีบ้านหลายหลัง บางคนอาจสับสนว่าจะนำดอกเบี้ยบ้านมาลดหย่อนอย่างไร วันนี้เรามีคำแนะนำที่เข้าใจได้ง่ายๆ สำหรับคนที่มีบ้านหลายหลังมาฝากครับ

บ้านหลายหลังแบบกู้คนเดียว โดยปกติแล้วดอกเบี้ยบ้านสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาทครับ หากมีบ้านหลายหลังมาจากการกู้คนเดียว สามารถนำดอกเบี้ยจ่ายของบ้านที่เราเป็นผู้กู้ มารวมกันแล้วลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท เช่น มีบ้าน 2 หลัง หลังที่ 1 มีดอกเบี้ยจ่าย 50,000 บาท หลังที่ 2 มีดอกเบี้ยจ่าย 60,000 บาท เท่ากับว่าสามารถนำดอกเบี้ยบ้านมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาทครับ ถึงแม้ดอกเบี้ยจ่ายจริงจะอยู่ที่ 110,000 บาทก็ตาม

บ้านหลายหลังแบบกู้ร่วม หากใครที่มีบ้านหลายหลังและเป็นการกู้ร่วม การนำดอกเบี้ยบ้านมาลดหย่อนให้หารเฉลี่ยเท่าๆ กันตามจำนวนผู้กู้ร่วมครับ แต่ก่อนที่จะนำดอกเบี้ยมาหารเฉลี่ย ดอกเบี้ยจ่ายของการกู้ร่วมของบ้านแต่ละหลังจะต้องไม่เกิน 100,000 บาท เช่น กู้ร่วม 2 คน ดอกเบี้ยบ้านจากการกู้ร่วมทั้งปีอยู่ที่ 120,000 บาท ตามเกณฑ์ของการลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านสามารถลดหย่อนได้ตามจริงไม่เกิน 100,000 บาท จึงทำให้ดอกเบี้ยบ้านที่แต่ละคนนำมาลดหย่อนได้จะเท่ากับคนละ 50,000 บาทเท่านั้นครับ และหากมีบ้านหลายๆ หลัง เมื่อนำจำนวนดอกเบี้ยบ้านที่หารเฉลี่ยแล้วมารวมกัน ในหนึ่งคนจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาทเช่นกันครับ ตัวอย่างเช่น มีบ้าน 3 หลัง กู้ร่วม 2 หลัง กู้เดี่ยว 1 หลัง สมมติว่า

  • หลังที่ 1 กู้ร่วมหารเฉลี่ยผู้กู้ร่วมได้ดอกเบี้ยบ้านคนละ 40,000 บาท
  • หลังที่ 2 กู้ร่วมหารเฉลี่ยผู้กู้ร่วมได้ดอกเบี้ยบ้านคนละ 30,000 บาท
  • หลังที่ 3 กู้เดี่ยวดอกเบี้ยบ้านอยู่ที่ 50,000 บาท

รวมแล้วดอกเบี้ยบาททั้งหมดเท่ากับ 120,000 บาท แต่สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านได้ไม่เกิน 100,000 บาทครับ แต่หากรวมกันแล้ว 3 หลังดอกเบี้ยตามจริงไม่ถึง 100,000 บาท ก็สามารถลดหย่อนได้ตามจริงเท่านั้น เช่น ดอกเบี้ยบ้าน 3 หลัง รวมกันแล้วอยู่ที่ 80,000 บาท สิทธิลดหย่อนจะใช้ได้ตามจริงก็คือ 80,000 บาทครับ

อย่างไรก็ตามดอกเบี้ยบ้านจากการกู้เงินบางประเภทไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เช่น การกู้เพื่อตกแต่งบ้าน การนำบ้านปลอดภาระมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อขอกู้เงินกับธนาคาร การกู้เอนกประสงค์โดยกู้เพิ่มจากวงเงินกู้บ้านเดิม ดังนั้นก่อนการนำดอกเบี้ยบ้านมาลดหย่อนภาษีควรตรวจสอบสัญญาด้วยครับว่าเป็นเงินกู้ประเภทใด เพื่อไม่ให้ใช้สิทธิแบบผิดเงื่อนไขของกรมสรรพากร

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก K-Expert

บทความ Infographic ล่าสุด