Awc Ipo Price

เคาะราคา IPO หุ้น AWC ของลูกสาวเสี่ยเจริญ เปิดขาย 6 บาท ทุบสถิติระดมทุนสูงสุด

หลังจากบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เตรียมตัวเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มาสักพักหนึ่ง  ถึงวันนี้ (11 กันยายน 2562) หุ้นของ AWC ก็พร้อมเปิดราคา IPO ออกมาแล้ว ว่าจะเปิดขายที่ 6.00 บาท โดยมีจำนวนหุ้นที่ออกขายจำนวนไม่เกิน 8,000 ล้านหุ้น โดยแบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนประมาณ 6,957 ล้านหุ้น และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินไม่เกิน 1,043 ล้านหุ้น

 

คำนวณราคาและมูลค่าดูแล้ว AWC จะมีมูลค่าการระดมทุนมากสุด นับตั้งแต่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์​ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ได้เสนอขายหน่วยลงทุน กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท หรือ BTSGIF เมื่อปี 2556  ซึ่งครั้งนั้นระดมทุนไปมูลค่า 62,510.4 ล้านบาท ถือเป็นหนึ่งใน IPO ที่มีมูลค่าการเสนอขายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย และเป็น IPO ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกในเวลานั้น

 

แต่หาก AWC เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะกลายเป็นบริษัทที่มี Market Cap. หรือ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุด ทะลุไปถึง 200,000 ล้านบาทได้ เพราะทุบสถิติทุกบริษัทที่จดทะเบียน ซึ่งปัจจุบันถ้าคิดมูลค่าสินทรัพย์ของ AWC ปัจจุบันมีอยู่ถึง 92,000 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็น 115,000 ล้านบาท เมื่อมีโรงแรมที่อยู่ระหว่างนำเข้ามาอยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัทอีก 12 โรงแรม ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน  24,000  ล้านบาท จะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 32,000 ล้านบาท ภายหลังจากขายหุ้น IPO แล้ว

 

Gateway บางซื่อ

 

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า AWC ได้รับการพิจารณาอนุมัติการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือ IPO จากสำนักงาน ก.ล.ต. โดย AWC พร้อมเดินหน้าเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 6,957 ล้านหุ้น คิดเป็นไม่เกิน 22.47% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน)

 

นอกจากนี้ อาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Overallotment Option หรือ Greenshoe) จำนวนไม่เกิน 1,043 ล้านหุ้น โดยนำเงินที่ได้รับจากการจัดสรรหุ้นส่วนเกินไปใช้ในกลไกการรักษาระดับราคาหุ้น (Stabilization) เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนเกี่ยวกับเสถียรภาพของราคาหุ้นในช่วง 30 วันแรกหลังเข้าจดทะเบียนซื้อขาย

 

ทั้งนี้ AWC ได้ร่วมกับผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ซึ่งประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้ ที่ราคา 6.00 บาทต่อหุ้น

 

The Athenee Hotel, A Luxury Collection Hotel, Bangkok
The Athenee Hotel

 

โดยได้มีนักลงทุนสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศและในต่างประเทศประเภท Cornerstone Investor จำนวน 13 ราย ได้แก่ บลจ.บัวหลวง บลจ.กรุงไทย บลจ.กสิกรไทย บลจ.ทิสโก้ บลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ.ธนชาต บลจ.เอ็มเอฟซี บลจ.วรรณ บลจ.อเบอร์ดีน สแตนดาร์ด (ประเทศไทย) บมจ.เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต Affin Hwang Asset Management Berhad, Maitri Asset Management และ GIC Private Limited ได้ตกลงจองซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ ที่เสนอขายครั้งนี้ เป็นจำนวนรวม 3,454 ล้านหุ้น หรือประมาณ 50% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายในครั้งนี้ (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) ที่ราคา 6.00 บาทต่อหุ้น

 

โดย AWC ประกอบธุรกิจพัฒนาและบริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำที่มุ่งตอบไลฟ์สไตล์แบบครบวงจร  ในประเทศไทย บนทำเลที่ดี แบ่งเป็น 1. กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality) ซึ่งมีเครือข่ายพันธมิตรผู้บริหารโรงแรมภายใต้แบรนด์ชั้นนำถึง 6 กลุ่ม  มีฐานลูกค้าทั่วโลกกว่า 300 ล้านราย 2. กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail & Commercial Building) ซึ่งครอบคลุมทั้งในส่วนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า  คอมมูนิตี้ชอปปิงมอลล์และคอมมูนิตี้มาร์เก็ต ภายใต้แบรนด์เกทเวย์ พันธุ์ทิพย์ และตะวันนา

 

นอกจากนี้ ยังเป็นเจ้าของอาคารสำนักงานใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ได้แก่ อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ อาคารสำนักงานแบบมิกซ์ยูส (Mixed-Use) ระดับเกรดเอ เมื่อพิจารณาจากพื้นที่เช่าสุทธิ  AWC ยังมีแผนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Ecosystem ของ TCC Group ที่จะช่วยสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต และเพิ่มมูลค่าของเงินทุนในระยะยาว

 

ในอนาคต AWC มีแผนจะเข้าลงทุนในกิจการเจ้าของทรัพย์สินรวม ทั้งสิ้น 14 โครงการ โดยใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้เพื่อซื้อและพัฒนากิจการ โดยมีโครงการเด่น ๆ อาทิ โครงการที่เปิดดำเนินการแล้วอย่าง โรงแรมแบงค็อกแมริออท เดอะ สุรวงศ์  โรงแรมหัวหิน แมริออท รีสอร์ท แอนด์สปา  โรงแรมภูเก็ต แมริออท รีสอร์ทแอนด์สปา ในยางบีช  และโรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ เอ็กซ์เพรสส์ กรุงเทพ สาทร

 

Bangkok Marriott Marquis Queen's Park 1

 

นอกจากนี้ ยังรวมถึงโครงการที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นแบรนด์สากล อาทิ โรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง  โรงแรมแกรนด์ โซเล่ โรงแรมพรพิงค์ ทาวเวอร์  ซึ่งจะมีการเปลี่ยนเป็นแบรนด์ Melia อีกทั้งยังมีโครงการโรงแรมที่จะพัฒนาใหม่ อาทิ โรงแรมเจริญกรุง 93 โรงแรมอีสต์ เอเชีย โรงแรมบันยันทรี จอมเทียน พัทยา โครงการในพัทยา ประเภทมิกซ์ยูส ที่ครอบคลุมทั้งในส่วนโรงแรม ค้าปลีก และกิจกรรมนันทนาการอีกมากมาย รวมพื้นที่จัดประชุมและงานอีเวนท์ขนาดใหญ่บนหาดพัทยา ซึ่งโครงการทั้งหมดนี้จะทยอยเปิดให้ดำเนินการระหว่างปี 2564 – 2567

 

ในส่วนของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า บริษัทฯ มีแผนพัฒนาและปรับปรุงโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการอสังหาริมทรัพย์มิกซ์ยูส อันประกอบด้วย โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ส่วนต่อขยาย (เฟส 2) โรงแรมแบงค็อกแมริออท ดิ เอเชียทีค และโรงแรมเจริญกรุง 93  บริษัทฯ ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงโครงการพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ เป็นรูปแบบอสังหาริมทรัพย์แบบมิกซ์ยูส หรือรูปแบบอื่นๆ และมีแผนเพิ่มทางเลือกด้านความบันเทิงและสันทนาการรูปแบบใหม่ให้กับอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้าต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพในการใช้พื้นที่ของโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

“ภายหลังการเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว AWC จะมีโครงการในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการรวม 27 โครงการ จากปัจจุบันมี 14 แห่ง แบ่งเป็นโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 10 แห่ง และอีก 4 แห่ง ตามสัญญาซื้อขายหุ้นปี 2562 และโรงแรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือมีแผนการพัฒนาจำนวน 13 แห่ง ป็นโรงแรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือแผนในการพัฒนา 11 แห่ง และ โครงการอสังหาริมทรัพย์ Mixed-use อีก 2 แห่ง”

 

โดยภายใน 5 ปีข้างหน้า AWC จะมีห้องพักโรงแรมรวม  8,506 ห้อง ส่วนกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า  บริษัทฯ จะมีพื้นที่เช่าสุทธิรวม 415,481 ตารางเมตร จากโครงการทั้งหมด 11 โครงการ โดยมีโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว 9 โครงการ รวม 1 โครงการ ที่บริษัทฯ ได้ทำข้อบันทึกตกลงสัญญาว่าจ้างบริหารเกทเวย์ เอกมัย และเพื่อพิจารณาเข้าลงทุนในโครงการเกทเวย์ เอกมัย ปี 2562 และอีก 2 โครงการซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาและปรับปรุง และที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและทดสอบความพร้อมต่าง ๆ  พร้อมกับเป็นเจ้าของอาคารสำนักงานอีก 4 แห่ง ด้วยพื้นที่เช่าสุทธิรวม 270,594 ตารางเมตร

 

สำหรับผลประกอบการหกเดือนแรกของปี 2562  บริษัทมีรายได้ 6,442 ล้านบาท และกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน 3,114 ล้านบาท

 

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด