Infographic Tax Deduction For Salaryman 2

ลดหย่อนภาษี สำหรับมนุษย์เงินเดือน

Categories : Infographic
Tags : , ,

ช่วงปลายปีไปจนถึงต้นปีหน้า เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่จะต้องมานั่งคำนวณภาษี รวมถึงรายการลดย่อนภาษีที่จะมาเป็นตัวช่วยให้เราประหยัดเงินในกระเป๋าได้เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งแต่ละปีจะมีบางข้อแตกต่างกัน เพราะภาครัฐนั้นได้ออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แล้วนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่หลายอย่าง แล้วในฐานะมนุษย์เงินเดือนอย่างเราจะต้องทราบอะไรบ้างก่อนจะยื่นภาษีปี 2563 ลองไปศึกษาพร้อมๆ กันเลยครับ

Infographic Tax Deduction For Salaryman 1

รายได้เท่าไรจึงจะเสียภาษี?

ก่อนอื่นเราต้องคำนวณรายได้ของเราทั้งปี 2562 หากใครมีรายได้รวมแล้วไม่เกิน 150,000 บาท ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่หากใครที่รายได้เกินกว่านี้หลังจากหักค่าลดย่อนภาษีแล้วก็จะถูกเก็บภาษีแบบขั้นบันได ดังนี้

  • รายได้ 150,001-300,000 บาท อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 5%
  • รายได้ 300,001-500,000 บาท อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10%
  • รายได้ 500,001-750,000 บาท อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 15%
  • รายได้ 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 20%
  • รายได้ 1,00,001-2,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 25%
  • รายได้ 2,00,001-5,000,000 บาท อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 30%
  • รายได้ 5,000,001 บาท ขึ้นไป อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 35%

หรือมองง่ายๆ แบบนี้ครับ

  • กรณีเงินเดือนไม่เกิน 26,583 บาท ต้องยื่นภาษี แต่จะยังไม่เสียภาษี
  • กรณีเงินเดือนเกิน 26,583 บาท ต้องยื่นภาษี และเริ่มเสียภาษี

 

รายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับการยื่น ภ.ง.ด.94

รายการลดหย่อนภาษี

อย่างที่บอกไปในหัวข้อที่แล้วครับ ว่านอกจากเราต้องคำนวณรายได้ทั้งหมดของเราแล้ว อย่าลืม! เอารายการที่เรามีสิทธิลดหย่อนต่อไปนี้มาหักออกจากรายได้ทั้งปีของเราด้วย จึงจะได้รายได้สุทธิของเราที่จะนำมาเทียบกับเกณฑ์เสียภาษีแบบขั้นบันไดอย่างในตารางด้านบน

บุคคลธรรมดา หรือผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี

  • ผู้มีเงินได้ 60,000 บาท
  • คู่สมรส กรณีคู่สมรสไม่มีเงินได้ หรือมีรายได้แต่ไม่ได้แยกยื่นแบบสามารถลดหย่อนได้ 60,000 บาท
  • คู่สมรส กรณีต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ สามารถหักลดหย่อนรวมกันได้ ไม่เกิน 120,000 บาท

ค่าลดหย่อนบุตร

บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรมหักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ไม่จำกัดจำนวนบุตร แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข*

ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร

ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกินปีละ 60,000 บาท

 

*รายละเอียด และเงื่อนไขเกี่ยวกับการลดหย่อนกรณีมีบุตร ค่าฝากครรภ์ ค่าคลอดบุตร และบุตรคนที่ 2

ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

กรณีนี้หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 120,000 บาท โดยมีเงื่อนไข คือ

  • บิดา-มารดาต้องมีรายได้ในปีภาษีที่จะขอลดหย่อนไม่เกิน 30,000 บาท
  • บิดา-มารดา ของคู่สมรสที่ไม่มีรายได้สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้
  • ลูกสามารถใช้สิทธินี้เพียงคนเดียวเท่านั้น

ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ

หักค่าลดหย่อนได้ คนละ 60,000 บาท

ค่าเบี้ยประกันชีวิต (กรมธรรม์อายุ 10 ปีขึ้นไป)

ประกันชีวิตและบัญชีเงินฝากที่มีประกันชีวิตด้วย สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ

ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท

เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงในปีภาษี แต่ไม่เกิน 10,000 บาท

เงินสมทบประกันสังคม

ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 9,000 บาท

เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF-LTF)

ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงในอัตราไม่เกิน 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ (ความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป)

ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงในอัตรา 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ 13,200 บาท แต่เมื่อซื้อรวมกับ RMF, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนครู โรงเรียนเอกชน, เบี้ยประกันบำนาญ และเงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งต้องเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 500,000 บาท

เงินบริจาค

  • เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น
  • เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา, เงินบริจาคให้สถานพยาบาลของรัฐ, เงินบริจาคสนับสนุนทางกีฬา ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น
  • เงินบริจาคสาธารณประโยชน์ ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น
  • เงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจากพายุปลาบึก ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น
  • เงินบริจาคให้พรรคการเมือง ลดหย่อนภาษีได้ตามที่บริจาคจริง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 10,000 บาท

รายการลดหย่อนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ

การลงทุนธุรกิจ Startup

ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งระหว่าง 1 ต.ค. 2558 – 31 ธ.ค. 2562 และขึ้นทะเบียน Startup กับ สวทช. แล้ว โดยมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5,000,000 บาท มียอดขายไม่เกิน 30 ล้านบาท

ดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย

ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

  • กรณีซื้อบ้านหลังแรก ปี 2558 สามารถช้สิทธิยกเว้นภาษีได้ 5 ปีต่อเนื่องกัน ซึ่งต้องไม่เกิน 20% ของราคาอสังหาริมทรัพย์ แต่ต้องเป็นผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์หลังแรกในราคาไม่เกิน 3,000,000 บาท และโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงวันที่ 13 ตุลาคม-31 ธันวาคม 2559 ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อปี 2558
  • กรณีซื้อบ้านหรือคอนโดหลังแรก ซึ่งต้องโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างวันที่ 30 เมษายน-31 ธันวาคม 2562 ในราคาไม่เกิน 5,000,000 บาท และต้องถือครองกรรมสิทธิ์อย่างน้อย 5 ปี สามารถหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 200,000 บาท

ค่าซ่อมแซมบ้าน-รถที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาบึก

ผู้ประสบภัยจากพายุปาบึก ในช่วงระหว่างวันที่ 3-7 มกราคม 2562 และมีการใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซม หรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ที่จ่าย ระหว่างวันที่ 3 มกราคม-31 มีนาคม 2562 ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับบ้าน และ ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับรถ

ค่าซ่อมแซมบ้าน-รถที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 32 จังหวัด

ผู้ประสบอุทกภัย 32 จังหวัดจากพายุโพดุล พายุคาจิกิ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ แล้วมีการใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซม หรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ที่จ่าย ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม-30 พฤศจิกายน 2562 ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับบ้าน และ ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับรถ

ช้อปช่วยชาติ

ลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยต้องเก็บใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปไว้เป็นหลักฐาน มีสินค้าสามารถลดหย่อนได้ดังต่อไปนี้

  • สินค้าเกี่ยวกับการศึกษาและอุปกรณ์กีฬา ต้องซื้อสินค้าระว่างวันที่ 1 พฤษภาคม-30 มิถุนายน 2562
  • สินค้า OTOP ต้องซื้อสินค้าระว่างวันที่ 30 เมษายน-30 มิถุนายน 2562 เฉพาะร้านค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน
  • หนังสือและ E-Book ได้ตลอดทั้งปี 2562

ท่องเที่ยวในประเทศไทย

จากค่าที่พักที่ได้รับการรับรองจากกรมท่องเที่ยว ค่าบริการนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ระว่างวันที่ 30 เมษายน-30 มิถุนายน 2562 โดยต้องเก็บใบเสร็จ และใบกำกับภาษีไว้เป็นหลักฐาน ทั้งหมดรวมกันแล้วแล้ว ต้องไม่เกิน 20,000 บาท

  • เที่ยวเมืองหลัก สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
  • เที่ยวเมืองรอง สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท

 

ใครที่มีหลักฐานในการลดหย่อนเหล่านี้ ก็อย่าลืมนำไปคำนวณกันให้ดีแล้วใช้สิทธิของตัวเองลดหย่อนภาษี แล้วเตรียมตัวให้พร้อมก่อนยื่นกันในช่วงต้นปีหน้ากันด้วยนะครับ

 

รายละเอียด และเงื่อนไขต่างๆ เพิ่มเติมจากกรรมสรรพากร

 

บทความ Infographic ล่าสุด