คู่มือเตรียมบ้านให้พร้อมรับมือกับหน้าฝน

Categories : Life+Style
Tags : , ,

เข้าสู่ฤดูฝนคราใด ใครหลายคนอาจไม่ชอบใจนัก เพราะไม่ว่าจะไปไหนมาไหนก็ไม่สะดวกคล่องตัวเหมือนฤดูอื่นๆ บางทีอาจจะต้องเจอน้ำนอง, น้ำขัง, น้ำท่วม แถมถ้าฝนตกชุกบ้านก็มักมีปัญหาชวนปวดหัวทุกที แต่เราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ได้ ครั้นจะให้มาคอยซ่อมตอนหน้าฝนก็ดูเหมือนจะไม่ทันการณ์ วันนี้ทีมงาน Review Your Living เลยนำคู่มือในการเตรียมบ้านเพื่อรับมือกับหน้าฝนมาฝาก เผื่อเจอจุดเสียหายจะได้รีบซ่อมก่อนเกิดปัญหาจริง!

 

ฝนที่ตกลงมานอกจากก่อความรำคาญใจให้กับเราแล้ว จะเป็นส่วนที่ทำร้ายบ้านของเราอีกด้วย การหมั่นตรวจเช็คสิ่งต่างๆ ของบ้านทั้งภายในและภายนอกให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ จะช่วยให้เราพร้อมรับแรงปะทะจากพายุฝนที่กำลังจะมาได้เป็นอย่างดี โดยควรต้องตรวจเช็คทั้งตัวบ้าน สิ่งแวดล้อมละแวกบ้านอย่างละเอียด โดยสิ่งที่จำเป็นต้องตรวจเช็คมีดังต่อไปนี้..

 

1. ตรวจสอบหลังคา ฝ้า เพดาน ให้ดี

คู่มือเตรียมบ้านให้พร้อมรับมือกับหน้าฝน

ปัญหากวนใจเกี่ยวกับบ้านในช่วงหน้าฝน คงหนีไม่พ้นปัญหาน้ำรั่วซึมเพดานอย่างแน่นอน ซึ่งทางเราขอแนะนำให้เจ้าของบ้านหรือคอนโดมิเนียมหมั่นตรวจดูรอยรั่วซึมของหลังคา ตรวจดูผนังห้องไม่ให้มีรอยแตกร้าว ไม่มีรอยรั่วซึมของน้ำบน ฝ้าเพดาน โดยดูสังเกตุได้หากฝ้าเพดานมีลักษณะเป็นดวงสีน้ำตาลแสดงว่ามีรอยน้ำรั่ว หากพบสัญญาณบอกเหตุว่ามีการรั่วไหล ให้รีบทำการซ่อมแซมทั้นที

 

2. รางน้ำฝน และรางระบายน้ำ ก็อย่าละเลย

คู่มือเตรียมบ้านให้พร้อมรับมือกับหน้าฝน

สำหรับรางน้ำฝนและรางระบายน้ำนั้น คงเป็นจุดที่เจ้าของบ้านหลายคนมักไม่ค่อยใส่ใจเท่าไหร่ แต่ขอบอกเลยว่ามีความสำคัญมากนะ ดังนั้นแนะนำให้ทำความสะอาดรางระบายน้ำรอบบริเวณบ้าน ทั้งบนหลังคาและบนพื้นดินอย่างสม่ำเสมอ ไม่ให้มีสิ่งอุดตันจากเศษดินหรือเศษใบไม้มาขวางทางระบายของน้ำ เพื่อให้น้ำฝนที่ไหลลงมาจากหลังคา หรือไหลตามรางระบายน้ำสามารถระบายน้ำออกไปให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันน้ำขังบริเวณบ้านจนทำให้น้ำท่วมเข้าบ้านนั่นเอง

 

3. ระเบียงหรือนอกชาน เราก็ต้องดูแล

คู่มือเตรียมบ้านให้พร้อมรับมือกับหน้าฝน

ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือคอนโดฯ เราเชื่อว่ายังก็ต้องมีระเบียงกลางแจ้ง ซึ่งเราแนะนำให้ตรวจสอบดูว่ามีคราบน้ำ คราบตะไคร่น้ำหรือเชื้อราอยู่บริเวณพื้นหรือไม่ ถ้ามีให้รีบดำเนินการทำความสะอาดขัดล้างออก เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุลื่นล้ม อีกทั้งยังเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคอีกด้วย และหากทิ้งไว้นานก็จะทำให้ทำความสะอาดได้ยากขึ้น ต้องรับกำจัดตั้งแต่เนิ่นๆ นะ

 

4. มีปลั๊กไฟ โคมไฟ อยู่กลางแจ้งหรือเปล่า?

คู่มือเตรียมบ้านให้พร้อมรับมือกับหน้าฝน

สำหรับข้อนี้ถือว่าสำคัญนะคะ เพราะบ้านใครที่มีบริเวณส่วนใหญ่มักต่อปลั๊กไฟไว้ใช้งานในสวน จึงควรตรวจเช็คระบบไฟฟ้าหรือบริเวณปลั๊กไฟที่อยู่ในจุดเสี่ยง อาทิ โคมไฟหน้าบ้านที่ไม่มีหลังคาคลุม, กระดิ่งไฟหน้าบ้าน, ปลั๊กไฟที่อยู่นอกบ้าน ก็ควรต้องมีฝาปิดครอบให้แน่นหนาเพื่อป้องกันน้ำกระเซ็นถึง เป็นต้น

 

5. ต้นไม้ใหญ่ใกล้บ้าน ระวังไว้หน่อยก็ดี

คู่มือเตรียมบ้านให้พร้อมรับมือกับหน้าฝน

แน่นอนว่าหากบริเวณบ้านพักที่อยู่อาศัยของเรา มีต้นไม้สูงอยู่ใกล้เคียง สิ่งที่เจ้าของบ้านควรทำเสมอคือแจ้งเจ้าหน้าที่ให้เข้ามาตัดแต่งกิ่งไม้ให้อยู่ห่างจากเสาไฟ และไม่ให้เกะกะสายไฟรอบตัวบ้าน เพราะนี่อาจจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้ แถมถ้ามีฝนฟ้าคะนองหรือลมกรรโชกแรงในหน้ามรสุมก็จะยิ่งเสี่ยงให้เกิดอันตรายได้นะคะ ดังนั้นป้องกันไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็ดีจ๊ะ

 

6. ดูแลเฟอร์นิเจอร์ในสวนให้พร้อมรับหน้าฝน

คู่มือเตรียมบ้านให้พร้อมรับมือกับหน้าฝน

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ก็ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องจัดเก็บเฟอร์นิเจอร์สนามประเภทผ้าเข้ากรุ และเตรียมการให้พร้อมรับฤดูที่เต็มไปด้วยความชื้น โดยการทาน้ำยาป้องกันแมลง หรือน้ำยาเคลือบเงาบนเฟอร์นิเจอร์ไม้และทาน้ำยากันสนิมพร้อมกับเคลือบสีใหม่ให้เฟอร์นิเจอร์เหล็ก จะได้สวยงามคงทนสู้แดดและฝน

 

7. ป้องกันลานลื่นในสวน

คู่มือเตรียมบ้านให้พร้อมรับมือกับหน้าฝน

ถ้าฝนตกชุก พื้นทางเดินก็มักจะมีตะไคร่น้ำเกาะ ซึ่งเจ้าของบ้านควรใช้น้ำยากำจัดตะไคร่น้ำบนพื้นลาน แล้วจึงติดแถบหรือเคลือบน้ำยากันลื่นหรือปูพื้นด้วยแผ่นพื้นไม้สำเร็จรูปกันลื่นที่ถอดประกอบได้และมีน้ำหนักเบา โดยเลือกชนิดที่มีโครงรองพื้นเป็นพลาสติกก็จะสามารถระบายน้ำและความชื้นได้ดี

 


สุดท้ายอย่าลืมว่าเราไม่สามารถควบคุม บังคับธรรมชาติได้ แต่เราสามารถปรับตัว เรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติได้อย่างปลอดภัย ดังนั้นเตรียมบ้านให้พร้อมรับกับหน้าฝนที่กำลังจะมากันดีกว่าค่ะ เพราะถ้าบ้านปลอดภัยเราก็สบายกายและสบายใจ 🙂

บทความ Life+Style ล่าสุด