ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ทั้งที ใครมีแผนการทำบุญบ้าน คงต้องกดเซฟบทความนี้ไว้เลยค่ะ เพราะการทำบุญคือการแสดงเคารพต่อพระรัตนตรัยอันเป็นที่เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด เพื่อให้การเริ่มต้นเข้าอยู่อาศัยหรือการเริ่มกิจการประสบแต่ความสุขความสำเร็จ นอกจากนี้การทำบุญยังเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีอันดีกับเหล่าเทวดา สัมภเวสี ที่อาศัยอยู่ ณ สถานที่นั้นๆ ก่อนที่เราจะเข้าไปอยู่ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างร่มเย็น ต่างฝ่ายต่างให้คุณกัน ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน แต่ถ้าใครอยู่บ้านมาหลายปีแล้ว แต่อยากทำบุญเสริมสิริมงคลให้กับตัวเองและบ้านในปีหน้า Review Your Living ขอรวบรวมหลักการน่าสนใจของพิธีการนี้มาให้ก่อนใคร ไปดูว่ามีเรื่องอะไรที่ต้องพิจารณากันบ้างค่ะ
ทำบุญบ้านช่วงปีใหม่ไปทำไม?
นอกจากเหตุผลเพื่อการเสริมสิริมงคลให้กับบ้านแล้ว หลายคนเชื่อว่าการทำบุญบ้านใหม่ คือการแสดงเคารพต่อพระรัตนตรัย และยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกียรติกับเหล่าเทวดา เจ้าที่เจ้าทางที่อาศัยอยู่ ณ สถานที่นั้นๆ เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของผู้อยู่อาศัยนั่นเองค่ะ
ทำบุญบ้าน ต้องนิมนต์พระกี่รูป?
จำนวนพระตามประเพณีนิยมในการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ คือเลขคี่ ซึ่งตามปกตินิยมนิมนต์ตั้งแต่ 5, 7 หรือ 9 รูป โดยถือกันว่าเลข 9 เป็นเลขมงคลขลังดี จะได้มีแต่ความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป แต่ทั้งหมดนี้ก็แล้วแต่กำลังศรัทธานะคะ ถ้าหากสถานที่จัดงานทำบุญมีพื้นที่มากพอ แนะนำให้นิมนต์พระจำนวน 9 รูป จะดีที่สุดค่ะ
ทำบุญบ้าน วันไหนดี?
ถึงแม้ว่าฤกษ์ที่ดีที่สุดของการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ คือฤกษ์ที่เจ้าของบ้านสะดวก อาจจะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ที่เจ้าของบ้านและหมู่ญาติสามารถมารวมตัวกันได้ แต่ว่าบางตำราโบราณยังมีความเชื่อว่าไม่ควรทำในวันเสาร์ เพราะเชื่อกันว่าเป็นวันแห่งโทษทุกข์ รวมถึงดาวเสาร์ยังจัดเป็นดาวแห่งบาปเคราะห์ บางบ้านอาจจะดูปฏิทินจีนประกอบให้เลือกวันที่ตรงกับวันธงไชย ว่าเป็นวันดีหรือวันที่มีฤกษ์ดีที่เหมาะสมกับสิ่งที่ดี ช่วยส่งเสริมให้มีความสุข ความสำเร็จ เช่นการขึ้นบ้านใหม่ พิธีแต่งงาน ฤกษ์เข้าหอ ส่งตัว การออกรถใหม่ การเปิดบริษัท โรงงาน เป็นต้น ที่สำคัญควรนิมนต์พระล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งเดือน
ทำบุญบ้าน ต้องเริ่มพิธีกี่โมง?
ช่วงเวลาการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ สามารถเลือกว่าจะถวายภัตตาหารเช้าหรือเพล โดยถ้าเป็นการถวายภัตตาหารเช้าให้เริ่มเวลาประมาณ 7.30 น. หรือหากเลือกถวายภัตตาหารเพลก็ควรเริ่มพิธีเวลาประมาณ 10.30 น. อย่างไรก็ตามเวลาก็อาจยืดหยุ่นตามศาสนกิจของพระวัดที่เราได้ทำการนิมนต์ด้วย
ควรเตรียมบทสวดอะไรไว้บ้าง?
บทสวดสำหรับการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ที่เจ้าของบ้านต้องเตรียมนำไว้สวดต่อหน้าพระก็มีตั้งแต่บทบูชาพระรัตนตรัย และ บทกราบนมัสการพระรัตนตรัย บทอาราธนาศีล 5, บทสมาทานศีล และบทอาราธนาพระปริตร เตรียมสถานที่ทำบุญบ้านอย่างไร?
การจัดสถานที่ก่อนวันทำบุญขึ้นบ้านใหม่ นั้นควรทำความสะอาดบ้านให้สะอาด เก็บสิ่งของต่างๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย กำหนดมุมที่จะจัดวางโต๊ะหมู่บูชา พื้นที่สำหรับสงฆ์ ซึ่งเป็นมุมที่ไม่ควรแขวนหรือประดับภาพใดๆ เหนือศีรษะของพระภิกษุสงฆ์ ต้องเตรียมอุปกรณ์อะไรบ้าง?
อุปกรณ์สำคัญในการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ได้แก่โต๊ะหมู่บูชา, อาสนะพระ, ตาลปัตร, ขันน้ำมนต์, แป้งเจิม, แผ่นทอง, สายสิญจน์, เทียนน้ำมนต์, ดอกไม้, ธูปเทียน, พานพุ่ม เป็นต้น โดยจัดวางให้เป็นระเบียบถูกที่ถูกตำแหน่งดังต่อไปนี้ 1. โต๊ะหมู่บูชาพระ ที่จัดเพื่อการแสดงความเคารพในพระรัตนตรัย จำต้องมีพระพุทธรูปที่เป็นพระประธาน ทิศการตั้งโต๊ะหมู่ไม่ได้ถูกกำหนดมาแบบตายตัว ควรพิจารณาจากความเหมาะสมของสถานที่โดยวางไว้ด้านขวามือของพระสงฆ์องค์ที่ 1 และไม่ควรตั้งอยู่ใต้บันได หน้าห้องน้ำ หรือหันไปในมุมอับเป็นต้น 2. อาสนะ สามารถหยิบยืมจากวัดมาใช้ได้ โดยอาสนะให้จัดวางให้มีระยะห่างพอดี ไม่ชิดติดกันจนเกินไป คำนึงถึงการวางข้าวของเครื่องใช้ของพระสงฆ์ด้วย (ตาลปัตร พร้อมน้ำดื่ม กระดาษชำระ และกระโถน) 3. อาหาร แบ่งออกเป็น 3 ชุดได้แก่ชุดบูชาข้าวพระพุทธ สำหรับพระสงฆ์ตามจำนวน และสำหรับเจ้าที่เจ้าทาง (หรือศาลพระภูมิที่ได้ทำการตั้งวางไว้แล้วของแต่ละบ้าน) ประกอบด้วยข้าว อาหารคาว ผลไม้ ของหวาน และน้ำดื่ม ชุดสำหรับพระพุทธวางไว้ด้านหน้าโต๊ะหมู่ สำหรับภัตตาหารของสงฆ์สามารถแบ่งออกเป็น 2 วง (ในกรณีนิมนต์พระ 9 รูป) สำหรับเจ้าที่เจ้าทางจัดเป็นสำรับเช่นกันแล้วนำไปวางไว้นอกชายคาบ้าน อาหารที่เป็นมงคลนิยมถวายได้แก่ ขนมมงคลไทย 5 อย่าง เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน และขนมถ้วยฟู ผลไม้มงคลอย่างกล้วย มะพร้าว สาลี่ ทับทิม และส้ม 4. ของถวายสังฆทาน สามารถถวายได้ทั้งเครื่องอุปโภคและบริโภค ปัจจัย หรือผ้าไตรที่หลายบ้านนิยมถวายร่วมด้วยเพื่อความเป็นสิริมงคล 5. อุปกรณ์เพื่อการการเจิมและการปะพรมน้ำพระพุทธมนต์ ที่จะทำเป็นขั้นตอนท้ายสุดของพิธี โดยเจ้าของบ้าน (ฝ่ายชาย) ต้องเดินถือขันน้ำมนต์นำพระสงฆ์ไปตามห้องต่างๆเพื่อการปะพรม และปิดท้ายที่การเจิมประตู (ส่วนมากนิยมที่ประตูด้านหน้า) โดยอุปกรณ์ประกอบไปด้วยขี้ผึ้งสำหรับติดแผ่นทอง แผ่นทอง หรืออาจใช้เพียงแป้งเจิมหรือดินสอพองก็ได้ค่ะ ใช้งบประมาณเท่าไหร่?
โดยเฉลี่ยแล้ว หากเป็นพิธีเล็กๆ มีแค่คนในครอบครัว ค่าใช้จ่ายอาจอยู่ที่ประมาณ 5,000 บาท แต่หากเป็นพิธีใหญ่ขึ้น ก็อาจจะอยู่ที่ 10,000 บาท ซึ่งเจ้าของบ้านเองควรเป็นผู้พิจารณาถึงความเหมาะสม เพราะจุดประสงค์ของพิธีขึ้นบ้านใหม่โดยแท้จริง คือการสร้างความร่มเย็นเป็นสุขให้ผู้อยู่อาศัย ส่วนเรื่องพิธีการจะยิ่งใหญ่แค่ไหนนั้น ถือเป็นเรื่องรองค่ะ
การเชิญแขกร่วมงานทำบุญบ้าน
การเชิญแขกมาร่วมงานบุญบ้านนั้น ในกรณีที่เป็นการทำบุญบ้าน หากเจ้าภาพจัดงานได้แยกครอบครัวออกมาแล้ว บุคคลสำคัญที่ควรระลึกถึงและเชิญร่วมงานเป็นอันดับแรกคือ "พ่อและแม่" หากท่านมีชีวิตอยู่ ควรเชิญท่านได้ร่วมทำบุญ หากท่านไม่อยู่ ก็ควรทำบุญอุทิศกุศลแก่ท่าน เพราะความกตัญญูต่อพ่อแม่คือความเป็นสิริมงคลอันสูงสุด และยังความปลาบปลื้มให้ท่านได้เห็นความก้าวหน้าและความสำเร็จของเรา นอกเหนือจากนั้นก็จะเป็นญาติมิตร และพ้องเพื่อนที่สนิท
การปฏิบัติตัวของผู้มาร่วมงาน
สำหรับการปฏิบัติตัวของผู้มาร่วมงาน ผู้ไปงานทำบุญที่ถูกต้องควรปฏิบัติ 3 ประการ คือ ทำทาน, รักษาศีล และฟังการเจริญพระพุทธมนต์ จึงจะเรียกได้ว่าไปงานทำบุญอย่างเต็มปาก ไม่ใช่ไปคุย กินข้าว และกินเหล้า เพราะทั้งสามข้อหลังไม่ได้บุญแม้แต่น้อย และควรงดสุราและอบายมุข เพราะการทำบุญคือการนำความมงคลเข้าสู่บ้าน บุคคล และบริษัท ดังนั้นจึงควรงดการเลี้ยงสุรา เล่นการพนัน ในการทำบุญ อันเป็นอบายมุขสู่ความเสื่อม เพราะความเป็นมงคลมิได้เกิดจากการที่นิมนต์พระเจริญพระพุทธมนต์เท่านั้น แต่หากเกิดจากการที่เจ้าภาพกระทำในสิ่งที่เป็นมงคลคือ ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ประกอบด้วยเป็นสำคัญ ขั้นตอนปฏิบัติของพิธีทำบุญบ้าน
1. นิมนต์พระสงฆ์เข้ายังสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ ถวายน้ำดื่ม สนทนาธรรม และพร้อมเริ่มพิธีการเมื่อถึงเวลาฤกษ์ 2. จุดเทียนธูปที่โต๊ะหมู่บูชา ประธานฝ่ายเจ้าบ้านจุดเทียนโดยเริ่มจากด้านขวาของพระพุทธก่อนแล้วจึงตามด้วยเทียนด้านซ้าย และธูป ตามลำดับ 3. กราบพระพุทธ แบบเบญจางค์ประดิษฐ์ ประธานฝ่ายเจ้าบ้านกล่าวบูชาพระรัตนตรัย ตามด้วยอาราธนาศีล 5 ฝ่ายเจ้าบ้านกล่าวตามพระสงฆ์ด้วยบทสมาทานศีล ฝ่ายเจ้าบ้านกล่าวบทอาราธนาพระปริตร 4. ประธานฝ่ายเจ้าบ้านจุดเทียนสำหรับทำน้ำพระพุทธมนต์ เมื่อพระสงฆ์สวดถึง “อเสวนา จ พาลานัง” ถวายข้าวพระพุทธ ประธานถวายพระพุทธโดยวางภัตตาหารบนโต๊ะหรือผ้าขาวด้านหน้าโต๊ะหมู่ฯ วางให้สูงกว่าอาสนะพระสงฆ์ 5. ประเคนภัตตาหารแด่พระสงฆ์ เจ้าบ้านและแขกเหรื่อช่วยกันประเคน 6. เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วให้นำจตุปัจจัย ดอกไม้ ธูป เทียน และหรือสังฆทานมาวางรอไว้ที่หน้าพระสงฆ์ทุกรูป ดอกไม้วางขนานปลายดอกไม้ชี้ไปทางด้านขวามือของพระสงฆ์ และเจ้าภาพเข้ามาที่ต่อหน้าพระเพื่อยกถวาย หลังจากที่กล่าวคำถวายสังฆทานแล้ว 7. ลาข้าวพระพุทธ ต่อเนื่องด้วยการถวายสังฆทานด้วยบทถวายสังฆทาน 8. พระสงฆ์สวดอนุโมทนา เจ้าบ้านและผู้ร่วมงานกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศล 9. พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ พร้อมทั้งสวดชยันโตฯ พนมมือ รับน้ำพระพุทธมนต์ 10. การเจิมและการปะพรมน้ำพระพุทธมนต์ เจ้าภาพกราบนิมนต์ประธานสงฆ์ไปยังที่ๆ ต้องการเจิม เช่น ประตูทางเข้าออกหลัก ควรทำความสะอาดพื้นผิวให้เรียบร้อยก่อนเจิม เมื่อท่านเจิมแล้วไม่ควรลบออก การปะพรมน้ำเจ้าภาพอาจนำท่านไปพรมตามห้องต่างๆได้ ในขณะพระสงฆ์พรมน้ำพุทธมนต์ ควรประนมมือรับน้ำพุทธมนต์ด้วยความเคารพอ่อนน้อม 11. การส่งพระกลับวัด เมื่อเสร็จพิธีแล้ว เจ้าภาพกราบขอบพระคุณในความเมตตาที่ท่านได้มาเป็นเนื้อนาบุญ และนำส่งคณะพระภิกษุสงฆ์ไปยังรถ ควรช่วยท่านยกไทยธรรมที่ถวายสังฆทานแล้วไปยังรถ ให้ประนมมือส่งท่านขึ้นรถด้วยความอ่อนน้อมและรอจนกว่ารถจะเคลื่อนตัวออกไปแล้วจึงค่อยเข้าบ้าน 12. เสร็จพิธี แต่ถ้าบ้านไหนไม่มีเวลามากพอที่จะเตรียมทั้งข้าวของอุปกรณ์ต่างๆ อาหารเลี้ยงพระ อาหารสำหรับแขก ไปจนถึงนิมนต์พระ แล้วล่ะก็ เดี๋ยวนี้มีบริการจัดงานเลี้ยงทำบุญบริการถึงบ้านเลยนะคะ มีหลากหลายราคาให้ได้เลือกตามขนาดของงานที่จะจัด ตัวอย่างร้านที่รับจัดงาน อาทิ ธรรมะจัดสรร
3 minutesfood
horapacatering