Real Estate Thai 1h21

อัพเดท ตลาดอสังหาฯ ไทยครึ่งปีแรก เปิดใหม่ลด18%สต็อกกว่า2.2แสนยูนิต

ถึงเวลานี้เราได้เดินทางมาเกินครึ่งปี 2564 แล้ว แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วลงไปเลย จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน รวมถึงผู้เสียชีวิตยังคงสูงอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงทำให้หลายธุรกิจยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวได้

 

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็เช่นเดียวกัน ผ่านมากว่าครึ่งปีแล้ว ธุรกิจยังคงได้รับผลกระทบไม่ต่างธุรกิจอื่น ๆ การเปิดตัวโครงการใหม่ลดน้อยลงจนแทบจะไม่มีให้เห็น ส่วนใหญ่ยังคงเน้นการระบายสต็อกสินค้าที่มีอยู่ในมือ และขายโครงการเก่าที่เปิดตัวไปก่อนหน้า โปรโมชั่นส่งเสริมการขายยังคงแนวทางหลักที่ดีเวลลอปเปอร์ใช้ เพื่อสร้างยอดขาย ในภาวะที่กำลังซื้อชะลอตัว

 

โดยบทสรุปของการเปิดตัวในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาเป็นอย่างไรนั้น  ทางบริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทวิจัยและพัฒนาในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) หรือ LPN ได้ทำบทสรุปออกมาให้เห็นถึงภาพรวมของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ​

Lpn Lumpini Ville Charan

ครึ่งปีแรกเยูนิตปิดใหม่ลดลง 18%

ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 มีที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวนทั้งหมด 23,551 ยูนิต ลดลง 18% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2563 คิดเป็นมูลค่า 130,051 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 จำนวนยูนิตการเปิดตัวลดลง แต่มูลค่าสูงขึ้นเนื่องจากมีการเปิดตัวโครงการ The Forestias  ซึ่งเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูงถึง 45,000 ล้านบาท ของบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในไตรมาสสองของปี 2564  ทำให้มูลค่าการเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์โดยรวมในครึ่งแรกของปี 2564 สูง เมื่อเทียบกับจำนวนยูนิตที่เปิดที่ลดลง

 

จากยูนิตเปิดตัวทั้งหมด 23,551 ยูนิต เป็นการเปิดตัวโครงการอาคารชุด (คอนโดมิเนียม) จำนวน 9,235 ยูนิต เพิ่มขึ้น 4% มูลค่า 55,616 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 มีอัตราขายได้เฉลี่ย 29% ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่าน เนื่องจากในปี 2563 มีการประกาศบังคับใช้มาตรการด้านสินเชื่อ Loan to Value:LTV เป็นครั้งแรกจึงเกิดแรงกดดันต่อการตัดสินใจซื้อ บวกกับความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถานบันการเงินที่เพิ่มมากขึ้น

 

ในขณะที่การเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2563 แต่ยังคงมีจำนวนยูนิตและมูลค่าที่มากกว่าอาคารชุด คิดเป็นสัดส่วน 61% ของยูนิตเปิดตัวทั้งหมด โดยมีการเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัยจำนวน 14,316 ยูนิต มูลค่า 74,435 ล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 หดตัว 28% และ 18% ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 แม้การเปิดตัวจะหดตัวลงแต่บ้านพักอาศัยยังมีอัตราขายได้เฉลี่ย 13% ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราขายได้ในปี 2563

 

โดยโครงการบ้านพักอาศัย ประเภททาวน์เฮ้าส์ เป็นรูปแบบบ้านที่ยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทำให้ต้องการพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้น คำนึงถึงระยะห่างทางสังคมกันมากขึ้น การมองหาที่อยู่อาศัยในราคาที่จับต้องได้อย่างทาวน์เฮ้าส์จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในช่วงเวลานี้ โดยมีการเปิดตัวโครงการทาวน์เฮ้าส์ใหม่เป็นจำนวน 8,568 ยูนิต มูลค่า 25,267 ล้านบาท หดตัว 35% และ 33% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563  มีอัตราขายได้เฉลี่ย 14%

 

ประเภทบ้านเดี่ยว มีจำนวนยูนิตเปิดตัวใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 จำนวน 2,984 ยูนิต มูลค่า 33,499 ล้านบาท หดตัว 31% และ 16% ตามลำดับ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีอัตราขายได้เฉลี่ย 11% ซึ่งสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563  เนื่องด้วยเป็นสินค้าที่มีราคาขายค่อนข้างสูง และสถานการณ์เศรษฐกิจอาจไม่ได้มีผลกระทบกับกลุ่มลูกค้าในระดับนี้มากนัก

 

ประเภทบ้านแฝด เป็นรูปแบบบ้านที่ได้รับความสนใจมากขึ้น มีอัตราขายได้เฉลี่ย 12% ด้วยรูปแบบบ้านที่ถูกพัฒนาให้ใกล้เคียงกับบ้านเดี่ยว บวกกับราคาขายเฉลี่ย 5-8 ล้านบาท จึงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น โดยในครึ่งปีแรกเปิดตัวใหม่เป็นจำนวน 2,764 ยูนิต มูลค่า 15,669 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% และ 26% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

Lpn Project

คอนโดต่ำกว่า 3 ล้านยังครองตลาด

จากการศึกษาพบว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 คอนโดในระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท (Affordable Price) มีส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 70% จากยูนิตที่ขายได้ของคอนโดทั้งหมด ซึ่งเป็นระดับราคาที่ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มหันมาเปิด​แบรนด์ใหม่หรือพัฒนาโครงการระดับราคานี้มากขึ้น ขณะที่ตลาดบ้านพักอาศัยอย่างทาวน์เฮ้าส์ บ้านแฝดมีแนวโน้มที่ระดับราคาขายทรงตัว จากสภาวะตลาดและสภาพเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวในปัจจุบัน แต่ระดับราคาของบ้านเดี่ยวมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น จากการพัฒนาโครงการมูลค่าสูงบนพื้นที่โครงการขนาดเล็กหรือขนาดกลาง โดยมีจำนวนยูนิตในโครงการไม่มากนัก ซึ่งกลุ่มลูกค้าระดับราคานี้เป็นผู้อยู่อาศัยจริง (Real Demand) ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจมากนัก

 

ในขณะที่ทำเลในเขตปริมณฑล รอบกรุงเทพฯ ​ อย่าง ทำเลรังสิต ปทุมธานี และบางนา สมุทรปราการ เป็นทำเลที่ถูกพัฒนาเป็นโครงการบ้านพักอาศัยจำนวนมาก เนื่องจากเป็นทำเลที่สามารถเดินทางได้สะดวกทั้งถนนสายหลัก ทางหลวงพิเศษหรือถนนวงแหวนรอบนอก ทำให้เดินทางเข้า-ออกสู่ใจกลางเมืองหรือศูนย์กลางธุรกิจได้ง่าย แม้กระทั่งการเดินทางไปยังจังหวัดใกล้เคียง พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกในทำเล รวมถึงปัจจัยด้านราคาที่ดินที่ยังสามารถพัฒนาโครงการเพื่อทำราคาขายไม่เกิน 5 ล้านบาทได้อยู่ แต่จากเหตุการณ์การระเบิดของโรงงานอุตสาหกรรมย่านกิ่งแก้วในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา อาจทำให้การตัดสินใจเลือกซื้อทำเลที่อยู่อาศัยใกล้กับพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างบางนานั้นยากขึ้น

ใช้เวลาระบายสต็อกกว่า 2 ปีจึงจะหมด

ผลจากสถานการณ์การเปิดตัวโครงการใหม่ที่หดตัวลง บวกกับอัตราการขายได้เฉลี่ยที่ลดลงในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 “ลุมพินี วิสดอม” คาดว่ายูนิตคงค้างในตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 มีแนวโน้มทรงตัวจากสิ้นปี 2563 โดยมีจำนวนทั้งหมดประมาณ 222,000 ยูนิต อาจต้องใช้เวลาในการขายประมาณ 51 เดือนเพื่อระบายยูนิตคงค้างทั้งหมด ซึ่งแบ่งออกเป็นยูนิตคงค้างประเภทคอนโดประมาณ 85,300 ยูนิต หดตัวลงจากสิ้นปีที่ผ่านมาประมาณ 6% จากการชะลอแผนและเลื่อนเปิดตัวโครงการใหม่อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2563

 

ในขณะที่ยูนิตคงค้างของบ้านพักอาศัยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 ประมาณ 4% เป็นจำนวนประมาณ 136,700 ยูนิต ผลจากการที่ผู้ประกอบการอสังหาฯ หันมาเน้นพัฒนาบ้านพักอาศัยมากกว่าคอนโด เพื่อตอบรับกับความต้องการที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่และมีความเป็นส่วนตัว(Privacy) มากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาด โควิด-19 และแนวโน้มที่ต้องทำงานที่บ้าน(Work from home) มากขึ้น

Lpn New Launch 1h21

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทด้านวิจัยและพัฒนาในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) หรือ LPN  เปิดเผยว่า การเปิดตัวโครงการใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในไตรมาสสองของปี 2564 ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ เลื่อนแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ ประกอบกับการที่ภาครัฐ ได้เริ่มมีการออกมาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการประเมินสถานการณ์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ยังคงมีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯ ในช่วงครึ่งปีหลัง อาทิ มาตรการปิดแคมป์ก่อสร้างในเดือนกรกฏาคม ที่ส่งผลกระทบต่อการก่อสร้าง ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถส่งมอบที่อยู่อาศัยได้ตามแผนที่วางไว้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยในเรื่องของราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะราคาเหล็ก ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น  นอกเหนือจากความสามารถในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่อาจจะยืดเยื้อจากไตรมาส 3 ไปจนถึงไตรมาส 4

 

ดังนั้น จำนวนยูนิตคงค้างที่อยู่ในตลาดจึงมีแนวโน้มคงที่ จากอัตราการระบายเฉลี่ยลดลง ผนวกกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งมีอัตราการว่างงานสูงแตะระดับ 2 ล้านกว่าคน ภาระหนี้ครัวเรือนแตะระดับ 90%  ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง แหล่งเงินทุนอย่างสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยโดยมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อ 40-50% ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อกำลังซื้อที่อยู่อาศัยในตลาด และการตัดสินใจเปิดตัวโครงการใหม่ของผู้ประกอบการอสังหาฯ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ด้วย

Volume Real Estate New Launch 1h21

บทสรุปตลาดปี 64 ตลาดหดตัวต่อ

สำหรับแนวโน้มตลาดอสังหาฯ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าช่วงครึ่งแรกของปี  เนื่องจากผู้ประกอบการอสังหาฯ มีแผนที่จะเปิดตัวโครงการใหม่  หลังจากที่เลื่อนการเปิดตัวโครงการใหม่หลายโครงการในช่วงครึ่งแรก  และหากรัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการ​ ทยอยเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงปลายไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ทำให้คาดว่าปีนี้ ​จะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประมาณ 52,000-60,000 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 265,000-300,000 ล้านบาท หรือหดตัวประมาณ 5% ถึงขยายตัว 8% ในปี 2564 เทียบกับปี 2563

 

แต่ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ภายในปี 2564 นี้ คาดว่าตลาดที่อยู่อาศัย ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีจำนวนยูนิตที่อยู่อาศัยที่เปิดตัวใหม่อยู่ที่ประมาณ 45,000-52,000 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 225,000-265,000 ล้านบาท หรือหดตัว 5% ถึง 20% ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันจากปี 2563

 

ถ้ารัฐบาลควบคุมการแพร่ระบาดได้ในไตรมาส 3 สามารถเร่งนำเข้าและฉีดวัคซีนได้ตามแผนที่วางไว้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ  ภาคการส่งออกและภาคการผลิต ยังคงสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐสามารถดำเนินการได้ตามแผน  อัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในอัตราต่ำ อาจทำให้สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด