Awc First Tred

5 เรื่องน่ารู้ของ AWC บิ๊กอสังหาฯ ตระกูล “สิริวัฒนภักดี” น้องใหม่ในตลาดหุ้นไทย

ในวันที่ 10 ตุลาคม 2562 หุ้นของ  AWC  หรือ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด(มหาชน) จะเริ่มเปิดการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เป็นวันแรก ซึ่ง AWC ถือได้ว่าเป็นหุ้นไอพีโอมีมูลค่าสูงสุด หากคิดจากมูลค่าหลักทรัพย์ หรือ มาร์เก็ตแคป ตามราคาตลาด จากราคาไอพีโอ เท่ากับว่า AWC จะมีมูลค่ามาร์เก็ตแคปถึง 192,000 ล้านบาท 

 

โดยการระดมทุนของ AWC ครั้งนี้ มีหุ้นจำนวน 8,000 ล้านหุ้น สัดส่วนไม่เกิน 25% ราคาหุ้นละ 6.00 บาท จึงเท่ากับว่ามีการระดมทุนรวมมูลค่า 48,000 ล้านบาท ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของการระดมทุน จะนำเอาเงินไปในใช้เป็นเงินทุนในการเข้าซื้อกิจการ ใช้ในการลงทุนพัฒนา ปรับปรุงทรัพย์สินของบริษัท และนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้ธนาคาร

 

AWC หลายคนอาจจะรู้จักว่าเป็นบริษัทในเครือทีซีซี (TCC Group) ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าพ่อเบียร์ช้างและธุรกิจในมืออีกสารพัด  ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีทั่วประเทศ  สำหรับ AWC บริหารงานโดยลูกสาวของเสี่ยเจริญ คือ นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่ง AWC ถือเป็นหนึ่งบริษัทของกลุ่มทีซีซี ที่มีความน่าสนใจ จากธุรกิจในมือและการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง  และนี่ คือ 5 ข้อมูลที่น่าสนใจและทำความรู้จักกับบริษัท ก่อนจะเทรดหุ้นตัวนี้เข้าพอร์ต

 

Asiatique 3

 

1.จุดเริ่มต้นของบริษัท เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2519 ที่นายเจริญ และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ได้ก่อตั้งกลุ่มบริษัททีซีซีขึ้น ก่อนจะจัดตั้งบริษัท เฟิร์สท์ เดสทิเนชั่น จำกัด ในปี 2552 ซึ่งเป็นหนึ่งบริษัทสำคัญของกลุ่มทีซีซี ก่อนจะเปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็น บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด ในช่วงเดือนตุลาคม 2559 หลังจากก่อนหน้าได้สะสมอสังหาริมทรัพย์เข้ามาไว้ในมือหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม อาคารสำนักงาน และอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์

 

2.AWC ถือเป็นหนึ่งใน 4 กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเครือทีซีซี ที่มุ่งเน้นการพัฒนาและบริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์ ประเภทโรงแรม อาคารสำนักงาน และพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยจะไม่พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย ซึ่งนอกจากการพัฒนาโครงการต่างๆ บนที่ดินทำเลศักยภาพแล้ว ยังมีแผนนำเอาอสังหาริมทรัพย์ในเครือทีซีซีเข้ามาเติมพอร์ตด้วย ปัจจุบันมีโครงการอสังหาริมทรัพย์มากกว่า 20 แห่งที่สามารถนำเอามาเข้ามาบริหารได้

 

3.AWC เป็นเจ้าของอาคารสำนักงานรายใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ โดยมีพื้นที่เช่าสุทธิที่บริษัทเป็นเจ้าของรวมมากที่สุดถึง 270,594 ตารางเมตร (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561) จากอาคาสำนักงานรวม 4 อาคาร ได้แก่ อาคาร 208 วายเลสโร้ด อาคารแอทธินี ทาวเวอร์ อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอน์​  และอาคารอินเตอร์ลิงค์ทาวเวอร์ รองลงมาเป็นกลุ่มเฟรเซอร์ ยูวี และโกลเด้นแลนด์ ที่มีรวมกัน 217,189 ตารางเมตร และอันดับ 3 เป็นของกลุ่มเซ็นทรัลที่มีพื้นที่รวม 211,999 ตารางเมตร

 

4.ปัจจุบัน AWC มีแบรนด์โรงแรมชั้นนำ อาทิ แมริออท,  อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล, โอกุระ, บันยันทรี, ฮิลตัน และเชอราตัน รวม 15 แห่ง โดยมีจำนวนห้องพัก 4,960 ห้อง แบ่งเป็นโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 10 แห่ง มีจำนวนห้องพัก 3,432 ห้อง และโรงแรมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือมีแผนการในการพัฒนาจำนวน 5 แห่ง มีจำนวนห้องพัก 1,528 ห้อง ตามแผนธุรกิจในระยะ 5 ปีข้างหน้า จะซื้อและพัฒนาโรงแรมเข้ามาเติมพอร์ต ทำให้บริษัทมีห้องพักรวม 8,506 ห้อง ทำให้กลายเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนห้องพักโรงแรมในประเทศสูงสุด

 

โดยอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ ที่ทำสัญญาซื้อขายกับกลุ่มทีซีซีแล้ว และจะนำเข้ามาในอีก  6 เดือนข้างหน้า จำนวน  12 โครงการ เป็นโรงแรมที่เปิดดำเนินการในกรุงเทพฯ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงแรม ฮอลิเดย์ อินน์ เอ็กซ์เพรส กรุงเทพ สาทร และ Bangkok Marriott Hotel The Surawongse  โรงแรมที่เปิดดำเนินการนอกกรุงเทพฯ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ Phuket Marriott Resort & Spa, Naiyang Beach และ Hua Hin Marriott Resort & Spa และโรงแรมที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงหรือพัฒนา จำนวน 6 แห่ง นอกจากนี้ยังอสังหาริมทรัพย์มิกซ์ยูส (Mixed-Use Properties) ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงหรือพัฒนา จำนวน 2 แห่งด้วย

 

Gateway

 

5.สำหรับกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์  บริษัทมีพื้นที่ให้เช่าสุทธิ 198,781 ตารางเมตรในเดือนมีนาคม 2562 ที่ผ่านมา จากโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว 9 แห่ง ได้แก่  1.เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ 2.เกทเวย์ แอท บางซื่อ 3.พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า ประตูน้ำ 4.พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า งามวงศ์วาน 5.พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า เชียงใหม่ 6.โอ.พี.เพลส แบงค็อก 7.ลาซาล อเวนิว 8.ตะวันนา บางกะปิ และ 9.เกทเวย์ เอกมัย ซึ่งเป็นโครงการภายใต้สัญญาบริหารโครงการ และบันทึกข้อตกลงปี 2562 เพื่อการข้าลงทุนในโครงการดังกล่าว (โดยมีพื้นที่เช่าสุทธิ 33,153 ตารางเมตร) และมีโครงการที่กำลังพัฒนาอยู่อีก 2 แห่ง

 

สำหรับผลประกอบการโดยรวมของ AWC ถือว่ามีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 มีรายได้รวม 9,411 ล้านบาท ปี 2560 มีรายได้รวม 11,208 ล้านบาท ปี 2561 มีรายได้รวม 12,416 ล้านบาท ส่วนช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 มีรายได้รวม 5,840.12 ล้านบาท

 

ถือเป็นหุ้นที่เข้ามาสร้างความคึกคักใหักับตลาดหุ้นไทยไม่น้อย แต่ในผลสุดท้ายราคาหุ้นจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด  คงต้องติดตามดู แต่ที่แน่ๆ AWC จะเป็นอีกหนึ่งบิ๊กดีเวลลอปเปอร์ของไทย ที่พัฒนาโครงการออกมามากมาย เพราะทรัพย์สินของตระกูล “สิริวัฒนภักดี” มีอยู่ทั่วทุกมุมเมืองประเทศไทย

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้องเพิ่มเติม

-“เสี่ยเจริญ” จัดพอร์ตธุรกิจอสังหาฯ ส่ง AWC เข้าตลาด ลบภาพธุรกิจครอบครัวสู่มาตรฐานมืออาชีพ

AWC ไปต่ออย่างไร กับพอร์ต อสังหาฯ​ เพื่อการพาณิชย์ในมือ?

เคาะราคา IPO หุ้น AWC ของลูกสาวเสี่ยเจริญ เปิดขาย 6 บาท ทุบสถิติระดมทุนสูงสุด

 

 

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด