ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ แนะตลาดบ้าน-คอนโด ต้องต้องเฝ้าระวัง  5 เรื่องนี้

ติดต่อโครงการ


Reic

ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ แนะตลาดบ้าน-คอนโด ต้องต้องเฝ้าระวัง  5 เรื่องนี้

ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ

ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ วิเคราะห์ตลาด 65 มีทั้งปัจจัยบวก-ปัจจัยลบ แนะ 5 เรื่องที่ต้องเฝ้าระวัง เหตุธุรกิจยังต้องเผชิญผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อค่าครองชีพ  เงินเฟ้อพุ่ง ส่งผลความสามารถในการซื้อ การลงทุนในอสังหาฯ ​

 

แม้ว่าตอนนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะมีทิศทางที่ดีขึ้น จนจะมีการนำร่องให้ประชาชนใน 31 จังหวัด ไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่โล่งแจ้ง ยกเว้นบุคคลใน 3 กลุ่มที่จะยังต้องสวมหน้ากากอนามัย คือ กลุ่มผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่อยู่ในสถานที่ปิดอากาศไม่ถ่ายเท และเมื่อเข้าร่วมกิจกรรมคนจำนวนมาก

 

แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในภาพรวม โดยเฉพาะด้านภาวะเศรษฐกิจ ก็ยังไม่ได้กลับมาฟื้นตัวเป็นปกติ เหมือนก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาด ปัจจุบันกำลังซื้อของคนส่วนใหญ่ยังคงชะลอตัว  ทำให้หลายธุรกิจจะต้องทำการตลาด ด้วยแคมเปญการส่งเสริมการขาย และโปรโมชั่น เพื่อกระตุ้นยอดขายให้กลับ​มามากขึ้น

 

ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  ก็ไม่ต่างจากหลายธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ แต่ปี 2565 นี้มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น เห็นได้จากความมั่นใจของผู้ประกอบการ ที่ประกาศแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโครงการคอนโดมิเนียม ที่เคยหยุดหรือชะลอแผนการเปิดตัวไว้ ก็กลับมาเปิดตัวกันมากขึ้นกว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

 

การเติบโตของธุรกิจอสังหาฯ ในปีนี้ คงมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ ที่เข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างความสำเร็จให้กกับผู้ประกอบการ ​ซึ่งมีอะไรบ้างนั้น ล่าสุด ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) หรือ ​REIC ได้ทำรายงาน  ดัชนีรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ (หมวดที่อยู่อาศัย) ที่ใช้ข้อมูลในด้านอุปสงค์และอุปทานในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล เพื่อประเมินความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ พร้อมกับฉายภาพ สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ​ – ปริมณฑล ในไตรมาส 1/2565 และแนวโน้มของภาพรวมตลาดอสังหาฯ ในช่วงปี 2565 นี้ ว่าจะเป็นไปในทิศทางใดบ้าง

Riec Vichai 2

ดร.วัยชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ​เปิดเผยว่า เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 1 ปี 2565 ภาคธุรกิจอสังหาฯ ยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีผลต่อค่าครองชีพ และเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการซื้อหรือลงทุนในอสังหาฯ  ขณะเดียวกัน ยังพบความเคลื่อนไหวของภาวะตลาด ทั้งด้านซัพพลายและดีมานด์ ที่น่าสนใจในหลายประเด็น โดยสรุปได้ดังนี้

สรุปภาพรวมสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย กรุงเทพฯและปริมณฑล ไตรมาส 1 ปี 2565

ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนย่อตัว 27.1%

จำนวนยูนิตที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียน ระหว่าง ม.ค. – มี.ค. 2565 แต่ละเดือนยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาพรวมไตรมาส 1/2565 ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนมีการย่อตัวลง 27.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยอาคารชุด (คอนโดมิเนียม) มียูนิตสร้างเสร็จจดทะเบียน ลดลง 33.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งอาจจะภาพสะท้อนถึงจำนวนยูนิตที่เปิดใหม่น้อยลงอย่างมากในปีที่ผ่านมา

 

คาดการณ์ว่า จำนวนยูนิตที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียน จะทยอยเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2-4 ซึ่งจะมีอัตราการขยายตัวสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และภาพรวมทั้งปี 2565 จำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียน จะขยายตัวประมาณ 22.1 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

 

จากตัวเลขจำนวนยูนิตที่ได้รับใบอนุญาตจัดสรร และที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียน ที่ลดลงในไตรมาส 1/2565 แต่มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในไตรมาส 2- 4 สะท้อนให้เห็นว่า การเกิดขึ้นของซัพพลายใหม่จะเกิดขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของกำลังซื้อที่จะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง และรองรับความต้องการโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงปลายปีนี้​ เพื่อได้รับส่วนลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และค่าจดจำนอง ซึ่งจะหมดเวลาในปลายปี 2565 นี้

