Tag : การลงทุน

2 ผลลัพธ์
REFINANCE ที่อยู่อาศัยแล้วชีวิตดี เงินเหลือใช้ จริงหรือไม่?

REFINANCE ที่อยู่อาศัยแล้วชีวิตดี เงินเหลือใช้ จริงหรือไม่?

หลายคนที่กำลัง ‘ผ่อน’ ที่อยู่อาศัยอยู่ คงมีความรู้สึกอยากผ่อนให้หมดไวๆ ใช่ไหมคะ บ้างก็ใช้วิธีการโปะเพิ่มทุกเดือนเพื่อช่วยร่นระยะเวลาในการผ่อน แต่ความจริงแล้วมีอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้เราประหยัดรายจ่ายในเรื่องของดอกเบี้ย ซึ่งทำให้ผ่อนบ้านหมดเร็วขึ้นคือ การ “REFINANCE” หรืออธิบายง่ายๆ คือการไปกู้เงินจากธนาคารอื่นที่จ่ายดอกเบี้ยถูกกว่ามาจ่ายคืนธนาคารเดิมที่เคยกู้นั่นเองค่ะ สำหรับข้อดีของการ REFINANCE คือตัวช่วยผ่อนบ้านให้หมดไวขึ้น โดยจ่ายค่างวดเท่าเดิมแต่จ่ายส่วนที่เป็นดอกเบี้ยน้อยลง ก็ทำให้ลดเงินต้นได้มากขึ้น หรือบางคนที่ผ่อนบ้านไปแล้วเกิดปัญหาการเงิน กรณีหมุนไม่ทัน ก็สามารถรีไฟแนนซ์เพื่อขอลดค่างวดที่ต้องจ่ายต่อเดือนลงหรือเป็นการยืดระยะเวลาในการผ่อนให้นานขึ้น คนที่สนใจ REFINANCE ต้องเช็คสัญญากู้ก่อนนะคะว่ามีกำหนดระยะเวลาที่สามารถรีไฟแนนซ์ได้เมื่อไหร่ ส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ 3 ปี แต่กรณีที่รีไฟแนนซ์ก่อนกำหนดจะเสียค่าปรับประมาณ 0-3% ของวงเงินกู้เดิม (มีระบุไว้ในสัญญากู้) แนะนำว่ารอให้หมดช่วงก่อนดีกว่าค่ะ เพราะถ้าดอกเบี้ยไม่ได้แพงมากจนเกินไป ส่วนใหญ่รีไฟแนนซ์ก่อนกำหนดมักจะไม่คุ้ม และการรีไฟแนนซ์ทุกครั้งจะมีค่าใช้จ่ายแฝงในอยู่ด้วย ไม่ใช่แค่การคำนวณเพื่อปรับลดดอกเบี้ยเท่านั้น ค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์มีอะไรบ้าง เรามาดูไปพร้อมกันเลยดีกว่าค่ะ... 1. ค่าธรรมเนียมการจำนอง กรณีที่รีไฟแนนซ์ธนาคารใหม่จะคิด 1% ของวงเงินกู้ใหม่ เพื่อจ่ายให้กรมที่ดิน 2. ค่าประเมินราคาทรัพย์สิน การ REFINANCE ทั่วไปจะอยู่ที่ 0.25-2% ของราคาประเมินจากกรมที่ดิน หรือคิดเป็นจำนวน 1,500 - 10,000 บาท ขึ้นอยู่กับธนาคาร แต่กรณีที่รีไฟแนนซ์ธนาคารเดิมไม่ต้องจ่ายนะคะ ซึ่งจะเรียกว่าการรีเทนชั่น 3. ค่าธรรมเนียมการปล่อยกู้ จะคิดประมาณ 0-3% ของวงเงินกู้ใหม่ (ซึ่งบางธนาคารก็ไม่คิดค่าธรรมเนียมนี้ สอบถามก่อนก็ดีค่ะ) 4. ค่าอากรแสตมป์ สำหรับค่าอาการแสตมป์นั้นจะคิดเท่ากันทุกธนาคาร คือ 0.05% ของวงเงินกู้ใหม่ค่ะ 5. ค่าประกันอัคคีภัย ในการ REFINANCE ไม่ว่าจะกู้ธนาคารใหม่หรือธนาคารเดิม จะต้องเสียค่าประกันอัคคีภัยซึ่งแต่ละธนาคารจะมีอัตราค่าประกันต่างกัน เมื่อรู้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว ก็นำมาเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารใหม่กับธนาคารเก่า โดยคิดเฉลี่ย 3 ปี เพราะการรีไฟแนนซ์จะกำหนดให้ทำได้หลัง 3 ปี แต่ต้องระวังเวลาเปรียบเทียบดอกเบี้ยที่เป็น MLR MRR ของแต่ละธนาคารไม่เท่ากัน ตัวอย่างเพื่อทำความเข้าใจอย่าละเอียด สมมุติว่ากู้ธนาคารเดิม 2,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี คือ 4.75% ต่อปี ผ่อนเดือนละ 13,000 บาท ผ่อนไปโปะไปแล้ว 3 ปี มียอดหนี้เหลือ 1,500,000 บาท (เปรียบเทียบดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์มาแล้วทุกธนาคาร) แต่เอาที่ถูกที่สุด คือ ดอกเบี้ยปีแรก 2.5% ปีถัดไป MRR-2% สมมติ MRR ธนาคารที่เราเลือกคือ 7% วิธีคิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีธนาคารใหม่ คือ {(2.5% x 1 ปี) + [(7%-2%) x 2 ปี } / 3 ปี = 4.17% ต่อปี ดูแล้วน่าจะถูกกว่า แต่อย่าลืมคิดค่าธรรมเนียมต่างๆ ด้วยนะคะ อาทิ ค่าธรรมเนียมการจำนอง 1% x 1,500,000 บาท = 15,000 บาท ค่าประเมินราคาสินทรัพย์ สมมติธนาคารคิด 3,000 บาท ค่าธรรมเนียมปล่อยกู้ สมมติให้ไม่มี ค่าอากรแสตมป์ 0.05% x 1,500,000 บาท = 750 บาท ส่วนค่าประกันอัคคีภัย เราไม่ได้เอาไปคิดนะคะ เพราะถึงเราไม่รีไฟแนนซ์ก็ต้องจ่ายค่าประกันนี้ทุก 3 ปีอยู่แล้ว ยกเว้นประกันกับธนาคารเดิมไม่ใช่ 3 ปี หรือธนาคารมีค่าบริการอื่นนอกจากนี้ จะเอาค่าใช้จ่ายนั้นมาคิดรวมด้วย พอรวมค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ทั้งหมด จะได้เท่ากับ 18,750 บาท จากนั้นก็ลองไปคำนวณเปรียบเทียบดอกเบี้ย 3 ปีของทั้ง 2 ธนาคารดู ถ้ากู้ต่อธนาคารเดิมอัตราดอกเบี้ย 4.75% เมื่อครบ 3 ปี จะจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมดประมาณ 192,450 บาท ยอดหนี้คงเหลือ คือ 1,224,440 บาท ถ้าเปลี่ยนไปกู้ที่ธนาคารใหม่ อัตราดอกเบี้ย 4.17% เมื่อครบ 3 ปี จะจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมดประมาณ 167,435 บาท เมื่อรวมกับค่าธรรมเนียม 18,750 บาท รวมเป็น 186,185 บาท ยอดหนี้คงเหลือ คือ 1,199,430 บาท                  จากตัวอย่างด้านบนเห็นได้ชัดเลยค่ะว่ากรณีรีไฟแนนซ์ทำให้เราประหยัดดอกเบี้ยได้เยอะกว่า และลดเงินต้นได้เยอะขึ้นด้วย แต่ในการคำนวณเราต้องคำนึงแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยในอนาคตด้วยนะคะ เพราะ MRR หรือ MLR เป็นตัวเลขที่อาจมีการปรับขึ้นลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ถ้าเราคิดว่าในอนาคตอีก 2-3 ปี อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นมากๆ และอัตราดอกเบี้ยที่เรากำลังจ่ายอยู่ขึ้นกับ MRR/MLR การรีไฟแนนซ์ก่อนกำหนดและเสียค่าปรับ ก็อาจจะคุ้มค่ามากกว่าค่ะ :)  
การลงทุนซื้อขายโรงแรมในไทยมีมูลค่ารวม 9.6 พันล้านในปี 59 ปี 60 มีแนวโน้มคึกคัก

การลงทุนซื้อขายโรงแรมในไทยมีมูลค่ารวม 9.6 พันล้านในปี 59 ปี 60 มีแนวโน้มคึกคัก

ในปี 2559 ที่ผ่านมา ตลาดการลงทุนซื้อขายโรงแรม (รวมถึงเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์) ในประเทศไทยมีสภาวะคึกคัก โดยมีโรงแรมในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆ มากกว่า 10 โรงแรมที่มีการเปลี่ยนมือ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 9,600 ล้านบาท อย่างไรก็ดี มูลค่าดังกล่าวลดลง 15% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากในปีที่ผ่านมาไม่มีการซื้อขายโรงแรมที่มีมูลค่าสูงดังที่เกิดขึ้นในปี 2558 แต่สำหรับปี 2560 นี้ ยอดการซื้อขายโรงแรมในไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากการที่การเจรจาตกลงซื้อขายโรงแรมสวิสโฮเทล นายเลิศ ปาร์ค มูลค่า 10,800 ล้านบาทจะเสร็จสมบูรณ์ในปีนี้ ยังไม่รวมการซื้อขายโรงแรมอื่นๆ อีก ที่จะเกิดขึ้น ตามการรายงานจากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล   นายไมค์ แบทเชเลอร์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายขายภาคพื้นเอเชีย หน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรมของเจแอลแอล กล่าวว่า “ในจำนวนโรงแรมที่มีการซื้อขายไปในปีที่ผ่านมา มีโรงแรม 5 แห่งที่เจแอลแอลเป็นตัวแทนเจ้าของในการจัดหานักลงทุนเข้าซื้อ ทั้งนี้ เราพบว่า ทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ ยังคงให้ความสนใจเข้าซื้อโรงแรมในไทยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังคงมั่นใจในปัจจัยพื้นฐานของตลาดที่แข็งแกร่งในระยะยาว”   ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แสดงให้เห็นว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.9% โดยในปี 2558 มีจำนวนนักท่องเที่ยวแตะ 30 ล้านคนเป็นปีแรก และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 35 ล้านคนในปีนี้ แม้มาตรการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญจะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้วก็ตาม   กรุงเทพฯ เป็นตลาดการซื้อขายหลักในปี 59 ในปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ เป็นตลาดโรงแรมที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดในประเทศไทย โดยมีสัดส่วนราว 50% ของมูลค่าการลงทุนซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตัวอย่างการซื้อขายรายการสำคัญๆ ได้แก่ เอท ทองหล่อ (ส่วนของเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์เดิมคือ แพน แปซิฟิก เซอร์วิส สวีท เปลี่ยนเป็นโรงแรมอาคิระ ทองหล่อในปัจจุบัน) โรงแรมลิเบอร์ตี้ การ์เดน และปาร์ค 24 คอนโดมิเนียมย่านสุขุมวิทซึ่งจะเปลี่ยนเป็นเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ภายใต้การบริหารโดยแอสคอทท์   การลงทุนซื้อขายโรงแรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา กระจายตัวอยู่ตามเมืองท่องเที่ยวหลักๆ ได้แก่ พัทยา ภูเก็ต พังงา เกาะสมุย หัวหิน และเชียงราย ตลอดไปจนถึงศรีราชาซึ่งเป็นย่านอุตสาหกรรม และนครราชสีมาซึ่งเป็นหัวเมืองหน้าด่านของอีสาน   ทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติเป็นผู้ซื้อหลัก  ในปีที่ผ่านมา นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้าซื้อโรงแรมในไทยมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยการลงทุนซื้อโดยนักลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนคิดเป็น 45% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนประเภทสถาบันจากฮ่องกงและสิงคโปร์   นายแบทเชเลอร์กล่าวว่า “ในปีที่ผ่านมา ทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติให้ความสนใจสูงสำหรับโอกาสการเข้าลงทุนซื้อโรงแรมในไทย ซึ่งคาดว่าแนวโน้มดังกล่าวนี้ จะยังคงดำเนินต่อในปีนี้”   “มีนักลงทุนสถาบันจากประเทศเอเชียจำนวนมากขึ้นที่กำลังมองโอกาสการลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ ของไทย โดยเน้นตลาดที่มีผลประกอบการดีและให้ผลตอบแทนการลงทุนในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งโรงแรมเป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ได้รับความสนใจเนื่องจากตลาดการท่องเที่ยวของไทยมีแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่งในระยะยาว ดังจะเห็นได้จากการที่มีนักลงทุนจำนวนมากเข้าร่วมแข่งขันเสนอราคา เมื่อมีโรงแรมมีศักยภาพเหมาะสำหรับการลงทุนถูกนำออกมาเสนอขาย” นายแบทเชเลอร์กล่าว