Eic Real Estate After Covid

ส่องตลาดที่อยู่อาศัย…ความท้าทายของการฟื้นตัวหลัง COVID-19

COVID-19 ส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยที่อ่อนแออยู่แล้ว จากผลกระทบของมาตรการ LTV ในปี 2562 หดตัวลงต่อเนื่องในปี 2563  สะท้อนได้จากผลกระทบใน 2 ประเด็นหลัก คือ 

 

1.ความต้องการ (Demand) ที่ปรับตัวลดลงมาก จากทั้งกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงมาก ส่งผลให้ยอดขายและยอดโอนปรับตัวลดลง

 

2.จำนวนที่อยู่อาศัย (Supply) ที่ปรับตัวลดลง จากการที่ผู้ประกอบการเลื่อนการเปิดโครงการใหม่ออกไป โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียม และหันมาพัฒนาโครงการแนวราบมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมุ่งเน้นการระบายสต็อกเหลือขายที่ยังอยู่ในระดับสูง

 

นอกจากนี้  ยังซ้ำเติมให้ยอดขายที่อยู่อาศัยในปีนี้ หดตัวลงต่อเนื่องด้วย ภายหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV ในปี 2562 หากมองภาพตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่า ตลาดเข้าสู่ภาวะซบเซาลงอย่างต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวและกำลังซื้อของต่างชาติที่อ่อนแอลง ผนวกกับมาตรการ LTV ที่มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนเมษายนปี 2562 ส่งผลให้ยูนิตขายได้ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปีที่ผ่านมาหดตัวลดลง 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  และต่อเนื่องมาในปีนี้

Covid Social Distancing

ครึ่งปีแรกยูนิตขายได้ลดลง 45%

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซ้ำเติมให้ตลาดที่อยู่อาศัยหดตัวลงมากขึ้น สะท้อนได้จากข้อมูลของ AREA ที่จำนวนยูนิตขายได้ในครึ่งแรกของปี 2563 ที่หดตัวถึง 45% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน  (รูปที่ 1) จากกำลังซื้อที่ปรับลดลงและผลกระทบจากมาตรการ lockdown ที่ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการออกไปทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกบ้าน ขณะที่ยอดขายจากต่างชาติต้องหยุดชะงักลง จากการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง

 

นอกจากนี้ ยอดขายที่ปรับลดลงมาก ยังเป็นผลจากการชะลอการเปิดโครงการใหม่ออกไป ทั้งนี้จะพบว่าอัตราขายได้ในเดือนแรกของโครงการเปิดใหม่[1] (sale rate) ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งในส่วนของคอนโดมิเนียมและแนวราบ โดยเฉลี่ยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อัตราขายได้สำหรับคอนโดมิเนียมอยู่ที่ 26% ทาวน์เฮาส์อยู่ที่ 13% บ้านเดี่ยวและบ้านแฝดอยู่ที่ 8% ของจำนวนที่อยู่อาศัยที่เปิดใหม่ทั้งหมดในแต่ละประเภท

 

หากเปรียบเทียบอัตราขายได้เดือนแรกของโครงการเปิดตัวใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ของกลุ่มบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เทียบกับกลุ่มบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะพบว่ายอดขายของกลุ่มบริษัทจดทะเบียนมีอัตราการขายที่สูงกว่าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 17% เทียบกับอัตราการขายของบริษัทที่ไม่จดทะเบียนที่อยู่ที่ 12% (รูปที่ 2)

 

โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของยอดขายจากทั้งโครงการแนวราบและคอนโด จากการที่บริษัทขนาดใหญ่หันมาเน้นเจาะตลาดแนวราบ ขณะเดียวกันเน้นระบายสต็อกคอนโด โดยมีการแข่งขันออกโปรโมชั่น​มากขึ้น   มีการส่งเสริมการขายหลากหลายช่องทาง อาทิ ช่องทางออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ประกอบกับชื่อเสียงของแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือ ส่งผลให้ได้รับการตอบรับที่ดีขึ้น สะท้อนได้จากยอดขายของบริษัทจดทะเบียนในตลาดบางบริษัทที่ประกาศงบการเงินออกมาในไตรมาส 2 ที่ปรับตัวดีขึ้น

Eic Real Estate After Covid 1

[1] อัตราขายได้ในเดือนแรกของโครงการที่เปิดตัวใหม่หมายถึง จำนวนที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ที่ขายได้ในเดือนแรกที่เปิดตัวต่อจำนวนยูนิตเปิดใหม่ที่ขายทั้งหมด

โปรเจ็กต์เปิดตัวใหม่ลดลง 43%

สภาวะตลาดที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการเปิดโครงการใหม่ออกไป โดยเฉพาะคอนโด  ขณะเดียวกันหันมาเน้นเปิดโครงการแนวราบมากขึ้น โดยเฉพาะทาวน์เฮาส์ที่มีการเปิดตัวเพิ่มขึ้น

 

ภาวะตลาดที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องในปีที่ผ่ามา ส่งผลให้จำนวนยูนิตเหลือขายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเปิดโครงการใหม่มากขึ้น แต่จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นไปอีก เห็นได้จากการเลื่อนการเปิดโครงการใหม่ออกไป  โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี  ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ lockdown

 

โดยช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ปรับลดลงถึง 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 34,390 ยูนิต (รูปที่ 3) โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับลดลงของโครงการคอนโด ซึ่งยังมียูนิตเหลือขายสะสมอยู่ในระดับสูง ขณะเดียวกันหันมาเน้นเปิดโครงการแนวราบมากขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นตลาดที่เน้นเจาะลูกค้ากลุ่ม real demand

 

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ หันมาเปิดโครงการในระดับราคาที่ถูกลง โดยเน้นตลาด affordable (ราคาไม่แพง) มากขึ้น ทั้งนี้ ถ้าดูยูนิตเปิดขายใหม่แยกตามระดับราคา และตามประเภทที่อยู่อาศัย จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการหันมาเปิดโครงการแนวราบ โดยเฉพาะในส่วนของทาวน์เฮาส์มากขึ้น สะท้อนได้จากสัดส่วนของยูนิตเปิดใหม่ที่อยู่ในช่วงระดับราคา 2-3 ล้านที่มีสัดส่วนมากขึ้น (รูปที่ 4) นอกจากนี้ ยูนิตเปิดใหม่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในแนวรถไฟฟ้า อาทิ สายสีน้ำเงิน สีเขียว สีเหลือง และพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ

Eic Real Estate After Covid 3

ภาวะซัพพลายส่วนเกินยังคงเป็นประเด็นที่ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยประเภทคอนโด ที่ผู้ประกอบการยังต้องเน้นระบายสต็อกส่งผลให้แนวโน้มการแข่งขันด้านราคารุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะราคาคอนโดที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง  แม้ว่าผู้ประกอบการจะมีการปรับตัวโดยชะลอการเปิดโครงการใหม่ ๆ ออกไปค่อนข้างมาก แต่ยูนิตเหลือขายสะสมยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยยูนิตเหลือขายที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ณ กลางปี 2563 ยังอยู่ในระดับสูงที่ 2.21 แสนยูนิต โดยกว่า 41% เป็นประเภทคอนโด

 

นอกจากนี้ หากพิจารณาในแง่ของยูนิตเหลือขายตามระดับราคา จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยที่ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท โดยยูนิตเหลือขายสะสมของคอนโดที่ระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทยังอยู่ในระดับสูงที่ราว 63,000 ยูนิต หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 70% ของยูนิตคอนโดเหลือขายทั้งหมด

 

แม้ว่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมีการเลื่อนเปิดตัวโครงการใหม่ออกไป ซึ่งส่งผลให้จำนวนยูนิตเหลือขายสะสมของที่อยู่อาศัยบางประเภท อาทิ คอนโดที่ราคามากกว่า 2 ล้านเริ่มปรับลดลงจากในปีที่ผ่านมา แต่อัตราขายได้ต่อเดือนยังมีแนวโน้มปรับลดลง สะท้อนถึงทิศทางตลาดที่ยังมีความเสี่ยงจำนวนซัพพลายส่วนเกิน จากการที่อัตราการขายที่ยังต่ำกว่าการลดลงของยูนิตเปิดใหม่

 

นอกจากนี้ การที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่หันมาเน้นโครงการแนวราบมากขึ้น ส่งผลให้ยูนิตเหลือขายของโครงการแนวราบบางส่วนเร่งตัวขึ้นด้วย อาทิ ทาวน์เฮาส์ระดับราคา 2-3 ล้านที่มีแนวโน้มเข้ามาในตลาดมากขึ้น (รูปที่ 5 ) ดังนั้น จึงต้องจับตามองภาวะซัพพลายส่วนเกิน โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยในกลุ่มราคาระดับต่ำกว่า 3 ล้าน ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก เนื่องจากเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มกำลังซื้อระดับปานกลางถึงต่ำ ที่คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จากผลกระทบของ COVID-19

 

ทั้งนี้ ยูนิตเหลือขายสะสมที่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยเฉพาะคอนโดระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทส่งผลให้ผู้ประกอบการยังต้องเน้นการเร่งระบายสต็อก และทำให้การแข่งขันด้านราคารุนแรงมากขึ้น สะท้อนได้จากแนวโน้มการปรับตัวลดลงของราคาคอนโด จากฐานข้อมูลการโอนกรรมสิทธิ์จากนิติบุคคลซึ่งสะท้อนถึงการโอนที่อยู่อาศัยใหม่ โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ราคาคอนโดปรับลดลงประมาณ10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

นอกจากนี้ EIC ยังได้วิเคราะห์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงราคาคอนโด จากฐานข้อมูลอสังหาฯ ที่ประกาศใน website Hipflat พบว่า ราคาต่อตารางเมตรที่ประกาศขายมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561 จากค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2554-2562 ที่เพิ่มขึ้นราว 3% ต่อปี ล่าสุด ในไตรมาส 1 ปีนี้ เพิ่มขึ้นเพียง 1.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ขณะที่ราคาคอนโดในตลาดต่างจังหวัดเริ่มเห็นตัวเลขของราคาที่ปรับตัวลดลง 1.8% (รูปที่ 6) สะท้อนถึงภาวะซัพพลายส่วนเกิน ที่ยังมีแนวโน้มกดดันให้ราคาที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะคอนโดที่ยังมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าตลาดจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในระยะ 2 ปีข้างหน้า

Eic Real Estate After Covid 5

Eic Real Estate After Covid 6

ยูนิตขายได้ลดลง 29%

สภาวะตลาดที่มีทิศทางหดตัวลงอย่างมากจากผลกระทบของ COVID-19 ส่งผลให้ EIC คาดการณ์จำนวนยูนิตขายได้ที่อยู่อาศัยในปีนี้ลดลง 29%

 

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ล่าสุดในไทยจะปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ จนส่งผลให้ภาครัฐมีการผ่อนคลายมาตรการ lockdown ค่อนข้างมากแล้ว แต่จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรงทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย กำลังซื้อผู้บริโภคปรับลดลงอย่างรุนแรง ซึ่ง EIC คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ จะหดตัวลดลง 7.3% (ณ มิถุนายน 2563)

 

โดยคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเป็นไปอย่างช้า ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการในภาคอสังหาฯ ที่ต้องอาศัยระยะเวลา กว่าผู้บริโภคจะมีความเชื่อมั่น และสามารถซ่อมแซมงบดุลของตน รวมทั้งสะสมความมั่งคั่งให้กลับมาดังเดิม  แม้ว่าภายหลังการผ่อนคลาย lockdown อาจจะมีกลุ่ม real demand บางส่วนที่ได้รับผลกระทบน้อย อาจกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดขายที่อยู่อาศัยแนวราบของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น

 

แต่โดยรวม EIC มองว่ายอดขายที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ และยังอยู่ในภาวะซบเซา ส่งผลให้คาดการณ์จำนวนยูนิตขายได้ในปีนี้​ คาดว่าจะหดตัวลดลง 29% (รูปที่ 7) จากในช่วงครึ่งแรกของปีที่หดตัวลดลง 45% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่ามา

คาดโอนที่อยู่อาศัยหดตัว 7%

EIC คาดการณ์มูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยปีนี้ ลดลง 7% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา  หากดูภาพรวมการโอนที่อยู่อาศัย จะเห็นทิศทางการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีการบังคับใช้มาตรการ LTV ตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2562 และต่อเนื่องมาถึงปี 2563  โดยยูนิตโอนที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้หดตัวลดลง 6.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  และมีมูลค่าการโอนลดลง 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ทั้งนี้ ยอดโอนที่ยังไม่ติดลบมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการโอนคอนโดมิเนียมที่มาจากสัญญาซื้อขายในช่วง 1-2 ปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในช่วงปี 2561 ที่มียูนิตขายได้ของคอนโดที่สูงถึง 69,352 ยูนิต โดยคอนโดที่สร้างในปีดังกล่าว จะเริ่มทยอยสร้างเสร็จและพร้อมโอนได้ในช่วงปีนี้ รวมถึงจากผลของมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ของภาครัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบจากมาตรการ LTV อาทิ การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง โครงการบ้านดีมีดาวน์ และมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 และหลายมาตรการยังมีผลบังคับใช้ต่อเนื่องมาจนถึงในปีนี้

 

โดย EIC มองว่าแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะเริ่มคลี่คลาย แต่ภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงแรงทำให้แนวโน้มการทิ้งดาวน์ (cancellation) มีโอกาสเร่งตัวสูงขึ้น จากโดยเฉลี่ยที่อยู่ที่ราว 20-25% เพิ่มขึ้นมาเป็น 30-40% ของยอดพรีเซลล์ทั้งหมด ประกอบกับการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ยังมีความเข้มงวด สะท้อนได้จากยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 ที่หดตัวที่ลดลง 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  ทำให้คาดว่ายอดโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังมีแนวโน้มหดตัว ส่งผลให้มูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั้งปี  คาดว่าจะหดตัวลดลง 7%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 8.7 แสนล้านบาท (รูปที่ 8)

Eic Real Estate After Covid 7

ตลาดอสังหาฯ ฟื้นตัวเร็วสุดปี 65

COVID-19 ส่งผลให้ธุรกิจอสังหาฯ ที่อยู่อาศัยชะลอตัวลงมาก และการฟื้นตัวคงต้องอาศัยระยะเวลาค่อนข้างยาวนาน โดย EIC คาดการณ์ว่ายอดขายของผู้ประกอบการจะกลับมาสู่ระดับก่อนเกิด COVID-19 ได้อย่างเร็วในปี 2565

 

เนื่องจาก COVID-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคเป็นวงกว้าง ไม่เจาะจงแต่เฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะทยอยปรับตัวดีขึ้น แต่กำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ยังคงต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับตัว กว่าที่จะส่งผลบวกมายังตลาดที่อยู่อาศัย  อีกทั้งผลกระทบจากมาตรการ LTV ยังส่งผลให้ผู้บริโภค ยังต้องอาศัยระยะเวลาในการสะสมความมั่งคั่งและเงินดาวน์ ก่อนที่จะกลับมาซื้อที่อยู่อาศัย

 

ทั้งนี้ EIC ประเมินว่ายอดขายที่อยู่อาศัยจะกลับมาใกล้เคียงกับระดับยอดขายในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิด COVID-19 ได้ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 โดยกลุ่มกำลังซื้อระดับกลางถึงบน จะเป็นกลุ่มที่นำการฟื้นตัวของตลาด โดยโครงการแนวราบน่าจะยังเป็นตลาดที่มีสัดส่วนหลัก เนื่องจากตอบโจทย์กลุ่ม real demand ที่อยู่อาศัยจริงมากที่สุด ขณะที่กลุ่มกำลังซื้อน้อยคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ เช่นเดียวกันกับยอดขายต่างชาติ ที่คาดว่ายังไม่กลับมาฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันใกล้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีทิศทางชะลอตัวลง

 

นอกจากนี้ ยังคงต้องจับตามองปัจจัยอื่น ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อตลาด อาทิ นโยบายกระตุ้นอสังหาฯ จากภาครัฐ นโยบายสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันการเงินของรัฐ ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ ๆ รวมถึง ภาษีที่ดินที่แม้ว่าภาครัฐจะผ่อนปรนลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ในปีนี้ แต่คาดว่าจะส่งผลเพียงในระยะสั้น แต่ในระยะยาวภาระภาษีที่ดินยังคงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายอสังหาฯ ต้องนำมาพิจารณาก่อนการตัดสินใจซื้อหรือพัฒนาโครงการในอนาคต

