เรื่องที่มักเข้าใจผิด เมื่อคิดจะโปะบ้าน

เรื่องที่มักเข้าใจผิด เมื่อคิดจะโปะบ้าน

Categories : Infographic
Tags : , ,

อย่างที่รู้ๆ กันว่าเงินที่เราจ่ายเป็นค่าผ่อนบ้านในแต่ละเดือนนั้น ส่วนหนึ่งต้องนำไปหักดอกเบี้ยจ่ายก่อนส่วนที่เหลือถึงค่อยนำไปหักเงินต้น หากใครที่คิดว่าจะผ่อนแบบปกติตามที่ธนาคารกำหนด โดยไม่มีการโปะหนี้บ้านเลย ก็อาจต้องเสียดอกเบี้ยจ่ายสูงเกือบเท่ากับวงเงินกู้เลยทีเดียว ดังนั้นการเลือกที่จะโปะหนี้บ้านในเวลาที่เรามีเงินก้อน จึงถือว่าเป็นการช่วยประหยัดดอกเบี้ยจ่ายได้มากมาย แล้วเพราะเหตุใดหลายๆ คนที่มีโอกาสได้รับเงินก้อน เช่น ได้โบนัส คอมมิชชั่น ถึงไม่นำเงินก้อนเหล่านี้ไปโปะหนี้บ้าน

โปะบ้านแล้วเสียค่าธรรมเนียม

หลายคนมักเข้าใจผิด โดยคิดว่าเมื่อกู้บ้านกับธนาคารแล้วจะต้องผ่อนชำระในแต่ละเดือนตามจำนวนเงินที่ธนาคารกำหนดไว้ในสัญญาเงินกู้บ้านเท่านั้น และหากโปะหรือปิดบ้านต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่ในความเป็นจริงแล้วเราสามารถจ่ายค่าผ่อนบ้านในแต่ละเดือน ได้มากกว่าที่ธนาคารกำหนด เช่น จ่ายเพิ่มทุกเดือน เดือนละ 2,000 บาท หรือจ่ายเงินก้อนในบางเดือน เช่น จ่ายเพิ่ม 50,000 บาท และการโปะหรือปิดหนี้ด้วยเงินของเราเองปกติแล้วจะไม่เสียค่าธรรมเนียม ส่วนการปิดหนี้ที่เสียค่าธรรมเนียมโดยปกติแล้วจะเป็นลักษณะของการย้ายวงเงินกู้ไปกู้เงินกับธนาคารแห่งใหม่ หรือที่เรียกกันว่า “รีไฟแนนซ์” อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะตัดสินใจ โปะ ปิดหนี้ หรือรีไฟแนนซ์ เพื่อความมั่นใจว่าจะไม่ทำผิดเงื่อนไขการจ่ายชำระหนี้ของธนาคาร แนะนำให้ตรวจสอบในสัญญาเงินกู้บ้าน หรือสอบถามโดยตรงกับธนาคาร เนื่องจากเงื่อนไขของแต่ละธนาคารมีความแตกต่างกันครับ

นำเงินไปลงทุนได้ผลตอบแทนดีกว่าดอกเบี้ยบ้าน

หากใครยังลังเลว่าจะนำเงินก้อนไปโปะบ้านดี หรือนำเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินกู้บ้านดี ต้องบอกว่าการลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยบ้านนั้น หากอัตราดอกเบี้ยจ่ายที่ได้รับอยู่ในช่วงที่เป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว เช่น  6-7% ต่อปี การที่จะลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงกว่า 6-7% ต่อปี ก็ต้องเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเช่น หุ้นหรือกองทุนหุ้น ซึ่งการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงก็มีโอกาสที่จะกำไรหรือขาดทุนได้เช่นกันครับ ต่างกับการเลือกนำเงินก้อนไปโปะบ้านเพราะไม่มีความเสี่ยง และช่วยประหยัดดอกเบี้ยจ่ายได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้การนำเงินก้อนไปโปะบ้านถึงแม้จะช่วยให้เราประหยัดดอกเบี้ยจ่ายได้ก็จริง แต่ต้องไม่ลืมที่จะสำรวจตัวเองก่อนครับ ว่ามีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเพียงพอแล้วหรือยัง เพราะหากนำเงินไปโปะบ้านจนหมดไม่มีเงินสำรองไว้อย่างเพียงพอ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันจำเป็นต้องใช้เงินขึ้นมา อาจไม่มีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่ายทำให้เกิดความเดือดร้อน หรือต้องไปกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าดอกเบี้ยบ้านก็เป็นได้

ดังนั้นก่อนนำเงินก้อนไปโปะบ้านแนะนำว่าควรเก็บเงินไว้เป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินก่อนอยู่ที่ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เช่น มีค่าใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท ควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน 120,000 บาท เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินต้องใช้เงินในยามจำเป็นขึ้นมา จะได้นำเงินส่วนนี้มาใช้จ่ายได้ทันทีครับ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก K-Expert

บทความ Infographic ล่าสุด