ฟ้าใสหลังฤดูฝนผ่านไป ก็ได้เวลารีโนเวทบ้าน

ฟ้าใสหลังฤดูฝนผ่านไป ก็ได้เวลารีโนเวทบ้าน

Categories : Infographic
Tags : , ,


บ้านของเรามักเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป ไม่ว่าจะเป็นสภาพที่ดูทรุดโทรมลง ส่วนประกอบต่างๆ เสื่อมชำรุดต้องซ่อมแซม อยากเปลี่ยนบรรยากาศหรือปรับพื้นที่เพื่อรองรับการใช้สอยซึ่งต่างไปจากเดิม การรีโนเวทบ้านจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อยู่เสมอ ทั้งนี้ หลังฤดูฝนนับเป็นอีกช่วงเวลาที่เหมาะกับการรีโนเวทบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมแซมบ้าน ปรับปรุงบ้านและอาจรวมถึงการต่อเติมบ้าน ด้วยดินฟ้าอากาศที่เป็นใจ เอื้ออำนวยต่อทั้งการทำงาน การขนส่ง และการจัดเก็บวัสดุ

รีโนเวทตรวจซ่อมบ้านหลังหน้าฝน

คงมีเจ้าของบ้านจำนวนไม่น้อยที่อยากจะจัดการปัญหารั่วซึม ซึ่งก่อกวนใจตลอดช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา โดยเฉพาะปัญหาหลังคาบ้านรั่ว หากเป็นหลังคาดาดฟ้าคอนกรีตมักหาจุดรั่วซึมได้ง่าย ถ้าเป็นรอยรั่วซึมขนาดเล็กก็สามารถสกัดและอุดซ่อมด้วยปูน Non-Shrink Grout ได้ แต่หากรอยแตกร้าวมีขนาดใหญ่เสียหายมากจนเหล็กเสริมเป็นสนิมขุม ควรปรึกษาวิศวกรเพื่อหาทางแก้ไขที่ปลอดภัย

สำหรับหลังคารูปทรงต่างๆ ที่ไม่ใช่หลังคาดาดฟ้าคอนกรีตนั้น ให้ลองหาจุดรั่วซึมเบื้องต้นโดยเปิดฝ้าเพดานแล้วมองหาจุดที่แสงลอดเข้ามาได้ หากไม่พบให้ลองสังเกตคราบน้ำตามโครงสร้างเพื่อย้อนไปหาตำแหน่งรั่วซึมที่แท้จริง (บางครั้งอาจมาจากหลังคาทาวน์โฮมเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน) ปัญหาหลังคาบ้านรั่วลักษณะนี้ มักต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญช่วยตรวจสอบหาวิธีแก้ไข ซ่อมแซม หรือปรับปรุงที่เหมาะสม

ภาพ: ปัญหาหลังคาบ้านรั่ว อาจเกิดจากกระเบื้องหลังคาแตกร้าว หลุดเผยอ หรือรั่วซึมตามรอยต่อต่างๆ ของหลังคาดังภาพ

รอยร้าวตามผนังก็เป็นอีกช่องทางให้น้ำรั่วซึมเข้าบ้านได้ ส่วนใหญ่มักพบบริเวณประตูหน้าต่าง หากเป็นรอยร้าวผนังรอบวงกบ สามารถซ่อมด้วยวัสดุอุดยาแนวหรือใช้ปูนซีเมนต์สำหรับงานซ่อม ส่วนรอยร้าวผุเล็กน้อยที่เนื้อวงกบไม้ก็ใช้วัสดุยาแนวอุดซ่อมได้ด้วย แต่หากวงกบไม้ผุพังมากให้ลองพิจารณาเปลี่ยนประตูหน้าต่างใหม่ โดยเจ้าของบ้านอาจเลือกวัสดุที่คงทนมากขึ้น หรือใช้ประตูหน้าต่างที่ขายพร้อมบริการเปลี่ยนติดตั้งแบบครบวงจรได้เพื่อเน้นคุณภาพและความสะดวก

ผนังร้าวรั่วซึมอีกกรณีที่พบได้ก็คือ ตามรอยต่อของผนังส่วนต่อเติมซึ่งถูกก่อฉาบเชื่อมรอยต่อติดกับตัวบ้าน เมื่อส่วนต่อเติมทรุดตัว จะเกิดการฉีกขาดเป็นรอยร้าวทำให้น้ำรั่วซึมเข้ามาได้ วิธีแก้ไขเบื้องต้นคือให้ยาแนวรอยต่อด้วยวัสดุที่ยืดหยุ่น อย่าง PU หรือซิลิโคน

ภาพ: การแก้ไขปัญหาผนังร้าวรั่วซึมบริเวณรอยต่อของส่วนต่อเติมกับตัวบ้าน

รีโนเวทปรับปรุงบ้านหลังหน้าฝน

หลังหน้าฝนเป็นโอกาสอันดีที่จะปรับปรุงบ้านในส่วนกลางแจ้ง อย่างการปรับปรุงหลังคา  ปรับปรุงพื้นบริเวณรอบบ้าน และปรับปรุงผนังภายนอกบ้าน จุดประสงค์อาจมิใช่แค่เพื่อเปลี่ยนรูปลักษณ์บรรยากาศเท่านั้น แต่เป็นการปรับปรุงเพื่อแก้ปัญหาที่ต่อเนื่องมาจากหน้าฝนด้วย อย่างกรณีหลังคารั่วหลายจุดหรือโครงหลังคามีปัญหา ก็อาจปรับปรุงโดยรื้อมุงกระเบื้องใหม่หรือวางโครงหลังคาใหม่ เป็นต้น

