ต่อเติมห้องครัวไทย แบบโปร่งหรือแบบทึบดี?

ต่อเติมห้องครัวไทย แบบโปร่งหรือแบบทึบดี?

Categories : Infographic
Tags : , ,

ขึ้นชื่อว่าอาหารไทย เวลาประกอบอาหารก็ย่อมจะต้องมีเสียงดัง กลิ่นแรง ควันฟุ้งเกิดขึ้น ซึ่งคงไม่เหมาะหากครัวของเราอยู่ภายในบ้าน หลายครอบครัวจึงมักจะใช้วิธีต่อเติมครัวไทยแยกออกจากตัวบ้าน แต่จะเลือกต่อเติมรูปแบบไหน เรามาดูการเปรียบเทียบกันระหว่างข้อดี-ข้อเสีย ของครัวไทยแบบทึบและแบบโปร่ง เผื่อจะประกอบการตัดสินใจของบ้านคุณได้ครับ

 

การต่อเติมห้องครัวไทย แบบโปร่ง และแบบทึบ

ห้องครัวทึบ

ขึ้นชื่อว่าครัวทึบก็จะมีลักษณะสมชื่อเลยครับ คือจะเป็นห้องที่กั้นด้วยผนังทึบรอบด้าน มีหลังคาต่อออกมาอย่างมิดชิด มีการเจาะช่องระบายอากาศ หน้าต่างบ้างตามความเหมาะสม

 

ข้อดี ให้ความปลอดภัย มีความเป็นส่วนตัว มีพื้นที่สำหรับติดตั้งตู้เก็บของได้มากกว่า สามารถป้องกันสิ่งสกปรก สิ่งไม่พึงประสงค์จากภายนอกได้ดี และเครื่องดูดควันที่ใช้ภายในจะช่วยป้องกันกลิ่นและควันที่จะฟุ้งกระจายสู่ภายนอกบ้านได้ดีกว่า

 

ข้อเสีย การต่อเติมจะใช้เวลามากกว่า มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า เพราะปริมาณวัสดุ โครงสร้าง และการเตรียมงานระบบที่มากกว่า

และด้วยวัสดุที่ใช้มีน้ำหนักมากกว่าก็จะทำให้มีโอกาสทรุดตัวได้เร็วกว่า

ห้องครัวโปร่ง  

สำหรับครัวโปร่งจะใช้ระแนงไม้แทนผนังทึบครับ อาจจะใช้แทนผนังแค่บางส่วนเพื่อความเป็นส่วนตัว เช่น เป็นกำแพงทึบครึ่งล่าง ส่วนครึ่งบนเป็นระแนงไม้ หรือเป็นผนังระแนงไม้ด้านใดด้านหนึ่ง และหลังคาก็อาจจะติดตั้งแค่กันสาดยื่นออกมาจากตัวบ้านเดิม รวมไปถึงชุดครัวที่อาจซื้อแบบสำเร็จรูปมาติดตั้งหรือก่อปูนตามการใช้งาน เรียกว่าเน้นความง่าย สะดวกนั่นเอง

 

ข้อดี เน้นความโปร่งโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ระบายอากาศ กลิ่น และควันออกไปได้ง่าย จึงเหมาะสำหรับการทำอาหารไทย การต่อเติมทำได้สะดวกรวดเร็วมากกว่าแบบทึบ

 

ข้อเสีย ฝุ่น สิ่งปรก รวมถึงแมลงต่างๆ เข้ามาในครัวได้ง่าย ต้องทำความสะอาดบ่อย อุปกรณ์ทำครัวจึงต้องมีที่เก็บอย่างมิดชิด หลายครอบครัวจึงเลือกที่จะใช้ครัวโปร่งสำหรับประกอบอาหารและล้างภาชนะเท่านั้น และควรระมัดระวังเรื่องกลิ่น ควันที่ฟุ้งกระจายไปสู่บ้านใกล้เคียงได้

 

เมื่อเห็นข้อดี-ข้อเสียอย่างนี้แล้ว ก็ลองนำไปพิจารณาก่อนจะลงมือต่อเติมนะครับ แต่สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้เด็ดขาดนั่นคือโครงสร้างที่ถ่ายน้ำหนักลงพื้นของครัวส่วนต่อเติม จะต้องแยกจากกันกับโครงสร้างบ้านเดิม เพราะส่วนต่อเติมซึ่งมักลงเสาเข็ม สั้นนั้นโดยปกติจะทรุดตัวเร็วกว่าตัวบ้านเดิม จึงควรให้การทรุดตัวเป็นอิสระจากกัน จะได้ไม่เกิดความเสียหายลุกลามใหญ่โตมากไปภายหลังได้

ความรู้เกี่ยวกับการทำห้องครัวไทย

รวมเรื่องราวการต่อเติม-สร้างบ้าน

บทความ Infographic ล่าสุด