28 chidlom

รื้อถอนอาคาร ต้องรู้อะไรบ้าง?

Categories : Life+Style
Tags : , ,

ถ้าใครลองสังเกตอาคารขนาดเล็กอย่างพวก อาคารพาณิชย์ ทาว์นเฮ้าส์ ตามถนนสายต่างๆ ในบ้านเราดูก็จะเห็นว่า หลายอาคารเลยค่ะที่มีสภาพเก่าทรุดโทรม บางอาคารก็ปล่อยทิ้งร้างขาดคนดูแล เมื่อถึงเวลาก็ย่อมต้องทำการรื้อถอนก่อนจะพังลงมา ซึ่งถือว่าอันตรายมากนะคะ เพราะส่วนมากอาคารเหล่านี้จะอยู่ในแหล่งชุมชนที่มีคนพลุกพล่านอยู่เกือบตลอดเวลา และก็มีไม่น้อยเช่นกันที่เกิดอุบัติเหตุจนถึงแก่ชีวิต วันนี้เราจึงนำขั้นตอนการรื้อถอนอาคารที่ถูกต้องมาให้ดูกันทีละขั้นตอนค่ะ 

ก่อนอื่นเลยเรามาดูกันค่ะว่า อาคารที่ต้องขออนุญาตก่อนการรื้อถอนนั้นเป็นอย่างไร

พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แก้ไขโดย พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 22 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดจะรื้อถอนอาคารดังต่อไปนี้ ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ท้องถิ่นหรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นและดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ

 

1.อาคารที่มีส่วนสูงเกินสิบห้าเมตร ซึ่งอยู่ห่างจากอาคารอื่นหรือท่ีสาธารณะน้อยกว่าความสูงของอาคาร

 

2.อาคารที่อยู่ห่างจากอาคารอื่นหรือที่สาธารณะน้อยกว่าสองเมตร ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า

 

กรณีอาคารสูงเกิน 15 เมตร หากอยู่ห่างจากอาคารอื่นๆ หรือที่สาธารณะน้อยกว่าระยะความสูงของอาคารจะต้องขออนุญาต แต่ถ้าอยู่ห่างอาคารอื่นๆ เป็นระยะเท่ากับหรือมากกว่าความสูงของอาคารไม่ต้องขออนุญาต

 

กรณีอาคารทั่วไป หากอยู่ห่างจากอาคารอื่นๆ หรือที่สาธารณะ น้อยกว่า 2 เมตร หากจะทำการรื้อถอนจะต้องขออนุญาต แต่ถ้าอยู่ห่างอาคารอื่นๆ ตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไปก็ไม่ต้องขออนุญาต

 

ขั้นตอนการขออนุญาตรื้อถอน ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคาร

1.ผู้ขออนุญาตจะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาต ที่สํานักงานเขตพื้นที่หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ของอาคารที่จะทำการรื้อถอน โดยจะต้องมีเอกสาร ดังนี้

– แบบคําขออนุญาตรื้อถอนอาคาร

– สําเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งแสดงวัตถุประสงค์และผู้มีอํานาจลงชื่อแทน นิติบุคคลที่หน่วยงานซึ่งมีอํานาจรับรองออกให้ไม่เกิน6เดือน (กรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้ขออนุญาต)

– สำเนาบัตรประจําตัวประชาชน และสําเนาทะเบียนบ้านของผู้แจ้งความประสงค์

– สําเนา หรือภาพถ่ายโฉนดที่ดินขนาดเท่ากับต้นฉบับจริง

– แผนผังบริเวณ แบบแปลนของอาคารที่จะรื้อทุกชั้น

– รายการประกอบแบบ (ลอกตามแบบราชการ) รายละเอียดวัสดุที่ใช้สร้างอาคาร, ตามหฏหมายหลักการรื้อถอนไม่เกิน 45 วัน

– หนังสือแสดงความยินยอม และรับรองของสถาปนิก, วิศวกรผู้ออกแบบและคํานวณ และสำเนาใบประกอบวิชาชีพของสถาปนิกและวิศวกรผู้ออกแบบ (ใช้สำหรับกรณีที่เป็นอาคารควบคุมตามกฎหมายควบคุมการประกอบวิชาชีพ)

– หนังสือแสดงความยินยอมและรับรองของผู้ควบคุมงานของสถาปนิกและวิศวกร พร้อมสําเนาใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพฯ

กรณีเป็นโรงงานอุตสาหกรรม โรงพยาบาล ตลาดสด ภัตตาคาร อาคารชุด หอพัก และอาคารที่เกี่ยวกับกิจการค้าอันเป็นที่น่ารังเกียจ ต้องแสดงแบบระบบบําบัดน้ําเสีย และรายการคํานวณระบบ บําบัดน้ําเสีย

 

2.ชำระค่าธรรมเนียมวันยื่นแจ้ง

 

3.เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพิจารณาเอกสารประกอบการขออนุญาต

 

4.เมื่อจ้าพนักงานท้องถิ่นทำการตวรจสอบเรียบร้อยแล้วก็จะออกใบอนุญาต และแจ้งให้ผู้ขอมารับใบอนุญาตรื้อถอนอาคาร

เมื่อได้ใบอนุญาตมาแล้วก็จะต้องมีสิ่งที่ต้องทำก่อนลงมือรื้อถอนค่ะ

1.ติดป้ายหน้าโครงการ แสดงรายละเอียดตามที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคารกําหนด

 

2.ต้องมีใบอนุญาตก่อสร้างพร้อมแบบแปลนอยู่ที่สถานที่ก่อสร้าง

 

3.แจ้งชื่อผู้ควบคุมงาน รวมถึงวันเริ่มต้นจนถึงวันสิ้นสุดการดําเนินการ และหนังสือแสดงความยินยอมของผู้ควบคุมงานกลับไปที่สถานที่ใบอนุญาตอีกครั้ง

 

ขั้นตอนทุกอย่างทำไปก็เพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่ายค่ะ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปฏิบัติงานเองหรือประชาชนรอบๆ พื้นที่ ซึ่งหากทำการรื้อถอนโดยไม่ขออนุญาตก็มีโทษปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน และยังมีโทษปรับวันละไม่เกินวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะทำการขออนุญาตอย่างถูกต้อง ดังนั้น ทำตามขั้นตอนให้ถูกต้องเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจตามมาภายหลังค่ะ

 

Cr.ข้อมูลจาก parliament.go.th

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

บทความ Life+Style ล่าสุด