ต่อรั้วบ้านเดิมเพิ่มความส่วนตัว

ต่อรั้วบ้านเดิมเพิ่มความส่วนตัว

Categories : Infographic
Tags : , , ,

เรื่อง :  อิษฎา แก้วประเสริฐ

            SCG Experience Architect

“เมื่อพื้นที่รอบบ้านมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นถนนสาธารณะ หรือตึกข้างเคียงที่สูงขึ้น รั้วบ้านเดิมจึงไม่สามารถปกป้องความเป็นส่วนตัวได้เท่าที่ควร การปรับปรุงรั้วบ้านให้สูงขึ้นพร้อมหาวิธีตกแต่งให้สวยงาม นับเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับเจ้าของบ้านซึ่งประสบปัญหาดังกล่าว”

“รั้วบ้าน” เป็นปราการที่กั้นระหว่างตัวบ้านกับเพื่อนบ้านหรือพื้นที่สาธารณะภายนอก แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมทุกวันนี้  สิ่งไม่พึงประสงค์ต่างๆ ทั้ง เสียง มลพิษ และภัยจากผู้คุกคาม อาจเข้ามาถึงตัวบ้านได้ง่ายขึ้น รั้วบ้านเดิมที่สร้างไว้เริ่มสูงไม่พอ เมื่อเทียบกับระดับถนน พื้นดินแวดล้อม และความสูงของอาคารสร้างใหม่ใกล้เคียง ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งความกังวลใจจนเจ้าของบ้านจนต้องเริ่มนึกถึง “การปรับปรุงรั้วบ้านให้สูงขึ้น” ซึ่งมีเรื่องต่างๆ ต้องพิจารณา ได้แก่ ความสูง ความโปร่ง ความสวยงาม รวมถึงปัจจัยสำคัญคือ สภาพรั้วบ้านเดิม น้ำหนักวัสดุ และการติดตั้ง

01-SCG-Experience-รั้วบ้าน-แบบรั้วบ้าน-ต่อเติมรั้วบ้าน-ทำรั้ว

รั้วบ้านที่ทำการต่อเติมด้วยระแนงไม้เทียม

02-SCG-Experience-รั้วบ้าน-แบบรั้วบ้าน-ต่อเติมรั้วบ้าน-ทำรั้ว

รั้วบ้านที่เตี้ยเกินไปจนบุคคลภายนอกมองเข้ามาได้ ทำให้รู้สึกไม่เป็นส่วนตัว

ต่อเติมรั้วบ้านสูงเท่าไหร่ดี

ความสูงของรั้วบ้านจะต้องไม่ขัดกับกฎหมาย โดยจะสูงจากระดับถนนหรือทางเท้าได้ไม่เกิน 3.00 เมตร และควรคำนึงถึงความระดับความสูงของอาคารข้างเคียงรวมถึงช่องเปิดด้วย  ทั้งนี้ระดับรั้วบ้านยิ่งสูงจะยิ่งมีพื้นที่ปะทะแรงลมมากขึ้นจึงควรคำนึงเรื่องจุดยึดที่มั่นคงแข็งแรงเพียงพอ

รั้วบ้านโปร่ง รั้วบ้านทึบ

เจ้าของบ้านหลายคนอยากให้รั้วบ้านโปร่ง สามารถมองทะลุและระบายอากาศได้  เพื่อลดความอึดอัด โดยเฉพาะบ้านที่มีระยะร่นอาคารน้อย ระยะห่างระหว่างตัวบ้านกับรั้วค่อนข้างกระชั้น หรือกรณีที่มีความสูงของบ้านมากๆ หากทำรั้วบ้านทึบตันจะยิ่งอึดอัด ทั้งนี้การทำรั้วบ้านโปร่งอาจออกแบบเป็นจังหวะโปร่ง-ทึบ สลับกันไป ตามตำแหน่งระยะและมุมมองที่เหมาะสมในเรื่องความเป็นส่วนตัว อย่างไรก็ตาม การต่อเติมรั้วบ้านให้สูงเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องความเป็นส่วนตัวด้านสายตาเท่านั้น ส่วนเรื่องการป้องกันเสียงรบกวนยังช่วยได้ไม่มาก

03-SCG-Experience-รั้วบ้าน-แบบรั้วบ้าน-ต่อเติมรั้วบ้าน-ทำรั้ว

ภาพเปรียบเทียบรั้วบ้านทึบ (ซ้าย) กับรั้วบ้านโปร่ง (ขวา) ซึ่งลมสามารถลอดผ่านซี่รั้วเข้ามาได้

ออกแบบส่วนต่อเติมรั้วบ้านให้สวยงาม

รั้วบ้านเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลกับรูปลักษณ์ของบ้าน  การปรับปรุงรั้วบ้านควรเลือกใช้วัสดุ สีสัน และรูปแบบที่ไม่ขัดแย้งกับบ้าน โดยอาจลดทอนความแข็งกระด้างของวัสดุรั้วบ้านทรงสี่เหลี่ยมทื่อๆ ได้ด้วย พืชพรรณต้นไม้ สวนแขวน หรือสวนแนวตั้ง ซึ่งนอกจากจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อความสุขสบายตาแล้ว ยังช่วยลดแสงสะท้อนสำหรับรั้วบ้านสีอ่อน และลดทอนเสียงรวมถึงมลพิษจากภายนอกได้ด้วยเช่นกัน

04-SCG-Experience-รั้วบ้าน-แบบรั้วบ้าน-ต่อเติมรั้วบ้าน-ทำรั้ว

ตัวอย่างการตกแต่งรั้วบ้านด้วยวัสดุเบาต่างๆ

สภาพรั้วบ้านเดิม

นับเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่เจ้าของบ้านควรพิจารณา เนื่องจากโครงสร้างของรั้วบ้านทั่วไปมักจะรับน้ำหนักด้วยเสาเข็มแบบสั้น หากเป็นไปได้ควรนำแบบรั้วบ้านมาขอรับคำปรึกษาจากวิศวกรโครงสร้างจะดีที่สุด เพื่อช่วยประเมินว่าโครงสร้างรั้วบ้านยังอยู่ในสภาพดีหรือไม่ โดยรั้วบ้านจะที่ต่อเติมไม่ควรเกิดการทรุดตัวมาก คานทับหลังไม่แอ่นตกท้องช้าง ไม่มีการปริแตกของเสารั้วบ้าน วัสดุผนังที่ก่อไว้ไม่แตกทะลุหรือมีรอยแยกใหญ่ผิดปกติ รั้วบ้านที่มีลักษณะดังกล่าวนี้หากฝืนต่อเติมไปอาจยิ่งก่อให้เกิดปัญหามากขึ้น

น้ำหนักของวัสดุที่ใช้ต่อเติมรั้วบ้าน

หลีกเลี่ยงวัสดุประเภทผนังก่อ เพราะการต่อเติมจะสร้างน้ำหนักให้กับโครงสร้างรั้วบ้านเดิมเพิ่มขึ้น ควรเลือกใช้วัสดุเบา ยกตัวอย่างเช่น ไฟเบอร์ซีเมนต์ ซึ่งมีทั้งแบบแผ่นบอร์ด และแผ่นยาวที่ออกแบบหน้ากว้างมาสำหรับทำรั้วบ้านโดยเฉพาะ บางรุ่นมีสีและพื้นผิวเลียนแบบไม้ให้เลือกใช้ด้วย โดยติดตั้งกับโครงสร้างเบา เช่น โครงเหล็ก โครงไม้ ฯลฯ ตามระยะโครงคร่าวที่ผู้ผลิตกำหนด (ส่วนใหญ่มักมีระยะประมาณ 30-60 ซม.ขึ้นอยู่กับขนาดและความหนาของวัสดุ)

05-SCG-Experience-รั้วบ้าน-แบบรั้วบ้าน-ต่อเติมรั้วบ้าน-ทำรั้ว

โครงเหล็กสำหรับรั้วส่วนต่อเติม

วิธีการติดตั้งเข้ากับรั้วบ้านเดิม

รั้วบ้านส่วนต่อเติมควรติดตั้งโดยยึดเข้ากับโครงสร้างรั้วบ้านเดิมที่เป็นส่วนของคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) ได้แก่ คานคอดิน เสารั้วบ้าน หรือคานทับหลังรั้วบ้าน เพราะเป็นจุดที่เจาะยึด หรือฝังเหล็กเสียบเหล็กได้ดี โดยถ่ายน้ำหนักสู่ระบบฐานรากหรือโครงสร้างใต้ดินโดยตรง

ส่วนวิธีการยึดนั้น จะยึดโครงรั้วบ้านใหม่เข้ากับด้านบนของคานทับหลังรั้วบ้านเดิม (ภาพซ้าย) หรือเลือกยึดด้านข้างโดยใช้สกรูยึดเพลทเหล็กเข้ากับโครงสร้าง แล้วเชื่อมโครงสร้างรั้วบ้านใหม่เข้ากับเพลทเหล็ก (ภาพขวา) อีกวิธีหนึ่งคือฝังเหล็กหนวดกุ้งเข้ากับเนื้อคอนกรีตด้วยกาวซีเมนต์หรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้เสียบเหล็ก จากนั้นนำมาเชื่อมกับโครงสร้างรั้วบ้านต่อเติม วิธีหลังนี้ต้องอาศัยความแม่นยำในการต่อเชื่อมสูง จึงมักไม่เป็นที่นิยมนัก

06-SCG-Experience-รั้วบ้าน-แบบรั้วบ้าน-ต่อเติมรั้วบ้าน-ทำรั้ว

การติดตั้งรั้วส่วนต่อเติมด้วยโครงเหล็กและไม้เทียม

จะเห็นได้ว่าการต่อเติมรั้วบ้านให้สูงขึ้นนั้น นอกจากความสวยงาม ความโปร่ง และความเป็นส่วนตัวแล้ว ยังมีเรื่องของความแข็งแรงซึ่งเป็นข้อสำคัญที่ควรคำนึง ทั้งสภาพโครงสร้าง การยึดติดตั้ง รวมถึงแรงลมปะทะที่เพิ่มขึ้น ทางที่ดีควรให้วิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญช่วยพิจารณา โดยเฉพาะการประเมินสภาพโครงสร้างรั้วบ้านเดิม ขนาดเหล็ก ระยะยึดทาบของโครงสร้าง เพื่อให้การปรับปรุงต่อเติมรั้วบ้านมีความมั่นคงแข็งแรง สามารถตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าของบ้านได้อย่างแท้จริง หรือหากมีข้อสงสัย สามารถปรึกษาสถาปนิกจาก SCG ได้ก่อนการแก้ไขปรับปรุงดังกล่าว

ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก  www.scgbuildingmaterials.com

Tags :

บทความ Infographic ล่าสุด