Real Estate Crisis Survival

“ตุนเงินสด-เพิ่มสภาพคล่อง” ทางรอดอสังหาฯ ท่ามกลางโควิด-เศรษฐกิจชะลอตัว

เป็นระยะเวลานานกว่า 1 ปีแล้ว ที่เรายังต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และยังไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์จะสิ้นสุดลงเมื่อใด  ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลเฉพาะเรื่องสุขภาพของคนเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงวิถีชีวิต และเชื่อมโยงไปสู่ภาคธุรกิจ  ที่ต้องหยุดชะงัก หลายธุรกิจไม่สามารถไปต่อได้ เพราะปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ภาคอสังหาริมทรัพย์เอง ก็เป็นหนึ่งธุรกิจที่ต้องเผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกัน ​

 

ช่วงที่ผ่านมาบรรดาดีเวลลอปเปอร์จึงพยายามรับมือปัญหาที่เกิดขึ้น  โดยเฉพาะการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย เพื่อเร่งระบายสต็อกในมือ เปลี่ยนจากสินค้าให้กลายเป็นเงินสด เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ ขณะเดียวกันก็ชะลอการเปิดโครงการใหม่ ลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพราะมองว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นเครื่องมือที่พยุงให้บริษัทยังสามารถผ่านพ้นวิกฤตให้ยังไปต่อได้ และวิธีการเหล่านั้นคือ “ทางรอด” ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

เพิ่มสภาพคล่อง รอเศรษฐกิจฟื้น

ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤตทั้งเรื่องของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจหดตัว ภาพรวมตลาดในปีนี้จึงคาดว่าตลาดจะติดลบ 10% ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาที่ติดลบ 35% ซึ่งหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สามารถคลี่คลายได้ภายในปีนี้ ตลาดน่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวได้ในช่วงปี 2565 เป็นต้นไป

 

สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มองว่าทางรอดของผู้ประกอบการอสังหาฯ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก คือ การรักษาสภาพคล่อง ด้วยการมีกระแสเงินสดให้เพียงพอ เพื่อให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้ จนเหตุการณ์วิกฤตได้ผ่านพ้นไป เพราะมองว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ทุกวิกฤตจะต้องมีวันที่สิ้นสุดลง ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องรักษาสภาพคล่องไว้ให้ได้ แม้ว่าการดำเนินธุรกิจจะต้องประสบภาวะขาดทุน แต่ต้องมีสภาพคล่อง รวมถึงจะต้องเตรียมความพร้อมรองรับกับการกลับมาของภาวะเศรษฐกิจที่เติบโต

Sena Ceo

“ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอ ในยามที่มีวิกฤต คือ การรักษาสภาพคล่อง ธุรกิจอาจจะกู้เยอะได้แต่ต้องมีเงิน สิ่งที่ต้องทำวันนี้ มันต้องยอมรับความจริงที่ว่า ตลาดมันแคบลง ถ้าหากสายป่านเรายาวไม่พอ ต้องสโคปดาวน์ธุรกิจลงมา เพื่อให้ผ่านวิกฤตไปให้ได้ ขาดทุนได้แต่ต้องมีสภาพคล่อง เพราะวิกฤตมีวันจบ แต่เราอยู่ได้จนจบไหม หมายความว่าอยู่ได้จนจบ ไม่ได้หมายความว่ามีกำไร แต่ละคนมีปัจจัยต่างกัน และจะต้องรักษาทีมงานไว้เพื่อเตรียมตัวเองให้พร้อมในวันเศรษฐกิจฟื้นกลับมา” ​

 

ส่วนมาตรการภาครัฐในการกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ นั้น  ดร.เกษรา มองว่า มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ เป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามเข้ามาช่วยกระตุ้นตลาด เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีซัพพลายเชนจำนวนมาก มีการจ้างงานมาก และมีการหมุนเวียนของสินค้าจำนวนมาก แต่ไม่มีมาตรการอะไรที่จะเข้ามาช่วยธุรกิจอสังหาฯ แล้วทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น เพราะกำลังซื้อของคนชะลอตัว เหมือนการใส่โปรโมชั่นไปในสินค้า แต่คนไม่มีกำลังซื้อโปรโมชั่นก็ไม่สามารถช่วยทำให้ขายสินค้าได้  ​

ไม่มีมาตรการอะไรที่จะทำให้เศรฐกิจดี เหมือนซื้อของโปรโมชั่นเพิ่ม แต่ถ้าเขากู้ไม่ได้  ใส่โปรโมชั่นก็ขายไม่ได้ สิ่งที่ช่วยได้ คือ ความมั่นใจผู้บริโภค และการมีงานทำ เพราะถ้าไม่มีงานคนก็ไม่มีความมั่นใจ คนไม่กล้าซื้อ ไม่กล้าเป็นหนี้ระยะยาว

นอกจากนี้ ดร.เกษรา ยังมองว่า สิ่งที่ภาครัฐต้องรีบดำเนินการโดยเร็ว คือ การทำให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัย ซึ่งคือเรื่องของวัคซีน เพราะไม่มีอะไรสำคัญกว่าชีวิต ไม่ว่างานนั้นเป็นอะไรก็ตาม การเร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้คนได้กลับไปใช้ชีวิตปกติได้โดยเร็ว และการตรวจในเชิงรุก ที่เหลือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยใช้​​มาตรการการคลังเข้ามาช่วย เนื่องจากมาตรการด้านการเงินได้ถูกใช้แล้ว เช่น เรื่องดอกเบี้ย ที่ปัจจุบันถือว่าต่ำมาก โดยมาตรการการคลังจะต้องแบ่งออกเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยเร่งดำเนินการมาตรการในระยะสั้นและกลางก่อน

 

วิกฤตมันมีวันจบ ช่วงนี้เราต้องอดทนกับมัน และมีกำลังใจต่อสู้ไปกับมัน และตอนนี้หน้าที่ของทุกคน มีหน้าที่ใหญ่ขึ้น ใหญ่กว่าตัวเรา เราต้องคิดว่าเราทำอะไรได้บ้างในจุดที่เรายืน ทำเลย ดีกว่าไปรอให้รัฐเข้ามาช่วย ทุกคนควรช่วยกันแบบนั้น

กูเกิ้ล-เฟสบุ๊ค เครื่องมือตลาดออนไลน์

Thanapol Adyim

ด้าน นายธนพล ทรัพย์สมบูรณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัล หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง VIRTUAL SOLUTION กล่าวว่า ในส่วนของการตลาดออนไลน์ พบว่าในช่วงวิกฤตโควิดระลอกล่าสุด มีการเซิร์จค้นหา บ้าน และ คอนโด ผ่านทางกูเกิลน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด โดยลดลงไปประมาณ 40% ดังนั้นการทำการตลาดในช่วงนี้จึงต้องทำอย่างระมัดระวัง ส่วนตัวมองว่าคงไม่เหมาะกับการตลาดแบบ Mass Communication ที่เน้นการรับรู้ในวงกว้าง แต่น่าจะเป็นการตลาดแบบ Precision Marketing คือ เน้นเจาะไปยังกลุ่มคนที่ยังมีกำลังซื้อ กลุ่มนักลงทุน และกลุ่มคนที่มีความต้องการจะซื้อบ้านและ คอนโด จริง ๆ เท่านั้น

 

Media Channels ที่สามารถทำ Precision Marketing ได้ดี ก็คงจะหนีไม่พ้น Google และ Facebook ซึ่งทุกๆ แบรนด์ก็ทราบถึงประสิทธิภาพของช่องทางนี้ดี ทำให้ทุกแบรนด์กระโดดเข้ามาแข่งขันกัน ทำให้ค่าโฆษณาถีบตัวสูงขึ้น สวนทางกับดีมานด์ของตลาดซึ่งมีลดลง

Google

นอกจากนี้การเดินทางไปดูโครงการอสังหาต่าง ๆ มีความยากลำบาก จากการที่ผู้ซื้อมีความกังวลในเรื่องโควิด-19 ทางเจ้าของโครงการจึงจำเป็นจะต้องทำ Online Platform ให้ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมโครงการได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำบ้าน หรือ คอนโด ในรูปแบบ Virtual หรือการทำระบบ VDO Conference ให้ทีมขาย สามารถคุยกับลูกค้าได้

งานเทรดแฟร์ออนไลน์ กระตุ้นยอดQ4

นายกัมพล นิสิตสุขเจริญ กรรมการบริหาร บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด และผู้ก่อตั้ง VIRTUAL SOLUTION กล่าวว่า  สถานการณ์ปัจจุบันหลายธุรกิจต้องเผชิญกับความยากลำบาก แต่ธุรกิจต้องดำเนินต่อไปให้ได้  ขณะที่อนาคตก็มีความไม่แน่นอนสูง หลายธุรกิจจึงอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก รวมถึงธุรกิจอสังหาฯ ด้วย ซึ่งแนวทางหนึ่งในการทำตลาดของธุรกิจอสังหาฯ คือ การจัดงานแสดงสินค้า  แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมางานแสดงสินค้าไม่สามารถจัดงานได้ เพราะสถานการณ์โควิด-19 จึงได้จัดงาน “Virtual Property Expo 2021” งานมหกรรมซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งปีบนโลกออนไลน์ในรูปแบบ Virtual Trade Fair เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุดของงานแสดงสินค้า ที่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถมาพบปะกันบนออนไลน์มีฟังก์ชั่นเสมือนงานแสดงสินค้าจริง ๆ

Kampol Rightman

การทำตลาดของธุรกิจอสังหาฯ จะเห็นเครื่องมือหนึ่ง คือ การจัดงานเทรนด์แฟร์  ถือเป็นเครื่องมือการตลาดที่ทรงพลังมาก เมื่อสองปีที่ผ่านมา มีการจัดงานงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับอสังหาฯ ไปจัดตามศูนย์ประชุม หรือตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป ต้องยอมรับว่า เป็นการจัดงานที่สามารถดึงวอลุ่มยอดขายของแบรนด์ต่าง ๆ ได้อย่างดี เพราะ เป็นการรวมผู้ซื้อสินค้านั้น ๆ จำนวนมาก และมีผู้ขายสินค้านั้น ๆ ทั้งตลาดมานำเสนอ มาเจอกันในงานแสดงสินค้า

 

สำหรับงานเวอร์ชวลเทรดแฟร์จะเข้ามาแก้ปัญหา และตอบโจทย์อสังหาฯ ในภาวะปัจจุบัน เพราะธุรกิจต้องการกระแสเงินสด เนื่องจากภายในงานสามารถสร้างยอดขายที่มีปริมาณจำนวนมากได้  โดยจะมีการรวรวมกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการที่แท้จริงเข้ามาชมงานไม่ต่ำกว่า 580,000 แสนคน ​​จากทั่วประเทศ ถือเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างกระแสเงินสดเข้ามาสู่บริษัทจากยอดขายในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ซึ่งจะช่วยทำให้ธุรกิจรอดพ้นวิกฤตเศรษฐกิจไปได้ ​นับว่าเป็นการลงทุนทำการตลาดที่คุ้มค่ามาก หากเปรียบเทียบกับการทำตลาดในรูปแบบอื่น

Home Fair

งาน “Virtual Property Expo 2021” ได้รวบรวมโครงการอสังหาฯ แบรนด์ชั้นนำทุกแบรนด์มารวมไว้ภายในงานเดียวกัน มีโครงการคุณภาพทั่วประเทศ พร้อมดีลที่ดีที่สุดภายในงานมากกว่า 300 โครงการ  ผู้เข้าชมงานสามารถใช้ระบบ Sale VDO Live Chat พูดคุยซื้อขายแบบเห็นหน้า (Real time) กับโครงการต่าง ๆ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจได้อีกด้วย ผ่านทาง www.propertyexpo.net ระหว่างวันที่ 14-17 ตุลาคม 2564 นี้

 

 

 

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด