Tag : น้ำรั่ว

2 ผลลัพธ์
สาเหตุและวิธีรับมือปัญหารั่วซึมจากพื้นห้องน้ำ

สาเหตุและวิธีรับมือปัญหารั่วซึมจากพื้นห้องน้ำ

เมื่อห้องน้ำเป็นอีกหนึ่งห้องสำคัญประจำบ้านที่ทุกคนต่างต้องใช้งานกันทุกวัน เราจึงควรให้ความสำคัญตั้งแต่เรื่องโครงสร้าง วัสดุอุปกรณ์ สุขภัณฑ์ รวมถึงระบบสุขาภิบาล เพื่อป้องกันปัญหาการรั่วซึมในอนาคตนะคะ เพราะถึงแม้จะมีการก่อสร้างและออกแบบห้องน้ำที่ถูกต้องตามหลักการแล้วแต่ปัญหาการรั่วซึมก็อาจเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งมักพบบ่อยในบ้านสองชั้นบริเวณห้องน้ำชั้นสอง โดยจุดสังเกตจะเริ่มจากคราบน้ำบนฝ้าเพดานที่อยู่ใต้ห้องน้ำชั้นบน จะมีลักษณะเป็นวงขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และหากเปิดฝ้าดูก็อาจจะพบคราบน้ำตามคาน, ท้องพื้น และรอยต่อท่อ เป็นเหตุทำให้หลายบ้านที่ประสบปัญหาดังกล่าวต่างไม่สบายใจ วันนี้เราจึงรวบรวมสาเหตุพร้อมกับวิธีรับมือปัญหารั่วซึมจากพื้นห้องน้ำมาฝาก เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขให้กับผู้อ่านค่ะ สาเหตุของปัญหาพื้นห้องน้ำรั่วที่มักพบบ่อย ปัญหาจากการก่อสร้าง ปัญหาส่วนใหญ่มักจะเกิดจากขั้นตอนการเจาะท่อ แล้วทำให้เกิดช่องว่างระหว่างท่อกับพื้นห้องน้ำ ช่างส่วนใหญ่จะนำเศษกระดาษมาอุดช่องว่างไว้ แล้วจึงใช้ปูนซีเมนต์เทอุดรอบๆ ท่อ จึงทำให้เกิดรั่วซึมบริเวณท่อได้ง่าย ความชำนาญและวิธีการก่อสร้างของช่าง ก่อนปูพื้นกระเบื้องห้องน้ำ ช่างต้องเทกันซึมให้ก่อนปูกระเบื้องค่ะ แต่บ้านบางหลังช่างก็ไม่ได้เทกันซึมให้ จึงเป็นสาเหตุทำให้พื้นห้องน้ำรั่วซึมได้ง่ายค่ะ การใช้งานของผู้อยู่อาศัย การใช้งานของผู้อยู่อาศัยก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญนะคะ เพราะการทำความสะอาดและการใช้ห้องน้ำบ่อยๆ อาจทำให้ปูนยาแนวหลุดร่อน น้ำจะซึมผ่านร่องยาแนวไปสะสมอยู่ใต้พื้นกระเบื้องและโครงสร้างพื้นคอนกรีต หากปล่อยทิ้งไว้นานเข้าจะก่อเกิดสนิมที่เหล็กเสริมโครงสร้าง จนทำให้คอนกรีตแตก หลุดร่อน และอาจทำให้เป็นสาเหตุให้น้ำรั่วซึมได้นั่นเองค่ะ วิธีรับมือการแก้ปัญหาพื้นห้องน้ำรั่วซึมอย่างอยู่หมัด แก้ไขที่ปูนยาแนว การแก้ไขที่ปูนยาแนว สามารถทำได้โดยลอกยาแนวที่เสื่อมสภาพออก แล้วจึงทำความสะอาดพื้น จากนั้นก็รอให้ความชื้นระเหยออกมา โดยวิธีตรวจสอบความชื้นนั้นสามารถใช้แผ่นพลาสติกปิดบริเวณร่องยาแนวและสังเกตว่ามีหยดน้ำเกาะหรือไม่ หากพบว่าไม่มีความชื้นแล้ว จึงใช้ปูนยาแนวที่มีคุณภาพอุดบริเวณร่องยาแนวกระเบื้องต่อไป วิธีนี้จะช่วยระงับปัญหาได้ประมาณ 1-2 ปี เลยค่ะ แก้ไขทั้งระบบเพื่อป้องกันปัญหาระยะยาว สำหรับการแก้ไขทั้งระบบเพื่อป้องกันปัญหาระยะยาวนั้น ขั้นตอนแรกควรสกัดรื้อกระเบื้องและปูนทรายปรับระดับออก แล้วจึงตรวจสอบก่อนจะซ่อมรอยแตกร้าวด้วยปูนซ่อมโครงสร้างโดยใช้ผลิตภัณฑ์สูตรซีเมนต์ ตามด้วยการปูกระเบื้องพื้น ซึ่งควรเลือกชนิดกระเบื้องที่มีค่าการดูดซึมน้ำต่ำเหมาะสำหรับการใช้งานในห้องน้ำ อีกทั้งควรติดตั้งโดยใช้ปูนทรายปรับระดับที่มีส่วนผสมของน้ำยากันซึมด้วยนะคะ และเมื่อซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงให้ช่างปิดฝ้าเพดานและเก็บงานทาสีให้เรียบร้อยก็ใช้งานต่อไปยาวๆ ได้อย่างสบายใจแล้วค่ะ ปัญหาท่อน้ำรั่ว ถ้าปัญหาห้องน้ำรั่วซึมของบ้านคุณเกิดจากปัญหาท่อน้ำรั่ว แนะนำให้ลองเปิดฝ้าเพื่อดูตำแหน่งท่อ จากนั้นจึงตรวจสอบดูว่าท่อรั่วหรือไม่ หากมีการรั่วซึมให้รื้อกระเบื้องโดยรอบออก จากนั้นก็ผสมปูนซีเมนต์กับน้ำรวมถึงน้ำยากันซึมก่อนจะเทรอบท่อ โดยเทให้สูงกว่าปากท่อที่ตัดออกและปล่อยทิ้งไว้จนแห้งจึงเอาเศษท่อที่ครอบไว้ออก ขั้นตอนสุดท้ายก็ติดตั้งชักโครก หรือปูกระเบื้องพื้นห้องน้ำให้สวยงามดังเดิม เพียงเท่านี้ก็สามารถแก้ปัญหาท่อน้ำรั่วได้อย่างตรงจุดแล้วค่ะ สาเหตุและวิธีรับมือปัญหารั่วซึมจากพื้นห้องน้ำที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาและวิธีแก้ไขที่มักพบเจอบ่อยนะคะ ดังนั้นหากบ้านไหนกำลังประสบปัญหานี้อยู่แนะนำให้ลองตรวจสอบให้ดีก่อนจะนำวิธีที่เราเอามาฝากไปแก้ไขดู ทั้งนี้ควรติดตั้งตำแหน่งสุขภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน ตามตำแหน่งที่เหมาะสม เลือกใช้วัสดุคุณภาพ และเลือกใช้บริการช่างที่มีความชำนาญ รวมถึงการใช้อุปกรณ์เสริมต่างๆ ที่ช่วยป้องกันปัญหาการรั่วซึม เพื่อไม่ให้ปัญหาเกิดซ้ำอีกนั่นเอง
เพดานคอนโดฯ เจอน้ำรั่ว…4 วิธีรับมือโดยด่วน

