Revenue Developer 2019

สรุปผลงานบิ๊กอสังหาฯ ปี 2562 ทำรายได้รวมกว่า 2.77 แสนล้าน

รอบปี 2562 ที่ผ่านมา ต้องยอมรับเลยว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์เมืองไทย ต้องเผชิญภาวะชะลอตัวอย่างชัดเจน จากปัจจัยลบสำคัญ คือ ผลกระทบจากมาตรการ LTV ที่มาซ้ำเติมกับภาวะกำลังซื้อของคนส่วนใหญ่ชะลอตัวลง เพราะภาพโดยรวมไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลก หรือเศรษฐกิจไทย ต่างก็มีปัญหามาก่อนหน้านี้ เมื่อกำลังซื้อมีจำกัด มาเจอกับการเข้มงวดจากการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และวงเงินการปล่อยกู้ที่ลดลง ตลาดอสังหาฯ จึงได้รับผลกระทบแบบเต็ม

 

จากการสำรวจผลประกอบการของบริษัทอสังหาฯ ที่จะทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ประมาณ 30 บริษัท ซึ่งดำเนินธุรกิจพัฒนาโครงการอสังหาฯ ประเภทที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม หรือคอนโดมิเนียม พบว่ารายได้เมื่อสิ้นปี 2562 ต่างได้รับผลกระทบ ตัวเลขรายได้และกำไรต่างลดลงจากปี 2561 ส่วนใหญ่เหตุผลมาจาก ลูกค้าไม่สามารถกู้เงินซื้อบ้านได้  เพราะมีข้อจำกัดเรื่อง LTV แม้ลูกค้าที่มีความสามารถในการซื้อ แต่ความมั่นใจก็ลดลง จึงชะลอแผนการซื้อที่อยู่อาศัยไปก่อน ขณะที่ฝั่งผู้ประกอบการเอง ยังชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ออกไปก่อน และบางรายก็ลดจำนวนโครงการที่เปิดใหม่ในปีที่ผ่านมาด้วย

30 ดีเวลลอปเปอร์ทำรายได้ลด 4.07%

หากดูตัวเลขจากการสำรวจข้อมูลในปี 2562 ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ประกอบการอสังหาฯ 30 รายหลัก มีรายได้จากการพัฒนาอสังหาฯ ซึ่งเป็นประเภทที่อยู่อาศัย มีรายได้รวมกว่า 277,810 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 4.07% ซึ่งมีรายได้รวม 289,607 ล้านบานท ขณะที่กำไรในส่วนที่บริษัทได้รับมีมูลค่ารวม  50,144 ล้านบาท ลดลง 6.37% จากปีก่อนหน้าที่มีกำไร 53,558 ล้านบาท

Revenue2019

แต่หากพิจาณาจากรายได้รวมทั้งหมด ของผู้ประกอบการอสังหาฯ ในปีที่ผ่านมา จะพบว่า มีรายได้เติบโตเล็กน้อย ประมาณ 1.49% จากรายได้รวมจำนวน 332,651 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีจำนวน 327,766.65 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิรวม 50,438 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยในอัตรา 0.51% จากปีก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิรวม 50,698 ล้านบาท

 

เหตุผลที่บริษัทอสังหาฯ ส่วนใหญ่ยังทำรายได้รวมเพิ่มขึ้น และกำไรลดลงเล็กน้อย ซึ่งเรียกได้ว่ายังรักษาความสามารถในการทำกำไรได้ดี ในภาวะและสถานการณ์ที่มีแต่ปัจจัยลบนั้น เป็นเพราะการขยายพอร์ตธุรกิจไปสูตลาดอสังหาฯ ประเภทอื่นๆ ที่ไม่ได้จำกัดตัวเองไว้แต่เฉพาะตลาดที่อยู่อาศัยเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นตลาดสำนักงานให้เช่า ศูนย์การค้า โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ทเมนท์ ธุรกิจบริการ คลังสินค้า หรือแม้แต่โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งหลายธุรกิจไม่ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง แถมยังเป็นธุรกิจทำกำไรได้ดีกว่าธุรกิจที่อยู่อาศัยด้วยซ้ำ

ดีเวลลอปเปอร์ Top10 ครองตลาดกว่า 73%

ถ้าพิจารณาบรรดาผู้ประกอบการรายใหญ่ 10 อันดับแรก ยังพบว่าเป็นผู้ประกอการที่สามารถสร้างรายได้จากธุรกิจอสังหาฯ เพื่ออยู่อาศัยได้ระดับหมื่นล้านบาทขึ้นไป และยังเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ครองส่วนแบ่งการตลาดรวมกันมากกว่า 73% อีกด้วย

Sale2019

โดยกลุ่มพฤกษา โฮลดิ้ง (PSH) ยังคงเป็นแชมป์ทำรายได้สูงสุดถึง 39,885.21 ล้านบาท แม้ว่าจะลดลง 11.17% จากปีก่อนหน้าที่ทำได้ 44,900.70 ล้านบาทก็ตาม โดยกลุ่มออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI) เป็นกลุ่มผู้ประกอบการ Top10 ที่ทำรายได้น้อยสุดด้วยรายได้ 12,278.60 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 15.5% ที่ทำรายได้ 14.523.10 ล้านบาท

 

หากมาดูการเปลี่ยนแปลงของรายได้จากธุรกิจอสังหาฯ เพื่ออยู่อาศัย 7 ใน 10 บริษัท มีรายได้ลดลงทั้งหมด ที่ลดลงมาก็คือ กลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) ลดงถึง 17.57%  รายได้ที่ทำได้ในปี 2561 จำนวน 30,513.63 ล้านบาท ลดลงเหลือ 25,15137 ล้านบาท ส่วนบริษัทที่มีรายได้ลดลงเพียงเล็กน้อย คือ กลุ่มศุภาลัย (SPALI) ที่มีรายได้จากการขายอสังหาฯ เพื่อที่อยู่อาศัยดลง 7.85% จากปี 2561 มีรายได้ 25,203.08 ล้านบาท เหลือ 25,151.37 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา

 

ขณะที่ดีเวลลอปเปอร์ซึ่งติด Top10 สามารถฝ่าปัจจัยลบ สร้างยอดขายเติบโตได้ดี คือ กลุ่มโนเบิล ดีเวลลอปเปอร์ (NOBLE) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจาก การรับรุ้รายได้จากการขายที่ดินรอการพัฒนา มูลค่า 8,680.7 ล้านบาท รวมถึงการขายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาฯ จำนวน 210 ล้านบาท ซึ่งอาจจะถือว่าเป็นรายได้จากการขายที่พิเศษขึ้นมา หากหักรายการพิเศษนี้ออกไป กลุ่มโนเบิลฯ จะมีรายได้ประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งคงไม่ได้ติดอันดับ Top10 แต่ยังคงมีรายได้เติบโตจากปีที่ผ่านมา ซึ่งทำได้ประมาณ 4,974.20 ล้านบาท

 

ส่วนอีก 2 บริษัทที่สามารถสร้างรายได้จากการขายเติบโต คือ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (GOLD) ที่ทำรายได้ในช่วง ปี 2562 (มกราคาถึงธันวาคม 2562) จำนวน 15,299.99 ล้านบาท เติบโต 9.02% จากปีที่ผ่านมามีรายได้ 14,034.33 ล้านบาท และอีกบริษัท คือ กลุ่มพร็อพเพอร์ตี้ เฟอร์เฟค (PF) ที่สามารถสร้างการเติบโตได้ 5.01% ด้วยรายได้ 16,367.10 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าทำได้ 15,586.60 ล้านบาท

 

Top10 โกยกำไรกว่า 4 หมื่นล้าน

สำหรับปีที่ผ่านมาบิ๊กดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่ ยังคงความสามารถในการทำกำไรในส่วนของบริษัท ได้ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า โดย 10 บริษัทรายใหญ่ทำกำไรในส่วนของบริษัทได้มากถึง 40,088.45 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยเพียง 2.76% จากปี 2561 ที่ทำได้จำนวน 41,224.19 ล้านบาท บริษัทที่ทำกำไรได้สูงสุด และแตะระดับหมื่นล้านบาทนั้น ยังคงเป็นบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ฯ ที่มีกำไร 10,024.90 ล้านบาท ลดลง 4.30% จากปีก่อนหน้าทำได้ 10,475.42 ล้านบาท ส่วนบริษัทที่กำไรลดลงมากสุด คือ บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (QH) โดยกำไรลดลง 24.86% จากกำไรในปี 2561 จำนวน 3,797.85 ล้านบาท เหลือจำนวน 2,853.86 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา

Profit2019

แม้บริษัทส่วนใหญ่จะกำไรลดลง แต่ยังพบว่ากลุ่ม Top10 มี 3 บริษัทที่กำไรเติบโต คือ บริษัท โนเบิลฯ มีกำไรเติบโต 211.18% จากกำไรจำนวน 986.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 3,071.21 ล้านบาท. ซึ่งเป็นผลจากการขายรายการพิเศษนั่นเอง ส่วนอีก 2 บริษัทที่มีกำไรเติบโต คือ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) (SIRI) มีกำไรเติบโต 16.93% จากกำไร 2,045.97 ล้านบาท ในปี 2561  เพิ่มขึ้นเป็น 2,392.44 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา และบริษัท แผ่นดินทองฯ เป็นอีกหนึ่งบริษัทในกลุ่ม Top10 ที่มีกำไร โดยกำไร 2,093.92 ล้านบาท เติบโต 7.27% จากปี 2561 ซึ่งมีกำไร 1,951.97 ล้านบาท

3 บริษัทกำไรเติบโตเกิน 100%

ส่วนภาพรวมในรอบปี 2562 บริษัทอสังหาฯ ในตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 30 บริษัท สามารถทำกำไรในส่วนของบริษัทรวม  50,144.63 ล้านบาท ลดลง 6.37% จากปี 2561 ที่ทำกำไรได้ 53,558.26 ล้านบาท โดยบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม Top10 มีกำไรเติบโตโดดเด่น มี 3 บริษัท  คือ  บริษัท ไรมอนแลนด์ จำกัด (มหาชน) (RML)  มีกำไรเติบโต 228.30% จากกำไรในปี 2561 จำนวน 17.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 79.30 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา และบริษัท ชาญอิสสระดีเวล็อปเนท์ จำกัด (มหาชน) (CI) ซึ่งทำกำไรเติบโตถึง 228.39% จากกำไรจำนวน 82.4 ล้านบาท ในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 270.59 ล้านบาท เป็นผลจากการโอนกรรมสิทธิ์จากโครงการต่างๆ ที่เปิดขายมาก่อนหน้า

 

ส่วนอีกบริษัทที่มีกำไรเติบโตโดดเด่น ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะสามารถผลิกฟื้นธุรกิจจากขาดทุนมาเป็นกำไร คือ บริษัท เอเวอร์แลนด์ จำกัด (มหาชน) (EVER)  ที่สามารถผลิกจากการขาดทุนในปี 2561 จำนวน  340.86 ล้านบาท มาเป็นกำไรได้ 323.84 ล้านบาท หรือเติบโตถึง 195% ซึ่งเป็นผลมาจาก การโอนกรรมสิทธิ์โครงการต่างๆ อาทิ  เดอะโพลิแทน รีฟ เฟส 1 และโครงการทาวน์โฮม แบรนด์เอเวอร์ ซิติ้ สุขสวัสดิ์ 30-พุทธบูชา โครงการเอเวอร ซิตี้ ศรีนครินทร์-หนามแดง และโครงการมายโอม อเวนิว เป็นต้น ถือว่าทำผลงานได้ดีที่สุดในรอบ 7 ปีเลยทีเดียว

 

บทสรุป ของปี 2562 ที่ผ่านมา คงเห็นภาพได้ชัดเจนว่า ตลาดอสังหาฯ​ ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV ภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อ และน่าจะยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงปี 2563 ยิ่งสถานการณ์ตอนนี้ เกิดปัญหาไวรัสโควิด-19 อีกด้วย เชื่อว่าตลาดอสังหาฯ ปีนี้ ก็คงชะลอตัวต่อเนื่องเช่นกัน แต่จะมากน้อยแค่ไหนนั้น คงต้องวัดผลกันอีกครั้งในช่วงสิ้นปี

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด