Ryl Info City Plan 1200x628

ผังเมือง เรื่องใกล้ตัว

ผังเมือง เรื่องใกล้ตัว

ผังเมืองคืออะไร?

ผังเมือง คือ การกำหนดการใช้พื้นที่ให้เป็นระบบ เพื่อการวางแผนหรือพัฒนาเมืองให้เป็นไปตามกรอบการพัฒนาด้านกายภาพในระดับประเทศ ระดับภาค ระดับจังหวัด ระดับเมือง ระดับชนบท และพื้นที่เฉพาะควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเมือง บริเวณที่เกี่ยวข้อง หรือชนบทให้ดียิ่งขึ้น ทั้งในด้านสุขลักษณะ ความสะดวกสบาย ความเป็นระเบียบ ความสวยงาม การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง ความปลอดภัยของประชาชน สวัสดิภาพของสังคม การป้องกันภัยพิบัติ และการป้องกันความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงเพื่อการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเพื่อประโยชน์อื่นๆ ในการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสม

 

ปัจจุบันการกำหนดพื้นที่ต่าง ๆ ในผังเมืองจะยึดตาม พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นฉบับที่ได้มีการปรับปรุงเนื้อหาใหม่ให้มีความทันสมัยและเหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน  และยังช่วยให้มีการวางผังเมืองได้ทั้งระบบตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงระดับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการพัฒนาเมือง, การดำรงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, รักษาคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม และยังมีการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถวางผังได้เองด้วย

ประเภทของผังเมืองแบ่งออกเป็น 2 ระดับ 5 ประเภท ดังนี้

  1. ผังนโยบายการใช้ประโยชน์พื้นที่ซึ่งจะใช้เฉพาะกับหน่วยงานของรัฐ เป็นการกำหนดแนวทางการใช้ที่ดินต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศโดยนำมาจากยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
    • ผังนโยบายระดับประเทศ
    • ผังนโยบายระดับภาค
    • ผังนโยบายระดับจังหวัด
  2. ผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน จะใช้กับหน่วยงานของรัฐและประชาชน ซึ่งอาจจะมีขนาดพื้นที่เต็มทั้งจังหวัด พื้นที่ระดับเมืองหรือชุมชนที่มีข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินกำหนดไว้ให้ปฏิบัติตาม เช่น การกำหนดรายละเอียดของการใช้ที่ดินในระดับพื้นที่และจัดสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับการอยู่อาศัยอย่างปลอดภัย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
    • ผังเมืองรวม มีการกำหนดโซนของการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นสีต่างๆ
    • ผังเมืองเฉพาะ จะเป็นการเลือกพื้นที่พิเศษ และกำหนดจุดเด่นของเมืองเพื่อการออกแบบผังเมืองให้มีความเป็นอัตลักษณ์

 

โดยการวางผังเมืองต่างๆ จะมีผู้วางผัง 2 หน่วยงาน คือ “กรมโยธาธิการและผังเมือง” ซึ่งสามารถวางผังเมืองได้ทุกประเภท และ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” สามารถวางผังเมืองได้ 2 ประเภท คือ ผังเมืองรวม และผังเมืองเฉพาะที่อยู่ในเขตพื้นที่ของตนเอง แต่ละต้องสอดคล้องเชื่อมโยงกับผังแต่ละระดับนั้นด้วย เพื่อให้เป็นระบบและมีทิศทางเดียวกัน

 

ผังเมือง เรื่องใกล้ตัว

ผังเมือง เรื่องใกล้ตัว – โซนสี ต้องรู้ก่อนซื้อ ก่อนสร้าง

สีแดง – ย่านธุรกิจการค้าที่หนาแน่น

สีเหลือง – เขตที่อยู่อาศัย

สีส้ม – เขตที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง

สีม่วง – พื้นที่อุตสาหกรรมและคลังสินค้า

สีน้ำเงิน – ที่ตั้งหน่วยงานราชการ

สีเขียว – พื้นที่เกษตรกรรม

สีเขียวอ่อน – พื้นที่โล่งเพื่อการพักผ่อนและรักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

 

ผังเมือง เป็นเรื่องของประชาชน

ผังเมืองทั้ง 5 ประเภท ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ เมื่อจะมีการวางผังเมือง ผู้วางผังจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ และแจ้งข้อมูลของผังให้ดูเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน ก่อนที่จะจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำความเห็นเหล่านั้นมาประกอบการจัดทำผัง โดยขั้นตอนวางผังเมืองจะมีการปิดประกาศ 90 วัน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมายื่นคำร้องสงวนสิทธิ์ไว้ล่วงหน้าเป็นหนังสือตามระยะเวลาที่กำหนด เมื่อผ่านขั้นตอนต่างๆ แล้ว ผังเมืองทุกประเภทจะมีผลใช้บังคับเมื่องได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

 

โดยทั่วไปผังเมืองทุกประเภทจะไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการใช้บังคับ แต่ผังนโยบายระดับประเทศ ผังนโยบายระดับภาค และผังนโยบายระดับจังหวัด จะต้องมีการทบทวนผังทุกๆ 5 ปี หรือก่อน 5 ปีหากมีความจำเป็น ส่วนผังเมืองรวมต้องมีการประเมินผลภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ผังเมืองรวมใช้บังคับ หากผลของการทบทวนหรือประเมินผลเห็นว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง ผู้วางผังก็จะต้องจัดทำผังขึ้นใหม่ เพื่อใช้แทนผังเดิม

บทลงโทษหากทำผิดผังเมือง

เมื่อมีบทใช้บังคับแล้ว หากมีผู้กระทำผิดไม่ปฏิบัติตามผังเมืองรวม หรือผังเมืองเฉพาะ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีโทษปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 30,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง และถ้านิติบุคคลกระทำผิด ผู้สั่งการของนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษด้วย

 

 

ข้อมูลจาก : พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2562 ฉบับประชาชน

บทความน่าสนใจ

 

 

บทความ Infographic ล่าสุด