Tag : นลินรัตน์ เจริญสุพงษ์

3 ผลลัพธ์
เน็กซัส แนะการพัฒนาโครงการคอนโดฯ ในกรุงเทพฯ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน

เน็กซัส แนะการพัฒนาโครงการคอนโดฯ ในกรุงเทพฯ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน

เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ ชี้ราคาที่ดิน ทำเล และการขยายตัวของเมือง เป็นปัจจัยหลักส่งให้ราคาคอนโดมิเนียมปรับตัวสูงขึ้น การเข้ามาซื้อคอนโดเพื่อลงทุนของชาวต่างชาติ ที่หวังผลการลงทุนระยะยาว อาจเป็นเพียงสีสันให้วงการอสังหาในช่วงระยะเวลา 1-2 ปีนี้ แนะ ผู้ประกอบการให้คำนึงถึงกลุ่มลูกค้าคนไทยที่ซื้อเพื่ออยู่จริง และควรศึกษาถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคก่อนพัฒนาสินค้า เพื่อให้ได้สินค้าที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการสูงสุด เพื่อการเติบโต อย่างมั่นคงและยั่งยืนของตลาดคอนโดมิเนียม   นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเน็กซัสฯ นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับตลาดคอนโดมิเนียม มาอย่างต่อเนื่อง เราพบว่าอัตราการเติบโตของอุปทานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10% ต่อปี โดยราคาจะปรับเพิ่มสูงขึ้น 8-12% ต่อปี ซึ่งราคาคอนโดมิเนียมที่สูงขึ้นเป็นเพราะปัจจัยหลัก คือ ราคาที่ดินที่สูงขึ้น ที่ดินหายากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นปัจจัยให้ผู้ประกอบการต้องพิจารณาในการพัฒนาสินค้า เพื่อตอบสนองกับการเติบโตของตลาดในระยะยาวแบบยั่งยืนอีกด้วย   สำหรับภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมไตรมาส 2 ของปี 2561 พบว่าอุปทานคอนโดมิเนียมในตลาดกรุงเทพฯ เติบโตขึ้น 9,395 หน่วย จาก 20 โครงการ ทำให้ในตลาดมีคอนโดมิเนียมรวม 573,000 หน่วย โดยทำเลที่มีคอนโดมิเนียมเปิดใหม่มากที่สุด คือ บริเวณจรัญสนิทวงศ์ และสะพานควาย ซึ่งเป็นเขตรอบใจกลางเมือง   ด้านราคา พบว่าภาพรวมตลาดราคาเฉลี่ยคอนโดมิเนียมปรับตัวสูงขึ้น 5% ในช่วงครึ่งปีแรก คือ 137,100 บาท/ตารางเมตร แต่เมื่อเจาะลงมาในกลุ่มตลาดใจกลางเมือง พบว่ายังคงเป็นตลาดที่ครองตำแหน่งการปรับตัวของราคาสูงที่สุด คือ 6% หรือ 223,000 บาท/ตารางเมตร ส่วนตลาดรอบใจกลางเมืองปรับตัวสูงขึ้น 4% หรือ 110,000 บาท/ตารางเมตร และตลาดรอบนอกราคาปรับตัวสูงขึ้นอีก 3% หรือ 75,000 บาท/ตารางเมตร ตามลำดับ   สำหรับความต้องการคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา พบว่าเป็นดีมานด์จากคนไทย ที่ซื้อเพื่อการอยู่อาศัยจริงมากกว่า 80% แต่ในระยะเวลาช่วง 1-2 ปีนี้ จะเห็นได้ว่าเริ่มมีกำลังซื้อจากชาวต่างชาติมากขึ้น โดยจะซื้อผ่านนายหน้าเป็นหลัก ซึ่งวัตถุประสงค์ในการซื้อก็เพื่อการลงทุน ทั้งในแบบระยะสั้น และระยะยาว เพื่อปล่อยเช่า เพราะคาดหวังในผลตอบแทนรายปีและจากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นที่ทราบกันดีว่าราคาค่าเช่า ไม่ได้เติบโตในอัตราส่วนเดียวกับราคาขายของคอนโดมิเนียม ดังนั้น ในระยะยาวนักลงทุนน่าจะหวังผลกำไรจากราคาขายต่อที่เพิ่มสูงขึ้นได้เป็นหลัก ส่วนจากราคาค่าเช่าอาจไม่ได้สูงมากนัก และหากจะคาดว่าต่างชาติจะเข้ามาถือครองคอนโดมิเนียมในสัดส่วน 49% อาจเห็นได้ในบางโครงการเท่านั้น และในที่สุดแล้ว ตลาดที่น่าจะต้องให้ความสนใจเป็นหลักก็ยังคงเป็นตลาดคนไทยนั่นเอง     ภาพรวมการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของตลาดคอนโดมิเนียมในช่วง 7 - 10 ปีที่ผ่านมานั้น พบว่าการเปลี่ยนแปลง ด้านแรก คือ 1) ด้านทำเลที่ตั้ง เพราะเมื่อเมืองขยายตัว ส่งผลให้การคมนาคมขนส่งที่ขยายตัวและเติบโตมากขึ้น การเติบโตของคอนโดมิเนียมก็ขยายบริเวณออกไปด้วย พบการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ คือ สัดส่วนอุปทาน ที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา คือ 2 ทำเลรอบนอก ได้แก่ ธนบุรี-เพชรเกษม ซึ่งจากเดิมในปี 2554 มีเพียง 13,000 ยูนิต แต่ปัจจุบันจากการสำรวจเมื่อไตรมาส 2/2561 พบว่าเพิ่มขึ้นเป็น 66,000 ยูนิต และอีกทำเลหนึ่ง คือ งามวงศ์วาน ติวานนท์ ที่จากเดิมในปี 2554 มีเพียง 17,000 ยูนิต กลับเพิ่มขึ้นเป็น 73,000 ยูนิต   2) การเปลี่ยนแปลงด้านขนาดของห้อง พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขนาดห้องของคอนโดมิเนียมเล็กลงเป็น อย่างมาก เช่น คอนโดมิเนียม 1 ห้องนอน เดิมมีขนาด 65 ตารางเมตร ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 28 ตารางเมตร เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนแล้ว ขนาดของห้องเล็กลงเกินกว่าครึ่งหนึ่งจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในขณะที่คอนโดมิเนียมขนาด2 ห้องนอน แต่เดิมมีขนาด 120 ตารางเมตร ในปัจจุบันเหลือเพียง 45 - 48 ตารางเมตร เป็นต้น   3) ในด้านรูปแบบของห้อง (Room Mix) พบว่าสัดส่วนของห้องชุดก็แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับหลายปีก่อน พบว่าในหนึ่งโครงการ ห้องชุดขนาด 2 และ 3 ห้องนอน จะมีสัดส่วนห้องมากที่สุดของทั้งโครงการ ในขณะที่ห้องชุดขนาด 1 ห้องนอน มีสัดส่วนเพียง 20 - 30% ของโครงการเท่านั้น แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าห้องชุดแบบ 1 ห้องนอน จะเป็นสัดส่วนหลักในการพัฒนาโครงการสำหรับคอนโดมิเนียมยุคนี้ เราแทบจะหาคอนโดมิเนียมขนาด 3 ห้องนอนในโครงการใหม่ๆ ไม่ได้เลย และด้วยขนาดห้องที่เล็กลง ส่งผลให้การพัฒนาคอนโดมิเนียมมีจำนวนห้องในแต่ละโครงการเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น ที่ดินขนาด 2 ไร่ จากสมัยก่อนที่เคยทำคอนโดมิเนียมตึกสูงได้จำนวน 300 ยูนิต ปัจจุบันก็เพิ่มเป็น 500 ยูนิต ในสัดส่วนพื้นที่ขายที่เท่ากัน ซึ่งนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อุปทานคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา   4) การเปลี่ยนแปลงด้านราคาต่อหน่วย สำหรับคอนโดมิเนียมในตลาดระดับกลาง (mid market) และตลาดซิตี้คอนโด มีระดับราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 1.5 ล้านบาท ถึง 3 ล้านบาทต่อยูนิต มีจำนวนหน่วยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 70% ของจำนวนห้องชุดทั้งหมดในตลาด ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพนั้น แต่ราคาต่อหน่วยถูกจำกัดด้วยความสามารถในการผ่อนชำระของผู้ซื้อมาโดยตลอด ทำให้ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาโครงการ เพื่อกำหนดขอบเขตของต้นทุนให้อยู่ในเงื่อนไขราคาต่อหน่วยที่กำหนด โดยในหลายปีที่ผ่านมา ด้วยราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ทำเลของโครงการถูกขยับออกไปไกลจากใจกลางเมืองมากขึ้น โดยเกาะขอบแนวรถไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต หรือเข้าไปอยู่ในซอยเล็กเป็นอาคาร 8 ชั้น เป็นต้น   ทั้งนี้ หากวิเคราะห์สัดส่วนรายได้จากกลุ่มคนทำงานในกรุงเทพฯ แล้ว จะพบว่ากลุ่มคนทำงานในระดับเจ้าหน้าที่มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 35,000 บาท สามารถซื้อคอนโดมิเนียมขนาด 1 ห้องนอน ในกลุ่มซิตี้คอนโดฯ ระดับราคาไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่มตลาดระดับกลาง (mid market) พนักงานในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสหรือหัวหน้างาน ผู้มีรายได้ไม่เกิน 65,000 บาทต่อเดือน จึงจะสามารถเริ่มซื้อได้ ในขณะที่คอนโดฯ ระดับไฮเอนด์ผู้ที่สามารถซื้อได้ จะต้องอยู่ในระดับผู้จัดการขึ้นไป หรือผู้ที่มีรายได้ 120,000 บาทต่อเดือน และในกลุ่มลักซัวรี่และซูเปอร์ลักซัวรี่จะต้องเป็นเจ้าของกิจการและผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น ด้วยราคาคอนโดมิเนียมที่ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 7-8% ต่อปี ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้คอนโดมีเนียมมีราคาเพิ่มสูงขึ้นมากกว่ารายได้ของประชากรกรุงเทพฯ บางส่วน ซึ่งแน่นอนความสามารถในการซื้อห้องในราคาที่เพิ่มสูงขึ้นบ้างก็มีโอกาสเป็นไปได้ แต่อาจจะได้ห้องขนาดเล็กลงในทำเลเดิม หรือซื้อห้องขนาดเท่าเดิมในทำเลที่ไกลออกไป   “สรุปแล้วการเติบโตที่ยั่งยืนของตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ก็ยังคงต้องพึ่งตลาดคนไทยเป็นหลัก โดยตลาดต่างชาตินั้นเข้ามาเสริม ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อการลงทุนระยะยาว จากราคาคอนโดมิเนียมที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยค่าเช่าน่าจะเป็นส่วนเสริมให้การลงทุน มีความน่าสนใจมากขึ้นเท่านั้น ในระยะกลางหรือระยะยาวคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ จะขยายตัวออกไปยังชานเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตคนที่ทำงานจากบ้านได้มากขึ้น และศูนย์กลางการทำงานอาจมีการขยายตัวไปยังบริเวณรอบใจกลางเมืองมากขึ้นเหมือนเช่น พระราม 9 บางซื่อ พหลโยธิน รัชดาภิเษก เป็นต้น ทำให้เมืองขยายออกไป และตลาดคอนโดมิเนียมรอบนอกเมือง ก็ยังคงขยายตัวต่อเนื่องในขณะที่ตลาดคอนโดมิเนียมใจกลางเมือง การเติบโตของตลาดคอนโดมิเนียมมือสองจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยราคาที่ต่ำกว่าราคาคอนโดมิเนียมใหม่ ขนาดห้องที่ใหญ่กว่า ตอบรับกับการอยู่อาศัยได้จริง ซึ่งเราอาจจะไม่เห็นในกลางเมืองกรุงเทพฯ ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า แต่ในระยะยาวลักษณะแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นในตลาดกรุงเทพฯ เหมือนเมืองใหญ่ๆ ทั่วไปในโลก เช่น นิวยอร์ค หรือ โตเกียว เป็นต้น” นางนลินรัตน์ กล่าวสรุป      
พหลฯ-ประดิพัทธ์ ทำเลใหม่ในย่านสุดคลาสสิค

พหลฯ-ประดิพัทธ์ ทำเลใหม่ในย่านสุดคลาสสิค

เน็กซัส ชี้พหลฯ-ประดิพัทธ์เป็นตลาดคอนโดมิเนียมทำเลใหม่ในย่านสุดคลาสสิค สนนราคาขายถูกกว่าทำเลใกล้เคียงกันบนถนนพหลโยธิน ในระยะการเดินทางและสิ่งแวดล้อมเดียวกัน ทำเลศักยภาพที่มีแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คุ้มค่าทั้งในแง่ของการซื้อไว้เป็นทรัพย์สินและการลงทุนในอนาคต     นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ทำเลประดิพัทธ์เป็นทำเลใหม่ที่น่าจับตามอง ภาพรวมของย่านพหลฯ-ประดิพัทธ์ยังคงความคลาสสิค เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนเก่าแก่ โรงแรม เต็มไปด้วยร้านค้าและร้านอาหารชื่อดัง ซึ่งประกอบกิจการในอาคารพาณิชย์ 3-4 ชั้น เป็นช่วง ๆ ตลอดแนวถนนประดิพัทธ์ การเจริญเติบโตของเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้ศักยภาพในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของย่านนี้เพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันราคาที่ดินในตลาดตลอดแนวถนนเสนอขายที่ราคาตารางวาละ 600,000 – 800,000 บาท โดยบริเวณข้างเคียง ได้แก่ บริเวณซอยย่อยในทำเลอารีย์ บริเวณถนนพหลโยธินตั้งแต่ช่วงจตุจักรไปจนถึงสถานีบีทีเอสสะพานควาย และช่วงสถานีบีทีเอสสะพานควายไปตลอดจนถึงอนุสาวรีย์ฯ เสนอขายที่ดินที่ราคาตารางวาละ 600,000 – 800,000 บาท 900,000 – 1,000,000 บาท และ 1,200,000 – 1,500,000 บาท ตามลำดับ     ราคาคอนโดมิเนียมเฉลี่ยในทำเลพหลฯ-ประดิพัทธ์ปัจจุบันเสนอขายที่ราคาตารางเมตรละ 170,000 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาเฉลี่ยที่ต่ำกว่าราคาคอนโดมิเนียมบนถนนเส้นหลักพหลโยธินตั้งแต่ช่วงสถานีบีทีเอสสะพานควายไปจนถึงอนุสาวรีย์ที่เสนอขายในราคา 218,000 บาท/ตารางเมตร โดยทั้งสองทำเลมีสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกัน ทั้งในแง่ของขนาดถนน การคมนาคม และสาธารณูปโภค   สำหรับคอนโดมิเนียมในบริเวณข้างเคียง ได้แก่ บริเวณซอยย่อยในทำเลอารีย์ และบนถนนพหลโยธินในทำเลจตุจักร มีระดับราคาเฉลี่ยต่อตารางเมตรอยู่ที่ 154,000 บาท และ 166,000 บาท ตามลำดับ แม้ว่าทำเลดังกล่าวจะอยู่ห่างจากทำเลพหลฯ-ประดิพัทธ์ในระยะที่ไม่แตกต่างกัน แต่ระดับราคาคอนโดมิเนียมเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่ำกว่า ซึ่งสอดคล้องกับปัจจัยทางด้านกายภาพของบริเวณซอยย่อยในทำเลอารีย์ ที่ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็ก ขนาดอาคารที่อยู่อาศัยไม่เกิน 8 ชั้น และที่ตั้งโครงการคอนโดมิเนียมทำเลจตุจักรมีระยะการเข้าถึงกรุงเทพฯ ชั้นในมากกว่า เมื่อเทียบกับทำเลอื่นข้างต้น     ทำเลใกล้กัน ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน   ทำเลพหลฯ-ประดิพัทธ์ สามารถเข้า-ออกได้หลายเส้นทาง และหลายรูปแบบ อยู่ในระยะเดินทางไปยังเส้นทางหลักถนนพหลโยธินและถนนพระรามที่ 6 โดยใช้เวลาประมาณ 5-10 นาทีด้วยรถยนต์ หรือในระยะเดินเท้า 10-15 นาที ใช้เส้นทางลัดไปยังทำเลอารีย์ได้จากซอยย่อยต่าง ๆ การเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุดทั้งสถานีสะพานควายและอารีย์ อยู่ในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกันกับทำเลที่ตั้งที่อยู่ระหว่างสถานีรถไฟฟ้าบนถนนพหลโยธิน นอกจากนี้การใช้บริการทางพิเศษทั้งการเดินทางเข้าสู่กรุงเทพชั้นใน กรุงเทพฝั่งเหนือหรือวงแหวนรอบนอก ก็สามารถใช้บริการได้ในระยะรัศมี 2 กิโลเมตร     พื้นที่โดยรอบทำเลมีสาธารณูปโภคอื่น ๆ ครบครัน มีห้างสรรพสินค้าและ คอมมูนิตี้ มอลล์กว่า 10 แห่ง สถานศึกษาขนาดใหญ่ 2 แห่ง โรงพยาบาล 6 แห่ง สถานที่ราชการ 7 แห่ง และอาคารสำนักงานอีกนับไม่ถ้วนทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ยังไม่นับรวมถึงร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านสะดวกซื้อที่กระจายตัวอยู่อีกจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับทำเลใกล้เคียง จะพบว่าสิ่งแวดล้อมโดยรอบแทบจะเป็นสิ่งแวดล้อมเดียวกัน   ทำเลที่มีแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง   เป็นระยะเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว ตั้งแต่มีโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียวเปิดให้บริการ ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าเส้นแรกของประเทศไทยเชื่อมพื้นที่กรุงเทพฝั่งเหนือ (จตุจักร) กรุงเทพชั้นใน และฝั่งตะวันออก (แบริ่ง) การปรับเปลี่ยนผังเมืองตามการเจริญเติบโตของเมือง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สีน้ำตาลและมีสีแดงเป็นบางช่วง นั่นทำให้พื้นที่โซนนี้มีศักยภาพในการพัฒนาในอัตราส่วนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับขนาดที่ดิน สามารถพัฒนาได้ทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและแนวสูง รวมไปถึงเพื่อการพาณิชย์ โรงแรมและสำนักงาน เป็นต้น     ปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะเปิดใช้บริการในปี 2563 ได้แก่ ส่วนคมนาคม คือรถไฟฟ้าสายสีแดง ตลอดแนวถนนกำแพงเพชร 5 โดยสถานีที่ใกล้กับทำเลนี้ที่สุดคือ สถานีประดิพัทธ์ ซึ่งจะทำให้การเดินทางสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และส่วนที่เป็นอาคาร 2 โครงการ คือ เดอะไรส์ บาย ศรีศุภราช เป็นโครงการมิกซ์ ยูสของกลุ่มศรีศุภราชกรุ๊ป รวมค้าปลีก ช็อปปิ้งมอลล์และโรงแรมระดับ 4 ดาว โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลวิมุตติ ของบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นโรงพยาบาลและศูนย์สุขภาพ บนพื้นที่รวม 7 ไร่เศษ นอกจากนี้ยังมีโครงการขนาดใหญ่อื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งมีแผนจะเปิดให้บริการภายใน 5-15 ปีนี้ ได้แก่ เดอะ ยูนิคอร์น โครงการมิกซ์ ยูส ของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มีแนวคิดจะสร้างให้เป็นศูนย์กีฬา รวมร้านค้าปลีกและพื้นที่สำนักงานไว้ด้วยกัน และโครงการ บางกอก เทอร์มินอล อยู่ระหว่างการพัฒนาที่ดินให้เป็นมิกซ์ ยูส มีพื้นที่สำนักงาน โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ ที่จอดรถ และพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นสถานีขนส่ง สุดท้ายคือโครงการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ บนพื้นที่กว่า 218 ไร่ ตามแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ตามโครงข่ายสถานีขนส่งมวลชนแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร ที่เป็นแหล่งศูนย์รวมคมนาคมทางรางระดับอาเซียน  
7 ประเด็นร้อนตลาดอสังหาริมทรัพย์ กรุงเทพฯ

7 ประเด็นร้อนตลาดอสังหาริมทรัพย์ กรุงเทพฯ

  เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง ชี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ ปรับตัวรับการลงทุนของกลุ่ม    ทุนต่างชาติ ผู้ประกอบการรายกลางและรายใหม่ตบเท้าเข้าตลาดเพิ่ม ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่มองหาการลงทุนในตลาดเช่าเพื่อบริหารต้นทุนและรับรู้รายได้ในระยะยาว ส่วนครึ่งปีหลังตลาดคอนโดมิเนียม ระดับลักซูรี่กลางเมืองยังเติบโตต่อเนื่อง   นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี2561 ตลาดอสังหาริมทรัพย์กรุงเทพฯ ยังคงคึกคักต่อเนื่อง และมีประเด็นสำคัญในตลาดที่น่าจับตามองอยู่หลายประเด็น ทั้งในแง่ของการลงทุน ราคาที่ดิน แนวโน้มช่วงครึ่งปีหลัง และปีหน้า     ประเด็นที่ 1 : ในช่วงไตรมาสแรกปี 2561 มีโครงการ คอนโดมิเนียม เกิดใหม่ โดยผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ และรายย่อยจำนวน 14,094 หน่วย จาก 31 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับที่ประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้มีจำนวนห้องชุดทั้งหมดในตลาด อยู่ที่ 564,000 หน่วย และจากการที่ที่ดินในใจกลางเมืองมีราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้พัฒนาไม่สามารถหาที่ดินพัฒนาโครงการได้เหมาะสม สัดส่วนห้องชุดที่เกิดใหม่จึงเกิดขึ้นบริเวณ โซนสุขุมวิทตอนปลาย (29%) โซนพญาไท-รัชดาภิเษก-พระราม 9 (23%) โซนตากสิน เพชรเกษม (17%) เป็นหลัก สำหรับในครึ่งปีหลังนี้น่าจะเห็นโครงการใหม่เกิดขึ้นบริเวณแจ้งวัฒนะ และ รามอินทรามากขึ้น จากแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น  อย่างไรก็ตาม  สิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า ราคาคอนโดมิเนียมในกลุ่มซูเปอร์ลักซูรี่กลางเมืองที่เปิดตัวราคาตารางเมตรละ 400,000 บาท จะมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ จากราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น  ในขณะที่ตลาดซิตี้คอนโดจะขยายตัวออกไปในส่วนต่อขยายรถไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้ราคาไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก   ประเด็นที่ 2 : หลายปีที่ผ่านมา ผู้พัฒนาหลักในตลาดคอนโดมิเนียมจะเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 70% ของตลาด แต่สำหรับในช่วงไตรมาสแรกนี้ ผู้พัฒนาโครงการ รายกลางและรายใหม่ เริ่มมีสัดส่วนมากขึ้น รวมทั้งผู้พัฒนาจากต่างชาติด้วย โดยมีผู้พัฒนาโครงการรายกลางและรายใหม่เปิดตัวโครงการประมาณ 38% ของจำนวนห้องชุดใหม่ในตลาด ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าตลาดยังน่าดึงดูดให้ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ผู้ประกอบการขนาดกลางหลายรายยังมี Roadmap ที่จะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายใน 1 - 2 ปีนี้อีกด้วย   ในขณะเดียวกันแผนธุรกิจและการพัฒนาโครงการสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ กลับมาให้ความสำคัญกับตลาดที่มีความยั่งยืนมากขึ้น เปลี่ยนแปลงสัดส่วนการลงทุน ระมัดระวังการซื้อที่ดินกลางเมืองบ้าง โดยเพิ่มพัฒนาตลาดบ้านแนวราบที่การเช่าที่ดินระยะยาว เพื่อพัฒนาโครงการที่มีรายได้ค่าเช่ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โรงแรมหรืออาคารสำนักงาน และเริ่มมองหาการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศมากขึ้นด้วย     ประเด็นที่ 3 : ทุนต่างชาติ ในช่วงไตรมาสแรกมีบริษัททุนขนาดใหญ่จากจีนที่เปิดตัวโครงการชัดเจนโดยมิได้อาศัยบริษัทไทยที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมทุนถึง 20% ของจำนวนห้องชุดที่เปิดในตลาดกรุงเทพฯ  และเป็นโครงการขนาดใหญ่ มูลค่ารวมมากกว่า 30,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในการลงทุนในประเทศไทย สำหรับต่างชาติที่เคยเข้ามาลงทุนก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ก็ยังคงมองหาโอกาสในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เริ่มเห็นคอนโดมิเนียมที่ตอบสนองความต้องการของคนญี่ปุ่นมากขึ้น ปีนี้ทุนญี่ปุ่นที่จะเข้ามาพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ต่อเนื่องอีกไม่ต่ำกว่า 4 - 5 โครงการ   ประเด็นที่ 4 : นักลงทุนรายย่อยต่างชาติ ยังคงให้ความสนใจเข้ามาลงทุนซื้อคอนโดมิเนียมอย่างต่อเนื่อง   และมีจำนวนมากขึ้น ปัจจัยหลักก็ยังคงมาจากราคาสินค้าที่ยังคงถูกกว่ามาก เมื่อเทียบกับตลาดในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนจากฮ่องกง และญี่ปุ่น ประกอบกับระยะการเดินทางก็ไม่ไกล การซื้อคอนโดมิเนียมไว้           ก็เสมือนเป็นบ้านหลังที่ 2 เพื่อพักผ่อนและปล่อยเช่า ก่อนหน้านี้เราจะเห็นเทรนด์นี้ เฉพาะในสินค้าประเภท ลักซูรี่ และซูเปอร์ลักซูรี่เท่านั้น แต่ตอนนี้ตลาดไฮเอนด์ และตลาดระดับกลางก็เริ่มมีนักลงทุนให้ความสนใจมากขึ้น นอกจากนี้นักลงทุนจากประเทศจีน ก็ยังต้องการย้ายเงินลงทุนมายังต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยงอีกด้วย  ประกอบกับผู้พัฒนาโครงการรายใหญ่ในประเทศเองก็ออกไปนำเสนอสินค้าในต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนี่อง มีการสร้างความเชื่อมั่นด้วยการไปเปิดสำนักงานย่อย เพื่อบริการลูกค้าอีกด้วย จึงทำให้ตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะในเอเชียเติบโตอย่างต่อเนื่อง   อีกส่วนที่น่าจับตามองคือ ในช่วงที่ผ่านมามีนักลงทุนเข้ามามองหาซื้อห้องชุดในโควต้าต่างชาติ 49% เพื่อไปเสนอให้นักลงทุนรายย่อยในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมองเห็นโอกาสในการทำกำไร ในขณะเดียวกันก็ยังเชื่อมันว่ามีผู้ซื้อรายย่อยในประเทศต่างๆ ยังคงมองหาคอนโดมิเนียมในเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดนี้ก็น่าจะยังคงเติบโตได้ต่อไป     ประเด็นที่ 5 : สำหรับนักลงทุนรายใหม่ที่มีเงินทุนจากธุรกิจครอบครัว รุ่นพ่อแม่เริ่มจับมือกันมาร่วมทุน   เพื่อพัฒนาโครงการที่พักอาศัยแนวใหม่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคอนโดมิเนียมหรือบ้านพักอาศัยระดับหรู โดยกลุ่มนี้      ก็เหมือน Startup ในธุรกิจอื่นๆ มีต้นทุนในการบริหารจัดการต่ำ มีความคล่องตัวสูง บางกลุ่มก็มีตลาดรองรับสินค้า  ที่พัฒนาอย่างชัดเจนซึ่งอยู่ในเครือข่ายของธุรกิจหลัก และไม่เฉพาะตลาดที่อยู่อาศัยเท่านั้น ยังรวมไปถึง โรงแรมแนวใหม่ อพาร์ทเมนท์ Co-working space หรือ Lifestyle retail ต่างๆ   ประเด็นที่ 6 : หลายๆ โครงการอสังหาริมทรัพย์ได้นำ Platform การใช้ชีวิต ที่ตอบสนองกับ Lifestyle คนไทยที่เปลียนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มาเพิ่มเป็นจุดขายในการพัฒนาโครงการ ไม่ว่าจะเป็นระบบสั่งการหรือการให้บริการผ่าน Mobile Application ต่างๆ Smart Robot หรือ Smart Locker เป็นต้น ซึ่งแน่นอนก็จะตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี โอกาสในตลาดสำหรับคนที่มีที่อยู่อาศัยแล้วที่จะมี Platform ที่สามารถตอบสนองความต้องการของที่อยู่อาศัยเดิม น่าจะเป็นสิ่งที่น่าจับตามองในระยะเวลาอันสั้นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งระบบ Smart Locker หรือระบบการบริการต่างๆ ที่เพิ่มความปลอดภัย การพักผ่อนหย่อนใจ และความสะดวกสบายใน การใช้ชีวิตมากขึ้น     ประเด็นที่ 7 : โอกาสทางการตลาดสำหรับตลาดที่อยู่อาศัยในครึ่งปีหลัง ยังคงเห็นความเติบโตในตลาดต่างชาติ ในขณะที่ราคาก็ยังคงปรับตัวสูงขึ้นจากต้นทุนที่สูงขึ้น คอนโดมิเนียม 7 - 8 ชั้นขนาดโครงการเล็กลง   จาก ผู้พัฒนารายใหม่ ยังคงเห็นต่อเนื่อง รวมถึงบ้านลักซูรี่ระดับราคาสูงก็ยังคงมีความต้องการต่อเนื่อง และยังมีผู้ให้ความสนใจ ทำเลการพัฒนาโครงการ ถ้าเป็นโครงการกลางเมืองจะขยับจากทองหล่อไปเอกมัยมากขึ้น สุขุมวิท   31 - 49 ก็เริ่มเข้าไปในซอยที่ลึกขึ้น   เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีต่างชาติเข้ามาซื้อและมาลงทุนมากขึ้น ดังนั้นสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมืองและการลงทุนรวมทั้งค่าเงินของประเทศเหล่านั้นก็จะมีผลกระทบต่อตลาดอสังหาประเทศไทยมากกว่าแต่ก่อน