Tag : ต่างชาติลงทุนในไทย

2 ผลลัพธ์
EEC มีดีอะไร ทำไมถึงแห่ลงทุนกันนัก

EEC มีดีอะไร ทำไมถึงแห่ลงทุนกันนัก

ตั้งแต่มีประกาศนโยบาย EEC เกิดขึ้น ทุกคนคงจะได้ยินข่าวคราวเรื่องนี้กันมาตลอด เพราะหลายภาคส่วนต่างก็หวังไว้ว่าโครงการนี้จะเป็นกลไลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมารุ่งโรจน์ได้ ซึ่งทุกวันนี้ก็มีความคืบหน้าเกิดขึ้นมากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎหมายหรือโครงการต่างๆ ที่พยายามเร่งกันอย่างเต็มกำลัง เพื่อเป็นแรงจูงใจดึงดูดการเข้ามาลงทุน ครั้งนี้เรามาดูกันว่าโครงการ EEC คืบหน้าไปถึงไหนกันแล้ว แล้วทำไมถึงได้มีเหล่านักลงทุ่มทุนสร้างกันหลายโครงการ   อย่างที่เคยอธิบายกันไปแล้วเกี่ยวกับ EEC ในบทความ "ทำความรู้จักกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)" ทุกวันนี้เราจะเห็นว่าเหล่านักลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศต่างก็ให้ความสำคัญอย่างมากต่อโครงการนี้ ดังจะเห็นได้จากโครงการต่างๆ ที่เริ่มมีการกางแผนออกมาบ้างแล้วภายในเขตพื้นที่ของ EEC ทั้งในส่วนของภาคอุตสาหกรรม และภาคส่วนอสังหาริมทรัพย์เอง เราก็เริ่มได้เห็นหลายๆ โครงการเกิดขึ้นพร้อมความหวังในการสร้างรายได้ให้เติบโตตามไปด้วยกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกนี้ โดยโครงการในภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มมีการเข้าซื้อที่ดินแล้วเรียบร้อยแล้ว เช่น บริษัท จินป่าว พรีซิชั่น อินดัสทรี่ จำกัด เป็นบริษัทอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมสัญชาติไต้หวันที่มาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยตั้งแต่ปี 1998 มีการซื้อที่ดินขนาด 54 ไร่ ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 2 จ.ชลบุรี เพื่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน,นักธุรกิจรัสเซียหลายรายสนใจเข้ามาดูทิศทางการลงทุนในเขตอีอีซี เช่น พลังงานนิวเคลียร์ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ การบริหารท่าเรือ สนามบิน เทคโนโลยีสร้างสรรค์ ยานยนต์เพื่อการก่อสร้าง เทคโนโลยีชีวิภาพ เทคโนโลยีสื่อสาร ฯลฯ โดยจะเข้ามาเยี่ยมชมด้วยตนเองเร็วๆ นี้   ส่วนในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีการเปิดตัวลงแแข่งขันกันในสนามนี้ แม้ว่าราคาที่ดินจะพุ่งสูงขึ้นถึง 50% ก็ตาม เช่น  เอสซี แอสเสท ปีนี้เตรียมพัฒนาโครงการใน จ.ฉะเชิงเทรา, เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ มีการเจรจาซื้อที่ดินเพิ่ม แต่ก็มีแผนจะพัฒนาโครงการในที่ดินที่มีอยู่แล้วใน จ.ระยอง กับจ.ชลบุรี, ออริจิ้น หลังจากมีโครงการคอนโดมิเนียมกับมิกซ์ยูสที่ศรีราชาไปแล้ว ก็เตรียมจะพัฒนามิกซ์ยูสที่จ.ระยอง 2 ทำเล, พฤกษา ปีนี้มีแผนเปิดตัวโครงการแนวราบถึง 8 โครงการ แบ่งเป็นจ.ชลบุรี 3 โครงการ จ.ระยอง 3 โครงการ และจ.ฉะเชิงเทรา 2 โครงการ, แสนสิริ มีแผนพัฒนาโครงการในพัทยา เป็นต้น   จะเห็นได้ว่ายิ่งโครงการนี้เป็นรูปธรรมขึ้นมากเท่าไรก็ยิ่งได้รับความสนในการลงทุนมากขึ้นเท่านั้น ตั้งแต่รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการอีอีซี มาจนถึงปัจจุบันที่มีการร่างพรบ. กันเสร็จเรียบร้อยแล้วทุกมาตรา สภานิติบัญญัติแห่งชาติก็มีมติเป็นเอกฉันท์ที่จะให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยมีมาตรการสำคัญที่ส่งเสริมชวนให้นักลงทุนหลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสายซึ่งบางอย่างมีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งพื้นที่ทั้งหมด 3 จังหวัดจะถูกแบ่งประมาณ 10 โซน แต่ละโซนก็จะได้รับสิทธิพิเศษที่แตกต่างกันไป แต่ละ เช่น ขยายพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่จากเดิม 12,000 ไร่ เพิ่มอีก 26,366 ไร่ ซึ่งรวมทั้งหมด, เขตเมืองการบินภาคตะวันออกจะได้รับการยกเว้นภาษี 8 ปี และลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 5 ปี, เขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย เขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ได้ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 5 ปี, สิทธิการทำงานของแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ 3 จังหวัดโดยไม่ต้องขออนุญาตครอบคลุมไปถึงครอบครัวที่ติดตามมาอาศัยอยู่ด้วย, สิทธิคนต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน, สิทธิการซื้ออาคารชุดของต่างชาติได้แต่ละโครงการได้ 100% เต็ม เป็นต้น     สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้โครงการ EEC ประสบความสำเร็จได้นั่นคือโครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคม เพราะหากการคมนาคมขนส่งเป็นไปได้อย่างสะดวกสบายก็จะช่วยรองรับเรื่อง Logistics หนึ่งในหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรม โดยทางรัฐบาลได้มีการเดินหน้าเรื่องคมนาคมทั้งทางเรือที่จะมีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกหลัก คือ มาบตาพุดเฟส 3 โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โครงการท่าเรือสัตหีบ ส่วนทางอากาศ คือ สนามบินอู่ตะเภาที่ทางรัฐได้ตั้งเป้าหมายให้เป็นสนามบินหลักแห่งที่ 3 ต่อจากดอนเมืองกับสุวรรณภูมิ และทางบกระบบรางในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และต่อไปถึง จ.ระยอง โดยจะเชื่อมจากแนว Airport Rail Link ในปัจจุบัน ซึ่งล่าสุดโปรเจคยักษ์ใหญ่นี้กำลังจะไม่ได้หยุดอยู่แค่ใน 3 จังหวัดภาคตะวันออกอีกต่อไป แต่ล่าสุดได้มีนโยบายเร่งศึกษาแผนพัฒนาเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อหลากหลายเส้นทางทั่วประเทศ โดยเฉพาะรถไฟทางคู่เส้นทางแหลมฉบัง-มาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด, โครงการรถไฟศรีราชา-ระยอง รวมถึงการเชื่อมต่อโซนอีอีซีไปจนถึงทวาย-กัมพูชา ซึ่งหากโครงการรถไฟนี้เสร็จสมบูรณ์ก็จะยิ่งส่งให้ EEC มีความสมบรูณ์มากขึ้น เพราะหากการคมนาคมขนส่งเป็นไปได้อย่างสะดวกสบายก็จะเป็นปัจจัยสำคัญทั้งทางด้านธุรกิจต่างๆ และการท่องเที่ยวที่จะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้หลากหลายกลุ่มมากขึ้น ประชาชนในพื้นที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น สุดท้ายสิ่งเหล่านี้จะทำให้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่น่าอยู่ระดับภูมิภาคเอเชียอย่างที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้   ณ วันนี้เราสามารถพูดกันได้อย่างเต็มปากว่า EEC คือความหวังใหม่ในการพลิกฟื้นคืนชีพของเศรษฐกิจประเทศไทยให้กลับมาเป็นแหล่งลงทุนที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจกันอีกครั้ง แม้โครงการนี้จะยังคงไม่สมบูรณ์ 100% แต่เชื่อว่าหากเริ่มมีการประกาศพระราชชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอย่างเป็นทางการซึ่งคาดว่าจะประกาศภายในปีนี้ก็จะยิ่งทำให้มีเงินเม็ดเงินเข้ามาลงทุนมหาศาลตามที่คาดการณ์กันเอาไว้ถึงหลักแสนล้านบาท ส่งผลถึงการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เองที่ก็มีความเชื่อมั่นในโครงการนี้อยู่ไม่น้อย เพราะเมื่อมีอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้นก็จะมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น คนทำงานทั้งที่เป็นคนไทยและต่างชาติย่อมเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ความต้องการที่อยู่อาศัยก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว จากนี้ต้องคอยจับตามองตลาดนี้กันเอาไว้ให้ดีว่าจะมีอะไรน่าสนใจตามที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายค่ายโปรยเอาไว้บ้าง
ความนิยมของอสังหาฯ ไทยในชาวต่างชาติ

ความนิยมของอสังหาฯ ไทยในชาวต่างชาติ

ประเทศไทยขึ้นชื้อว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวติดอันดับท็อปของโลกต่อเนื่องมาหลายปี โดยในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยมากถึง 65 ล้านคน และคาดว่าในปี 2561 นี้จะเพิ่มขึ้นอีก 10% การเข้ามาของนักท่องเที่ยวนั้นส่งผลดีต่อเศรษฐกิจหลายด้าน ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกับชาวบ้านในพื้นที่เท่านั้น แต่ส่งผลไปถึงการเข้ามาลงทุนในบ้านเราเพิ่มมากขึ้นด้วย   หลายประเทศโดยเฉพาะในแทบเอเชียมีแนวโน้มเข้ามาลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยมากขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก(อีอีซี) ประกอบกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายรายนำโครงการคอนโดมิเนียมไปออกโรดโชว์ต่างประเทศจึงทำให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มชาวต่างชาติมากขึ้น เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และมากที่สุดคือประเทศจีน ซึ่งมีทั้งการเข้ามาลงทุนด้วยตัวเอง การซื้อกิจการอาคาร ที่ดิน โครงการต่างๆ และการร่วมทุนที่มีการเข้ามาช่วยบริหารจัดการด้วยตัวเอง เนื่องจากที่ผ่านมามีการลงทุนจากชาวจีนเป็นเม็ดเงินเฉลี่ยปีละ 4-5 หมื่นล้านบาท โดยลักษณะการลงทุนมีหลากหลายรูปแบบ เช่น   คอนโดมิเนียม เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะสามารถปล่อยขายกรรมสิทธิ์แก่ชาวต่างชาติได้ถึง 49%/โครงการ สามารถซื้อเป็นชื่อของชาวต่างชาติเองได้ โดยนิยมเลือกทำเลทั้งในกรุงเทพฯ และตามเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ สามารถเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะได้ง่ายเน้นแนวรถไฟฟ้าหรือใกล้สถานที่สำคัญ มีสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโครงการรวมถึงราคาที่เหมาะสมเป็นหลัก กำลังซื้อจะอยู่ที่ประมาณ 5-10 ล้านบาทขึ้นไป โดยบางโครงการก็มีการกว้านซื้อแบบเหมายกชั้นมาแล้ว อีกส่วนหนึ่งในภาคธุรกิจจะให้ความสนใจในการร่วมทุนสร้างคอนโดมิเนียม เช่น โครงการ Hyde Heritage ทองหล่อ จากบริษัท แกรนด์ สตาร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง Property Perfect กับ Grand Asset จากประเทศไทย และ Sumimoto Forestry จากประเทศญี่ปุ่น, โครงการ Life อโศก คอนโดมิเนียมที่มีการร่วมทุนระหว่าง AP (Thailand) กับ Mitsubishi Estate Group-MEC จากประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น   อาคารสำนักงาน ในบ้านเรานั้นติดอันดับที่ 2 ของอาคารสำนักงานระดับพรีเมียมที่มีค่าเช่าถูกที่สุดในโลก โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 1,020 บาท/ตร.ม./เดือน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอาคารสำนักงานที่แพงที่สุดในโลกอย่างฮ่องกงจะมีราคาเฉลี่ยที่ 9412 บาท/ตร.ม./เดือน รองลงมาเป็นนิวยอร์กมีราคาเฉลี่ย 5,653 บาท/ตร.ม./เดือน และลอนดอน 5,624 บาท/ตร.ม./เดือน แม้ว่าในประเทศไทยจะมีค่าเช่าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังถือว่าถูกกว่าฮ่องกงอยู่ถึง 9 เท่า เพราะมีซัพลายที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะอาคารสำนักงานเกรดเอย่านใจกลางเมืองที่มีเหลือให้เช่าเพียง 7.8% ซึ่งการลงทุนพัฒนาอาคารสำนักงานมักจะเป็นการร่วมทุนกันระหว่างบริษัทในประเทศไทยกับต่างชาติ   โครงการมิกซ์ยูส เป็นลักษณะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ผ่านมาจึงเป็นการร่วมทุนกัน เช่น โครงการมิกซ์ยูสในพัทยา โดยจงเทียน คอนสตรัคชั่น กรุ๊ป ร่วมทุนกับเจ.เอส.พี. พร็อพเพอร์ตี้, โครงการมิกซ์ยูสในพังงากับหัวหิน โดยจุนฟา เรียลเอสเตท ร่วมทุนกับชาญอิสระ ดีเวล็อปเมนท์ และล่าสุดกับการทุ่มทุนซื้อที่ดินเปล่าประมาณ 2,000 ไร่ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยครบวงจรแบบมิกซ์ยูสภายใน 5 ปี เป็นต้น   โรงแรม เดิมมีการลงทุนจากชาวจีนด้วยการซื้ออพาร์ตเมนต์ แต่ปัจจุบันลงทุนขนาดใหญ่ขึ้นโดยหันมาพัฒนาเป็นโรงแรมเอง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากประเทศเดียวกันที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยปีละเกือบ 10 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ เน้นตามเมืองท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม มีการเดินทางสะดวก เช่น ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น   โรงงานอุตสาหกรรม ส่วนมากจะเป็นการซื้อที่ดินแล้วพัฒนาเป็นโรงงานอุตสาหกรรม หรือซื้อต่อจากที่มีอยู่แล้วในเขตพื้นที่รอยต่อกับกรุงเทพฯ กับจังหวัดที่เป็นแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมอยู่แล้ว เช่น บริษัท ไฮดู เบสท์ กรุ๊ป จํากัด มีการ Take over โรงงานร้างในจังหวัดระยอง เพื่อนำมาพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย อีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้กลุ่มนักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในเมืองไทยเพิ่มมากขึ้นคือ พ.ร.บ.ทรัพย์อ้างสิทธิ ที่เพิ่งผ่านการอนุมัติจากครม. เมื่อไม่นานมานี้ โดยเป็นการกำหนดให้มีทรัพย์อิงสิทธิ ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่เกิดจากการทำสัญญาเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดินมีโฉนด และห้องชุด ระหว่างเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ เรียกว่า “ผู้ให้ทรัพย์อิงสิทธิ์” สามารถทำสัญญาให้อีกคนหนึ่งที่เรียกกันว่า “ผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิ์” ใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นได้ในระยะเวลาไม่เกิน 30 ปี ไม่ว่าจะเป็นการขายสิทธิ์ โอน จำนอง เช่า สามารถดัดแปลง ต่อเติม สร้างสิ่งปลุกสร้างได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้ให้ทรัพย์อิงสิทธิ์(ขึ้นอยู่กับสัญญา) และหาก “ผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิ์” เสียชีวิตก็สามารถตกทอดแก่ทายาทได้   ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ในอนาคตจะมีชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน-ญี่ปุ่น เข้ามาทำงาน อาศัยอยู่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศไทยยังสามารถเติบโตไปได้ดี แต่ทั้งนี้ก็ต้องมองดูที่ปัจจัยอื่นควบคู่กันไปด้วย เช่น เศรษฐกิจ การเมือง กฏหมายเรื่องการถือครองกรรมสิทธิ์ของชาวต่างชาติ และข้อกำหนดในการนำเงินออกนอกประเทศสำหรับประเทศจีนด้วย