7 จุดต้องตรวจเช็ค เตรียมบ้านต้อนรับหน้าฝน

7 จุดต้องตรวจเช็ค เตรียมบ้านต้อนรับหน้าฝน

Categories : Infographic
Tags : , , ,

นับเป็นความโชคดีที่ปีนี้อากาศไม่ร้อนมากนัก แต่ในขณะเดียวกันหลาย ๆ พื้นที่ ฝนตกชุกยิ่งกว่าฤดูฝน ฝนที่มาเร็วกว่าทุก ๆ ปีแถมยังตกกระหน่ำยาวนานหลายเดือน บ้านที่ต้องเจอกับความชื้นทุก ๆ วัน อาจก่อให้เกิดเชื้อรา เกิดรอยดำไม่สวยงาม ยิ่งบ้านไหนมีรอยร้าว หลังคารั่วซึม ท่อน้ำตัน ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหาย หากแก้ไขช้าไปย่อมส่งผลกระทบบานปลายขึ้นเรื่อย ๆ เราจึงรวบรวมสิ่งที่ควรตรวจเช็คและวิธีการเตรียมบ้านให้พร้อม เพื่อรับมือกับหน้าฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพมาฝากกัน หน้าฝนนี้จะได้นั่งชิล ๆ ริมหน้าต่าง ฟังเสียงฝนตกกระทบอย่างสบายใจ

 

1. ตรวจเช็ครอยรั่ว 3 จุดใหญ่

หลังคา ฝ้าเพดาน และผนัง เป็น 3 จุดสำคัญหลัก ๆ ที่เมื่อเกิดการร้าว รั่ว ซึม จะเกิดปัญหากับบ้านอย่างแน่นอน บางจุดใหญ่ ๆ ก็เห็นได้ชัดเจน แต่บางจุดเล็ก ๆ ที่ถูกละเลยอาจลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ได้ จึงต้องหมั่นสังเกตว่ามีสัญญาณอันตรายหรือไม่ เช่น ฝ้าเพดานมีคราบรอยน้ำหยดซึมเป็นดวงสีน้ำตาล, ผนังตรงไหนมีรอยแตกร้าว เกิดรูรั่วตามรอยต่อไหม เป็นต้น

หากพบจุดที่เสียหายไม่มากก็อาจจะซ่อมแซมด้วยตัวเองด้วยวัสดุอุดรูรั่ว กันซึมประเภทอะคลิริค ซีเมนต์ หรือซิลิโคน แล้วแต่ชนิดของปัญหา หรือให้ช่างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วย ที่สำคัญ อย่าลืมตรวจดูน้ำรั่วซึมตามขอบวงกบประตูหน้าต่าง ผนังภายนอกอาคาร และพื้นดาดฟ้าด้วยนะครับ

 

2. ดูแลทำความสะอาดรางน้ำฝน รางระบายน้ำ

ทางระบายน้ำไม่ว่าจะเป็นรางน้ำฝนหรือท่อระบายน้ำทิ้งออกจากตัวบ้าน ตรวจเช็คทำความสะอาดเพื่อไม่ให้มีสิ่งอุดตันมาขวางทางไหลของน้ำ เมื่อน้ำฝนไหลลงมาจากหลังคาสู่รางน้ำลงท่อระบายน้ำก็จะไหลออกจากตัวบ้านได้อย่างรวดเร็ว ป้องกันปัญหาน้ำไหลย้อนเข้าไปรั่วซึมภายในบ้านหรือท่วมขังรอบตัวบ้าน ซึ่งจะทำให้โครงสร้างส่วนนอกเปียกชื้น โดยเฉพาะส่วนฐานรากของตัวบ้านที่จะดูดซับความชื้นจากใต้ดิน อาจทำให้ตัวบ้านเสียหายได้

 

3. ขัดพื้นบริเวณระเบียง ชาน ทางเดิน

หลังฝนตกชุกติดต่อกันหลายวัน เรามักจะพบคราบตะไคร่สีเขียวเกาะติดอยู่บนพื้นภายนอก หรือดินโคลนลื่น ๆ บริเวณระเบียงกลางแจ้ง ทางเดินในสวน ทางเดินรอบตัวบ้าน หมั่นตรวจเช็คดูว่ามีตะไคร่น้ำหรือเชื้อราอยู่บริเวณพื้นหรือไม่ ถ้ามีให้ทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อราและกำจัดตะไคร่น้ำสูตรน้ำ นำแปรงมาขัดล้างออก เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการลื่นล้ม

