เปิดรายได้-กำไร บิ๊กอสังหาฯ Q1/2562 ใคร? ท็อปฟอร์มสุด

การออกมาตรการ LTV  ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อสกัดกั้นนักเก็งกำไรและนักลงทุน และยังลดระดับความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกลุ่มตลาดคอนโดมิเนียม ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายแห่กันเข้ามาในตลาดนี้อย่างมากมาย  และยังต่อเนื่องมาหลายปี  ซึ่งธปท. มีความกังวลว่าปัญหาฟองสบู่จะย้อนรอยกลับมาอีกครั้ง จึงต้องออกมาตรการ LTV ออกมาใช้ และมีกำหนดดีเดย์ใช้จริงในวันที่ 1เมษายน  2562 ที่ผ่านมา

 

และดูเหมือนว่ามาตรการจะทำงานได้เป็นอย่างดี  เพราะก่อนมาตรการจะมีผลบังคับใช้  บรรดาผู้ประกอบการก็ต่างอัดโปรโมชั่น และกระตุ้นยอดขายในช่วงไตรมาสแรก เพื่อให้ลูกค้าได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ และสามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น ​โดยมีต้องมีกรอบเพดานวงเงินกู้ของ LTV มาเป็นตัวกำหนด

 

แม้ว่าผู้ประกอบการหลายรายจะยังปากแข็ง เห็นว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯ  แต่ในใจลึกๆ ต่างก็รู้ดีว่า ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของคนจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะตลาดกลางลงมาระดับล่าง ที่สำคัญมีผลต่อจิตวิทยาของคนส่วนใหญ่แน่ๆ

 

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ นอกจากจะเห็นสารพัดแคมเปญการตลาด ออกมากระตุ้นตลาดแล้ว ยังเห็นตัวเลขยอดโอนที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ผู้ประกอบการหลายรายได้รับอานิสงค์จากมาตรการ ทำผลประกอบการได้ดีเกินกว่าที่คาดหมายกันไว้ด้วยซ้ำ

 

ภาพรวมของธุรกิจอสังหาฯ จากบรรดาผู้ประกอบการที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 33 บริษัท ซึ่งเน้นการพัฒนาอสังหาฯ ประเภทที่อยู่อาศัย พบว่า ช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา หรือตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2562 มีรายได้รวมกว่า 80,998.14 ล้านบาท (รายได้จากการขายและการพัฒนาอสังหาฯ​ ประเภทที่อยู่อาศัย ไม่รวมธุรกิจและรายได้อื่น เช่น โรงแรม ค่าบริหาร ค่าเช่า เป็นต้น) เติบโต 30.42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีรายได้รวม 62,105.02 ล้านบาท  บริษัทส่วนใหญ่ยังคงทำกำไรได้อย่างดี  โดยมีกำไรโดยรวมอยู่กว่า 13,774.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 134.76% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีกำไรรวมกว่า 5,867.54 ล้านบาท  สาเหตุสำคัญที่ปีนี้กำไรเติบโตกันอย่างมหาศาล ก็เพราะมีการโอนกรรมสิทธิ์และรับรู้รายได้กันเป็นกอบเป็นกำ

5 บิ๊กอสังหาฯ รายได้อู้ฟู่

ส่วนบิ๊กอสังหาฯ ที่ยังคงทำรายได้นำโด่ง เป็นเจ้าตลาด 5 อันดับแรกในปีนี้ ได้แก่ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)  (บมจ.) มีรายได้ระดับหมื่นล้านบาทเพียงเจ้าเดียว และยังครองความเป็นผู้นำเบอร์ 1 ของวงการอสังหาฯ เมืองไทย โดยมีรายได้ 11,969.0 ล้านบาท เติบโต 43.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อันดับ 2 คือ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ได้จากปีที่ผ่านมาอยู่ในอันดับที่ 3 มีรายได้ 7,503.6 ล้านบาท เติบโต 42.47% ส่วนอันดับ 3ของไตรมาสแรกปีนี้ คือ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ที่ขยับตำแหน่งขึ้นมาจากอันดับที่ 4 ของไตรมาสแรกปีที่ผ่านมา โดยมีรายได้ 6,252.56 ล้านบาท เติบโต 41% ส่วนอันดับ 4 ของปีนี้เป็นบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ที่ตำแหน่งหล่นจากเคยเป็นเบอร์  2 มีรายได้ 5,698.25 ล้านบาท เติบโตลดลง 28.54%  และอันดับ5 ขยับตำแหน่งจากเบอร์ 6 ในปีที่ผ่านมาคือ บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) โดยมีรายได้ 4,910.97 ล้านบาท เติบโต 29.16% หลังเบียดบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ให้ไปอยู่ในอันดับ 6 ของปีนี้แทน

 

แม้ว่าภาพรวมของผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมีการสลับตำแหน่งกันไปมาบ้าง  แต่บิ๊กเพลย์เยอร์ของตลาดอสังหาฯ เมืองไทย ก็ยังคงเป็นรายใหญ่หน้าเดิมเหล่านี้อยู่นั่นเอง

 

5 เจ้าตลาดทำกำไรอีก 4 รายที่ยังขาดทุน

นอกเหนือจากจะทำรายได้กันเป็นกอบเป็นกำแล้ว ในส่วนของกำไรก็ถือว่าแต่ละรายทำกันได้ไม่น้อย โดยบมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ทำกำไรได้ 1,825.80 ล้านบาท ดีที่สุดในตลาด รองลงมาเป็นบมจ.พฤกษาฯ ทำกำไรได้ 1,686.0 ล้านบาท บมจ.ศุภาลัย ทำกำไรได้ 1,527.36 ล้านบาท บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ ทำกำไรได้ 1,309.36 ล้านบาทและบมจ.เอพี (ไทยแลนด์) ทำกำไรได้ 1,077.63 ล้านบาท

 

แต่หากมาจัดอันดับอัตราการเติบโตของกำไร จะพบว่า 5 อันดับแรกของตลาดที่สร้างการเติบโตของกำไรได้มากที่สุด คือ บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ กำไรโต 902.11% บมจ.เอเวอร์แลนด์เติบโต 695.2% บมจ.เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง กำไรโต 388.39% บมจ.มั่นคงเคหะการ กำไรโต 186.86%  และบมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค เติบโต 185.7%

 

แม้ว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะทำกำไรกันได้มากบ้างน้อยบ้าง แต่ก็ยังถือว่ามีกำไร จะมีก็เพียง 4 บริษัทเหล่านี้ที่พบว่ายังมีผลการดำเนินงานขาดทุนอยู่  ได้แก่ บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น ​ขาดทุน 317 ล้านบาท  แต่ดีกว่าปีที่ผ่านมา เพราะช่วงเดียวกันของปีที่แล้วขาดทุนไปถึง4,086 ล้านบาท บมจ.ชาญอิสระ ดีเวล็อปเมนท์ ขาดทุน 82.10 ล้านบาท ซึ่งขาดทุนมากขึ้นจากไตรมาส 1 ปี 2561 มูลค่า 27 ล้านบาท บมจ.เอคิว เอสเตท ขาดทุนอยู่ 43.61 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำกำไร 22.55 ล้านบาท และบมจ.ปรีชา กรุ๊ป ขาดทุน 5.29 ล้านบาท ซึ่งขาดทุนต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาขาดทุน 7.62 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ ยังพบว่ามี 2 บริษัทที่ถือว่าทำผลประกอบการได้ดี จากไตรมาสแรกปีที่แล้วขาดทุน พลิกกลับมาทำกำไรได้ในไตรมาสแรกของปีนี้ คือ บมจ.เอเวอร์แลนด์ จากขาดทุน 69.18 ล้านบาทในไตรมาสแรกปีที่แล้วมาเป็นกำไร 400.66 ล้านบาท ของไตรมาสแรกปีนี้  และบมจ.สัมมากร ที่ขาดทุนไป 11.93 ล้านบาท พลิกกลับมาทำกำไรได้ในช่วงเวลาเดียวกันของปีนี้ ด้วยอัตรากำไร 5.91 ล้านบาท

 

 

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด