อยากเพิ่มกรรมสิทธิ์คู่ชีวิต คิดค่าใช้จ่ายอย่างไร

อยากเพิ่มกรรมสิทธิ์คู่ชีวิต คิดค่าใช้จ่ายอย่างไร

Categories : Infographic
Tags : , ,

การเพิ่มชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านอาจเกิดขึ้นได้ด้วยหลายๆ เหตุผลครับ แต่เหตุผลที่มักพบบ่อยๆ ก็คือต้องการเพิ่มชื่อคู่สมรส อาจเป็นเพราะในช่วงที่ซื้อบ้านตอนนั้นยังโสด หรือกู้ซื้อบ้านแบบกู้เดี่ยว เนื่องจากรายได้คนเดียวก็เพียงพอในการกู้ซื้อบ้านแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกู้ร่วมกับคู่สมรสอีก แต่หากภายหลังเปลี่ยนใจอยากจะให้คู่สมรสมีชื่อกรรมสิทธิ์ในบ้านร่วมกัน หรือต้องการเปลี่ยนจากการกู้คนเดียวมาเป็นการกู้ร่วมกับคู่สมรสกับธนาคารเดิมหรือรีไฟแนนซ์ไปธนาคารอื่น จึงทำให้ต้องเพิ่มเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหลักประกันอีกหนึ่งคน ซึ่งการเพิ่มชื่อกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดินจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไรนั้น เรารวบรวมมาฝากดังนี้ครับ

ซื้อบ้านตอนยังโสด

หากตอนที่เราซื้อบ้านไม่ว่าจะเป็นการซื้อด้วยเงินสด หรือกู้ซื้อบ้านกับธนาคาร ขณะนั้นยังเป็นโสด ถือว่าบ้านหลังนี้เป็นสินส่วนตัว คือได้ทรัพย์สินมาก่อนที่จะจดทะเบียนสมรสกัน  หากภายหลังได้มีการจดทะเบียนสมรสกันแล้วต้องการเพิ่มชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ได้แก่

  • ค่าใช้จ่ายในการให้ 0.5% ของราคาประเมิน
  • ภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร เนื่องจากการเพิ่มชื่อถือว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ ผู้ให้เปรียบเสมือนเป็นผู้ขาย จึงต้องนำเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเฉพาะในส่วนที่ให้คู่สมรส เช่น บ้านมูลค่า 4 ล้านบาทแบ่งกันคนละครึ่ง 2 ล้านบาท ก็จะต้องนำ 2 ล้านบาทไปคำนวณภาษี โดยกรมที่ดินจะใช้ราคาประเมินจากกรมธนารักษ์ในการคำนวณมูลค่าหลักทรัพย์ ซึ่งจะนำไปหักค่าใช้จ่ายตามจำนวนปีที่ถือครอง หลังจากนั้นหารด้วยจำนวนปีที่ถือครอง แล้วนำไปคำนวณภาษีตามฐานภาษี
  • อากรแสตมป์ 0.5% ของราคาประเมินหรือราคาซื้อขายแล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่า โดยมีการถือครองกรรมสิทธิ์มา 5 ปี หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านมา 1 ปีแล้วแต่หากถือครองกรรมสิทธิ์น้อยกว่า 5 ปี และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านน้อยกว่า 1 ปี ก็จะเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ของราคาประเมินหรือราคาซื้อขายแล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่าแทนอากรแสตมป์

ซื้อบ้านหลังจดทะเบียนสมรส

สำหรับในกรณีที่เป็นการเพิ่มชื่อคู่สมรส โดยมีการจดทะเบียนสมรสกันก่อนที่จะกู้ซื้อบ้านหรือได้ทรัพย์สินนี้มาหลังจดทะเบียนสมรส จะถือว่าเป็นสินสมรสครับ การเพิ่มชื่อคู่สมรสเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านอีกคน จะเสียค่าธรรมเนียมอยู่ที่ประมาณ 75 บาทเท่านั้น

การเพิ่มชื่อคู่สมรสที่เกิดขึ้นในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนจากการกู้เดี่ยวมาเป็นการกู้ร่วมนั้น อย่าลืมว่าธนาคารจะต้องนำรายได้และภาระหนี้ของคู่สมรสที่กู้ร่วมมาพิจารณาด้วย หากคู่สมรสมีภาระหนี้สูงเกินไปก็อาจทำให้กู้ร่วมไม่ผ่าน ดังนั้นอาจจำเป็นต้องรอให้ปิดภาระหนี้ลดลงก่อน และไม่ควรก่อหนี้เพิ่มครับ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก  k-expert.askkbank.com

บทความ Infographic ล่าสุด