“อิเกีย” เปิดอีคอมเมิร์ซ เรียนรู้พฤติกรรมคนไทย ก่อนเปิดสโตร์โมเดลใหม่

อีเกียเริ่มทดลองเปิดให้บริการอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเทศที่ 52 ของอีเกียทั่วโลก และประเทศที่ 3 ของอาเซียน  ในการเปิดให้บริการการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซ โดยปัจจุบันอีเกียมีจำนวนสโตร์อยู่ทั่วโลกมากกว่า 423 แห่ง นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งธุรกิจในประเทศสวีเดนเมื่อปี 2486 ส่วนในประเทศไทยอีเกียมีสาขาหลักจำหน่ายสินค้าอยู่ 2 แห่ง คือ สาขาบางนา และบางใหญ่  ส่วนสาขาที่จังหวัดภูเก็ต เป็นการให้บริการในรูปแบบศูนยบริการสั่งซื้อและรับสินค้าอีเกีย

 

สาเหตุสำคัญของการเปิดให้บริการอีคอมเมิร์ซของอีเกีย ก็เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ที่ต้องการความสะดวกสบาย จาการซื้อสินค้าได้ทุกที่ทุกเวลา มีบริการจัดส่งโดยไม่ต้องเดินทางมายังสาขา เพราะไลฟ์สไตล์ของนักชอปรุ่นใหม่ ใช้ชีวิตประจำวันอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต การเปิดบริการอีคอมเมิร์ซของอีเกีย จึงเข้ามารองรับกับไลฟ์สไตล์ดังกล่าว และยังเป็นการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้กว้างมากขึ้นในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เพราะต้องยอมรับว่าสาขาหลักมีอยู่แค่ 2 แห่ง น้อยเกินกว่าจะเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ของประเทศได้

 

“เรียนรู้” เพื่อ “รุก” ตลาดต่างจังหวัด

นับตั้งแต่ได้เริ่มซอฟ์ทลอนซ์ คือวันที่ 26 มีนาคมถึงปัจจุบัน  อาจจะถือว่าเป็นระยะเวลาไม่นานนัก ที่จะสรุปได้ว่าผู้บริโภคคนไทย มีพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของอีเกียอย่างไร ซึ่งอีเกียจะต้องเรียนรู้และศึกษาข้อมูลต่อไปอีกมาก เพื่อนำเอามาใช้เป็นปัจจัยในการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต แต่อย่างน้อยก็ได้ข้อมูลมาระดับหนึ่งแล้ว คือ

 

-ยอดสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เฉลี่ยต่อบิลสูงถึง 7,000 บาท มากกว่ายอดซื้อเฉลี่ยที่สาขาหลัก ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2,600-3,000 บาท  ซึ่งตั้งแต่เปิดให้บริการในวันที่ 26 มีนาคมถึง 14 พฤษภาคม มีจำนวนการสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์จำนวน 4,900 ครั้ง ภายในสิ้นปีนี้อีเกียตั้งเป้าว่าน่าจะมียอดสั่งซื้อออนไลน์ถึง17,000 ครั้ง

 

-สัดส่วนยอดขายจากตลาดในกรุงเทพฯ​ มีประมาณ​ 40% จากต่างจังหวัดมีสัดส่วน 60%  ซึ่งจังหวัดที่มียอดการส่งซื้อสูงสุดในต่างจังหวัด 3 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต ชลบุรี และเชียงใหม่

 

-สินค้าประเภท มาร์เก็ตฮอลล์ หรือสินค้าชิ้นเล็กหรือสินค้าไม่ต้องประกอบแบบเฟอร์นิเจอร์ใหญ่ๆ เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุด ซึ่งขายดีอันดับ 1 คือ กรอบรูป ประเมินว่าเป็นสินค้าที่ลูกค้านิยมซื้อไปตกแต่งบ้านหรือร้านค้า

 

นางลาเซีย เซอร์ล็อค รองผู้บริหารฝ่ายธุรกิจค้าปลีก อิเกีย ไทย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์เล่าว่า ได้ใช้เวลาร่วม 2 ปี ในการศึกษาความต้องการของตลาด  และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงเตรียมความพร้อมต่างๆ เพื่อเปิดให้บริการอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  โดยมีเป้าหมายให้นักช้อปออนไลน์ได้รับประสบการณ์น่าประทับใจ  ไม่ต่างจากการมาช้อปที่สโตร์ ปี 2560 จึงได้เปิดให้บริการอีคอมเมิร์ซในสิงคโปร์ ต่อมาในปี 2561 เปิดที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี  ในสิงคโปร์มียอดขายสัดส่วน 10% ของยอดขายทั้งหมด ขณะที่ประเทศมาเลเซีย หลังจากเปิดให้บริการได้เพียง 3 เดือน สร้างยอดขายได้ถึง 5% ของยอดขายทั้งหมด

 

“การเปิดให้บริการอีคอมเมิร์ซ จะทำให้อีเกียได้ข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค ถือเป็นการเรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค และโอกาสในการขยายสาขาออกไปในตลาดต่างจังหวัด”

 

เปิดโมเดลใหม่ “เล็กลง” แต่เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น

เพื่อเป็นการกระจายสินค้าให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคให้ได้มากขึ้น แม้จะมีการให้บริการในรูปแบบช้อปปิ้งออนไลน์แล้ว แต่อีเกียไม่ได้หยุดแผนการขยายสาขาในรูปแบบสโตร์แต่อย่างใด ในมุมกลับกันต้องสร้างประสบการณ์ด้านการช้อปปิ้งให้ครบ รอบด้าน และไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าผู้บริโภคจะซื้อสินค้าของอีเกียในช่องทางใด

 

แต่เนื่องจากปัจจุบันการหาพื้นที่ในการขยายสาขาขนาดใหญ่  เช่นเดียวกับสาขาบางใหญ่หรือบางนานั้น  อาจจะทำได้ยากมากขึ้น อีเกียจึงวางแผนที่จะเปิดตัวสโตร์ในคอนเซ็ปต์และรูปแบบใหม่  ที่มีขนาดพื้นที่เล็กลงเหลือประมาณ​ 3,000-12,000 ตารางเมตร โดยไม่จำเป็นต้องมีคลังสินค้าเหมือนปัจจุบัน เพื่อเจาะไปยังพื้นที่ใจกลางเมือง ซึ่งถือว่าเล็กลงหลายเท่าตัวจากสาขาปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสาขาบางนาที่มีพื้นที่รวม 44,000 ตารางเมตร ใช้เงินลงทุนไป 4,000 ล้านบาท สาขาบางใหญ่ มีพื้นที่รวม 50,278 ล้านบาท ใช้เงินลงทุนไป 6,300ล้านบาท

 

“สโตร์ในรูปแบบใหม่จะไม่มีคลังสินค้า แต่ยังคงเห็นสินค้าเหมือนในสาขาปกติ เราพยายามเข้าหาคนส่วนใหญ่ ที่อยู่ในใจกลางเมืองมากขึ้น”

 

 

 

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด