วิธียื่นภาษีคอนโดมิเนียมให้เช่า

วิธียื่นภาษีคอนโดมิเนียมให้เช่า

Categories : Infographic
Tags : , ,

ปัจจุบันรูปแบบการลงทุนมีอย่างหลากหลาย และผู้ลงทุนก็มีทางเลือกสำหรับการลงทุนอย่างมากมาย แต่หนึ่งในการลงทุนที่มีผู้สนใจมากทั้งในอดีตและปัจจุบัน คือการลงทุนในคอนโดมิเนียม เพราะนอกจากจะใช้อยู่อาศัยเองแล้ว ยังสามารถปล่อยเช่าเพื่อให้มีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ หรือขายเมื่อมีราคาสูงขึ้นได้อีกด้วย สำหรับรายได้จากการให้เช่าคอนโดมิเนียมในกรณีที่เราเป็นบุคคลธรรมดานั้นเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(5) สามารถคำนวณภาษีได้ 2 แบบ ดังต่อไปนี้

ค่าใช้จ่ายแบบเหมา

สำหรับวิธีการคำนวณภาษีแบบเหมาๆ นั้น คำนวณได้ง่ายๆ โดยใช้อัตราเหมาจ่าย 30% ไม่ว่าเราจะมีค่าใช้จ่าย หรือต้นทุนมากน้อยเท่าไร ทางสรรพากรจะไม่ดูเอกสารหรือใบเสร็จที่เป็นต้นทุนว่ามีเท่าไรบ้าง วิธีการนี้ง่ายต่อการคำนวณและไม่ยุ่งยากในเรื่องเอกสาร อย่างเช่นในปีภาษี 2557 มีรายได้จากค่าเช่าทั้งปีรวม 1,200,000 บาท หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 30% เท่ากับ 360,000 บาท หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท คงเหลือเงินได้สุทธิจำนวน 810,000 บาท คำนวณภาษีตามอัตราก้าวหน้า รวมเสียภาษีจำนวน 77,000 บาท

ค่าใช้จ่ายตามจริง

วิธีนี้เหมาะกับปีที่มีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะในปีแรกๆ ที่มีค่าใช้จ่ายในการตกแต่ง หรือบางปีที่มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม หากเป็นแบบนี้จะต้องมีเอกสารที่พิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงๆ นอกจากนี้ยังสามารถนำภาษีโรงเรือนที่ได้ชำระไปมารวมเป็นค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย อย่างเช่นในปีภาษี 2557 มีรายได้จากค่าเช่าทั้งปีรวม 1,200,000 บาท มีค่าใช้จ่ายจากการตกแต่งจำนวน 300,000 บาท มีภาษีโรงเรือน 12.5% เท่ากับ 150,000 บาท รวมค่าใช้จ่าย 450,000 บาท หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท คงเหลือเงินได้สุทธิจำนวน 720,000 บาท บาท คำนวณภาษีตามอัตราก้าวหน้า รวมเสียภาษีจำนวน 60,500 บาท

สำหรับการคำนวณภาษีในแต่ละปีนั้น สามารถเลือกได้ว่าปีภาษีนี้เลือกแบบตามจริง ปีภาษีหน้าเลือกแบบเหมา ขึ้นอยู่กับว่ามีเอกสารแสดงค่าใช้จ่ายครบไหม หรือการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาคุ้มกว่าก็เลือกแบบนั้น นอกจากนี้ การยื่นภาษีรายได้ค่าเช่าจะต้องยื่นปีละ 2 ครั้ง สำหรับช่วงกลางปีสามารถยื่นได้ภายในวันที่ 30 กันยายน โดยยื่นแบบภงด.94 จากรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ส่วนภาษีเต็มปี สามารถยื่นแบบภงด.90 ภายใน 31 มีนาคมปีถัดไป โดยยื่นรายได้ที่เกิดขึ้นทั้งปีภาษี และหักภาษีที่ได้จ่ายชำระในช่วงครึ่งปีออกไป

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก K-Expert

บทความ Infographic ล่าสุด