Price Real Estate

ราคาอสังหาฯ กทม. ฟื้นตัว 2% สูงสุดรอบ 6 ไตรมาส

ดูเหมือนว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ เริ่มมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นบ้างแล้ว เพราะตามรายงานดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์ประจำไตรมาส 4 ปี 2563 (DDproperty Thailand Property Market Index Q4 2020) จากดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์ ล่าสุด พบว่า ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 2% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส

 

นับเป็นการแสดงให้เห็นสัญญาณบวกของตลาดอสังหาฯ ที่เริ่มเติบโตจากการเปิดตัวโครงการใหม่ ๆ ของผู้ประกอบการออกสู่ตลาด  พร้อมปล่อยสงครามราคามากระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคอย่างไม่หยุดยั้งหลังสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในไทยเริ่มคลี่คลาย แม้กำลังซื้อผู้บริโภคเริ่มฟื้นตัวแต่ยังไม่มั่นใจในการใช้จ่าย หวังภาครัฐคลอดมาตรการกระตุ้นการซื้อขายช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในตลาดอสังหาฯ แนะผู้ประกอบการอสังหาฯ มองหากลุ่มเป้าหมาย ต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real Demand) ที่มีศักยภาพเพิ่มเติมเพื่อสร้างโอกาสขยายตลาดเจาะกำลังซื้อกลุ่มใหม่ในประเทศ

 

ตามรายงานดังกล่าว ยังเปิดเผยให้เห็นว่า จำนวนอสังหาฯ ในช่วงไตรมาสที่ 3 สูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าถึง 23% สะท้อนให้เห็นถึงจำนวนอสังหาฯ คงค้างในตลาดจำนวนมาก เนื่องจากผู้บริโภคใช้เวลาตัดสินใจเลือกซื้ออสังหาฯ มากขึ้น อันเป็นผลมาจากความไม่มั่นใจกับสภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบาง ซึ่งส่งผลต่อรายได้และการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารที่เข้มงวดขึ้น

Ddproperty Thailand Property Market

สอดคล้องกับข้อมูลรายงานแนวโน้มธุรกิจไตรมาส 3 และแนวโน้มไตรมาส 4 ปี 2563 จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งระบุถึงทิศทางอสังหาฯ ไทยรายภูมิภาค พบว่า ยอดขายและการโอนกรรมสิทธิ์ในภาคกลางลดลง โดยเฉพาะอาคารชุดและบ้านแนวราบระดับล่าง จากกำลังซื้อของลูกค้าชาวไทยที่ลดลง เมื่อพิจารณาการปล่อยสินเชื่ออสังหาฯ ของธนาคาร พบว่ายอดปฏิเสธสินเชื่อ (Rejection Rate) ในภาคกลางเพิ่มขึ้นมากกว่า 30% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันในปีก่อน ขณะที่ความต้องการที่อยู่อาศัยของคนไทยในภาคเหนือยังมี แต่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ โดยมียอดปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้น 40-50% แม้เคยยื่นประเมินการขอสินเชื่อซื้ออสังหาฯ เบื้องต้น (pre-approve) ไว้

 

นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ กล่าวในงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ “The Guru View: แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยในยุคโควิด-19 ที่ยังไร้ยาต้าน” ในงาน Asia Virtual Property Expo  ว่า ตลาดอสังหาฯ ในปี 2563 นี้ถือเป็นปีที่ท้าทายอย่างมาก ทั้งในมุมผู้ประกอบการและผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ต้นปีตลาดมีการชะลอตัวตามสภาพเศรษฐกิจไทย ภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV ของ ธปท. ที่ส่งผลต่อการซื้อขายในตลาดอย่างมีนัยสำคัญ

 

เมื่อผนวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระบบและทำให้ตลาดอสังหาฯ ชะลอตัวอย่างมากในช่วงครึ่งปีแรก แม้สถานการณ์หลังการล็อกดาวน์จะมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงต้องจับตาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศ และความไม่แน่นอนทางด้านการเมืองเป็นอีกปัจจัยที่มีผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งต้องจับตามองต่อไปว่าภาครัฐจะออกมาตรการใดมาช่วยกระตุ้นการเติบโตในตลาดต่อจากนี้

ตลาดอสังหาฯ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ยังคงเป็นโอกาสทองของผู้ซื้อและนักลงทุนระยะยาวที่มีความพร้อมทางการเงิน เนื่องจากผู้ขายยังคงใช้สงครามราคามาช่วยเร่งระบายสต็อกคงค้าง ทำให้ราคาอสังหาฯ ช่วงนี้ยังไม่สูงเกินไป โดยเฉพาะรูปแบบคอนโดฯ และทาวน์เฮ้าส์

Ddproperty Md

เทรนด์ซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบยังโตต่อเนื่อง 

จากข้อมูลผู้เข้าเยี่ยมชมในเว็บไซต์ DDproperty.com ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้ พบว่า ผู้บริโภคให้ความสนใจเข้าชมประกาศซื้อ-ขาย-เช่าที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ เติบโตขึ้นกว่า 4% แสดงถึงสัญญาณบวกของตลาด และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อมาตรการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี

 

เห็นได้จากที่อยู่อาศัยแนวราบยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคค้นหาบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับสัดส่วนจำนวนบ้านเดี่ยวในปีนี้เติบโต 40% และทาวน์เฮ้าส์ที่เติบโต 41% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ผ่านมา เนื่องจากกลุ่มผู้ซื้อเป็นผู้อยู่อาศัยจริง หันมาให้ความสำคัญในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่ใช้งานมากขึ้น ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป  จากเทรนด์ Work from Home ที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการพิจารณาเลือกซื้อบ้านในช่วงนี้ จึงเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ หันมาเน้นการเปิดตัวโครงการแนวราบอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายส่วนแบ่งการตลาด โดยเฉพาะระดับราคา 1-5 ล้านบาท หลังจากที่ก่อนหน้านี้โฟกัสอยู่ที่กลุ่มตลาดกลางบน (5 ล้านบาทขึ้นไป)

 Real Estate Bangkok Condo

ในขณะที่ตลาดให้เช่ายังมีโอกาสเติบโตเช่นกัน โดยมีการค้นหาที่อยู่อาศัยประเภทให้เช่าในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 3 % เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้  ซึ่งคอนโดฯ ให้เช่ามีการเติบโตมากที่สุดถึง 9% เป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อผู้บริโภคที่ชะลอตัวทำให้การเช่าที่พักอาศัยกลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะมีความเสี่ยงทางการเงินน้อยกว่า  รวมทั้งการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่เข้มงวดขึ้นทำให้มียอดการปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

 

อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคให้ความสนใจเลือกเช่าที่อยู่อาศัยที่มีอัตราค่าเช่า 30,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป เพิ่มขึ้นถึง 20% ในรอบไตรมาสที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า แม้ผู้บริโภคจะยังไม่พร้อมซื้ออสังหาฯ เป็นของตัวเองในตอนนี้ แต่ยังคงมีศักยภาพเพียงพอที่จะจ่ายค่าเช่าในอัตราที่สูงขึ้นในช่วง 1-2 ปี เนื่องจากมีความจำเป็นที่ต้องเลือกที่พักอาศัยในทำเลที่ต้องการ ผู้ประกอบการอสังหาฯ ควรปรับตัวรับสถานการณ์ปัจจุบันด้วยการเจาะกลุ่มกำลังซื้อใหม่ ๆ ในประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นแทนที่กลุ่มกำลังซื้อเดิมที่อาจอิ่มตัว และได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด