Pruksa Ps

9 บทสรุป ผลประกอบการพฤกษา Q1/65 และทิศทางไปต่อ

ผลประกอบการพฤกษา

ผลประกอบการพฤกษา ไตรมาสแรก รายได้-ยอดขายลด เหตุเจอปัญหาแรงงาน และผลกระทบด้านซัพพลายเชน ส่งผลต้องเลื่อนเปิดโปรเจ็กต์ใหม่  แต่ยังรักษากำไรได้กว่า 639 ล้านบาท เติบโต 10% จาก Q1/64 พร้อมเดินหน้าตามแผนเปิดโปรเจ็กต์ทั้งปี 30 โครงการ เพื่อสร้างรายได้ 16,000 ล้าน

 

ตอนนี้หลายบริษัทในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ได้เริ่มรายงานผลประกอบการในไตรมาส 1 ปี 2565 ออกมากันบ้างแล้ว  หลายบริษัทก็สามารถสร้างผลประกอบการเติบโตได้ตามเป้าหมาย แต่ก็มีหลายบริษัทที่ยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ไม่สามารถสร้างผลงานให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

 

ล่าสุด นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม  บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้แถลงผลประกอบการในรอบไตรมาสแรกของปีนี้ พร้อมกับทิศทางการดำเนินธุรกิจในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งมี 9 บทสรุป ผลประกอบการพฤกษา ที่น่าสนใจดังนี้

9 บทสรุป ผลประกอบการพฤกษา Q1/65 และทิศทางไปต่อ

1.รายได้-ยอดขายลด แต่กำไรโต

ในไตรมาสแรกพฤกษามียอดขายอสังหาฯ  รวม 5,344 ล้านบาท ลดลง 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สามารถทำยอดขายได้ 6,940 ล้านบาท โดยยอดขายลดลงเหตุผลหลักมาจากการเลื่อนเปิดตัวโครงการใหม่

 

โดยในไตรมาสแรกยอดขายดังกล่าว แบ่งออกเป็น กลุ่มทาวน์เฮ้าส 2,801 ล้านบาท ลดลง 26% กลุ่มบ้านเดี่ยว 1,705 ล้านบาท ลดลง 4.2% และกลุ่มคอนโดมิเนียม 838 ล้านบาท ลดลง 39.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

ส่วนรายได้จากการขายอสังหาฯ ในไตรมาสแรกมีจำนวน 5,679  ล้านบาท ลดลง 17.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีมูลค่า 7,051 ล้านบาท ซึ่งเหตุผลหลักมาจากการก่อสร้างและส่งมอบบ้านล่าช้า เพราะปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงาน

 

รายได้ทั้งหมดในไตรมาสแรก แบ่งเป็น รายได้จากกลุ่มทาวน์เฮ้าส 2,461 ล้านบาท ลดลง 28.9% กลุ่มบ้านเดี่ยว 1,143 ล้านบาท ลดลง 28.6% กลุ่มคอนโด 1,432 ล้านบาท ลดลง 21.6% และมีรายได้จากการขายที่ดินเปล่า 643 ล้านบาท

 

ส่วนอัตรากำไร ของ ผลประกอบการพฤกษา ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีกำไรสุทธิในธุรกิจอสังหาฯ 639 ล้านบาท เติบโต 10%  จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีกำไร 582 แต่ยังถือว่าลดลงจากช่วงไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีกำไรสุทธิ 1,137 ล้านบาท หรือลดลง 43.8% ในขณะที่กำไรสุทธิของพฤกษา โฮลดิ้ง (รวมธุรกิจอสังหาฯ และธุรกิจเฮลแคร์)  อยู่ที่ 552 ล้านบาท ลดลง 8.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีกำไร 606 ล้านบาท

ผลประกอบการพฤกษา

ไตรมาสแรกรายได้ต่ำกว่าที่คาด เป็นเพราะ ดีเลย์การเปิดโครงการและซัพพลายเชนถูกดิสรับ ทำให้การก่อสร้างล่าช้ากว่าที่คาดไว้  และเรามาโฟกัสที่กำไรมากขึ้น ไม่เน้นด้านยอดขายและรายได้

2.ตุน Backlog​ กว่า 20,200 ล้าน

ปัจจุบัน พฤกษา มียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog)  ที่ 20,200 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้รายได้ระหว่างปี 2565-2568  แบ่งเป็นยอดรับรู้รายได้ในปี 2565 ที่ 18,700 ล้านบาท และจะมีโครงการแนวสูงที่สร้างเสร็จพร้อมทยอยโอนในปีนี้อีก  7 โครงการรวมมูลค่า 15,200 ล้านบาท ได้แก่ แซปเตอร์ เจริญนคร-ริเวอร์ไซด์,​ เดอะ รีเซิร์ฟ สุขุมวิท 61, พลัม คอนโด สุขุมวิท 61, พลัม คอนโด พระราม 2, เดอะ ไพรเวซี่ จตุจักร และเซปเตอร์ จุฬา-สามย่าน

 

สำหรับยอดขายรอรับรู้รายได้ทั้งหมด แบ่งเป็นกลุ่มทาวน์เฮ้าส์ 23,000 ล้านบาท รับรู้รายได้ในปีนี้ทั้งหมด กลุ่มบ้านเดี่ยวมียอดขายรอรับรู้รายได้ 16,000 ล้านบาท รับรู้ในปีนี้ทั้งหมด  และกลุ่มคอนโดมียอดรอรับรู้รายได้ 16,300 ล้านบาท รับรู้ในปีนี้ 14,800 ล้านบาท

3.กวาดยอดขายออนไลน์กว่า 5,344 ล้าน

กลยุทธ์ Digital Marketing ที่มีการใช้ Consumer Insight และเทรนด์ตลาดเข้ามาช่วยในการจัดทำแคมเปญทางการตลาด ส่งผลให้พฤกษา มียอดขายผ่านช่องทางออนไลน์จำนวน 1,803 ยูนิต มูลค่ากว่า 5,344 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนยอดขายจากออนไลน์ 86.7%

Ps Pruksa Q165 4

4.ปั้นโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส อสังหาฯ -สุขภาพ

พฤกษา มีการใช้กลยุทธ์การผสมผสานกันระหว่างธุรกิจอสังหาฯ และธุรกิจสุขภาพเข้าด้วยกัน โดยผ่านการออกแบบบ้านตามหลักการ Universal Design เพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุ อาทิ ห้องผู้สูงอายุ พื้นไม่มีสเต็ป  เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ​ยังมีแผนพัฒนาอสังหาฯ แบบ Mixed Use ที่จะผสานบริการด้านสุขภาพไว้ในโครงการเดียวกัน ซึ่งเป็นการร่วมมือกับโรงพยาบาลวิมุต  ซึ่งกำลังจะเปิดให้บริการศูนย์สุขภาพแห่งแรกในชุมชนพฤกษา ขนาด 50 เตียง ตั้งอยู่ด้านหน้าโครงการพฤกษา อเวนิว บางนา-วงแหวน  ในเดือนสิงหาคมนี้

 

ขณะเดียวกันได้มีการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ โดยโรงพยาบาลวิมุตร่วมกับ JAS ASSET ก่อตั้งบริษัท Senera Vimut Health Service ทำโครงการ SENERA Senior Wellness บริเวณถนนคู้บอน เป็นศูนย์เมดิคอล ขนาด 5,713 ตร.ม. 4 ชั้น ขนาด 78 เตียง มีแผนเปิดให้บริการในเดือนธันวาคมนี้ด้วย  นอกจากนี้ พฤกษายังมองหาพันธมิตรใหม่ ๆ เพื่อเข้ามาบริการเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่ต้องการดูแลด้านสุขภาพ

5.เดินหน้าสานต่อกลยุทธ์ Corporate Ventures

พฤกษา ยังมีกลยุทธ์ที่สำคัญ คือ Corporate Ventures ที่มุ่งเน้นการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง  ๆ เพื่อมาเสริมการบริหารธุรกิจ สร้างการเติบโต และผลตอบแทนทางการเงินให้กับพฤกษา โดยร่วมทุนกับบริษัทที่มีเทคโนโลยีด้านพร็อพเทค เฮลท์เทค  และ อีคอมเมิร์ซ  ทั้งในไทย มาเลเซีย ออสเตรเลีย และสิงคโปร์  โดยเป็นกลุ่มธุรกิจประเภทนวัตกรรมด้านการพัฒนาความยั่งยืน (ESG Innovation) ระบบความปลอดภัยในโลกดิจิตอล (Digital Securities) และ เฮลท์เทค พร๊อพเทค  ที่รองรับกระแสเทรนด์ที่อยู่อาศัยและการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

Ps Pruksa Q165 3

6.ยึดเป้าเดิมเปิด 30 โปรเจ็กต์​

แม้ว่าไตรมาสแรกของพฤกษา จะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ไปเพียง 2 โครงการ มูลค่า รวม 1,119 ล้านบาท เป็นโครงการทาวน์โฮม 1 โครงการ และคอนโด 1 โครงรการ รวมประมาณ 500 ยูนิต ซึ่งน้อยกว่าที่วางเป้าหมายไว้ แต่ พฤกษามั่นใจว่าในช่วงเวลาที่เหลือจะเปิดได้ตามแผนที่วางไว้  โดยแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ในปีนี้ พฤกษา ยังคงวางแผนเปิดตัว 30 โครงการ รวมมูลค่า 16,000 ล้านบาท เพื่อสร้างรายได้ 33,000 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดตัวมากในช่วงครึ่งปีหลัง

 

ส่วนไตรมาส 2  พฤกษา มีแผนเปิดโครงการใหม่อีก 9 โครงการ รวมมูลค่า 5,900 ล้านบาท  แบ่งเป็นทาวน์เฮาส์ 8 โครงการ จำนวน 2,300 ยูนิต มูลค่า 5,200 ล้านบาท ภายใต้แบรนด์บ้านพฤกษา เดอะ คอนเนค และพฤกษาวิลล์ ในโซจ บางนา สุวรรณภูมิ ศรีนรินทร์ พระราม 2 รังสิต และเทพารักษ์  และบ้านเดี่ยว 1 โครงการ  จำนวน 100 ยูนิต มูลค่า 700 ล้านบาท ภายใต้แบรนด์ภัสสร โดยจะเปิดในโซนรามอินทรา

7.ตุนที่ดิน 15,000 ล้าน

นอกจากแผนการเปิดตัวโครงการในปีนี้ ที่พฤกษา มั่นใจว่าจะเป็นไปตามแผนแล้ว ปัจจุบัน พฤกษา ยังมีโครงการที่เปิดการขายอยู่ถึง 140 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 80,000 ล้านบาท ที่จะช่วยทำให้ยอดขายและรายได้ในปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายด้วย

 

นอกจากนี้ พฤกษา ยังมีที่ดินสะสมอยู่อีกจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าถึง 15,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาโครงการได้มูลค่า 80,000 ล้านบาท ที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับพฤกษาได้อย่างต่อเนื่องนับจากนี้ด้วย

8.ยืนราคาบ้าน-คอนโด ถึงสิ้นปี

ต้องยอมรับว่าในปัจจุบัน ต้นทุนด้านราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น  รวมถึงต้นทุนอื่น ๆ อาทิ เงินเฟ้อ ส่งผลให้ราคาวัสดุก่อสร้างมีการปรับตัวขึ้นสูง และส่งผลต่อกำลังซื้อของลูกค้าที่ลดลง โดยเฉพาะต้นทุนเหล็กและปูนซีเมนต์ ซึ่งส่งผลต่อค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นแล้ว 2-3% แต่พฤกษายังคงขายบ้านในราคาต้นทุนเดิม เนื่องจากมีการซื้อล่วงหน้าในวัสดุก่อสร้างหลายรายการจนถึงสิ้นปีนี้  โดยเฉพาะในการก่อสร้างคอนโด ทำให้ยังไม่มีการปรับราคาบ้านและคอนโดในปีนี้

 

ในขณะเดียวกันพฤกษาเองก็มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความรวดเร็วและช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น การนำ Value Engineering หรือ วิศวกรรมคุณค่ามาใช้ ด้วยการนำวัสดุทดแทนที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับวัสดุเดิมมาใช้ เป็นการช่วยลดการใช้ซีเมนต์ที่ไม่จำเป็นไปได้มากกว่า 15,000 ตัน

 

นอกจากนั้นยังมีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ระบบจัดซื้อจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาระบบ Streamline ช่วยลดชั่วโมงการทำงานไปได้ มากกว่า 10,400 ชั่วโมง และสุดท้ายใช้การบริหารจัดการต้นทุน (Cost Management) เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถประหยัดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้มากกว่า 460 ล้านบาท หรือ 1.4% ของรายได้

Ps Pruksa Q165 1

9.รพ.วิมุตรายได้โต 59%

โรงพยาบาลวิมุต ซึ่งเป็นการลงทุนของพฤกษา โฮลดิ้ง ในไตรมาสแรกมีรายได้ 244 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% จากไตรมาส 4 ปี 2564 และจากการปรับโครงสร้างการบริหารองค์กรและการบริหารจัดการใหม่ของโรงพยาบาลเทพธารินทร์ ทำให้ธุรกิจด้านสุขภาพได้ส่วนแบ่งกำไร จากผลประกอบการโรงพยาบาลเทพธารินทร์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องด้วย

 

สำหรับแผนธุรกิจในไตรมาส 2 คาดว่ารายได้หลักจะมาจากการดำเนินงานเต็มรูปแบบของบริการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลและบริการศูนย์ฟื้นฟูดูแลสุขภาพครอบครัวและผู้สูงอายุ (ViMut Wellness Services) ซึ่งจะพัฒนาไปพร้อมกับโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ของพฤกษาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

 ความต้องการที่อยู่อาศัยจริงยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มบ้านเดี่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มเรียลดีมานด์ที่เติบโตจากผลกระทบโควิดที่ทำให้คนอยากอยู่บ้านมากขึ้น แม้สภาพเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะซบเซาและมีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนก็ตาม

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-พฤกษา เตรียมงบลงทุน 10,000 ล้านปี 65 พร้อมขยายธุรกิจ “พร็อพเทค-เฮลท์เทค” ​

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด