Lo Feature Image Awc Retail

AWC ไปต่ออย่างไร กับพอร์ต อสังหาฯ​ เพื่อการพาณิชย์ในมือ?

นับตั้งแต่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ  AWC ได้ยื่นแบบไฟลิ่งแก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา เพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เนื่องจากต้องการระดมทุน นำเงินมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจ สร้างการเติบโตให้กับบริษัท  ชำระหนี้ การสร้างคุณค่าให้กับองค์กรและชุมชน

 

“วัลลภา ไตรโสรัส”  ลูกสาวคนที่ 2 ของ “เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี” ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ แม่ทัพคนสำคัญของบริษัทได้เดินหน้าประกาศความชัดเจนของแผนธุรกิจที่อยู่ในมือ  ซึ่งมี 2 ขาสำคัญ  คือ 1.กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) และ 2.กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail and Commercial Building) ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า (Retail and Wholesale) และกลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงาน (Office)

 

ก่อนหน้านี้ AWC ได้ประกาศความชัดเจนกับแผนการดำเนินธุรกิจ กลุ่มโรงแรมและการบริการไปแล้ว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) มาคราวนี้ได้ประกาศแผนธุรกิจกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์บ้าง กับ 9 ธุรกิจรีเทล ได้แก่  กลุ่มคอมมูนิตี้มอลล์ ประกอบด้วย เกทเวย์ แอท บางซื่อ เกทเวย์ เอกมัย  พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า 3 แห่ง ที่ประตูน้ำ งามวงศ์วาน และเชียงใหม่ กลุ่มคอมมูนิตี้ มาร์เก็ต ลาซาล อเวนิว ตะวันนา บางกะปิ โอ.พี.เพลส แบงค็อก และกลุ่มทัวลิสท์ไลฟ์สไตล์ ได้แก่ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์  

Pantip Plaza ประตูน้ำ

นอกจากนี้ AWC ยังมีอีก 4 อาคารสำนักงานให้เช่า ได้แก่ อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์  อาคารแอทธินี ทาวเวอร์  อาคาร 208 วายเลสโร้ด ทาวเวอร์ และอาคารอินเตอร์ลิ้งค์ ทาวเวอร์  

 

เพิ่มพื้นที่ F&B and Attractions รับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค

 

จากพฤติกรรมผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ซึ่งเดินห้างหรือศูนย์การค้าน้อยลง การซื้อสินค้าเปลี่ยนไปช้อปปิ้งผ่านโลกออนไลน์แทน การใช้ชีวิตยึดติดอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์ ส่งผลต่อธุรกิจจำหน่ายสินค้าแฟชั่นและธุรกิจรีเทลหลายอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่ยังทำให้คนยังออกมาเดินห้าง และใช้ชีวิตในห้างอยู่นั้น คือ การกิน-ดื่ม และหาประสบการณ์แปลกใหม่  นี่เป็นเทรนด์และโจทย์หลักสำคัญ ซึ่ง AWC รู้ดีและต้องปรับตัวรองรับไปให้ทันกับกลุ่มผู้บริโภคยุคปัจจุบันเหล่านั้น

 

แผนธุรกิจรีเทล AWC จึงมุ่งไปตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ดังกล่าว ด้วยการวางแผนเพิ่มพื้นที่ Food & Beverage and Attractions ในศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้มอลล์ทุกแบรนด์ในมือ ให้มีสัดส่วนมากกว่า 50% ของพื้นที่รีเทลของโครงการ เนื่องจากปัจจุบันไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคนิยมกินข้าวนอกบ้าน  และมาศูนย์การค้าเพื่อใช้ชีวิตและมีประสบการณ์ต่างๆ มากกว่าการซื้อสินค้า เช่น การออกกำลังกาย การพาลูกหลานมาพื้นที่ของเด็ก เป็นต้น ภายใต้แนวคิด Food Jun Family โดบกลุ่มเป้าหมายหลักๆ ก็จะเป็นกลุ่มครอบครัว นักศึกษา และคนวัยทำงาน

 

ไม่เพียงแต่พื้นที่รีเทลเท่านั้น แต่อาคารสำนักงานให้เช่า AWC ก็ต้องเติมเต็มพื้นที่ Food & Beverage and Attractions เข้าไปด้วย เพราะแม้ว่าจะเป็นพื้นที่อาคารสำนักงาน แต่คนทำงานยังมีความต้องการทั้งในเรื่องของการกินอาหารและการใช้ชีวิต อย่างเช่นอาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ ที่ถูกเติมเต็มด้วยร้านอาหารและเครื่องดื่มจำนวนมาก ฟิตเนสเซ็นเตอร์ และซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น

Asia Teek

 

ลงทุนกว่า 20,000 ล้านขยายพอร์ตเพิ่ม

 

หากดูพอร์ตธุรกิจอสังหาฯ​ เพื่อการพาณิชย์ในมือของ AWC ตอนนี้ กลุ่ม Retail and Wholesale มีพื้นที่ให้เช่าสุทธิ (NLA) เพิ่มขึ้นอย่างมาก จาก 122,130 ตารางเมตรในปี 2560 เป็น 198,781 ตารางเมตรในเดือนมีนาคม 2562 จากโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว 9 แห่ง

 

ส่วนกลุ่มอาคารสำนักงานมีทั้งสิ้น 4 โครงการรวมพื้นที่เช่า (NLA) 270,594 ตารางเมตร  โดยภาพรวมแล้วอาคารสำนักงานทั้ง 4 โครงการของ AWC มีอัตราการเช่าพื้นที่ (Occupancy Rate) ในระดับสูง เช่น อาคาร 208 วายเลสโร้ด มีอัตราการเช่าพื้นที่อยู่ที่ 92%  และแอทธินี ทาวเวอร์มีอัตราการเช่าพื้นที่สูงถึง 94%  

 

แต่พอร์ตธุรกิจแค่นี้ อาจจะน้อยไปสำหรับ AWC ทำให้บริษัทวางแผนพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง อีก  2 แห่ง ได้แก่ 1.โครงการเอเชีย ทีค เฟส 2 พื้นที่ 90,000 ตารางเมตร  ซึ่งประกอบด้วยโรงแรม และพื้นที่รีเทล และ 2.โครงการมิกซ์ยูส ขนาดใหญ่ ที่พัทยา มูลค่าการลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาการพัฒนา 4-5 ปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบโครงการ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2564

 

Gateway บางซื่อ

Barbell Strategy สร้างสมดุลพอร์ตธุรกิจ

 

จากโอกาสการเติบโตของตลาดท่องเที่ยว การขยายตัวของเมืองที่มีต่อเนื่อง รวมถึงธุรกิจโดยรวม ถือเป็นโอกาสสำคัญของ AWC ในการได้อานิสงค์จากการเติบโตดังกล่าว จึงได้วางกลยุทธ์สำคัญ คือ กลยุทธ์บาร์เบล (Barbell Strategy)  ซึ่งเป็นการสร้างสมดุลระหว่างโครงการหลากหลายประเภท เหมือนกับบาร์เบลที่มีลูกเหล็กอยู่ทั้งสองข้าง เพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน อาทิ โครงการ เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ เน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ

 

โครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้าที่เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในชุมชนหรือบริเวณที่มีความหนาแน่นของโครงการที่อยู่อาศัยสูง รวมถึงอยู่ใกล้ศูนย์กลางการขนส่ง เช่น โครงการเกทเวย์ แอท บางซื่อ ซึ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้พักอาศัยที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร ซึ่งมีคอนเซ็ปต์ในการตอบโจทย์การสร้างประสบการณ์ไลฟ์สไตล์ ด้วยพื้นที่ F&B and Attractions  

 

เสริมบริการ+Cross Marketing กลุ่ม TCC

 

ด้านการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารธุรกิจ และสร้างการเติบโต เรื่องการบริการก็เป็นสิ่งที่ AWC มองว่าเป็นกุญแจสำคัญเรื่องหนึ่ง เพื่อทำให้ลูกค้าและพันธมิตรยังคงใช้บริการธุรกิจของบริษัท อย่างเช่น ลูกค้าของพื้นที่สำนักงานให้เช่า AWC เตรียมพัฒนา AWC Application เพื่อใช้อำนวยความสะดวกแก่ผู้เช่า ไม่ว่าจะเป็นการเข้าออกอาคาร การตรวจสอบพื้นที่จอดรถ การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ และเชื่อมโยงไปถึงการได้รับส่วนลดพิเศษ กับบรรดาร้านค้าที่เข้ามาเปิดให้บริการในอาคาร

 

ไม่เพียงเท่านั้น AWC Application ยังจะเป็นเครื่องมือในด้านการทำตลาดร่วมกันระหว่างบริษัทต่างในเครือ TCC และกลุ่มไทยเบฟอีกด้วย ในเรื่องของสิทธิพิเศษ และส่วนลดต่างๆ ส่วนภาพใหญ่ AWC จะใช้ลยุทธ์ Cross Marketing ร่วมกับบริษัทในกลุ่มของตระกูล “สิริวัฒนภักดี” เช่น การดึงเอาแบรนด์สินค้าหรือแบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่ม เข้ามาเปิดบริการในศูนย์การค้าหรือพื้นที่รีเทลของ AWC

 

“จุดแข็งที่ทำให้กลุ่มธุรกิจอสังหาฯ เพื่อการพาณิชย์ของเรามีการเติบโตอย่างต่อเนื่องที่สำคัญ คือ การมีโครงการที่หลากหลาย และกว่า 90% เป็นโครงการที่เราเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ที่ดินเอง การมีทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากบริษัทในเครือ และการพัฒนาให้แต่ละโครงการมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว”

 

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด