Lpn Smarthome

เปิดอินไซต์ 3 ปัจจัยเลือกซื้อบ้าน ตอบโจทย์วิถีชีวิต New Normal

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลทำให้วิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากมาย ที่เห็นชัดเจนคือ การดูแลตนเอง ภายใต้มาตรฐานด้านการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็น การสวมใส่หน้ากากอนามัย  การล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือสบู่ การเว้นระยะห่างทางสังคม และการลดไปยังพื้นที่เสี่ยงหรือแออัด รวมถึง การหันมาทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) มากขึ้น

 

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะยังไม่ยุติลง  แต่เชื่อว่าวิถีชีวิตของคนในอนาคตข้างหน้า คงไม่ได้แตกต่างจากปัจจุบันมากนัก เพราะเราต้องปรับตัวเพื่ออยู่กับโควิด-19 ให้ได้  เมื่อวิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป เรื่องของการอยู่อาศัยก็ต้องปรับตัวตาม เพื่อรองรับกับวิถีชีวิตปกติใหม่ดังกล่าว ซึ่งบรรดาดีเวลลอปเปอร์ คงต้องหันมาพัฒนาที่อยู่อาศัย ให้ตอบโจทย์กับความต้องการและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงของคนส่วนใหญ่ด้วย

 

โดยผลวิจัยจาก บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทด้านวิจัยและพัฒนาในเครือบริษัท แอล. พี. เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) พบว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยโดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1.พื้นที่ใช้สอยและวัสดุ (Function & Material) 2.การออกแบบโดยให้ความสำคัญกับสุขอนามัย (Health) และ 3.เทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัย (Smart Living Technology)

3 ปัจจัยผู้บริโภคเลือกซื้อบ้านรับวิถี New Normal

1.พื้นที่ใช้สอยและวัสดุในแบบ Multifunctional Space  

หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมเปลี่ยนแปลงไปจากบ้านเป็นที่อยู่อาศัยเพื่อการพักผ่อนและทำกิจกรรมส่วนตัว ไปสู่การใช้บ้านเป็นทั้งที่ทำงานและสถานที่พักผ่อนไปพร้อมกัน เมื่อผู้คนต้องทำงานที่บ้านมากขึ้น ทำให้การออกแบบพื้นที่อยู่อาศัย ต้องมีพื้นที่ที่มีความยืดหยุ่น  สามารถปรับเปลี่ยนการใช้สอยในพื้นที่ได้ในแบบ Multifunctional Space อาทิ การแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านด้วยผนังทึบอาจต้องปรับเปลี่ยนเป็นผนังที่สามารถเปิดเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ภายในที่อยู่อาศัย โดยการใช้บานเลื่อนหรือบานเฟี้ยม นอกจากจะมีประโยชน์ในด้านความยืดหยุ่นของพื้นที่ใช้สอยแล้ว ยังทำให้ที่อยู่อาศัยดูโปร่ง และมีการไหลเวียนอากาศที่ดี เพื่อตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตในปัจจุบันและอนาคต

ในขณะเดียวกันการเลือกใช้วัสดุต่างๆ จำเป็นที่จะต้องเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม การระบายอากาศที่ดี มีปริมาณแสงธรรมชาติทเข้ามาภายในพื้นที่ใช้สอยได้อย่างเหมาะสม ​เช่น พื้นที่ครัวโดยเฉพาะครัวไทย ที่ต้องใช้วัสดุที่เช็ดทำความสะอาดได้ง่าย กันน้ำได้ดี และระบายอากาศได้ง่าย หรือพื้นที่อ่านหนังสือ-พื้นที่นั่งเล่นที่ต้องการปริมาณแสงธรรมชาติมากกว่าห้องนอน เป็นต้น

Lpn Covid 1

2.การออกแบบโดยให้ความสำคัญกับสุขอนามัย (Health)

จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทำให้ประชาชนตระหนักและหันมาดูแลสุขภาพตัวเองกันมากขึ้น การออกแบบที่อยู่อาศัยจำเป็นต้องคำนึงถึงสุขอนามัยที่ดี โดยใช้นวัตกรรมการออกแบบที่ส่งเสริมคุณภาพทางด้านสุขอนามัยภายในที่อยู่อาศัย เช่น ระบบช่วยลดไวรัสและแบคทีเรียภายในอากาศ โดยใช้ประจุบวกและลบ ซึ่งมีประสิทธิภาพการกำจัดได้ถึง 99% ระบบควบคุมการไหลเวียนอากาศภายในบ้าน ที่ช่วยทำให้อากาศถ่ายเทแม้จะปิดประตูหน้าต่างอยู่ก็ตาม รวมถึงนวัตกรรมทางด้านวัสดุที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ เช่น สีทาบ้าน Low VOCs ซึ่งได้รับการรับรองว่ามีการปล่อยสาร VOCs หรือสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระดับต่ำ หรือลามิเนตที่ป้องกันแบคทีเรียและไวรัส เป็นต้น

นอกจากนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในเรื่องสุขอนามัยแล้ว พื้นที่สีเขียวภายในบ้านเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งเสริมสุขภาพทางด้านจิตใจให้แก่ผู้อยู่อาศัย ดังนั้นการออกแบบที่อยู่อาศัยจึงควรมีพื้นที่สวนเล็กๆ ภายในบริเวณบ้าน หรือมีพื้นที่ปลูกต้นไม้ที่ระเบียงที่สามารถมองเห็นได้จากภายในห้อง

Lpn Covid 2

3.เทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัย (Smart Living Technology)

เทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัย (Smart Living Technology) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ กับการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย เพราะช่วยสร้างความสะดวกสบายและ ความปลอดภัยในการอยู่อาศัย

 

เทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัย ได้เข้ามาช่วยในเรื่องของความสะดวกสบาย เช่น การพัฒนา Smart Residence มีการนำเทคโนโลยี Home Automation เชื่อมต่อเข้ากับระบบสั่งการต่าง ๆ ทั้งทางเสียง หรือ  แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เพื่อควบคุมการทำงานของระบบเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในที่พักอาศัย เช่น  การเปิด-ปิดไฟ และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน อาทิ โทรทัศน์ เครื่องเสียง ปลั๊กไฟ การปรับอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศ และ การควบคุมแสงสว่างและอุณหภูมิภายในบ้าน เป็นต้น รวมถึงการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตกับอุปกรณ์สั่งการด้วยเสียง ที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต หรือแม้แต่การตรวจสอบสภาพการจราจรก่อนออกจากบ้านได้เพียงแค่การถามอุปกรณ์นั้น

 

นอกจากนี้ การพัฒนา Smart Residence ต้องคำนึงถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ประหยัดพลังงาน ทำให้การออกแบบที่อยู่อาศัยในรูปแบบของ Smart Residence ต้องนำนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาความร้อนภายในที่อยู่อาศัย เช่น ระบบ Fresh Air Intake ที่จะการถ่ายเทอากาศและระบายความร้อนออกจากตัวบ้านด้วยการนำอากาศใหม่เข้ามาในบ้านผ่านช่องระบายอากาศ และดึงความร้อนจากภายในตัวบ้านขึ้นไปยังช่องใต้หลังคาด้วยระบบระบายอากาศฝ้าเพดาน และระบายออกสู่นอกตัวบ้านผ่านระบบระบายความร้อนในช่องใต้หลังคา นอกจากระบบ Fresh Air Intake แล้ว การใช้วัสดุ เช่น กระจก อิฐก่อผนัง หลังคา หรือฉนวนกันร้อนที่ได้คุณภาพก็ยังช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานภายในบ้านได้อีกด้วย

 

เทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัย   ที่เข้ามาช่วยด้านความปลอดภัย อาทิ​​ กล้องวงจรปิด ระบบเซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว เซนเซอร์ที่ประตู-หน้าต่าง Digital Door Lock เป็นต้น โดยที่อุปกรณ์ต่างๆจะสามารถควบคุมได้ผ่านแอปพลิเคชั่น หรือ Home Automation ภายในบ้าน และเมื่อเกิดเหตุก็จะส่งสัญญาณเตือนมาที่โทรศัพท์ของผู้ใช้งาน

Lpn Covid Smarthome

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการบริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (มหาชน)  กล่าวถึงแนวโน้มการพัฒนาที่อยู่อาศัยในปัจจุบันว่า หลังการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2019   ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้มีการพัฒนาการออกแบบที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตของประชาชนภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่ ซึ่งกลายเป็นวิถีชีวิตในปัจจุบัน (Now Normal) โดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย การออกแบบพื้นที่ใช้สอยและวัสดุ (Function & Material) ที่ตอบโจทย์กับการอยู่อาศัยและเป็นมิตรกับชีวิตและสิ่งแวดล้อม, การออกแบบโดยให้ความสำคัญกับสุขอนามัย (Health) และ การนำนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัยโดยใช้เทคโนโลยี Internet of Thinks (IoTs) และอุปกรณ์อัจฉริยะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญเพื่อตอบโจทย์การอยู่อาศัยที่สะดวกสบายและปลอดภัย มากยิ่งขึ้น

สินค้า Smart Home มูลค่ากว่า 2,500 ล้าน

โดยจากการประเมินของ IDC สถาบันวิจัยด้านการตลาดของสหรัฐฯ ระบุว่า จำนวนอุปกรณ์ Smart Residence ของโลก มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย  31% ต่อปี จากจำนวน 644 ล้านเครื่องในปี 2561 จะเพิ่มเป็น 1,300 ล้านเครื่องในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า เท่าตัวภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี ขณะที่ A.T. Kearney ระบุว่า มูลค่าตลาดของ Smart Residence ทั่วโลกจะอยู่ที่  263,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราวๆ 8.4 ล้านล้านบาทในปี 2568 โดยผลการศึกษายระบุว่า Smart Residence  ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับ 2 หมวดหลักๆ คืออุปกรณ์ที่เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต และอุปกรณ์ที่ตอบสนองความต้องการด้านความปลอดภัย

 

ขณะที่ บริษัท เมสเซ่ แฟรงก์เฟิร์ตนิว เอร่า บิซิเนส มีเดีย จำกัด ศึกษาการเติบโตของตลาด Smart Residence ในประเทศไทยระบุว่า ตลาดผลิตภัณฑ์ Smart Home ของประเทศไทยในปี 2559 มีมูลค่า 645 ล้านบาท และเพิ่มมากกว่าเท่าตัวในปี 2563 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 2,500 ล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ย 40% ต่อปี โดยแบ่งเป็นผลิตภัณฑ์ Smart Residence เพื่อการดูแลผู้สูงอายุ เติบโตสูงสุด 60% และผลิตภัณฑ์ Smart Home เพื่อการรักษาความปลอดภัยจะเติบโตเป็นอันดับสองคือ 45% ต่อปี

 

จากผลการสำรวจดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าพฤติกรรมของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยทั่วโลกให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเพื่อการอยู่อาศัยเข้ามาใช้ในการปรับปรุงที่อยู่อาศัยในรูปแบบของบ้านอัจฉริยะหรือ Smart Residence มากขึ้นรวมทั้งพฤติกรรมของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ที่เริ่มให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยที่มีเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้การอยู่อาศัยมีความสะดวกสบายและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

 

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด