Tag : บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง

6 ผลลัพธ์
เน็กซัสเผย 7 ประเด็นอสังหาฯ Q1 + แนวโน้มธุรกิจหลังการเลือกตั้ง

เน็กซัสเผย 7 ประเด็นอสังหาฯ Q1 + แนวโน้มธุรกิจหลังการเลือกตั้ง

แม้ตอนนี้ประเทศไทยยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมาบริหารประเทศ แต่ก็ถือว่าการเมืองไทยมีความชัดเจนขึ้นระดับหนึ่ง เพราะได้จัดให้มีการเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประเด็นเรื่องการเมือง ต้องยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของคนไทยทั้งประเทศ  เพราะการเมืองมีความเชื่อมโยงไปในทุกเรื่อง ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ การเมืองไทยก็ส่งผลทั้งกลุ่มผู้ประกอบการ ที่จะพัฒนาโครงการออกมาขาย และผู้บริโภคที่จะตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย   ขณะที่ช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ก็มีข่าวยังมีข่าวมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่1 เมษายน 2562 เป็นต้น ไป ก็ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญมีผลต่อภาพรวมของตลาดอสังหาฯ  บ้านเรา ว่าจะไปในทิศทางไหน จะดีหรือจะร้าย? โดยเฉพาะถ้าหากมีรัฐบาลชุดใหม่ออกมาแล้ว จะมีมาตรการอะไรออกมาช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโต โดยใช้ธุรกิจอสังหาฯ เป็นตัวกระตุ้นเหมือนในอดีตที่ผ่านมาหรือไม่ ก็ยังเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามองด้วยเช่นกัน   ล่าสุด นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด หรือ “เน็กซัส” ได้เปิดออกมาเผยผลวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์ไตรมาสแรกที่ผ่านมา พบว่า ยังคงเติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น พร้อมกับประเมินแนวโน้มของตลาดหลังจากที่ประเทศไทยได้จัดการเลือกตั้ง  ในช่วงที่ผ่านมา  โดยมี 7 ประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้น   1.คอนโดฯ เปิดใหม่ลด 20% ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ คอนโดมิเนียมเปิดใหม่เข้าสู่ตลาดมีจำนวนทั้งสิ้น 11,300 หน่วย จาก 30 โครงการ  เป็นปริมาณคอนโดฯ​ ที่เปิดตัวเข้าสู่ตลาดลดลงประมาณ 20%เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว แม้ว่าจะเปิดน้อยลง แต่ผู้ประกอบการก็ยังขายได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการขายก็ยังอยู่ในอัตรา 60%   2.โซนยอดฮิตเปิดตัวมากที่สุด ทำเลที่เปิดตัวคอนโดฯ มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.โซนพระโขนง สวนหลวง แบริ่ง  จำนวน ​2,400 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน 21% 2.โซนพญาไท รัชดาภิเษก จำนวน  1,938  ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน 17% 3.โซนลาดพร้าว วังทองหลาง จำนวน 1,580 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน 14%     3.ซิตี้คอนโดเปิดเยอะสุด ภาพรวมของการเปิดตัวในไตรมาสแรก จะพบว่าคอนโดมิเนียมที่เปิดตัวเป็นกลุ่มซิตี้คอนโดฯ  ที่มีราคาต่อตารางเมตรไม่เกิน 75,000 บาท และ ตลาดกลาง หรือ mid market ที่มีราคาต่อตารางเมตรไม่เกิน 100,000 บาทรวมกันมากถึง 75% ของจำนวนหน่วยที่เปิดใหม่ทั้งหมด หรือมีจำนวนประมาณ 8,500 ยูนิต แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของผู้ประกอบการ ในการพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงมากขึ้น   4.ดีเวลลอปเปอร์หน้าใหม่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น ช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ฝั่งผู้ประกอบการยังคงมีความเชื่อมั่นในตลาดอสังหาริมทรัพย์ เห็นได้จากจำนวนผู้ประกอบการหน้าใหม่ ซึ่งบางรายเป็นรายเล็กๆ เข้ามาพัฒนาโครงการเป็นครั้งแรก รวมถึงผู้ประกอบการที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ก็พัฒนาโครงการเพิ่มขึ้น จากปกติมีสัดส่วน 30% เพิ่มขึ้นเป็น 47%     5.ราคาคอนโดฯ ลดลง 1% การเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงไตรมาสแรก ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของคอนโดฯ​ ที่เน้นไปตลาดกลางมากขึ้น  ส่งผลให้คอนโดฯ​ ที่อยู่ในตลาดกรุงเทพฯ มีราคาเฉลี่ยปรับตัวลงเล็กน้อยประมาณ 1%อยู่ที่ 139,400 บาทต่อตารางเมตร เมื่อเทียบกับปลายปีที่แล้วอยู่ที่ 140,600 บาทต่อตารางเมตร  ซึ่งราคาเฉลี่ยของคอนโดฯ ในทุกๆ ทำเลได้มีการปรับตัวลงเล็กน้อยเช่นเดียวกัน  แต่ถือว่าไม่ได้ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อ ภาพรวมราคาของตลาด  เพราะคอนโดฯ ที่เปิดใหม่อยู่ในทำเลที่ไกลออกไปเท่านั้น   6.การเมืองไม่กระทบตลาดคอนโดฯ แม้ว่าตอนนี้ยังจะไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ออกมาบริหารประเทศ แต่ปัญหาการเมืองก็ไม่ได้ส่งผลต่อตลาดคอนโดฯ​โดยเฉพาะในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของราคา  สิ่งที่จะมีผลต่อตลาดคอนโดฯ นั้น จะเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาลที่จะออกมากระตุ้นตลาดคอนโดฯ มากกว่า  โดยเฉพาะตลาดคอนโดฯ​ มือสอง  ยิ่งถ้ามีมาตรการประเภทลดภาษี หรือค่าธรรมเนียมต่างๆ จะทำให้เกิดดีมานด์เพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งถ้ามีมาตรการต่างๆ ออกมากระตุ้นตลาดจริง ตลาดคอนโดฯ น่าจะมีดีมานด์ไปถึง 60,000-70,000ยูนิต จากสถานการณ์ปกติที่คาดว่าจะมีดีมานด์มาซื้อคอนโดฯ ประมาณ 50,000 ยูนิต   7.ต่างชาติเชื่อมั่นอสังหาฯ หลังไทยมีเลือกตั้ง หลังจากประเทศไทยจัดให้มีการเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ถือเป็นสัญญาณบวกที่ดี ต่อกลุ่มนักลงทุนต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นต่อตลาดอสังหาฯ ในไทยมากขึ้น  ต่อไปนี้คงมีเข้ามาลงทุนมากขึ้นเช่นกัน แต่แนวโน้มการลงทุนของกลุ่มนักลงทุนต่งชาติ  น่าจะเป็นตลาดในกลุ่มราคาที่จับต้องได้มากขึ้น  ไม่จำกัดเฉพาะตลาดไฮเอนด์เท่านั้น   “ทิศทางธุรกิจอสังหาฯ หลังการเลือกตั้ง  การพัฒนาสินค้าใหม่เทรนด์ยังคงเป็นตลาดกลุ่มซิตี้คอนโด และตลาดกลางมากขึ้น แต่ยังคงเห็นคอนโดฯ  ในตลาดไฮเอนด์และลักซูรี่ที่น่าสนใจ เกิดขึ้นอีกหลายโครงการ จากผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ที่ได้ซื้อที่ดินไปแล้วตั้งแต่ช่วงปีที่แล้วสินค้าในกลุ่มนี้คงน่าสนใจในแง่การพัฒนาความหรูหราแนวใหม่ที่ตอบรับกับไลฟ์สไตล์ลักซูรี่ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยจะมุ่งเน้นประสบการณ์และเทคโนโลยีมากขึ้น  ปีนี้ประเมินว่าราคาเฉลี่ยคอนโดฯ  ในตลาดปรับตัวสูงขึ้นไม่น่าจะเกิน 5-6% จากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ มาตรการ LTV ตลาดหลักที่มีความต้องการแท้จริงเป็นกลุ่มตลาดซิตี้คอนโดฯ”      
เน็กซัสสรุปภาพรวมตลาดอสังหากรุงเทพปี 61 ตลาดคอนโดเริ่มมีการปรับตัวเพื่อตอบสนองเรียลดีมานด์ ในขณะที่ตลาดเช่าเพื่อการพาณิชย์ค่าเช่าทำสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์

เน็กซัสสรุปภาพรวมตลาดอสังหากรุงเทพปี 61 ตลาดคอนโดเริ่มมีการปรับตัวเพื่อตอบสนองเรียลดีมานด์ ในขณะที่ตลาดเช่าเพื่อการพาณิชย์ค่าเช่าทำสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์

เน็กซัสสรุปปีนี้ราคาเฉลี่ยคอนโดในกรุงเทพเพิ่มขึ้น 7.6% ในขณะที่ราคาคอนโดใจกลางเมืองเพิ่มถึง 10% คาดในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ผู้ประกอบการควรเน้นการพัฒนาเพื่อเรียลดีมานด์ ส่วนราคาค่าเช่าสำนักงานเกรดเอในย่านศูนย์กลางธุรกิจเฉลี่ยทะลุ 1,000 บาท/ตารางเมตร/เดือน ในขณะที่ราคาค่าเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าเฉลี่ยสูงถึง 3,900 บาท/ตารางเมตร/เดือน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก ในปีหน้าตลาดอาคารสำนักงานให้เช่าและตลาดศูนย์การค้ามีการแข่งขันสูงขึ้นแน่นอน ถือว่าเป็นแนวโน้มที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง   ตลาดคอนโดมิเนียม นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (Mrs. Nalinrat Chareonsuphong, Managing Director of Nexus Property Marketing Company Limited)  เผยว่า ปี 2561 ยังคงเป็นปีที่มีอุปทานของคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นในตลาดในจำนวนที่ค่อนข้างสูง จากทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อย โดยมีคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นใหม่ 60,900 หน่วย จาก 138 โครงการ ซึ่งทำให้คอนโดมิเนียมมีหน่วยสะสมทั้งสิ้น 610,900 หน่วย ทำเลที่นิยมในการพัฒนาโครงการอันดับหนึ่งยังคงเป็นพญาไท รัชดา และ พหลโยธิน (21,100 หน่วย, 35%) ตามมาด้วย พระโขนง สวนหลวง (13,500 หน่วย, 22%) และ ธนบุรี เพชรเกษม (8,500 หน่วย, 14%) ตามลำดับ และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาทั้ง 3 ทำเลนี้ก็มีอัตราการเพิ่มของอุปทานมากที่สุดโดยมากกว่า 65-70% เลยทีเดียว ซึ่งก็มีสาเหตุมาจากกระแสการอยู่อาศัยคอนโดใกล้รถไฟฟ้าที่มีมาอย่างต่อเนื่องนั่นเอง และในทำเลเหล่านี้ก็ยังคงหาที่ดินที่จะพัฒนาได้มากกว่าทำเลที่อยู่ในใจกลางเมือง   นอกจากนี้  หากจะวิเคราะห์ถึงอุปทานใหม่ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาจะพบว่า 41% ของจำนวนหน่วยทั้งหมดจะมาจากตลาดไฮเอนด์ ที่มีระดับราคาอยู่ที่ 110,000 -190,000 บาทต่อตารางเมตร ราคาต่อหน่วย 4-8 ล้านบาท ตามมาด้วยตลาดระดับกลาง (mid market) 27% และตลาดซิตี้คอนโด 21% ซึ่งสัดส่วนดังกล่าว อาจดูไม่สอดคล้องกับรายได้และฐานเงินเดือนของคนกรุงเทพมากนัก โดยจากปัจจัยที่ดินที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องหันมาพัฒนาสินค้าในระดับราคาที่สูงขึ้นนั่นเอง   ในปี 2561 ยอดขายคอนโดมิเนียมในตลาดกรุงเทพรวมทั้งสิ้นจำนวน 52,000 หน่วย โดยแบ่งเป็นห้องชุดที่เปิดใหม่ในปี 2561 จำนวน 31,800 หน่วย (คิดเป็นยอดขายเฉลี่ยของห้องชุดที่เปิดใหม่อยู่ที่ 52%) และห้องชุดที่เปิดขายก่อนปี 2561  มียอดขายเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20,300 หน่วย ทั้งนี้จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นทั้งคอนโดมิเนียมเปิดใหม่ในปีนี้และที่เปิดมาก่อนหน้านี้ทำให้อัตราขายรวมในตลาดอยู่ที่ 90% และยังคงมีห้องชุดเหลือขายในตลาดอยู่อีก 62,700 หน่วย   ในปี 2561 ราคาขายคอนโดมิเนียมเฉลี่ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้น 7.6% จาก 130,600 บาทต่อตารางเมตร เป็น 140,600 บาทต่อตารางเมตร โดยตลาดใจกลางเมืองปรับตัวเพิ่มสูงสุดอยู่ที่ 10% ไปอยู่ที่ 231,000 บาทต่อตารางเมตร ตลาดรอบใจกลางเมือง 7% ไปอยู่ในระดับราคา 113,200 บาทต่อตารางเมตร ในขณะที่ตลาดรอบนอกปรับราคาเพิ่มเฉลี่ยเพียง 1% เป็น 73,500 บาทต่อตารางเมตร เท่านั้น สำหรับแนวโน้มการปรับตัวขึ้นของราคาคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ เริ่มเห็นการปรับตัวขึ้นในอัตราที่ลดลงบ้าง ซึ่งก็น่าจะเกิดจากการที่ผู้ประกอบการเริ่มเห็นแนวโน้มราคาที่ปรับตัวสูงมากในตลาดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เช่นในปี 2561 ทำเลหลังสวนปทุมวัน ราคาปรับขึ้นเพียง 3% หรือในโซนธนบุรี เพชรเกษมเองซึ่งเป็นทำเลที่มีขอบเขตค่อนข้างกว้างมาก ราคาก็ปรับเพิ่มเพียง 1% แต่ไม่ได้หมายความว่าสินค้าคุณภาพดีขึ้นที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้นั้นราคาจะไม่มีโอกาสขยับตัวสูงขึ้นได้ ในตลาดคอนโดมิเนียมกรุงเทพฯ สำหรับการคาดการณ์แนวโน้มตลาดคอนโดมิเนียมในปี 2562 นั้น นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ เชื่อว่า ในส่วนของอุปทานใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 น่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกับตัวเลขเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาที่ประมาณ  53,000 หน่วย ในขณะที่ความต้องการยังคงอยู่ในช่วงระหว่าง 50,000-55,000 หน่วย จากตัวเลขประมาณการดังกล่าว อัตราการขายรวมและห้องเหลือในตลาดก็น่าจะอยู่ในปริมาณใกล้เคียงกับตัวเลขปีนี้ สำหรับรูปแบบของการพัฒนาสินค้าก็จะปรับให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายย่อยมากขึ้น เช่นคอนโดสำหรับคนรักการออกกำลังกาย สำหรับผู้สูงอายุ หรือ คนรักสัตว์ เป็นต้น นอกจากนี้ คอนโดมิเนียมเช่าสิทธิระยะยาวในทำเลที่ดีก็จะมีออกมาในตลาดเพิ่มขึ้น รวมถึงโครงการ mixed used ที่ผสมผสานคอนโดมิเนียมเข้ากับพื้นที่เชิงพาณิชย์ซึ่งน่าจะตอบโจทย์ ไลฟ์สไตล์คนรุนใหม่ที่ต้องการความสะดวกสบายก็จะเปิดตัวมากขึ้นเช่นกัน   นอกจากนี้ ในมุมมองของ เน็กซัส สัดส่วนของห้องชุดที่ผู้ประกอบการควรจะพัฒนา น่าจะเพิ่มสัดส่วนไปที่กลุ่มซิตี้คอนโด และตลาดระดับกลาง (mid market) ที่เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของกรุงเทพมากขึ้นเพื่อจะได้ตอบสนองกับความต้องการอยู่อาศัยจริง ซึ่งจะเป็นตลาดที่มีเสถียรภาพและยั่งยืนมากกว่าตลาดต่างชาติเพื่อการลงทุน แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ได้มองข้ามการลงทุนจากต่างชาติเลย สำหรับตลาดการลงทุนจากต่างชาติที่เป็นที่จับตามองในช่วงที่ผ่านมานั้น การลงทุนจากนักลงทุนรายใหญ่หรือนักลงทุนสถาบันจะยังคงเห็นได้อย่างต่อเนื่อง ในปี 2562 สัดส่วนจำนวนห้องชุดที่นักลงทุนจากจีน ญี่ปุ่น และบางส่วนจากฮ่องกงและสิงคโปร์ ที่เข้ามาลงทุนน่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 30% จาก 26% (15,820  หน่วย ใน 24 โครงการ ในปี 2561) นอกจากนี้ นักลงทุนรายย่อยจากประเทศจีนก็น่าจะยังคงเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยอย่างต่อเนื่องในทำเลที่ขยายออกไปจากทำเลเดิม ตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน ก็น่าจะยังรักษาระดับการลงทุนที่ไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา ในขณะที่ตลาด CLMV เป็นตลาดใหม่ที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก   หากจะวิเคราะห์ถึงการปรับตัวของราคาคอนโดมิเนียมในกรุงเทพในช่วง 1-3 ปีข้างหน้านั้น เน็กซัสมองว่าราคาจะปรับตัวสูงขึ้นในอัตราที่ลดลง ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นน่าจะไม่สามารถขึ้นได้ในอัตราที่มากเหมือนเมื่อหลายปีก่อน ดังนั้น ผู้ประกอบการเองก็น่าจะพัฒนาโครงการในราคาที่ไม่ต้องปรับตัวสูงขึ้นมากนัก ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าราคาคอนโดมิเนียมจะปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยอยู่ในระดับ 6-7% ต่อปี   นอกจากนี้ ในส่วนของทำเลการพัฒนาโครงการนั้น มีปัจจัยเรื่องภาพลวงตาของทำเลการอยู่อาศัย (Illusion of location) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาเลือกซื้อที่อยู่อาศัย พร้อมพงษ์ ทองหล่อ เอกมัย ยังคงเป็นทำเลยอดนิยมสำหรับผู้ประกอบการ ที่มองหาที่ดินเพื่อเข้ามาพัฒนาโครงการ แต่ในทำเลนี้ ราคาคอนโดมิเนียมที่ควรเป็น น่าจะเป็นราคาที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายจริงๆ  ในขณะที่ทำเลริมแม่น้ำเจ้าพระยาและฝั่งธนบุรี ที่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรถไฟฟ้าสายสีทองที่กำลังก่อสร้าง และก็เช่นเดียวกัน คอนโดมิเนียมที่เกิดขึ้นใหม่ราคาก็จะต้องสูงขึ้นมากอย่างแน่นอน จริงๆ แล้ว ทำเลอย่าง ติวานนท์ ที่ผู้ประกอบการหลายรายยังคงมีคำถามจากอุปทานที่ยังมีขายอยู่นั้น ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ราคาคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จแล้วในบริเวณนี้ก็จะน่าสนใจ เพราะเป็นคอนโดที่ราคาจับต้องได้มากที่สุดในตลาด สุดท้าย รัชดา พระราม 9 ทำเลทองของชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน ถ้าจะยังคงเป็นทำเลที่ครองใจลูกค้ากลุ่มนี้ได้ การตั้งราคาและการทำการตลาดจะต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมและมีบริการหลังการขายที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าต่างชาติกลุ่มนี้ได้จริง   จากนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนการให้กู้ยืมเงินเพื่อการซื้ออสังหาริมทรัพย์นั้น จะส่งผลต่อการพัฒนาสินค้าในตลาดที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือคอนโดมิเนียม โดยบ้านอาจจะมีการขายระหว่างก่อสร้างมากขึ้นเพื่อให้ผู้ซื้อได้ผ่อนชำระเงินดาวน์บางส่วนก่อน คอนโดมิเนียมก็อาจจะต้องเน้นขายช่วงพรีเซลมากขึ้น ที่มีระยะเวลาการผ่อนยาวขึ้น และท้ายที่สุด เศรษฐกิจและการเมืองที่กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงจากการเลือกตั้งก็น่าจะมีผลต่อทิศทางของตลาดเช่นกัน   ตลาดอาคารสำนักงานให้เช่า นายธีระวิทย์ ลิ้มทองสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทเน็กซัส เรียลเอสเตท แอ็ดไวเซอรี่ จำกัด (Mr. Teerawit Limthongsakul, Managing Director of Nexus Real Estate Advisory) กล่าวว่า ตลาดอาคารสำนักงานให้เช่า เกรด เอ และ เกรดบี ในกรุงเทพ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 4.1 ล้านตารางเมตร พบว่า ยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องของราคาค่าเช่าที่มีการปรับตัวสูงขึ้นและอัตราว่างของพื้นที่ที่อยู่ในระดับต่ำ จากข้อมูลในไตรมาส 4 ปีนี้ เห็นได้ว่าอุปทานของอาคารสำนักงานให้เช่าในกรุงเทพ ลดลงเล็กน้อย เนื่องมาจากมีบางอาคารอยู่ระหว่างการปิดปรับปรุงให้มีความทันสมัย ปลอดภัย สะอาด และสะดวกสบายมากขึ้น เพื่อดึงดูดผู้เช่าในตลาด สำหรับตลาดพื้นที่อาคารสำนักงานให้เช่านั้นยังคงมีความต้องการสูงจากธุรกิจให้เช่าพื้นที่ทำงานร่วม (co-working space) และสำนักงานพร้อมบริการ (serviced-office) ที่กำลังได้รับความนิยม ทำให้อัตราว่างของพื้นที่เช่าในช่วงไตรมาสนี้ลดลงเหลือเพียง 4% เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาคารสำนักงานเกรดเอใหม่ๆ จะได้รับความสนใจจากผู้เช่าเป็นอย่างมาก   ในส่วนของราคาค่าเช่าอาคารสำนักงานในกรุงเทพ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 800 บาท/ตารางเมตร/เดือน แต่หากพิจารณาเฉพาะอาคารสำนักงานเกรดเอที่อยู่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจเท่านั้น พบว่า ค่าเช่าเฉลี่ยสูงกว่า 1,000 บาท/ตารางเมตร/เดือน นับเป็นสถิติใหม่ในตลาดอาคารสำนักงานให้เช่าของกรุงเทพ ยิ่งไปกว่านั้นสำหรับบางอาคารที่ตั้งอยู่บนถนนวิทยุหรือเพลินจิต อย่างเช่น อาคารเกษร ทาวเวอร์ และปาร์คเวนเชอร์ อีโคเพล็กซ์ ที่สามารถทำราคาค่าเช่าได้สูงถึง 1,500 บาท/ตารางเมตร/เดือน ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูงที่สุด ณ ขณะนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีพื้นที่อาคารสำนักงานใหม่ให้เช่าเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 ล้านตารางเมตร หรือประมาณ 25% ของพื้นที่ที่มีอยู่ในตลาด ณ ปัจจุบัน อาจส่งผลให้มีอัตราว่างของพื้นที่ให้เช่าสูงขึ้นจากเดิมถึง 2 เท่า โดยจะมีอัตราว่างของพื้นที่ประมาณ 10% จากเดิมที่มีเพียง 4-5% เท่านั้น ถือว่าเป็นอัตราว่างที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี และอาจส่งผลให้อัตราการขึ้นราคาค่าเช่ามีการปรับตัวช้าลงอีกด้วย   หากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ตลาดอาคารสำนักงานให้เช่าในกรุงเทพ จะมีการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้นอย่างแน่นอน อาจส่งผลให้ตลาดเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยจำนวนอุปทานที่มีมากขึ้นในตลาดจะทำให้ผู้เช่ามีอำนาจในการต่อรองที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าอัตราว่างของพื้นที่เช่าจะสูงถึง 10% ก็จริง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เกิดอุปทานล้นตลาด เนื่องจากอัตราว่างของพื้นที่ประมาณ 10% ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองสำคัญอื่นๆ ทั่วโลก   จากการสำรวจของ Cushman & Wakefield ซึ่งเป็นบริษัทพันธมิตรของเน็กซัสฯ พบว่า ในประเทศกลุ่ม APAC มีอัตราว่างของพื้นที่อาคารสำนักงานให้เช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 10% หรือแม้แต่ในสหรัฐอเมริกาก็ยังมีอัตราว่างของพื้นที่ถึง 13.3% ดังนั้น หากกรุงเทพมีอัตราว่างของพื้นที่ให้เช่าที่ประมาณ 10% ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ปกติ   ตลาดศูนย์การค้า   สำหรับตลาดศูนย์การค้า จากการสำรวจพบว่า ตลาดยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากตลาดศูนย์การค้านั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ การบริโภคของภาคเอกชน รวมไปถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว   ส่วนราคาค่าเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าในย่านศูนย์กลางทางการค้าอย่างบริเวณถนนพระราม 1 และพร้อมพงษ์ ที่มีการแข่งขันสูงนั้น ทำให้อัตราค่าเช่าพื้นที่เฉลี่ยอยู่ที่ 3,900 บาท/ตารางเมตร/เดือน ในขณะที่ราคาเสนอให้เช่าพื้นที่สูงที่สุดของย่านนี้สูงทะลุถึง 5,000 บาท/ตารางเมตร/เดือน จากการเสนอราคาพื้นที่บริเวณชั้น G ของห้างสยามพารากอน นอกจากนี้โซนนอกศูนย์กลางการค้าอย่างไอคอนสยามซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีราคาเสนอเช่าพื้นที่ที่สูงเช่นเดียวกัน โดยสูงมากกว่า 5,000 บาท/ตารางเมตร/เดือน นับว่าเป็นสถิติใหม่ของอัตราค่าเช่าพื้นที่สำหรับตลาดศูนย์การค้าในกรุงเทพ   การสำรวจของเน็กซัสฯ พบว่าพื้นที่ศูนย์การค้าให้เช่าที่เกิดขึ้นใหม่ของไตรมาสนี้ มาจากไอคอนสยามและเกตเวย์ แอท บางซื่อ ที่เพิ่งมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และคาดว่าจำนวนพื้นที่ของศูนย์กลางการค้าให้เช่าในปีหน้าจะมีมากถึง 240,000 ตารางเมตร จากการคาดการณ์ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยและการท่องเที่ยวในปีหน้านั้นยังคงมองเป็นปัจจัยบวก โดยทางสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีการคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยว ณ สิ้นปี 2561 จะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 5.08% หรือคิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 37.2 ล้านคน   เนื่องจากลักษณะนิสัยของคนไทยที่นิยมไปซื้อของที่ร้านค้าด้วยตัวเองและสภาพอากาศที่ร้อน ทำให้ศูนย์การค้าได้รับความนิยมเป็นอย่างมากสำหรับคนไทย แต่สำหรับตลาดในปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง ผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตัวเอง ให้สามารถดึงดูดลูกค้าและเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น เช่น การออกแบบ ไลฟ์สไตล์ สิ่งอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย และแพลตฟอร์ม จะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถยืนหยัดอยู่ในตลาดได้        
เน็กซัส แนะการพัฒนาโครงการคอนโดฯ ในกรุงเทพฯ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน

เน็กซัส แนะการพัฒนาโครงการคอนโดฯ ในกรุงเทพฯ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน

เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ ชี้ราคาที่ดิน ทำเล และการขยายตัวของเมือง เป็นปัจจัยหลักส่งให้ราคาคอนโดมิเนียมปรับตัวสูงขึ้น การเข้ามาซื้อคอนโดเพื่อลงทุนของชาวต่างชาติ ที่หวังผลการลงทุนระยะยาว อาจเป็นเพียงสีสันให้วงการอสังหาในช่วงระยะเวลา 1-2 ปีนี้ แนะ ผู้ประกอบการให้คำนึงถึงกลุ่มลูกค้าคนไทยที่ซื้อเพื่ออยู่จริง และควรศึกษาถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคก่อนพัฒนาสินค้า เพื่อให้ได้สินค้าที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการสูงสุด เพื่อการเติบโต อย่างมั่นคงและยั่งยืนของตลาดคอนโดมิเนียม   นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเน็กซัสฯ นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับตลาดคอนโดมิเนียม มาอย่างต่อเนื่อง เราพบว่าอัตราการเติบโตของอุปทานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10% ต่อปี โดยราคาจะปรับเพิ่มสูงขึ้น 8-12% ต่อปี ซึ่งราคาคอนโดมิเนียมที่สูงขึ้นเป็นเพราะปัจจัยหลัก คือ ราคาที่ดินที่สูงขึ้น ที่ดินหายากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นปัจจัยให้ผู้ประกอบการต้องพิจารณาในการพัฒนาสินค้า เพื่อตอบสนองกับการเติบโตของตลาดในระยะยาวแบบยั่งยืนอีกด้วย   สำหรับภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมไตรมาส 2 ของปี 2561 พบว่าอุปทานคอนโดมิเนียมในตลาดกรุงเทพฯ เติบโตขึ้น 9,395 หน่วย จาก 20 โครงการ ทำให้ในตลาดมีคอนโดมิเนียมรวม 573,000 หน่วย โดยทำเลที่มีคอนโดมิเนียมเปิดใหม่มากที่สุด คือ บริเวณจรัญสนิทวงศ์ และสะพานควาย ซึ่งเป็นเขตรอบใจกลางเมือง   ด้านราคา พบว่าภาพรวมตลาดราคาเฉลี่ยคอนโดมิเนียมปรับตัวสูงขึ้น 5% ในช่วงครึ่งปีแรก คือ 137,100 บาท/ตารางเมตร แต่เมื่อเจาะลงมาในกลุ่มตลาดใจกลางเมือง พบว่ายังคงเป็นตลาดที่ครองตำแหน่งการปรับตัวของราคาสูงที่สุด คือ 6% หรือ 223,000 บาท/ตารางเมตร ส่วนตลาดรอบใจกลางเมืองปรับตัวสูงขึ้น 4% หรือ 110,000 บาท/ตารางเมตร และตลาดรอบนอกราคาปรับตัวสูงขึ้นอีก 3% หรือ 75,000 บาท/ตารางเมตร ตามลำดับ   สำหรับความต้องการคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา พบว่าเป็นดีมานด์จากคนไทย ที่ซื้อเพื่อการอยู่อาศัยจริงมากกว่า 80% แต่ในระยะเวลาช่วง 1-2 ปีนี้ จะเห็นได้ว่าเริ่มมีกำลังซื้อจากชาวต่างชาติมากขึ้น โดยจะซื้อผ่านนายหน้าเป็นหลัก ซึ่งวัตถุประสงค์ในการซื้อก็เพื่อการลงทุน ทั้งในแบบระยะสั้น และระยะยาว เพื่อปล่อยเช่า เพราะคาดหวังในผลตอบแทนรายปีและจากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นที่ทราบกันดีว่าราคาค่าเช่า ไม่ได้เติบโตในอัตราส่วนเดียวกับราคาขายของคอนโดมิเนียม ดังนั้น ในระยะยาวนักลงทุนน่าจะหวังผลกำไรจากราคาขายต่อที่เพิ่มสูงขึ้นได้เป็นหลัก ส่วนจากราคาค่าเช่าอาจไม่ได้สูงมากนัก และหากจะคาดว่าต่างชาติจะเข้ามาถือครองคอนโดมิเนียมในสัดส่วน 49% อาจเห็นได้ในบางโครงการเท่านั้น และในที่สุดแล้ว ตลาดที่น่าจะต้องให้ความสนใจเป็นหลักก็ยังคงเป็นตลาดคนไทยนั่นเอง     ภาพรวมการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของตลาดคอนโดมิเนียมในช่วง 7 - 10 ปีที่ผ่านมานั้น พบว่าการเปลี่ยนแปลง ด้านแรก คือ 1) ด้านทำเลที่ตั้ง เพราะเมื่อเมืองขยายตัว ส่งผลให้การคมนาคมขนส่งที่ขยายตัวและเติบโตมากขึ้น การเติบโตของคอนโดมิเนียมก็ขยายบริเวณออกไปด้วย พบการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ คือ สัดส่วนอุปทาน ที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา คือ 2 ทำเลรอบนอก ได้แก่ ธนบุรี-เพชรเกษม ซึ่งจากเดิมในปี 2554 มีเพียง 13,000 ยูนิต แต่ปัจจุบันจากการสำรวจเมื่อไตรมาส 2/2561 พบว่าเพิ่มขึ้นเป็น 66,000 ยูนิต และอีกทำเลหนึ่ง คือ งามวงศ์วาน ติวานนท์ ที่จากเดิมในปี 2554 มีเพียง 17,000 ยูนิต กลับเพิ่มขึ้นเป็น 73,000 ยูนิต   2) การเปลี่ยนแปลงด้านขนาดของห้อง พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขนาดห้องของคอนโดมิเนียมเล็กลงเป็น อย่างมาก เช่น คอนโดมิเนียม 1 ห้องนอน เดิมมีขนาด 65 ตารางเมตร ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 28 ตารางเมตร เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนแล้ว ขนาดของห้องเล็กลงเกินกว่าครึ่งหนึ่งจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในขณะที่คอนโดมิเนียมขนาด2 ห้องนอน แต่เดิมมีขนาด 120 ตารางเมตร ในปัจจุบันเหลือเพียง 45 - 48 ตารางเมตร เป็นต้น   3) ในด้านรูปแบบของห้อง (Room Mix) พบว่าสัดส่วนของห้องชุดก็แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับหลายปีก่อน พบว่าในหนึ่งโครงการ ห้องชุดขนาด 2 และ 3 ห้องนอน จะมีสัดส่วนห้องมากที่สุดของทั้งโครงการ ในขณะที่ห้องชุดขนาด 1 ห้องนอน มีสัดส่วนเพียง 20 - 30% ของโครงการเท่านั้น แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าห้องชุดแบบ 1 ห้องนอน จะเป็นสัดส่วนหลักในการพัฒนาโครงการสำหรับคอนโดมิเนียมยุคนี้ เราแทบจะหาคอนโดมิเนียมขนาด 3 ห้องนอนในโครงการใหม่ๆ ไม่ได้เลย และด้วยขนาดห้องที่เล็กลง ส่งผลให้การพัฒนาคอนโดมิเนียมมีจำนวนห้องในแต่ละโครงการเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น ที่ดินขนาด 2 ไร่ จากสมัยก่อนที่เคยทำคอนโดมิเนียมตึกสูงได้จำนวน 300 ยูนิต ปัจจุบันก็เพิ่มเป็น 500 ยูนิต ในสัดส่วนพื้นที่ขายที่เท่ากัน ซึ่งนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อุปทานคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา   4) การเปลี่ยนแปลงด้านราคาต่อหน่วย สำหรับคอนโดมิเนียมในตลาดระดับกลาง (mid market) และตลาดซิตี้คอนโด มีระดับราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 1.5 ล้านบาท ถึง 3 ล้านบาทต่อยูนิต มีจำนวนหน่วยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 70% ของจำนวนห้องชุดทั้งหมดในตลาด ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพนั้น แต่ราคาต่อหน่วยถูกจำกัดด้วยความสามารถในการผ่อนชำระของผู้ซื้อมาโดยตลอด ทำให้ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาโครงการ เพื่อกำหนดขอบเขตของต้นทุนให้อยู่ในเงื่อนไขราคาต่อหน่วยที่กำหนด โดยในหลายปีที่ผ่านมา ด้วยราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ทำเลของโครงการถูกขยับออกไปไกลจากใจกลางเมืองมากขึ้น โดยเกาะขอบแนวรถไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต หรือเข้าไปอยู่ในซอยเล็กเป็นอาคาร 8 ชั้น เป็นต้น   ทั้งนี้ หากวิเคราะห์สัดส่วนรายได้จากกลุ่มคนทำงานในกรุงเทพฯ แล้ว จะพบว่ากลุ่มคนทำงานในระดับเจ้าหน้าที่มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 35,000 บาท สามารถซื้อคอนโดมิเนียมขนาด 1 ห้องนอน ในกลุ่มซิตี้คอนโดฯ ระดับราคาไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่มตลาดระดับกลาง (mid market) พนักงานในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสหรือหัวหน้างาน ผู้มีรายได้ไม่เกิน 65,000 บาทต่อเดือน จึงจะสามารถเริ่มซื้อได้ ในขณะที่คอนโดฯ ระดับไฮเอนด์ผู้ที่สามารถซื้อได้ จะต้องอยู่ในระดับผู้จัดการขึ้นไป หรือผู้ที่มีรายได้ 120,000 บาทต่อเดือน และในกลุ่มลักซัวรี่และซูเปอร์ลักซัวรี่จะต้องเป็นเจ้าของกิจการและผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น ด้วยราคาคอนโดมิเนียมที่ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 7-8% ต่อปี ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้คอนโดมีเนียมมีราคาเพิ่มสูงขึ้นมากกว่ารายได้ของประชากรกรุงเทพฯ บางส่วน ซึ่งแน่นอนความสามารถในการซื้อห้องในราคาที่เพิ่มสูงขึ้นบ้างก็มีโอกาสเป็นไปได้ แต่อาจจะได้ห้องขนาดเล็กลงในทำเลเดิม หรือซื้อห้องขนาดเท่าเดิมในทำเลที่ไกลออกไป   “สรุปแล้วการเติบโตที่ยั่งยืนของตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ก็ยังคงต้องพึ่งตลาดคนไทยเป็นหลัก โดยตลาดต่างชาตินั้นเข้ามาเสริม ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อการลงทุนระยะยาว จากราคาคอนโดมิเนียมที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยค่าเช่าน่าจะเป็นส่วนเสริมให้การลงทุน มีความน่าสนใจมากขึ้นเท่านั้น ในระยะกลางหรือระยะยาวคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ จะขยายตัวออกไปยังชานเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตคนที่ทำงานจากบ้านได้มากขึ้น และศูนย์กลางการทำงานอาจมีการขยายตัวไปยังบริเวณรอบใจกลางเมืองมากขึ้นเหมือนเช่น พระราม 9 บางซื่อ พหลโยธิน รัชดาภิเษก เป็นต้น ทำให้เมืองขยายออกไป และตลาดคอนโดมิเนียมรอบนอกเมือง ก็ยังคงขยายตัวต่อเนื่องในขณะที่ตลาดคอนโดมิเนียมใจกลางเมือง การเติบโตของตลาดคอนโดมิเนียมมือสองจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยราคาที่ต่ำกว่าราคาคอนโดมิเนียมใหม่ ขนาดห้องที่ใหญ่กว่า ตอบรับกับการอยู่อาศัยได้จริง ซึ่งเราอาจจะไม่เห็นในกลางเมืองกรุงเทพฯ ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า แต่ในระยะยาวลักษณะแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นในตลาดกรุงเทพฯ เหมือนเมืองใหญ่ๆ ทั่วไปในโลก เช่น นิวยอร์ค หรือ โตเกียว เป็นต้น” นางนลินรัตน์ กล่าวสรุป      
7 ประเด็นร้อนตลาดอสังหาริมทรัพย์ กรุงเทพฯ

7 ประเด็นร้อนตลาดอสังหาริมทรัพย์ กรุงเทพฯ

  เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง ชี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ ปรับตัวรับการลงทุนของกลุ่ม    ทุนต่างชาติ ผู้ประกอบการรายกลางและรายใหม่ตบเท้าเข้าตลาดเพิ่ม ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่มองหาการลงทุนในตลาดเช่าเพื่อบริหารต้นทุนและรับรู้รายได้ในระยะยาว ส่วนครึ่งปีหลังตลาดคอนโดมิเนียม ระดับลักซูรี่กลางเมืองยังเติบโตต่อเนื่อง   นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี2561 ตลาดอสังหาริมทรัพย์กรุงเทพฯ ยังคงคึกคักต่อเนื่อง และมีประเด็นสำคัญในตลาดที่น่าจับตามองอยู่หลายประเด็น ทั้งในแง่ของการลงทุน ราคาที่ดิน แนวโน้มช่วงครึ่งปีหลัง และปีหน้า     ประเด็นที่ 1 : ในช่วงไตรมาสแรกปี 2561 มีโครงการ คอนโดมิเนียม เกิดใหม่ โดยผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ และรายย่อยจำนวน 14,094 หน่วย จาก 31 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับที่ประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้มีจำนวนห้องชุดทั้งหมดในตลาด อยู่ที่ 564,000 หน่วย และจากการที่ที่ดินในใจกลางเมืองมีราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้พัฒนาไม่สามารถหาที่ดินพัฒนาโครงการได้เหมาะสม สัดส่วนห้องชุดที่เกิดใหม่จึงเกิดขึ้นบริเวณ โซนสุขุมวิทตอนปลาย (29%) โซนพญาไท-รัชดาภิเษก-พระราม 9 (23%) โซนตากสิน เพชรเกษม (17%) เป็นหลัก สำหรับในครึ่งปีหลังนี้น่าจะเห็นโครงการใหม่เกิดขึ้นบริเวณแจ้งวัฒนะ และ รามอินทรามากขึ้น จากแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น  อย่างไรก็ตาม  สิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า ราคาคอนโดมิเนียมในกลุ่มซูเปอร์ลักซูรี่กลางเมืองที่เปิดตัวราคาตารางเมตรละ 400,000 บาท จะมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ จากราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น  ในขณะที่ตลาดซิตี้คอนโดจะขยายตัวออกไปในส่วนต่อขยายรถไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้ราคาไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก   ประเด็นที่ 2 : หลายปีที่ผ่านมา ผู้พัฒนาหลักในตลาดคอนโดมิเนียมจะเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 70% ของตลาด แต่สำหรับในช่วงไตรมาสแรกนี้ ผู้พัฒนาโครงการ รายกลางและรายใหม่ เริ่มมีสัดส่วนมากขึ้น รวมทั้งผู้พัฒนาจากต่างชาติด้วย โดยมีผู้พัฒนาโครงการรายกลางและรายใหม่เปิดตัวโครงการประมาณ 38% ของจำนวนห้องชุดใหม่ในตลาด ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าตลาดยังน่าดึงดูดให้ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ผู้ประกอบการขนาดกลางหลายรายยังมี Roadmap ที่จะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายใน 1 - 2 ปีนี้อีกด้วย   ในขณะเดียวกันแผนธุรกิจและการพัฒนาโครงการสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ กลับมาให้ความสำคัญกับตลาดที่มีความยั่งยืนมากขึ้น เปลี่ยนแปลงสัดส่วนการลงทุน ระมัดระวังการซื้อที่ดินกลางเมืองบ้าง โดยเพิ่มพัฒนาตลาดบ้านแนวราบที่การเช่าที่ดินระยะยาว เพื่อพัฒนาโครงการที่มีรายได้ค่าเช่ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โรงแรมหรืออาคารสำนักงาน และเริ่มมองหาการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศมากขึ้นด้วย     ประเด็นที่ 3 : ทุนต่างชาติ ในช่วงไตรมาสแรกมีบริษัททุนขนาดใหญ่จากจีนที่เปิดตัวโครงการชัดเจนโดยมิได้อาศัยบริษัทไทยที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมทุนถึง 20% ของจำนวนห้องชุดที่เปิดในตลาดกรุงเทพฯ  และเป็นโครงการขนาดใหญ่ มูลค่ารวมมากกว่า 30,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในการลงทุนในประเทศไทย สำหรับต่างชาติที่เคยเข้ามาลงทุนก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ก็ยังคงมองหาโอกาสในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เริ่มเห็นคอนโดมิเนียมที่ตอบสนองความต้องการของคนญี่ปุ่นมากขึ้น ปีนี้ทุนญี่ปุ่นที่จะเข้ามาพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ต่อเนื่องอีกไม่ต่ำกว่า 4 - 5 โครงการ   ประเด็นที่ 4 : นักลงทุนรายย่อยต่างชาติ ยังคงให้ความสนใจเข้ามาลงทุนซื้อคอนโดมิเนียมอย่างต่อเนื่อง   และมีจำนวนมากขึ้น ปัจจัยหลักก็ยังคงมาจากราคาสินค้าที่ยังคงถูกกว่ามาก เมื่อเทียบกับตลาดในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนจากฮ่องกง และญี่ปุ่น ประกอบกับระยะการเดินทางก็ไม่ไกล การซื้อคอนโดมิเนียมไว้           ก็เสมือนเป็นบ้านหลังที่ 2 เพื่อพักผ่อนและปล่อยเช่า ก่อนหน้านี้เราจะเห็นเทรนด์นี้ เฉพาะในสินค้าประเภท ลักซูรี่ และซูเปอร์ลักซูรี่เท่านั้น แต่ตอนนี้ตลาดไฮเอนด์ และตลาดระดับกลางก็เริ่มมีนักลงทุนให้ความสนใจมากขึ้น นอกจากนี้นักลงทุนจากประเทศจีน ก็ยังต้องการย้ายเงินลงทุนมายังต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยงอีกด้วย  ประกอบกับผู้พัฒนาโครงการรายใหญ่ในประเทศเองก็ออกไปนำเสนอสินค้าในต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนี่อง มีการสร้างความเชื่อมั่นด้วยการไปเปิดสำนักงานย่อย เพื่อบริการลูกค้าอีกด้วย จึงทำให้ตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะในเอเชียเติบโตอย่างต่อเนื่อง   อีกส่วนที่น่าจับตามองคือ ในช่วงที่ผ่านมามีนักลงทุนเข้ามามองหาซื้อห้องชุดในโควต้าต่างชาติ 49% เพื่อไปเสนอให้นักลงทุนรายย่อยในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมองเห็นโอกาสในการทำกำไร ในขณะเดียวกันก็ยังเชื่อมันว่ามีผู้ซื้อรายย่อยในประเทศต่างๆ ยังคงมองหาคอนโดมิเนียมในเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดนี้ก็น่าจะยังคงเติบโตได้ต่อไป     ประเด็นที่ 5 : สำหรับนักลงทุนรายใหม่ที่มีเงินทุนจากธุรกิจครอบครัว รุ่นพ่อแม่เริ่มจับมือกันมาร่วมทุน   เพื่อพัฒนาโครงการที่พักอาศัยแนวใหม่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคอนโดมิเนียมหรือบ้านพักอาศัยระดับหรู โดยกลุ่มนี้      ก็เหมือน Startup ในธุรกิจอื่นๆ มีต้นทุนในการบริหารจัดการต่ำ มีความคล่องตัวสูง บางกลุ่มก็มีตลาดรองรับสินค้า  ที่พัฒนาอย่างชัดเจนซึ่งอยู่ในเครือข่ายของธุรกิจหลัก และไม่เฉพาะตลาดที่อยู่อาศัยเท่านั้น ยังรวมไปถึง โรงแรมแนวใหม่ อพาร์ทเมนท์ Co-working space หรือ Lifestyle retail ต่างๆ   ประเด็นที่ 6 : หลายๆ โครงการอสังหาริมทรัพย์ได้นำ Platform การใช้ชีวิต ที่ตอบสนองกับ Lifestyle คนไทยที่เปลียนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มาเพิ่มเป็นจุดขายในการพัฒนาโครงการ ไม่ว่าจะเป็นระบบสั่งการหรือการให้บริการผ่าน Mobile Application ต่างๆ Smart Robot หรือ Smart Locker เป็นต้น ซึ่งแน่นอนก็จะตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี โอกาสในตลาดสำหรับคนที่มีที่อยู่อาศัยแล้วที่จะมี Platform ที่สามารถตอบสนองความต้องการของที่อยู่อาศัยเดิม น่าจะเป็นสิ่งที่น่าจับตามองในระยะเวลาอันสั้นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งระบบ Smart Locker หรือระบบการบริการต่างๆ ที่เพิ่มความปลอดภัย การพักผ่อนหย่อนใจ และความสะดวกสบายใน การใช้ชีวิตมากขึ้น     ประเด็นที่ 7 : โอกาสทางการตลาดสำหรับตลาดที่อยู่อาศัยในครึ่งปีหลัง ยังคงเห็นความเติบโตในตลาดต่างชาติ ในขณะที่ราคาก็ยังคงปรับตัวสูงขึ้นจากต้นทุนที่สูงขึ้น คอนโดมิเนียม 7 - 8 ชั้นขนาดโครงการเล็กลง   จาก ผู้พัฒนารายใหม่ ยังคงเห็นต่อเนื่อง รวมถึงบ้านลักซูรี่ระดับราคาสูงก็ยังคงมีความต้องการต่อเนื่อง และยังมีผู้ให้ความสนใจ ทำเลการพัฒนาโครงการ ถ้าเป็นโครงการกลางเมืองจะขยับจากทองหล่อไปเอกมัยมากขึ้น สุขุมวิท   31 - 49 ก็เริ่มเข้าไปในซอยที่ลึกขึ้น   เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีต่างชาติเข้ามาซื้อและมาลงทุนมากขึ้น ดังนั้นสถานการณ์เศรษฐกิจ การเมืองและการลงทุนรวมทั้งค่าเงินของประเทศเหล่านั้นก็จะมีผลกระทบต่อตลาดอสังหาประเทศไทยมากกว่าแต่ก่อน  
เน็กซัสเผย ทำเล รสนิยม เหตุตัดสินใจซื้อ หนุนตลาดบ้านลักซูรี่โตต่อเนื่อง

เน็กซัสเผย ทำเล รสนิยม เหตุตัดสินใจซื้อ หนุนตลาดบ้านลักซูรี่โตต่อเนื่อง

บ้านหลังใหญ่ สนามหญ้ากว้างๆ อาจไม่ใช่คำตอบเดียวสำหรับผู้ซื้อบ้านระดับลักซูรี่ เพราะมีปัจจัยด้านทำเล และต้นทุนค่าที่ดินเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งขนาดที่ดินที่เหมาะสมและมีจำนวนจำกัดในทำเลชั้นดีนั้น เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการหันมาพัฒนาโครงการโดยให้ความสำคัญกับพฤติกรรมและไลฟสไตล์ของผู้อยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น เพื่อให้บ้านไม่ได้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น แต่ยังสะท้อนตัวตน และเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต ทำเลศักยภาพสำหรับบ้านระดับลักซูรี่ นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวถึงตลาดบ้านระดับลักซูรี่ใจกลางเมืองที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องว่า บ้านระดับลักซูรี่ในกรุงเทพฯ ถือเป็นตลาดที่มาแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากปี 2558 ถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2561 มีอุปทานโครงการบ้านจากผู้พัฒนาโครงการรายใหญ่และรายย่อย 42 โครงการ จำนวน1,554 ยูนิตสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการบ้านระดับลักซูรี่อย่างต่อเนื่อง โดยมี 7 ทำเลศักยภาพหลัก เรียงตามความหนาแน่นของโครงการที่เปิดขายระหว่างปี 2558 ถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2561ดังนี้ (1) สุขุมวิท (พร้อมพงษ์-เอกมัย) (2) ลาดพร้าว-เกษตรนวมินทร์ (3) พระรามเก้า-ศรีนครินทร์-พัฒนาการ (4) ราชพฤกษ์ (5) สาทร พระราม 3 (6) บางนา (7) พระราม2 ซึ่งจะเห็นได้ว่าโครงการบ้านระดับลักซูรี่อยู่กระจายตัวกันตามแหล่งความเจริญของเมืองที่มีลักษณะเด่นต่างกัน ส่งผลถึงรูปแบบบ้านที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามเมื่อทำเลยังคงเป็นปัจจัยหลักของการเลือกพัฒนาบ้านระดับลักซูรี่ การที่ที่ดินมีอยู่อย่างจำกัดและราคาที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้นทุกปี ทำให้ผู้ประกอบการให้ความสนใจในการพัฒนาโครงการในที่ดินที่มีขนาดเล็กลงในขณะที่มีพื้นที่ใช้สอยที่ตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มลักซูรี่ได้เป็นอย่างดีโดยมีที่ดินต่อ  ยูนิตขนาดระหว่าง 29 – 129 ตารางวามากขึ้น ทำให้มีโครงการบ้านแนวสูงในตลาดมากขึ้น โดยนิยามของบ้านแนวสูงนั้นคือบ้านที่ความสูงมากกว่า 15 เมตรหรือ 4 ชั้นขึ้นไป  จากปี 2558 ถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2561 มีอุปทานบ้านแนวสูงจำนวน 12โครงการ จำนวน 94 ยูนิตโดยในปี 2558 ถึงปี 2559 บ้านประเภทนี้อยู่ในทำเลสุขุมวิท (พร้อมพงษ์-เอกมัย) และในปี 2560 ถึง ไตรมาสที่ 1 ปี 2561 มีการกระจายตัวของบ้านแนวสูงออกจากทำเลสุขุมวิท ไปยังโซนลาดพร้าว-เกษตรนวมินทร์ บางนาและพระรามเก้า-พัฒนาการ-ศรีนครินทร์มากขึ้น รูปแบบบ้าน ประเภทของบ้านระดับลักซูรี่นั้นจะแบ่งได้ 2 แบบคือ (1) บ้านระดับลักซูรี่แบบเน้นการพัฒนาในแนวราบ และ(2)บ้านระดับลักซูรี่แบบเน้นการพัฒนาในแนวสูง แบบบ้านดังกล่าวมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันอย่างโดดเด่นด้วยรูปทรงภายนอก ขนาดที่ดิน และทำเลที่ตั้งโครงการ แต่หากเมื่อเปรียบเทียบแล้วขนาดพื้นที่ใช้สอยยังคงมีขนาดใกล้เคียงกัน ถึงอย่างไรก็ตามปัจจัยด้านทำเล (ราคาที่ดิน) ยังคงเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งของการพัฒนารูปแบบบ้าน นอกจากนี้การจัดวางพื้นที่ใช้สอยที่ตอบสนองลักษณะการใช้ชีวิต และมีพื้นที่ใช้สอยที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้อยู่อาศัย ถือเป็นบ้านในอุดมคติของผู้มองหาบ้านระดับลักซูรี่ที่ต้องการให้บ้านสะท้อนและสอดคล้องกับความเป็นตัวตนของเจ้าของบ้าน และเป็นโจทย์ให้ผู้พัฒนาโครงการนำมาวิเคราะห์เพื่อเสนอจุดเด่นที่น่าสนใจให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ฟังก์ชั่นบ้านสะท้อนรูปแบบการใช้ชีวิตผู้อยู่อาศัย ตลาดบ้านระดับลักซูรี่เป็นที่น่าสนใจทั้งในมุมมองของผู้พัฒนาโครงการและผู้อยู่อาศัย เนื่องมาจากข้อจำกัดของที่ดินที่ได้กล่าวมาแล้ว ทั้งนี้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 มีโครงการใหม่เกิดขึ้น 4โครงการ โดยทำเล หลักยังคงเป็นสุขุมวิท (พร้อมพงษ์-เอกมัย) ทำเลสาทรใจกลางเมืองและมีการกระจายตัวในทำเลลาดพร้าว-เกษตรนวมินทร์ในช่วงปีที่ผ่านมา โดยหากพิจารณาจากทำเลโครงการเหล่านั้น อยู่ในทำเลไลฟ์สไตล์ สะท้อนตัวตนและการใช้ชีวิตของผู้ที่เลือกที่อยู่อาศัยในทำเลดังกล่าว และจากประสบการณ์การพัฒนาบ้านระดับลักซูรี่จากผู้ประกอบการใน Segment นี้ ส่งผลให้มีการพัฒนารูปแบบและฟังก์ชั่นของบ้าน ที่สร้าง Value Added  เพิ่มมูลค่าทำให้โครงการนั้นมีความน่าใจมากขึ้น อาทิเช่น ห้องเก็บไวน์ (Wine Cellar Room) ห้องเก็บรถหรู (Super Car Lounge) ส่วนรับประทานอาหารเช้า (Breakfast Corner) และมีขนาดพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัย ให้ได้ใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ภายในบ้านพักอาศัยส่วนตัวของตนเอง นอกจากนี้บ้านที่สามารถสร้างศักยภาพสูงสุด เพื่อที่จะได้ไม่เข้าข่ายกฎหมายก่อสร้างอาคารสูง ซึ่งจะทำให้มีข้อจำกัดด้านการออกแบบมากขึ้น เห็นได้จากข้อมูลในตลาดปัจจุบันที่มีที่ดินขนาดเริ่มต้นตั้งแต่ 29 ตารางวา พื้นที่ใช้สอยเริ่มต้น 450 ตารางเมตร สูง 4-7 ชั้น เกิดเป็นลักษณะรูปแบบของบ้านแนวสูง นับว่าเป็นการพัฒนาบ้านรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแตกต่างจากรูปแบบบ้านในอดีตที่ผ่านมา จากข้อมูลข้างต้น จะสังเกตได้ว่าโครงการบ้านแนวสูงที่เกิดขึ้นบนที่ดินทำเลใจกลางเมือง ทำให้ผู้พัฒนาโครงการพยายามพัฒนาโครงการที่ตอบโจทย์เรื่องความคุ้มค่าต่อราคาทุนที่ดินที่มีราคาสูงลิบ และมีศักยภาพสูงสุด ส่งผลทำให้เกิดบ้านบนที่ดินขนาดเล็ก แต่ในขณะเดียวกันยังมีพื้นที่ใช้สอยเพียงพอต่อความต้องการตามไลฟ์สไตล์การอยู่อาศัยของกลุ่มลูกค้าระดับลักซูรี่เช่นกัน
กรุงเทพพัฒนาฯ เปิดตัวบ้านหรู ระดับซูเปอร์ลักซัวรี่ “The Primary V” (เดอะ ไพรมารี วี)

กรุงเทพพัฒนาฯ เปิดตัวบ้านหรู ระดับซูเปอร์ลักซัวรี่ “The Primary V” (เดอะ ไพรมารี วี)

นายสหชาต ธันยามาศรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพพัฒนา ซีเอ็มเอส จำกัด (ที่ 2 จากขวา) พร้อมด้วย นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด  (ที่ 2 จากซ้าย), นางสาวชาลิสา เทียนโพธิ์สุวรรณ์ ตัวแทนจาก 911 The Revolution by JT (ที่ 2 จากขวา), ร่วมด้วย นาย วิเชษฎ ธวัชนันทชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท Minimaxist และ นายพันธวิศ ลวเรืองโชค กรรมการผู้จัดการบริษัท อะโพสโทรฟีเอส กรุ๊ป จำกัด จัดงานเปิดตัว บ้านเดี่ยวระดับซูเปอร์ลักซัวรี่ สไตล์ Asian-Nouve ภายใต้แบรนด์ The Primary V (เดอะ ไพรมารี วี) สังคมคุณภาพเพียง 20 หลัง บนทำเลแห่งอนาคตใจกลางเกษตร-นวมินทร์ ส่วนต่อขยาย CBD ใหม่ ในราคาเริ่มต้นที่ 28 ล้านบาท การันตีด้วยรางวัล “Thailand Property Awards 2017” ถึง 3 รางวัลด้วยกัน คือ The Winner in Best Housing Interior Design, Highly recommended for Best Housing Landscape Architectural Design และHighly recommended for Best Housing Architectural Design นอกจากนี้ยังร่วมมือกับ 911 The  Revolution by JT  ฟิตเนส ของคุณเจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ์ ในการออกแบบคลาสออกกำลังกาย และส่งเทรนเนอร์เข้ามาให้บริการพิเศษสำหรับลูกบ้านในโครงการแบบเอ็กซ์คูลซีฟ สำหรับช่วงเปิดตัวโครงการ The Primary V ลูกค้าที่จองซื้อภายใน 31 ธ.ค. 60  รับชุดครัว Built in เครื่องใช้ไฟฟ้าจาก Siemens เครื่องปรับอากาศ Daikin ทั้งหลัง พร้อม Home Automation สัญญาณกันขโมย ผู้ที่สนใจ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.theprimary-v.com หรือ โทร 098-262-2782