เพดานคอนโดฯ เจอน้ำรั่ว…4 วิธีรับมือโดยด่วน

เข้าสู่ช่วงฤดูฝนคราใด ปัญหากวนใจที่มักพบเจอกันบ่อยๆ ก็คงหนีไม่พ้นกับปัญหาน้ำรั่วจากเพดาน ที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยอลหม่านต้องหาอุปกรณ์มารองน้ำไม่ให้เปียกพื้นหรือข้าวของบริเวณนั้น อีกทั้งยังทิ้งคราบ รอยด่างของเชื้อราไม่สวยงามหลงเหลือไว้ให้ดูต่างหน้าด้วย ซึ่งปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบ้านเดี่ยวเท่านั้นนะคะ แต่ยังสามารถเกิดขึ้นภายในคอนโดมิเนียมได้อีกด้วย ส่วนสาเหตุหลักๆ นั้นมา จากการใช้ระบบกันซึมที่ไม่มีคุณภาพและไม่ได้มาตรฐานเพียงพอนั่นเอง สำหรับใครที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ไม่ต้องกังวลใจไปนะคะ เพราะวันนี้ทีมงาน Review Your Living ได้รวบรวมวิธีรับมือปัญหาน้ำรั่วจากเพดานมาฝากค่ะ บทความโดย Review Your Living 1. ตั้งสติและเคลื่อนย้ายสิ่งของ ทันทีที่มีน้ำรั่วหยดลงมาจากเพดาน ขั้นตอนแรกคือรีบหาอุปกรณ์มารองน้ำเพื่อไม่ให้พื้นเปียกกระจายไปทั่วห้อง จากนั้นให้สังเกตว่าบริเวณน้ำรั่วลงมามีอะไรเสียหายหรือไม่ ถ้ามีควรเคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์หรือสิ่งของออก เพื่อป้องกันความเสียหาย หากเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่อย่าง ตู้เสื้อผ้า โซฟา ให้ใช้ถุงพลาสติกหรือผ้าใบผืนใหญ่มาคลุมไว้ก่อน เพราะความชื้นเป็นสาเหตุของเชื้อราที่สามารถทำเฟอร์นิเจอร์โปรดในห้องของคุณพังได้   2. หมั่นสำรวจตรวจเช็คให้ดี ปัญหาฝ้าหรือเพดานรั่วซึมส่วนใหญ่นั้นมาจากการก่อสร้างที่อาจไม่ได้ปูวัสดุกันซึมก่อนปูกระเบื้อง ท่อน้ำภายในเกิดการชำรุด หรือแผ่นฝ้ายิปซั่มที่เลือกใช้นั้นไม่มีวัสดุเคลือบที่ทนต่อความชื้นทำให้เกิดการอมน้ำสูงจนบวมและรั่วออกมาในที่สุด ดังนั้นเราควรหมั่นสำรวจสิ่งผิดปกติอยู่บ่อยๆ เช่น เช็ครอยแตกของผนังว่ามีรอยร้าวหรือไม่ แต่หากพบปัญหาน้ำรั่วแล้วให้มองหารอยรั่วโดยสังเกตจากจุดเล็กๆ ก่อน จะได้รู้ตำแหน่งที่ชัดเจนเพื่อรีบทำการแก้ไขในขั้นตอนต่อไป   3. แจ้งนิติบุคคล กฎยังไงก็ต้องเป็นกฎค่ะ ถ้าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอย่าเพิ่งใจร้อนโทรเรียกช่างเข้ามาซ่อมเลยก็คงจะไม่ได้ เมื่อเราอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมไม่ว่าจะซ่อมหรือต่อเติมอะไรภายในห้อง กฎคือต้องแจ้งนิติบุคคลก่อน ดังนั้นแนะนำให้รีบแจ้งนิติบุคคลเพื่อขอความช่วยเหลือและให้ทราบถึงปัญหาที่เราพบเจอ ก่อนให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขต่อไป   4. ติดต่อช่าง ซ่อมแซมให้เรียบร้อย! การให้ช่างเข้ามาแก้ไขปัญหาที่ต้นตอหรือหาจุดกำเนิดรอยรั่วเพื่อทำการซ่อมแซมนั้นเป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้วค่ะ เพราะช่างที่ชำนาญจะสามารถแก้ไขปัญหาและอธิบายได้อย่างตรงจุด ดังนั้นหากเกิดปัญหาขึ้นไม่ควรปล่อยผ่านนิ่งนอนใจไปนะคะ เพราะถ้าปล่อยปัญหาไว้นานเข้ารอยรั่วเล็กๆ อาจก่อเกิดกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค เชื้อราได้ด้วย อย่ารอช้า! รีบติดต่อนิติบุคคลเพื่อประสานช่างเข้ามาช่วยดูแลก่อนดีกว่าค่ะ ปัญหาน้ำรั่วจากเพดานในช่วงหน้าฝนแบบนี้คงทำให้หลายคนกังวลใจไม่ใช่น้อยใช่ไหมคะ ดังนั้นรีบตรวจสอบรอยแตกร้าวหรือจุดรั่วตั้งแต่เนิ่นๆ ก็เป็นอีกเรื่องที่ทีมงาน Review Your Living สนับสนุนให้ทำนะคะ เพราะถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมก็ต้องใช้เงินประมาณหนึ่ง ฉะนั้นป้องกันไว้ก่อนก็ปลอดภัยและสบายใจกว่าจริงไหมคะ?