Q1/65 เปิดตัวใหม่สูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนโควิด-19

Reic New Launch

-ระหว่างเดือน ม.ค.- มี.ค. 2565 ในแต่ละเดือนมีการเปิดตัวใหม่ ประมาณ 9,000 – 12,500 ยูนิตต่อเดือน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งมีการเปิดตัวเฉลี่ย 8,300 ยูนิต​ต่อเดือน

 

-ภาพรวมในไตรมาส 1/2565 มีการเปิดตัวใหม่ 31,477 ยูนิต มูลค่า 117,384 ล้านบาท​ มีการขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 227.5% และ 161.7% ตามลำดับ

 

-จำนวนยูนิตที่เปิดตัวใหม่ในไตรมาส 12565 ส่วนมากเป็นอาคารชุดถึง 20,536 ยูนิต ขยายตัว 421.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

-คาดว่ายูนิตเปิดตัวใหม่จะย่อตัวลงในไตรมาส 2/2565 อย่างชัดเจน เนื่องจากมีการเปิดตัวมากในไตรมาส ​1/2565 แต่จะมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในไตรมาสที่ 3 และ 4 เพื่อรองรับการฟื้นตัวของกำลังซื้อที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในครึ่งปีหลัง

 

-คาดว่าภาพรวมทั้งปี 2565 จะมีการขยายตัวของยูนิตเปิดตัวใหม่เป็น 79,501 ยูนิต เพิ่มขึ้น 54.3% และมีมูลค่า 413.022 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 88.6% โดยคอนโดจำนวนขยายตัวเพิ่มขึ้น 96.8% มากกว่าบ้านแนวราบที่เพิ่มขึ้น 51.0%

 

-ที่อยู่อาศัยที่เปิดตัวใหม่ แบ่งเป็น คอนโด​ 65.2% ทาวเฮ้าส์ ​19.7%  บ้านเดี่ยว ​ 8.8% บ้านแฝด  5.4% และ อาคารพาณิชย์ ​0.8%

 

-ทำเลของยูนิตบ้านแนวราบที่เปิดตัวใหม่มาก 5 พื้นที่ ตามลำดับ คือ บางพลี คลองหลวง บางบัวทอง บางบ่อ และบางเสาธง

 

-ทำเลของยูนิตคอนโดที่เปิดตัวใหม่มาก 5 พื้นที่ ตามลำดับ คือ บางนา ห้วยขวาง บางซื่อ จตุจักร และ เมืองปทุมธานี

 

-โดยภาพรวมที่อยู่อาศัย สัดส่วนการเปิดตัวตามระดับราคา มีดังนี้  ระดับราคา 3 – 5 ล้านบาท สัดส่วน 26.0%, 2 – 3 ล้านบาท สัดส่วน 22.4% ระดับราคา 1 – 1.5 ล้านบาท สัดส่วน19.6%

-บ้านแนวราบ มีการเปิดตัวตามระดับราคา ดังนี้ ระดับราคา 3 – 5 ล้านบาท สัดส่วน 36.0% ระดับราคา 2 – 3 ล้านบาท สัดส่วน 20.9% ระดับราคา​ 5 -7.5 ล้านบาท สัดส่วน 15.7%

 

-คอนโด มีการเปิดตัวตามระดับราคา ดังนี้ ระดับราคา 1 – 1.5 ล้านบาท สัดส่วน 29.5% ระดับราคา 2 – 3 ล้านบาท สัดส่วน 23.2% ระดับราคา 3 – 5 ล้านบาท สัดส่วน 20.6%

โอนกรรมสิทธิ์ไตรมาสแรก ลดลง 4.8%

Reic Sale

-จำนวนยูนิตโอนกรรมสิทธิ์ ระหว่าง ม.ค. – มี.ค. 2565 แต่ละเดือนต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยภาพรวมไตรมาส 1/2565 มีจำนวนยูนิตโอนกรรมสิทธิ์ 31,477 ยูนิต ลดลง​ 4.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของไวรัส และสงครามรัสเซียและยูเครน ซึ่งทำให้เกิดภาวะน้ำมันแพงขึ้นและค่าครองชีพสูงขึ้น ส่วนมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ ระหว่าง ม.ค. – มี.ค. 2565 มีลักษณะเช่นเดียวกับยูนิตโอนกรรมสิทธิ์

 

-แต่คาดภาพรวมทั้งปีจะมีการขยายตัวของยูนิตโอนกรรมสิทธิ์ 2.0% โดยยูนิตการโอนกรรมสิทธิ์จะมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 2 – 4 โดยเฉพาะไตรมาส 4 จะมีการเร่งตัวของการโอนกรรมสิทธิ์เนื่องจากจะสิ้นสุดมาตการกระตุ้นฯ

 

-จำนวนยูนิตที่มีการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด สัดส่วน 23.4% คือ คอนโดในระดับราคา 2 – 3 ล้านบาท รองลงมาคือ ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท สัดส่วน 19.4% และราคา 3 – 5 ล้านบาท สัดส่วน 18.1%

 

-แต่ในภาพรวมแล้ว ที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท มีการโอนกรรมสิทธิ์มากสุดถึง 66.7% ซึ่งเป็นระดับราคาที่สอดคล้องกับกำลังซื้อส่วนใหญ่ และเป็นระดับราคาที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ

 

-ขณะที่มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์กระจุกตัวอยู่ที่บ้านระดับราคา เกินกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ถึง 68.7% ซึ่งพบว่า ระดับราคา มากกว่า 10 ล้านบาท มีสัดส่วนมากที่สุดถึง 27.0%  รองลงมา คือ 3- 5 ล้านบาท สัดส่วน 20.7% และราคา 2 – 3 ล้านบาท สัดส่วน​ 17.3%

 

-สัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ของที่อยู่อาศัยมือสองมีการเพิ่มขึ้นเป็น 49.5% จาก 39.2% ในไตรมาส 4/2564 และมีสัดส่วนมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นเป็น 33.4% จาก 27.3% โดยเพิ่มขึ้นในทุกระดับราคา แต่มีสัดส่วนที่สูงกว่า 50%ในระดับราคาไม่เกิน 2.0 ล้านบาท ขณะที่ที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท มีสัดส่วนมากกว่า 80%

ภาพของตลาดเช่นนี้สะท้อนว่า ตลาดที่อยู่อาศัยมือสอง เป็นตลาดที่มีการขยายตัวจากผลของมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ เช่นกัน

Reic Inventoryปรากฏการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2565

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดอสังหาฯ จะกลับมาคึกคัก จากการเปิดตัวใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการหันมาทำการตลาด และการส่งเสริมการขายกันมากขึ้น สร้างบรรยากาศการซื้อขายอสังหาฯ ให้กลับมามีสภาพใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิดแพร่ระบาด แต่ ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ มองว่ายังคงต้องมีหลายเรื่องที่เราจะต้องเฝ้าระวัง จับตามอง รวมถึง ต้องมาดูสภาพความเป็นจริงกันว่า จะมีปัจจัยบวก ปัจจัยลบอะไรบ้าง ที่จะมาส่งผลต่อตลาดอสังหาฯ ในปีนี้

 

สำหรับสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2565 ศูนย์ข้อมูลฯ มองว่ามี 5 เรื่องสำคัญ ดังนี้

1.การเปิดตัวโครงการใหม่ ๆ ทั้งบ้านแนวราบและคอนโด​จะเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2564 โดยคอนโดมีสัดส่วนที่สูง เนื่องจากมี Stock ที่ลดลง และราคาที่ดินแพงขึ้น

 

2.บ้านแนวราบยังคงได้รับการตอบรับจากผู้ซื้อบ้านมาก แต่ประเภททาวเฮ้าส์จะยังคงมีซัพพลายคงเหลือในตลาดมาก

 

3.คอนโดเริ่มฟื้นตัว จากผู้ที่ต้องการซื้อเพื่อการอยู่อาศัยและการซื้อเพื่อการลงทุนมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นการลงทุนใน 2 กลุ่มเป็นหลัก คือ กลุ่มไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และ กลุ่มลักชัวรี่

 

4.โครงการที่อยู่อาศัยที่เกิดขึ้นใหม่อาจปรับลดโปรโมชั่นส่วนลดและของแถมลงบ้างเพื่อรักษาราคาประกาศขายให้อยู่ใกล้เคียงกับโครงการในปัจจุบัน

 

5.บ้านมือสองที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากค่าธรรมเนียม และมีราคาและทำเลที่สอดคล้องกับความสามารถของกลุ่มผู้ซื้อกลุ่มรายได้น้อย/ปานกลาง คาดว่าการโอนกรรมสิทธิ์บ้านมือสองจะมีการขยายตัวต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยเฉพาะบ้านราคาต่ำ ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจบ้านมือสอง

6 ปัจจัยบวกในปี 2565

สำหรับปัจจัยบวกที่จะเข้ามาหนุนให้ตลาดอสังหาฯ เติบโต หรือฟื้นตัวมาจากช่วงก่อนหน้านั้น ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ มองว่ามี 6 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้

