Tag : กู้บ้าน

14 ผลลัพธ์
5 เทคนิค เพิ่มโอกาสอนุมัติรีไฟแนนซ์บ้าน/คอนโด

5 เทคนิค เพิ่มโอกาสอนุมัติรีไฟแนนซ์บ้าน/คอนโด

สำหรับคนที่เคยกู้สินเชื่อบ้านหรือคอนโดจากธนาคารมาก่อน คงรู้กันดีธนาคารมีสิทธิ์ตอบรับหรือปฏิเสธการขอสินเชื่อ ถ้าเลือกได้เราก็คงอยากเป็นคนที่ได้รับการอนุมัติ คงจะดีไม่น้อยถ้าเราได้มีโอกาสเตรียมตัวก่อนจะถึงเวลารีไฟแนนซ์ เพื่อเพิ่มโอกาสการอนุมัติเวลาเราไปขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน/รีไฟแนนซ์คอนโดกับธนาคาร เทคนิคที่ 1 ชำระหนี้ให้ตรงตามกำหนด เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี ทุกครั้งที่มีการขอสินเชื่อ เจ้าหน้าที่ของธนาคารที่จะไปตรวจสอบประวัติการชำระหนี้ของเราจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ซึ่งเก็บรวบรวมประวัติการขอสินเชื่อและประวัติการชำระหนี้ของเราไว้ เพื่อเอามาประเมินว่าเรามีนิสัยการชำระหนี้เป็นอย่างไร (ทั้งหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ หนี้บัตรเครดิต) ทางที่ดีคือไม่ควรมีการชำระล่าช้า เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี ก็จะทำให้มีโอกาสได้รับการอนุมัติมากขึ้นครับ เทคนิคที่ 2 ปิดบัตรเครดิตที่ไม่ได้ใช้ หลายคนอาจยังไม่รู้จักคำว่า “ความสามารถในการก่อหนี้” ซึ่งดูง่ายๆ จากวงเงินสินเชื่อที่เราสามารถทำการเบิกกู้ได้ ถ้าจะให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือ บัตรเครดิตนี่แหละครับ สมมติเราเงินเดือน 50,000 บาท แต่มีบัตรเครดิต 3 ใบ วงเงินใบละ 200,000 บาท ถ้าวันดีคืนดี เราดันไปรูดจนเต็มวงเงินทุกใบ กลายเป็นว่ามีหนี้ 600,000 บาททันที แบบนี้ธนาคารก็อาจมองว่าจะเอาเงินที่ไหนมาผ่อนบ้าน จึงเป็นที่มาของคำแนะนำในข้อนี้ว่าถ้าหากมีบัตรเครดิตหลายใบ และมีใบที่ไม่ได้ใช้จริงๆ ก็ปิดไปดีกว่าครับ เทคนิคที่ 3 เดินบัญชีธนาคาร (Statement) อย่างสม่ำเสมอ หนึ่งในรายการเอกสารที่ทุกธนาคารขอเวลาเรายื่นใบสมัครรีไฟแนนซ์บ้าน/รีไฟแนนซ์คอนโด ก็คือรายการเดินบัญชีย้อนหลัง เพื่อนำมาดูว่าเรามีรายได้เข้ามาสม่ำเสมอหรือไม่ และแต่ละเดือนมีเงินเข้า/ออกอย่างไรบ้าง ซึ่งก็แล้วแต่ธนาคารว่าจะดูย้อนหลังกี่เดือน บางธนาคารก็ 6 เดือน หรือบางธนาคารอาจขอดูยาวถึง 2 ปีเลยก็มี เทคนิคที่ 4 สลิปเงินเดือนหรือหนังสือรับรองเงินเดือน บางคนอาจเคยได้ยินว่า สลิปเงินเดือนต้องใช้สลิปคาร์บอนเท่านั้น แต่หลายๆบริษัทสมัยนี้ไม่ใช้กระดาษคาร์บอนในการพิมพ์สลิปเงินเดือนแล้ว จึงสงสัยกันว่าถ้าสลิปเงินเดือนไม่ใช่กระดาษคาร์บอน จะกู้ผ่านไหม ก็ขอตอบกันตรงนี้ให้หายข้อข้องใจเลยแล้วกันครับว่า “ได้เหมือนกัน” เพียงแต่สลิปคาร์บอนจะดูน่าเชื่อถือกว่าเล็กน้อยเท่านั้นเอง แต่เราก็สามารถขอใบรับรองเงินเดือนจากบริษัทมาประกอบ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือได้เช่นกันครับ เทคนิคที่ 5 ลายเซ็นต้องเหมือนกันทุกแผ่น คุณรู้หรือไม่ว่าเอกสารทุกใบที่ส่งไปธนาคารจะพูดตรวจสอบให้แน่ใจว่า ไม่ได้เป็นมิจฉาชีพมาแอบอ้างขอสินเชื่อ ดังนั้นการเซ็นรับรองในเอกสารทุกใบควรเซ็นให้เหมือนกัน เพราะแต่ละวันมีเอกสารจำนวนมากถูกปฏิเสธเพราะลายเซ็นไม่ตรงกัน ทำให้ต้องเสียเวลาไปเซ็นใหม่อีกรอบ ขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.refinn.com/เพิ่มโอกาสอนุมัติรีไฟแนนซ์บ้าน
NPL คือ? ส่งผลต่อคนจะกู้สินเชื่ออย่างไร

NPL คือ? ส่งผลต่อคนจะกู้สินเชื่ออย่างไร

เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อไรที่เราจะยื่นกู้สินเชื่อบ้านเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยไม่ว่าประเภทไหนก็ตามทางธนาคารจะมีวิธีพิจารณาเพื่ออนุมัติคล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นรายได้หลัก การเดินบัญชี ฯลฯ หรือแม้แต่ปัจจัยภายนอกอย่าง NPL ที่จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจปล่อยกู้ ซึ่งตัวผู้ที่ต้องการยื่นกู้เองควรจะลองศึกษาหาข้อมูลในเบื้องต้นเอาไว้บ้าง เพื่อเพิ่มโอกาสให้เราได้รับการอนุมัติมากยิ่งขึ้น NPL ย่อมาจาก Non-Performing Loan คือ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือที่เรียกกันว่าหนี้เสีย โดยเกิดจากการที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยและเงินต้นคืนให้สถาบันการเงินเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 เดือน สถาบันการเงินนั้นจะมองว่าเป็นหนี้เสียทันที โดยหากตัวบุคคลถูกตีว่าติด NPL จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือทางการเงินอย่างมาก ยิ่งหากจะทำการกู้สินเชื่อไม่ว่าจะประเภทใดก็ตามมักจะถูกปฏิเสธได้ง่าย ซึ่งจากสถิติจากปีที่ผ่านมา NPL ที่พุ่งสูงที่สุด 3 อันดับแรก คือ ธนาคารกรุงเทพ ประมาณ 87,000 ล้านบาท ธนาคารกสิกรไทย ประมาณ 69,000 ล้านบาท และธนาคารไทยพาณิชย์ ประมาณ 65,000 บาท แต่ธนาคารที่มีอัตราลดลง คือ ธนาคารทหารไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย และธนาคารเกียรตินาคิน ตามลำดับ   อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่าเราจะต้องศึกษาข้อมูลที่เป็นปัจจัยหนึ่งก่อนการยื่นขอสินเชื่อนั่นคือ NPL ที่กล่าวถึงนี้ เพราะหากช่วงไหนที่ภาพรวม NPL ของประเทศสูงจะส่งผลให้ธนาคารมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นโดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะเมื่อช่วงปีที่ผ่านมามี NPL พุ่งสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสินเชื่อบุคคลประเภทอื่นๆ สาเหตุหลักมาจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ที่มีรายได้น้อย ส่งผลต่อการถูกปฏิเสธสินเชื่อในกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง ซึ่งปีที่แล้วสูงถึง 40-50% และเมื่อยอดปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง ทางผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จึงหันไปพัฒนาโครงการระดับสูงทำเลใจกลางเมืองมากกว่า เพราะนอกจากเรื่องของการจับกลุ่มผู้ที่มีกำลังซื้อระดับสูงในประเทศไทยแล้ว ยังหันไปหากลุ่มผู้ซื้อชาวต่างชาติโดยเฉพาะในเอเชียด้วยกันที่สนใจซื้อคอนโดมิเนียมในประเทศไทยกันมากขึ้น แม้ว่าในปี 2561 หลายฝ่ายต่างเชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นจากหลายๆ ปัจจัยต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนของยูนิตมากที่สุดในรอบ 4-5 ปี การร่วมทุนระหว่างผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยและจากต่างประเทศ รวมถึงตัวเลข GDP ที่จะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้แนวโน้มของ NPL ค่อยๆ ลดลง แต่การขยายตัวเพิ่มขึ้นของภาคอสังหาริมทรัพย์นี้ยังคงกระจุกตัวอยู่กลางเมืองกรุงเทพฯ ในโครงการที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้มีรายได้สูง  จึงทำให้ธนาคารยังคงต้องพิจารณาการอย่างถี่ถ้วนในการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพื่อพยายามควบคุมไม่ให้มีตัวเลข NPL ที่สูงขึ้นอีก   แม้ว่าหลายธนาคารจะยังคงเข้มงวดต่อการปล่อยสินเชื่อบุคคลโดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้เลย เพราะหลายคนต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าในปีนี้อสังหาริมทรัพย์จะดีขึ้นยิ่งกว่าปีที่แล้ว และหากเราแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการชำระหนี้ได้ รวมถึงการมีวินัยทางการเงินก็จะทำให้กู้ผ่านได้ไม่ยาก แม้แต่ผู้ที่มีประวัติ NPL ก็สามารถเข้าไปปรึกษากับทางธนาคารได้ แต่จะใช้ระยะเวลานานกว่า และมีข้อแม้หลายอย่างที่ต้องปฏิบัติเสียก่อนจะยื่นกู้ เช่น ต้องจ่ายหนี้สินทั้งหมดให้เรียบร้อยก่อน เป็นต้น   ความรู้อื่นเกี่ยวกับ NPL ธนาคารแห่งประเทศไทย บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กู้ไม่ผ่าน เกิดจากอะไร วิเคราะห์ LTV หลักเกณฑ์ใหม่ ดีต่อตลาดอสังหาฯ แค่ไหน-ใครได้ประโยชน์ EIC วิเคราะห์ ใครคือผู้ได้รับผลกระทบจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  
จะกู้บ้านทั้งที ต้องทำประกันด้วยหรือ?

จะกู้บ้านทั้งที ต้องทำประกันด้วยหรือ?

เมื่อความฝันในการมีบ้านหลังแรกหรือคอนโดมิเนียมในปัจจุบันนั้นไม่ใช่เรื่องยากอยู่ไกลเกินเอื้อมสักเท่าไหร่  เพราะเพียงแค่คุณวางเงินจองหรือดาวน์ตามสัญญาข้อกำหนดของโครงการที่ถูกใจ จากนั้นก็ดำเนินตามขั้นตอนคือยื่นกู้ธนาคาร รอผลอนุมัติ เพียงเท่านี้ความฝันของคุณก็เป็นจริงขึ้นมาแล้วแล้วค่ะ แต่การทำเรื่องขอเงินกู้เพื่อซื้อบ้านกับธนาคารนั้นส่วนใหญ่มักจะมีเรื่องของข้อเสนอขายกรมธรรม์พ่วงเข้ามาเกี่ยวข้องให้เราทำด้วย เพื่อได้อัตราดอกเบี้ยในการกู้สินเชื่อที่ถูกกว่าการไม่ทำประกัน บางคนอาจจะสงสัยว่าเราต้องทำด้วยไหม? ทำไปแล้วได้อะไร? วันนี้ทีมงาน Review Your Living จึงได้รวบรวมข้อมูลคลายข้อสงสัยมาฝากค่ะ เรียบเรียงโดย Review Your Living   สำหรับประกันสินเชื่อบ้านนั้นมีอยู่ 3 ประเภท คือ   1. ประกันคุ้มครองหลักทรัพย์ เป็นประกันชีวิตที่คุ้มครองวงเงินสินเชื่อบ้านที่เราได้รับอนุมัติจากธนาคารนั่นเองค่ะ ซึ่งจะมีระยะเวลาคุ้มครองให้คุณเลือกตั้งแต่ 5 – 30 ปี อัตราค่าเบี้ยประกันนั้นก็ขึ้นอยู่กับวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ ส่วนวิธีการชำระค่าดอกเบี้ยก็มักจะรวมอยู่ในวงเงินสินเชื่อแล้วค่ะ สังเกตได้ว่าทุกๆ ธนาคารมักจะใช้อัตราดอกเบี้ยมาเป็นสิ่งจูงใจเพื่อให้ผู้บริโภคเลือกโปรแกรมสินเชื่อที่มีประกันชีวิตคุ้มครองวงเงินสินเชื่อบ้านด้วย โดยทางเลือกนี้อัตราดอกเบี้ยจะถูกกว่าสินเชื่อธรรมดาประมาณ 0.5% ค่ะ   ทั้งนี้ประโยชน์ของประกันชนิดนี้ก็น่าสนใจไม่ใช่น้อยนะคะ ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่คุณกำลังผ่อนบ้านอยู่กับธนาคารและเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดเสียชีวิตหรือทุพลภาพถาวรตามระยะเวลาที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ บริษัทจะเป็นผู้จ่ายเงินกู้ที่เหลืออยู่ทั้งหมดกับธนาคารให้ หากคำนวณแล้วทุนประกันสูงกว่าจำนวนหนี้ที่เหลืออยู่นั้นครอบครัวก็มีสิทธิ์ได้ส่วนต่างคืน รวมถึงไม่ต้องกังวลว่าจะถูกยึดบ้านอีกด้วย และสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้นะคะ   2. ประกันอัคคีภัย เป็นประกันคุ้มครองบ้านระยะเวลาสั้นๆ แต่ต้องทำเป็นประจำทุกปีหรือ 2-3 ปีตามข้อตกลง กรณีที่เกิดอัคคีภัยซึ่งจะคุ้มครองเฉพาะตัวบ้านไม่รวมที่ดินนะคะ  หากเกิดอัคคีภัยขึ้นบ้านที่ไม่มีภาระหนี้ผลประโยชน์ก็จะเป็นของเจ้าของบ้านโดยตรง แต่ถ้าตัวบ้านติดจำนองกับธนาคาร ผู้รับประโยชน์คือธนาคารซึ่งจะหักไปกับหนี้ที่เหลืออยู่ ทำให้เจ้าของบ้านมีหนี้น้อยลงหรือหมดไปแล้วแต่กรณีข้อตกลง โดยประกันชนิดนี้จะคลอบคลุมความเสียหายของบ้านจาหเหตุการณ์อาทิ ไฟไหม้ ฟ้าผ้า แก๊สจากการทำแสงสว่าง แต่ไม่รวมการระเบิดดนื่องจากแผ่นดินไหว เป็นต้น   pinterest 3. ประกันภัยพิบัติ ประกันที่คุ้มครองบ้านจากภัยธรรมชาติต่างๆ อาทิ น้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุเข้า เป็นต้น ซึ่งจะมีเงื่อนไขตามข้อกำหนดของแต่ละธนาคารและเสียเบี้ยประกัน 0.5% ของราคาบ้านต่อปี โดยที่รัฐบาลไม่ได้บังคับ จะทำหรือไม่ทำก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณเองค่ะ แต่ประกันชนิดนี้จะไม่คลอบคลุมบ้านในพื้นที่ที่ถูกกำหนดว่าเป็นพื้นที่รองรับน้ำ กักเก็บน้ำ ทางผ่านน้ำนะคะ ดังนั้นถ้าจะซื้อบ้านอยู่ตรงไหนก็ควรศึกษาพื้นที่ให้ดีก่อนแล้วกันนะจ๊ะ     "สรุป" การทำประกันทุกๆ ชนิดที่มาพร้อมกับวงเงินกู้ซื้อบ้านนั้น ส่วนใหญ่ต่างก็มีข้อเสนอที่น่าสนใจไม่ใช่น้อยเลยใช่ไหมล่ะคะ? เพราะฉะนั้นถ้าใครกำลังจะตกลงปลงใจซื้อบ้านและยื่นกู้ธนาคาร ทีมงาน Review Your Living ก็อยากให้คุณศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจ ข้อแนะนำง่ายๆ คือลองปรึกษาเจ้าหน้าที่สินเชื่อขอคำอธิบายเงื่อนไขต่างๆ ให้เข้าใจทุกรายละเอียดอย่างถี่ถ้วนก่อน เพื่อลดความเสี่ยงและความสบายใจของครอบครัวคุณเอง       ขอขอบคุณภาพจาก www.toonpool.com/cartoons/Fire_7295            
6 สาเหตุที่ธนาคารระงับสินเชื่อ

6 สาเหตุที่ธนาคารระงับสินเชื่อ

การวางแผนเพื่อจะซื้อบ้านในฝันนั้น นอกจากจะวางแผนโดยเลือกจากทำเล เลือกจากความเหมาะสมกับสไตล์ของตัวเองนั้น การวางแผนทางการเงินก่อนจะเลือกซื้อบ้านก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเหมือนกัน และเมื่อมีการวางแผนในการยืนขอสินเชื่อบ้านแล้ว ก็ควรมีการเตรียมรับมือหากถูกธนาคารปฏิเสธสินเชื่อด้วยเช่นกัน ซึ่งสาเหตุหลักๆของการปฎิเสธสินเชื่อนั้นก็มาจากตัวผู้กู้เอง เราจึงรวบรวมเหตุผลว่า 6 สาเหตุนี้มักจะทำให้ธนาคารปฏิเสธสินเชื่อครับ 1. ผู้กู้ติดแบล๊คลิสต์หรือเป็นหนี้มีปัญหา ผู้กู้ติดหนี้มีปัญหาหรือเรียกว่าติดแบล๊คลิสต์ ได้แก่ การมีปัญหาค้างชำระหนี้ การถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อบังคับจำนอง หรือการเป็นบุคคลที่ต้องเอาใส่ใจ คือบุคคลที่ถูกแจ้งข้อหาในการทุจริต หลอกลวงประชาชน บุคคลเหล่านี้ทำให้ธนาคารปฏิเสธสินเชื่อ 2. ไม่ผ่านเกณฑ์คะแนนสินเชื่อ ในการพิจารณาสินเชื่อนั้น ธนาคารจะมีการพิจารณาจากการให้ข้อมูลของลูกค้า ได้แก่ เพศ อายุ การศึกษา อายุงาน อาชีพ ที่มารายได้ ฯลฯ ปัจจุบันธนาคารนำข้อมูลแต่ละปัจจัยมาประมวลจากข้อมูลปัจจัยของลูกค้าจำนวนมาก ซึ่งจะนำผลทั้งลูกค้าที่ดีและลูกค้าที่มีหนี้มาประมวลว่าข้อใดมีความเสี่ยงมากน้อยเท่าไร โดยเรียกว่า “Credit Scoring” ซึ่งถ้าลูกค้าไม่ผ่านเกณฑ์ก็จะถูกปฏิเสธสินเชื่อ 3. ไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำพิจารณาสินเชื่อ ธนาคารจะกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำไว้พิจารณาสินเชื่อบ้านนั่นก็คือ กำหนดว่าอายุ ต้องไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และไม่เกินกว่า 65 ปี และไม่ถูกธนาคาร ฟ้องร้อง ไม่ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งกำหนดว่า ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำพิจารณาสินเชื่อบ้านหรือไม่ 4. ผู้กู้ติดเครดิตบูโรมีปัญหา ผู้กู้ต้องลงนามให้ธนาคารรับทราบผลการตรวจสอบเครดิตบูโร ว่าเป็นหนี้ที่มีปัญหาหรือไม่ และหากไม่มีเหตุผลสมควร ไม่ชำระหนี้ให้หมดปัญหา ก็จะถูกธนาคารปฏิเสธสินเชื่อ 5. ไม่ผ่านเกณฑ์กำหนดทางราชการ ถ้าผู้กู้เข้าเกณฑ์ฟอกเงินหรือก่อการร้าย ก็จะถูกธนาคารปฏิเสธสินเชื่อ 6. ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วมไม่เกี่ยวข้องกัน การมีผู้กู้ร่วมต้องเกี่ยวข้องกันโดยเป็น บิดามารดาและบุตร สามี-ภรยา หรือพี่น้องที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัย เพราะถ้าหากกู้ร่วมโดยเกี่ยวข้องกันนอกเหนือจากนี้ ก็จะถูกธนาคารปฏิเสธสินเชื่อ   ขอขอบคุณข้อมูลจาก  Home.co.th
สถานะการสมรสมีผลต่อการกู้อย่างไร?

สถานะการสมรสมีผลต่อการกู้อย่างไร?

ในการพิจารณาตัวผู้กู้จากการให้ยืมของสถาบันการเงินนั้น สถาบันการเงินจะให้ความสำคัญในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้และความตั้งใจในการชำระหนี้ของตัวผู้กู้มากที่สุด แต่ในที่นี้ เราจะกล่าวถึงสถานภาพการสมรสต่อการกู้ เหตุผลที่สถาบันการเงินต้องทราบสถานภาพการแต่งงานนั้น ก็เพื่อพิจารณาความตั้งใจในการชำระหนี้ เพราะการแต่งงานเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มั่นใจในตัวผู้กู้ในการปักหลักปักฐานได้ และมีผลต่อความตั้งใจในการชำระหนี้ได้เป็นอย่างดี ผู้กู้จะถูกพิจารณาจากสถานภาพสมรสในแต่ละสถานะแตกต่างกันไป โดยถ้ามีข้อด้อยในจุดใดก็ตาม ให้แสดงข้อเด่นของผู้กู้ที่จะออกมาสร้างความมั่นใจทดแทนกันได้ 1. โสด สถานะนี้แม้จะยังไม่มีภาระด้านครอบครัว และการตัดสินใจยังขาดความระมัดระวัง แต่สามารถแสดงว่ามีหน้าที่การงานและมีอายุการทำงานที่มั่นคง 2. สมรส สถานะนี้จะมีความรับผิดชอบต่อครอบครัวสูง และถ้าหากมีบุตร ก็ยิ่งมีภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน แต่แสดงให้ทราบถึงรายได้ที่ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายของครอบครัว 3. หย่า สถานะนี้จะแสดงถึงความล้มเหลวในการใช้ชีวิตคู่ ซึ่งอาจเกิดจากการขาดความรับผิดชอบ และผู้ที่หย่าแล้วมีบุตรจะมีความรับผิดชอบสูงยิ่งขึ้นอีกด้วย แต่สามารถแสดงปัจจัยความมั่นคงในหน้าที่ของการงานและรายได้ 4. หม้าย สถานะนี้จะแสดงให้เห็นว่ารายได้รวมของครอบครัวลดลง และยิ่งถ้ามีบุตรก็มีความรับผิดชอบสูงขึ้นด้วย  แต่สามารถแสดงรายได้ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้     ขอขอบคุณข้อมูลจาก  home.co.th
6 วิธีแก้เมื่อกู้ไม่ผ่าน (แต่ใกล้เวลาโอน)

6 วิธีแก้เมื่อกู้ไม่ผ่าน (แต่ใกล้เวลาโอน)

สำหรับคนที่กู้ซื้อบ้านหรือกู้ซื้อคอนโด เมื่อยื่นกู้ไปแล้วกลับพบปัญหาว่ากู้ไม่ผ่าน มิหนำซ้ำทางโครงการยังเร่งให้โอนอีกด้วย ปัญหาการกู้ไม่ผ่านเหล่านี้มีทางออกครับ มาดูกันว่า 6 วิธีแก้ปัญหาเมื่อกู้ไม่ผ่าน ในเวลาที่โครงการเร่งโอนมีอะไรบ้าง 1. กู้ธนาคารอื่น ถ้าผู้กู้ไปยื่นกู้แล้วผ่านแต่ได้ไม่เต็มวงเงิน การแก้ปัญหาด้วยวิธีไปยื่นกู้กับธนาคารอื่นแทน เป็นทางแก้ที่ดี แต่ถ้าติดแบล็คลิสต์ไปธนาคารไหนก็ได้คำตอบเหมือนกัน คือกู้ไม่ผ่าน 2. เลื่อนเวลารับโอน เพราะถ้า Defect เยอะๆหน่อยก็สามารถยื้อเวลาได้ เต็มที่ก็ราวๆ 3 เดือน 3. บอกความจริง ให้ไปพูดคุยกับทางโครงการโดยตรงว่าขอเวลาสักหน่อย เช่น กำลังพ้นช่วงทดลองงาน จะได้เงินก้อน อย่างน้อยก็พอมีโอกาสรอด 4. ขายดาวน์ ถ้ารู้ตัวแล้วว่ายังไงก็ไม่ไหว ให้ประกาศขายดาวน์ทันที อาจจะต้องยอมขายถูกหน่อยหรือลดราคา เพื่อสามารถขายได้เร็วขึ้น 5. หาคนร่วมกู้ ถ้ากู้คนเดียวไม่ไหว รายได้ไม่ถึง ต้องหาคนมากู้ร่วม แต่ต้องเช็คเครดิตเหมือนผู้กู้หลัก 6. ลดงบในการซื้อ ถ้าราคาที่ซื้อสูงเกินไป ยังไงก็กู้ไม่ผ่าน อาจจะลดงบลงหน่อย เลือกห้องเล็กลง ก็จะทำให้กู้ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมด้วย ขอขอบคุณข้อมูลจาก  home.co.th
ช่วยกิจการครอบครัวไม่ต้องกลัวเรื่องกู้บ้าน

ช่วยกิจการครอบครัวไม่ต้องกลัวเรื่องกู้บ้าน

มีหลายคนเมื่อเรียนจบแล้ว เลือกที่จะทำงานดูแลกิจการของครอบครัว แต่ด้วยความเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในครอบครัว การจ่ายค่าจ้างหรือเงินเดือน ก็อาจไม่ได้ชัดเจนเหมือนพนักงานทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นวิธีการจ่าย จำนวนเงินเดือน หรือตำแหน่งงานที่รับผิดชอบ จึงทำให้หลายคนที่เลือกทำงานกับครอบครัวประสบปัญหาในการยื่นกู้ซื้อบ้าน แล้วความชัดเจนในการทำงานกับครอบครัวจะพิสูจน์ให้ธนาคารรู้ได้อย่างไร เรามีคำตอบครับ รายได้ต้องเข้าระบบบัญชีเงินเดือน ถึงแม้จะทำงานกับครอบครัว แต่หากรับรายได้จากครอบครัวเป็นแบบค่าจ้างหรือเงินเดือน ก็ถือว่าเราเป็นพนักงานคนหนึ่งของกิจการครับ และเมื่อมีรายได้เป็นแบบเงินเดือน การรับเงินจึงควรรับผ่านระบบบัญชีเงินเดือน หรือที่เรียกกันว่า Payroll เหมือนกับพนักงานประจำทั่วไปครับ โดยลักษณะการรับเงินผ่านระบบ Payroll นายจ้างจะจ่ายเงินเดือนให้ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากที่ลูกจ้างหรือพนักงานเปิดไว้กับธนาคาร เพื่อรองรับเงินเดือนนั่นเอง ที่สำคัญการรับเงินเดือนผ่านระบบ Payroll ในสมุดบัญชีเงินฝากจะต้องแสดงรหัส (Code) เป็นรหัสเฉพาะของ Payroll ตามที่ธนาคารกำหนด ซึ่งจะไม่เหมือนกับรหัสการโอนเงินเข้าบัญชีแบบทั่วๆ ไป ดังนั้นหากเรามีการรับเงินเดือนผ่านระบบ Payroll แล้ว ในสมุดบัญชีเงินฝากจะแสดงยอดจำนวนเงินเดือนและมีรหัสที่แสดงว่ามีการรับเงินผ่านระบบ Payroll เราก็สามารถใช้รายการเดินบัญชีย้อนหลัง (Statement) จากบัญชีนี้ เป็นหลักฐานในการยื่นกู้ซื้อบ้าน ซึ่งช่วยยืนยันรายได้และการทำงานของเราได้ครับ ทำงานจริงต้องมีเอกสารยืนยัน สำหรับเอกสารที่ใช้ในการยื่นกู้ซื้อบ้าน เพื่อแสดงรายได้และยืนยันการทำงานกับกิจการของครอบครัว จะใช้เอกสารเช่นเดียวกับการยื่นกู้ซื้อบ้านกรณีเป็นพนักงานประจำครับ ซึ่งเอกสารที่ต้องเตรียมให้กับธนาคาร ได้แก่ - สลิปเงินเดือนหรือหนังสือรับรองเงินเดือน - เอกสารการเสียภาษี เช่น หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) - รายการเดินบัญชีย้อนหลัง โดยต้องเป็นบัญชีเงินฝากที่ใช้รับเงินเดือน เอกสารต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้ธนาคารรู้ว่า การทำงานกับกิจการของครอบครัวของเรานั้น  ทำงานในตำแหน่งอะไร  มีรายได้จากเงินเดือนเท่าไร และทำมานานแค่ไหนครับ การพิสูจน์ให้ธนาคารเห็นว่า เรามีการทำงานกับครอบครัวจริงๆ และมีรายได้ประจำจากเงินเดือนอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการมีเอกสารที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือ ก็จะช่วยให้เพิ่มโอกาสในการยื่นกู้ซื้อบ้านให้ผ่านได้ครับ   ขอขอบคุณข้อมูลจาก K-Expert
อยากเพิ่มหรือลดผู้กู้ร่วม ต้องทำยังไง

อยากเพิ่มหรือลดผู้กู้ร่วม ต้องทำยังไง

สำหรับผู้ที่ผ่อนชำระสินเชื่อบ้านไปสักระยะหนึ่ง คงรู้จักกับคำว่า “รีไฟแนนซ์” ซึ่งเป็นการขอสินเชื่อกับอีกธนาคารหนึ่งโดยมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าธนาคารเดิม เพื่อช่วยในการประหยัดดอกเบี้ย แต่รู้หรือไม่ว่า ในการรีไฟแนนซ์เรายังสามารถขอเพิ่มหรือลดจำนวนผู้กู้ร่วมซื้อบ้านได้อีกด้วย จะมีขั้นตอนอย่างไรบ้างนั้นเรามีคำตอบครับ เพิ่มผู้กู้ร่วมซื้อบ้าน การเพิ่มจำนวนผู้กู้ร่วมซื้อบ้านมักจะเจอในกรณีของสามีภรรยา เช่น เดิมสามีเป็นผู้กู้ซื้อบ้านเพียงคนเดียว แต่อยากให้ภรรยามีกรรมสิทธิ์ในบ้านด้วย เมื่อตัดสินใจรีไฟแนนซ์จึงแจ้งธนาคารเพื่อขอเพิ่มชื่อภรรยาในสัญญา และเพิ่มกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดินด้วย แต่การเพิ่มชื่อคู่สมรสเข้ามา จะมีค่าใช้จ่ายด้วยนะคะ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนครับ ส่วนแรก คือ ค่าใช้จ่ายในการให้ หากบ้านหลังนั้นเป็นสินส่วนตัวจะมีค่าใช้จ่ายในการให้ 0.5% ของราคาประเมิน แต่ถ้าเป็นสินสมรสจะเสียค่าธรรมเนียมเพียง 75 บาทเท่านั้นครับ ส่วนที่สอง คือ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากการขายบ้าน การให้คู่สมรสมีกรรมสิทธิ์ร่วมในบ้านเปรียบเสมือนการให้ (ขาย) บ้านอีกครึ่งหลังให้กับคู่สมรส ดังนั้นคู่สมรสที่เป็นผู้กู้ซื้อบ้านฝ่ายเดียวในตอนแรกจะต้องเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายโดยคำนวณจากราคาบ้านครึ่งหนึ่ง เช่น บ้านมูลค่า 3 ล้านบาท แบ่งให้คู่สมรสครึ่งหนึ่ง ดังนั้นจะต้องนำ 1.5 ล้านบาทมาคำนวณยอดเงินเพื่อเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายด้วยครับ ส่วนที่สาม คือ ภาษีธุรกิจเฉพาะหรืออากรแสตมป์ ซึ่งเลือกเสียอย่างใดอย่างหนึ่ง หากมีชื่อในทะเบียนบ้านเกิน 1 ปี หรือถือครองเกิน 5 ปีปฏิทินจะเสียเฉพาะอากรแสตมป์ 0.5% (อัตรา 1 บาท ต่อราคาประเมินทุนทรัพย์ทุก 200 บาท)  ของราคาซื้อขายหรือราคาประเมิน โดยใช้ราคาที่สูงกว่า แต่ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขข้างต้น จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ของราคาซื้อขายหรือราคาประเมิน โดยใช้ราคาที่สูงกว่าครับ ลดจำนวนผู้กู้ซื้อบ้าน เมื่อตัดสินใจที่จะรีไฟแนนซ์ เรายังสามารถขอลดจำนวนผู้กู้ซื้อบ้านได้อีกด้วย เช่น พี่อยากกู้ซื้อบ้าน แต่ต้องกู้ร่วมกับน้อง เพราะรายได้ของพี่เพียงคนเดียวไม่เพียงพอสำหรับขอสินเชื่อ ผ่านไประยะหนึ่งรายได้ของพี่สูงขึ้นจนเพียงพอที่จะผ่อนบ้านคนเดียวได้ จึงต้องการลดจำนวนผู้กู้เหลือเพียงคนเดียว สำหรับขั้นตอนในการขอลดจำนวนผู้กู้ซื้อบ้านก็คล้ายกับการเพิ่มจำนวนผู้กู้ซื้อบ้าน โดยต้องทำเรื่องเปลี่ยนแปลงสัญญากับธนาคารและเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดินด้วยครับ เบื้องต้นธนาคารจะพิจารณาว่า ผู้กู้ที่เหลืออยู่ มีความสามารถในการผ่อนชำระหรือไม่ ซึ่งโดยปกติแล้วยอดผ่อนชำระจะต้องไม่เกิน 40-50% ของรายได้ในแต่ละเดือนครับ ในส่วนของการขอเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ที่กรมที่ดินนั้น จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นเช่นกันครับ โดยกรมที่ดินจะมองว่า การขอเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ครั้งนี้เสมือนมีการซื้อขายเกิดขึ้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการโอน 2% ของราคาประเมิน นอกจากนี้ยังมีการคิดภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากการขายบ้านกับคนที่ออกจากการกู้บ้าน จากตัวอย่างข้างต้น ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจะคิดจากผู้ที่เป็นน้อง เพราะกรมที่ดินมองว่า ผู้เป็นพี่ได้รับกรรมสิทธิ์บ้านเพิ่มจากน้อง เสมือนว่าน้องมีการขายบ้านครึ่งหลังที่มีอยู่เดิมให้กับพี่ และยังมีการคิดภาษีธุรกิจเฉพาะหรืออากรแสตมป์เหมือนกับกรณีขอเพิ่มจำนวนผู้กู้ร่วมซื้อบ้านด้วยครับ แม้ว่าการรีไฟแนนซ์จะช่วยให้ประหยัดดอกเบี้ยในการกู้ซื้อบ้าน และสามารถเปลี่ยนแปลงผู้กู้ซื้อบ้านได้ แต่ก่อนตัดสินใจควรศึกษาถึงเงื่อนไขในการรีไฟแนนซ์ของสินเชื่อบ้านเดิม และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้การรีไฟแนนซ์ครั้งนี้คุ้มค่าที่สุดครับ   ขอขอบคุณข้อมูลจาก home.co.th
เรื่องที่มักเข้าใจผิด เมื่อคิดจะโปะบ้าน

เรื่องที่มักเข้าใจผิด เมื่อคิดจะโปะบ้าน

อย่างที่รู้ๆ กันว่าเงินที่เราจ่ายเป็นค่าผ่อนบ้านในแต่ละเดือนนั้น ส่วนหนึ่งต้องนำไปหักดอกเบี้ยจ่ายก่อนส่วนที่เหลือถึงค่อยนำไปหักเงินต้น หากใครที่คิดว่าจะผ่อนแบบปกติตามที่ธนาคารกำหนด โดยไม่มีการโปะหนี้บ้านเลย ก็อาจต้องเสียดอกเบี้ยจ่ายสูงเกือบเท่ากับวงเงินกู้เลยทีเดียว ดังนั้นการเลือกที่จะโปะหนี้บ้านในเวลาที่เรามีเงินก้อน จึงถือว่าเป็นการช่วยประหยัดดอกเบี้ยจ่ายได้มากมาย แล้วเพราะเหตุใดหลายๆ คนที่มีโอกาสได้รับเงินก้อน เช่น ได้โบนัส คอมมิชชั่น ถึงไม่นำเงินก้อนเหล่านี้ไปโปะหนี้บ้าน โปะบ้านแล้วเสียค่าธรรมเนียม หลายคนมักเข้าใจผิด โดยคิดว่าเมื่อกู้บ้านกับธนาคารแล้วจะต้องผ่อนชำระในแต่ละเดือนตามจำนวนเงินที่ธนาคารกำหนดไว้ในสัญญาเงินกู้บ้านเท่านั้น และหากโปะหรือปิดบ้านต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่ในความเป็นจริงแล้วเราสามารถจ่ายค่าผ่อนบ้านในแต่ละเดือน ได้มากกว่าที่ธนาคารกำหนด เช่น จ่ายเพิ่มทุกเดือน เดือนละ 2,000 บาท หรือจ่ายเงินก้อนในบางเดือน เช่น จ่ายเพิ่ม 50,000 บาท และการโปะหรือปิดหนี้ด้วยเงินของเราเองปกติแล้วจะไม่เสียค่าธรรมเนียม ส่วนการปิดหนี้ที่เสียค่าธรรมเนียมโดยปกติแล้วจะเป็นลักษณะของการย้ายวงเงินกู้ไปกู้เงินกับธนาคารแห่งใหม่ หรือที่เรียกกันว่า “รีไฟแนนซ์” อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะตัดสินใจ โปะ ปิดหนี้ หรือรีไฟแนนซ์ เพื่อความมั่นใจว่าจะไม่ทำผิดเงื่อนไขการจ่ายชำระหนี้ของธนาคาร แนะนำให้ตรวจสอบในสัญญาเงินกู้บ้าน หรือสอบถามโดยตรงกับธนาคาร เนื่องจากเงื่อนไขของแต่ละธนาคารมีความแตกต่างกันครับ นำเงินไปลงทุนได้ผลตอบแทนดีกว่าดอกเบี้ยบ้าน หากใครยังลังเลว่าจะนำเงินก้อนไปโปะบ้านดี หรือนำเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินกู้บ้านดี ต้องบอกว่าการลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยบ้านนั้น หากอัตราดอกเบี้ยจ่ายที่ได้รับอยู่ในช่วงที่เป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว เช่น  6-7% ต่อปี การที่จะลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงกว่า 6-7% ต่อปี ก็ต้องเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเช่น หุ้นหรือกองทุนหุ้น ซึ่งการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงก็มีโอกาสที่จะกำไรหรือขาดทุนได้เช่นกันครับ ต่างกับการเลือกนำเงินก้อนไปโปะบ้านเพราะไม่มีความเสี่ยง และช่วยประหยัดดอกเบี้ยจ่ายได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้การนำเงินก้อนไปโปะบ้านถึงแม้จะช่วยให้เราประหยัดดอกเบี้ยจ่ายได้ก็จริง แต่ต้องไม่ลืมที่จะสำรวจตัวเองก่อนครับ ว่ามีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเพียงพอแล้วหรือยัง เพราะหากนำเงินไปโปะบ้านจนหมดไม่มีเงินสำรองไว้อย่างเพียงพอ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันจำเป็นต้องใช้เงินขึ้นมา อาจไม่มีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่ายทำให้เกิดความเดือดร้อน หรือต้องไปกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าดอกเบี้ยบ้านก็เป็นได้ ดังนั้นก่อนนำเงินก้อนไปโปะบ้านแนะนำว่าควรเก็บเงินไว้เป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินก่อนอยู่ที่ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เช่น มีค่าใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท ควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน 120,000 บาท เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินต้องใช้เงินในยามจำเป็นขึ้นมา จะได้นำเงินส่วนนี้มาใช้จ่ายได้ทันทีครับ   ขอขอบคุณข้อมูลจาก K-Expert
เตรียมกู้บ้านให้ผ่าน แบบเจ้าของกิจการ

เตรียมกู้บ้านให้ผ่าน แบบเจ้าของกิจการ

“เวลาเป็นเงินเป็นทอง” คำพูดนี้น่าจะเหมาะกับคนที่เป็นเจ้าของกิจการ เพราะวันไหนหยุด หรือปิดร้าน วันนั้นก็จะไม่มีรายได้เข้ามา และสำหรับกิจการเจ้าของคนเดียวที่ต้องทำทุกอย่างเองหมด ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของมาขาย เปิด ปิดร้าน ทำให้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการหารายได้ จนบางครั้งเผลอหรือลืมที่จะเก็บเอกสารทางการค้าเอาไว้ หรือไม่มีเวลาพอที่จะนำเงินไปเข้าบัญชีธนาคาร สาเหตุเหล่านี้ทำให้เจ้าของกิจการหลายรายประสบปัญหาในการกู้ซื้อบ้าน เนื่องจากเอกสารต่างๆ ไม่พร้อม แล้วจะทำอย่างไรให้พร้อมยื่นกู้ เรามีคำแนะนำสำหรับเจ้าของกิจการที่กำลังมีแผนยื่นกู้ซื้อบ้านดังนี้ครับ     บอกให้ได้ว่ากิจการทำอะไร    เอกสารสำคัญที่เจ้าของกิจการจะต้องเตรียมให้กับธนาคารสำหรับการยื่นกู้ เพื่อให้ธนาคารทราบว่าประกอบกิจการอะไรนั้น ได้แก่ - ทะเบียนการค้าหรือทะเบียนพาณิชย์ ของกิจการที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งรายละเอียดในทะเบียนการค้าจะระบุว่ากิจการที่ทำอยู่นั้นคืออะไร และวันที่จดทะเบียนจะสะท้อนให้เห็นว่าประกอบกิจการมานานแค่ไหน สำหรับเจ้าของกิจการรายใหม่ที่กำลังจะมีแผนจดทะเบียนการค้าหรือทะเบียนพาณิชย์ก็สามารถยื่นเอกสารขอจดทะเบียนได้ที่สำนักงานเขต หรือองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) หรือเทศบาล - สัญญาเช่า เช่น เปิดร้านค้าในห้างสรรพสินค้า เช่าร้านค้าในตึกแถว เอกสารสัญญาเช่าจะช่วยบอกได้ว่ากิจการตั้งอยู่ที่ใด ทำมาแล้วนานแค่ไหน โดยอาจใช้สัญญาเช่าที่ทำไว้ในอดีตควบคู่กัน   บอกให้ได้ว่ากิจการมีรายได้เท่าไร   สิ่งสำคัญที่จะสะท้อนรายได้ของกิจการบุคคลธรรมดานั่นก็คือ รายการเดินบัญชีย้อนหลัง (Statement) ซึ่งนอกจากจะช่วยประเมินให้เห็นว่ากิจการมีรายได้เท่าไรแล้ว ยังสะท้อนได้ว่ากิจการประกอบการค้าเป็นอย่างไร เช่น ได้รับเงินทุกวันอย่างการขายของชำ ขายอาหาร หรือมีรายได้เป็นรายสัปดาห์ เช่น โรงเรียนสอนพิเศษ โดยการเดินบัญชีที่ดีควรฝากเงินหรือถอนเงินตามรายได้หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และไม่ตกแต่งบัญชี โดยธนาคารจะพิจารณารายการเดินบัญชีย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือน นอกจากรายการเดินบัญชีย้อนหลังแล้ว หากกิจการมีเอกสารเพิ่มเติมที่ช่วยสะท้อนรายได้ของกิจการก็ควรยื่นประกอบการพิจารณาสินเชื่อด้วยครับ ซึ่งได้แก่ - บิลการค้า สำหรับกิจการที่ทำการค้าแล้วมีการออกบิลหรือใบเสร็จให้กับลูกค้า หรือใบเสร็จที่ได้จากการซื้อสินค้ามาขาย -  เอกสารการเสียภาษี เช่น ภพ. 30 สำหรับกิจการที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เจ้าของกิจการถือว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้มากมายอย่างไม่จำกัด แต่ในการกู้เงินหากไม่สามารถสะท้อนให้เห็นได้ว่ากิจการมีรายได้เป็นอย่างไร หรือไม่ชัดเจนว่าประกอบกิจการอะไร โอกาสในการได้รับอนุมัติเงินกู้ก็อาจจะเป็นไปได้ยากครับ   ขอขอบคุณข้อมูลจาก  K-Expert
ผ่อนบ้านหมดไว เหมือนได้รถใหม่ 1 คัน

ผ่อนบ้านหมดไว เหมือนได้รถใหม่ 1 คัน

หากใครที่กำลังจะซื้อบ้าน แล้วคิดว่าจะซื้อด้วยวิธีการกู้เงิน ผ่อนรายเดือนกับธนาคาร ต้องไม่ลืมว่าค่าผ่อนที่จ่ายในแต่ละเดือนนั้น ไม่ได้นำไปชำระเงินต้นทั้งหมด แต่จะชำระดอกเบี้ยจ่ายก่อน ส่วนที่เหลือจึงค่อยชำระเงินต้น ซึ่งการจ่ายค่าผ่อนตามจำนวนเงินที่ธนาคารกำหนดไว้ในแต่ละเดือน โดยไม่มีการผ่อนชำระเพิ่ม เมื่อจ่ายแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนครบกำหนด ดอกเบี้ยทั้งหมดอาจจะสูงถึงประมาณ 70% ของวงเงินกู้เลยทีเดียว แต่ถ้าเราเลือกที่จะชำระค่าผ่อนบ้านเพิ่มจากการผ่อนปกติ รู้หรือไม่ว่าวิธีนี้จะช่วยให้เราประหยัดดอกเบี้ยจ่ายเท่ากับได้รถใหม่มา 1 คัน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นเรามีคำตอบครับ   ยิ่งจ่ายมาก ยิ่งลดมาก ปกติแล้วดอกเบี้ยบ้านจะคิดแบบลดต้นลดดอก หมายความว่าดอกเบี้ยที่ต้องชำระในแต่ละเดือนจะคำนวณจากเงินต้นคงเหลือของเดือนนั้นๆ   ตัวอย่างเช่น สมมุติว่า กู้เงินซื้อบ้าน 2,000,000 บาท ธนาคารกำหนดให้ผ่อนชำระเดือนละ 15,000 บาท เป็นระยะเวลา 30 ปี อัตราดอกเบี้ยปีแรก 2.50% ต่อปี หลังจากนั้น MRR-1 (สมมุติให้ 1 เดือนเท่ากับ 30 วัน) ในเดือนแรกจะเสียดอกเบี้ยอยู่ที่ [2,000,000X2.5%] X [30/365]  = 4,109.59 บาท เมื่อจ่ายชำระค่าผ่อน 15,000 บาท จะถูกนำไปชำระดอกเบี้ยก่อน 4,109.59 บาท ส่วนที่เหลือ 15,000 – 4,109.59 = 10,890.41 บาท ค่อยนำไปชำระเงินต้น เท่ากับว่าเงินต้นคงเหลือจะอยู่ที่ 2,000,000 – 10,890.41 = 1,989,109.59 บาท และเงินต้นคงเหลือก็จะนำไปใช้คำนวณดอกเบี้ยในเดือนถัดไป ซึ่งเท่ากับ [1,989,109.59X2.5%] X [30/365]  = 4,087.21 บาท จะเห็นได้ว่าหากอัตราดอกเบี้ยเท่ากัน ในเดือนถัดไปดอกเบี้ยจะลดลงตามเงินต้นที่ลดลง ดังนั้นการผ่อนชำระหนี้ในแต่ละเดือนด้วยจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นก็จะยิ่งทำให้เงินต้นลดลง ซึ่งเท่ากับว่าดอกเบี้ยจ่ายก็จะลดลงด้วยเช่นกันครับ   ผ่อนเพิ่มแค่เดือนละ 2,000 บาท ประหยัดดอกเบี้ยเท่ากับราคารถอีโคคาร์ 1 คัน จากตัวอย่างจะพบว่าหากเลือกผ่อนชำระเดือนละ 15,000 บาท ตามที่ธนาคารกำหนดไว้ไปเรื่อยๆ จนครบกำหนด ดอกเบี้ยจ่ายทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 1,600,000 บาท แต่หากผ่อนเพิ่มแค่เดือนละ 2,000 บาท จากผ่อนเดือนละ 15,000 บาท เป็น 17,000 บาท ดอกเบี้ยจ่ายทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 1,170,000 บาท เมื่อเปรียบเทียบดอกเบี้ยจ่ายแล้ว การผ่อนเพิ่มเดือนละ 2,000 บาท จะช่วยให้ประหยัดดอกเบี้ยได้ถึง 430,000 บาท และช่วยร่นระยะเวลาในการผ่อนบ้านให้เร็วขึ้นถึงประมาณ 5 ปี   นอกจากนี้หากเราได้รับเงินก้อน ไม่ว่าจะเป็น เงินโบนัส ค่าคอมมิชชั่น ก็อย่าลืมแบ่งเงินบางส่วนนี้ไปโปะบ้านด้วยนะครับ จะได้ประหยัดดอกเบี้ยจ่าย และหมดภาระหนี้สินเร็วขึ้นครับ   ขอขอบคุณข้อมูลจาก K-Expert
เปิด 3 มาตรการล่อใจคนซื้อบ้าน ลดค่าโอน – จำนอง เคลมภาษีได้

เปิด 3 มาตรการล่อใจคนซื้อบ้าน ลดค่าโอน – จำนอง เคลมภาษีได้

ส่องมาตรการรัฐ อุ้มอสังหาฯ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ อัดฉีดเงินหมื่นล้าน ผ่อนปรนเงื่อนไขกู้ซื้อบ้าน ช่วยคนมีรายได้ปานกลาง ซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น ในสภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างหนัก ส่งผลกระทบไปถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาตามไปด้วย เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งเข้มงวดมากขึ้นที่จะปล่อยสินเชื่อบ้าน ทำให้ผู้ที่ต้องการจะซื้อบ้าน กู้ไม่ผ่านกันมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงต้องหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วยการผ่อนปรนเงื่อนไขการขอกู้ซื้อบ้าน เพื่อให้ประชาชนสามารถกู้ซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น นั่นจึงเป็นที่มาของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 13 ตุลาคม 2558 ที่ออก 3 มาตรการเด็ด เพื่ออุ้มภาคอสังหาริมทรัพย์ให้อยู่รอด ดังนี้ 1. เพิ่มวงเงินกู้ซื้อบ้านพร้อมอัตราดอกเบี้ยพิเศษ รัฐบาลได้อนุมัติวงเงินเบื้องต้น 10,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ที่ถูกปฏิเสธการขอกู้ซื้อบ้านจากธนาคารพาณิชย์ สามารถขอกู้กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้ ซึ่งภายหลัง ธอส. ก็รับลูก ด้วยการออกมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขการขอสินเชื่อบ้านให้ผู้ที่มีรายได้น้อย-ปานกลางมากขึ้น โดยพิจารณาสัดส่วนความสามารถชำระหนี้ต่อรายได้เพิ่มขึ้น จากเดิมอยู่ที่ 33% เป็น 40-50% ของรายได้สุทธิต่อเดือน นั่นจึงทำให้ผู้ที่มีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาทต่อเดือน สามารถกู้ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทได้ (จากเดิมกู้ซื้อบ้านได้เพียงราคาไม่เกิน 1.8 ล้านบาท) เปรียบเทียบวงเงินกู้สินเชื่อบ้านธนาคารอาคารสงเคราะห์ รายได้สุทธิ 10,000 บาทต่อเดือน เดิมกู้ได้ 600,000 บาท ปรับเป็น 1,000,000 บาท รายได้สุทธิ 20,000 บาทต่อเดือน เดิมกู้ได้ 1,200,000 บาท ปรับเป็น 2,000,000 บาท รายได้สุทธิ 30,000 บาทต่อเดือน เดิมกู้ได้ 1,800,000 บาท ปรับเป็น 3,000,000 บาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านดังนี้ ปีแรก ดอกเบี้ย 3.50% ต่อปี ปีที่ 2 ดอกเบี้ย 4.25% ต่อปี ปีที่ 3 จนถึงครบสัญญา แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยอยู่ที่ MRR -1.00% ต่อปี และลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยอยู่ที่ MRR -0.75% ต่อปี ซึ่งถือเป็นอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุด และเมื่อคำนวณออกเป็นงวดผ่อนต่อเดือน ตามวงเงินกู้และรายได้สุทธิแล้ว จะได้ค่างวดผ่อนดังนี้ 2. ลดค่าธรรมเนียมการโอนและจำนองเป็นเวลา 6 เดือน สำหรับมาตรการนี้จะเป็นการลดการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอน จาก 2% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ในกรณีการโอน เหลือ 0.01% รวมทั้งลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุด จากเดิม 1% เหลือ 0.01% ของมูลค่าที่จำนอง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งจะมีผลเพียงแค่ 6 เดือน คือถึงวันที่ 30 เมษายน 2559 3. ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ สำหรับผู้ที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด ในราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท สามารถนำเอา 20% ของราคาบ้าน ไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เป็นเวลา 5 ปี โดยมีเงื่อนไขการหักลดหย่อนภาษีคือ ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท ต้องเป็นการซื้อครั้งแรก (ไม่เคยถือสิทธิ์ในอสังหาฯ อื่นมาก่อน) เป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ถือกรรมสิทธิ์ในอสังหาฯ นั้น เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันโอน ต้องจ่ายค่าซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เท่านั้น ต้องใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อเนื่องกัน 5 ปีภาษี นับตั้งแต่ปีภาษีที่มีการจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยให้แบ่งใช้สิทธิเป็นจํานวนเท่า ๆ กันในแต่ละปีภาษี ทั้งนี้หากนำมาเฉลี่ยคิดเป็นรายปีของมูลค่าบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท จะลดหย่อนได้ถึง 6 แสนบาท หรือปีละ 120,000 บาท เท่ากับผ่อนบ้านราคา 3 ล้านบาท ในราคา 2,400,000 บาทเท่านั้น และถ้ารวมกับมาตรการลดหย่อนภาษีจากภาระดอกเบี้ยเงินกู้บ้านที่ปัจจุบันได้ปีละไม่เกิน 1 แสนบาทอยู่แล้ว ก็เท่ากับได้สิทธิประโยชน์เป็น 2 เท่าจากการลดหย่อนครั้งใหม่นี้เข้าไปด้วย นอกจาก 3 มาตรการที่ใช้กระตุ้นอสังหาฯ ที่กล่าวมาข้างต้น กระทรวงการคลังก็ยังมีมาตรการเพิ่มเติมอีกด้วยการให้ธนาคารออมสินพิจารณาปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายย่อย เพื่อเป็นการส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ให้กลับมาขยายตัวได้ เพราะเชื่อว่า หากตลาดอสังหาริมทรัพย์สามารถขยายตัวได้มากขึ้น ก็จะช่วยฉุดภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาให้กลับมาคึกคักได้ การอัดฉีดเงินเข้าระบบกว่าหมื่นล้านด้วยมาตรการต่าง ๆ นั้น ย่อมส่งเเรงกระเพื่อมไปถึงภาคเอกชน ธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่จะออกมารับลูก ทำโปรโมชั่นเพื่อแข่งขัน ล่อใจลูกค้า หวังให้ตัวเองได้ส่วนแบ่งของตลาดอสังหาฯ ตามไปด้วย ทำให้ผู้ที่ได้ประโยชน์ไปเต็ม ๆ คือประชาชนที่มีรายได้น้อย มีโอกาสกู้บ้านผ่านมากขึ้นและสมหวังกับการมีบ้านเป็นของตัวเองได้  แต่คงต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดว่า หากมีปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่นที่ไม่สามารถทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อ หรือผ่อนชำระบ้านที่ซื้อไปได้ มาตรการดังกล่าวจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงอยู่หรือไม่ หรือจะยิ่งทำให้รัฐขาดทุนเพิ่มมากขึ้น และกลายเป็นการเพิ่มหนี้ครัวเรือน เพิ่มภาระให้กับประชาชนแทน   ขอขอบคุณข้อมูลจาก  money.kapook.com
รายได้เสริมแบบไหน ใช้กู้บ้านได้

รายได้เสริมแบบไหน ใช้กู้บ้านได้

ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันมีหลายคนมองหารายได้เพิ่มหรืออาชีพเสริมทำควบคู่ไปพร้อมกับงานประจำ นั่นอาจเป็นเพราะค่าครองชีพที่สูงขึ้น การมีรายได้จากงานประจำเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับใช้จ่าย หรือเพราะอยากทำในสิ่งที่ชอบแถมมีรายได้เพิ่มด้วย ซึ่งในบางครั้งรายได้ที่มาจากการทำอาชีพเสริมอาจจะได้มากกว่างานประจำเสียอีก เชื่อว่ามีหลายๆ คนสงสัยว่า เราสามารถนำรายได้เสริมเหล่านี้มายื่นกู้ซื้อบ้านได้หรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบคมาให้ครับ     รายได้เสริมต้องได้รับเป็นประจำสม่ำเสมอ  ก่อนที่จะนำรายได้เสริมต่างๆ ไปแสดงกับธนาคารเพื่อยื่นกู้ ต้องดูว่ารายได้เสริมนั้น เราได้รับเป็นประจำสม่ำเสมอหรือไม่ เพราะรายได้ที่ธนาคารจะนำมาพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ ปกติแล้วต้องเป็นรายได้ที่ได้รับเป็นประจำสม่ำเสมอทุกๆ เดือน นั่นหมายถึงว่าเราจะมีเงินจากรายได้เสริมไปชำระค่าผ่อนบ้านได้ทุกๆ เดือนเช่นกันครับ หากใครที่มีรายได้เสริมแบบบางเดือนได้บ้างไม่ได้บ้างก็อาจจะยากสักหน่อยที่ธนาคารจะนำรายได้ในส่วนนี้ไปพิจารณาการยื่นกู้ซื้อบ้านครับ มีเอกสารแสดงรายได้เสริมอย่างชัดเจน เมื่อเรามีรายได้เสริมแล้ว ต้องแสดงให้ได้ครับว่ารายได้เสริมที่ได้รับในทุกๆ เดือน เป็นจำนวนเงินเท่าไร เพื่อให้ธนาคารนำไปประเมินเป็นรายได้เฉลี่ยต่อเดือน สำหรับเอกสารที่สามารถใช้ยืนยันรายได้เสริมต่างๆ ขอยกตัวอย่างดังนี้ครับ - รายได้เสริมจากการรับจ้างอิสระ เช่น สอนพิเศษตามโรงเรียนสอนพิเศษ รับจ้างทำบัญชี ขายประกัน ซึ่งบริษัทที่จ้างเราทำงานจะต้องมีการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิให้ครับ โดยจะแสดงประเภทรายได้ และจำนวนเงินที่เราได้รับจากการจ้างทำงาน รวมทั้งรายการเดินบัญชี (Statement) ที่บริษัทโอนเงินเข้าบัญชีเป็นค่าจ้างให้กับเรา หรือหากรับเป็นเงินสดก็ควรนำเงินเข้าบัญชีก่อนแล้วค่อยถอนออกมาใช้จ่ายครับ - รายได้เสริมจากกิจการส่วนตัว เช่น ทำเบเกอรี่ขาย ขายเสื้อผ้า ขายของออนไลน์ เอกสารแสดงรายได้ของการทำกิจการส่วนตัวที่ต้องใช้คือ รายการเดินบัญชี (Statement) ครับ หากใครที่ได้รับเงินจากลูกค้าเป็นเงินสดควรนำเงินเข้าบัญชีก่อนแล้วค่อยถอนออกมาใช้จ่ายตามลักษณะของกิจการ เช่น ได้รับเงินทุกวัน ก็ควรนำเงินเข้าบัญชีทุกวัน นอกจากนี้ต้องมีเอกสารที่แสดงได้อย่างชัดเจนว่าเราทำกิจการอะไร เช่น ทะเบียนการค้า หรือทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการขายออนไลน์ หรือสัญญาเช่าพื้นที่ขายของ เป็นต้น - รายได้เสริมจากการให้เช่า เช่น ให้เช่าบ้าน คอนโด หรือที่ดินเปล่า เอกสารแสดงรายได้สำหรับการให้เช่า ได้แก่ สัญญาเช่าและรายการเดินบัญชี (Statement) ที่ผู้เช่าโอนเข้าบัญชีให้กับเรา การมีรายได้เพิ่มนอกเหนือจากงานประจำจะช่วยแบ่งเบาภาระผ่อนหนี้บ้านในแต่ละเดือนให้กับเราได้ครับ ดังนั้นหากใครที่มีรายได้มาจากการทำอาชีพเสริมต่างๆ ก็ควรทำอย่างจริงจัง ไม่ย่อท้อกับอุปสรรคหรือปัญหาใดๆ จะได้มีเงินเพิ่มไว้ผ่อนบ้านได้อย่างสบายๆ  
เรื่องต้องรู้ก่อนกู้ร่วมซื้อบ้าน

เรื่องต้องรู้ก่อนกู้ร่วมซื้อบ้าน

“กู้ร่วมซื้อบ้าน เป็นทางออกหนึ่งของผู้ที่กู้คนเดียวอาจผ่านยาก หรือต้องการวงเงินกู้บ้านที่สูงขึ้น” “อยากมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลังหนึ่ง” เชื่อว่าเป็นความฝันที่ทุกคนมีเหมือนๆ กัน ซึ่งปัจจุบันเราสามารถเป็นเจ้าของบ้านได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องรอเก็บเป็นเงินก้อนใหญ่ก็สามารถกู้เงินซื้อบ้านได้ โดยผู้ที่มีฐานรายได้สูงอาจทำเรื่องกู้บ้านเพียงคนเดียวก็ผ่าน แต่ผู้ที่มีรายได้ไม่สูงนัก หรือมีภาระค่าใช้จ่ายด้านอื่นมากทำให้มีความสามารถในการผ่อนชำระค่าบ้านลดลง หากยังต้องการซื้อบ้าน เพื่อให้สามารถกู้ผ่าน ก็จะต้องหาผู้กู้ร่วม ทั้งนี้ การกู้ร่วมนั้นมีประเด็นสำคัญๆ ที่ควรคำนึงถึง 3 เรื่องด้วยกัน ผู้กู้ร่วมซื้อบ้าน ... เป็นใครได้บ้าง แม้ว่าการกู้ร่วมจะเป็นทางออกที่ช่วยให้การกู้เงินซื้อบ้านง่ายขึ้น และได้วงเงินกู้เพิ่มขึ้น แต่ใช่ว่าจะเลือกใครมาเป็นผู้กู้ร่วมก็ได้ หรือกู้ร่วมกี่คนก็ได้ เนื่องจากธนาคารจะมีเงื่อนไขของการกู้ร่วมไว้ โดยทั่วไปกำหนดว่าผู้กู้ร่วม ต้องมีสายโลหิตเดียวกัน หรือมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ เช่น - ผู้ที่มีนามสกุลเดียวกัน อาจเป็นสามีภรรยา พี่น้อง พ่อ/แม่กับลูก รวมทั้งเป็นญาติกันโดยมีนามสกุลเดียวกัน - พี่น้องท้องเดียวกันแต่คนละนามสกุลก็สามารถกู้ร่วมกันได้ เพียงแต่แสดงทะเบียนบ้านหรือสูติบัตรระบุว่าพ่อแม่เดียวกัน - กรณีสมรสไม่จดทะเบียนก็แสดงหลักฐาน เช่น ภาพถ่ายงานแต่ง การ์ดแต่ง หรือการมีบุตรร่วมกัน แต่กรณีผู้ที่เป็นแฟนกันเฉยๆ โดยทั่วไปมักจะกู้ร่วมไม่ได้ นอกจากนี้ ธนาคารอาจกำหนดจำนวนผู้กู้ร่วมไว้ เช่น กู้ร่วมได้ไม่เกิน 2 คน เป็นต้น สำหรับการอนุมัติสินเชื่อบ้านของการกู้ร่วม จะพิจารณารายได้ของทุกคน หักภาระค่าใช้จ่ายของทุกคนแล้วดูว่ามีความสามารถที่จะผ่อนได้ต่อเดือนเท่าไรแล้วพิจารณาวงเงินสินเชื่อกู้บ้าน กรรมสิทธิ์ในอสังหาฯ ... เป็นของคนเดียว หรือ หลายคน แน่นอนว่ากรณีของการกู้เดี่ยว เมื่อผ่อนชำระสินเชื่อบ้านหมดแล้ว กรรมสิทธ์ในบ้านหลังนั้นจะเป็นของผู้กู้ สำหรับกรณีของการกู้ร่วมนั้น โดยทั่วไป การกู้ร่วมซื้อบ้านทำได้ 2 แบบ แบบแรกคือ การใส่ชื่อคนเดียวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่เวลากู้ยืมใช้หลายคนมากู้ร่วม และแบบที่สอง การกู้ร่วมโดยใส่ชื่อผู้กู้ร่วมทุกคนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ในทางปฏิบัติ ส่วนใหญ่แล้วผู้กู้จะเลือกแบบที่สอง เพราะผู้กู้ทุกคนมีกรรมสิทธิ์ในบ้านหรืออสังหาฯ นั้นร่วมกัน แต่การถือกรรมสิทธิ์ร่วม มีเรื่องที่ต้องคำนึงคือ หากต้องการขายบ้านหรืออสังหาฯ นั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับการยินยอมจากผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมทุกคน หรือแม้กระทั่ง ต้องการยกกรรมสิทธิ์ในบ้านหรืออสังหาฯ ให้เป็นของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่อยู่ในชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมนั้น กรมที่ดินจะถือว่า มีการซื้อขายบ้านหรืออสังหาฯ เกิดขึ้น ทำให้มีค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าธรรมเนียมการโอน ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย รวมถึงค่าอากรแสตมป์หรือภาษีธุรกิจเฉพาะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย สิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากดอกเบี้ยจ่าย ... ลดหย่อนอย่างไร ดอกเบี้ยจ่ายของเงินกู้บ้านสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงแต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีภาษี ดอกเบี้ยจ่ายของเงินกู้บ้านสามารถดูได้จากหนังสือรับรองดอกเบี้ยจ่ายที่สถาบันการเงินจะส่งมาให้ผู้กู้ตอนต้นปี กรณีของการกู้เดี่ยว การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยบ้านดังกล่าวจะเป็นของผู้กู้เพียงผู้เดียว จ่ายดอกเบี้ยทั้งปีเท่าไร ก็ลดหย่อนได้เท่านั้น แต่ไม่เกิน 100,000 บาท เช่น ดอกเบี้ยจ่ายทั้งปี 80,000 บาท ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 80,000 บาท แต่หากดอกเบี้ยจ่ายทั้งปีอยู่ที่ 120,000 บาท ก็ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เพียง 100,000 บาท สำหรับกรณีของการกู้ร่วม ให้หารเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้ กรณีกู้ร่วมสองคนก็คือหารครึ่งนั่นเอง สมมติจ่ายดอกเบี้ยทั้งปี 80,000 บาท สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 40,000 บาท จะแบ่งเองว่าฝ่ายหนึ่งมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ ทั้งนี้ มีข้อควรทราบเกี่ยวกับการใช้สิทธิลดหย่อนดอกเบี้ยสำหรับการกู้ร่วมคือ สมมติว่ากู้ร่วมกันสองคน ปรากฏว่าทั้งปีจ่ายดอกเบี้ยไป 140,000 บาท ไม่ใช่ว่า จะสามารถหารครึ่งแล้วใช้สิทธิลดหย่อนภาษีคนละ 70,000 บาท เนื่องจากสัญญาเงินกู้บ้านนั้นจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เพียง 100,000 บาท นั่นคือ จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุดคนละ 50,000 บาท อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้จะสังเกตได้ว่าแต่ละฝ่ายยังใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยไม่เต็มสิทธิ 100,000 บาท ดังนั้น หากมีดอกเบี้ยเงินกู้อสังหาฯ อื่น เช่น อาจกู้ไว้เองหรือกู้ร่วมกับคนอื่น ก็ยังสามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนได้เพิ่มเติมสูงสุด 50,000 บาท กรณีที่ต้องการซื้อบ้านหรือที่อยู่อาศัย แต่กู้คนเดียวไม่ผ่านหรือรายได้ไม่พอ การกู้ร่วมเป็นทางออกหนึ่งของปัญหาที่นิยมเลือกใช้ ทั้งนี้ ก่อนจะกู้ซื้อบ้าน ต้องคำนวณความสามารถในการผ่อนชำระ ซึ่งตามเกณฑ์คือยอดผ่อนชำระไม่เกิน 40% ของรายได้ และควรมีเงินก้อนเผื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย เช่น ค่าธรรมเนียมการจดจำนอง 1% ของวงเงินกู้ ค่าธรรมเนียมการโอน คิดที่ 2% ของราคาประเมิน (ขึ้นอยู่กับว่าผู้ซื้อ หรือผู้ขายจะเป็นผู้ออก หรือแบ่งครึ่งกัน) รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นค่าส่วนกลางกรณีซื้อบ้านในโครงการหมู่บ้านจัดสรร หรือค่าเฟอร์นิเจอร์ ค่าตกแต่งบ้านต่างๆ จะต้องวางแผนการเงินให้รอบคอบ เพื่อชีวิตจะได้มีความสุข