Sena Zeh

เสนาฯ เปิดโมเดล​ บ้านพลังงานเป็นศูนย์ เดินหน้าสู่บริษัท ด้านความยั่งยืน

เสนาฯ เปิดโมเดล​ บ้านพลังงานเป็นศูนย์ เดินหน้าสู่บริษัท ด้านความยั่งยืน ดึง 2 โปรเจ็กต์นำร่อง พร้อมจับมือ ศูนย์บริการวิชาการจุฬาฯ สร้างต้นแบบก่อนใช้จริง อ้อนแบงก์หนุนลดดอกเบี้ย0.5-1% ให้ผู้ซื้อ

 

ถ้าย้อยไปในปี 2558 การนำเอาแผงโซลาร์เซลล์มาติดตั้งตามบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เนื่องจากยังมีราคาสูง ประกอบกับ คนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่บ้านในช่วงกลางวัน แต่สำหรับบริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กลับมองว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเรือน เป็นเทรนด์ที่กำลังมา จากกระแสการรักษ์โลก การประหยัดพลังงาน ตามภาวะวิกฤตพลังงาน รวมถึงการลดภาวะโลกร้อน จึงได้เริ่มต้นนำ Solar Rooftop มาติดตั้งในโครงการของบริษัทเป็นรายแรก และบ้านทุกหลังของโครงการจนมาถึงปัจจุบัน ได้ขยายการติดตั้งครบสินค้าทุกประเภท​

 

มาในปี 2565 เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ เดินหน้าต่อกับก้าวสู่ความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ จึงได้เตรียมความพร้อม กับการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ Sustainable Development และ Net Zero Emission ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรญี่ปุ่น อย่างฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพรอ์ตี้ คอร์ป ร่วมกันพัฒนา บ้านพลังงานเป็นศูนย์ หรือ Zero Energy House (ZEH)

 

เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานกลางในเรื่องนี้ เสนา ดีเวลลอปเม้นท์​ จึงได้นำแนวคิด Zero Energy House (ZEH) จากญี่ปุ่น ที่เป็นกรณีศึกษาจริงจากพันธมิตรทางธุรกิจ มาเป็นต้นแบบของการพัฒนาและประยุกต์ใช้ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนไทย

Sena Zeh 1

บ้านพลังงานเป็นศูนย์ คืออะไร?

ตามคำนิยาม Zero Energy House ของประเทศญี่ปุ่น  จะหมายถึง ​บ้านที่มีการใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวันในรอบ 1 ปี ได้ใกล้ หรือน้อยกว่าศูนย์ ด้วยการประหยัดพลังงานให้มากที่สุด ในการอยู่อาศัยภายใต้สภาพวะแวดล้อมที่ยังสะดวกสบาย โดยหลักการ คือ ใช้พลังงานไม่มาก เพื่อการควบคุมอุณหภูมิภายในบ้าน ในแต่ละฤดูให้เหมาะสมจากการออกแบบ (Passive Design) และใช้พลังงานอย่างมีระสิทธิภาพมากขึ้น (Efficiency) รวมถึงมีระบบผลิตพลังงานใช้เองจากพลังานหมุนเวียน (Renewable energy)

Sena Zeh 33

นางสาว ยูคาโกะ มาสึโอะ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายธุรกิจบ้านจัดสรร บริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป  อธิบายว่า หลักการบ้านพลังานเป็นศูนย์ คือการลดใช้พลังงาน โดยเกณฑ์พื้นฐานที่เรียกว่า ค่า Ua Value (ค่าการถ่ายเทความร้อนภายใน) เป็นค่าที่ถูกกำหนดในแต่ละเมืองให้มีการลดพลังงานที่ไม่ใช้ Renewable energy อย่างน้อย 20% ในทุกระดับ

เกณฑ์การวัด บ้านพลังงานเป็นศูนย์

ปัจจุบันการพัฒนาอาคารให้เป็น Zero Energy House 100% นั้น ยังคงทำได้ยาก เนื่องจากมีเรื่องต้นทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง ทางรัฐบาลญี่ปุ่น จึงมีการแบ่งเกณฑ์ในการประเมินเป็น 4 ระดับ ทั้งกลุ่มบ้านและกลุ่มคอนโด (ในประเทศญี่ปุ่นจะเรียกคอนโดว่าแมนชั่น-Mansion)

สำหรับเกณฑ์การประเมินกลุ่มบ้าน แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้

  1. ZEH Oriented เป้าหมาย ลดการใช้พลังงานได้ไม่ต่ำกว่า 20% ไม่รวมการใช้พลังงานสะอาด
  2. ZEH Ready เป้าหมาย ลดการใช้พลังงานได้ 50%ขึ้นไป รวมการใช้พลังงานสะอาด
  3. Nearly ZEH   เป้าหมาย ลดการใช้พลังงานได้ 75%ขึ้นไป รวมการใช้พลังงานสะอาด
  4. ZEH   เป้าหมาย ลดการใช้พลังงานได้ 100%ขึ้นไป รวมการใช้พลังงานสะอาด

เกณฑ์กลุ่มคอนโด เรียกว่า Zero Energy House-Mansion (ZEH-M) มี 4 ระดับ เช่นกัน แต่มีการเพิ่มเติมเกณฑ์ที่เกี่ยวกับจำนวนชั้น

สำหรับเกณฑ์การประเมินคอนโด แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้

  1. ZEH Oriented เป้าหมาย ลดการใช้พลังงานได้ไม่ต่ำกว่า 20%  ไม่รวมการใช้พลังงานสะอาด เป้าหมาย 6 ชั้นขึ้นไป
  2. ZEH Ready เป้าหมาย ลดการใช้พลังงานได้ 50%ขึ้นไป รวมการใช้พลังงานสะอาด เป้าหมาย 4-5 ชั้น
  3. Nearly ZEH   เป้าหมาย ลดการใช้พลังงานได้ 75%ขึ้นไป รวมการใช้พลังงานสะอาด เป้าหมาย 1-3 ชั้น
  4. ZEH   เป้าหมาย ลดการใช้พลังงานได้ 100%ขึ้นไป รวมการใช้พลังงานสะอาด เป้าหมาย 1-3 ชั้น

ในประเทศญี่ปุ่น มีกฎหมายบังคับให้ดีเวลลอปเปอร์ต้องพัฒนาบ้านพลังงานเป็นศูนย์  ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังมีการสนับสนุนเงินงบประมาณให้กับดีเวลลอปเปอร์ ที่มีระบบการการปล่อยคคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย ​สำหรับบ้านพลังงานเป็นศูนย์ ที่เข้าเกณฑ์จะได้รับเงินสนับสนุน 550,000 เยนสำหรับบ้านเดี่ยว 400,000 ต่ออาคารสำหรับคอนโดโลว์ไรส์ กรณีที่สูงกว่านี้จะได้รับการสนับสนุนเงิน  1 ใน 2 หรือ 1 ใน 3 ของระบบการสร้าง เนื่องจากบ้านพลังงานเป็นศูนย์มีราคาสูงกว่าบ้านปกติทั่วไป 30-50% ส่วนฝั่งผู้ที่ซื้อบ้านที่ผ่านเกณฑ์ ก็จะได้รับประโยชน์ เช่น การู้ขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

Sena Zeh 22

เสนาฯ เดินหน้าสู่บริษัทยั่งยืน

ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า หนึ่งในวิสัยทัศน์ของบริษัท คือ ความยั่งยืน เพราะปัจจุบันทีความท้าทายเกิดขึ้นหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ Climate Change หรือภาวะโลกร้อน​  สินค้าที่พัฒนาจะต้องเดินไปตามวิสัยทัศน์ดังกล่าวด้วย โดยปัญหาหลักของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นเรื่องของพลังงาน ไม่ใช่แค่ภาวะโลกร้อน ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงภาวะเศรษฐกิจ เพราะไทยต้องนำเข้าพลังงานที่มีต้นทุนสูง และส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าต่าง ๆ หากเราสามารถลดการนำเข้าพลังงานได้ ​จะทำให้ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศมากเกินไป

 

การทำบ้านพลังงานเป็นศูนย์ จึงเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้น โดยการทำใน ​3 เรื่องหลัก คือ ​

  1. การทำดีไซน์ ทำบ้านไม่ให้ร้อนมาก
  2. การใช้ไฟอย่างมีประสิทธิภาพ efficiency เช่น การใช้สมาร์ทโฮมที่สามารถสั่งงานในบ้านได้ แม้ลืม
  3. การผลิตไฟขึ้นมาใช้เอง

ถ้าทั้งหมดบวกลบ แล้วเท่ากับศูนย์ แสดงว่าเราเป็นไปตามหลักการนั้น  ในเมืองไทย มีเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่ไม่ชัดขนาดนี้ เช่น บ้านเบอร์ 5 บ้านประหยัดไฟ ของการไฟฟ้า แต่ไม่รวมการผลิตไฟเข้ามา โจทย์เรื่องนี้ไม่ใช่อยากทำและทำได้ โจทย์ที่ยากสุดวันนี้ คือ ทำแล้วขายได้

Sena Zeh 5

จับมือจุฬาฯ สร้างแบบจำลอง

แม้ว่า​​ ประเทศไทยจะมีหลายหน่วยงาน​ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน แต่ในเรื่องบ้านพลังงานเป็นศูนย์ ยังไม่มีเกณฑ์เรื่อง Zero Energy House (ZEH) ที่เป็นมาตรฐานกลาง เสนา ดีเวลลอปเมนท์จึงได้นำองค์ความรู้และแนวทางการพัฒนาของ​มาพัฒนาต่อยอดในบ้านของเสนา ​ด้วยการร่วมมือกับ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula Unisearch) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิสาหกิจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ทำการศึกษาและทดลองจัดทำแบบจำลอง ในการศึกษาประสิทธิภาพด้านพลังงาน

 

โดยจะใช้การจำลองการใช้พลังงานของอาคารด้วยคอมพิวเตอร์ (Building energy simulation) ด้วยโปรแกรม ซึ่งเป็นที่ยอมรับ เช่น โปรแรกม DOE-2, EnergyPlus และ eQUEST โดยกำหนดข้อมูลในการจำลองเป็นตัวแปรควบคุม ได้แก่ ข้อมูลอากาศรายชั่วโมงของกรุงเทพมหานคร โดยกรมอุตุนิยมวิทยา การหมุนอาคารเป็น 4 ทิศ (เหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก) และหาค่าเฉลี่ยการใช้พลังงานรวม ด้วยการสร้างสมมุติฐานช่วงเวลาการใช้งานอาคาร 2 รูปแบบ ได้แก่

  • การใช้งานบ้านแบบปกติ (เน้นออกนอกบ้านมาทำงานกลางวันและพักผ่อนเวลากลางคืน) โดยเปิดใช้เครื่องปรับอากาศวันจันทร์-ศุกร์ (18.00-08.00 น.) และเสาร์-อาทิตย์ (ตลอด 24 ชั่วโมง)
  • การใช้งานแบบบ้านที่มีผู้สูงอายุ หรือ WFH ที่มีการใช้สอยตลอด 24 ชั่วโมง มีการเปิดใช้เครื่องปรับอากาศตลอดเวลา

เมื่อได้ผลการทดลองแล้ว จะนำเอาไปสร้างบ้านต้นแบบ (SENA HHP Zero Energy House Prototype) ใน 2 โครงการ ได้แก่ เสนา แกรนด์โฮม บางนา กม.29 คาดว่าจะทำ Simulation แล้วเสร็จในปลายเดือนมกราคม 2566 แล้วจึงนำไปก่อสร้างเป็นบ้านต้นแบบ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2566 เพื่อวัดผลจากการใช้งานจริงอีกครั้ง และคอนโด ที่คาดว่าจะทำ Simulation แล้วเสร็จปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566

เป้าหมายสำคัญของ เสนา ดีเวลลอปเมนท์  คือ การลดการใช้พลังงานให้ได้ไม่ต่ำกว่า 20% รวมการใช้ Renewable Energy ที่บ้านเดี่ยว และคอนโดของเสนา และจะนำมาใช้กับบ้านทุกหลังของเสนา ดีเวลลอปเม้นท์ต่อไปในอนาคต แม้ว่าจะลดพลังงานไม่ได้ตามเป้าหมาย 20% ก็ตาม

โดยแนวทางของเสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จะทำกับโครงการเก่าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือระหว่างการขาย เช่น โครงการที่อาจจะสร้างมาแล้ว 20 หลัง ส่วนหลังที่ 21 ก็จะเริ่มพัฒนาเป็นบ้านพลังงานเป็นศูนย์​​ โดยไม่รอการสนับสนุน​ แต่ในส่วนของผู้ซื้อ หากได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน ลดอัตราดอกเบี้ยลงจากเรทปกติ 0.50-1% ในปีแรก จะช่วยกระตุ้นการซื้อได้มาก เพราะราคาบ้านพลังงานเป็นศูนย์จะแพงกว่าบ้านปกติแน่นอน เหมือนกับการทำบ้านโซลาร์ในช่วยแรกที่แพงกว่าบ้านปกติ 10-15%​

คิดว่าทำอะไรได้ก็ต้องเริ่มเลย สิ่งที่เราทำเราคิดและทำเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งวัดผลได้จริง แต่จะลดได้เท่าไรก็ตาม  เราเอาต้นแบบมาทำ แม้จะลดได้แค่ 5% ก็ทำ ปีหน้าไตรมาสแรกน่าจะได้เห็น จะมีแบบบ้านใหม่ในโครงการ ทุกโครงการ

 

 

 

 

 

 

บทความ ข่าวโปรโมชั่น ล่าสุด