 

4. ตัดแต่งกิ่งต้นไม้ใหญ่ใกล้ ๆ บ้าน

แม้ต้นไม้จะให้ร่มเงาที่เย็นสบายในช่วงฤดูร้อน แต่อาจส่งผลอันตรายได้ในฤดูฝน ด้วยพายุลมกรรโชกแรงมักส่งผลให้กิ่งไม้แตกหักล้มทับตัวบ้าน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ เมื่อเข้าสู่หน้าฝนควรตัดแต่งกิ่งไม้ให้ดูโปร่ง ไม่ให้มีพุ่มใหญ่หนาจนเกินไป นอกจากนี้ควรต้องดูแลสวนไม่ให้มีน้ำขัง หญ้าไม่รก เพราะอาจเป็นที่ซ่อนตัวของสัตว์มีพิษและที่อยู่ของยุงลายได้

 

5. เช็คปลั๊กไฟ โคมไฟ กลางแจ้ง

จุดนี้สำคัญมาก บ้านบางหลังที่มีความจำเป็นต้องต่อสายไฟ ปลั๊กไฟนอกบ้าน จึงควรยกปลั๊กให้สูงจากพื้นบ้านและระดับที่น้ำท่วมถึง ตรวจเช็คระบบไฟฟ้าและบริเวณปลั๊กไฟที่อยู่ในจุดเสี่ยงว่ามีการรั่วของไฟหรือไม่  และทำฝาปิดครอบให้แน่นหนาเพื่อป้องกันละอองน้ำฝน หรือเปลี่ยนไปใช้ปลั๊กแบบที่มีฝาเปิด-ปิด

 

6. ซ่อมแซมอุปกรณ์ฟิตติ้งในบ้าน

หน้าฝนประตูหน้าต่างที่ทำจากไม้จะขยายตัวทำให้ประตูฝืด ๆ และความชื้นจะทำให้อุปกรณ์ฟิตติ้งประเภทต่าง ๆ  เป็นสนิมจนทำให้ฝืดและเกิดเสียงดังจนน่ารำคาญได้ รูกุญแจ ลูกบิดก็ใช้งานได้ยากขึ้น วิธีแก้ไขคือใช้ผ้าแห้ง เช็ดอุปกรณ์และวัสดุที่จะซ่อมแซม จากนั้นใช้น้ำมันจักร น้ำมันหล่อลื่นสารพัดประโยชน์มาชโลม ฉีด พ่น ตามจุดรอยต่อ บานพับประตู หน้าต่าง แต่ทั้งนี้ต้องแน่ใจว่าจุดดังกล่าวแห้งแล้วจริง ๆ ค่อยใส่น้ำมัน และไม่ควรใช้จารบีอัดเข้าไปเพราะอาจจะทําให้นํ้าที่ยังขังอยู่ภายในไม่สามารถระเหยออกได้

 

7. เตรียมพร้อมสำหรับจุดอื่น ๆ ในบ้านและสวน

เช่น ทาสีย้อมไม้กันน้ำเคลือบเนื้อไม้ที่อยู่กลางแจ้ง เพื่อป้องกันน้ำฝนซึมเข้าไปในเนื้อไม้ ไม้บริเวณนั้นอาจเสียหายจนอาจจะต้องเปลี่ยนใหม่ กำจัดรังมดและแมลงที่ชอบหนีน้ำเข้ามาอยู่ในบ้าน ยกต้นไม้ที่ไม่ชอบน้ำมากเข้ามาอยู่ในเขตที่ไม่โดนน้ำฝนมากเกินไป

เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับขั้นตอนง่าย ๆ ในการเตรียมตัวรับมือกับหน้าฝนนี้ หวังว่าจะเป็นแนวทางในการจัดการบ้านให้ไร้ปัญหากวนใจกันนะครับ สำหรับผู้อ่านท่านไหนที่กำลังมองหาตัวช่วย อุปกรณ์ซ่อมแซมรอยร้าว รั่ว ซึม บริเวณเสา ผนัง ดาดฟ้า หลังคา และดูแลอุปกรณ์ฟิตติ้งให้ใช้งานได้ดี

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.banidea.com/thai-watsadu/

บทความ Infographic ล่าสุด