Real Estate Bangkok Condo

4 แนวทางปรับตัวรับชีวิตหลัง COVID-19

ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาฯ ที่อยู่อาศัย ควรต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เพื่อให้ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคและไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในแง่ของ

1.ช่องทางการขาย online เสริมความสะดวกผู้ซื้อ เครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการทำการตลาด

การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นปัจจัยผลักดันให้เทคโนโลยีรวมถึงดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทต่อการซื้อขายที่อยู่อาศัยมากขึ้น ตั้งแต่การเลือกซื้อบ้านผ่านทางช่องทาง online ที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น โดยจะเป็นช่องทางเสริมในการเข้าถึงผู้บริโภคเนื่องจากผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบโครงการต่าง ๆ ได้พร้อม ๆ กันหลายโครงการโดยไม่ต้องตระเวนไปทุกโครงการ นอกจากนี้ การนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างเช่น AR VR รวมถึงการ live ยังมีส่วนช่วยกระตุ้นความสนใจของผู้บริโภคอีกด้วย

2.โครงการใหม่จะเน้นความคุ้มค่า รับกำลังซื้อที่ลดลง แข่งกับตลาดมือสอง

ในการพัฒนาโครงการใหม่ ๆ ผู้ประกอบการจะเน้นความคุ้มค่าเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อและความสามารถในการซื้อบ้านที่ลดลง อีกทั้งยังต้องแข่งขันกับอุปทานบ้านมือสองที่คาดว่าจะมีทรัพย์สินที่รอการขาย (Non Performing Asset) เข้ามาในตลาดมากขึ้นจากผลกระทบของ COVID-19 ที่คาดว่าจะทำให้เกิดหนี้เสียในตลาดที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น

3.Work From Home ส่งผลให้ผู้บริโภค ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านทำเลและพื้นที่ใช้สอยที่
ตอบโจทย์

การเลือกทำเลที่เดิมอาจเป็นปัจจัยหลักในการเลือกที่อยู่อาศัย แต่แนวโน้มผู้บริโภคอาจให้น้ำหนักความสำคัญของพื้นที่ใช้สอยในการพิจารณาเลือกที่อยู่อาศัยมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะใช้เวลาอยู่ในบ้านมากขึ้น กระแสการ Work Fom Home ส่งผลให้ผู้บริโภคอาจต้องการบ้านที่มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้นภายใต้งบประมาณเดิม ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยประเภททาวน์เฮาส์ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยมากกว่าคอนโดในเมือง แต่อาจอยู่ทำเลห่างออกไปเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในทำเลใกล้กับโครงข่ายรถไฟฟ้าเส้นต่าง ๆ อาจได้รับความสนใจมากขึ้นเนื่องจากการขยายโครงข่ายส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ ๆ ที่มีความครอบคลุมและครบวงจรจะส่งผลให้การเดินทางมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น

4.รูปแบบของการพัฒนาโครงการ ที่ต้องตอบโจทย์เทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ อาทิ ด้านสุขภาพและสุขอนามัย

การออกแบบโครงการในอนาคตต้องตอบโจทย์วิถีชีวิตในรูปแบบใหม่ ส่งผลให้รูปแบบโครงการที่จะตอบโจทย์ความต้องการในอนาคตต้องปรับเปลี่ยนไป อาทิ การออกแบบที่ตอบโจทย์ Work From Home เช่นการออกแบบให้มีพื้นที่โล่ง ที่ผู้ซื้อสามารถปรับแต่งตามไลฟ์สไตล์ และรูปแบบที่ต้องการใช้งานได้มากขึ้น หรือแม้แต่การออกแบบที่เน้นการประหยัดพลังงาน เนื่องจากผู้อยู่อาศัยต้องใช้ชีวิตในบ้านมากขึ้น และการพัฒนาโครงการจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และสุขลักษณะที่ดีในการอยู่อาศัยมากขึ้น อย่างเช่น การนำเอาเทคโนโลยีที่ไร้การสัมผัส (untouch) มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ส่วนกลางต่าง ๆ ให้มากที่สุด อาทิ การเปิดปิดประตูและลิฟท์ที่ใช้ระบบการสแกน key card ต่าง ๆ

Covid Health

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด