Infographic

 

Infographic ล่าสุด

1 2 3 ... 13
13 เช็คลิสต์บ้านปลอดภัย ก่อนทิ้งไว้ในวันหยุดยาว

13 เช็คลิสต์บ้านปลอดภัย ก่อนทิ้งไว้ในวันหยุดยาว

วันหยุดยาว อีกไม่กี่วัน เราก็จะได้มี วันหยุดยาว ในช่วงเทศกาลปีใหม่ไทย หรือเทศกาลสงกรานต์กันอีกแล้ว เชื่อว่าใครหลายคนก็วางแผนท่องเที่ยว หรือไม่ก็เดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด ทำให้ต้องปิดบ้านที่อยู่ปัจจุบันไว้หลายวัน หลายคนจึงมีความกังวลใจถึงเรื่องความปลอดภัย ที่จะเกิดขึ้นกับตัวบ้าน หรือทรัพย์สินภายในบ้าน   วันนี้เราจึงจะมาชวนเช็คความเรียบร้อยของบ้าน ก่อนที่จะเดินทางท่องเที่ยวกันหลายวัน เพื่อความสบายใจ กลับมาแล้วบ้านเราก็ยังคงอยู่ดี ทรัพย์สินไม่สูญหาย หรือไม่เกิดเรื่องที่ไม่คาดคิดขึ้น กับ 13 เช็คลิสต์ ก่อนทิ้งบ้านไว้ในวันหยุดยาว 13 เช็คลิสต์ ก่อนทิ้งบ้านไว้ในวันหยุดยาว 1.ตรวจเช็คไฟฟ้า ถอดปลั๊กไฟ้ในอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งานออกให้หมด และควรตรวจเช็คอุปกรณ์ไฟฟ้า ระบบเบรกเกอร์ ว่ายังใช้งานได้ดีเป็นปกติ ไม่ชำรุดเสียหายด้วย   นอกจากนี้ อาจมีการติดตั้งหลอดไฟโซลาร์เซลล์ หรือระบบการเปิด-ปิดอัตโนมัติ ก็ช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับบ้านได้ เพราะหากกลางคืนบ้านมืดสนิทตั้งแต่หัวค่ำ โจรขโมยอาจจะรู้ได้ว่าบ้านนี้ไม่มีคนอยู่อาศัย จึงอาจเข้ามาลักหรือขโมยทรัพย์สินภายในบ้านได้ 2.เช็คกล้องวงจรปิด-สัญญาณกันขโมย ปัจจุบันหลายบ้านติดกล้องวงจรปิด หรือสัญญาณกันขโมย ก่อนจะทิ้งบ้านไปเที่ยวในวันหยุดยาว ก็ควรตรวจสอบการใช้งานว่าจะยังดี อุปกรณ์ไหนต้องใช้แบตเตอรี่ก็ตรวจเช็คด้วยว่ายังมีพลังไฟเหลือเพียงพอหรือไม่ด้วย   แม้บางบ้านจะติดระบบสัญญาณกันขโมย แต่ระบบกลอนประตู-หน้าต่าง ซึ่งเป็นอุปกรณ์พื้นฐาน ก็ไม่ควรจะต้องเสียหายหรือชำรุด ก่อนออกจากบ้านก็ควรดูแลให้ใช้งานได้ดี โดยเฉพาะห้องนอนหรือห้องที่มีสิ่งของมีค่า 3.ปิดระบบน้ำประปา ​ ปิดก๊อกน้ำ ระบบน้ำประปาให้สนิทก่อนออกจากบ้าน และควรเช็คดูด้วยว่ามีอุปกรณ์ไหนชำรุดเสียหาย หากตรวจพบ ก็ต้องซ่อมแซมให้เรียบร้อย 4.อย่าลืมกุญแจ ก่อนออกจากบ้าน ก็อย่าลืมตรวจสอบด้วยว่าเราได้นำกุญแจบ้าน กุญแจห้องต่าง ๆ ติดตัวมาหรือยัง หากกลัวว่าถ้าจะเกิดการหลงลืม การนำเอากุญแจสำรองไปฝากไว้ที่บ้านญาติ หรือเก็บไว้ในจุดที่เราสามารถหยิบมาใช้งานได้สะดวกและปลอดภัยก็ควรทำด้วย 5.เช็คระบบแก๊ส-เตาไฟ อีกจุดที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ระบบแก๊ส เตาไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ครัวที่ต้องใช้แก๊สหรือไฟฟ้า ตรวจเช็คให้แน่ใจว่าได้ปิดไว้เรียบร้อยแล้วก่อนออกจากบ้าน 6.จัดเก็บของมีค่า สิ่งของมีค่าต่าง ๆ ควรจัดเก็บไว้ในที่ปลอดภัย หรือถ้าเป็นไปได้ควรเอาไปฝากไว้ที่ตู้เซฟของธนาคาร เพื่อความสบายใจ แต่ก็จะมีค่าบริการการรับฝากด้วย นอกจากของมีค่าในบ้านแล้ว บางครั้งเราอาจจะมีสิ่งของ หรือของมีค่าที่วางไว้นอกบ้าน หากเป็นไปได้ก็ควรจัดเก็บไว้ภายในบ้าน เพื่อไม่ให้โดยขโมยได้ 7.แจ้งนิติบุคคล เพื่อนบ้าน หรือตำรวจ การฝากบ้านไว้กับคนอื่น ก็เป็นอีกทางเลือกที่ปลอดภัย เช่น แจ้งนิติบุคคลของโครงการ เพื่อให้เขาคอยดูแล หรือไปฝากบ้านไว้กับตำรวจก็ได้ นอกจากนี้ หากเรามีความสนิทสนมกับเพื่อนบ้าน และสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การฝากบ้านไว้กับเพื่อนบ้านก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดี ถ้าเขาไม่ได้เดินทางไปไหน 8.ไม่โพสต์โซเชียล ไม่ควรโพสต์โซเชียลต่าง ๆ ว่าเราไม่อยู่บ้านหลายวัน เพราะอาจจะเป็นเป้าให้กับโจร ขโมยได้ 9.ทิ้งขยะ-เคลียร์ของในตู้เย็น ก่อนออกจากบ้าน ควรจะทิ้งขยะภายในบ้านให้หมด เพราะหากเป็นขยะเน่าเสียได้ ก็จะทำให้เกิดกลิ่นเหม็น และเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ต่าง ๆ มาคุ้ยเขี่ยทำให้เกิดเชื้อโรค หรือความสกปรกได้  รวมถึงการตรวจเช็คของกินของใช้ภายในตู้เย็น ว่ามีวันหมดอายุวันไหน ผักและผลไม้ ควรนำมากินให้หมดก่อนที่จะเน่าเสีย เมื่อเราออกไปเที่ยวในวันหยุดยาวหลายวัน 10.ทำความสะอาดบ้าน-ซักเสื้อผ้า ถ้ามีเวลาและเป็นไปได้ ควรทำความสะอาดบ้านก่อนไปเที่ยวในวันหยุดยาวสักครั้ง เพราะเมื่อกลับมาบ้านจะได้ไม่สกปรกมากนัก ควรคลุมเตียงและโซฟาด้วยผ้าเอาไว้ เพื่อไม่ให้เกิดฝุ่นสะสมบนเตียงหรือโซฟาของเรา เพราะปกติเรามักจะเหนื่อยกับการเดินทาง กลับมาถึงบ้านก็ไม่มีอารมณ์อยากจะทำอะไรแล้ว รวมถึงไม่ควรทิ้งผ้ากองโตไว้ เพราะจะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค และหากเราซักผ้าไว้ก่อน กลับมาเราก็จะมีเสื้อผ้าสวมใส่   อีกจุดที่ต้องทำความสะอาด คือ ห้องน้ำและชักโครก ซึงปกติหากเราไม่ได้ไปไหน ชักโครกจะมีการใช้งานเป็นประจำทุกวัน แต่หากเราออกจากบ้านไปหลายวัน สิ่งปฏิกูลจะค้างท่ออยู่ทำให้อาจเกิดกลิ่นเหม็นได้ จึงควรกดชักโครกสักสองครั้ง เพื่อไล่สิ่งสกปรกออกจากระบบท่อไปก่อน 11.เคลียร์ตู้จดหมาย บ้านไหนมีตู้จดหมาย ควรจะเก็บจดหมายออกให้หมด เพื่อไม่ให้เป็นที่ผิดสังเกตของโจรขโมย 12.ดูแลต้นไม้ เรื่องต้นไม้ ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่เราควรให้ความสำคัญ ทั้งการรดน้ำให้เพียงพอ การตัดแต่งกิ่งต้นไม้ไม่ให้รกรุงรัง และการจัดเก็บใบไม้ไม่ให้รก เพื่อความสะอาดและปลอดภัย ไม่เป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์มีพิษ  หากใครกังวลว่าจะมีสัตว์มีพิษเข้ามาในบ้าน ให้โรยปูนขาวไว้รอบ ๆ บ้าน เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษหรืองูที่จะเข้ามาในบ้าน​ 13.ให้อาหารสัตว์เลี้ยง-ฝากเลี้ยง นอกจากต้นไม้แล้ว สัตว์เลี้ยงก็เป็นสิ่งมีชีวิตอีกชนิด ที่หลายคนรัก ถ้าหากเราไม่สามารถนำสัตว์เลี้ยงไปด้วย หาจจะต้องให้อาหารทิ้งไว้ให้เพียงพอ หรืออาจจะต้องนำไปฝากเลี้ยงที่สถานรับเลี้ยง หรือไม่ก็ต้องนำไปฝากไว้กับเพื่อน หรือญาติที่เขาจะดูแลได้   ทั้งหมดนี้ ก็เป็น 13 เช็คลิสต์ ก่อนทิ้งบ้านไว้ในวันหยุดยาว ซึ่งดูแล้วอาจจะมีจุดที่ต้องตรวจเช็คเยอะ แต่ก็เพื่อความปลอดภัยของตัวบ้าน และทรัพย์สิน ที่เราจะไม่ต้องมานั่งปวดหัวหรือมีปัญหาให้แก้ไขภายหลัง   ที่มา - อนันดา,​ดีพี พร็อพเพอร์ตี้,พฤกษา​     อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง -5 จุดเหมาะติดกล้องวงจรปิด ก่อนทิ้งบ้านยาวช่วงวันหยุดยาว -7 เช็คลิสต์สำคัญในบ้าน ที่ควรเช็คก่อนไปท่องเที่ยววันหยุด
10 อุปกรณ์รอบตัว ตรวจคอนโดด้วยตัวเอง ได้ง่าย ๆ

10 อุปกรณ์รอบตัว ตรวจคอนโดด้วยตัวเอง ได้ง่าย ๆ

สำหรับใครที่จองซื้อคอนโดมิเนียมเอาไว้ และได้ผ่อนดาวน์จนครบ หรือถึงกำหนดเวลาที่คอนโดได้สร้างเสร็จ  พร้อมที่จะให้เราเข้าไปอยู่ ก็ต้องถึงคิวการ ตรวจคอนโด เพื่อโอนกรรมสิทธิ์มาให้เราได้เป็นเจ้าของเสียที   แต่การจะรับมอบโอนคอนโด ที่สำคัญเราคงต้องตรวจดูสภาพของห้อง ว่าเป็นไปตามสเป็คที่ทางคอนโดได้โฆษณาไว้ตั้งแต่แรกไหม รวมถึงคุณภาพของการก่อสร้างได้มาตรฐาน และอยู่ในสภาพที่ดี สมบูรณ์ พร้อมการใช้งานหรือเปล่า ซึ่งหากสภาพคอนโดห้องของเราไม่ได้เป็นไปตามที่โฆษณาไว้  หรือไม่ได้อยู่ในสภาพที่ดี มีอุปกรณ์หรือสภาพห้องชำรุดเสียหาย เราอย่าไปเซ็นรับมอบคอนโดเด็ดขาด เพราะจะเป็นการยอมรับในข้อบกพร่องของห้องนั้น   การตรวจรับคอนโด สามารถทำได้ด้วยตนเอง หรือใครจะจ้างบริษัทที่รับตรวจคอนโดโดยเฉพาะ ก็สามารถทำได้ ราคาก็หลักพันบาทเท่านั้น ขึ้นอยู่กับขนาดของห้องเป็นหลัก แต่ใครไม่อยากจ้างบริษัทมาตรวจ ก็สามารถทำได้ด้วยตนเอง ซึ่งไม่ได้ยุ่งยากหรือมีขั้นตอนที่ซับซ้อนอะไร แถมอุปกรณ์ที่จะตรวจก็สามารถหาได้ทั่วไป บางอย่างเราก็มีใช้กันอยู่แล้วในบ้านหรือที่ทำงาน​ 10 อุปกรณ์รอบตัว ตรวจคอนโด ด้วยตัวเอง ได้ง่าย ๆ   1.สมุด-ปากกา ก่อนจะ ตรวจคอนโด เราต้องวางแผนจดรายการที่จะต้องตรวจไว้ล่วงหน้า เพื่อไม่ให้ไปถึงหน้างานแล้วหลงลืม ทำเป็นเช็คลิสต์เอาไว้ก่อน และเมื่อไปถึงหน้างาน เมื่อเจอจุดบกพร่องต้องซ่อมแซมหรือแก้ไข ก็จดรายละเอียดเอาไว้ให้ทางโครงการซ่อมแซมหรือเอาไว้ตามงานจะได้ไม่หลงลืม​ 2.โพสต์อิท เมื่อตรวจสอบพื้นที่ต่าง ๆ หรืออุปกรณ์ ที่พบว่าชำรุด เสียหาย หรือไม่เป็นไปตามสเป็ค ก็ติดโพสต์อิทเอาไว้ให้เห็นชัดเจน จะได้เห็นชัดเจน และเอาไว้ตรวจสอบหลังจากซ่อมแซมแล้วในภายหลัง 3.โทรศัพท์มือถือ เดี๋ยวนี้โทรศัพท์มือถือมีฟังก์ชั่นที่มีประโยชน์มากมาย และนำเอามาใช้ตรวจรับคอนโดเราได้ด้วย  เช่น ไฟฉาย สำหรับการส่องดูจุดต่าง ๆ ในมุมอับของห้อง กล้องถ่ายรูป เอาไว้เก็บหลักฐาน จุดที่ต้องซ่อมแซม ระบบวัดระดับน้ำ ที่เอาไว้วัดความลาดเอียงของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีการติดตั้งว่าได้ระดับหรือไม่ เป็นต้น 4.เหรียญบาท การตรวจสอบผนัง หรือพื้นที่มีการปูด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น กระเบื้อง เราสามารถตรวจสอบความเรียบร้อย หรือการชำรุดของผนังหรือพื้น ได้ด้วยการนำเหรียญบาทมาใช้เคาะพื้นและผนัง เพื่อหาจุดบกพร่อง ชำรุด หรือการปูได้ไม่สนิทได้ ซึ่งเมื่อเราเคาะดูแล้วจะได้ยินเสียงที่แตกต่างไปจากบริเวณอื่น ๆ ต้องให้ทางโครงการตรวจสอบอีกครั้ง 5.ลูกแก้ว-ลูกปิงปอง ลูกแก้วหรือลูกปิงปอง ใช้สำหรับตรวจสอบความลาดเอียงของพื้นห้อง พื้นห้องน้ำ หรือพื้นระเบียง เพื่อตรวจสอบว่าได้ปูพื้นลาดเอียงเหมาะสม สำหรับน้ำที่จะไหลลงไปสู่ท่อระบายน้ำได้ ไม่อย่างนั้นน้ำจะท่วมขังไม่ลงในท่อระบาย ซึ่งลูกแก้หรือลูกปิงปอง บางคนอาจจะไม่มีติดบ้านไว้ ก็อาจจะต้องหาซื้อเพิ่ม ซึ่งราคาไม่ได้สูงมาก ตามร้านสินค้าทุกอย่าง 20 บาทก็มีขาย 6.ถังน้ำ ถังน้ำเอาไว้สำหรับรองน้ำ และเทตรวจสอบ การไหลและระบายของน้ำ และยังทดสอบระบบน้ำประปาของห้องว่าไหลได้ปกติหรือไม่ด้วย ​ 7.ไขควงวัดไฟ-สายชาร์จโทรศัพท์ การตรวจสอบระบบไฟฟ้า และปลั๊กไฟต่าง ๆ ปกติจะใช้ไขควงวัดไฟ มาเป็นอุปกรณ์ช่วยตรวจ แต่ปัจจุบันปลั๊กไฟบางชนิดมีระบบการทำงานที่จะต้องเสียบขาปลั๊กไฟพร้อมกัน 2 ข้าง ปลั๊กไฟจึงจะทำงาน ซึ่งอุปกรณ์ที่นำมาใช้ทดแทนได้ดีไม่แพ้ไขควงวัดไฟฟ้าก็คือ สายชาร์จโทรศัพท์นั่นเอง ให้เราทดสอบการเสียบปลั๊กชาร์จไฟฟ้าในเต้าเสียบทุกจุด เพื่อตรวจสอบว่ามีกระแสไฟฟ้าเดินมาเป็นปกติ 8.ตลับเมตร ใช้วัดพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อดูว่าขนาดพื้นที่จริง กับแปลนห้องมีขนาดที่ตรงกันหรือไม่ 9.ขนมปังแผ่น การตรวจสอบโถชักโครกว่าใช้งานได้ปกติหรือไม่ จะใช้ขนมปังแผ่นในการทดสอบแทนสิ่งปฏิกูล โดยให้ฉีกเป็นชิ้นเล็ก ๆ และกดชักโครกดู หากไหลลงปกติแสดงว่า โถสุขภัณฑ์ทำงานได้ปกติ 10.กระดาษทิชชู สำหรับพื้นห้องน้ำ หรือพื้นครัว หรือจุดที่จะมีน้ำรั่วซึมได้ ให้ใช้กระดาษทิชชูทดสอบความชื้น การรั่วซึมของน้ำในบริเวณต่าง ๆ เหล่านั้น เพราะหากมีการั่วซึมกระดาษจะเปียกชื้นนั่นเอง   ทั้งหมดนี้ ก็เป็น 10 อุปกรณ์รอบตัว ตรวจคอนโด ด้วยตัวเอง ได้ง่าย ๆ ที่เชื่อว่าทุกคนทำตามได้ไม่ยาก ​ซึ่งนอกจากการตรวจสอบด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้แล้ว การตรวจด้วยสายตา และการทดลองใช้งานจริงอย่างละเอียด ก็จะทำให้เราสามารถหาจุดบกพร่องของอุปกรณ์ หรือสภาพของห้องได้ด้วย เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า ก็ต้องลองเปิด-ปิดการใช้งาน ประตู-หน้าต่างก็ตรวจสอบการเปิดปิด ดูจุดการติดตั้ง เฟอร์นิเจอร์ที่ทางโครงการแถมให้ ก็ดูความเรียบร้อยของการติดตั้ง ดูสภาพของเฟอร์นิเจอร์ตรงไหนเสยหายหรือไม่ เป็นต้น   ที่มา : SCB, แสนสิริ,​ อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์   อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง -10 จุดตรวจเช็คสุขภาพบ้าน เพื่อยืดอายุการใช้งานให้ยาวนาน
อัปเดต ค่าใช้จ่ายซื้อบ้าน และคอนโด 2566 มีอะไรบ้าง?

อัปเดต ค่าใช้จ่ายซื้อบ้าน และคอนโด 2566 มีอะไรบ้าง?

ค่าใช้จ่ายซื้อบ้าน ใครวางแผนจะซื้อบ้าน หรือคอนโดมิเนียม ปี 2566 นี้ รู้หรือเปล่าว่าต้องเตรียมงบประมาณอะไรบ้าง เป็น ค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้าน หรือคอนโดมิเนียมบ้าง เพราะปีนี้รัฐบาลมีมาตรการช่วยลดหย่อนค่าธรรม สำหรับกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วด้วย แต่ค่าลดหย่อนก็มีปรับเปลี่ยนไปบ้าง ลองมาอัปเดตกันดูว่า ถ้าจะซื้อบ้านหรือคอนโดในปีนี้ จะต้องเตรียม ค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และไว้เท่าไร 1.เงินจองและทำสัญญา ค่าใช้จ่ายซื้อบ้าน  อย่างแรกเลยก็ต้องเตรียมเงินจอง และเงินทำสัญญา ซึ่งเงินส่วนนี้อาจจะไม่มากนัก ทั่ว ๆ ไปเงินจองก็อยู่ที่ 5,000-10,000 บาท และมีเงินทำสัญญาอีกก้อนหนึ่ง ก็หลักไม่กี่หมื่นเท่านั้น ขึ้นอยู่กับราคาบ้านที่เราจะซื้อด้วย 2.เงินดาวน์ 10-20% เงินดาวน์ใน 10-20% ของราคาบ้าน แต่ส่วนนี้อาจจะไม่ต้องเตรียมเป็นเงินก้อนไว้ทั้งหมด เพราะโครงการมักจะให้ผ่อนเป็นงวด ๆ ได้ ตามระยะเวลาก่อนที่บ้านหรือคอนโดจะพร้อมโอน แต่ผู้ซื้อก็ควรเตรียมเงินก้อนไว้ เพราะมักจะมีเงินดาวน์ที่เป็นก้อนใหญ่ ๆ หรือที่เรียกว่างวดบอลลูน ที่ต้องใช้เงินดาวน์มากกว่าผ่อนงวดปกติ รวมถึง บางครั้งในงวดสุดท้ายของการผ่อนดาวน์มักจะเป็นเงินก้อน ที่เป็นเงินจำนวนมากเพื่อให้ได้เงินดาวน์ 10-20% ของราคาบ้านหรือคอนโด ซึ่งมักจะเป็นการผ่อนดาวน์ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ หรือโครงการใกล้จะก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมโอน 3.ค่าใช้จ่ายขอสินเชื่อธนาคาร สำหรับใครที่มีความสามารถในการซื้อบ้านหรือคอนโด ด้วยเงินสดไม่ต้องกู้ธนาคาร ค่าใช้จ่ายในการขอสินเชื่อธนาคารก็จะไม่มี แต่คนส่วนใหญ่มักจะกู้เงินธนาคารมากกว่า จึงต้องมีการเตรียมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไว้ ยกเว้นว่าทางโครงการหรือทางธนาคาร มีการจัดแคมเปญยกเว้นค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้กับลูกค้า ​โดยค่าใช้จ่ายหลัก ๆ ที่เกี่ยวกับการขอสินเชื่อมีดังนี้ ค่าธรรมเนียมยื่นกู้ แล้วแต่ธนาคารเป็นคนกำหนด ค่าประเมินหลักทรัพย์ เริ่มต้น 3,210 บาท ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ 4.ค่าเบี้ยประกันภัย ในการขอสินเชื่อกับทางธนาคาร สิ่งหนึ่งที่มักจะเป็น ค่าใช้จ่ายซื้อบ้าน ตามมา คือ ค่าประกันอัคคีภัย และค่าประกันภัยพิบัติ ซึ่งธนาคารจะบังคับให้ลูกค้าทำไว้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดเหตุไฟไหม้ หรือภัยพิบัติกับตัวบ้านหรือคอนโด เพราะถือว่าทรัพย์สินดังกล่าวยังเป็นของธนาคาร เนื่องจากเราเอาบ้านหรือคอนโด ไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ไว้นั่นเอง ​   ส่วนค่าประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ จะขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ลูกค้าเลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ทำ ซึ่งหากทำประกันชีวิต ก็มักจะได้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าการไม่ทำ 5.ค่าจดจำนอง 0.01% ของราคาประเมิน โดยปกติค่าจดจำนอง จะมีอัตราการจัดเก็บอยู่ที่ 1% แต่ในปีนี้รัฐบาลได้มีมาตรการที่ออกมาช่วยกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนที่ต้องการมีบ้านพักอาศัย จึงลดอัตราค่าจดจำนองเหลือเพียง 0.01% เท่านั้น 6.ค่าธรรมเนียมการโอน 1% ของราคาประเมิน ส่วนค่าธรรมเนียมการโอน ก็เป็นอีกหนึ่ง ค่าใช้จ่ายซื้อบ้าน หรือคอนโด ที่ผู้ซื้อต้องเสีย แต่ก็มีข่าวดีที่รัฐบาลช่วยลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้สำหรับปี 2566 จากที่ต้องเสีย 2% ก็เหลือเพียง 1% แม้ว่าปีที่ผ่านมาจะลดมากกว่านี้ คือ ลดให้เหลือ 0.01% เท่านั้น แต่ถือว่าค่าธรรมเนียมการโอนปีนี้ลดไปตั้ง 50% เลยทีเดียว 7.ค่ามิเตอร์น้ำ-ไฟฟ้า   สำหรับการอยู่บ้านใหม่ ก็ต้องมีการติดตั้งมิเตอร์น้ำประปา และไฟฟ้า แต่ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ผู้ประกอบการก็มักใจดี จัดแคมเปญช่วยออกให้กับผู้ซื้อ แต่สำหรับใครที่ไปซื้อโครงการที่ไม่ได้มีแคมเปญตรงนี้ไว้ ก็ต้องเตรียมเงินในส่วนนี้ไว้ด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับขนาดของมิเตอร์และพื้นที่ว่าอยู่ในเขตนครหลวง หรือส่วนภูมิภาค ซึ่งค่าใช้จ่ายแตกต่างกันเล็กน้อย 8.ค่าส่วนกลาง-เงินกองทุน อีกค่าใช้จ่ายหนึ่งที่ผู้ซื้อจะต้องแบกรับไปตลอดการอยู่อาศัยก็คือ ค่าส่วนกลาง ที่ต้องจ่ายทุกเดือน แต่ส่วนใหญ่มักจัดเก็บเป็นรายปี ขึ้นอยู่กับระดับความหรู พรีเมียม หรือการจัดพื้นที่ส่วนกลางของโครงการ ให้กับลูกบ้าน ราคาก็จะแตกต่างกันไป และก็แตกต่างตามขนาดพื้นที่ของบ้านและคอนโดด้วย นอกจากนี้ ยังต้องมีเงินก้อนอีกจำนวนหนึ่ง ที่ต้องจ่ายคือ เงินกองทุน สำหรับโครงการเอาไว้จัดตั้งนิติบุคคล เพื่อดูแลความเรียบร้อยของหมู่บ้านหรือคอนโด 9.ค่าตรวจบ้าน 2,000-9,000 บาท ก่อนจะรับมอบบ้าน หรือโอนบ้าน ผู้ซื้อก็ต้องตรวจบ้าน ดูความเรียบร้อยของงานก่อสร้าง และสเป็ควัสดุหรือตัวบ้านให้เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาที่ผู้ขายบอกเราไว้ตั้งแต่ต้น ทำให้เราจำเป็นต้องตรวจบ้านก่อน ซึ่งหากใครมีความรู้ หรือพอจะตรวจบ้านหรือคอนโดเองได้ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็ไม่ต้องมี แต่บางครั้งเพื่อความมั่นใจ และมีการตรวจอย่างละเอียด ผู้ซื้อก็มักจะจ้างบริษัทหรือผู้ที่รับงานตรวจบ้านมาดำเนินการให้ ซึ่งค่าใช้จ่ายก็มักจะขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่เหมือนกัน สำหรับคอนโดราคาก็จะถูกกว่าบ้าน เพราะรายการที่ต้องตรวจมีน้อยกว่านั่นเอง 10.ค่าตกแต่ง ของใช้ และเฟอร์นิเจอร์ การอยู่อาศัยในบ้านหรือคอนโด ต่อให้ทางโครงกาตกแต่งจนสามารถเข้าอยู่ได้ แต่ส่วนใหญ่คนอยู่อาศัยก็ต้องมีการตกแต่ง หรือไม่ก็ซื้อของใช้ เฟอร์นิเจอร์ที่ชอบ เข้ามาไว้ในบ้าน ทำให้ต้องเตรียมงบประมาณส่วนนี้ไว้ด้วย จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความชอบและความต้องการของคนซื้อเลย เพราะเฟอร์นิเจอร์และของใช้มีหลากหลายชนิด หลายเกรด และคุณภาพ   ทั้งหมดนี้ ก็เป็น ค่าใช้จ่ายซื้อบ้าน​ ที่ผู้ซื้อบ้านต้องเตรียม และคำนวณให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งหลายรายการก็สามารถปรับเปลี่ยน หรือยืดหยุ่นได้ ตามความต้องการเพราะเป็นรายการที่เพิ่มขึ้นมา แต่หลาย ๆ รายการก็เป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นที่จะต้องจ่ายก่อนที่เราจะเข้าอยู่ อย่างไรก็ต้องวางแผนให้ดี หรืออาจจะปรึกษากับทางฝ่ายสินเชื่อของธนาคารต่าง ๆ ก็ได้ ให้ช่วยคำนวณค่าใช้จ่าย และประเมินความสามารถในการกู้เงินของเราว่าจะได้วงเงินมากน้อยแค่ไหน เราจะได้วางแผนการเงินได้ถูกต้อง   ที่มา – กรมที่ดิน, ธอส, ธนาคารกสิกร   อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง -อัปเดตดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน และคอนโด เดือนมกราคม 2566 แบงก์ไหนให้ดอกต่ำสุด
EIA เรื่องต้องรู้ ก่อนซื้อบ้าน ซื้อคอนโด

EIA เรื่องต้องรู้ ก่อนซื้อบ้าน ซื้อคอนโด

EIA เรื่องต้องรู้ สำหรับคนที่อยากจะมีที่พักอาศัยในเมือง หรือทำเลที่เดินทางสะดวก ใกล้ระบบคมนาคมสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างรถไฟฟ้า เชื่อว่าทางเลือกแรกก็ต้องเป็นการอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม เพราะมีราคาที่คนส่วนใหญ่เลือกหาซื้อได้ และทำเลตรงกับความต้องการ   ส่วนหลักเกณฑ์ในการเลือกซื้อคอนโด  คงมีมากมายหลายเรื่องต้องให้พิจารณา ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์หรือผู้พัฒนาโครงการ ขนาดห้อง งบประมาณ การดีไซน์โครงการ และอีกหลายเรื่องขึ้นอยู่กับโจทย์และความต้องการของผู้ซื้อ แต่มีหลักเกณฑ์ที่มีความสำคัญ และไม่ควรจะละเลยในการใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการเลือกซื้อโครงการคอนโดที่เราอยากจะเข้าไปอยู่อาศัย นั่นก็คือ EIA   EIA ถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาโครงการไม่น้อย และดีเวลลอปเปอร์ส่วนใหญ่ ก็มักจะเอา EIA มาใช้เป็นจุดขายสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า หลายโครงการยังมีการแสดงข้อความ EIA Approved บนสื่อโฆษณาต่าง ๆ ของโครงการด้วย ซึ่งหลายคนก็คงรู้และเข้าใจว่า EIA คืออะไร มีความสำคัญยังไง แต่หลายคนโดยเฉพาะที่เพิ่งจะเริ่มต้นทำงานมีเงินเก็บ แล้วจะหาซื้อคอนโดไว้เป็นบ้านหลังแรก อาจจะยังไม่เข้าใจเรื่อง EIA มากนัก วันนี้ Reviewyourliving จึงจะมาเล่าเรื่อง EIA ว่าเป็นเรื่องของอะไร และมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน EIA คือ อะไร สำคัญแค่ไหน? EIA ย่อมาจาก Environmental Impact Assessment Division หรือการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (เดิมใช้คำว่า การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535) โดยหมายถึง กระบวนการศึกษาและประเมินผลที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการหรือกิจการ หรือการดำเนินการใดของรัฐห รือที่รัฐจะอนุญาตให้มีการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียอื่นใดของประชาชนหรือชุมชน ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบดังกล่าว ผลการศึกษาเรียกว่า รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561   EIA ถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาโครงการเป็นอย่างมาก เพราะอยู่ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมาย หากโครงการไหนไม่ผ่าน EIA ก็ไม่สามารถพัฒนาโครงการได้ จะไม่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง หรือใบอนุญาตจัดสรรโครงการ ยิ่งหากก่อสร้างไปก่อนแล้วเกิดมีคนมาคัดค้านการก่อสร้างเนื่องจากได้รับผลกระทบ และโครงการยังไม่ผ่าน EIA โครงการก็ต้องหยุดการก่อสร้างทันที นี่ก็เป็นเหตุผลสำคัญของ EIA เรื่องต้องรู้ สำหรับคนที่วางแผนจะซื้อบ้าน หรือซื้อคอนโด   สำหรับโครงการที่ต้องยื่นขออนุญาตจัดทำ EIA ต้องดำเนินการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม กับทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นรายงานที่จัดทำขึ้นโดยนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตจาก สผ. เท่านั้นจึงจะออกรายงานดังกล่าวได้   เมื่อผู้ประกอบการที่จะพัฒนาโครงการได้รับรายงาน EIA แล้ว จะต้องดำเนินการยื่นต่อสผ. เพื่อให้พิจารณาอนุมัติรายงานฉบับดังกล่าว หากรายงานไม่ผ่านการอนุมัติ ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการแก้ไข ประเด็นต่าง ๆ ที่ไม่ผ่านการพิจารณา ให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์  และยื่นกลับให้สผ. พิจารณาอีกครั้ง หรือจนกว่าจะได้รับอนุญาต หรือได้รับความเห็นชอบ 4 เรื่องที่ต้องทำใน EIA สำหรับการจัดทำ EIA จะทำการศึกษาสิ่งแวดล้อมใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1.ด้านทรัพยากรกายภาพ การศึกษาด้านทรัพยากรกายภาพ เป็นการศึกษาถึงผลกระทบต่อเรื่องต่าง ๆ ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง หากพัฒนาโครงการนั้นขึ้น อาทิ การศึกษาสภาพของดิน น้ำ อากาศ เสียง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร 2.ด้านทรัพยากรชีวภาพ เป็นการศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ของการพัฒนาโครงการ ที่มีต่อระบบนิเวศน์ที่โครงการตั้งอยู่ หรืออาจจะส่งผลกระทบได้ เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ ปะการัง เป็นต้น 3.ด้านคุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ เป็นการศึกษาถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ที่โครงการเกี่ยวข้อง ทั้งด้านทางกายภาพ และชีวภาพของมนุษย์ เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดิน 4.ด้านคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต จะเป็นการศึกษาถึงผลกระทบของโครงการ ที่จะเกิดกับมนุษย์ ชุมชน ระบบเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม รวมถึงทัศนียภาพ คุณค่า ความสวยงาม โครงการแบบไหนที่ต้องยื่นขอ EIA ถ้าเราพูดถึงโครงการประเภทที่อยู่อาศัยที่ต้องยื่นขอใบอนุญาตสิ่งแวดล้อมนั้น จะมีอยู่ด้วยกัน​ 2 ประเภท คือ   1.โครงการคอนโดที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ยูนิตขึ้นไป หรือมีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 4,000 ตร.ม.ทำให้คอนโดประเภทโลไรส์หลายแห่งที่มีห้องชุดอยู่แค่ 79 ยูนิต ไม่ต้องขอ EIA   2.โครงการบ้านจัดสรรที่มีที่ดินแปลงย่อยตั้งแต่ 500 แปลงขึ้นไป หรือมีเนื้อที่มากกว่า 100 ไร่ จะต้องยื่นของ EIA ถ้าต่ำกว่าเงื่อนไขนี้ก็ไม่ต้องยื่นขอ EIA เช็คให้ชัวร์ ก่อนซื้อบ้าน ซื้อคอนโด อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่แรกว่า EIA มีความสำคัญ และดีเวลลอปเปอร์มักจะนำเอามาเป็นจุดขาย และจุดสร้างความมั่นใจระดับหนึ่งว่าสามารถพัฒนาโครงการขึ้นมาได้ โดยไม่ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และจะไม่ถูกต่อต้านจากชุมชน สังคม หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะได้รับผลกระทบ ผู้ซื้อจึงต้องตรวจสอบและขอดูหลักฐานเอกสารให้ชัดเจนว่าโครงการผ่าน EIA แล้ว หรือหากโครงการไหนอยู่ระหว่างการยื่นขอ EIA ต้องมีการระบุเอกสารหรือหลักฐานที่ชัดเจนว่า หากเกิดกรณีโครงการไม่ EIA จะต้องคืนเงินดาวน์ เงินจอง หรือเงินที่ชำระเพื่อซื้อคอนโด หรือซื้อบ้านคืนด้วย แต่โดยส่วนใหญ่โครงการที่นำออกมาขาย จะผ่าน EIA หรือมีความมั่นใจว่าจะ EIA ได้อย่างแน่นอน   อย่างไรก็ตาม เพื่อความชัวร์และรู้เท่าทันกับเกมการตลาดของผู้ประกอบการ หากมีการกล่าวอ้างว่าโครงการนั้นผ่าน EIA แล้วจริง เราก็สามารถตรวจสอบได้ว่า ข้อมูลที่ผู้ประกอบการกล่าวอ้างนั้นเป็นความจริง ด้วยการเข้าไปเช็คข้อมูลสำหรับโครงการนั้น ๆ ว่าอยู่ในสถานะใด ได้รับความเห็นชอบการผ่านเกณฑ์ หรือได้รับการรับรอง EIA แล้วที่เว็บไซต์ http://eia.onep.go.th ของ สผ. เพื่อที่จะได้ไม่มีปัญหากับประเด็นเรื่องของ EIA ตามมาให้ปวดหัว ทั้งหมดนี้ ก็คือ EIA เรื่องต้องรู้ ก่อนซื้อบ้าน ซื้อคอนโด สำหรับคนที่ควรศึกษาและทำความเข้าใจ       ที่มา -สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  
10 เรื่องต้องคิด ซื้อบ้านหรือคอนโดดี? ถ้างบเท่ากัน

10 เรื่องต้องคิด ซื้อบ้านหรือคอนโดดี? ถ้างบเท่ากัน

ก่อนเกิดสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด เชื่อว่าคนที่อยากซื้อบ้านก็จะเลือกซื้อบ้าน ส่วนคนที่อยากอยู่คอนโดมิเนียม ก็คงเลือกซื้อคอนโด ตัดสินใจได้ไม่ยาก แต่พอเกิดโควิด-19 ระบาด หลายคนก็อาจจะลังเล และชั่งใจ จะเอาไงดี ซื้อบ้านหรือคอนโดดีกว่ากัน ถ้าราคาบ้านและคอนโดเท่ากัน เพราะช่วงโควิดระบาดที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่อยู่กับบ้าน จึงต้องการใช้พื้นที่เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ บ้านก็เลยขายดี   แต่ตอนนี้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ คนต้องกลับมาทำงานที่ออฟฟิศกันแล้ว การจะเลือกไปอยู่บ้าน ที่ส่วนใหญ่อยู่ไกล หรือไม่ก็แถบชานเมือง การเดินทางต้องเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายเยอะขึ้น ก็น่าจะลังเล และเกิดคำถามขึ้นมาว่าถ้าจะเลือกซื้อบ้านหรือคนโดดี ถ้ามีงบเท่ากัน หรือราคาบ้านและราคาคอนโดก็พอ ๆ กันนั่นเอง   วันนี้ Reviewyourliving มีบทความ "10 เรื่องต้องคิด ซื้อบ้านหรือคอนโดดี? ถ้างบเท่ากัน" มาเป็นเครื่องช่วยในการตัดสินใจ ว่าอะไรจะเหมาะกับคุณ ๆ 1.ทำเลที่ตั้ง เริ่มต้นแรกของการพิจารณาว่าจะเลือกซื้อบ้านหรือคอนโดดี ถ้ามีงบประมาณเท่ากัน คงต้องเป็นเรื่องของ ทำเลที่ตั้ง เพราะมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของเรา โดยเฉพาะเรื่องการเดินทางไปทำงาน ซึ่งหลายคนอาจจะต้องคิดถึงคนอื่น ๆ ในครอบครัวด้วย (ถ้าไม่ใช่พักอาศัยแค่ตัวเราคนเดียว) ไม่ว่าจะเป็นแฟนเราที่ต้องเดินทางไปทำงาน หรือใครมีลูกก็ต้องคิดถึงที่ตั้งของโรงเรียนลูกด้วย เพราะเราคงต้องเดินทางไปส่งลูกที่โรงเรียน และต้องเดินทางต่อไปทำงาน   เรื่องของทำเลที่ตั้ง คงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในเรื่องการเดินทาง ไปยังสถานที่จำเป็นต้องไป ว่าห่างไกลกันแค่ไหน มีบริการรถสาธารณะเชื่อมต่อกันไหม เพราะหากใครไม่มีรถยนต์ส่วนตัว หรือต่อให้มีถ้าไม่สะดวกต่อการเดินทาง รับรองต้องเสียทั้งเวลา และต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะมาก หากต้องการเดินทางสะดวก ใกล้รถไฟฟ้า บริหารเวลาเดินทางได้ การเลือกที่อยู่อาศัยก็ต้องเลือก คอนโด​ หากไม่มีปัญหาเรื่องการเดินทาง หรือสามารถบริหารจัดการเรื่องการเดินทางได้ รวมถึงมีที่ทำงานอยู่ชานเมือง หรือบริเวณรอบนอก หากจะเลือกบ้าน ก็สามารถทำได้ 2.พื้นที่ใช้สอย ถ้าใครมีโจทย์สำคัญของการอยู่อาศัย ที่ต้องการพื้นที่มาก ๆ ในการอยู่อาศัย คำตอบแรก ก็ต้องเลือกซื้อบ้าน เพราะหากพิจารณาเฉพาะเรื่องราคาของอสังหาริมทรัพย์อย่างเดียว บ้านหรือทาวน์โฮม มีขนาดพื้นที่มากกว่าคอนโดอย่างแน่นอน ถ้าหากอยู่อาศัยกันแบบคู่รัก หรือ 1-2 คน ไม่ได้ต้องการพื้นที่มากนัก การเลือกคอนโด ก็ตอบโจทย์ไม่ต้องดูแลมาก แถมได้ทำเลในเมือง แต่หากใครต้องการพื้นที่มาก เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือทำงานจากที่บ้าน หรืออยู่แบบครอบครัวขยาย การเลือกบ้านน่าจะเหมาะสมกว่า ในงบประมาณที่เท่ากับการซื้อคอนโด 3.สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ที่จอดรถ เรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก อาจจะต้องดูเป็นโครงการ ๆ ไป ว่าใครสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่ากัน ซึ่งเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องหลักในการพิจารณาว่าจะเลือกซื้อบ้านหรือคอนโดดี ถ้ามีงบเท่ากัน คอนโด ส่วนใหญ่จะจำกัดจำนวนรถยนต์ให้ห้องละ 1 คันเท่านั้นที่จอดได้ หากมีรถมากกว่า 1 คันอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม บ้าน มักจะจอดรถได้มากกว่า 1 คัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ของบ้านที่ซื้อ แต่โดยส่วนใหญ่จะจอดได้อย่างน้อย 2  คัน 4.การดูแล-ซ่อมบำรุง การดูแลบ้าน หรือการซ่อมบำรุงความเสื่อมของที่อยู่อาศัย ก็เป็นข้อพิจารณาเพิ่มเติม อาจจะไม่ใช่เรื่องหลักที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ จะเลือกซื้อบ้านหรือคอนโดดี ถ้ามีงบเท่ากัน แต่ก็เป็นเรื่องที่ควรรู้ไว้ เพราะเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมกับเราภายหลัง ที่หลายคนอาจจะละเลย หรือลืมพิจารณา คอนโด ถือว่ามีจุดดูแล-ซ่อมบำรุงน้อย ซึ่งจะดูแลเฉพาะภายในห้องพักเราเท่านั้น และมักไม่ค่อยมีปัญหามาก ส่วนใหญ่จะเป็นพวกงานระบบไฟ หรือระบบประปา และอยู่ในพื้นที่จำกัดเฉพาะของห้องเราเท่านั้น บ้าน มีจุดดูแลและซ่อมบำรุงมาก ทั้งพื้นที่ในบ้านไม่ว่าจะเป็นพื้น ผนัง ตัวโครงสร้าง หลังคา รวมถึงงานระบบต่าง ๆ ทั้งระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบรักษาความปลอดภัย และพื้นที่รอบบ้าน​ ทั้งรั้ว สนามหญ้า ประตูรั้วบ้าน ก็ต้องดูแล ถือว่ามีงานที่ต้องดูแลเยอะ และหากเสียหาย ชำรุด ก็คงต้องเสียเงินเยอะพอสมควร 5.บรรยากาศ และสภาพแวดล้อม บรรยากาศการอยู่บ้าน กับบรรยากาศการอยู่คอนโด คงไม่เหมือนกัน เพราะสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน เรื่องนี้คงต้องขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนว่าจะเลือกแบบไหน คอนโด มักจะอยู่ในสภาพแวดล้อมของเมือง มุมมองหรือวิว ก็จะได้วิวเมือง บ้าน บรรยากาศก็จะเป็นชุมชน บ้านเรือนแวดล้อม ไม่มีจุดชมวิวบนที่สูง อาจจะได้วิวสวนของโครงการ หรือ สวนของบ้านเราเอง รอบ ๆ ข้างก็เป็นบรรยากาศเพื่อนบ้าน 6.เพื่อนบ้านและความเป็นส่วนตัว การพักอาศัยในคอนโดกับบ้านจัดสรร ความเป็นส่วนตัวคงแตกต่างกันพอสมควร  ถ้าเราอยู่คอนโดโอกาสจะเจอเพื่อนบ้านหรือรู้จักกันก็น่าจะน้อยกว่าการอยู่บ้านจัดสรร ทำให้มีความเป็นส่วนตัวถ้าอยู่บ้านจะมีมากกว่า ขณะเดียวกันปัญหาระหว่างเรากับเพื่อนบ้านก็น่าจะน้อยกว่าด้วย คอนโด คนที่พักอาศัยมักจะไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวกัน และเราแทบจะไม่รู้จักกับคนอยู่ข้างห้องเลย ทำให้มีความเป็นส่วนตัวสูงกว่า บ้าน มีโอกาสพบเจอและรู้จักเพื่อนบ้านได้มากกว่าคอนโด ​ซึ่งปัญหาเพื่อนบ้านมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าการอยู่คอนโด หากเราไปเจอเพื่อนบ้านที่นิสัยไม่ดี 7.ปัญหา-ความปลอดภัย ปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับบ้าน การอยู่อาศัยในบ้านจัดสรรมีโอกาสที่เราจะพบเจอได้มากกว่าการอยู่คอนโด อย่างเช่น ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งอยู่คอนโดปัญหาอย่างมากก็แค่เราเข้า-ออกคอนโดได้ลำบาก แต่ถ้าอยู่บ้านน้ำอาจจะท่วมเข้ามาในตัวบ้าน สร้างความเสียหายให้ได้  หรือแม้แต่เรื่องสัตว์มีพิษต่าง ๆ อยู่บ้านก็มีโอกาสเจอมากกว่า คอนโด ถือว่ามีความปลอดภัยสูง เพราะบุคคลภายนอกเข้า-ออกได้ยาก ไม่มีปัญหาน้ำท่วมที่พักอาศัย หรือสัตว์มีพิษเข้ามาได้ยาก บ้าน มีโอกาสคนบุกรุก หรือลักลอบเข้ามาได้ง่าย หากมีปัญหาน้ำท่วมก็อาจจะเข้ามาสร้างความเสียหายต่อที่อยู่อาศัยได้ รวมถึงสัตว์มีพิษเข้าบ้านได้ง่ายกว่าคอนโด 8.ไลฟ์สไตล์ผู้อยู่อาศัย การเลือกว่าจะซื้อบ้านหรือคอนโดดี ถ้ามีงบเท่ากัน อีกเรื่องที่ต้องคิดและน่าจะสำคัญลำดับต้น ๆ ก็คือ ไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัย เพราะมันคือวิถีชีวิตของตัวเรา ว่าเรามีความชอบอย่างไร มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างไร คอนโด เหมาะสำหรับการอยู่อาศัย-พักผ่อน ไม่ได้มีกิจกรรมอะไรมากมาย หรือไม่ได้ต้องการใช้พื้นที่ทำงานจากที่บ้าน หรือประกอบธุรกิจ (แต่บางคอนโดในปัจจุบัน ก็มีพื้นที่ส่วนกลางรองรับการทำงานจากที่บ้าน หรือทำธุรกิจจากที่บ้านได้ อาจจะต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่น ๆ เพิ่มเติม) บ้าน สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้มากมาย เช่น คนที่ชอบทำสวน ปลูกต้นไม้ เพาะต้นไม้ หรือชอบเลี้ยงสัตว์ ชอบทำอาหาร หรือมีธุรกิจที่สามารถทำจากที่บ้านได้ การอยู่บ้านน่าจะตอบโจทย์เรื่องพวกนี้ได้ดี 9.ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง นอกจากเงินที่ต้องมีสำหรับการซื้อบ้านหรือคอนโดแล้ว ค่าใช้จ่ายที่จะตามมาภายหลังการอยู่อาศัย ก็ควรพิจารณาประกอบด้วย เพราะการอยู่บ้านกับการอยู่คอนโด ค่าใช้จ่ายตามมาก็ไม่เท่ากันแน่นอน ซึ่งอยู่บ้านน่าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมภายหลังสูงกว่า คอนโด มักจะมีค่าใช้จ่ายหลัก ๆ คือ ค่าส่วนกลาง ส่วนที่เหลือก็อาจจะเป็นค่าซ่อมบำรุงตามสภาพการใช้งานของอุปกรณ์ภายในห้อง บ้าน ถ้าเปรียบเทียบกับคอนโดค่าใช้จ่ายจะมีมากกว่า เพราะนอกจากค่าส่วนกลางที่จ่ายตามขนาดพื้นที่ (ซึ่งมากกว่าคอนโด) ยังต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้านในเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น ค่าซ่อมบำรุงบ้าน ค่าดูแลสวน เป็นต้น 10.โอกาสการลงทุน เรื่องของโอกาสได้รับผลตอบแทนจากบ้านหรือคอนโด หากใครที่มองเรื่องนี้ ก็ต้องพิจารณาหลายเรื่องเป็นองค์ประกอบ แต่ที่แน่ ๆ หากต้องการซื้อเพื่อปล่อยเช่า การเลือกซื้อคอนโดน่าจะตอบโจทย์ได้มากกว่า เพราคอนโดปล่อยเช่าได้ง่าย และความต้องการสูงกว่า คอนโด ปล่อยเช่าหรือขายต่อได้ง่าย เพราะความต้องการสูงกว่า คนที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยมักจะเลือกเช่าคอนโดมากกว่าบ้าน เพราะทำเลที่ตั้งใกล้แหล่งงาน แถมราคาค่าเช่าก็ถูกกว่าบ้าน แต่ราคาขายต่อก็ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอื่น ๆ บ้าน ปล่อยเช่าหรือขายต่อได้ยากกว่าคอนโด และคนส่วนใหญ่ซื้อบ้านมักจะเป็นผู้ที่อยู่อาศัยเอง กลุ่มนักลงทุนที่ซื้อเพื่อปล่อยเช่าจะมีน้อยกว่าประเภทคอนโด ส่วนเรื่องราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นตามระยะเวลานั้น ก็ต้องมีเรื่องอื่น ๆ เป็นองค์ประกอบด้วย เช่น ทำเลที่ตั้ง สภาพบ้าน ขนาดพื้นที่ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ ก็เป็นไกด์ไอเดียให้กับผู้ที่กำลังลังเลว่า จะเลือกซื้อบ้านหรือคอนโดดี ถ้ามีงบเท่ากัน ซึ่งหลักเกณฑ์คร่าว ๆ ให้ใช้พิจารณาเลือกให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ วิถีชีวิต และความต้องการการอยู่อาศัย ว่าแบบไหนจะเหมาะกับตัวเรา และคนในครอบครัวมากที่สุด     ที่มา -Reviewyourliving รวบรวม    
10 วิธีแก้ปัญหา ผ่อนบ้าน-ผ่อนคอนโด ไม่ไหว ?

10 วิธีแก้ปัญหา ผ่อนบ้าน-ผ่อนคอนโด ไม่ไหว ?

ผ่อนบ้านไม่ไหว การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบมากมายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน การอยู่อาศัย การทำมาหากิน และภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งทุกภาคส่วนต่างก็ได้รับผลกระทบแทบทั้งสิ้น แต่อาจจะได้รับผลกระทบแตกต่างกันออกไป   อย่างเรื่องการงานและรายได้ หลายคนอาจจะมีรายได้ลดลง จากระยะเวลาการทำงานลดลง หรือบางคนอาจจะได้รับผลกระทบหนัก จนถึงขั้นกับว่างงาน เพราะบริษัทเลิกจ้างหรือเลิกกิจการลงก็มีไม่น้อย แน่นอนว่าคนที่รายได้ลดลง ย่อมส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยประจำเดือนแน่นอน ยิ่งคนไหนมีภาระต้องผ่อนบ้านหรือผ่อนคอนโดมิเนียม อาจจะผ่อนต่อไม่ไหว เริ่มมีปัญหาเงินไม่พอที่จะผ่อนบ้านหรือผ่อนคอนโด และบางคนจะได้รับผลกระทบหนัก จนขาดส่งติดต่อกันมาหลายเดือนแล้วก็ได้   อย่างไรก็ตาม​ สำหรับใครที่มีปัญหาด้านการเงิน และมีปัญหาเกี่ยวกับการผ่อนบ้านและคอนโด ต้องรีบวางแผนให้ดีตั้งแต่เนิน ๆ อย่าปล่อยให้ปัญหาลุกลามจนเสียประวัติ ติดแบล็กลิสต์ หรือรุนแรงจนถึงขั้นถูกยึดทรัพย์ ถูกฟ้องร้องจากสถาบันการเงินเลย หากเริ่มมีปัญหาต้องวางแผนและหาทางออกตั้งแต่เนิ่น ๆ หากผ่อนบ้านไม่ไหว หรือผ่อนคอนโด ไม่ไหวแล้ว   วันนี้ Reviewyourliving มีแนวทางสำหรับแก้ไขปัญหา ถ้าผ่อนบ้านไม่ไหว หรือแม้แต่ผ่อนคอนโดไม่ไหวก็ตาม มาแนะนำให้ทุกคนนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับแต่ละบุคคล เพราะปัจจุบันแม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะดีขึ้น แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้กลับมาเป็นปกติ ภาวะเศรษฐกิจก็เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวเท่านั้น หลายคนจึงยังอาจจะเผชิญกับปัญหาการเงินอยู่ และหากใครผ่อนบ้านหรือผ่อนคอนโดไม่ไหวจริง ๆ ทางออกก็มีหลายทาง ไม่ใช่แค่ให้ทางธนาคารยึดทรัพย์เท่านั้น ลองมาดูกันว่าทางออกที่ว่ามีอะไรบ้าง ​ เก็บบ้านไว้หรือปล่อยให้โดนยึด ก่อนอื่น เมื่อเริ่มมีปัญหาการเงิน ต้องวิเคราะห์ตัวเอง และสถานะทางการเงินของตัวเองว่า จะสามารถผ่อนบ้านหรือผ่อนคอนโดต่อไปได้อีกกี่เดือน อย่าปล่อยให้ปัญหาสะสมจนต้องเสียประวัติ หรือเสียเครดิต เพราะจะส่งผลต่อการเจรจราต่อรองกับทางธนาคาร หากต้องการได้รับการช่วยเหลือต่าง ๆ ดังนั้น แนวทางเริ่มต้นของการแก้ปัญหา ผ่อนบ้านไม่ไหว หรือผ่อนคอนโดไม่ไหว คือ ถามตัวเองว่าจะยังต้องการบ้านหรือคอนโดที่ผ่อนอยู่หรือไม่ ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาจะแตกต่างกัน ดังนี้ 1.กรณีไม่ต้องการบ้านหรือคอนโดที่ผ่อนอยู่แล้ว สำหรับผู้ที่รู้สึกว่าไม่อยากจะเก็บบ้านหรือคอนโดไว้แล้ว เพราะอาจจะมีปัญหายังว่างงานอยู่ หรือมีภาระค่าใช้จ่ายสูงจนไม่สามารถผ่อนต่อไหว ไม่อยากเก็บบ้านหรือคอนโดไว้เป็นภาระด้านการเงิน ทางออกก็คงจะมีทางเลือกเดียว คือ การประกาศขายบ้านหรือคอนโดนั้น ซึ่งมี 2 วิธี ดังนี้ -ประกาศขายคอนโด หรือขายบ้านให้กับบุคคลทั่วไป -ขายคืนให้กับธนาคาร การขายบ้านคืนให้ธนาคาร  หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า หากเราไม่สามารถผ่อนบ้านหรือผ่อนคอนโดกับทางธนาคารได้ไหว เรายังสามารถเอาบ้านหรือคอนโดที่เราผ่อนชำระอยู่ขายคืนให้กับธนาคารได้ ในราคาที่ผ่อนไปแล้ว แต่ทั้งนี้ การที่ธนาคารจะรับซื้อคืนหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคารเป็นหลักด้วย 2.กรณียังต้องการบ้านหรือคอนโดที่ผ่อนอยู่ต่อไป สำหรับคนที่ยังต้องการจะเก็บบ้านหรือคอนโดเอาไว้ เป็นทรัพย์สินหรือการอยู่อาศัย และพร้อมจะกลับมาผ่อนชำระให้เป็นปกติเมื่อมีรายได้ดีเหมือนเดิม อาจจะต้องใช้วิธีการเจรจากับทางธนาคารที่กู้ เพื่อหาทางออกร่วมกัน ว่าจะมีวิธีอะไรบ้างที่สามารถทำได้ ซึ่งเชื่อว่าธนาคารพร้อมจะหาหนทางให้กับผู้กู้ เพราะในความจริงแล้วธนาคารไม่ได้อยากได้บ้านหรือคอนโดนั้น แต่ต้องการเงินต้นและดอกเบี้ยคืนมากกว่า  ลองมาดูว่ามีวิธีการแก้ไขปัญหานี้อย่างไรบ้าง 1.พักชำระหนี้ วิธีการนี้ เป็นการขอหยุดชำระค่างวดผ่อนบ้านหรือผ่อนคอนโดไว้เป็นการชั่วคราว หรือบางกรณีที่มีวิกฤติทางเศรษฐกิจ ทางธนาคารก็มักจะออกมาตรการนี้มาช่วยเหลือลูกหนี้  เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน  ซึ่งแม้ว่าเราจะไม่ต้องส่งเงินค่างวดให้ทางธนาคารภายในระยะเวลาที่ธนาคารกำหนด แต่ธนาคารยังคงคิดดอกเบี้ยของแต่ละงวดต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ได้หยุด และจะมาเรียกเก็บกับลูกหนี้ภายหลัง โดยอาจจะเรียกเก็บเงินค่างวดพร้อมดอกเบี้ยครั้งเดียว หรือเฉลี่ย ๆ เป็นงวดก็แล้วแต่เงื่อนไขของทางธนาคาร 2.ขอขำระค่าผ่อนบ้านต่ำกว่าปกติ หากค่าผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโดในแต่ละเดือนสูงเกินกว่าที่เราจะผ่อนไหว การเจรจากับธนาคารเพื่อขอประนอมหนี้ลดเงินส่งต่อเดือนลงให้เหมาะสมกับรายได้ปัจจุบัน แต่เงื่อนไขนี้ ทางธนาคารมีหลักเกณฑ์พิจารณา คือ ยอดชำระต่อเดือนต้องสูงกว่ายอดดอกเบี้ยต่อเดือนอย่างน้อย 500 บาท และการขอประนอมหนี้วิธีนี้สามารำทำได้เพียงครั้งเดียว มีกำหนดระยะเวลาการผ่อนที่ต่ำกว่าปกติได้นานไม่เกิน 2 ปี ทั้งนี้ ผู้ขอจะต้องมีประวัติการผ่อนชำระที่ดีด้วย และเหมาะกับผู้ที่มีรายได้ประจำแต่รายได้ลดลง มากกว่าผู้ที่ไม่มีรายได้เลย 3.ขอชำระเฉพาะดอกเบี้ย ในบางช่วงบางกรณี เช่น เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หรือช่วงนี้มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือลูกหนี้อยู่ในพื้นที่ได้รับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมใหญ่ ธนาคารอาจจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือลูกหนี้ หรือลูกหนี้อาจจะเจรจากับทางธนาคาร เพื่อขอชำระค่างวดผ่อนบ้านหรือผ่อนคอนโด ในส่วนที่เป็นดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวก็ได้ แต่เกณฑ์การพิจารณาสำคัญก็อยู่กับแต่ละธนาคาร และลูกหนี้จะต้องมีประวัติการผ่อนชำระที่ดี เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหานั้นจริง ๆ ซึ่งวิธีนี้ธนาคารมักจะให้ผ่อนชำระได้สูงสุดไม่เกิน 12 เดือนและสามารถขอใช้วิธีนี้ได้เพียงครั้งเดียว 4.ขยายเวลาชำระหนี้ หากเรายังพอมีรายได้เข้ามา แต่ไม่เพียงพอจะชำระค่าผ่อนบ้าน หรือผ่อนคอนโด ในจำนวนเท่าเดิมได้ การขอขยายเวลาชำระหนี้ให้ยาวออกไป ก็จะช่วยทำให้ค่าผ่อนบ้าน หรือค่าผ่อนคอนโดในแต่ละเดือนลดลงได้ หรืออาจจะเหมาะสมกับรายได้ของลูกหนี้ในเวลานั้น  ซึ่งทางธนาคารสามารถขยายระยะเวลาให้ลูกหนี้ได้นานสูงสุดถึง 30 ปี แต่ทั้งนี้อายุของผู้กู้เมื่อรวมกับระยะเวลาการขอขยายจะต้องไม่เกิน 70 ปี ที่สำคัญหากมีค่าดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ก็ต้องชำระให้หมดก่อนด้วย 5.เปลี่ยนตัวลูกหนี้ หากเรา ผ่อนบ้านไม่ไหว หรือ ผ่อนคอนโดไม่ไหวจริง ๆ อาจจะใช้วิธีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้รายใหม่ ที่ทำสัญญาเงินกู้กับทางธนาคารแทนตัวเรา ซึ่งบุคคลที่มาเป็นลูกหนี้แทนเรานั้น อาจจะเป็นบุคคลที่เรารู้จัก หรือญาติพี่น้องกับเรา ที่มีการตกลงกันในรายละเอียดกันไว้ระหว่างเรากับคนที่จะมาเป็นลูกหนี้แทน ซึ่งเราต้องทำการแจ้งกับธนาคารเพื่อขอเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ที่สำคัญผู้ที่จะเป็นลูกหนี้แทนเราก็คงต้องมีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ของแต่ละธนาคาร และการพิจารณาก็ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคารด้วยว่าจะอนุมัติหรือไม่อย่างไร 6.หาคนช่วยผ่อน/ผู้กู้ร่วมเพิ่ม นอกจากการเปลี่ยนตัวลูกหนี้แล้ว อีกวิธีที่จะช่วยทำให้เรายังสามารถผ่านวิกฤตนี้ไปได้ คือ การหาคนมาช่วยผ่อน อาจจะเป็นญาติพี่น้อง พ่อ แม่ สามี ภรรยา ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน โดยเป็นการเพิ่มชื่อเข้ามาในสัญญากู้เงินในลักษณะผู้กู้ร่วมนั่นเอง โดยเกณฑ์การพิจารณาก็เป็นไปตามเงื่อนไขของทางธนาคาร ซึ่งเราต้องเตรียมเอกสารของบุคคลนั้น พร้อมกับการแจ้งกับธนาคารที่เรากู้เงินอยู่ สามารถเพิ่มชื่อผู้กู้ร่วมได้สูงสุด 2 คน 7.รีเทนชั่น/ขอลดดอกเบี้ย วิธีนี้ อาจจะไม่เป็นที่รู้จักหรือคุ้นเคยกับคนส่วนใหญ่ เพราะเรามักจะได้ยินวิธีการรีไฟแนนซ์มากกว่า ซึ่งการรีเทนชั่น คือ วิธีการขอเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับธนาคารเดิม เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง หรือการขอลดดอกเบี้ยนั่นเอง แต่วิธีการนี้อัตราดอกเบี้ยไม่ได้ลดลงมากนัก จะอยู่ในช่วง 0.25-0.50% เท่านั้น ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการรีไฟแนนซ์ อาจจะได้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่า เพราะมักจะมีโปรโมชั่นพิเศษมานำเสนอ และวิธีนี้กการพิจารณาของธนาคารก็ยังจะต้องดูคุณสมบัติ และประวัติของผู้กู้ประกอบการพิจารณาด้วย 8.รีไฟแนนซ์ เป็นหนึ่งวิธียอดฮิตที่ใคร ๆ หลายคนมักนิยมทำ หากผ่อนชำระไปครบกำหนด 3 ปีแล้ว และเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยในขณะนั้นถูกกว่าตอนแรกที่กู้ซื้อบ้านหรือคอนโดมา หรือเห็นว่าราคาบ้านหรือคอนโด ขยับเพิ่มสูงมากขึ้นซึ่งสามารถจะทำการรีไฟแนนซ์เพื่อให้มีวงเงินเหลือ หรือการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระให้นานขึ้น เพื่อให้ค่าผ่อนบ้านหรือคอนโดต่องวดลดต่ำลงให้เหมาะสมกับสถานะทางการเงินปัจจุบันของผู้กู้ 9.ขอโอนบ้านให้ธนาคารชั่วคราว เพื่อซื้อคืนภายหลัง ทางเลือกที่ยังจะทำให้เรามีบ้านหรือคอนโด แม้ว่าเราจะมีรายได้ลดหรือขาดรายได้จน ผ่อนบ้านไม่ไหว ก็คือการโอนบ้านหรือคอนโดให้กับธนาคารเป็นการชั่วคราว และจะกลับมาซื้อคืนภายหลัง ซึ่งปกติธนาคารจะรับโอนบานหรือคอนโด โดยหักนี้ในจำนวนไม่เกิน 90% ของราคาบ้านหรือคอนโด หากมีหนี้ส่วนเกินลูกหนี้จะต้องชำระหนี้ให้หมดในวันโอนด้วย   เมื่อโอนบ้านหรือคอนโดให้ธนาคารแล้ว เรายังคงอาศัยอยู่ต่อไปได้ปกติ ซึ่งวิธีการนี้มีลักษณะเหมือนการขายฝากบ้านหรือคอนโด และเราก็เช่าบ้านหรือคอนโดของตัวเองอยู่ โดยทางธนาคารจะมีอัตราค่าเช่าคิดเป็น 0.4-0.6% ของมูลค่าบ้านหรือคอนโด และมีกำหนดการทำสัญญาเป็นรายปี เป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้เราผ่านวิกฤตนี้ไปได้ 10.การรวมหนี้ ลูกหนี้หลายคนอาจจะไม่ได้เป็นหนี้เฉพาะค่าผ่อนบ้านหรือผ่อนคอนโดเท่านั้น อาจจะมีหนี้อื่น ๆ เช่น ผ่อนสินค้า บัตรเครดิต ซึ่งอาจจะทำให้แต่ละเดือนจะต้องชำระหนี้หลายทาง และรวมกันเป็นเงินจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ในแต่ละเดือนได้ไหว การรวมหนี้ไว้ก้อนเดียวกัน และชำระเพียงเจ้าหนี้รายเดียวก็จะช่วยทำให้อัตราการผ่อนต่อเดือนลดลง   วิธีการรวมหนี้ (Debt Consolidation) เป็นมาตรการล่าสุด เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้นำออกมาช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งหลาย ด้วยการรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น ที่สามารถรวมหนี้ข้ามสถาบันการเงิน และ/หรือผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นได้ จากเดิมที่รวมได้เฉพาะหนี้ในสถาบันการเงินเดียวกันเท่านั้น     ที่มา : ธปท., DDProperty, ThinkofLiving, Home.co.th,Monneyguru   อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง -อัปเดตดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ บ้านและคอนโด เดือนตุลาคม 2565 -อัปเดตดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน และคอนโด เดือนตุลาคม 2565 -เคล็ดลับผ่อนบ้านให้หมดเร็ว ดอกเบี้ยลด หมดหนี้ไว -ผ่อนบ้านไม่ไหว ทำไงดี!  
10 พืชโปรตีนสูง ไม่ง้อเนื้อสัตว์

10 พืชโปรตีนสูง ไม่ง้อเนื้อสัตว์

10 พืชโปรตีนสูง ไม่ต้องง้อเนื้อสัตว์ ถ้าโปรตีนจากเนื้อสัตว์ปรับราคาสูงขึ้น บางทีการหาโปรตีนทางเลือกอื่นๆ เช่น โปรตีนจากพืช และจากผักชนิดต่างๆ ก็ดูจะเป็นทางออกที่น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะเทรนด์การรับประทาน Plant Base การเป็นรับประทานมังสวิรัติ หรือการรับประทานแบบ Vegan  ก็กำลังได้รับความนิยมไม่น้อยเลย ซึ่งแต่ละรูปแบบการทางอาหารที่ปราศจากเนื้อสัตว์ ก็มีความเข้มงวดในการเลือกวัตถุดิบที่ต่างกัน แต่ที่แน่ๆ ร่างการคนเราควรได้รับสารอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ซึ่งโปรตีนก็เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างมาก ทั้งในเรื่องของการเจริญเติบโตของร่างกาย การซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ การสร้างและรักษามวลกล้ามเนื้อ การช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดด้วย รวมถึงการผลิตฮอร์โมนและเอมไซม์ชนิดต่างๆ เพื่อให้ระบบร่างกายทำงานได้ปกติ   รู้หรือไม่? ร่างการต้องการโปรตีนปริมาณแค่ไหนในแต่ละวัน โปรตีน เป็นสารอาหารที่จำเป็น แต่รู้หรือไม่ว่าคนส่วนใหญ่มักจะขาดโปรตีน หรือได้รับโปรตีนไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน   โดยทั่วไป บุคคลธรรมดา ควรได้รับโปรตีนประมาณ 1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ลองคำนวณง่ายๆ ก็คือ ถ้าน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ร่างกายเราจะต้องการโปรตีน 50 กรัมต่อวัน   แต่ปริมาณโปรตีนที่ร่างกายต้องการก็จะแตกต่างกันไปในบางบุคคล เช่น ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังก่อนฟอกไต จะต้องจำกัดโปรตีนในปริมาณ 0.6-0.8 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในขณะที่นักกีฬา หรือผู้ที่ต้องการสร้างกล้ามเนื้อ หรือผู้ป่วยบางประเภท เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยโรคตับ ฯลฯ จะมีความต้องการโปรตีน 1.2-2 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม     โปรตีนจากพืช มีอะไรบ้าง? ถ้าเรามีเหตุผลที่ไม่สามารถรับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ ในขณะที่ร่างกายก็ไม่สามารถขาดโปรตีนได้เช่นกัน แล้วโปรตีนทางเลือกจากพืชมีอะไรบ้างที่มี โปรตีนสู๊งสูง   เมล็ดฟักทอง จัดว่าเป็นแหล่งโปรตีนจากพืชที่ดี ที่มีปริมาณโปรตีนสูงสุดๆ ในปริมาณ 100 กรัม มีโปรตีนถึง 30 กรัมกันไปเลย แล้วยังอุดมไปด้วย แมกนีเซียม แมงกานีส เหล็ก สังกะสี และทองแดง ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเรื่องการนอนหลับด้วย   ต้นอ่อนทานตะวัน  ในปริมาณ 100 กรัม ไม่น่าเชื่อว่าจะมีโปรตีนสูงถึง 23 กรัม สูงเทียบกับเนื้อสัตว์ในปริมาณเท่าๆ กันได้เลย ในต้นอ่อนทานตะวันมีแร่ธาตุมากมาย เด่นทั้ง วิตามิน A วิตามิน B1 B6 โอเมก้า 3 6 9 แคลเซียม โฟเลต และอื่นๆ อีกมากมาย   เต้าหู้ เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า ถั่วเหลือง เป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี สำหรับผู้ที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ แต่เมื่อนำมาแปรรูปเป็นเต้าหู้แล้ว ในเต้าหู้ 100 กรัม มีโปรตีนถึง 17 กรัม แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำนมถั่วเหลืองที่ใช้ผลิตด้วย หรือจะเลือกดื่มเป็นน้ำเต้าหู้ก็ดีเช่นกันนะ เพราะเราจะได้ทั้งไขมันดี เส้นใย แคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก และวิตามิน   ข้าวโอ๊ต เป็นหนึ่งในสุดยอดอาหารไขมันต่ำ และเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ที่มักจะถูกแนะนำให้รับประทานในช่วงลดน้ำหนัก นอกจากจะให้พลังงานที่สูงแล้ว ข้าวโอ๊ตปริมาณ 100 กรัม ยังมีปริมาณโปรตีนที่สูง 15 กรัม แล้วยังมีใยอาหารที่สูงไม่แพ้กัน รวมถึงกรดอมิโน วิตามิน และแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายอีกมากมาย   ถั่วงอก  ที่หลายคนไม่ชอบ และอาจมองข้าม แต่รู้หรือไม่ว่าถั่วงอก ในปริมาณ 100 กรัม มีโปรตีนมากถึง 13 กรัมเลยทีเดียว แถมยังอุดมไปด้วย แคลเซียม ธาตุเหล็ก และวิตามินต่างๆ   ถั่วแระญี่ปุ่น  หรือ อิดามาเมะ จัดว่าเป็นแหล่งโปรตีนราคาย่อมเยา ซึ่งในปริมาณ 100 กรัม มีโปรตีนถึง 11 กรัม แล้วยังให้พลังงานและไขมันต่ำ มีวิตามิน A B C K รวมถึงแร่ธาตุอย่าง แคลเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส โฟเลต และเบต้าแคโรทีน ในถั่วแระญี่ปุ่นมีใยอาหารสูงจึงช่วยลดอาการท้องผูกได้อีกด้วย   ถั่วลันเตา ผักยอดนิยมที่มีราคาไม่แพง และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีใยอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่ดี ที่สำคัญในถั่วลันเตา 100 กรัม จะมีโปรตีน 8.6 กรัม เป็นอีกทางเลือกที่ดีของผู้ที่ไม่ต้องการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์   ผักโขม เป็นผักอีกชนิดที่มีโปรตีนสูง เข้ารอบมาเป็นอันดับต้นๆ ของผักใบเขียว เพราะในปริมาณ 100 กรัม ผักโขมมีโปรตีน 5.2 กรัม รวมถึงสารอาหารอื่นๆ อีกมากมายที่ดีต่อร่างกาย เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม แมกนีเซียมื วิตามินA B K   ตำลึง ในปริมาณ 100 กรัม มีโปรตีน 4.1 กรัม ผักพื้นบ้าน ผักริมรั้วที่เราคุ้นเคยกันดี มีวิตามินเอ และสารต้านอนุมูลอิสระสูงปรี๊ด ราคาก็ไม่แพงด้วย   เห็ดนางฟ้า มีสารอาหารและวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกายอยู่มากมาย และเชื่อว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระและต้านทางการเกิดโรคมะเร็งได้ ในเห็ดนางฟ้าปริมาณ 100 กรัม มีโปรตีนสูง 3.4 กรัม ด้วยคุณสมบัติที่ย่อยง่ายกว่าโปรตีนจากเนื้อสัตว์จึงเป็นผลดีต่อระบบทางเดินอาหาร และเหมาะกับการรับประทานเพื่อควบคุมน้ำหนัก   บทความที่น่าสนใจ หมูแพงใช่ไหม?  กินอะไรแทน
5 คำถามเริ่มต้นที่ต้องตอบ สำหรับคนที่คิดจะสร้างบ้าน

5 คำถามเริ่มต้นที่ต้องตอบ สำหรับคนที่คิดจะสร้างบ้าน

การมีบ้านสักหลังคงเป็นความฝันของใครหลาย ๆ คน ยิ่งในภาวะปัจจุบัน ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงมีอยู่  การอยู่บ้านที่มีพื้นที่กว้าง ๆ เพื่อใช้ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือการเรียน เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการ มากกว่าการอยู่ในห้องคอนโดมิเนียม เป็นทางเลือกที่คนส่วนใหญ่ต้องการ แต่การจะมีบ้านสักหลัง คนส่วนใหญ่ก็มักจะเลือกซื้อจากดีเวลลอปเปอร์ ที่พัฒนาขึ้นมาขายมากมายหลายรูปแบบ หลายทำเล และระดับราคา แต่ก็มีไม่น้อยเลือกที่จะปลูกสร้างบ้านเอง ตามรูปแบบและขนาดที่ต้องการ โดยเฉพาะเลือกที่จะอยู่ในทำเลเดิมที่คุ้นเคย บนที่ดินของตนเอง แล้วการจะปลูกสร้างบ้านของตนเอง จะต้องเริ่มต้นอย่างไรดี เราจึงมี 5 คำถามสำคัญ สำหรับคนที่ต้องการปลูกสร้างบ้านเอง มาใช้เป็นแนวทางการวางแผน เพื่อให้ได้บ้านที่ถูกใจ ตรงความต้องการของผู้อยู่อาศัยมากที่สุด มาเป็นไอเดียกัน ​ 1.เริ่มต้นด้วยแบบและขนาดเท่าไรดี จุดเริ่มต้นของการสร้างบ้าน คนส่วนใหญ่จะคิดถึงรูปแบบและหน้าตาของบ้าน ว่าตนเองต้องการบ้านสไตล์ไหน หน้าตาบ้านเป็นอย่างไร หลังจากนั้นก็จะลงไปในรายละเอียดของตัวบ้าน ว่าจะต้องมีขนาดพื้นที่เท่าไร มีกี่ห้องนอน มีพื้นที่อะไรบ้าง   ปัญหาที่ต้องเจอหากเริ่มต้นแบบนี้ คือ ความไม่สอดคล้องกันของการใช้งานกับขนาดสัดส่วน รูปร่างหน้าตาของบ้านในภายหลัง  ซึ่งทางออกของปัญหานี้ คงต้องเริ่มจากการสำรวจความต้องการของสมาชิกภายในบ้านก่อน ทั้งความต้องการใช้งานและด้านความสวยงาม เมื่อรวบรวมมาได้ส่วนหนึ่งจะถูกแปลงไปเป็นขนาดพื้นที่ใช้สอย ทำให้ขนาด สัดส่วน รูปร่างหน้าตา สอดคล้องกับการใช้งาน อีกทั้งขนาดพื้นที่ใช้สอยยังสามารถนำมาตั้งต้นประเมินค่าใช้จ่ายในงานออกแบบก่อสร้างอย่างคร่าว ๆ ได้อีกด้วย 2.เตรียมงบประมาณเท่าไรจะพอ เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เป็นหัวใจสำคัญของการปลูกสร้างบ้านของตนเอง เพราะปัญหาที่มักจะพบบ่อยเสมอ คือ งบประมาณบานปลาย จากเดิมที่วางไว้เท่านี้ แต่พอสร้างจริงก็มีค่าใช้จ่ายงอกขึ้นมา โดยเฉพาะหากมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้าง ขนาด หรือวัสดุที่ใช้   โดยเราสามารถประเมินค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้านได้ตั้งแต่ต้น ซึ่งตัวเลขเบื้องต้นที่ได้มานั้น จะมีความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงค่อนข้างมาก แต่จะทำให้เจ้าของบ้านเห็นวงเงินงบประมาณที่ต้องเตรียมเอาไว้ใช้จ่ายได้ในภาพรวมได้ โดยรายละเอียดค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมไว้ จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ค่าออกแบบ และ ค่าก่อสร้าง   อัตราค่าออกแบบ ส่วนมากจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของค่าก่อสร้าง โดยสมาคมสถาปนิกกำหนดมาตรฐานค่าก่อสร้างบ้านพักอาศัยไว้ที่ 7.5% ของค่าก่อสร้าง โดยค่าออกแบบจะมากหรือน้อย นอกจากจะขึ้นอยู่กับพื้นที่ก่อสร้างแล้วยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ความยากง่ายของแบบ,  ระดับของการให้บริการ, ความน่าเชื่อถือ เป็นต้น  อัตราค่าก่อสร้าง มักจะแตกต่างกันตามข้อจำกัดของสภาพที่ตั้ง สภาพแวดล้อม, ความยากง่ายในงานก่อสร้าง, ค่าจ้างแรงงาน, ค่าวัสดุก่อสร้าง และค่าดำเนินงานของผู้รับเหมา   แต่หากต้องการตัวเลขค่าใช้จ่ายที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น จำเป็นจะต้องดำเนินการออกแบบให้แล้วเสร็จก่อน จากนั้นจึงทำการคิดคำนวณค่าก่อสร้างจากการถอดปริมาณวัสดุ และปริมาณเนื้องาน ออกมาจากแบบก่อสร้าง รวมกับค่าดำเนินงานของผู้รับเหมา เพื่อเป็นราคารวมทั้งหมด ซึ่งวิธีนี้เราก็จะได้ค่าก่อสร้างที่ใกล้เคียงความจริง รวมถึงเห็นค่าใช้จ่ายแยกตามรายการงานแต่ละส่วนอย่างชัดเจน หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ BOQ (Bill of Quantity) นั่นเอง 3.เลือกใช้วัสดุอย่างไรในแบบที่ไช่ การเลือกใช้วัสดุ เป็นหนึ่งขั้นตอนในงานออกแบบ ที่ทางสถาปนิกจะทำหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าของบ้านหรือเจ้าของงาน เลือกวัสดุเพื่อนำมาใช้ในงานก่อสร้างได้อย่างเหมาะสม ตรงตามความต้องการทั้งด้านการใช้งาน ความสวยงาม และการควบคุมงบประมาณ ในกรณีที่เจ้าของบ้านต้องเลือกวัสดุด้วยตัวเอง ควรศึกษา และทำการเปรียบเทียบคุณสมบัติ ความยากง่ายในการใช้งาน ราคา รวมถึงพิจารณาความยากง่ายในการจัดหามาซ่อมแซมเมื่อเกิดการชำรุดในภายหลังเอาไว้ด้วย   ในปัจจุบันเพื่ออำนวยความสะดวก และเป็นทางเลือกใหม่ให้กับเจ้าของงาน ผู้ผลิตสินค้าวัสดุก่อสร้างจึงมักจะมีบริการสินค้าพร้อมงานติดตั้งในรูปแบบของ Solution งานส่วนต่าง ๆ ของบ้าน ให้เจ้าของงานเลือกใช้แทนการขายแค่ตัววัสดุก่อสร้างเป็นชิ้น ๆ แถมยังมีการรับประกันงานติดตั้ง ช่วยลดความกังวลหลังงานก่อสร้าง เช่น งานมุงกระเบื้องหลังคา, งานติดตั้งประตูหน้าต่างไวนิล, งานจัดสวนปูทางเดิน, งานติดตั้งฉนวนกันความร้อน และ งานปรับปรุงห้องน้ำ เป็นต้น 4.ใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะได้อยู่บ้าน การสร้างบ้านสักหลังจะใช้ระยะเวลานานแค่ไหน สามารถพิจารณาจากระยะเวลาที่ใช้ในงานออกแบบ หรือระยะเวลาที่ใช้ในการจัดหาแบบก่อสร้างบ้าน รวมเข้ากับระยะเวลาที่ใช้ในงานก่อสร้างบ้าน โดยปกติสถาปนิกมักจะใช้ระยะเวลาในงานออกแบบบ้านตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป บ้านบางหลังที่เจ้าของบ้านพิถีพิถันในงานออกแบบอาจจะใช้ระยะเวลาในการออกแบบยาวนานมากกว่าหนึ่งปีเลยทีเดียว   ในส่วนของงานก่อสร้างถ้านับระยะเวลาที่ใช้ตั้งแต่จัดหาผู้รับเหมา ทำเรื่องขออนุญาตก่อสร้างกับทางราชการ จนถึงงานก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จ ยกตัวอย่างบ้านที่มีรูปแบบเรียบง่ายไม่มีรายละเอียดงานก่อสร้างที่ซับซ้อน มักจะใช้ระยะเวลาดำเนินงานประมาณ 8-12 เดือน โดยยังไม่รวมระยะเวลาของงานตกแต่งภายในและการจัดสวนรอบบ้าน 5.เจอปัญหากับผู้รับเหมา แก้ไขอย่างไรไม่ให้ปวดหัว ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจ้าของบ้านไม่อยากพบเจอในช่วงงานก่อสร้าง คือ งานก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามกำหนด ไม่เป็นไปตามข้อตกลง ผู้รับเหมาทิ้งงาน, คุณภาพงานก่อสร้างไม่ตรงตามความคาดหวัง งานไม่ตรงแบบ งานไม่เรียบร้อย, งานก่อสร้างยืดเยื้อ ปรับแก้แบบหน้างาน ทำให้ค่าใช้จ่ายบานปลาย  ฯลฯ   ปัญหาเหล่านี้มักทำให้งานก่อสร้างสะดุด เจ้าของบ้าน และช่างผู้รับเหมารู้สึกกังวลใจ แต่ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นสามารถควบคุมดูแลได้ด้วยการมีแบบก่อสร้างคุณภาพดี มีรายละเอียดงานก่อสร้างครบถ้วน, มีคนคอยควบคุมงานก่อสร้างพร้อมมีทีมช่างก่อสร้างที่มีประสบการณ์ เอาใจใส่คอยติดตามตรวจสอบแก้ไขข้อผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อนที่จะลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ และที่สำคัญเจ้าของบ้าน กับช่างผู้รับเหมาจะต้องรับรู้และมีความเข้าใจเนื้อหาของแบบและงานก่อสร้างไปในทิศทางเดียวกัน มีการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน ต่อกันโดยตลอดระหว่างงานก่อสร้าง เพียงเท่านี้งานก่อสร้างก็จะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น   ทั้งหมดนี้ ก็เป็น 5 คำถามสำคัญสำหรับผู้ที่คิดจะปลูกสร้างบ้านเอง แทนการไปเลือกซื้อจากโครงการบ้านจัดสรรต่าง ๆ หวังว่าจะใช้เป็นแนวทางการวางแผน เพื่อปลูกสร้างบ้านและได้บ้านตามที่ฝันไว้ ที่สำคัญควรปรึกษาและเลือกใช้บริการจากผู้ที่มีประสบการณ์และเชื่อถือได้เสมอ   ที่มา : SCG Home  
อัพเดต 5 เทรนด์ที่อยู่อาศัย-การก่อสร้าง มาแรงปี 2022

อัพเดต 5 เทรนด์ที่อยู่อาศัย-การก่อสร้าง มาแรงปี 2022

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กินเวลานานกว่า 2 ปี รวมถึงวิกฤติโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกบริบทของการใช้ชีวิต และการทำงาน ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเทรนด์โลกวิถีใหม่ ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นวิถีชีวิตปกติของวันนี้ หรือ Now Normal ที่ทุกคนเริ่มคุ้นเคย เรียนรู้ที่จะวางแผน และปรับชีวิตให้เข้ากับสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปีหน้าที่กำลังจะมาถึงเรายังคงต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่เชื่อว่าทุกคนจะเรียนรู้และปรับตัวรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ เอง ก็ต้องหากลยุทธ์และแผนธุรกิจออกมารองรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยคงต้องประเมินและวิเคราะห์ถึงเทรนด์ในอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้น   สำหรับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัยเอง ก็ต้องพัฒนาที่อยู่อาศัยและการก่อสร้าง ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ที่มีพฤติกรรมการอยู่อาศัยไม่เหมือนเดิม ซึ่ง SCG ได้ทำการวิเคราะห์และประเมินพฤติกรรมการอยู่อาศัยและความต้องการของผู้บริโภคในปี 2565 ที่จะมาตอบโจทย์ภายใต้วิถีชีวิต Now Normal  โดยจะมี 5 เทรนด์สำคัญ คือ 1.Smart Living and Building การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบบ้าน หรือใช้สั่งเปิด-ปิด และควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้าน และอาคาร เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย ปลอดภัย และประหยัดพลังงานมากยิ่งขึ้น เช่น ระบบสั่งการด้วยเสียง หรือเซนเซอร์ แอปพลิเคชัน ดิจิทัลแพลตฟอร์ม รวมไปถึงเครื่องใช้ภายในบ้านระบบอัตโนมัติต่างๆ 2.Health & Well-Being ในยุคนี้ เรื่องสุขอนามัยเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมาก เพราะไม่ว่าจะโควิด-19 ฝุ่น PM 2.5 เชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย ต่างก็สร้างความกังวลให้เราทุกคน ดังนั้นคงจะดีไม่น้อย ถ้าเราปรับบ้าน และอาคารให้พร้อมรับมือกับความกังวลเหล่านี้ เพื่อดูแลสุขอนามัยของผู้อยู่อาศัยในระยะยาว พร้อมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และเด็กเล็กที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ 3.Sustainable Living ความยั่งยืนเป็นอีกหนึ่งเมกะเทรนด์ที่คนทั่วโลกให้ความสำคัญ หลายคนหันมาใส่ใจและเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่มอบความยั่งยืน ทั้งด้านเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดทรัพยากร ประหยัดพลังงาน และปลอดภัยต่อผู้อาศัย 4.Home Transformation ทุกวันนี้บ้านได้กลายเป็น “Multi-functional Space” ที่เป็นทั้งบ้าน ออฟฟิศ โรงเรียน ฟิตเนส ที่พักผ่อน ฯลฯ หลายคนจึงหันมาปรับและต่อเติมพื้นที่ใช้สอยให้เหมาะกับการใช้งานของสมาชิกแต่ละคน โดยเน้นให้มีความยืดหยุ่น และใช้งานได้อย่างเอนกประสงค์มากที่สุด เช่น แบ่งสัดส่วนห้องทำงาน/ห้องเรียนในห้องนอน หรือห้องนั่งเล่น จัดสรรพื้นที่ในห้องครัวเป็นโซนนั่งชิล โต๊ะทำงาน และทานอาหาร ตกแต่งสวนหน้าบ้านให้เป็นสนามเด็กเล่น พื้นที่ออกกำลังกาย มุมพักผ่อน และโรงจอดรถ เป็นต้น 5.Construction Transformation การออกแบบและก่อสร้างอาคารแห่งอนาคต กำลังถูกทรานฟอร์มด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมการก่อสร้างมากมาย ซึ่งจะเข้ามาช่วยลดเวลา ลดเศษวัสดุในไซต์งานก่อสร้าง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีความแม่นยำสูง และครบวงจร โดยเทคโนโลยีที่มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ได้แก่ นวัตกรรม 3D Cement Printing ใช้สร้างสรรค์ได้ทั้งงานก่อสร้าง และงานตกแต่งที่มีความซับซ้อน สามารถครีเอทลายปรินท์ได้อย่างหลากหลาย ขึ้นรูปชิ้นงานได้ตามรูปแบบที่ต้องการ เทคโนโลยี Building Information Modeling (BIM) ที่ช่วยสร้างความแม่นยำในการออกแบบ บริหารจัดการและควบคุมคุณภาพงานก่อสร้างตั้งแต่ก่อนโครงการขณะก่อสร้างและหลังจบโครงการ และ Drone นวัตกรรมประเมินพื้นที่ก่อนออกแบบผังโครงการ ช่วยลดความผิดพลาดในการก่อสร้าง เพิ่มความปลอดภัยในไซต์งาน เป็นต้น   นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เปิดเผยว่า โควิด-19 และโลกร้อนกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการอยู่อาศัย และการก่อสร้างวิถีใหม่ โดยผู้คนต้องการที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย มีสุขอนามัย เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพที่ดี สะดวกสบาย และตอบการใช้งานที่หลากหลาย ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงการประหยัดพลังงาน ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้ทุกคนเริ่มปรับตัว และพัฒนาวิถีชีวิตให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุค Now Normal ซึ่งบ้านถือเป็น Safe Space ในการใช้ชีวิต และทำทุกกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งทำงาน เรียน พักผ่อน และอีกมากมาย ​​
10 จุดตรวจเช็คสุขภาพบ้าน เพื่อยืดอายุการใช้งานให้ยาวนาน

10 จุดตรวจเช็คสุขภาพบ้าน เพื่อยืดอายุการใช้งานให้ยาวนาน

สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ร่างกายคนเราแข็งแรงและมีสุขภาพดีได้ คือ การตรวจร่างกายประจำปี เพราะจะทำให้เรารู้ว่าร่างกายเรามีอะไรต้องดูแล  ซ่อมแซม หรือฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติ หรืออย่างน้อยก็ไม่ให้เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา สำหรับบ้านพักอาศัยที่เราอยู่ ก็ไม่ได้ต่างจากร่างกายมนุษย์  การจะทำให้บ้านยังมีความมั่นคงแข็งแรง และมีสภาพการใช้งานที่ดีอยู่เสมอ ก็ต้องมีการตรวจสุขภาพบ้านด้วยเช่นกัน เพราะจะได้รู้ว่ามีส่วนไหนต้องซ่อมแซม และดูแล เพื่อให้บ้านมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน อายุบ้านกับจุดที่ต้องดูแล สำหรับบ้านที่ก่อสร้างมา มีจุดการตรวจสอบแตกต่างกันเป็นพิเศษบ้าง ตามระยะเวลาหรืออายุของตัวบ้าน ดังนี้ -บ้านที่มีอายุ 0-5 ปี ปัญหาที่พบส่วนใหญ่มักเกิดจากความบกพร่องของการก่อสร้าง เรียกว่า Defect อาทิ การแตกร้าวของผนังจากการฉาบ หรือเลือกใช้ปูนฉาบที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือความบกพร่องของอุปกรณ์ภายในบ้านที่มาจากการติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ อาจพบปัญหาดินรอบบ้านทรุดตัว จนเกิดโพรงใต้บ้าน ซึ่งหากเป็นบ้านในโครงการและอยู่ในช่วงรับประกัน ให้สอบถามทางโครงการว่าปัญหานี้อยู่ในเงื่อนไขการรับประกันหรือไม่ แต่หากเป็นบ้านสั่งสร้างก็อาจจะพิจารณาซ่อมแซมเป็นจุด ๆ ไป -บ้านที่มีอายุ 5-15 ปี เป็นช่วงเวลาควรเริ่มทำการตรวจสอบและบำรุงรักษา ซึ่งหากแก้ไขได้ทันจะช่วยลดการเกิดปัญหาที่อาจบานปลายในอนาคตได้ โดยเน้นตรวจ 3 จุดสำคัญ ได้แก่ ภายนอกบ้าน, ภายในบ้าน และโครงสร้างของบ้าน 10 จุดตรวจสุขภาพบ้าน 1.รอยร้าวที่ผนังบ้าน การตรวจสอบ: สามารถตรวจสอบได้ด้วยตา โดยจะเห็นรอยร้าวขนาดเล็กแตกยาวไปมาแบบไร้ทิศทาง สร้างความเสียหายให้ผนังและสีภายนอก โดยเฉพาะทิศที่ได้รับความร้อนจากแสงแดดตลอดวัน เช่น ทิศใต้ และทิศตะวันตก รอยร้าวชนิดนี้ไม่อันตราย ไม่ส่งผลกับโครงสร้างอาคาร แต่ถ้าปล่อยไว้นานอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการรั่วซึมของน้ำฝนเข้าสู่อาคารได้ การแก้ไข: แก้ไขได้โดยแต่งรอยแตกร้าวให้กว้างขึ้นเล็กน้อยเป็นรูปตัววี พร้อมทำความสะอาดให้เรียบร้อย หลังจากนั้นทำการทารองพื้นปูนเก่า และเก็บรอยร้าวด้วยวัสดุอุดโป้วที่มีความยืดหยุ่นสูง ก่อนทาสีทับหน้าชนิดยืดหยุ่นตามระบบการทาสีที่ถูกต้อง   แต่หากเป็นรอยเพียงเท่าเส้นผมให้ทาสีทับหน้าชนิดยืดหยุ่นตัวสูงทาทับปิดรอยแตกร้าวได้เลย 2.การรั่วซึมที่ผนัง การตรวจสอบ: รอยรั่วบริเวณมุมประตูหน้าต่างมักมาพร้อมรอยแตกร้าวบริเวณมุมวงกบ ทำให้น้ำรั่วซึมเข้าบ้าน  อาจเกิดจากไม่ได้ใส่ลวดกรงไก่ จึงสร้างรอยร้าวเวลาใช้งานประตูหรือหน้าต่าง การแก้ไข: ควรใส่ลวดกรงไก่เพื่อป้องกันรอยแตกร้าวอันเป็นสาเหตุรั่วซึม 3.รอยรั่วบริเวณรอยต่อผนังชนท้องคาน การตรวจสอบ: แตกร้าวเป็นเส้นระหว่างใต้คานกับผนัง ทำให้น้ำฝนไหลเข้าตัวบ้าน สาเหตุมักเกิดตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้าง การผิดขั้นตอน หรือเร่งฉาบปูนเร็วเกินไป ทำให้ปูนเกิดการหดตัวลง การแก้ไข: ใช้ซิลิโคน หรืออครีลิกยิงเข้าไประหว่างร่อง ความยืดหยุ่นของสารเชื่อมประสานจะช่วยอุดรอยร้าวได้ 4.รอยรั่วบริเวณรอยต่อแนวดิ่งข้างเสา สาเหตุอาจเกิดจากการเก็บงานรอยต่อจุดนี้ไม่ดี หรือร้ายแรงหน่อยคือ ไม่ได้เสียบเหล็กหนวดกุ้งระหว่างเสากับผนังบ้าน การตรวจสอบ : จุดรอยรั่วบริเวณรอยต่อแนวดิ่งข้างเสา การแก้ไข:  สกัดรอยแตกร้าวให้ใหญ่ขึ้นเป็นรูปตัววี จากนั้นยาด้วย PU แล้วทาสีเก็บความเรียบร้อย และควรใส่เหล็กหนวดกุ้งทุกครั้งในการก่อผนังชนเสา 5.การทรุดตัวของดินและพื้นรอบบ้าน การตรวจสอบ: หลังจากที่พบการทรุดตัวของดินรอบบ้านในช่วง 5 ปีแล้วนั้น ปัญหาที่มักตามมาคือ ปัญหาพื้นรอบบ้านและพื้นจอดรถมีการทรุดตัวเสียหาย เป็นเพราะพื้นส่วนนี้ส่วนใหญ่มักไม่ได้ทำการลงเสาเข็ม หรือเป็นการลงเสาเข็มแบบสั้นที่อาศัยแรงฝืดในชั้นดินช่วยพยุงน้ำหนักของพื้นไว้ และเมื่อเวลาผ่านไปพื้นดินมีการทรุดตัวตามธรรมชาติ ทำให้เกิดความเสียหายตามมา  โดยหากหากเป็นพื้นคอนกรีตจะเริ่มจากการสังเกตเห็นว่ามีระดับที่เอียงผิดปกติ และหากมีการทรุดมากขึ้น จะเห็นรอยแตกร้าวบริเวณพื้นตามมา การแก้ไข : หากเป็นพื้นจอดรถควรทำการลงเข็ม เพื่อช่วยลดการทรุดตัวในอนาคต และควรแยกขาดจากตัวบ้านเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายในกรณีที่มีการขยับตัวของโครงสร้าง 6.ตรวจสอบหลังคาเพื่อป้องกันสัตว์เล็ก ปัญหาสัตว์เล็กทำลายหลังคา ทั้งกัดกินโครงสร้างและเข้ามาทำรัง ซึ่งสัตว์เล็ก ๆ เหล่านี้คือตัวการที่ทำให้หลังคาบ้านโดนทำลาย ผุพังง่าย ก่อความรำคาญทั้งกลิ่นและเสียง รวมถึงทำให้บ้านสกปรก การตรวจสอบ: ครอบข้าง  อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ไม่พบช่องว่าง, สันหลังคา  ไม่ชำรุด เเตกร้าว, เชิงชายอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ไม่แตกหัก, สันตะเข้  อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ไม่พบช่องว่าง, ครอบปิดปลายสันตะเข้ อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ไม่พบช่องว่าง และ ฝ้าชายคา ไม่ชำรุด เเตกหักเสียหาย การแก้ไข: ติดตั้งระบบหลังคากันสัตว์เล็ก SCG เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้สัตว์ต่างๆ เข้ามาทำลายโครงสร้างหลังคาหรือเข้ามาอยู่อาศัยได้ ประกอบไปด้วยอุปกรณ์ 5 ชนิด ช่วยป้องกันจุดเสี่ยง 5 จุดด้วยกัน ได้แก่  แผ่นปิดครอบข้าง  แผ่นปิดครอบสันหลังคา  แผ่นปิดเชิงชาย แผ่นปิดครอบสันตะเข้  แผ่นปิดปลายสันตะเข้ 7.การรั่วซึมที่หลังคา การตรวจสอบ: สังเกตรูปทรงหลังคาว่าได้ระดับ มีความสมมาตรดีหรือไม่ กระเบื้องมุงหลังคาติดตั้งได้แนว ไม่เผยอ ไม่มีรอยแตกร้าว, ครอบหลังคาทั้งแนวสันหลังคาและตะเข้สันปิดมิดชิด  ถ้าครอบเปียกให้สังเกตว่าปูนใต้ครอบมีรอยร้าวหรือไม่ เพราะเป็นจุดที่น้ำซึมผ่านได้, มองหาคราบน้ำบนฝ้าชายคาว่ามีหรือไม่ และลองเปิดฝ้าเพดานชั้นบนแล้วสังเกตดูว่ามีช่องของแสง หรือคราบน้ำในโถงหลังคาหรือไม่ การแก้ไข : ปรึกษาช่างผู้ชำนาญและมีประสบการณ์ 8.พื้นไม้กับปัญหาเรื่องปลวก การตรวจสอบพื้นที่ภายในบ้าน การตรวจสอบ: ตรวจสอบพื้นไม้ภายในบ้านว่ายังใช้งานได้ดี มีปัญหาเรื่องปลวกหรือไม่ ตรวจพบมีรอยทางเดินปลวกภายในบ้าน, ตรวจพบเศษปีกหรือมูลของแมลงเม่าภายในตัวบ้าน, ประตูหน้าต่างที่เป็นไม้เมื่อใช้งานเริ่มฝืดและเปิดยากขึ้น และได้ยินเสียงปลวกที่กำลังกินไม้อยู่ การแก้ไข: ควรเรียกบริษัทกำจัดปลวกมาทำการฉีดพ่นน้ำยาทั้งภายนอกและภายในบ้าน ทุก 1-3 ปี หรือ เลือกใช้วิธีเพาะเชื้อ เพื่อความปลอดภัยกับสุขภาพของผู้อยู่อาศัย  9.พื้นกระเบื้องเซรามิค การตรวจสอบ:พื้นกระเบื้องเมื่อใช้งานไปนาน ๆ อาจเกิดปัญหากระเบื้องหลุดร่อน หรือยาแนวหลุดวิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นสามารถทำการแก้ไขเป็นจุด ๆ ได้ การแก้ไข: แนะนำว่าให้เตรียมซื้อกระเบื้องเซรามิคในเฉดสีเดียวกันสำรองไว้ เผื่อต้องการปรับปรุงหรือซ่อมแซมในบางจุด เพราะหากดำเนินการซื้อภายหลังอาจทำให้เฉดสีกระเบื้องแตกต่างกันได้ หรือบางรุ่นอาจไม่ทำการผลิตแล้ว อาจจะเช็คกับทางบริษัทผู้ผลิต เพื่อตรวจสอบกระเบื้องรุ่นที่เคยซื้อมาว่ายังมีหรือไม่  10.การตรวจสอบโครงสร้างของบ้าน รอยแตกร้าวที่อันตรายกับโครงสร้าง จะมีรูปแบบรอยแตกร้าวที่มีขนาดใหญ่ ในตำแหน่งโครงสร้าง เช่น เสา คาน พื้น ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าโครงสร้างของบ้านอาจมีปัญหา และไม่ปลอดภัยสำหรับผู้อยู่อาศัย การตรวจสอบ: พบรอยแตกร้าวขนาดใหญ่ที่ตำแหน่งเสา คาน พื้น ร้ายแรงหน่อยอาจเห็นเหล็กเสริมภายในโครงสร้าง, พบรอยแตกร้าวหรือรอยแตกเฉียง 45 องศาที่ผนัง, พบรอยแยกแตกแยกระหว่างโครงสร้างบ้านเดิมกับส่วนต่อเติม, พบเหล็กเส้นที่ตำแหน่งท้องพื้นชั้นดาดฟ้า และพบการล้มเอียงของพื้น หรือผนังของตัวบ้าน การแก้ไข: แนะนำให้ปรึกษาวิศวกรโครงสร้างเพื่อทำการแก้ไข   ทั้งหมดนี้ก็เป็นการตรวจสุขภาพบ้านทั้ง 10 จุดที่สำคัญ ซึ่งมักจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับบ้านที่ปลูกสร้างมาเป็นระยะเวลานาน ๆ และเป็นปัญหาที่มีผลต่อโครงสร้างของความมั่นคงแข็งแรง เราจึงควรหมั่นตรวจสอบและดูแลเป็นประจำทุก ๆ ปี โดยเฉพาะหลังจากหมดฤดูฝน หรือก่อนเข้าสู่ฤดูฝน เพราะบางปัญหาอาจจะลุกลามใหญ่โตได้ หากโดยน้ำฝน เช่น ปัญหารั่วซึมของโครงสร้างหลังคา หรือรอยร้าวของผนังบ้าน เป็นต้น   ที่มา SCG HOME  
4 เรื่อง ที่เจ้าของบ้านควรรู้ ก่อนปลูกสร้างบ้าน

4 เรื่อง ที่เจ้าของบ้านควรรู้ ก่อนปลูกสร้างบ้าน

หนทางในการจะมีบ้านสักหลัง การเลือกซื้อจากดีเวลลอปเปอร์ ที่พัฒนาออกมาขาย ก็ถือว่าเป็นวิธีการที่ง่าย สะดวก สามารถเลือกแบบบ้านต่าง ๆ หรือเลือกทำเลที่อยากอยู่อาศัยได้ ภายใต้งบประมาณที่ลูกค้ามี และมีโครงการต่าง ๆ ให้เลือกมามาย  แต่การเลือกซื้อบ้านจัดสรร ก็อาจจะไม่ได้บ้านตรงใจเราทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบหน้าตา ขนาดพื้นที่ ดีไซน์ และฟังก์ชั่น ซึ่งถูกกำหนดและออกแบบไว้แล้ว ​ การจะเปลี่ยนแบบหรือฟังก์ชั่นในอย่างที่เราต้องการ หรือแม้จะเลือกในทำเลที่อยากอยู่จริง ๆ ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก   ทางเลือกหนึ่งของคนที่อยากมีบ้าน ในแบบที่ฝันเอาไว้คงต้องสั่งสร้างเอง  สามารถเลือกทำเลที่ต้องการ แบบบ้าน รวมถึงก่อสร้างภายใต้กรอบงบประมาณที่เตรียมเอาไว้ได้ แต่การจะสั่งสร้างบ้านในแบบที่เราต้องการได้นั้น  คงต้องวางแผนและเตรียมตัวให้ดี เพราะหากขาดการวางแผน และเตรียมความพร้อมในเรื่องต่าง ๆ เอาไว้ก่อน  อาจมีปัญหาตามมาได้มากมายเหมือนกัน   นอกจากนี้ การปลูกสร้างบ้านเอง ยังมีหลายวิธีด้วยเช่นกัน หลายคนอาจจะใช้วิธีการว่าจ้างบริษัทรับสร้างบ้าน ที่มีให้บริการแบบครบวงจร ตั้งแต่เริ่มต้นจนส่งมอบบ้าน เพียงแค่เลือกแบบบ้านและงบประมาณที่ต้องการจะปลูกสร้างบ้าน  แต่หลายคนก็เลือกที่ใช้วิธีการออกแบบบ้านเอง หรือหาแบบบ้านที่ไม่เหมือนกับที่บริษัทรับสร้างบ้านมีให้บริการ แล้วว่าจ้างผู้รับเหมาให้สร้างบ้านตามแบบบ้านที่ตัวเองต้องการ  ก็เป็นทางเลือกที่หลายคนนิยม แต่กระบวนการต่าง ๆ ของการปลูกสร้างบ้าน เราคงต้องดำเนินการเองและต้องควบคุมงานเองทั้งหมด เพื่อให้บ้านในฝันออกมาตรงตามที่อยากได้   สำหรับคนที่ต้องการมีบ้านในแบบฉบับของตนเอง เรื่องที่ต้องทำก่อนอื่น คงเป็นการหารูปแบบของบ้านที่ต้องการอาจจะจ้างสถาปนิกออกแบบ หรือหาแบบบ้านฟรี ที่มีหลายหน่วยงานจัดทำแจกให้กับประชาชนทั่วไป หรือตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ก็พอจะหาได้​ หลังจากได้แบบบ้านมาแล้ว กระบวนการปลูกสร้างบ้านยังมีขั้นตอนอีกหลายอย่าง วันนี้เราจึงจะมาแนะนำ 4 เรื่อง ที่เจ้าของบ้านควรรู้ ก่อนปลูกสร้างบ้านเอง   1.กระบวนการยื่นเพื่อขออนุญาต เรื่องแรกที่เจ้าของบ้านควรรู้หลังจากได้แบบบ้านฟรีมาแล้ว คือ การสร้างบ้านจะต้องมีการยื่นขออนุญาตกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเขต หรือเทศบาล โดยปกติแล้วเอกสารที่ต้องใช้ในการขออนุญาต ประกอบด้วย แบบ ข.1 คำขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร เอกสารแปลนบ้าน แบบบ้าน และรายละเอียดการก่อสร้างที่ได้มาตรฐานมีสถาปนิกและวิศวกรเป็นผู้เซ็นรับรองแบบ หนังสือรับรองจากสถาปนิกผู้ออกแบบบ้าน ผู้ควบคุมและเอกสารจากวิศวกรงานก่อสร้าง สำเนาโฉนดที่ดินที่จะสร้าง หรือเอกสารสิทธิแสดงความเป็นเจ้าของที่ที่ดินผืนนั้น หรือกรณีเช่าที่ดินปลูกสร้างบ้าน จะต้องมีเอกสารแสดงสิทธิที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของด้วย สำเนาบัตรประชาชน หรือทะเบียนบ้านเจ้าของอาคาร ในกรณีเป็นนิติบุคคลใช้หนังสือรับรองการจดทะเบียน กรณีที่ไม่ได้ยื่นขออนุญาตก่อสร้างด้วยตัวเอง จะต้องมีหนังสือแสดงการมอบอำนาจให้กับผู้ที่เป็นตัวแทนในการยื่นขออนุญาตก่อสร้าง 2. ประเมินงบประมาณที่จำเป็น การทราบงบประมาณที่ต้องใช้ในการก่อสร้างเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญ แบบบ้านฟรีจำนวนไม่น้อยจะมาพร้อมกับรายการประมาณการสินค้าที่ต้องใช้แบบคร่าว ๆ ซึ่งว่าที่เจ้าของบ้านสามารถใช้คำนวณงบประมาณคร่าว ๆ ได้ แต่หากแบบบ้านที่ไม่มาไม่มีรายการประมาณสินค้า หรือไม่แน่ใจว่าจะคำนวณเองได้ถูกต้องหรือไม่ ก็สามารถปรึกษาหรือว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญอย่างสถาปนิกให้คำนวณให้ได้ 3. แบบสถาปัตยกรรม อีกเรื่องที่ควรรู้คือ แบบบ้านที่ได้มานั้นมีแบบสถาปัตยกรรมด้วยหรือไม่ เพราะจะเป็นตัวระบุการติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ตำแหน่งและทิศทางของพื้นที่ใช้สอยภายในบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้ แบบสถาปัตยกรรมต้องระบุมาอย่างละเอียดมากเพียงพอที่จะเข้าสู่กระบวนการก่อสร้างได้ แต่ถึงอย่างนั้นเจ้าของบ้านก็มีหน้าที่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจเบื้องต้นกับแบบสถาปัตยกรรมด้วย เช่น ห้องนอน หรือห้องนั่งเล่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใช้สอยบ่อยที่สุด หากอยู่ตรงกับทิศตะวันตกที่โดนแดดส่องแรงมาก ๆ ในยามบ่าย อาจส่งผลกระทบเมื่อเข้าอยู่อาศัยจริงก็เป็นได้ ดังนั้น หากเจ้าของบ้านเข้าใจตรงจุดนี้แล้ว ก็จะสามารถปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญอย่างเช่นสถาปนิก หรือวิศวกรเพื่อปรับปรุงแบบก่อนที่จะเริ่มสร้างได้ 4. ให้ความสำคัญกับรายละเอียด เรื่องสุดท้ายที่ควรรู้หลังจากได้แบบบ้านฟรีก็คือ รายละเอียดในชุดต่าง ๆ อย่างระบบไฟฟ้าและระบบประปา เพราะหากสร้างบ้านโดยไม่มีรายละเอียดเหล่านี้แล้ว จะมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน สำหรับระบบไฟเจ้าของบ้านควรตรวจสอบว่าแบบบ้านนั้น แสดงตำแหน่งอุปกรณ์ไฟฟ้า สเปคของอุปกรณ์ ควบคุมไฟ และระบุชนิด, ขนาดของสายไฟที่เหมาะสมจะใช้ในบ้านได้หรือไม่ ส่วนระบบประปาและสุขาภิบาล แบบบ้านควรแสดงขนาดและตำแหน่งของถังเก็บน้ำ ปั๊มน้ำ หรือแนวการเดินท่อน้ำดีน้ำเสียเอาไว้ และบ้านที่ต้องการความปลอดภัย อาจลองพิจารณาดูว่าแบบบ้านนั้นมีเรื่องระบบรักษาความปลอดภัย อย่างเช่น กล้องวงจรปิด สายโทรศัพท์ หรือสายอินเทอร์เน็ต มาให้ด้วยหรือไม่   การสร้างบ้านอยู่เอง อาจจะมีขั้นตอนและซับซ้อนอยู่บ้าง แต่จะสร้างความภาคภูมิใจผ่านไอเดียของเราเอง และตอบโจทย์การอยู่อาศัยของสมาชิกภายในบ้านได้อย่างแท้จริง สิ่งสำคัญอย่าลืมปฏิบัติตาม 4 เรื่องควรรู้หลังจากได้แบบบ้านฟรี ซึ่งจะช่วยให้การสร้างบ้านราบรื่นขึ้นได้อย่างแน่นอน   ขอขอบคุณข้อมูลจาก SCG HOME Experience  
เปิดทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง เสียค่าไฟเท่าไหร่

เปิดทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง เสียค่าไฟเท่าไหร่

เปิดทิ้งไว้1 ชั่วโมงเราเสียค่าไฟเท่าไหร่  หลายคนกำลังทำงานอยู่ที่บ้านเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส(COVID-19) ทำให้ต้องใช้เครื่องใช้ไฟฟ้ามากขึ้นและแน่นอนต้องเสียค่าไฟฟ้าเพิ่มแน่นอน Review Your Living  ขอสรุปแบบง่าย ๆ อุปกรณ์ไฟฟ้าที่อำนวยความสะดวกให้เรา ถ้าเปิดไว้ 1 ชม. อุปกรณ์แต่ละชิ้นกินไฟเท่าไหร่ ไปดูกัน เปิดทิ้งไว้ 1 ชม. เสียค่าไฟเท่าไหร่ พัดลมตั้งพื้น 12-18 นิ้วค่าไฟ 0.15-0.25 บาท พัดลมตั้งพื้น  70-104 วัตต์ ค่าไฟ 0.50-0.75 บาท ตู้เย็น 2 ประตู 5.5 -12.2 คิว ค่าไฟ 0.30-0.40 บาท โทรทัศน์ LED 43-65 นิ้ว ค่าไฟ 0.40- 1 บาท เตารีดไฟฟ้าขนาด 1000-2800 วัตต์ค่าไฟ 3.5-10 บาท เครื่องปิ้งขนมปัง 760-900 วัตต์ค่าไฟ 3-3.5 บาท เตาปิ้ง 1-2 หัว ขนาดเตา 2000-3500 วัตต์ ค่าไฟ 8-14 บาท เครื่องซักผ้า 10 KG ค่าไฟ 2-8 บาท เครื่องอบผ้า 650-2,500 วัตต์ ค่าไฟ 3-10 บาท หม้อหุงข้าว 1.0-1.8 ลิตร ค่าไฟ 3-6 บาท ไมโครเวฟ 20-30 ลิตร ค่าไฟ 3-4 บาท เครื่องปรับอากาศ 9,000-22,000 BTU ค่าไฟ 2.5-6 บาท ไดร์เป่าผม  1,600-2,300 วัตต์ค่าไฟ 6-9 บาท เครื่องทำน้ำอุ่น 3,500-6,000 วัตต์ค่าไฟ 13.5-23.5 บาท เครื่องดูดฝุ่น 1,400-2,000 วัตต์ค่าไฟ 6-8 บาท   เรามีอุปกรณ์ไฟฟ้าอะไรบ้าง? ใช้ไฟฟ้าอย่างปลอดภัย อย่าลืมถอดปลั๊กเมื่อไม่ใช้ เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร และยังช่วยประหยัดค่าไฟได้อีกด้วย                
4 เทรนด์การเลือกซื้อบ้าน หลังหมดโควิด-19 ยุควิถีชีวิต Nex normal

4 เทรนด์การเลือกซื้อบ้าน หลังหมดโควิด-19 ยุควิถีชีวิต Nex normal

การแพร่ระบาดของ​ไวรัสโควิด-19 ถือได้ว่าเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการดำเนินชีวิตประจำวัน และการทำงาน ที่ชัดเจนอย่างมากคือ การทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงาน หรือแม้แต่การใช้ดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้า รวมถึงการให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของตนเองเพิ่มมากขึ้น   เมื่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปตามแรกดดันของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป กลายเป็นอีกโจทย์ความท้าทายของยุคโควิด และแม้ว่าหลังจากนี้สถานการณ์ทุกอย่างจะปรับตัวดีขึ้น ทุกอย่างก็คงจะไม่เหมือนเดิม และทุกคนคงต้องอยู่ภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่ หรือ New Normal   ในเรื่องของการเลือกที่อยู่อาศัย ต่อไปก็คงเปลี่ยนแปลง โลเกชั่นอาจจะไม่ใช่ตัวเลือกแรกของการตัดสินใจซื้อที่อยู่แล้วก็ได้ โดยเฉพาะทำเลในกลางเมือง ผู้คนอาจจะขยับขยายออกไปยังทำเลที่อยู่แล้วสะดวกสบาย มีพื้นที่รองรับมากขึ้น ในราคาบ้านที่จับต้องได้ เพราะบ้านจากที่เคยมีบทบาทเป็นปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต ตอนนี้ได้กลายเป็นพื้นที่ส่วนรวมของคนในครอบครัวที่เป็นมากกว่าเพียงแค่การพักผ่อน ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มมองหาความยั่งยืนที่จะเข้ามายกระดับที่อยู่อาศัยให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในระยะยาวอย่างมีคุณภาพ   การพัฒนาอย่างยั่งยืนจึงเป็นคำตอบในการใช้ชีวิตของผู้บริโภคยุคนี้ ทุกคนหันมาตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เข้ามามีอิทธิพลในการดำเนินชีวิต และชัดเจนขึ้นจากการปรับตัวของภาคธุรกิจต่าง ๆ เพื่อรับเทรนด์นี้ จากผลสำรวจ Global Consumer Insights Pulse Survey ของ PwC เผยว่า 76% ของผู้บริโภคชาวไทยต้องการซื้อสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือใช้บรรจุภัณฑ์น้อยที่สุด ขณะที่ 78% เลือกซื้อเฉพาะผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่มีจิตสำนึกและสนับสนุนการปกป้องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เห็นได้ชัดถึงแนวโน้มการเติบโตของแนวคิดรักษ์โลกที่มีอิทธิพลชัดเจนยิ่งขึ้นในทุกธุรกิจ   ในขณะที่ความต้องการที่อยู่อาศัยก็มีทิศทางการเติบโตในเทรนด์นี้เช่นกัน ผลสำรวจ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุดเผยว่า ผู้บริโภคกว่า 9 ใน 10 (93%) ให้ความสำคัญกับการอยู่อาศัยแบบยั่งยืน ที่จะช่วยผสมผสานไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตเข้ากับบ้านที่เป็นสถานที่พักผ่อนได้อย่างลงตัว ที่อยู่อาศัยในอุดมคติจึงต้องมาพร้อมกับการออกแบบภายใต้แนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความยั่งยืนในการอยู่อาศัยในระยะยาว ผู้พัฒนาอสังหาฯ จึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับการออกแบบฟังก์ชั่นที่อยู่อาศัยทั้งในส่วนพื้นที่พักอาศัยและพื้นที่ส่วนกลางภายใต้แนวคิดการใช้ชีวิตที่ยั่งยืนและรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และสร้างจุดต่างในการดึงดูดผู้บริโภคมากกว่าการแข่งขันสงครามราคาที่อาจจะดูฉาบฉวยในสายตาผู้ซื้อตอนนี้” 4 เทรนด์การเลือกซื้อบ้าน หลังหมดโควิด-19 ล่าสุด ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty)  ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study  ในอุดมคติของผู้บริโภคในยุค Next Normal  ต่อไปมีความต้องการอย่างไร  เพื่อยกระดับการใช้ชีวิตอย่างราบรื่นและยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งพบว่ามี 4 เทรนด์สำคัญ ดังนี้ 1.เลือกซื้อบ้านประหยัดพลังงาน เทรนด์รักษ์โลกส่งเสริมการใช้ชีวิตประหยัดพลังงาน การ Work from Home ทำให้บ้านกลายมาเป็นสถานที่ทำงาน/เรียนออนไลน์ หรือแม้แต่พื้นที่ออกกำลังกายดูแลสุขภาพ กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เกิดการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นและกลายเป็นค่าไฟที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้ผู้บริโภคหันมาเลือกที่อยู่อาศัยที่มาพร้อมฟังก์ชั่นการใช้งานภายใต้แนวคิดรักษ์โลกที่ช่วยประหยัดการใช้พลังงาน   โดยมากกว่าครึ่ง (62%) ต้องการบ้าน/คอนโดฯ ที่มีระบบหลังคาโซล่าเซลล์ (Solar Rooftop) เพื่อสร้างพลังงานทางเลือกทดแทนการใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับบ้าน/คอนโดฯ ที่มาพร้อมระบบระบายความร้อน (58%) และฟังก์ชั่นดูดซับมลพิษภายในบ้าน (48%) เพื่อช่วยให้การใช้ชีวิตภายในบ้านมีความสะดวกสบายและมั่นใจยิ่งขึ้น เมื่อต้องรับมือปัญหาภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่เรื่อย ๆ 2.เลือกบ้านมีนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ นวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพ การที่ผู้บริโภคหันมาตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพมากขึ้น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมที่ชัดเจนที่สุดหลังเผชิญวิกฤติการแพร่ระบาดฯ ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรรมมาช่วยยกระดับการดูแลสุขภาพให้ง่ายขึ้นแม้ในช่วงที่ยังต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ผ่านบริการดูแลสุขภาพแบบออนไลน์ รวมไปถึงการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่ช่วยให้เข้าถึงการตรวจรักษาและรับการวินิจฉัยจากแพทย์ได้โดยตรง   ในตลาดที่อยู่อาศัย นอกจากผู้พัฒนาอสังหาฯ จะหันมาจับมือโรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสุขภาพเพื่อเพิ่มบริการดูแลสุขภาพหรือบริการทางการแพทย์ไว้ในโครงการฯ แล้ว นวัตกรรมที่เลือกใช้ในการก่อสร้างโดยตรงก็เป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญเช่นกัน มากกว่าครึ่งนึงของผู้บริโภค (60%) มองว่า บ้าน/คอนโดฯ ที่ถูกออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเลือกที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมการก่อสร้างที่ช่วยให้บ้านเย็นขึ้นและสะท้อนความร้อนภายนอก บ้านที่มีระบบสร้างอากาศบริสุทธิ์ ป้องกันฝุ่น PM 2.5 หรือบ้านปลอดไวรัส ก็ล้วนมีผลต่อการเลือกซื้อบ้าน/คอนโดฯ ที่ตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยไม่น้อย 3.เลือกบ้านมีพื้นที่พร้อมรองรับ Work from Home    พื้นที่ใช้สอยต้องพร้อมรองรับ Work from Home ระยะยาว แม้การทำงานที่บ้านจะไม่ใช่เรื่องใหม่และอาจกลายเป็นวิถีชีวิตที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องแม้การแพร่ระบาดฯ จะหมดไป แต่การลงทุนสร้างห้องทำงานไว้ที่บ้านอาจไม่ใช่เรื่องจำเป็นของทุกคน ดังนั้น พื้นที่ใช้สอยในบ้าน/คอนโดฯ จึงต้องสามารถปรับเปลี่ยนให้รองรับการ Work from Home และอำนวยความสะดวกให้สามารถทำงานออนไลน์ได้อย่างราบรื่นเช่นกัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในเรื่องการจัดแต่งสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการทำงาน ซึ่งจะส่งผลดีและช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น   โดยเน้นไปที่สภาพแวดล้อมที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก (65%) ตามมาด้วยการมีระบบถ่ายเทความร้อนและประหยัดพลังงานภายในห้อง (49%) และมีสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงรองรับการทำงานที่ลื่นไหล (48%) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้จำกัดเพียงการทำงานที่บ้านเท่านั้น แต่ยังอำนวยความสะดวกให้คนในครอบครัวสามารถใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์ได้อย่างราบรื่นอีกด้วย 4.เลือกบ้านมีจุดชาร์จรถไฟฟ้า   รถยนต์ไฟฟ้า พลิกโฉมการเดินทางยุคใหม่ การเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าและขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้บริโภคตื่นตัวและหันมาพิจารณาข้อดีของรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยลดการเกิดมลพิษแล้ว ยังประหยัดค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบสันดาป ข้อมูลจากศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เผยว่า ยอดใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสะสมในไทยมีโอกาสแตะ 1 ล้านคันได้ในปี 2028 หรือขยายตัวเฉลี่ยปีละ 23.7% จากแรงผลักดันของยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดเป็นสำคัญ   นอกจากนั้น รถยนต์ไฟฟ้ายังถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจก่อนเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยอีกด้วย จากผลสำรวจ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study เผยว่า ผู้บริโภคเกือบ 2 ใน 3 (64%) มองว่า การมาของรถยนต์ไฟฟ้ามีอิทธิพลในการเปลี่ยนแผนการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในอนาคต โดยผู้บริโภคจะให้ความสนใจพิจารณาบ้าน/คอนโดฯ ที่รองรับการติดตั้งที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือมีสถานีชาร์จให้บริการในพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อรองรับการวางแผนเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต   แม้ผลกระทบจากภาพรวมเศรษฐกิจจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็ว ๆ นี้ แต่ความท้าทายจากการใช้ชีวิตในสถานการณ์ปัจจุบันได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผลักดันให้ผู้บริโภคเกิดการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้รวดเร็วขึ้น การก้าวข้ามไปสู่ประสบการณ์ใหม่หลังรับมือวิกฤติในครั้งนี้ถือเป็นบททดสอบที่ทำให้ผู้บริโภคได้มองย้อนกลับไปทบทวนความต้องการและเป้าหมายในการใช้ชีวิต มองเห็นความสำคัญของการดำเนินชีวิตที่เชื่อมโยงเข้ากับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การให้ความสำคัญกับแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวและความยั่งยืนในการใช้ชีวิตจึงถือเป็นเทรนด์ที่ภาคธุรกิจไม่ควรมองข้าม   อย่างไรก็ตาม แม้การแพร่ระบาดฯ จะหมดไปในอนาคต แต่ความสำคัญด้านสุขภาพและความยั่งยืนในการดำเนินชีวิตจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคยังคงมองหาจากผู้ประกอบการ และช่วยกระตุ้นให้ทุกคนหันมาตระหนักถึงบทบาทที่ควรรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  
ผังเมือง เรื่องใกล้ตัว

ผังเมือง เรื่องใกล้ตัว

ผังเมือง เรื่องใกล้ตัว ผังเมืองคืออะไร? ผังเมือง คือ การกำหนดการใช้พื้นที่ให้เป็นระบบ เพื่อการวางแผนหรือพัฒนาเมืองให้เป็นไปตามกรอบการพัฒนาด้านกายภาพในระดับประเทศ ระดับภาค ระดับจังหวัด ระดับเมือง ระดับชนบท และพื้นที่เฉพาะควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเมือง บริเวณที่เกี่ยวข้อง หรือชนบทให้ดียิ่งขึ้น ทั้งในด้านสุขลักษณะ ความสะดวกสบาย ความเป็นระเบียบ ความสวยงาม การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง ความปลอดภัยของประชาชน สวัสดิภาพของสังคม การป้องกันภัยพิบัติ และการป้องกันความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงเพื่อการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเพื่อประโยชน์อื่นๆ ในการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสม   ปัจจุบันการกำหนดพื้นที่ต่าง ๆ ในผังเมืองจะยึดตาม พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นฉบับที่ได้มีการปรับปรุงเนื้อหาใหม่ให้มีความทันสมัยและเหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน  และยังช่วยให้มีการวางผังเมืองได้ทั้งระบบตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงระดับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการพัฒนาเมือง, การดำรงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, รักษาคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม และยังมีการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถวางผังได้เองด้วย ประเภทของผังเมืองแบ่งออกเป็น 2 ระดับ 5 ประเภท ดังนี้ ผังนโยบายการใช้ประโยชน์พื้นที่ซึ่งจะใช้เฉพาะกับหน่วยงานของรัฐ เป็นการกำหนดแนวทางการใช้ที่ดินต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศโดยนำมาจากยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ผังนโยบายระดับประเทศ ผังนโยบายระดับภาค ผังนโยบายระดับจังหวัด ผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน จะใช้กับหน่วยงานของรัฐและประชาชน ซึ่งอาจจะมีขนาดพื้นที่เต็มทั้งจังหวัด พื้นที่ระดับเมืองหรือชุมชนที่มีข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินกำหนดไว้ให้ปฏิบัติตาม เช่น การกำหนดรายละเอียดของการใช้ที่ดินในระดับพื้นที่และจัดสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับการอยู่อาศัยอย่างปลอดภัย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ผังเมืองรวม มีการกำหนดโซนของการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นสีต่างๆ ผังเมืองเฉพาะ จะเป็นการเลือกพื้นที่พิเศษ และกำหนดจุดเด่นของเมืองเพื่อการออกแบบผังเมืองให้มีความเป็นอัตลักษณ์   โดยการวางผังเมืองต่างๆ จะมีผู้วางผัง 2 หน่วยงาน คือ “กรมโยธาธิการและผังเมือง” ซึ่งสามารถวางผังเมืองได้ทุกประเภท และ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” สามารถวางผังเมืองได้ 2 ประเภท คือ ผังเมืองรวม และผังเมืองเฉพาะที่อยู่ในเขตพื้นที่ของตนเอง แต่ละต้องสอดคล้องเชื่อมโยงกับผังแต่ละระดับนั้นด้วย เพื่อให้เป็นระบบและมีทิศทางเดียวกัน   ผังเมือง เรื่องใกล้ตัว - โซนสี ต้องรู้ก่อนซื้อ ก่อนสร้าง สีแดง - ย่านธุรกิจการค้าที่หนาแน่น สีเหลือง – เขตที่อยู่อาศัย สีส้ม – เขตที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง สีม่วง - พื้นที่อุตสาหกรรมและคลังสินค้า สีน้ำเงิน – ที่ตั้งหน่วยงานราชการ สีเขียว - พื้นที่เกษตรกรรม สีเขียวอ่อน – พื้นที่โล่งเพื่อการพักผ่อนและรักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ   ผังเมือง เป็นเรื่องของประชาชน ผังเมืองทั้ง 5 ประเภท ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ เมื่อจะมีการวางผังเมือง ผู้วางผังจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ และแจ้งข้อมูลของผังให้ดูเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน ก่อนที่จะจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำความเห็นเหล่านั้นมาประกอบการจัดทำผัง โดยขั้นตอนวางผังเมืองจะมีการปิดประกาศ 90 วัน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมายื่นคำร้องสงวนสิทธิ์ไว้ล่วงหน้าเป็นหนังสือตามระยะเวลาที่กำหนด เมื่อผ่านขั้นตอนต่างๆ แล้ว ผังเมืองทุกประเภทจะมีผลใช้บังคับเมื่องได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว   โดยทั่วไปผังเมืองทุกประเภทจะไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการใช้บังคับ แต่ผังนโยบายระดับประเทศ ผังนโยบายระดับภาค และผังนโยบายระดับจังหวัด จะต้องมีการทบทวนผังทุกๆ 5 ปี หรือก่อน 5 ปีหากมีความจำเป็น ส่วนผังเมืองรวมต้องมีการประเมินผลภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ผังเมืองรวมใช้บังคับ หากผลของการทบทวนหรือประเมินผลเห็นว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง ผู้วางผังก็จะต้องจัดทำผังขึ้นใหม่ เพื่อใช้แทนผังเดิม บทลงโทษหากทำผิดผังเมือง เมื่อมีบทใช้บังคับแล้ว หากมีผู้กระทำผิดไม่ปฏิบัติตามผังเมืองรวม หรือผังเมืองเฉพาะ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีโทษปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 30,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง และถ้านิติบุคคลกระทำผิด ผู้สั่งการของนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษด้วย     ข้อมูลจาก : พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2562 ฉบับประชาชน บทความน่าสนใจ ผังเมืองกรุงเทพหลากสี แบ่งไปทำไมกัน? ซื้อบ้านให้ไกลจากน้ำท่วม ควรดูอะไรบ้าง?    
5 เหตุผล ต้องเลือกนิติบุคคลมืออาชีพ

5 เหตุผล ต้องเลือกนิติบุคคลมืออาชีพ

5 เหตุผล ต้องเลือกนิติบุคคลมืออาชีพ เมื่อเลือก “บริษัทบริหารนิติบุคคล” ของโครงการที่อยู่อาศัยประเภทต่างๆ ทั้งบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมนั้น หลายต่อหลายครั้ง ที่ประชุมลูกบ้านมักเคาะจบด้วยเกณฑ์ราคา เพราะเชื่อว่าบริษัทไหนก็น่าจะเหมือนกัน แต่ความเป็นจริงแล้ว ทักษะ ประสบการณ์ ความชำนาญ และเทคโนโลยีที่แต่ละบริษัทใช้นั้นมีความแตกต่างกัน ส่งผลอย่างยิ่งต่อคุณค่าที่ผู้บริโภคจะได้รับและมูลค่าเพิ่มของโครงการในอนาคต การเลือกบริษัทบริหารนิติบุคคลที่ดี จึงมีความจำเป็นอย่างมาก   โครงการที่พักอาศัยในระยะยาวจะดีหรือแย่ ขึ้นอยู่กับ บริษัทนิติบุคคล ที่เลือกมาบริหารเป็นอันดับแรก เบื้องหลังที่ดีก็สะท้อนถึงภาพลักษณ์โครงการ การบริหารที่ช่วยเพิ่มมูลค่าของโครงการ การมี service mind เข้าใจความคิด ความต้องการของลูกบ้านทุกประเภท พร้อมยืดหยุ่นได้ตามสภาพการณ์แต่ไม่ขัดต่อข้อบังคับ เสริมด้วยกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ลูกบ้าน และการทำงานอย่างมืออาชีพจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางจิตใจให้กับลูกบ้านอย่างแน่นอน   เรามีคำตอบมาเฉลยกับ 5 เหตุผลสำคัญ ที่ควรใช้ในการคัดเลือกบริษัทบริหารนิติบุคคลมืออาชีพ   5 เหตุผล ต้องเลือกนิติบุคคลมืออาชีพ 1.มั่นใจได้ในความปลอดภัย คำว่า “ความปลอดภัย” ไม่ได้หมายถึงการมี “พนักงานรักษาความปลอดภัย” แต่หมายถึงทุกองค์ประกอบภายในอาคารต้องปลอดภัย บริษัทบริหารงานนิติบุคคลที่เป็นมืออาชีพ จะพัฒนาศักยภาพทีมงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของความปลอดภัยอยู่เสมอ ตั้งแต่ทีมรักษาความปลอดภัย ที่จะต้องผ่านการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติตามมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยมาเป็นอย่างดี ทีมวิศวกรที่ผ่านการพัฒนาองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญเรื่องการดูแลระบบเครือข่ายต่างๆ ของโครงการ อาทิ ระบบน้ำ ระบบไฟ และดูแลตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์ด้านการรักษาความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานต่างๆ อาทิ กล้อง CCTV สัญญาณเตือนกรณีเกิดเพลิงไหม้ ให้ครอบคลุมในทุกจุดสำคัญ เพื่อสร้างความมั่นใจและอุ่นใจในการพักอาศัยให้กับลูกบ้านในโครงการ   2.แก้ปัญหาได้ทันท่วงที การบริหารงานนิติบุคคล เป็นงานละเอียดอ่อนที่ต้องอาศัยประสบการณ์ที่หลากหลาย ทั้งทักษะการบริหารจัดการ เช่น โครงการที่เข้าไปบริหารเป็นโครงการที่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ได้ดังนั้น ทีมนิติบุคคลต้องมีการกำหนดข้อปฏิบัติเพื่อการอยู่อาศัยร่วมกัน การใช้พื้นที่ส่วนกลางและการดูแลสุขอนามัยของสัตว์เลี้ยงอย่างเหมาะสม หรือทักษะการแก้ปัญหาในภาวะเร่งด่วน พร้อมดูแลตลอด 24 ชั่วโมง เพราะปัญหาที่จะเกิดขึ้นในโครงการหนึ่งแห่งนั้นมีความแตกต่าง และสามารถมีปัญหาใหม่ๆ ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ เช่น วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ ที่สร้างความหวั่นวิตกให้กับประชาชนไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มผู้พักอาศัยในโครงการคอนโดมิเนียม เพราะเป็นพื้นที่ปิดและมีผู้พักอาศัยจำนวนมาก มีการใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน ซึ่งอาจจะง่ายต่อการแพร่กระจายของเชื้อ การมีมาตรการรักษาความสะอาดและควบคุมดูแลอย่างเป็นระบบจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจต่อการพักอาศัยในโครงการได้เป็นอย่างดี อาทิ มาตรการด้านการคัดกรองผู้เข้าออกในโครงการ มาตรการด้านการทำความสะอาดเช็ดฆ่าเชื้อบริเวณจุดสัมผัสร่วม เป็นต้น ในทางกลับกันหากโครงการไม่มีการบริหารจัดการอย่างมีระบบจากทีมนิติบุคคลมืออาชีพ ก็อาจทำให้ผู้พักอาศัยเกิดความหวั่นวิตกและขาดความเชื่อมั่นในโครงการ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อโครงการได้ในระยะยาว   3.หมดห่วงเรื่องเงินส่วนกลาง ในหนึ่งปี บริษัทบริหารนิติบุคคล ต้องบริหารเงินให้กับลูกบ้านตั้งแต่หลักล้านไปจนถึงหลักสิบล้าน ขึ้นอยู่กับขนาดโครงการ รวมถึงต้องบริหารเงินกองทุนของโครงการอีก 1 ก้อน เงินทั้ง 2 ส่วนนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญในการหล่อเลี้ยงโครงการที่อยู่อาศัยให้คงอยู่ในสภาพเหมือนเมื่อครั้งก่อสร้างเสร็จใหม่ๆ บริษัทบริหารนิติบุคคลที่เข้ามาดูแลบริหารจัดการ จึงต้องมีความเป็นมืออาชีพ ทำงานอย่างเป็นระบบ มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังต้องจัดสรรเงินทั้ง 2 ส่วนให้ถูกวัตถุประสงค์ โดยเงินค่าส่วนกลาง จะถูกนำไปบริหารจัดการทรัพย์ส่วนกลางและการให้บริการแก่ลูกบ้าน อาทิ ค่าใช้จ่ายด้านบริการรักษาความปลอดภัย, การดูแลความสะอาด, การจัดการสวนส่วนกลาง ขณะที่ เงินกองทุน จะถูกนำมาใช้ในกรณีฉุกเฉินหรือยามจำเป็นเท่านั้น เช่น ทาสีอาคารประจำปี ซึ่งเงินส่วนนี้เป็นเงินที่ใช้แล้วหมดไป ดังนั้นบริษัทที่เก่งจะต้องสามารถบริหารจัดการเงินกองทุนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเกิดดอกผลงอกเงย เช่น ในรูปแบบเงินฝากประจำ, การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือการลงทุนในกองทุนที่การันตีผลตอบแทนและการันตีคืนเงินต้น 100% ยิ่งนิติบุคคลสามารถวางแผนการบริหารจัดการค่าส่วนกลางและเงินกองทุนของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าใด ก็จะช่วยลดปัญหาการขาดสภาพคล่องในอนาคตได้ดีเท่านั้น   4.สร้างมูลค่าเพิ่มให้โครงการ             การที่นิติบุคคลนำเงินค่าส่วนกลางและเงินกองทุนมาบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการทำให้โครงการอยู่สภาพงดงาม พร้อมใช้งาน และเหมือนใหม่อยู่เสมอนั้น จะเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าของโครงการได้ในระยะยาว ทั้งการขายต่อหรือปล่อยเช่า ในทางกลับกันหากบริษัทบริหารนิติบุคคลปล่อยปละละเลย ทำให้โครงการมีสภาพทรุดโทรม ไม่น่าอยู่ กรณีที่ผู้ซื้อต้องการขายต่อหรือปล่อยเช่าในอนาคตก็จะไม่ได้ราคาเมื่อเทียบกับโครงการที่มีบริษัทบริหารนิติบุคคลดูแลอย่างดี เช่น โครงการที่อายุกว่าสิบปีแต่ยังอยู่ในสภาพดี น่าอยู่ไม่ต่างจากวันแรก และมีมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จและโอนกรรมสิทธิ์จนถึงปัจจุบัน บริษัทที่รับหน้าที่บริหารจัดการงานนิติบุคคลมีการปรับปรุง ซ่อมแซม และรักษาสภาพแวดล้อมของโครงการอย่างสม่ำเสมอ ทำให้โครงการยังคงความสวยงามและน่าอยู่ เป็นที่ต้องการของทั้งผู้ซื้อ/เช่า เมื่อเทียบกับโครงการในพื้นที่เดียวกัน ลักษณะโครงการเหมือนกัน แต่ขาดการบริหารจัดการอย่างถูกวิธี   5.สร้างสัมพันธ์อันดีในชุมชน นอกจากการดูแลในส่วนของอาคารและพื้นที่ส่วนกลางแล้ว นิติบุคคลยังต้องคอยดูแลความเป็นอยู่ของลูกบ้านโดยรวมอีกด้วย ในกรณีที่ลูกบ้านมีปัญหาหรือมีความขัดแย้งกัน นิติบุคคลจะทำหน้าเป็นสื่อกลางในการไกล่เกลี่ย หาทางออก ตลอดจนเจรจาเพื่อลดความขัดแย้ง ขณะเดียวกันก็เดินหน้าสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้พักอาศัยในโครงการ เพื่อให้ลูกบ้านได้มีโอกาสพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์อันดีต่อกัน ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรมทำบุญใส่บาตร กิจกรรมสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ ซึ่งการให้ลูกบ้านได้มีกิจกรรมร่วมกัน ถือเป็นการช่วยลดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้เป็นอย่างดี รวมถึงกิจกรรมที่ให้ลูกบ้านสามารถส่งต่อสู่ชุมชนภายนอกโครงการ อาทิ การร่วมบริจาคสิ่งของให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19   ด้วยเหตุผลทั้ง 5 ข้อนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะตัดสินใจเลือกบริษัทที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารงานนิติบุคคลระดับมืออาชีพ เพื่อลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับโครงการได้ในอนาคต   ข้อมูลโดย : บริษัท เอ็มดีพีซี จำกัด  MDPC Expertise Meets Excellence   บทความอื่นที่น่าสนใจ 6 ข้อกฎหมายพื้นฐานควรรู้ ถ้าคิดจะซื้อคอนโด  
6 กฎหมายคอนโด ควรรู้เป็นพื้นฐาน ถ้าคิดจะซื้อคอนโด

6 กฎหมายคอนโด ควรรู้เป็นพื้นฐาน ถ้าคิดจะซื้อคอนโด

กฎหมายคอนโด รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา วงการอสังหาริมทรัพย์ไม่มีข่าวอะไรร้อนแรงเกิน  ข่าวคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานคร ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนแปลงการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 39 ทวิ ของโครงการแอชตัน อโศก ของบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด    บริษัทในเครือของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา เรื่องนี้ยังไม่ยุติ เพราะจะมีการยื่นอุทธรณ์และดำเนินขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป และเราคงไม่สามารถสรุปได้ว่าเรื่องจะยุติลงอย่างไร เพราะมีเพียงแค่คำพิพากษาของศาลเท่านั้น ที่จะเป็นคำชี้ขาด   อย่างไรก็ตาม เคสของ “แอชตัน อโศก” ก็คงเป็นกรณีตัวอย่างที่ดี สำหรับประชาชนทั่วไป จะได้ทำการศึกษาตัวบทกฎหมาย ​ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียม ว่าจะต้องดูกฎหมายพื้นฐานว่ามีเรื่องอะไรบ้าง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาเลือกซื้อคอนโดสักแห่งหนึ่ง ​เพราะคำพูดที่ว่า เลือกซื้อโครงการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือแบรนด์โครงการที่มีความน่าเชื่อถือ อาจจะไม่เพียงพอการใช้ตัดสินใจในอนาคตแล้ว   ยิ่งนับวันที่ดินทำเลดี ๆ หาได้ยากขึ้น และมีราคาแพง นอกจากเราจะต้องใช้เงินจำนวนมากในการซื้อคอนโดแล้ว หากมาเจอเรื่องคดีความแม้เราจะไม่ใช่โจทย์หรือจำเลย แต่เป็นคนที่ได้รับผลกระทบก็เป็นเรื่องน่าปวดหัว ปวดใจไม่น้อย เรื่องคดีความหรือปัญหา เลือกที่จะไม่ให้เกิดขึ้นเป็นหนทางที่ดีที่สุด กฎหมายคอนโด พื้นฐานควรรู้ มีด้วยกัน 6 เรื่อง  กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ในการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม โดยหลัก ๆ แล้วจะอยู่ภาพใต้กฎหมาย 4 ฉบับ ได้แก่  พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กฎกระทรวงฉบับที่ 33 และกฎกระทรวงฉบับที่ 55 นอกจากนี้ ยังต้องมีการขออนุญาต หรือขอหนังสือรับรองจากหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วย เช่น รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งอาจจะไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเรื่องกฎหมาย หรือต้องรู้เรื่องกฎหมายทั้งหมด แต่ก็ควรมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับโครงการคอนโด ว่าจะต้องมีกฎหมายอะไรบ้างมาเกี่ยวข้อง  เพื่อเราใช้เป็นเกณฑ์การพิจารณาเบื้องต้น ว่าโครงการนั้นดำเนินการถูกต้องหรือไม่อย่างไร แม้จะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายว่าโครงการนั้นทำถูกต้องตามกฎหมาย 100% หรือไม่ แต่อย่างน้อย ก็เบาใจได้ว่า ในอนาคตน่าโอกาสจะเกิดปัญหาได้น้อยกว่า ซึ่ง 6 ข้อกฎหมายที่ควรทำความเข้าใจ ก่อนซื้อคอนโดมีดังนี้ 1.รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนที่โครงการจะก่อสร้างได้ ต้องมีใบอนุญาตก่อสร้าง ซึ่งการที่โครงการใดจะได้ใบอนุญาตก่อสร้างได้นั้น ต้องยื่นขออนุมัติรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)  ก่อน​​ แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับโครงการคอนโดขนาดเล็กไม่ถึง 80 ยูนิต หรือมีขนาดพื้นที่ใช้น้อยน้อยกว่า 4,000 ตารางเมตร ไม่ต้องขอ EIA ก็ได้ ​ ซึ่งการจะดูว่าโครงการไหนได้รับอนุมัติ EIA หรือไม่นั้น ดูได้ง่าย ๆ จากป้ายหน้าโครงการที่บอกรายละเอียดต่าง ๆ หรือเอกสารประชาสัมพันธ์ของทางโครงการ แต่ก็มีบ่อยครั้งที่จะพบว่า มีบางโครงการเปิดการขายก่อนที่จะได้รับอนุมัติ EIA และทางโครงการมักจะบอกว่าอยู่ระหว่างการยื่นขอ ซึ่งเราคงต้องพิจารณากันให้ดีว่าผู้ประกอบการรายนั้นน่าเชื่อถือหรือไม่อย่างไร 2.ใบอนุญาตก่อสร้าง ตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการตามกฎหมายนี้  ในมาตรา 21 ซึ่งอยู่ในหมวด 3 เรื่องการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน เคลื่อนย้าย และใช้หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร ที่ระบุว่า ผู้ใดจะก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคารต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นและดำเนินการตามมาตร 39 ทวิ  ซึ่งหมายความว่า การก่อสร้างคอนโดจะต้องมีใบอนุญาตการก่อสร้าง เช่น โครงการตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ เขตใด ก็ต้องได้รับใบอนุญาตก่อสร้างจากสำนักงานเขตนั้น ๆ 3.การจดทะเบียนอาคารชุด ภายหลังจากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ เจ้าของโครงการจะต้องดำเนินการจดทะเบียนรับรองการใช้อาคาร การจดทะเบียนเป็นอาคารชุด กรรมสิทธิ์ในห้องชุด การจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรม การตั้งนิติบุคคลอาคารชุด รวมถึงกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์สินส่วนกลาง​ เพื่อมอบให้กับผู้ซื้อในแต่ละห้องได้ ซึ่งจะกฎหมายนี้จะเป็นไปตามพ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 4.ระยะร่นของอาคาร การพัฒนาโครงการคอนโด จะต้องมีการเว้นระยะห่างของตัวอาคารกับบริเวณพื้นที่รอบโครงการ ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ2535) ออกตามความในพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 4 โดยกฎกระทรวงฉบับที่ 33 ข้อ 4 ซึ่งอยู่ในหมวด 1 ลักษณะอาคาร เนื้อที่ว่างของภายนอกอาคารและแนวอาคาร ระบุว่า พื้นที่หรือผนังของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องห่างเขตที่ดินของผู้อื่น และถนนสาธารณะไม่น้อยกว่า 6.00 เมตร นอกจากนี้ ระยะร่นของอาคาร ยังมีกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 หมวด 4 แนวอาคารและระยะต่าง ๆ ของอาคาร ในข้อ 41 ระบุว่า อาคารที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงใกล้ถนนสาธารณะที่มีความกว้างน้อยกว่า 6 เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากกึ่งกลางถนนสาธารณะอย่างน้อย 3 เมตร อาคารที่สูงเกิน 2 ชั้น หรือเกิน 8 เมตร ตึกแถว บ้านแถว อาคารพาณิชย์ โรงงาน อาคารสาธารณะ ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย หรือคลังสินค้า ที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงใกล้ถนนสาธารณะ 1.ถ้าถนนสาธารณะนั้นมีความกว้างน้อยกว่า 10 เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากกึ่งกลางถนนสาธารณะอย่างน้อย 6 เมตร 2.ถ้าถนนสาธารณะนั้นมีความกว้างตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป แต่ไม่เกิน 20 เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากเขตถนนสาธารณะอย่างน้อย 1 ใน 10 ของความกว้างของถนนสาธารณะ 3.ถ้าถนนสาธารณะนั้นมีความกว้างเกิน 20 เมตรขึ้นไป ให้ร่นแนวอาคารห่างจากเขตถนนสาธารณะอย่างน้อย 2 เมตร ข้อ 50 ระบุว่า ผนังของอาคารที่มีหน้าต่าง ประตู ช่องระบายอากาศหรือช่องแสง หรือระเบียงของอาคารต้องมีระยะห่างจากแนวเขตที่ดิน ดังนี้ 1.อาคารที่มีความสูงไม่เกิน 9 เมตร ผนังหรือระเบียงต้องอยู่ห่างเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 2 เมตร 2.อาคารที่มีความสูงเกิน 9 เมตร แต่ไม่ถึง 23 เมตร ผนังหรือระเบียงต้องอยู่ห่างเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 3 เมตร ผนังของอาคารที่อยู่ห่างเขตที่ดินน้อยกว่าตามที่กำหนดไว้ใน 1 หรือ 2 ต้องสร้างเป็นผนังทึบ และดาดฟ้าของอาคารด้านนั้นให้ทำผนังทึบสูงจากดาดฟ้าไม่น้อยกว่า 1.80 เมตร ในกรณีก่อสร้างชิดเขตที่ดินต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของที่ดินข้างเคียงด้านนั้นด้วย 5.ขนาดถนนและความกว้างของที่ดินหน้าอาคาร นอกจากระยะร่นแล้ว คอนโดแต่ละขนาดจะต้องตั้งอยู่บนถนนที่มีขนาดและความกว้างที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะหากเกิดเหตุไฟไหม้ รถดับเพลิงที่มีขนาดใหญ่จะต้องสามารถเข้าไประงับเหตุหรือช่วยเหลือได้ กฎหมายคอนโด จึงต้องกำหนดขนาดถนนและความของที่ดินหน้าอาคารเอาไว้ ไม่เฉพาะเหตุการณ์ไฟไหม้แต่ยังรวมถึงเหตุร้ายอื่น ๆ หรือเพื่อความปลอดภัยด้านอื่นด้วย โดยเรื่องนี้กำหนดไว้ใน กฎกระทรวงฉบับที่ 33 ข้อ 2 และข้อ 3 ดังนี้   หมวด 1 ลักษณะของอาคาร เนื้อที่ว่างของภายนอกอาคารและแนวอาคาร ข้อ 2 ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่อาคารรวมไม่เกิน 30,000 ตารางเมตร ต้องมีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินนั้นยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร และถนนสาธารณะนั้นต้องมีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดนับตั้งแต่ที่ตั้งอาคารจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร   สำหรับที่ดินที่ใช้เป็นที่ต้องของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่อาคารมากกว่า 30,000 ตารางเมตร ต้องมีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินนั้นยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร และถนนสาธารณะนั้นต้องมีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอด เป็นระยะทางไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของถนนสาธารณะนั้น หรือไม่น้อยกว่า 500 เมตร นับตั้งแต่ที่ตั้งของอาคาร   ข้อ 3 อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องมีถนนหรือที่ว่างปราศจากสิ่งปกคลุมโดยรอบอาคารกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร และรถดับเพลิงสามารถเข้าออกได้สะดวก ที่ว่างตามวรรคหนึ่ง ให้รวมระยะเขตห้ามก่อสร้างอาคารบางชนิด หรือบางประเภทริมถนน หรือทางหลวงตามข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นที่ว่างได้ ในกรณีที่มีข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวสร้างหรือขยายถนนใช้บังคับ ให้เริ่มที่ว่างตามวรรคหนึ่งตั้งแต่แนวนั้น 6.ที่ว่างนอกอาคาร นอกจากระยะร่น ขนาดถนนด้านหน้าโครงการแล้ว ตัวอาคารจะยังจะต้องมีพื้นที่ว่างด้านนอกอาคารกับพื้นที่ข้างเคียง ที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย เพื่อลดผลกระทบจากตัวโครงการกับพื้นที่รอบข้าง ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 ข้อ 6 ที่ระบุว่า อาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าอัตราส่วน ดังต่อไปนี้ 1.อาคารอยู่อาศัยต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ดินแปลงนั้น 2.อาคารพาณิชย์ โรงงาน อาคารสาธารณะและอาคารอื่นที่ไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ดินแปลงนั้น แต่ถ้าอาคารนั้นใช้เป็นที่อยู่อาศัยรวมอยู่ด้วยต้องมีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุมตาม (1) ขณะที่กฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543)  หมวด 3 ที่ว่างภายนอกอาคาร  ข้อ 33 อาคารแต่ละหลังหรือหน่วยต้องมีที่ว่างตามที่กำหนดดังต่อไปนี้ 1.อาคารอยู่อาศัย และอาคารอยู่อาศัยรวม ต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่า 30 ใน 100 ส่วนของพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งที่มากที่สุดของอาคาร 2.ห้องแถว ตึกแถว อาคารพาณิชย์ โรงงาน อาคารสาธารณะ และอาคารอื่นซึ่งไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่า 10 ใน 100 ส่วน ของพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งที่มากที่สุดของอาคาร แต่ถ้าอาคารดังกล่าวใช้เป็นที่อยู่อาศัยด้วยต้องมีที่ว่างตาม (1)   ทั้งหมดนี้เป็นเพียง กฎหมายคอนโด เบื้องต้น ที่เราควรทำความเข้าใจ เพื่ออย่างน้อยจะได้ดูว่าโครงการที่เรากำลังสนใจซื้อนั้น ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็มักจะทำถูกกฎหมายกันทั้งหมด แต่ถ้าเรารู้และเข้าใจกฎหมายได้อย่างถูกต้อง ก็จะทำให้มั่นใจได้ว่าเลือกโครงการไม่ผิด
Auto Parking กับเรื่องกวนใจที่คาดไม่ถึง

Auto Parking กับเรื่องกวนใจที่คาดไม่ถึง

Auto Parking กับเรื่องกวนใจที่คาดไม่ถึง “Auto Parking” หรือ “ระบบจอดรถอัตโนมัติ” มีผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์หลายรายให้ความสำคัญ และนำเข้ามาใช้ในโครงการมากขึ้น โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมหรูใจกลางเมืองเพื่อลดปัญหาเรื่องที่จอดรถในโครงการ เพราะใช้พื้นที่จอดระหว่างคันน้อยกว่าแบบปกติ และหลายโครงการก็มีพื้นที่โครงการค่อนข้างจำกัด นอกจากนี้ยังเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกบ้านไม่ต้องขับรถวนหาที่จอด   ปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีที่ช่วยบริหารระบบจอดรถอัตโนมัติ หรือ Auto Parking หลายประเภท แบ่งเป็น 4 ประเภทหลักๆ คือ Tower Parking – เป็นการจอดแบบซ้อนกันในแนวตั้ง ใช้พื้นที่น้อยเพราะสามารถจอดซ้อนกันได้ 2-4 คันต่อชั้น จึงเป็นที่นิยมในคอนโดมิเนียม Rotary Parking – เป็นลักษณะการจอดแบบกระเช้า ชุดจอดจะเคลื่อนที่แบบหมุนวนในแนวดิ่ง ปัจจุบันลานจอดรถบางแห่งก็หันมาใช้ระบบการจอดในลักษณะนี้ เพื่อประหยัดพื้นที่ เนื่องจากชุดจอด 1 ชุด สามารถจอดรถได้ 16 คัน Multi Floor Parking – ระบบนี้จะเป็นการจอดในแนวราบ โดยการใช้ลิฟต์ยกรถขึ้นไประหว่างชั้น แล้วเลื่อนส่งรถเข้าจอดในแนวราบ เหมาะกับโครงการที่มีพื้นที่ค่อนข้างมาก Circulation Parking – ระบบนี้จะเป็นการเคลื่อนที่หมุนวนในแนวราบ สามารถจอดรถได้ 10-30คันต่อหนึ่งชุด เหมาะกับโครงการที่พื้นที่น้อย   นอกจากนี้ Auto Parking หรือ ระบบการจอดรถอัตโนมัติ ในอาคารยังแบ่งตามลักษณะของช่องจอดได้อีก 2 ประเภท คือ จอดรถในลิฟต์ - ช่องจอดรถจะอยู่ด้านในลิฟต์ เมื่อประตูลิฟต์เปิดผู้ใช้จะต้องขับรถเข้าไปจอดในตำแหน่งที่กำหนดภายในลิฟต์ จอดรถด้านนอกลิฟต์ – ตำแหน่งที่ต้องจอดรถจะอยู่ที่ด้านหน้าประตูลิฟต์ เมื่อจอดตรงตำแหน่งเรียบร้อยแล้ว รถจะถูกลำเลียงเข้าไปในลิฟต์ และนำเข้าสู่ที่จอด Auto Parking ก็มีข้อดี Auto Parking หรือ ระบบจอดรถอัตโนมัติ มีข้อดีหลายข้อ เช่น จำนวนในการรองรับรถได้มากขึ้นในพื้นที่ที่จำกัด, ประหยัดเวลาในการวนรถขึ้นลานจอดรถซึ่งหลายโครงการแจ้งความเร็วในการนำรถออกจากระบบแค่ 3-5 นาทีเท่านั้น (ไม่นับเวลารอคิว) รวมถึงความปลอดภัยต่อทรัพย์สิน เพราะเมื่อรถเราเข้าไปจอดอยู่ในระบบแล้ว ก็หมดกังวลเรื่องการถูกเฉี่ยวชน หรือการโจรกรรมทรัพย์สินภายในรถด้วย   แต่ถึงแม้จะมีข้อดีที่โดดเด่นในเรื่องความสะดวกสบาย แต่หลายครั้งที่ผู้ใช้จริงก็อาจจะไม่ปลื้ม และมีเรื่องกวนใจที่คาดไม่ถึงหากต้องนำรถเข้าจอดในระบบอัตโนมัติ หรือ Auto Parking เพราะปัจจุบัน Auto Parking ในประเทศไทยที่มีใช้อยู่โครงการคอนโดมิเนียมเกือบทั้งหมดจะเป็น “การจอดรถในลิฟต์” ลองไปดูกันว่ามีเรื่องจุกจิกกวนใจอะไรบ้าง? ที่ทำให้ Auto Parking ไม่ได้เป็นที่ปลาบปลื้มสำหรับบางคน Auto Parking กับเรื่องกวนใจที่คาดไม่ถึง จัดการสัมภาระยุ่งยาก – เมื่อต้องนำรถเข้าไปจอดในลิฟต์ที่มีพื้นที่จำกัด ก่อนอื่นเราก็ต้องนำสิ่งของและคนลงจากรถก่อนนำรถเข้าลิฟต์ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องวุ่นวายและใช้เวลาไม่น้อยที่เราจะต้องนำของออกมากองตรงจุด Drop Off ก่อนแล้วค่อยขับรถเข้าลิฟต์ ถ้ามีสมาชิกโดยสารมาด้วย ก็ต้องให้ผู้โดยสารลงมายืนรอหน้าลิฟต์ แล้วถ้าเป็นครอบครัวที่มีลูกเล็ก ก็คงจะไม่สะดวกใจถ้าหากต้องปล่อยให้เด็กๆ ยืนรอเราจอดรถโดยลำพัง   รถเป็นรอยขูดขีด – เนื่องจากพื้นที่ในลิฟต์จอดมีจำกัด แค่เปิดประตูเบี่ยงตัวลงจากรถที่ก็อาจจะชนกับผนังลิฟต์ แล้วถ้าวันไหนมีสัมภาระเยอะต้องหิ้ว ต้องหอบจนล้นมือก็ลำบากไปอีก หรือบางทีเลี้ยวรถไม่พ้นก็ขูดตรงนั้นตรงนี้ให้เกิดรอยฝากไว้ให้เจ็บจี๊ดๆ ไม่ถูกใจคนรักรถเอาซะเลย   จอดล้อไม่ตรงล็อค – การนำรถเข้าจอดในลิฟต์ จะต้องจอดให้ตรงล็อคพอดี เพื่อให้ระบบสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เกิดปัญหาตามมา ทุกระบบจะมีการป้องกัน เมื่อระบบไม่สามารถล็อคตำแหน่งล้อได้ ระบบก็จะไม่ทำงาน เราก็ต้องขยับจอดใหม่ให้พอดี ซึ่งถ้าเป็นมือใหม่ขับรถยังไม่ชำนาญก็คงเป็นเรื่องที่ทำให้เสียเวลาไม่น้อย   เสียงดังรบกวน – ระบบจอดรถอัตโนมัติที่ใช้โครงเหล็ก อาจมีเสียงดังรบกวนเมื่อใช้งานไปนานๆ แล้วถ้าระบบการเก็บเสียงในอาคารไม่ดีพอ บางทีก็อาจจะทำให้เสียงรบกวนไปถึงห้องพักอาศัยได้ ซึ่งเคยมีเคสดังในโลกออนไลน์ให้เห็นแล้ว   ส้นติด!!! – อีกหนึ่งปัญหาที่คาดไม่ถึง ที่อาจเกิดกับคุณสาวๆ โดยเฉพาะคนที่ใส่รองเท้าส้นสูง ซึ่งมีความเสี่ยงที่ส้นรองเท้าอาจจะไปติดตามซอก หรือช่องบนพื้นลิฟต์ได้   รอรถนานไม่ทันใจ – ในช่วงเวลาเร่งรีบที่ลูกบ้านต้องออกเดินทางพร้อมๆ กัน ถ้าต้องรอคิวนำรถออกจากระบบนานๆ ก็เป็นเรื่องที่ชวนหงุดหงิดไม่น้อยเลย ถึงแม้จะบอกว่า Auto Parking ปัจจุบันใช้เวลาแค่ 3-5 นาทีเท่านั้นในการนำรถออกจากระบบ แต่นั่นไม่ได้นับรวมเวลาในการรอคิวด้วย หากมีรถรอคิวออกจากระบบ 10 คิว และในโครงการติดตั้งลิฟต์ไว้แค่ 2 ตัว คิวท้ายๆ ก็ต้องรอนานกว่า 20 นาทีแล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าประทับใจแน่   ทั้งนี้การเลือกใช้ Auto Parking หรือ ระบบจอดรถอัตโนมัติ ก็ถือเป็นทางออกที่ดีในการจัดการปัญหาที่จอดรถที่มีอย่างจำกัด ซึ่งในฐานะลูกบ้านโครงการคอนโดมิเนียมที่ต้องเลือกอยู่อาศัย และใช้ระบบจอดรถอัตโนมัติทุกวัน คงต้องให้ความสนใจเรื่องของระบบการจัดการจอดรถในรูปแบบต่างๆ ให้มากขึ้น เช่น ทางโครงการเลือกใช้ Auto Parking ระบบอะไร, มีข้อจำกัดเรื่องขนาดรถเข้าจอดหรือไม่, ความสะดวก ปลอดภัยต่อทรัพย์สิน, รวมไปจนถึงความรวดเร็ว แม่นยำในการนำรถเข้า-ออกจากระบบ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะกลายเป็นชีวิตประจำวันของลูกบ้านในโครงการทุกคน หากเกิดปัญหาที่คาดไม่ถึง หรือมีเรื่องกวนใจอยู่บ่อยครั้ง คงไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ แล้วถ้าจะหวังว่าจะเปลี่ยนกลับไปเป็นที่จอดรถธรรมดาก็คงเป็นไปไม่ได้   บทความที่น่าสนใจ เห็นด้วยไหม? คอนโดจะไม่สร้างที่จอดรถ ปาร์คทูโก ลุย ‘จองก่อนจอด’ ทำอย่างไรเมื่อพื้นที่จอดรถทรุด  
8 วิธีเอาตัวรอด เมื่อเกิดไฟไหม้

8 วิธีเอาตัวรอด เมื่อเกิดไฟไหม้

ต้องยอมรับว่า ภัยพิบัติ อย่างอัคคีภัย หรือไฟไหม้ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก  แม้ว่าจะเป็นภัยที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่เราก็สามารถจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ได้ หรือหากเกิดไฟไหม้ขึ้นต้องรีบระงับหรือดับไฟไม่ให้ลุกลาม ซึ่งแนวทางเบื้องต้น เมื่อเกิดไฟไหม้หรือต้องตกอยู่ในสถาการณ์ดังกล่าว   สิ่งแรกที่เราต้องทำ คือ การตั้งสติ ต้องไม่ตื่นตระหนกไปกับเหตุการณ์  เพราะการมีสติจะทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกวิธี  นอกจากนี้ เราลองมาดูวิธีการเอาตัวรอด หากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ หรือหากยังไม่เกิดเหตุการณ์ขึ้น เราก็ควรจะเรียนรู้เพื่อนำไปปรับใช้ ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น   1.เตรียมเบอร์โทร.สายด่วน เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ คงต้องประเมินก่อนว่าไฟไหม้ดังกล่าว ต้นเพลิงเกิดจากอะไร  หากเป็นเพลิงไหม้จากกระดาษ ไม้ หรือวัสดุติดไฟธรรมดา เราสามารถใช้น้ำดับไฟได้ปกติ แต่หากเป็นไฟไหม้ที่เกิดจากอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า สายไฟ น้ำมัน หรือก๊าซหุงต้ม ต้องใช้นำยาเคมีดับเพลิงเท่านั้น   แต่หากไม่สามารถดับไฟได้ สิ่งที่ต้องรีบทำ คือ การโทรศัพท์หาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือช่วยดับไฟได้  เช่น  โทร. 191 แจ้งเหตุด่วน-เหตุร้ายทุกชนิด โทร. 199 แจ้งอัคคีภัย   โทร. 1669  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โทร. 192 ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นต้น โดยเบอร์โทรศัพท์เหล่านี้ ควรเก็บไว้ในโทรศัพท์ หรือจดไว้ในสมุด หรือติดไว้บริเวณที่สามารถเห็นได้ชัดเจน เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจะได้ใช้งานได้รวดเร็ว 2.เรียนรู้วิธีรับมือภัยพิบัติ เราควรจะทำการศึกษาและเรียนรู้ วิธีการรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือไฟไหม้ ซึ่งสามารถหาข้อมูลได้ง่าย ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่การเข้ารับการฝึกอบรม ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากมีความรู้ความเข้าใจในวิธีการรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้อย่างถูกต้อง เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติก็จะทำให้เราสามารถเอาตัวรอดได้ และยังอาจจะช่วยเหลือคนที่เรารักได้อีกด้วย 3.เตรียมถังดับเพลิงให้พร้อมใช้งาน แม้ว่าเราไม่คาดหวังว่าจะเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ แต่การเตรียมความพร้อมไว้ ถือเป็นวิธีการที่ดีและถูกต้อง ดังนั้น ถังดับเพลิงจึงควรมีไว้ใช้งานประจำบ้านหรืออาคาร และต้องติดตั้งอยู่ในจุดที่สามารถหยิบมาใช้งานได้สะดวก อุปกรณ์ถังดับเพลิงต้องอยู่ในสภาพที่ดี มีคุณภาพ และต้องใช้งานได้จริงด้วย จึงควรเลือกซื้ออุปกรณ์ที่ได้รับรองมาตรฐาน และจากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ 4.เตรียมอุปกรณ์ป้องกันขณะหนีออกจากอาคาร   นอกเหนือจากถังดับเพลิงที่ต้องมีแล้ว บางครั้งเราอาจจะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถใช้ถังดับเพลิงได้ เราจึงควรมีอุปกรณ์ป้องกันไฟอื่น ๆ ขณะที่หนีออกจากอาคารด้วย  เช่น ผ้าหนาๆ ไฟฉาย นกหวีด หน้ากากป้องกันควัน เป็นต้น  และต้องหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ดังกล่าวว่าพร้อมสำหรับใช้งานอยู่เสมอ 5.เตรียมสิ่งของที่จำเป็นสำหรับการอพยพ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ในสถานที่พักอาศัยของเรา หรือแม้แต่บ้านใกล้เคียง ซึ่งอาจจะส่งผลให้เราไม่สามารถกลับเข้าไปใช้พื้นที่บ้านของเราได้ จึงควรจัดเตรียมอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น ใส่กระเป๋าเอาไว้ หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจะได้หยิบออกจากบ้านได้ทันท่วงที  สิ่งของที่ควรจัดไว้ในกระเป๋า  ได้แก่ อาหารที่สามารถรับประทานได้เลย น้ำดื่ม วิทยุพกพาพร้อมถ่านสำรอง ไฟฉายหรือเทียนไขพร้อมไม้ขีด ยา อุปกรณ์ปฐมพยาบาล อุปกรณ์สำหรับชีวิตประจำวัน เช่น ผ้าขนหนู สบู่ แปรงสีฟัน ผ้าห่ม เชือก เสื้อผ้า เสื้อกันฝน ร่ม ถุงมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าห่อของ หมวกกันน็อก มีด ที่เปิดกระป๋อง ที่เปิดขวดถุงพลาสติก ผ้ายาง สมุด ปากกา และที่สำคัญคือเงินสด สมุดบัญชีธนาคาร บัตรประกันสุขภาพ ใบขับขี่ สำเนาทะเบียนบ้าน 6.ตรวจสอบอุปกรณ์-เครื่องไฟฟ้า ให้พร้อมใช้งาน อุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในบ้าน โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า ควรจะตรวจสอบให้พร้อมใช้งาน และอยู่ในสภาพที่ดี เพราะอุปกรณ์เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นแหล่งกำหนดไฟได้ หากอุปกรณ์ชำรุด หรือลัดวงจรขึ้นมา ที่สำคัญควรถอดปลั๊กไฟทุกครั้งหลังการใช้งาน หรือพวกเตาแก๊ซ ต้องตรวจสอบให้ดีทั้งก่อนใช้งานและหลังใช้งาน ส่วนวัสดุอุปกรณ์ ที่มีความไวไฟ ก็ควรเก็บไว้ในสถานที่ห่างไกลความร้อน หรือแสงอาทิตย์ เพราะอาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นมาได้ 7.ศึกษาพื้นที่-สภาพแวดล้อมรอบ ๆ บ้าน บริเวณที่เราอยู่อาศัย หรือแม้แต่สถานที่ทำงาน เราควรสำรวจและทำความรู้จักเส้นทางให้ดีว่า มีเส้นทางใดบ้าง เพื่อหากเกิดสถานการณ์ไม่คาดคิด เราจะได้ใช้เป็นเส้นทางหนีออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ คงต้องสำรวจบริเวณโดยรอบด้วยว่าเราอยู่ใกล้กับสถานที่เสี่ยงภัยอะไรบ้าง เช่น โรงงานเคมี หรือโรงงานที่ใช้วัตถุไวไฟ ปั๊มแก๊ซ เป็นต้น เพราะการสำรวจพื้นที่โดยรอบ จะทำให้เราไม่อยู่ในความประมาท และทำให้เราตื่นตัวอยู่เสมอ 8.วิธีหนีออกจากอาคารที่เพลิงไหม้ วิธีหนีออกจากอาคารที่เพลิงไหม้  ก่อนอื่นต้องตั้งสติ ไม่ตื่นตระหนก  ในกรณีที่ไฟไหม้นอกห้อง ให้ค่อยๆ ใช้มือสัมผัสบริเวณผนังหรือลูกบิดประตู ถ้ามีความร้อนสูงแสดงว่าเกิดเพลิงไหม้บริเวณใกล้ๆ ห้ามเปิดประตูออกไป ควรปิดประตูให้สนิท ใช้ผ้าหนาๆ ชุบน้ำอุดตามช่องที่ควันสามารถเข้าไปได้ เช่น ขอบประตู ช่องลม ขอบหน้าต่าง จะทำให้เพลิงลุกลามช้าลง ถ้าลูกบิดไม่ร้อนให้เปิดประตู ค่อยๆ เดินออกไปอย่างช้า ๆ สังเกตรายละเอียดรอบตัวให้ดี และรีบเดินไปยังเส้นทางหนีไฟที่ปลอดภัยในทันที   การออกจากอาคารให้ใช้บันไดหนีไฟภายนอกอาคาร ห้ามใช้ลิฟต์อย่างเด็ดขาด เพราะเมื่อเกิดเพลิงไหม้ ไฟฟ้าจะดับ คุณอาจติดค้างอยู่ในลิฟต์ และทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาต่อมาจากการสูดดมควันไฟเข้าไป หากยังหาทางออกไม่ได้ ไม่แนะนำให้เข้าไปอยู่ในบริเวณที่เป็นจุดอับภายในอาคารซึ่งยากต่อการช่วยเหลือ เช่น ห้องน้ำ ห้องใต้ดิน ดาดฟ้า เป็นต้น เพราะแม้อาจจะปลอดภัยในช่วงแรก แต่น้ำในห้องน้ำหรือน้ำจากท่อประปาอาจไม่เพียงพอต่อการดับไฟ และเมื่อหนีออกมาจากอาคารที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ได้แล้ว ห้ามกลับไปยังอาคารที่เกิดเหตุอีกเด็ดขาด     แหล่งข้อมูล : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, adayBULLETIN ,คู่มือประชาชนในการเตรียมตัวให้รอดปลอดภัยพิบัติ การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย
4 วิธีอย่างง่าย ปรับบ้านให้มีสุขภาวะที่ดีรับ WFH 

4 วิธีอย่างง่าย ปรับบ้านให้มีสุขภาวะที่ดีรับ WFH 

ชั่วโมงนี้ เรื่องของสุขภาพดี ใคร ๆ ก็ต้องการ อยากให้ร่างกายของตนเองแข็งแรง และห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงระบาดอยู่ในขณะนี้ ทำให้มาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ยังเป็นสิ่งจำเป็น และทุกคนควรร่วมมือกันปฏิบัติ จนกว่าสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้น การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนครอบคลุมมากกว่านี้   แม้ว่าเราจะอยู่บ้าน แต่ก็ยังคงทำงานกันเป็นปกติ ตามวิถีชีวิตปกติใหม่ (New Normal) แต่การทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ในแต่ละวันเป็นระยะเวลานาน ๆ โดยเฉพาะการนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ สิ่งที่อาจจะตามมาได้ ก็คงเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม เพราะหากอยู่ในสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม หรือนั่งทำงานกับอุปกรณ์ที่ไม่ถูกต้องตามสรีระศาสตร์ ก็อาจจะเกิดภาวะปวด เมื่อย ได้เช่นกัน หรือแม้แต่การทำงานที่เราแทบจะไม่ได้พบปะกับเพื่อนร่วมงาน หรือผู้คนทั่วไป เจอกันแต่ทางออนไลน์ ภาวะครามเครียดก็อาจจะเข้ามาถามหาได้เหมือนกัน   ดังนั้น วันนี้ เราจะมีคำแนะนำ ​ 4 วิธีอย่างง่ายในการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้มีสุขภาวะที่ดีตามเกณฑ์ของ WELL Building Standard หรือมาตรฐานการออกแบบอาคารที่คำนึงถึงสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อยู่อาศัย ที่ออกแบบมาตรฐานโดย สถาบันอินเตอร์เนชั่นแนล เวลล์ บิลดิ้ง (International WELL Building Institute: IWBI) ในช่วงเวลาที่หลายคนต้องทำงานที่บ้าน  ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาฝากกัน เป็นบทความจากบริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LPN Wisdom : LWS) บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) 4 แนวทางการปรับปรุงที่พักอาศัยให้มีสุขภาวะที่ดี เหมาะกับการทำงานที่บ้าน ประกอบด้วย 1.การเลือกมุมทำงานแสงธรรมชาติส่องถึง การเลือกมุมทำงานในพื้นที่ที่แสงธรรมชาติสามารถส่องเข้าถึงได้ เพื่อลดการใช้แสงจากหลอดไฟ ถ้าในที่พักอาศัยมีแสงธรรมชาติไม่เพียงพอจำเป็นต้องใช้แสงไฟจากดองโคม  ควรเลือกหลอดไฟที่มีความคล้ายคลึงกับแสงอาทิตย์ เพื่อให้เกิดความสบายตาในการทำงาน และมีคุณภาพของสีที่ตรงกับความเป็นจริง และต้องทำการจัดตำแหน่งโคมไฟให้เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดเงาและแสงสะท้อนบนหน้าจอเนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการปวดตา และส่งผลเสียต่อดวงตาในระยะยาวได้ คุณภาพแสงที่ดีจะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานและคุณภาพการนอนหลับให้ดีขึ้นได้อีกด้วย 2.พื้นที่ทำงานอากาศต้องถ่ายเทสะดวก​ พื้นที่ทำงานควรมีอากาศที่ถ่ายเทได้อย่างสะดวก มีคุณภาพอากาศที่ดี ในห้องหรือในพื้นที่ทำงานภายในที่อยู่อาศัย ควรมีอากาศถ่ายเทไม่ควรเป็นพื้นที่ปิดที่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา เนื่องจากการทำงานในพื้นที่ที่อากาศไม่ถ่ายเทหรือต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา อาจจะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อรา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจได้ 3.ใช้อุปกรณ์สำนักงานถูกหลักสรีระศาสตร์    เลือกใช้อุปกรณ์สำนักงานที่ออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ (Ergonomic Design) การทำงานที่บ้านควรเลือกใช้โต๊ะและเก้าอี้ทำงานที่เป็นไปตามหลักสรีรศาสตร์ เพื่อลดความเสี่ยงของการเป็น Office Syndrome จากการนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมง ในขณะเดียวกันควรปรับตำแหน่งอุปกรณ์สำนักงานให้สอดคล้องกับกระบวนการทำงาน อาทิ  ตำแหน่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอคอมพิวเตอร์ควรสามารถปรับระดับได้ตามความต้องการของผู้ใช้งานให้ขอบบนของหน้าจอควรอยู่ระดับสายตาพอดีหรือต่ำกว่าระดับสายตาเล็กน้อย หากใช้คอมพิวเตอร์แบบ Labtop ก็ควรต่อจอมอนิเตอร์แยก และจัดให้มีชุดคีย์บอร์ด, เม้าส์ต่างหาก ผู้ใช้งานจะได้ไม่ต้องก้มลง หรือเกร็งกล้ามเนื้อเพื่อใช้ Trackpad ที่ติดมากับตัวเครื่อง, ความสูงของโต๊ะทำงาน โต๊ะทำงานควรจะปรับระดับได้ตามสรีระของผู้ใช้งาน ทั้งการนั่ง หรือการยืนทำงาน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ทำงานขยับร่างกายมากขึ้น ไม่ต้องนั่งอยู่ในท่าเดียวกันเป็นเวลานาน, เก้าอี้ทำงาน เก้าอี้ที่ใช้ทำงานควรมีที่พิงหลัง ที่วางแขน สามารถปรับระดับความสูงได้ตามความเหมาะสม โดยให้ที่วางแขนอยู่ในระนาบเดียวกับขอบโต๊ะ เพื่อให้สามารถรองรับแขนและข้อมือได้ โดยไม่รู้สึกเมื่อยช่วงไหล่ 4.ดูแลสุขภาพใจควบคู่สุขภาพกาย ดูสุขภาพกายแล้ว อย่าลืมดูแลสุขภาพใจด้วย ปัญหาที่หลายๆ คนพบในระหว่างการทำงานแบบ Work from Home คือ การที่ทำงานเพลินจนลืมเวลา และรู้สึกว่ามีพลังในการทำงานน้อยลง เนื่องจากสถานที่ที่ปกติแล้วใช้พักผ่อนหย่อนใจกลับโดนบุกรุกด้วยงานจากที่ทำงานจนเหมือนไม่มีพื้นที่ในการใช้ชีวิตส่วนตัวแบบที่เคย ดังนั้น การทำงานที่บ้านนอกจากการดูแลเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีที่ที่พักแล้ว ต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง “จิตใจ” เป็นอย่างมาก โดย WELL กำหนดเป็น 1 ใน 10 หัวข้อหลักที่ต้องปฏิบัติเมื่อยื่นขอรับรองอาคาร เน้นย้ำว่าชีวิตการทำงานที่ดีต้องมี Work Life Balance ไม่ก่อให้เกิดความเครียดโดยไม่จำเป็น มีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับผู้ที่ทำงานในสำนักงานแยกออกจากบริเวณที่ทำงานอย่างเป็นสัดส่วน ซึ่งเราสามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานที่บ้านได้อย่างง่ายๆ โดยเลือกพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในบ้านเป็นพื้นที่ทำงานโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้เรื่องงานและเรื่องส่วนตัวใช้พื้นที่ทับซ้อนกัน และควรมีเวลาพักผ่อนเป็นเวลา 30 นาที ในช่วงกลางวัน เพื่อเป็นการรีเฟรชสมองให้ปลอดโปร่ง ไม่จมอยู่กับความเครียดของการทำงานจนมากเกินไป   นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ ลุมพินี วิสดอม  เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาที่หลายคนต้องทำงานที่บ้าน การปรับปรุงที่พักอาศัยให้เหมาะสมกับการทำงานและสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อน เป็นสิ่งจำเป็น การนำมาตรฐาน WELL เข้ามาใช้ในการปรับปรุงไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากแต่เน้นการปรับพื้นที่โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมเป็นหลัก เมื่อปรับปรุงพื้นที่ได้เหมาะสมจะเป็นประโยชน์ในการทำงาน พักผ่อน ให้การอยู่อาศัยมีสุขภาวะที่ดีในภาวะที่โควิด-19 แพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน   การปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เป็นไปตามเกณฑ์ของ WELL คำนึงถึงสภาพแวดล้อมเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมากยึดการออกแบบจากทิศทางของแสงและลมเป็นหลัก        
5 ทริคปรับคอนโดไซส์เล็กให้ดูกว้าง รับวิถี W​FH

5 ทริคปรับคอนโดไซส์เล็กให้ดูกว้าง รับวิถี W​FH

จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ที่เข้ามาเชื่อมต่อคนในยุคปัจจุบัน ให้สามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา แถมภายใต้ภาวะเกิดโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้หลายองค์กรต้องปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินงานของคนในองค์กร  ด้วยรูปแบบการทำงานจากที่บ้าน หรือ  Work From Home มากขึ้น นิยามของ Workplace จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในออฟฟิศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น  บ้านหรือที่อยู่อาศัย จึงถูกใช้ประโยชน์มากกว่าการเป็นที่พักหรืออยู่อาศัย  แต่เป็นพื้นที่สำหรับการทำงานและการใช้ทำธุรกิจได้ด้วย   แต่ด้วยการเติบโตของตลาดคอนโดมิเนียม ซึ่งตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนเมือง เนื่องจากอยู่ในทำเลใกล้สถานที่ทำงาน หรือการคมนาคมคนส่ง รวมถึงระดับราคาที่คนส่วนใหญ่หาซื้อได้  จึงทำให้คนทำงานในเมืองส่วนใหญ่ เลือกที่จะพักอาศัยในคอนโด แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องของระดับราคาคอนโด ที่คนส่วนใหญ่จะเลือกซื้อได้ ห้องพักที่ตรงโจทย์การใช้ชีวิตของคนเมือง จึงมักจะเป็นห้องขนาดไม่ใหญ่มาก โดยเฉลี่ยก็ระดับพื้นที่ 30 ตารางเมตรบวกลบไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่ก็มักจะอยู่อาศัยกันเพียง 1-2 คนเท่านั้น   ด้วยดีไซน์ให้คอนโดมีขนาดห้องที่พอเหมาะกับการอยู่อาศัย แต่อาจจะไม่เหมาะสมกับการทำกิจกรรมอื่น ๆ มากนัก จึงทำให้พื้นที่ห้อง หากจะต้องถูกนำมาใช้เพื่อการทำงาน อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยน ปรับรูปแบบหรือเติมฟังก์ชั่นอื่น ๆเข้าไปเสริมด้วย ซึ่งวันนี้ บริษัท เอ็มดีพีซี จำกัด MDPC Expertise Meets Excellence ได้นำเสนอเทคนิคการตกแต่งที่อยู่อาศัยให้เหมาะกับวิถีชีวิต Work From Home ในปัจจุบัน โดยเฉพาะห้องพักในโครงการคอนโดที่ส่วนใหญ่จะมีพื้นที่ใช้สอยกะทัดรัดประมาณ 29 ตร.ม. ให้รองรับทั้งชีวิตการทำงานและพักผ่อนได้อย่างลงตัวด้วย 5 เทคนิคสำคัญ ดังนี้ 1.ตกแต่งผนังห้องด้วยสีเอิร์ทโทน การแต่งห้องด้วยการใช้สีเอิร์ทโทน หรือ Earth Tone นอกจากช่วยให้บรรยากาศผ่อนคลายและรู้สึกสบายตาแล้ว การเลือกใช้วอลเปเปอร์สีโทนธรรมชาติ ลักษณะเอิร์ทโทน โดยเฉพาะสีเบจ (Beige) และสีเบจอมเทา (Greige) จะช่วยให้ห้องแลดูมีพื้นที่กว้างขวาง และสว่างมีชีวิตชีวาโดยไม่สะท้อนแสงไฟจนรบกวนสายตาเกินไป เหมาะกับช่วงเวลาที่ต้องใช้สมาธิและความสร้างสรรค์  ขณะเดียวกัน สีโทนนี้ยังเข้ากันได้กับอีกหลายโทนจึงง่ายต่อการตกแต่ง ช่วยขับให้เฟอร์นิเจอร์ชิ้นอื่นภายในห้องพักดูโดดเด่น และยังสะดวกต่อการหามุมสำหรับ Video Conference 2.วางเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ชิดผนัง การจัดวางเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ให้ชิดผนังหรือเข้ามุม แล้วเปิดพื้นที่กลางห้องให้โล่ง มีทางเดิน จะช่วยให้ห้องดูโปร่ง เช่น วางโต๊ะทำงานชิดผนังห้อง เพื่อให้มีพื้นที่โล่งด้านหลัง ช่วยลดความรู้สึกอึดอัดขณะนั่งทำงาน และสะดวกต่อการถอยเก้าอี้  ทั้งนี้ ควรเลือกเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ที่มีดีไซน์เรียบง่าย มีทรงเหลี่ยมจะจัดวางได้ง่ายกว่าทรงอื่น รวมถึงการใช้เฟอร์นิเจอร์แนวสูงอย่างชั้นเก็บของแบบเข้ามุม จะช่วยประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บของได้มากขึ้น 3.เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์แบบ Dual-purpose โครงการคอนโด ส่วนใหญ่มักติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ Built-in ที่ออกแบบมาให้เหมาะกับขนาดห้องพัก อย่างตู้เสื้อผ้า เคาน์เตอร์ครัว หรือชั้นวางแบบติดผนัง แต่เฟอร์นิเจอร์อื่น ๆ เช่น เตียง โต๊ะรับประทานอาหาร โต๊ะกลางหน้าโซฟา และโซฟา จะเป็นเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวซึ่งใช้พื้นที่ใช้สอยมากกว่า จึงควรเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์แบบ Dual-purpose หรือเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้งานได้มากกว่า 1 ฟังก์ชัน และเฟอร์นิเจอร์พับเก็บได้ อย่างเตียงที่มีลิ้นชักเก็บของ โซฟาเบด และเก้าอี้ที่สามารถเก็บของได้จะช่วยลดจำนวนเฟอร์นิเจอร์ในห้องและประหยัดพื้นที่ใช้สอย 4.กั้นห้องด้วยฉากโปร่งใส แม้พื้นที่ในห้องพักจะไม่เหมาะกับการแบ่งห้อง แต่หากต้องการจัดพื้นที่พักผ่อนในห้องนอนกับพื้นที่ทำงานแยกออกจากกัน ควรใช้ฉากกั้นแบบโปร่งใส ประตูกระจกบานเลื่อน ติดตั้งม่านที่สามารถเลื่อนเก็บได้ หรืออาจจะใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีลักษณะโปร่ง เช่น ชั้นวางของที่ไม่มีผนังทึบ ซึ่งยังสามารถมองเห็นบริเวณอื่นของห้องได้ ช่วยไม่ให้ห้องดูคับแคบจนเกินไป มอบความรู้สึกโล่งสบายขณะพักอาศัย 5.ติดกระจกเงาบานใหญ่ การนำกระจกเงาบานใหญ่ติดตั้งบนผนังห้องในมุมทำงานหรือมุมนั่งเล่น และเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์อย่างตู้เสื้อผ้าที่มีกระจกเงาตรงประตู และตู้เก็บอุปกรณ์ในห้องน้ำที่เป็นบานกระจก นอกจากจะใช้งานได้แบบ Dual-purpose แล้ว ยังช่วยสะท้อนภาพให้ห้องพักดูกว้างขึ้น   ถือเป็น 5 เทคนิคที่เชื่อว่าหากนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละห้อง ก็น่าจะช่วยทำให้ห้องที่เล็กมีพื้นที่จำกัด ดูกว้างขวางมากขึ้น และทำให้การทำงานจากที่บ้านเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ ได้ทั้งงานได้ทั้งความสุขกันทุกคน
เลี้ยงสัตว์อย่างไรไม่ต้องทะเลาะกับเพื่อนบ้าน

เลี้ยงสัตว์อย่างไรไม่ต้องทะเลาะกับเพื่อนบ้าน

เลี้ยงสัตว์อย่างไรไม่ต้องทะเลาะกับเพื่อนบ้าน ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าหลายคนหันมาเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น และหลายคอนโดก็อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงได้บ้างแล้ว หลายคนเลือกจะมีสัตว์เลี้ยงไว้ช่วยสอดส่องดูแลบ้าน บางคนก็เลี้ยงไว้เป็นเพื่อนคลายเหงา สำหรับสัตว์เลี้ยงของเรานั้น ไม่ว่าจะเป็นน้องหมา น้องแมว หรือสัตว์ชนิดอื่นๆ ก็ล้วนแต่น่ารัก น่าเอ็นดูทั้งสิ้น ถึงแม้สัตว์เลี้ยงของเราจะทำอะไรผิดไปบ้าง เช่น อึ-ฉี่ไม่เป็นที่ ส่งเสียงดังรบกวนเมื่อเจอคนแปลกหน้า เรื่องเหล่านี้จะดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เจ้าของสัตว์มักจะคิดว่าสามารถตักเตือนและให้อภัยกันได้ แต่อย่าลืมว่า สิ่งที่สัตว์เลี้ยงแสดงออกมานั้น อาจรบกวน “เพื่อนบ้าน” ที่แสนน่ารักของเราด้วย ซึ่งคงจะดีหากเราหาวิธีดูแลสัตว์เลี้ยงไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เรามีวิธีดีๆ มาฝากกันค่ะ เลี้ยงสัตว์อย่างไรไม่ต้องทะเลาะกับเพื่อนบ้าน 1. ศึกษาวิธีการดูแลสัตว์ก่อนนำมาเลี้ยง เนื่องจากสัตว์แต่ละชนิดต้องการการดูแลที่แตกต่างกัน บางชนิดสามารถเลี้ยงในระบบปิดได้ ในขณะที่สัตว์บางชนิดหรือบางสายพันธุ์เหมาะที่จะเลี้ยงแบบปล่อยหรือมีพื้นที่ให้พวกมันวิ่งเล่นได้มากกว่า ทั้งนี้หากไม่อยากให้สัตว์ไปรบกวนเพื่อนบ้านมากนัก ควรพิจารณาเลือกสัตว์ที่สามารถเลี้ยงแบบระบบปิด หรือเลี้ยงในบ้านได้ เช่น แมวหรือสุนัขพันธุ์เล็กถึงขนาดกลางที่ไม่ค่อยส่งเสียงเห่าบ่อย ๆ เช่น สุนัขพันธ์    คาวาเลียร์ คิง ชาลส์ สแปเนียล, สุนัขพันธุ์บาเซนจิ, สุนัขพันธุ์เฟรนช์ บูลด็อก, สุนัขพันธุ์ชิบะ เป็นต้น 2. แจ้งให้เพื่อนบ้านทราบ ไม่ว่าเราจะอาศัยในละแวกนั้นมานาน หรือเพิ่งย้ายเข้าไปอยู่ใหม่ ๆ แต่ถ้ามีการเลี้ยงสัตว์ ก็ควรบอกกล่าวกับให้เพื่อนบ้านทราบ และขออภัยไว้ล่วงหน้าหากสัตว์เลี้ยงของเราไปรบกวน ในขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดโอกาสให้เพื่อนบ้านเข้ามาพูดคุยหรือให้คำแนะนำกับเราหากสัตว์เลี้ยงของเราไปสร้างความเดือดร้อนให้กับพวกเขาในอนาคต 3. หมั่นทำความสะอาดของใช้สัตว์เลี้ยง เพื่อลดและป้องกันไม่ให้เกิดกลิ่นเหม็นรบกวน โดยเฉพาะกระบะทรายหรือจุดที่สัตว์เลี้ยงมักไปอึหรือฉี่เป็นประจำ ด้วยการเก็บกวาดทุกครั้งที่มีการขับถ่าย หมั่นล้างทำความสะอาดและเปลี่ยนทรายในกระบะทุก ๆ 2 สัปดาห์ ที่สำคัญคือวางกระบะทรายไว้ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี และฉีดสเปรย์ดับกลิ่นไม่พึงประสงค์ช่วยอีกทางหนึ่งก็ได้ 4. ใส่สายจูงทุกครั้งที่พาไปเดินเล่น สำหรับเจ้าของที่กลัวว่าสัตว์เลี้ยงจะเบื่อ อยากพาไปเดินเล่นออกกำลังกายบ้าง ก็ควรใส่สายจูงทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้สุนัข-แมวของเราไปรบกวนหรือทำอันตรายคนอื่นขณะวิ่งเล่น พร้อมกับพกอุปกรณ์สำหรับเก็บและทำความสะอาดบริเวณที่สัตว์เลี้ยงอุจจาระไปทิ้งในถังขยะทุกครั้งด้วย  5. ให้เวลาและใส่ใจสัตว์เลี้ยงให้มากขึ้น บางครั้งการที่สัตว์เลี้ยงส่งเสียงดังรบกวน เช่น สุนัขเห่าบ่อย ๆ ไม่ได้เป็นเพราะว่ากำลังเจอสิ่งผิดปกติเสมอไป เพราะบางครั้งอาจเป็นการเรียกร้องความสนใจจากเจ้าของ ทั้งนี้หากเกิดขึ้นนาน ๆ ครั้งก็คงไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็จะสร้างความรำคาญให้เพื่อนบ้านได้ ดังนั้นให้เจ้าของลองสังเกตดูว่ามีสาเหตุมาจากอะไร แล้วรีบแก้ไข เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม    6. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้เรียบร้อย ไม่ใช่แค่เป็นการป้องกันโรคให้กับสัตว์เลี้ยงของเราเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับเพื่อนบ้านของเราด้วย โดยการปรึกษากับสัตวแพทย์ว่าสัตว์เลี้ยงของเราควรฉีดวัคซีนใดบ้าง และพาไปรับวัคซีนต่อเนื่องเมื่อถึงกำหนดหรือเกิดโรคระบาดบ่อย ๆ เช่น วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า โรคอันตรายที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงทั้งหลายพึงระวัง 7. ศึกษากฎระเบียบของที่พักอาศัย เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีข้อกฎหมายหรือข้อตกลงที่ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านจัดสรร คอนโด หรือหอพัก ซึ่งอาจจะมีการจำกัดชนิดของสัตว์เลี้ยง รวมถึงขนาดของสัตว์ตัวน้อย ดังนั้นเราควรศึกษากฎระเบียบ ข้อบังคับ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และทำให้รบกวนเพื่อนบ้าน   ที่สำคัญอย่าลืมศึกษาข้อมูลให้ครบทุกด้านก่อนการเลี้ยงสัตว์นะคะ ไม่ว่าจะเป็นอุปนิสัยของสัตว์เลี้ยงที่เราอยากจะรับมาอยู่ด้วย รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ของที่พักอาศัย พร้อมกับพูดคุยกับเพื่อนบ้านให้เข้าใจไว้ก่อน จะได้สบายใจกันทุกฝ่าย แฮปปี้กันทุกคนจ้า   CR : ข้อมูลจาก PetExpoClub   บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง คิดอยากจะเลี้ยงสัตว์เล็กๆ สักตัว ในคอนโดฯ เลี้ยงอะไรดีล่ะ? ทำความสะอาดบ้านไกล “ภูมิแพ้”  
ก่อผนัง.. ต้องใช้วัสดุเท่าไหร่? คำนวนได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง

ก่อผนัง.. ต้องใช้วัสดุเท่าไหร่? คำนวนได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง

ก่อผนัง ต้องใช้วัสดุเท่าไหร่? คำนวนได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง การสร้างบ้านหรือตกแต่งบ้านแต่ละครั้ง อะไรที่ประหยัดได้ เราก็อยากจะประหยัดจริงมั้ยครับ พอได้แบบบ้านและตกลงพื้นที่การใช้วัสดุต่างๆ ตามแบบแล้ว เรื่องต่อมาที่ต้องคำนวณก็คือ จำนวนวัสดุก่อสร้างที่เราต้องใช้ เพื่อจะได้สั่งซื้อได้ถูกต้อง ไม่เกิดปัญหาของขาดหรือสั่งมาเป็นจำนวนมาเกินจำเป็น และช่วยควบคุมงบประมาณไม่ให้บานปลายได้อีกด้วย   การก่อผนังบ้านเป็นส่วนที่มีความจำเป็นต้องใช้วัสดุค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นโครงการหลักๆ ของตัวบ้าน รวมถึงเป็นส่วนที่จะใช้แบ่งพื้นที่ห้องต่างๆ ภายในบ้านด้วย ซึ่งการเลือกใช้วัสดุแต่ละชนิดก็มีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป หลายคนไม่รู้ว่าจะต้องสั่งซื้อ อิฐ ปูน หิน และทรายในปริมาณเท่าไหร่ดี เราเลยเอาวิธีการคำควณแบบเบื้องต้นที่เราสามารถทำได้เองง่ายๆ มาฝากกันครับ   การคำนวณขั้นต้นนี้เป็นประโยชน์ทั้งในกรณีที่เราต้องเป็นคนสั่งซื้อของเอง หรือเอาไว้ตรวจสอบการทำงานของผู้รับเหมาอีกที ทั้งนี้ในหน้างานจริงอาจจะต้องใช้มากกว่าหรือน้อยกว่าที่สูตรคำนวณ ขึ้นอยู่กับเทคนิคของช่าง และปัจจัยอื่นๆ เพิ่มเติม ก่อผนัง ต้องใช้วัสดุเท่าไหร่? คำนวนได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง 1. ผนังก่ออิฐมอญ 120-150 ก้อน / ตร.ม. *คำนวณจากอิฐมอญขนาด หนา 3-3.5 ซม. กว้าง 6-6.5 ซม. ยาว 14.5-15 ซม. ปูนสำหรับงานก่ออิฐมอญ ปูนก่อสำเร็จรูป 1 ถุง 50 กก.  ก่อได้ 1-1.5 ตร.ม. (หนา 1-1.5 ซม.) ปูนก่อผสม 1 ถุง 50 กก. ก่อได้ 2.4-3.6 ตร.ม. (หนา 1-1.5 ซม.) โดยใช้ปูนซีเมนต์ ผสม ทรายหยาบ อัตราส่วน 1 ต่อ 2.5-3 ปูนสำหรับงานฉาบผิว ปูนฉาบสำเร็จรูป 1 ถุง 50 กก. ฉาบได้ 2-2.5 ตร.ม. (หนา 1-1.5 ซม.) ปูนฉาบผสม 1 ถุง 50 กก. ฉาบได้ 4-4.5 ตร.ม. (หนา 1-1.5 ซม.) โดยใช้ปูนซีเมนต์ ผสมทรายละเอียด อัตราส่วน 1 ต่อ 2.5-3 2. ผนังก่ออิฐบล็อก 12.5 ก้อน / ตร.ม. *คำนวณจากอิฐบล็อกขนาด หนา 6.5-7 ซม. กว้าง 19 ซม. ยาว 39 ซม. ปูนสำหรับงานก่ออิฐบล็อก ปูนก่อสำเร็จรูป 1 ถุง 50 กก. ก่อได้ 2-2.5 ตร.ม. (หนา 1-1.5 ซม.) ปูนก่อผสม 1 ถุง 50 กก. ก่อได้ 4.8-6 ตร.ม. (หนา 1-1.5 ซม.) โดยใช้ปูนซีเมนต์ ผสม ทรายหยาบ อัตราส่วน 1 ต่อ 2.5-3 ปูนสำหรับงานฉาบผิว ปูนฉาบสำเร็จรูป 1 ถุง 50 กก. ฉาบได้ 2-2.5 ตร.ม. (หนา 1-1.5 ซม.) ปูนฉาบผสม 1 ถุง 50 กก. ฉาบได้ 4-4.5 ตร.ม. (หนา 1-1.5 ซม.) โดยใช้ปูนซีเมนต์ ผสมทรายละเอียด อัตราส่วน 1 ต่อ 2.5-3 3. ผนังก่ออิฐมวลเบา 8.3 ก้อน / ตร.ม. *คำนวณจากอิฐมวลเบาขนาด หนา 7.5 ซม. กว้าง 20 ซม. ยาว 60 ซม. ปูนสำหรับงานก่ออิฐมวลเบา ปูนก่อสำเร็จรูป 1 ถุง 50 กก. ก่อได้ 38-40 ตร.ม. (หนา 2-3 มม.) ปูนสำหรับฉาบอิฐมวลเบา ปูนฉาบสำเร็จรูป 1 ถุง 50 กก. ฉาบได้ 2-2.5 ตร.ม. (ฉาบหนา 1-1.5ซม.)   บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ดินทรุด ปัญหาที่เช็กและแก้ได้ ซื้อบ้านให้ไกลจากน้ำท่วม ควรดูอะไรบ้าง?
เก็บผัก-ผลไม้ยังไง? ให้สดใหม่ตลอดช่วงกินเจ

เก็บผัก-ผลไม้ยังไง? ให้สดใหม่ตลอดช่วงกินเจ

ช่วงเทศกาลถือศีลกินเจปี 2563 ตรงกับวันที่ 17-25 ตุลาคมนี้ รวมระยะเวลา 9 วัน แต่หลายคนอาจจะมีธรรมเนียม เริ่มกินเจก่อน 1 วัน คือ วันที่ 16 ตุลาคม 2563 ตามความเชื่อว่าเป็นการเตรียมตัวก่อนกินเจอย่างจริงจัง หรือ ที่มักเรียกว่า การล้างท้อง   ช่วงเทศกาลกินเจของทุกปี  บรรดาผักและผลไม้ มักจะมีการปรับราคาสูงขึ้น ตามหลักดีมานด์และซัพพลาย ทำให้ราคาอาหารเจอาจจะแพงกว่าอาหารปกติ  บางคนจึงมักเลือกซื้อวัตถุดิบมาปรุงอาหารกินเอง โดยเฉพาะหากอยู่กันหลายคนในครอบครัว การทำอาหารเจกินเอง ถือเป็นทางเลือกที่ประหยัดกว่า สำหรับการปรุงอาหารกินเอง ตลอดเทศกาลกินเจ 2563 นี้   แต่หากใครซื้อผักและผลไม้มาจำนวนมาก แล้วเก็บรักษาไม่ดี ผลตามมา ก็อาจจะทำให้ผักและผลไม้เน่าเสีย ก่อนที่จะกินได้หมด  ทำให้เสียเงินมากกว่าปกติไปอีก ซึ่งวันนี้เรามีเคล็ดลับดี ๆ จาก บริษัทแอลจี อีเลคทรอนิคส์ ประเทศไทย (จำกัด)  ที่มาแนะนำ วิธีเก็บผักผลไม้ให้สด ให้สดนาน แถมอร่อย และเต็มไปด้วยคุณค่า รับเทศกาลกินเจมาฝาก เพื่อให้นำไปปรับใช้กันตามความเหมาะสม   ผักใบเขียว เช่น ผักกาด ผักโขม และผักคะน้า จะสามารถเก็บไว้ได้นานยิ่งขึ้น หากล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปเช็ดด้วยกระดาษทิชชู่หรือผ้าเช็ดจาน ก่อนนำไปใส่กล่องหรือถุงเพื่อแช่เก็บไว้ในตู้เย็น ซึ่งนอกจากจะช่วยยืดอายุการใช้งานแล้ว ยังทำให้สามารถนำไปใช้งานสะดวกขึ้นอีกด้วย   ผักสลัดและผักสมุนไพร นำผักสลัดและผักสมุนไพรไปใส่ไว้ในถุงที่มีอากาศเล็กน้อย พร้อมปิดซีลให้สนิท อีกวิธีการหนึ่งคือเด็ดใบที่เสียออกไป ก่อนจะนำผักไปห่อด้วยกระดาษทิชชู่อเนกประสงค์ ใส่ไว้ในถุงซิปล็อก แล้วจึงนำไปแช่ตู้เย็น บร็อคโคลีและกะหล่ำดอก มีวิธีการเก็บรักษาง่ายๆ เพียงแค่นำไปแช่ในตู้เย็นโดยใส่ในกล่องแยกต่างหาก ไม่ปะปนกับผัก ผลไม้ หรืออาหารชนิดอื่น ก็ช่วยยืดอายุให้กับผักสองชนิดนี้ได้   แครอท ตัดก้านใบสีเขียวที่ติดมากับแครอทออก เนื่องจากใบดังกล่าวสามารถดูดสารอาหารออกจากแครอทได้ จากนั้นนำแครอทไปแช่ลงในกล่องที่มีน้ำ เพราะแครอทเป็นพืชที่ชอบความชื้น และห่อด้วยฟิล์มยืดถนอมอาหาร ก่อนนำไปแช่ตู้เย็น   ส้ม สามารถเก็บได้ยาวนานยิ่งขึ้นด้วยการแยกเก็บในกล่องใส่ผลไม้ในตู้เย็น หรือใส่ไว้ในถุงตาข่ายหรือถุงที่มีรูพรุน และนำไปแช่ตู้เย็น   แอปเปิล การนำแอปเปิลไปแช่ในตู้เย็นจะทำให้สามารถยืดอายุให้อยู่ได้นานกว่าสัปดาห์ สำหรับแอปเปิลที่หั่นแล้วกินไม่หมด ให้นำไปแช่ในน้ำเกลือเพื่อช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น โดยผสมน้ำเย็นประมาณ 1 ลิตร เข้ากับเกลือในปริมาณไม่เกิน ½ ช้อนชา และแช่ไว้เป็นเวลา 5 นาที ก่อนนำมาทำผึ่งให้แห้ง นำไปใส่ในถุงสุญญากาศ และแช่ไว้ในตู้เย็น   วิธีการเหล่านี้ ถือเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็ทำได้ไม่ยาก ซึ่งหากใครจะกินเจปีนี้  นอกจากการหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แล้ว  ควรปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามหลักการถือศีลกินเจด้วย ซึ่งก็คือ การถือศีล ทำใจให้สงบ ควบคู่กันไปด้วย  ซึ่งจะทำให้เทศกาลถือศีลกินเจ 2563 นี้  ผู้ที่ปฏิบัติจะได้ทั้งบุญและได้ทั้งสุขภาพที่ดี ที่สำคัญต้องบริโภคแต่พอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไปด้วย
เทคนิคเตรียมตัวให้พร้อมก่อนซื้อบ้าน

เทคนิคเตรียมตัวให้พร้อมก่อนซื้อบ้าน

เทคนิคเตรียมตัวให้พร้อมก่อนซื้อบ้าน ช่วงที่ผ่านมา คนไทยต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องปรับตัว ปรับวิถีชีวิต การอยู่อาศัย การใช้ชีวิตประจำวัน และการทำงานกันใหม่ ไปสู่ความปกติวิถีใหม่ หรือ New Normal  รวมถึงการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home)   ขณะที่แวดวงธุรกิจ ก็ต้องเผชิญความท้าทาย กับปัจจัยลบที่เกิดขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งทำให้ต้องปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจ  เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก  รวมถึงต้องทุ่มเททำการตลาดอย่างหนัก เพื่อกระตุ้นยอดขาย สร้างรายได้กลับเข้ามา   ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ช่วงที่ผ่านมาก็เจอความเปลี่ยนแปลง ไม่แตกต่างจากธุรกิจอื่น ที่สำคัญ ต้องหันมาโหมทำการตลาดกันอย่างหนัก จัดโปรโมชั่นกันชนิดที่ไม่เคยทำกันมาก่อน  โดยเฉพาะการลดราคา และแคมเปญอยู่ฟรี ไม่นับรวมกับโปรโมชั่นอื่น ๆ อีกสารพัด เพื่อสร้างกระแสเงินสด เพิ่มสภาพคล่อง ทำให้ปีนี้นับเป็นโอกาสทองของคนอยากมีบ้าน และมีความสามารถที่จะซื้อ เพราะราคาถือว่าค้าค่าจริง ๆ   แล้วหากจะเลือกซื้อบ้านสักหลัง หรือคอนโดมิเนียมสักห้อง เราควรเตรียมตัวก่อนการซื้อบ้านอย่างไร สำหรับมือใหม่ที่ไม่เคยซื้อมาก่อน หรือไม่เคยศึกษาการซื้อบ้าน ทางธนาคารกรุงเทพ มีคำแนะนำเบื้องต้นให้กับลูกค้า ได้ศึกษาและใช้เป็นแนวทางในการเตรียมตัว เพื่อจะทำให้ได้บ้านตามที่ต้องการ เทคนิคเตรียมตัวให้พร้อมก่อนซื้อบ้านก่อนกู้บ้านต้องเตรียมตัวอย่างไร  ข้อที่ 1. เลือกทำเล บ้านที่ชอบ พื้นที่ใช้สอยให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ ขึ้นอยู่กับขนาดครอบครัวและไลฟ์สไตล์ของคุณเองว่าต้องการบ้านแบบไหน เช่น คอนโดมีเนียมกลางเมืองเพื่อความสะดวกในการเดินทาง ทาวน์เฮ้าส์พร้อมกรรมสิทธิ์ที่ดิน หรือบ้านเดี่ยวที่มีพื้นที่อยู่อาศัยและใช้สอยมากกว่า มองหาทำเลที่ชอบ เลือกทำเลที่คิดว่าสามารถเดินทางได้สะดวก โดยเฉพาะไปทำงาน หรือทำเลที่คุ้นเคยก็ได้ ตรวจสอบราคาจากโครงการที่สนใจหรือที่อยู่อาศัยในละแวกเดียวกัน หรือสอบถามสำนักงานที่ดินเพื่อขอราคาประเมินที่ดิน ประกอบการตัดสินใจก็ได้ กรณีผู้กู้มีบ้านอยู่แล้ว 1 หลัง ต้องการซื้อบ้านหลังที่ 2 หรือ บ้านพักตากอากาศ ควรคำนึงความจำเป็น และความสามารถในการผ่อนชำระ เนื่องจาก การผ่อนชำระบ้านเพิ่มขึ้นอีก 1 หลัง จะเป็นการเพิ่มภาระในการผ่อนชำระให้หนักมากขึ้น นอกจากนี้ ลูกค้าอาจจะได้วงเงินกู้บ้านที่น้อยกว่าการซื้อบ้านหลังแรก ข้อที่ 2. เริ่มต้นประเมินความสามารถทางการเงินของตนเอง ลูกค้าควรจะทราบความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อของตนเอง ซึ่งมีวิธีคำนวณง่ายๆ คือ ประมาณการยอดผ่อนชำระรายเดือน โดยยอดผ่อนชำระรายเดือนควรประมาณ 1 ใน 3 ของรายได้รวมต่อเดือน หรือประมาณ 40% ของรายได้คงเหลือสุทธิต่อเดือน ซึ่งเป็นรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าผ่อนสินค้า ค่างวดผ่อนรถยนต์ ค่าใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เป็นต้น รายได้คงเหลือหลังหักภาระผ่อนเดิมและภาระผ่อนสินเชื่อบ้านครั้งนี้แล้ว ควรมีเงินเหลือเพียงพอสำหรับการดำรงชีพขั้นต่ำของผู้ขอสินเชื่อ หากเป็นไปได้ ในช่วงก่อนที่จะกู้เงินซื้อบ้าน ไม่ควรมีการก่อหนี้ หรือซื้อสินค้าเงินผ่อน เพราะยิ่งก่อหนี้มากขึ้นเท่าไหร่ จะทำให้ความสามารถในการขอสินเชื่อน้อยลงเท่านั้น ข้อที่ 3. เงินดาวน์/การเก็บออม ลูกค้าควรมีเงินออมเพื่อชำระเงินดาวน์ 10-30% ของราคาบ้านที่ต้องการซื้อ ปัจจุบันการให้วงเงินสินเชื่อของธนาคาร จะให้อัตราส่วนวงเงินกู้ต่อราคาบ้านตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับลำดับที่สัญญาสินเชื่อบ้านที่ลูกค้ามีอยู่กับสถาบันการเงินต่างๆ เช่น กรณีซื้อบ้านราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท ควรมีเงินดาวน์ หรือเงินออม ไม่น้อยกว่า 5%-10% ขึ้นไปสำหรับการขอสินเชื่อสัญญาบ้านหลังแรก, ไม่น้อยกว่า 10% - 20% ขึ้นไปสำหรับการขอสินเชื่อบ้านสัญญาบ้านหลังที่สอง, ไม่น้อยกว่า 30% ขึ้นไป สำหรับการขอสินเชื่อบ้านสัญญาบ้านหลังที่สาม การดำรงยอดเงินฝากคงเหลือในบัญชีหรือการแสดงหลักฐานการออมและความสามารถในการชำระคืน แม้ว่าจะมีเงินได้เข้าบัญชีเป็นจำนวนมาก แต่หากไม่มียอดเงินคงเหลือในบัญชีหรือไม่มีหลักฐานเงินออมอื่นเลย ก็อาจทำให้ไม่มีศักยภาพการขอสินเชื่อเพียงพอได้ เช่น มีเงินได้เข้าบัญชีเงินฝาก 100,000 บาท/เดือน แต่มีการถอนออกไปใช้ทั้งหมด โดยมีเงินคงเหลือเพียงหลักร้อย และ ไม่มีหลักฐานการออมเงินอื่นประกอบ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ยิ่งเรามีจำนวนเงินที่ผ่อนดาวน์ หรือเงินออมมากขึ้นเท่าใด จะทำให้มีศักยภาพเพียงพอในการขอสินเชื่อมากขึ้นเท่านั้น ข้อที่ 4. การเดินบัญชีธนาคารก่อนการยื่นกู้ ควรแสดงหลักฐานรายได้ผ่านบัญชีธนาคาร ควรมีการเดินบัญชีอย่างสม่ำเสมอ และสอดคล้องกับรายได้ เตรียมเอกสารหลักฐานประเภทต่างๆให้พร้อม เช่น หลักฐานด้านรายได้, หลักฐานเงินออมในรูปกองทุนรวม LTF, RMF, ประกัน หรือการลงทุนในทรัพย์สินต่างๆ เป็นต้น ปัญหาสำคัญที่ทำให้กู้บ้านไม่ผ่าน มาจากสาเหตุสำคัญอะไรบ้าง แม้ว่าหลายคนจะเตรียมตัว เตรียมเอกสาร ศึกษาข้อมูลมาอย่างดี แต่บางครั้งอาจจะยื่นกู้แล้วไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อก็เป็นไปได้ ซึ่งอาจจะมีหลายสาเหตุ ลองมาพิจารณาข้อมูลเหล่านี้ ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุ ที่ทำให้สถาบันการเงินปฏิเสธการให้สินเชื่อลูกค้าก็เป็นไปได้ 1. มีรายได้ไม่มั่นคง หรือรายได้ไม่เพียงพอในการขอสินเชื่อ ปัญหาสำคัญที่ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่กู้บ้านไม่ผ่าน จะเป็นเรื่องของรายได้ไม่มั่นคง หรือรายได้ไม่เพียงพอในการผ่อนชำระสินเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกค้าที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว อาชีพอิสระ หรือ ทำงานเป็นฟรีแลนซ์ อย่างไรก็ตาม หากผู้กู้มีการเตรียมตัวที่ดี และจัดเตรียมเอกสารแสดงรายได้ที่ชัดเจน เช่น  เอกสารแสดงกระแสเงินได้, บัญชีลูกหนี้การค้า ก็จะมีส่วนช่วยให้ธนาคารพิจารณาอนุมัติเงินกู้ได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กรณีประกอบธุรกิจส่วนตัว หากจดทะเบียนกิจการ ให้แสดงทะเบียนพาณิชย์/ทะเบียนการค้า/หรือหนังสือรับรองการจดทะเบียน และ statement การเดินบัญชีที่แสดงกระแสเงินสดไม่น้อยกว่า 6 เดือน กรณีเป็นลูกจ้างตามสัญญา ควรมีหนังสือรับรองสัญญาจ้างที่มีการระบุระยะเวลาสัญญาชัดเจน ประกอบกับสลิปเงินเดือนและ statement การเดินบัญชี อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาการให้กู้ อาจขึ้นอยู่กับระยะเวลาในสัญญาจ้าง ซึ่งหากระยะเวลาในสัญญาจ้างสั้น อาจทำมีภาระผ่อนในจำนวนที่สูง และไม่สามารถขอสินเชื่อได้ กรณีฟรีแลนซ์ หรือประกอบอาชีพอิสระ ควรมีการแสดงเอกสารรายรับ-รายจ่ายที่ชัดเจน เช่น ช่างแต่งหน้า/ช่างภาพอิสระ ควรแสดงสัญญาว่าจ้างหรือใบรับงานจากงานต่างๆ และ เอกสารแสดงการรับเงินจากผู้ว่าจ้าง กรณีรับเป็นเงินสด ควรนำเงินฝากเข้าผ่านบัญชีธนาคารอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตามข้อเท็จจริง โดยควรแสดงหลักฐานรายได้ย้อนหลังไม่น้อยกว่า 6-12 เดือน ควรนำเงินได้เข้าบัญชีให้สอดคล้องกับรายได้ที่ได้รับมา รวมถึงเอกสารแสดงผลงาน เช่น รูปภาพผลงานการแต่งหน้าจากงานต่างๆ เป็นต้น ก่อนนำไปชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ นอกจากนี้ เอกสารอื่นๆที่ช่วยให้ธนาคารพิจารณาอนุมัติเงินกู้ได้ง่ายขึ้น เช่น หลักฐานการออม , สำเนาโฉนดที่ดินที่ปลอดภาระ, พันธบัตร, สลากออมสิน เป็นต้น 2.มีภาระหนี้เกินเกณฑ์ ธนาคารจะพิจารณาความสามารถในการผ่อนชำระหนี้โดยคำนวณภาระหนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลภาระหนี้ของลูกค้าในข้อมูลเครดิตบูโร กรณีที่มีภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระสูงอยู่แล้ว ทั้งภาระหนี้บัตรเครดิต / เช่าชื้อ / ผ่อนชำระรถยนต์ / เครื่องใช้ไฟฟ้า / ผ่อนชำระทรัพย์สินอื่น ธนาคารอาจพิจารณาลดวงเงินหรือ ปฎิเสธวงเงินที่ขอเพิ่มครั้งนี้ได้ ผู้กู้ควรเตรียมตัวให้พร้อมด้วยการชำระหนี้ทั้งหมดเรียบร้อย สร้างความมั่นคงและความน่าเชื่อถือทางการเงินใหม่ด้วยเงินออม หรือ เอกสารแสดงรายได้ต่างๆ ตามความเหมาะสม  ท่านไม่ควรมีหนี้ค้างชำระ ในขณะขอสินเชื่อ และหากเคยมีประวัติการค้างชำระหนี้ใน 3 ปีที่ผ่านมา ควรชี้แจงสาเหตุการค้างชำระและแสดงหลักฐานการชำระประกอบตามเหตุผลที่สมควร กรณีมีบัตรเครดิตหรือมีภาระหนี้อื่นๆก่อนการขอสินเชื่อ ควรลดภาระการผ่อนสินเชื่อบุคคลที่ไม่จำเป็น เช่น การชำระค่าสินค้าเงินผ่อน 6-12 เดือน, ปิดบัญชีวงเงินสินเชื่อที่ใกล้ครบกำหนด/ยอดเงินไม่สูงมาก หรือ ควรยกเลิกบัตรเครดิตที่ไม่จำเป็น ช่องทางสำคัญ เพื่อสานฝันของคนอยากมีบ้านให้เป็นจริง ลูกค้าที่สนใจสามารถ ตรวจสอบคุณสมบัติ พร้อมทราบผลพิจารณาเบื้องต้น โดย เพียงกรอกข้อมูลผ่านทาง เว็บไซต์ธนาคารกรุงเทพ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ หรือ สามารถติดต่อสาขาที่ลูกค้าสะดวก สำหรับลูกค้าที่ซื้อบ้านใหม่จากโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นพันธมิตรกับธนาคาร สามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ขายของโครงการ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของธนาคารให้บริการด้านสินเชื่อได้ เรื่องควรรู้อื่นๆ เพิ่มเติม ค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ผู้ยื่นกู้อาจต้องชำระเพิ่มเติมนอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านและค่าสำรวจประเมินราคาหลักประกันแล้ว ลูกค้าอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนอื่นๆ ดังนี้ ค่าใช้จ่ายที่ชำระให้กับสำนักงานที่ดิน ได้แก่ 1.ค่าโอนกรรมสิทธิ์ 2% ของราคาซื้อขาย (ส่วนใหญ่ ผู้ประกอบการ อาจเป็นผู้ชำระแทนหรือ ชำระครึ่งหนึ่ง ตามแคมเปญหรือรายการส่งเสริมการขายของโครงการ), ค่าจดจำนอง 1% ของวงเงิน (กรณีขอสินเชื่อกับธนาคาร) ค่าใช้จ่ายที่ชำระให้กับโครงการ เช่น ค่าใช้จ่ายในการดูแลทรัพย์สินส่วนกลาง, ค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการโอน เช่น ค่ามิเตอร์น้ำ ค่ามิเตอร์ไฟ ค่าใช้จ่ายที่ชำระให้กับบริษัทประกันภัย กรณีทำประกันภัย/ประกันชีวิต เช่น ค่าเบี้ยประกันชีวิต และ ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย (กรณีขอสินเชื่อกับธนาคาร) ค่าใช้จ่ายอื่นๆเพิ่มเติมของลูกค้า เช่น ค่าใช้จ่ายในการตกแต่งเพิ่มเติม ปี 2563 มาตรการลดค่าโอน และค่าจดจำนอง 0.01% มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง และช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้กู้เพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง   มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการเรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ เหลืออัตรา 0.01% โดยมีเงื่อนไข คือ การซื้ออสังหาริมทรัพย์จากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเป็นผู้จัดสรรเท่านั้น เป็นที่ดินพร้อมอาคารประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ หรือ ห้องชุด (คอนโดมิเนียม) ในราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท ไม่รวมการซื้อขายบ้านมือสอง ปลูกสร้างที่อยู่อาศัย และการรีไฟแนนซ์ที่อยู่อาศัย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 – 24 ธันวาคม 2563   ดังนั้น ลูกค้าที่ซื้อบ้านหรือคอนโด และกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยจดจำนองไม่เกินปลายปีนี้ ก็จะเสียค่าโอนและค่าจดจำนองเพียงอัตรา 0.01% จากปกติจะต้องเสียค่าโอน 2% และค่าจดจำนอง 1% ซึ่งถือว่าช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้กู้ลงไปค่อนข้างมาก    บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง กู้สินเชื่อบ้านผ่านง่าย หากมีรายได้เสริม วิธีเตรียมกู้ซื้อบ้าน สำหรับอาชีพอิสระ 5 ข้อต้องรู้ก่อนจะเป็น “ผู้กู้ร่วม”    

1 2 3 ... 13