ท่อน้ำทิ้งซิงค์ล้างจานอุดตัน ปัญหาแบบนี้แก้ไขอย่างไรดี

ท่อน้ำทิ้งซิงค์ล้างจานอุดตัน ปัญหาแบบนี้แก้ไขอย่างไรดี

Categories : Infographic
Tags : , , ,

อ่างล้างจาน (ซิ้งค์ล้างจาน) เป็นส่วนประกอบสำคัญในครัว ที่ช่วยให้เราสามารถล้างอาหาร ล้างผัก และอุปกรณ์ครัวต่างๆ ให้สะอาดพร้อมใช้งานอยู่เสมอ รวมถึงหลังรับประทานอาหารเสร็จยังเป็นที่ล้างจานชามและอุปกรณ์ใช้แล้วที่เปรอะเปื้อนอีกด้วย ซึ่งปกติแล้ว จำเป็นต้องติดตั้งถังดักไขมันต่อจากท่อน้ำทิ้งอ่างล้างจาน แล้วจึงปล่อยไปยังบ่อพักหรือท่อสาธารณะ แต่เมื่อมีคราบไขมัน เศษอาหาร และสิ่งสกปรกต่างๆ ตกค้างสะสมนานๆ เข้า ก็จะก่อตัวเป็นคราบแข็งอุดตัน ทำให้น้ำไม่สามารถระบายไปได้ ไหลผ่านไม่สะดวก หรือบางครั้งน้ำยังเอ่อไหลย้อนขึ้นมาอีกด้วย จนถึงกับไม่สามารถใช้งานอ่างล้างจานได้

หากเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น ก็ถึงเวลาแล้วที่จะต้องแก้ไขปัญหา ซึ่งมี 3 ส่วนด้วยกันคือ ตะแกรงดักเศษอาหาร กระปุกท่อน้ำทิ้งใต้อ่างล้างจาน และส่วนของบ่อดักไขมัน

ส่วนของตะแกรงหรือตะกร้าดักเศษอาหาร ตัวกรองเศษอาหารขั้นแรก ที่ควรสังเกตดูว่ามีเศษอาหารเต็มตะแกรงดักเศษอาหารหรือไม่ หากมีต้องเอาออกมาทิ้งให้หมด ทำความสะอาดในส่วนนี้ให้เรียบร้อย ในส่วนนี้ต้องระวังอย่าทิ้งเศษอาหารลงไป เพราะแม้ว่าจะมีตะแกรงกรองเศษอาหารอยู่แล้ว แต่อาหารขนาดเล็กยังคงสามารถตกหล่นลงไปในท่อน้ำทิ้งได้อยู่ดี ดังนั้นหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ ควรเขี่ยเศษอาหารออกจากจานและเช็ดซับคราบมันให้ออกได้มากที่สุดก่อนการล้างจาน เพื่อไม่ให้คราบฝังติดแน่นที่ทำให้ล้างออกยาก และคราบจะติดเป็นก้อนแข็งที่เมื่อล้างออกแล้วจะส่งผลให้ไปอุดตันในช่องท่อได้

ภาพ: สะดือซิงค์ล้างจานแบบที่มีตะกร้ากรองเศษอาหารและยางกรองเศษอาหาร

ภาพ: ตะแกรง (ตะกร้า) ดักเศษอาหาร ที่ควรเคาะเศษอาหารทิ้งทุกวัน เพื่อไม่ให้เศษอาหารเกิดการบูดเน่า อันอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค

สำหรับกระปุกท่อน้ำทิ้ง ที่มีหน้าที่ขังน้ำเพื่อช่วยป้องกันกลิ่นไหลย้อนขึ้นมา (มีให้เลือกทั้งแบบ Bottle Trap และ P-Trap) แต่หากมีการสะสมของตะกอนต่างๆ มากเข้า ก็จะทำให้ส่วนนี้เกิดการอุดตันได้ ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยหมุนเกลียวถอดออกมาเคาะเอาเศษสิ่งสกปรก เศษอาหาร และขจัดคราบไขมันที่ฝังแน่นอยู่ออก แล้วจึงฉีดน้ำล้างทำความสะอาดคราบที่หลงเหลืออยู่ออกให้หมด หากยังอุดตันอยู่ ให้ใช้น้ำยาขจัดท่อห้องครัวอุดตันสูตรธรรมชาติที่ไม่กัดกร่อนท่อ ทั้งนี้ หากวิธีดังกล่าวยังไม่ได้ผล แนะนำให้ทะลวงท่อที่ติดอยู่กับผนังโดยใช้ “งูเหล็ก” ซึ่งมีคุณสมบัติสามารถโค้งงอไปตามรูปทรงของท่อได้ เพื่อกระทุ้งให้สิ่งอุดตันหลุดออก

* การใช้งูเหล็กต้องมีความระมัดระวัง และอาศัยความชำนาญ จึงควรเรียกช่างให้เข้ามาทำการแก้ไขตรงส่วนนี้ให้จะดีที่สุด

ภาพ: ลักษณะการขังน้ำและการระบายน้ำของกระปุกท่อน้ำทิ้งแบบ Bottle Trap

ภาพ: ลักษณะการขังน้ำและการระบายน้ำของท่อน้ำทิ้งแบบ P-Trap

สุดท้ายคือส่วนของบ่อดักไขมัน (Grease Trap) ซึ่งมีหน้าที่ดักและแยกชั้นไขมันออกจากน้ำเสียจากซิงค์ครัว ไม่ให้ไหลลงไปอุดตันในท่อระบายน้ำ ซึ่งมี 2 ประเภทคือบ่อดักไขมันชนิดตั้งพื้น และบ่อดักไขมันชนิดฝังดิน ซึ่งควรเลือกประเภทและขนาดให้เหมาะกับปริมาณการใช้งานและความเหมาะสมของพื้นที่ การดูแลรักษาบ่อดักไขมันนี้จะต้องตักเศษไขมันออกเป็นประจำเพื่อให้น้ำระบายได้คล่องและไม่มีกลิ่นรบกวน หากส่วนนี้มีการสะสมของไขมันที่จับตัวกันเป็นก้อนซึ่งทำให้เกิดการอุดตันแล้ว จะต้องเปิดฝาถังออกเพื่อตักไขมันใส่ถุงขยะอย่างมิดชิด มัดอย่างแน่นหนา และนำไปทิ้งให้ถูกที่ โดยมีการแยกขยะอย่างเหมาะสม

ภาพ: บ่อดักไขมัน ที่ทำหน้าที่ดักและแยกชั้นไขมันออกจากน้ำเสียจากซิงค์ครัว

ภาพ: บ่อดักไขมันชนิดตั้งพื้น เหมาะสำหรับที่พักอาศัยที่มีพื้นที่จำกัด เช่น ทาวน์โฮม คอนโดมิเนียม

ภาพ: บ่อดักไขมันชนิดฝังดิน เหมาะสำหรับบ้านที่มีพื้นที่รอบบ้านเพียงพอสำหรับการฝังดิน เช่น บ้านเดี่ยว

* ควรตักไขมันออกอย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง (พิจารณาจากปริมาณไขมันของแต่ละบ้าน) โดยตักไขมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำออก
** ไม่แนะนำให้ตักไขมันแล้วทิ้งลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะโดยตรง เพราะจะทำให้น้ำเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็นและนำไปสู่การสะสมของเชื้อโรคจนอาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้
*** การแยกขยะเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งจากที่บ้านเองและจากแหล่งสาธารณะ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน รวมถึงการนำขยะแต่ละประเภทไปกำจัดอย่างเหมาะสม ซึ่งผู้มีหน้าที่ดูแลตรงส่วนนี้จะนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง 

หลังจากทำการแก้ไขแต่ละส่วนและประกอบอุปกรณ์กลับเข้าที่เหมือนเดิมแล้ว ให้ทดลองใช้งานอ่างล้างจานดูว่าสามารถใช้งานได้ตามปกติหรือไม่ หากยังใช้งานได้ไม่ดีหรือติดขัดอยู่ แนะนำให้เรียกช่างที่มีความชำนาญเข้ามาซ่อมแซมแก้ไข

สิ่งสำคัญของห้องครัว คือการติดตั้งอุปกรณ์แต่ละส่วนอย่างถูกวิธีมีมาตรฐาน มีการเดินระบบท่อที่ดี มีองศาความลาดเอียงที่เหมาะสม เพื่อให้น้ำสามารถระบายได้ดีด้วยเช่นกัน และที่ขาดไม่ได้เลยคือการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอทั้งสามส่วน ซึ่งทำได้บ่อยครั้งตามปริมาณการใช้งานของแต่ละบ้าน เพื่อให้ใช้งานได้อย่างดี ลดปัญหาการอุดตัน

บทความโดย SCG Experience คู่คิดก่อนสร้างบ้าน ช่วยให้คุณสร้างบ้านได้อย่างมั่นใจ พร้อมให้คำปรึกษาตลอดการสร้างบ้าน โดยผู้เชี่ยวชาญจาก SCG เพียงนำแบบบ้านมายื่นรับคำปรึกษา พร้อมรับสิทธิพิเศษต่างๆ ได้ที่ SCGคู่คิดก่อนสร้างบ้าน​ 

บทความ Infographic ล่าสุด