ปัญหาดินรอบบ้านทรุด จนเห็นโพรงใต้บ้านก็เป็นอีกเรื่องที่เหมาะจะปรับปรุงแก้ไขหลังหน้าฝน หากพื้นดินยังมีแนวโน้มจะทรุดตัวต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว ก็อาจปิดโพรงแบบชั่วคราวไปก่อน เช่น นำกระถางต้นไม้ทรงสี่เหลี่ยมมาวางปิดไว้ ใช้ขอบคันหินปิด หรือจะก่ออิฐบนพื้นคอนกรีตเดิมเพื่อปิดโพรงโดยใช้แผ่นโฟมคั่นระหว่างก้อนอิฐกับตัวบ้าน เป็นต้น แต่สำหรับกรณีที่พื้นทรุดไปมากแล้วและมีแนวโน้มว่าจะทรุดช้าลงมาก ให้ทำการแก้ไขแบบถาวร โดยทุบรื้อเอาหญ้าหรือวัสดุเดิมบนหน้าดินออก แล้วถมดินปิดโพรงในระดับที่เหมาะสมก่อนจะติดตั้งวัสดุปูพื้น ทั้งนี้อาจถือโอกาสเลือกวัสดุปูพื้นแบบใหม่เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศก็ได้

ภาพ: ดินรอบบ้านทรุดจนเห็นโพรงใต้บ้านเล็กน้อย

ภาพ: การใช้ขอบคันหินวางปิดโพรงใต้บ้าน พร้อมปลูกต้นไม้ประดับเล็กน้อย

อีกปัญหาที่พบบ่อยในหน้าฝน ซึ่งแม้จะไม่ได้มีผลกระทบต่อการใช้งานนัก แต่ก็ทำลายความสวยงามอย่างมากนั่นคือปัญหาผนังชื้น สีโป่งพองลอกล่อนโป่งพอง หรือมีเชื้อราตะไคร่ เจ้าของบ้านสามารถปรับปรุงผนังใหม่หลังหน้าฝนโดยใช้หลักการคือ ทำให้ผนังระบายความชื้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สีที่มีคุณสมบัติระบายความชื้น ทำผนังปูนแบบต่างๆ เช่น ผนังปูนเปลือยฉาบขัดมัน ผนังกรวดล้างทรายล้าง เป็นต้น ไปจนถึงการใช้ไม้เทียมตกแต่งทับผนังเดิม

รีโนเวทและต่อเติมบ้านหลังหน้าฝน

บางครั้งการปรับปรุงพื้นที่ใช้สอยอาจไม่จบเพียงแค่ในบ้าน แต่มีการขยับขยายต่อเติมออกนอกตัวบ้านด้วย ไม่ว่าจะเป็นการต่อเติมห้องนอน ต่อเติมห้องครัว ต่อเติมห้องนั่งเล่น ฯลฯ เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยส่วนนั้นให้กว้างขวางขึ้น การต่อเติมขยายพื้นที่ลักษณะนี้มักทุบผนังเพื่อเชื่อมพื้นที่ส่วนต่อเติมเชื่อมเข้ากับพื้นที่บ้านเดิม ดังนั้นโครงสร้างที่รองรับพื้นควรลงเสาเข็มให้ลึกถึงชั้นดินแข็งเช่นเดียวกับโครงสร้างบ้านเดิม เพื่อลดปัญหาการทรุดตัวของพื้นที่ไม่เท่ากัน ทั้งนี้ กระบวนการต่อเติมบ้านจะเป็นการทำงานกลางแจ้งเสียส่วนใหญ่ ดังนั้น ช่วงปลายปีหลังฤดูฝนจึงนับเป็นเวลาที่สะดวกต่อการดำเนินงาน รวมทั้งการขนส่งและจัดกองเก็บวัสดุ

ภาพ: การลงเสาเข็มส่วนต่อเติมให้ลึกถึงชั้นดินแข็ง

การรีโนเวทบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมแซมบ้าน ปรับปรุงบ้านหรือต่อเติมบ้าน ควรอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายควบคุมอาคาร และควรยื่นขออนุญาต อย่างถูกต้อง (หากเข้าข่ายต้องขออนุญาต) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีปรับปรุงต่อเติมบ้าน มักมีกฎหมายควบคุมหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การปรับปรุงหรือต่อเติมนั้นไม่ควรขัดขวางทางหนีไฟ  มีขนาดที่ว่าง ภายในขอบเขตที่ดินและระยะร่นต่างๆ ที่เพียงพอ การกำหนดตำแหน่งของช่องเปิด ซึ่งสัมพันธ์กับแนวเขตที่ดิน เป็นต้น และทางที่ดีควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการรีโนเวท โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่การซ่อมแซม ปรับปรุง หรือต่อเติมบ้านนั้นมีผลกระทบต่อโครงสร้างบ้าน ควรอยู่ภายใต้ความดูแลวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัยและลดปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อการอยู่อาศัยในระยะยาว

บทความโดย SCG Experience คู่คิดก่อนสร้างบ้าน ช่วยให้คุณสร้างบ้านได้อย่างมั่นใจ พร้อมให้คำปรึกษาตลอดการสร้างบ้าน โดยผู้เชี่ยวชาญจาก SCG เพียงนำแบบบ้านมายื่นรับคำปรึกษา พร้อมรับสิทธิพิเศษต่างๆ ได้ที่ SCGคู่คิดก่อนสร้างบ้าน​ 

img class=”alignnone size-full wp-image-61869″ src=”https://www.reviewyourliving.com/wp-content/uploads/2017/05/5-1-2-รีโนเวทบ้าน-headline.png” alt=”” width=”1446″ height=”800″ />

บทความ Infographic ล่าสุด