อยากเพิ่มหรือลดผู้กู้ร่วม ต้องทำยังไง

อยากเพิ่มหรือลดผู้กู้ร่วม ต้องทำยังไง

Categories : Infographic
Tags : , ,

สำหรับผู้ที่ผ่อนชำระสินเชื่อบ้านไปสักระยะหนึ่ง คงรู้จักกับคำว่า “รีไฟแนนซ์” ซึ่งเป็นการขอสินเชื่อกับอีกธนาคารหนึ่งโดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าธนาคารเดิม เพื่อช่วยในการประหยัดดอกเบี้ย แต่รู้หรือไม่ว่า ในการรีไฟแนนซ์เรายังสามารถขอเพิ่มหรือลดจำนวนผู้กู้ร่วมซื้อบ้านได้อีกด้วย จะมีขั้นตอนอย่างไรบ้างนั้นเรามีคำตอบครับ

เพิ่มผู้กู้ร่วมซื้อบ้าน

การเพิ่มจำนวนผู้กู้ร่วมซื้อบ้านมักจะเจอในกรณีของสามีภรรยา เช่น เดิมสามีเป็นผู้กู้ซื้อบ้านเพียงคนเดียว แต่อยากให้ภรรยามีกรรมสิทธิ์ในบ้านด้วย เมื่อตัดสินใจรีไฟแนนซ์จึงแจ้งธนาคารเพื่อขอเพิ่มชื่อภรรยาในสัญญา และเพิ่มกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดินด้วย แต่การเพิ่มชื่อคู่สมรสเข้ามา จะมีค่าใช้จ่ายด้วยนะคะ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนครับ

ส่วนแรก คือ ค่าใช้จ่ายในการให้ หากบ้านหลังนั้นเป็นสินส่วนตัวจะมีค่าใช้จ่ายในการให้ 0.5% ของราคาประเมิน แต่ถ้าเป็นสินสมรสจะเสียค่าธรรมเนียมเพียง 75 บาทเท่านั้นครับ

ส่วนที่สอง คือ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากการขายบ้าน การให้คู่สมรสมีกรรมสิทธิ์ร่วมในบ้านเปรียบเสมือนการให้ (ขาย) บ้านอีกครึ่งหลังให้กับคู่สมรส ดังนั้นคู่สมรสที่เป็นผู้กู้ซื้อบ้านฝ่ายเดียวในตอนแรกจะต้องเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายโดยคำนวณจากราคาบ้านครึ่งหนึ่ง เช่น บ้านมูลค่า 3 ล้านบาท แบ่งให้คู่สมรสครึ่งหนึ่ง ดังนั้นจะต้องนำ 1.5 ล้านบาทมาคำนวณยอดเงินเพื่อเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายด้วยครับ

ส่วนที่สาม คือ ภาษีธุรกิจเฉพาะหรืออากรแสตมป์ ซึ่งเลือกเสียอย่างใดอย่างหนึ่ง หากมีชื่อในทะเบียนบ้านเกิน 1 ปี หรือถือครองเกิน 5 ปีปฏิทินจะเสียเฉพาะอากรแสตมป์ 0.5% (อัตรา 1 บาท ต่อราคาประเมินทุนทรัพย์ทุก 200 บาท)  ของราคาซื้อขายหรือราคาประเมิน โดยใช้ราคาที่สูงกว่า แต่ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขข้างต้น จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ของราคาซื้อขายหรือราคาประเมิน โดยใช้ราคาที่สูงกว่าครับ

ลดจำนวนผู้กู้ซื้อบ้าน

เมื่อตัดสินใจที่จะรีไฟแนนซ์ เรายังสามารถขอลดจำนวนผู้กู้ซื้อบ้านได้อีกด้วย เช่น พี่อยากกู้ซื้อบ้าน แต่ต้องกู้ร่วมกับน้อง เพราะรายได้ของพี่เพียงคนเดียวไม่เพียงพอสำหรับขอสินเชื่อ ผ่านไประยะหนึ่งรายได้ของพี่สูงขึ้นจนเพียงพอที่จะผ่อนบ้านคนเดียวได้ จึงต้องการลดจำนวนผู้กู้เหลือเพียงคนเดียว สำหรับขั้นตอนในการขอลดจำนวนผู้กู้ซื้อบ้านก็คล้ายกับการเพิ่มจำนวนผู้กู้ซื้อบ้าน โดยต้องทำเรื่องเปลี่ยนแปลงสัญญากับธนาคารและเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดินด้วยครับ

เบื้องต้นธนาคารจะพิจารณาว่า ผู้กู้ที่เหลืออยู่ มีความสามารถในการผ่อนชำระหรือไม่ ซึ่งโดยปกติแล้วยอดผ่อนชำระจะต้องไม่เกิน 40-50% ของรายได้ในแต่ละเดือนครับ ในส่วนของการขอเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดินนั้น จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นเช่นกันครับ โดยกรมที่ดินจะมองว่า การขอเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ครั้งนี้เสมือนมีการซื้อขายเกิดขึ้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการโอน 2% ของราคาประเมิน นอกจากนี้ยังมีการคิดภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากการขายบ้านกับคนที่ออกจากการกู้บ้าน จากตัวอย่างข้างต้น ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจะคิดจากผู้ที่เป็นน้อง เพราะกรมที่ดินมองว่า ผู้เป็นพี่ได้รับกรรมสิทธิ์บ้านเพิ่มจากน้อง เสมือนว่าน้องมีการขายบ้านครึ่งหลังที่มีอยู่เดิมให้กับพี่ และยังมีการคิดภาษีธุรกิจเฉพาะหรืออากรแสตมป์เหมือนกับกรณีขอเพิ่มจำนวนผู้กู้ร่วมซื้อบ้านด้วยครับ

แม้ว่าการรีไฟแนนซ์จะช่วยให้ประหยัดดอกเบี้ยในการกู้ซื้อบ้าน และสามารถเปลี่ยนแปลงผู้กู้ซื้อบ้านได้ แต่ก่อนตัดสินใจควรศึกษาถึงเงื่อนไขในการรีไฟแนนซ์ของสินเชื่อบ้านเดิม และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้การรีไฟแนนซ์ครั้งนี้คุ้มค่าที่สุดครับ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก home.co.th

บทความ Infographic ล่าสุด