ในยุคที่ “ไทยแลนด์ 4.0” ถูกนำไปเป็นบริบทสำคัญในการนำ “เทคโนโลยี” เข้าไปเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและปฏิรูปในทุกอุตสาหกรรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนพลิกโฉมอุตสาหกรรมในหลายวงการ เช่น การเงิน อสังหาริมทรัพย์ โทรคมนาคม ฯลฯ บางอุตสาหกรรมนั้นอยู่ในช่วงเริ่มต้นในการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยเข้ามาช่วยบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เช่นเดียวกันกับ “อุตสาหกรรมก่อสร้าง” ซึ่งในภาพรวมทั่วโลกนั้น ก็เป็นอุตสาหกรรมที่ยังมีโอกาสให้เทคโนโลยี-นวัตกรรมเข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนอีกมาก ช.การช่าง ในฐานะผู้พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยได้เล็งเห็นโอกาสนี้ จึงนำเทคโนโลยีการออกแบบและก่อสร้างด้วยระบบ BIM (Building Information Modeling) หรือ ระบบการทำงานแบบจำลองสารสนเทศอาคาร ที่ช่วยออกแบบงานโครงสร้างและประสานการทำงานในส่วนต่างๆได้อย่างแม่นยำมาใช้ในโครงการ ทำให้การดำเนินงานก่อสร้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และลดต้นทุนในการดำเนินงาน โดยช.การช่าง ได้ประเดิมเทคโนโลยีนี้กับการก่อสร้าง “โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม” เป็นโครงการแรก ดร.สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในฐานะบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม (Engineer Expertise) เป็นแกนหลักของธุรกิจ ทำให้ในการทำงานแต่ละโครงการมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย เพื่อให้การบริหารและดำเนินการในส่วนต่างๆเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เราจึงทั้งสรรหาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาขั้นตอนการทำงานเหล่านี้อยู่เสมอ โดยก่อนหน้านี้ ช.การช่างประสบความสำเร็จจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี สปป.ลาว ที่ใช้คอนกรีตทั้งโครงการกว่า 4.3 ล้านลบ.ม. โดยได้นำฝุ่นหินละเอียดจากการโม่หินเพื่อผลิตทรายซึ่งตามมาตรฐานทั่วไปนั้นต้องล้างทิ้งมาศึกษาและทดลองปรับส่วนผสมจนสามารถนำฝุ่นหินและทรายโม่มาใช้ทดแทนทรายแม่น้ำซึ่งมีปริมาณไม่เพียงพอได้ ทำให้ลดการใช้ทรายแม่น้ำลงได้ถึง 80% นอกจากนี้ยังลดการใช้น้ำ ลดมลภาวะจากการล้างฝุ่นหิน รวมถึงประหยัดพลังงานและเวลาในการเตรียมวัสดุจนได้รับรางวัล TCA Practice Award: Silver Medal จากสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย” “เช่นเดียวกันกับการนำเทคโนโลยี Building Information Modelling (BIM) หรือ ระบบการทำงานแบบจำลองสารสนเทศอาคารซึ่งช.การช่างได้เล็งเห็นประโยชน์ของระบบดังกล่าวกับงานก่อสร้างโครงการ ที่จะพลิกโฉมงานก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพในหลายๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแม่นยำในการออกแบบและการทำแบบจำลองก่อสร้างเสมือนจริงเพื่อประสานงานในส่วนต่างๆตั้งแต่ออกแบบจนถึงการก่อสร้าง เราจึงได้เริ่มศึกษาข้อมูล และเตรียมงานตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2560 เพื่อนำมาใช้เป็นครั้งแรกกับการออกแบบก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม - ตะวันออก สัญญาที่ 1 (ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-รามคำแหง12) และ สัญญาที่ 2 (ช่วงรามคำแหง12 – หัวหมาก) จำนวน 3 สถานีจากทั้งหมด 7 สถานี เพื่อให้เจ้าของโครงการรวมไปถึงผู้โดยสารทุกท่านวางใจได้ว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมีความมั่นคงปลอดภัยและจะแล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด” สำหรับระบบ Building Information Modelling (BIM) เป็นการออกแบบอาคารหรือโครงสร้างด้วยแบบจำลอง 3 มิติ พร้อมกับมีข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องอยู่ภายใน เช่น ขนาด สเปคและราคาวัสดุ จำนวนการใช้งานจริง การทำงานจะสร้างแบบจำลองเสมือนจริงในคอมพิวเตอร์ โดยผู้ที่ออกแบบทุกฝ่าย ทั้งงานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานระบบ สามารถทำงานบนโมเดลเดียวกันได้ ทำให้ประสานงานระหว่างทีมออกแบบและบริหารต้นทุนโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายวัชระ แสงหัตถวัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานวิศวกรรม บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ผลักดันการใช้เทคโนโลยี BIM ในช.การช่าง กล่าวว่า “ในช่วง 4-5 ปีทีผ่านมา เทคโนโลยี BIM ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ออกแบบและจำลองอาคารสูง ส่วนอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานในเมืองไทย เพิ่งเริ่มมีการตื่นตัวใช้ BIM อย่างกว้างขวางในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยสภาวิศวกร สภาสถาปนิก และวิศวกรรมสถานแห่งชาติ ได้เข้ามาให้การสนับสนุนด้วยการออก BIM Guide ฉบับแรกเพื่อเป็นคู่มือการใช้งานซอฟต์แวร์ดังกล่าวเมื่อปลายปี พ.ศ. 2560 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่วงการก่อสร้างไทยจะได้นำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพอย่างแพร่หลายในอนาคต” การออกแบบโมเดล 3 มิติ มีความเที่ยงตรงและเห็นภาพโครงสร้างจริงรวมถึงปัญหาที่อาจจะเกิดในการก่อสร้างได้ชัดเจนมากกว่าทำงานด้วยแบบ 2 มิติแบบเดิมๆ ซึ่งต้องทำเป็นรูปด้าน รูปตัดประกอบกันหลายแผ่นจึงจะเห็นภาพ ในแบบ2มิติก็จะเป็นเพียงการเขียนชิ้นงานที่เป็นเส้น ไม่สัมพันธ์กัน ส่วนข้อมูลที่แสดงก็จะเป็นเพียงสี ความหนาเส้น เส้นประ หากต้องการแก้จุดใดจุดหนึ่ง จะต้องแก้แบบแผ่นอื่นๆที่ต่อเนื่องกันตามไปด้วย ทำให้การประสานงานจะมองเห็นเพียงส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานที่กำลังเขียนอยู่เท่านั้น ต่างจากการเขียนแบบด้วยโมเดล 3 มิติที่สามารถแก้จุดเดียวแล้วแบบแผ่นอื่นๆจะปรับแก้ตามอัตโนมัติ ทั้งยังสามารถตรวจจับโครงสร้างที่ชนกัน (Clash Check) ระหว่างทีมเขียนแบบได้อีกด้วย ซึ่งทำให้ลดเวลาในการตรวจแบบลงมาก การประสานงานด้วยโมเดล 3 มิตินี้ มีความแม่นยำสูงตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบก่อนลงมือก่อสร้างจริง ทำให้ทุกฝ่ายออกแบบได้สอดคล้องกันและลดการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งหน้างาน ทั้งนี้ ภาพ 3 มิติยังทำให้ผู้ที่ไม่ชำนาญด้านการอ่านแบบ เช่น ผู้ปฏิบัติงานหน้างาน เจ้าของงาน สามารถมองเห็นภาพโครงการได้ชัดเจนยิ่งขึ้น “นอกเหนือจากการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานแล้วนั้น ช.การช่างก็มุ่งที่จะพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านเทคโนโลยีไปพร้อมๆกัน โดยได้คัดเลือกวิศวกร สถาปนิก และช่างเขียนแบบที่มีความสามารถไปฝึกอบรมการใช้โปรแกรมกับสถาบันตัวแทน Autodesk เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและโครงการอื่นๆในอนาคต ทั้งยังได้ปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์พร้อมโครงข่ายการทำงานในฝ่ายวิศวกรรมเพื่อให้รองรับการทำงานด้วย BIM บนโครงการคอมพิวเตอร์ของบริษัท โดยในอนาคต ช.การช่าง ยังตั้งเป้าที่จะพัฒนาเทคโนโลยี BIM ให้สามารถวิเคราะห์การใช้พลังงาน และการบำรุงรักษาโครงสร้างส่วนต่างๆ (Facility Management) ของโครงการอีกด้วย” นายวัชระเสริม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คุณวัชระมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนทิศทางด้านเทคโนโลยีของ ช.การช่าง เมื่อย้อนกลับไปถึงช่วงเวลากว่า 3 ทศวรรษก่อน คุณวัชระถือเป็นผู้ผลักดันในการนำคอมพิวเตอร์เครื่องแรกเข้ามาใช้ในบริษัท ช.การช่าง โดยได้รับการสนับสนุนจากคุณปลิว ตรีวิศวเวทย์ ในการเริ่มใช้งานกับโครงการ “ในเวลานั้น คอมพิวเตอร์ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย เครื่องหนึ่งจะมีมูลค่าหลายหมื่นบาท ถือว่ามีมูลค่าที่สูงมาก เราได้นำมาใช้กับระบบบัญชีและการจัดซื้อเป็นจุดประสงค์แรก ซึ่งเดิมทีมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน จำเป็นที่ต้องนำคอมพิวเตอร์เข้ามาจัดการระบบและย่นระยะเวลาการทำงานได้หลายเท่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ของช.การช่างในตอนนั้นจึงไม่ได้มองที่ความทันสมัย แต่เราคำนึงถึงประโยชน์ที่เทคโนโลยีที่เราจะนำมาใช้นั้นเหมาะสมกับงานแค่ไหน จะสร้างความคุ้มค่าทั้งในเชิงการทำงาน การบริหารเวลา และประสิทธิภาพของได้อย่างไรบ้าง ซึ่งถือเป็นแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีของช.การช่างในปัจจุบัน” อย่างไรก็ตาม หัวเรือใหญ่แห่งสายงานวิศวกรรมของ ช.การช่าง มองว่า หัวใจสำคัญของการใช้เทคโนโลยีในองค์กรนั้นอยู่ที่ “คน” “การพัฒนาเทคโนโลยีขององค์กรนั้น ส่วนที่ท้าทายที่สุดไม่ได้อยู่ที่ตัวเทคโนโลยี เพราะผมเชื่อว่าเทคโนโลยีถูกสร้างมาเพื่อการใช้งานที่สะดวกและง่ายดาย แต่กลับอยู่ที่ ‘คน’ ซึ่งทัศนคติการเปิดใจและยอมรับที่จะเรียนรู้แนวทางการทำงานใหม่ๆจากเทคโนโลยีถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนเรามักยึดถือความคุ้นชินกับแนวทางที่เคยทำมา เราจึงพยายามที่จะผลักดันให้บุคลากรทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ให้ตื่นตัวที่จะเรียนรู้และใช้เทคโนโลยีในการทำงาน ด้วยการชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่พวกเขาจะได้รับว่าคุ้มค่ามากแค่ไหน การก้าวไปข้างหน้าขององค์กรและเทคโนโลยี ผมจึงมองว่า ‘การเปิดใจเรียนรู้’ นี้แหละถือเป็นสิ่งสำคัญมาก” นายวัชระกล่าว