1.มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐ (ลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองเหลือประเภทละ 0.01 % รวมถึง ขยายไปสู่บ้านมือสองด้วย) ยังคงมีผลถึงสิ้นปี 2565

 

2.มาตรการผ่อนปรน LTV ของ ธปท. จะช่วยให้มีการซื้อบ้านสัญญาที่ 2 และ 3 เพื่อการอยู่อาศัยและเพื่อการลงทุนมีโอกาสขยายตัวมากขึ้น

 

3.สภาพคล่องของธนาคารมีมากพอสำหรับสินเชื่อปล่อยใหม่ และเริ่มมีการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น

 

4.ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศที่ค่อย ๆ พื้นตัวจากมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ และการเปิดประเทศ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากภาคธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยว

 

5.กลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก ฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2564 ทำให้

เกิดกำลังซื้อใหม่ๆ

 

6.ผู้ประกอบการยังคงมีการออกโปรโมชั่น การลดราคาขาย การให้ของแถมต่าง ๆ ต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างกลุ่มลูกค้าที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุน

7 ปัจจัยเสี่ยงฉุดตลาดอสังหาฯ ปี 65

ถึงแม้ว่าปีนี้จะมีหลายปัจจัยบวก  แต่ด้านปัจจัยลบก็ยังคงมีอยู่เช่นกัน โดย ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ มองว่าจะมี 7 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังในการทำธุรกิจอสังหาฯ ปีนี้ คือ

 

1.อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

 

2.การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงมีผลในการฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ แม้ว่าความรุนแรงจะลดลง

 

3.สภาวะการจ้างงาน และการมีรายได้ของประชาชน ในภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ ยังคงอยู่ในภาวะการฟื้นตัวช้า

 

4.ภาวะหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับที่สูงถึงประมาณ 90% ของ GDP ทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางในกลุ่มอาชีพอิสระ จะเข้าถึงสินเชื่อได้ยากเช่นเดียวช่วงปีที่ผ่านมา

 

5.ภาวะการเพิ่มขึ้นของ NPL ของสถาบันการเงิน อาจจะส่งผลให้สถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อต่อไป

 

6.ต้นทุนค่าก่อสร้างแพงขึ้น ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยโครงการใหม่ อาจมีการปรับราคาขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง

 

7.กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เป็นกำลังซื้ออาคารชุด ยังคงเข้ามาในประเทศน้อย จากผลกระทบของโควิด-19 และสงครามยูเครนและรัสเซีย ทำให้ความต้องการซื้ออาคารชุดภาพรวมฟื้นตัวช้า

5 สิ่งที่ต้องระมัดระวังในปี 65

นอกจากปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องนำมาใช้เป็นปัจจัยพิจารณาในการทำธุรกิจแล้ว ยังมีเรื่องสำคัญที่ต้องเฝ้าระมัดระวังอีก 5 เรื่องด้วย ที่ ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ แนะนำไว้มีดังนี้

1.ภาวะสงครามรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และภาวะค่าครองชีพของประชาชน

 

2.การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น และส่งผลต่อความต้องการซื้ออสังหาฯ ได้

 

3.บ้านมือสองอาจจะเป็นสินค้าทดแทนบ้านใหม่ ผู้ประกอบการบ้านใหม่ต้องให้ความสนใจศึกษาก่อนการพัฒนา

 

4.ราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้น การขาดแคลนแรงงาน อาจส่งผลให้การก่อสร้างล่าช้า และอาจทำให้แผนการส่งมอบล่าช้า ซึ่งอาจจะส่งผลต่อปริมาณการโอนกรรมสิทธิ์ และการระบาย backlog ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์

 

5.จากภาวะค่าคองชีพที่สูงขึ้น ขณะที่การฟื้นตัวรายได้ช้า หากมีการเกิด NPL เพิ่มขึ้น สถาบันการเงินอาจจะมีนโยบายสินเชื่อที่เข้มงวดต่ออีกในปี 2565 จะส่งผลต่อกลุ่มผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่มีความไม่แข็งแรงไม่สามารถขอสินเชื่อได้ แต่สถาบันการเงินอาจจะขยายสินเชื่อ Refinance เพิ่มขึ้นแทน​

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-ตลาดอสังหาฯ 6 เดือนแรกยังชะลอตัว โค้งท้าย 64 ยังลดต่อรออีก 4 ปีฟื้นตัวปกติ​

-REIC คาดตลาดอสังหาฯ ปี 64 แย่สุดทั่วประเทศติดลบ 20%

บทความ Other ล่าสุด