Eic Report Real Estate

เปิดบทวิเคราะห์ EIC มาตรการอสังหาฯ ไม่ทำให้ตลาดฟื้นตัว

สัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 22 ตุลาคม 2562) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์  ด้วยการออกมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนโอน และจดจำนองให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทออกมามีผลบังคับใช้ ซึ่งระยะเวลาไปสิ้นสุดในวันที่ 24 ธันวาคม 2563

 

นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติเห็นชอบ  มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยที่ 2.5% ในช่วง 3 ปีแรกสำหรับผู้กู้ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ด้วยวงเงินสินเชื่อรวม 50,000 ล้านบาทด้วย

 

ถือได้ว่าเป็นมาตรการที่ออกมาช่วยกระตุ้นให้ภาคอสังหาฯ ฟื้นตัวดีขึ้น  จากแรงกดดันของมาตรการกำหนดสินเชื่อต่อวงเงินหลักประกัน หรือ LTV ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาบังคับใช้ก่อนหน้านี้ ซึ่งส่งผลทำให้ตลาดอสังหาฯ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดเจน นี่ยังไม่นับรวมปัจจัยเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อ ปัญหาค่าเงิน และสงครามการค้าโลก ที่แม้ไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรง แต่ก็ทำให้ตลาดลูกค้าต่างชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาเติมตลาดให้เติบโต ได้ชะลอตัวลดลงตามไปด้วย

 

จะว่าไปแล้วมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าจดจำนองในครั้งนี้ ก็เป็นมาตรการต่อเนื่อง จากก่อนหน้าที่รัฐบาลได้ออกมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง กับการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับการซื้อบ้านพร้อมที่ดิน หรือคอนโดฯ มูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท ตามจำนวนที่จ่ายภาษีจริง แต่จ่ายภาษีไม่เกิน 200,000 บาท กำหนดระยะเวลาของมาตรการสำหรับผู้ซื้ออสังหาฯ  ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน ถึง 31 ธันวาคม 2562  นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองเหลือ 0.01% จากปกติต้องชำระในอัตรา 2% สำหรับบ้านและคอนโดฯ ที่มีราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทด้วย

 

แต่ดูเหมือนว่ามาตรการที่กำหนดกรอบราคาบ้านเพียงแค่ 1 ล้านบาท จะไม่ได้ตอบโจทย์สภาพตลาดและความเป็นจริงในปัจจุบัน เพราะที่อยู่อาศัยที่ขายเป็นส่วนใหญ่ จะมีระดับราคาเฉลี่ยในราคา 2-3 ล้านบาท หากจะหาซื้อที่อยู่อาศัยในราคา 1 ล้านบาทได้นั้น  คงต้องออกไปชานเมืองที่ไกล หรือไม่ก็เป็นตลาดต่างจังหวัด มาตรการที่ออกมาก่อนหน้าจึงแทบจะเรียกได้ว่า ไม่ได้ช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯ สักเท่าไร

Eic Report Re 1EIC ประเมินคอนโดฯ+ทาวน์เฮ้าส์ ได้ประโยชน์

ล่าสุด นางสาวนพมาศ ฮวบเจริญ นักวิเคราะห์อาวุโส  Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำบทวิเคราะห์  มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอน และจดจำนองว่ามีผลต่อตลาดอสังหาฯ อย่างไรบ้าง

 

โดยทาง EIC มองว่า กลุ่มที่อยู่อาศัยใหม่สร้างเสร็จพร้อมโอนระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท  จะได้รับประโยชน์จากมาตราการ ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของตลาด  และเป็นประเภทคอนโดฯ และทาวน์เฮาส์ โดยเฉพาะในพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

 

จากข้อมูลยูนิตที่อยู่อาศัยเหลือขาย (ทั้งที่สร้างเสร็จและกำลังก่อสร้าง) ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ณ กลางปี 2019 ที่จัดเก็บโดย AREA พบว่า มียูนิตเหลือขายราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทอยู่ทั้งสิ้น 107,646 ยูนิต คิดเป็น 53% ของจำนวนเหลือขายทั้งหมด ซึ่งจำนวนเหลือขายราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นคอนโดฯ ถึง 52% ของจำนวนเหลือขายราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาททั้งหมด รองลงมาคือทาวน์เฮาส์มีสัดส่วน 43%  หากพิจารณาเป็นรายพื้นที่จะพบว่า  ที่อยู่อาศัยกลุ่มที่ได้ประโยชน์จะกระจุกตัวในพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ เช่น รังสิตคลอง 1-16 บางบัวทอง บางนา กม.10-30 วงแหวนรอบนอก-เพชรเกษม และรัตนาธิเบศร์

 

มาตรการในครั้งนี้ มีเงื่อนไขครอบคลุมเฉพาะกลุ่มที่อยู่อาศัยใหม่ที่ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท แตกต่างจากมาตรการลดค่าโอนและจดจำนองในปี 2558 ที่ครอบคลุมที่อยู่อาศัยทุกระดับราคา แม้ว่ามาตรการในครั้งนี้จะครอบคลุมกลุ่มที่อยู่อาศัยกลุ่มใหญ่  และเป็นมาตรการที่ออกมาต่อเนื่องจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ในช่วงไตรมาสสองของปีนี้ แต่เงื่อนไขที่จำกัดเฉพาะที่อยู่อาศัยบางระดับราคาทำให้ผลบวกที่มีต่อตลาดโดยรวมจะมีไม่มากดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2551 และ 2558 ที่มีการใช้มาตรการแบบเดียวกัน ต่างกันที่ครอบคลุมที่อยู่อาศัยทุกระดับราคา โดยเฉพาะในปี 2558 ที่ครอบคลุมทั้งบ้านจัดสรรและไม่จัดสรร รวมถึงที่ดินจัดสรรด้วย

 

นอกจากนี้  มาตรการยังไม่ได้ระบุชัดเจนถึงวันที่มีผลบังคับใช้ ทำให้ธุรกรรมการโอนและจดจำนองของที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทอาจหยุดชะงักในระยะสั้นจนกว่ามาตรการจะมีผลบังคับใช้ จากการที่ภาครัฐอนุมัติมาตรการลดค่าโอนและจดจำนองโดยที่ยังไม่ได้ระบุวันที่มีผลบังคับใช้ ทำให้ผู้ซื้อบ้านที่เข้าข่ายได้ประโยชน์จากมาตรการชะลอ/เลื่อนการโอนและจดจำนองออกไปก่อน เพื่อให้ตนเองสามารถได้รับประโยชน์จากมาตรการ

 

หากภาครัฐประกาศวันที่มีผลบังคับใช้ล่าช้า ก็อาจส่งผลระยะสั้นให้ธุรกรรมการซื้อขายบ้านบางส่วนหยุดชะงักลง  และอาจกระทบต่อยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในไตรมาส 4 ปีนี้ อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับมาตรการนี้ในเบื้องต้น หน่วยดังกล่าวแจ้งว่าอาจใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการเตรียมรายละเอียดของประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยมีโอกาสที่มาตรการอาจเริ่มบังคับใช้ปลายเดือนพฤศจิกายน หรือ ต้นเดือนธันวาคม 2562

Eic Report Re 2EIC ชี้มาตรการยังเป็นยาเบา ไม่กระตุ้นตลาดฟื้นตัว

EIC ประเมินว่า มาตรการลดค่าโอนและจดจำนองในครั้งนี้ จะแค่บรรเทาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และเกณฑ์ LTV ในระยะสั้น แต่ยังไม่สามารถผลักดันให้ตลาดที่อยู่อาศัยกลับมาขยายตัวได้สูงดังที่เคยเกิดขึ้นจากการใช้มาตรการในครั้งก่อน ๆ เนื่องจาก

1.มาตรการในปีนี้ส่งผลกระทบในวงแคบกว่าเมื่อเทียบกับปี 2551 และ 2558 ที่ได้ประโยชน์กับที่อยู่อาศัยในทุกระดับราคาตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

2.เศรษฐกิจโลกและไทยที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง  กดดันกำลังซื้อของชาวต่างชาติและชาวไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลางที่มีความเปราะบางต่อเศรษฐกิจที่ผันผวน

3.หนี้สินของภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ดังพิจารณาได้จากข้อมูลหนี้ครัวเรือนต่อ Disposable income ที่รายงานโดยธปท. ซึ่งอยู่ในระดับเกือบ 150% เทียบกับปี 2551 ที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 100% ขณะที่อัตราส่วนหนี้ต่อรายได้ของผู้กู้ซื้อบ้านยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะลดลงมาบ้างหลังจากเกณฑ์ LTV มีผลบังคับใช้ ทำให้ความสามารถในการก่อหนี้ของครัวเรือนยังมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก

4.สถาบันการเงินเข้มงวดในการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น สะท้อนจากอัตราการอนุมัติสินเชื่อบ้านที่ลดลงและมาตรฐานการให้สินเชื่อบ้านที่เข้มงวดขึ้นผ่านการสำรวจของ ธปท. ที่มีประจำทุกไตรมาส

5.เกณฑ์ LTV ที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคลดลง ทั้งการที่ไม่สามารถกู้ยืมเพื่อซื้อบ้านในวงเงินที่สูงดังเช่นในอดีตและการหาผู้กู้ร่วมที่ยากมากขึ้นกว่าในอดีตก่อนมีมาตรการ LTV ใหม่ (แม้ว่า ธปท. จะผ่อนปรนเกณฑ์ LTV ในกรณีกู้ร่วม แต่การผ่อนปรนเฉพาะกรณีกู้ร่วมไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ซึ่งอาจมีสัดส่วนไม่มาก) ขณะที่มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษของ ธอส. อาจไม่มากพอที่จะช่วยผลักดันให้ตลาดบ้านกลับมาขยายตัวได้ เนื่องจากวงเงินในมาตรการที่ค่อนข้างน้อย คิดเป็นประมาณ 5-7% ของยอดสินเชื่อใหม่เพื่อซื้อบ้านในแต่ละปีเท่านั้น

Eic Report Re 3เร่งการโอน ลดค่าใช้จ่าย 90,000 บาท

แม้ว่าผลต่อการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวมอาจมีไม่มาก แต่กลุ่มผู้ซื้อบ้าน Low-end และผู้ประกอบการที่เน้นบ้านกลุ่ม Low-end จะเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการครั้งนี้ โดยผู้ซื้อบ้านใหม่ในราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท  จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการโอนและจดจำนองสูงสุดเกือบ 90,000 บาท ซึ่งอาจทำให้ผู้ซื้อบางส่วนเร่งเข้ามาโอนที่อยู่อาศัยเร็วขึ้นเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากมาตรการ

 

ขณะที่ผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยหรือมี Backlog ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทในสัดส่วนสูง  จะได้รับประโยชน์ เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถประหยัดต้นทุนการออกโปรโมชัน  ลดค่าโอนและจดจำนอง  ซึ่งเป็นหนึ่งในโปรโมชันที่ผู้ประกอบการนิยมทำ โดยผู้ประกอบการอาจจะใช้โอกาสนี้ในการออกโปรโมชันอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นยอดขายและเร่งระบายที่อยู่อาศัยเหลือขายได้มากขึ้น

 

ตลาดที่อยู่อาศัยยังต้องใช้เวลาปรับตัวกับเกณฑ์ LTV ใหม่ประมาณ 1-2 ปี ซึ่งต้องอาศัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างชัดเจนร่วมด้วย นอกเหนือจากการสนับสนุนจากมาตรการทางภาษี แม้รัฐบาลทยอยออกมาตรการทางภาษีหลายอย่างเพื่อช่วยพยุงตลาดที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง แต่การปรับตัวของผู้บริโภคต่อเกณฑ์การให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือเกณฑ์ LTV ยังต้องใช้ระยะเวลา โดยอาศัยแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างชัดเจน เพื่อผลักดันกำลังซื้อให้มีได้มากขึ้นเพื่อทดแทนความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยที่ลดลงจากเกณฑ์ LTV

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวอาจยังไม่สามารถส่งผลให้  ตลาดที่อยู่อาศัยกลับมาฟื้นตัวได้สูงเหมือนดังที่เคยเกิดขึ้น จากมาตรการแบบเดียวกันในอดีต เนื่องจากข้อจำกัด 3 ประการ ได้แก่

1.ข้อจำกัดของมาตรการที่ครอบคุลมที่อยู่อาศัยเฉพาะกลุ่ม ซึ่งแตกต่างจากมาตรการในอดีตที่ครอบคุลมทุกระดับราคา

2.ข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวไม่เอื้อต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค

3.ข้อจำกัดด้านการกู้ยืมของผู้ซื้อบ้าน จากภาระหนี้สินของภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางความเข้มงวดของสถาบันการเงินและเกณฑ์ LTV ที่เข้มงวดมากในอดีต

 

ในบทสรุปสุดท้าย คงต้องติดตามกันต่อไปว่า มาตรการที่อออกมา จะส่งผลทำให้เกิดการซื้อขาย และโอนกรรมสิทธิ์กันได้มากน้อยแค่ไหน แต่สำหรับปีนี้จากระยะเวลาที่เหลืออยู่เพียง 2 เดือน  ภาพรวมของตลาดอสังหาฯ  คงเป็นไปตามที่หลายฝ่ายประเมิน ว่าตลาดคงไม่เติบโตเท่ากับปีที่ผ่านมา และคงต้องลุ้นกันใหม่ในปีหน้า ว่าสถานการณ์จะฟื้นตัวได้ดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน

 

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด