Tag : ผ่อนบ้าน

5 ผลลัพธ์
5 เทคนิค เพิ่มโอกาสอนุมัติรีไฟแนนซ์บ้าน/คอนโด

5 เทคนิค เพิ่มโอกาสอนุมัติรีไฟแนนซ์บ้าน/คอนโด

สำหรับคนที่เคยกู้สินเชื่อบ้านหรือคอนโดจากธนาคารมาก่อน คงรู้กันดีธนาคารมีสิทธิ์ตอบรับหรือปฏิเสธการขอสินเชื่อ ถ้าเลือกได้เราก็คงอยากเป็นคนที่ได้รับการอนุมัติ คงจะดีไม่น้อยถ้าเราได้มีโอกาสเตรียมตัวก่อนจะถึงเวลารีไฟแนนซ์ เพื่อเพิ่มโอกาสการอนุมัติเวลาเราไปขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน/รีไฟแนนซ์คอนโดกับธนาคาร เทคนิคที่ 1 ชำระหนี้ให้ตรงตามกำหนด เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี ทุกครั้งที่มีการขอสินเชื่อ เจ้าหน้าที่ของธนาคารที่จะไปตรวจสอบประวัติการชำระหนี้ของเราจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ซึ่งเก็บรวบรวมประวัติการขอสินเชื่อและประวัติการชำระหนี้ของเราไว้ เพื่อเอามาประเมินว่าเรามีนิสัยการชำระหนี้เป็นอย่างไร (ทั้งหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ หนี้บัตรเครดิต) ทางที่ดีคือไม่ควรมีการชำระล่าช้า เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี ก็จะทำให้มีโอกาสได้รับการอนุมัติมากขึ้นครับ เทคนิคที่ 2 ปิดบัตรเครดิตที่ไม่ได้ใช้ หลายคนอาจยังไม่รู้จักคำว่า “ความสามารถในการก่อหนี้” ซึ่งดูง่ายๆ จากวงเงินสินเชื่อที่เราสามารถทำการเบิกกู้ได้ ถ้าจะให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือ บัตรเครดิตนี่แหละครับ สมมติเราเงินเดือน 50,000 บาท แต่มีบัตรเครดิต 3 ใบ วงเงินใบละ 200,000 บาท ถ้าวันดีคืนดี เราดันไปรูดจนเต็มวงเงินทุกใบ กลายเป็นว่ามีหนี้ 600,000 บาททันที แบบนี้ธนาคารก็อาจมองว่าจะเอาเงินที่ไหนมาผ่อนบ้าน จึงเป็นที่มาของคำแนะนำในข้อนี้ว่าถ้าหากมีบัตรเครดิตหลายใบ และมีใบที่ไม่ได้ใช้จริงๆ ก็ปิดไปดีกว่าครับ เทคนิคที่ 3 เดินบัญชีธนาคาร (Statement) อย่างสม่ำเสมอ หนึ่งในรายการเอกสารที่ทุกธนาคารขอเวลาเรายื่นใบสมัครรีไฟแนนซ์บ้าน/รีไฟแนนซ์คอนโด ก็คือรายการเดินบัญชีย้อนหลัง เพื่อนำมาดูว่าเรามีรายได้เข้ามาสม่ำเสมอหรือไม่ และแต่ละเดือนมีเงินเข้า/ออกอย่างไรบ้าง ซึ่งก็แล้วแต่ธนาคารว่าจะดูย้อนหลังกี่เดือน บางธนาคารก็ 6 เดือน หรือบางธนาคารอาจขอดูยาวถึง 2 ปีเลยก็มี เทคนิคที่ 4 สลิปเงินเดือนหรือหนังสือรับรองเงินเดือน บางคนอาจเคยได้ยินว่า สลิปเงินเดือนต้องใช้สลิปคาร์บอนเท่านั้น แต่หลายๆบริษัทสมัยนี้ไม่ใช้กระดาษคาร์บอนในการพิมพ์สลิปเงินเดือนแล้ว จึงสงสัยกันว่าถ้าสลิปเงินเดือนไม่ใช่กระดาษคาร์บอน จะกู้ผ่านไหม ก็ขอตอบกันตรงนี้ให้หายข้อข้องใจเลยแล้วกันครับว่า “ได้เหมือนกัน” เพียงแต่สลิปคาร์บอนจะดูน่าเชื่อถือกว่าเล็กน้อยเท่านั้นเอง แต่เราก็สามารถขอใบรับรองเงินเดือนจากบริษัทมาประกอบ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือได้เช่นกันครับ เทคนิคที่ 5 ลายเซ็นต้องเหมือนกันทุกแผ่น คุณรู้หรือไม่ว่าเอกสารทุกใบที่ส่งไปธนาคารจะพูดตรวจสอบให้แน่ใจว่า ไม่ได้เป็นมิจฉาชีพมาแอบอ้างขอสินเชื่อ ดังนั้นการเซ็นรับรองในเอกสารทุกใบควรเซ็นให้เหมือนกัน เพราะแต่ละวันมีเอกสารจำนวนมากถูกปฏิเสธเพราะลายเซ็นไม่ตรงกัน ทำให้ต้องเสียเวลาไปเซ็นใหม่อีกรอบ ขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.refinn.com/เพิ่มโอกาสอนุมัติรีไฟแนนซ์บ้าน
NPL คือ? ส่งผลต่อคนจะกู้สินเชื่ออย่างไร

NPL คือ? ส่งผลต่อคนจะกู้สินเชื่ออย่างไร

เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อไรที่เราจะยื่นกู้สินเชื่อบ้านเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยไม่ว่าประเภทไหนก็ตามทางธนาคารจะมีวิธีพิจารณาเพื่ออนุมัติคล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นรายได้หลัก การเดินบัญชี ฯลฯ หรือแม้แต่ปัจจัยภายนอกอย่าง NPL ที่จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจปล่อยกู้ ซึ่งตัวผู้ที่ต้องการยื่นกู้เองควรจะลองศึกษาหาข้อมูลในเบื้องต้นเอาไว้บ้าง เพื่อเพิ่มโอกาสให้เราได้รับการอนุมัติมากยิ่งขึ้น NPL ย่อมาจาก Non-Performing Loan คือ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือที่เรียกกันว่าหนี้เสีย โดยเกิดจากการที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยและเงินต้นคืนให้สถาบันการเงินเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 3 เดือน สถาบันการเงินนั้นจะมองว่าเป็นหนี้เสียทันที โดยหากตัวบุคคลถูกตีว่าติด NPL จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือทางการเงินอย่างมาก ยิ่งหากจะทำการกู้สินเชื่อไม่ว่าจะประเภทใดก็ตามมักจะถูกปฏิเสธได้ง่าย ซึ่งจากสถิติจากปีที่ผ่านมา NPL ที่พุ่งสูงที่สุด 3 อันดับแรก คือ ธนาคารกรุงเทพ ประมาณ 87,000 ล้านบาท ธนาคารกสิกรไทย ประมาณ 69,000 ล้านบาท และธนาคารไทยพาณิชย์ ประมาณ 65,000 บาท แต่ธนาคารที่มีอัตราลดลง คือ ธนาคารทหารไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย และธนาคารเกียรตินาคิน ตามลำดับ   อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นว่าเราจะต้องศึกษาข้อมูลที่เป็นปัจจัยหนึ่งก่อนการยื่นขอสินเชื่อนั่นคือ NPL ที่กล่าวถึงนี้ เพราะหากช่วงไหนที่ภาพรวม NPL ของประเทศสูงจะส่งผลให้ธนาคารมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นโดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะเมื่อช่วงปีที่ผ่านมามี NPL พุ่งสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสินเชื่อบุคคลประเภทอื่นๆ สาเหตุหลักมาจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ที่มีรายได้น้อย ส่งผลต่อการถูกปฏิเสธสินเชื่อในกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง ซึ่งปีที่แล้วสูงถึง 40-50% และเมื่อยอดปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง ทางผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จึงหันไปพัฒนาโครงการระดับสูงทำเลใจกลางเมืองมากกว่า เพราะนอกจากเรื่องของการจับกลุ่มผู้ที่มีกำลังซื้อระดับสูงในประเทศไทยแล้ว ยังหันไปหากลุ่มผู้ซื้อชาวต่างชาติโดยเฉพาะในเอเชียด้วยกันที่สนใจซื้อคอนโดมิเนียมในประเทศไทยกันมากขึ้น แม้ว่าในปี 2561 หลายฝ่ายต่างเชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นจากหลายๆ ปัจจัยต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนของยูนิตมากที่สุดในรอบ 4-5 ปี การร่วมทุนระหว่างผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยและจากต่างประเทศ รวมถึงตัวเลข GDP ที่จะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้แนวโน้มของ NPL ค่อยๆ ลดลง แต่การขยายตัวเพิ่มขึ้นของภาคอสังหาริมทรัพย์นี้ยังคงกระจุกตัวอยู่กลางเมืองกรุงเทพฯ ในโครงการที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้มีรายได้สูง  จึงทำให้ธนาคารยังคงต้องพิจารณาการอย่างถี่ถ้วนในการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพื่อพยายามควบคุมไม่ให้มีตัวเลข NPL ที่สูงขึ้นอีก   แม้ว่าหลายธนาคารจะยังคงเข้มงวดต่อการปล่อยสินเชื่อบุคคลโดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้เลย เพราะหลายคนต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าในปีนี้อสังหาริมทรัพย์จะดีขึ้นยิ่งกว่าปีที่แล้ว และหากเราแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการชำระหนี้ได้ รวมถึงการมีวินัยทางการเงินก็จะทำให้กู้ผ่านได้ไม่ยาก แม้แต่ผู้ที่มีประวัติ NPL ก็สามารถเข้าไปปรึกษากับทางธนาคารได้ แต่จะใช้ระยะเวลานานกว่า และมีข้อแม้หลายอย่างที่ต้องปฏิบัติเสียก่อนจะยื่นกู้ เช่น ต้องจ่ายหนี้สินทั้งหมดให้เรียบร้อยก่อน เป็นต้น   ความรู้อื่นเกี่ยวกับ NPL ธนาคารแห่งประเทศไทย บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กู้ไม่ผ่าน เกิดจากอะไร วิเคราะห์ LTV หลักเกณฑ์ใหม่ ดีต่อตลาดอสังหาฯ แค่ไหน-ใครได้ประโยชน์ EIC วิเคราะห์ ใครคือผู้ได้รับผลกระทบจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  
คนผ่อนบ้านกับผ่อนรถ ธนาคารจะอนุมัติบัตรเครดิตให้ใครมากกว่ากัน

คนผ่อนบ้านกับผ่อนรถ ธนาคารจะอนุมัติบัตรเครดิตให้ใครมากกว่ากัน

คนที่อยากมีบัตรเครดิตใช้และได้สมัครบัตรเครดิตกับธนาคารไปก็ย่อมอยากรู้ว่าตัวเองจะได้รับการอนุมัติหรือไม่ ซึ่งความกังวลใจเหล่านี้อาจจะมาจากด้วยหลากหลายเหตุผลที่ทำให้ไม่มั่นใจในการขออนุมัติบัตร เช่น เคยมีประวัติจ่ายหนี้ช้าบ้าง แต่ไม่เคยไม่จ่าย หรือปัจจุบันมีภาระหนี้อยู่เยอะ บางคนก็ผ่อนบ้าน บางคนก็ผ่อนรถยนต์ จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่าระหว่างคนผ่อนบ้านกับผ่อนรถ ธนาคารจะอนุมัติบัตรเครดิตให้ใครมากกว่ากัน   หากมองในมุมของระยะเวลาในการผ่อน การผ่อนรถยนต์ก็จะดูเป็นภาระน้อยกว่าเพราะผ่อนไม่กี่ปีก็จบ ในขณะที่คนที่ผ่อนบ้านจะต้องผ่อนเป็นเวลานานเป็นสิบปีถือว่าเป็นภาระหนี้ที่ยาวนาน ถ้ามองในมุมนี้ โอกาสที่ธนาคารจะอนุมัติบัตรเครดิตให้กับคนที่ผ่อนรถยนต์ก็มากกว่าคนที่ผ่อนบ้าน   แต่หากมองในอีกมุมเรื่องของเครดิตที่เกิดจากการขอสินเชื่อนั้น การที่คนเราได้รับอนุมัติกู้เงินซื้อบ้านได้ต้องถือว่ามีเครดิตที่ดีมาก ต้องผ่านการพิจารณาหลักเกณฑ์ต่าง ๆ จนธนาคารมั่นใจได้จึงปล่อยเครดิตกู้บ้านให้ได้ หากมองในมุมที่การขอสินเชื่อบ้านนั้นยากกว่าการขอสินเชื่อรถยนต์ ธนาคารก็น่าจะอนุมัติบัตรเครดิตให้กับคนที่ผ่อนบ้านมากกว่าคนที่ผ่อนรถยนต์   ในความเป็นจริงแล้ว เหตุผลที่ธนาคารจะอนุมัติบัตรเครดิตให้กับลูกค้าหรือไม่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องว่าลูกค้าคนนั้นผ่อนบ้านหรือผ่อนรถยนต์อยู่เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องดูปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายด้วย โดยการอนุมัติบัตรเครดิตในปัจจุบันธนาคารจะใช้ระบบที่เรียกว่า Credit Scoring โดยนำหลักเกณฑ์ คุณสมบัติและข้อมูลรายละเอียดของลูกค้ามาจัดทำเป็น Score เพื่อดูว่าลูกค้าคนนั้นผ่านเกณฑ์หรือไม่ หากผ่านเกณฑ์ก็หมายความว่าได้รับอนุมัติ แต่หากไม่ผ่านก็หมายความว่าไม่ได้รับอนุมัตินั่นเอง   โดยข้อมูลที่นำมาเป็นปัจจัยในการทำ Credit Scoring ก็อาจจะแตกต่างกันไปตามนโยบายของแต่ละธนาคาร ธนาคารหลายแห่งใช้ผลวิเคราะห์จากสถิติของลูกค้าธนาคารในอดีตเพื่อนำมากำหนดเป็น Credit Scoring ใช้ในการพิจารณาการอนุมัติหรือไม่อนุมัติบัตรเครดิตใหม่ให้กับลูกค้าด้วย ยกตัวอย่างสิ่งที่จะมีผลกับ Credit Scoring เช่น อายุ คนที่มีอายุน้อยจะได้คะแนนน้อยกว่าคนที่อยู่ในช่วงวัยกลางคนหรือเป็นผู้ใหญ่กว่า เพราะธนาคารมองว่าคนที่เป็นผู้ใหญ่ทำงานมานานมีความมั่นคงทางการงานและการเงินมากกว่า ส่วนคนที่มีอายุน้อยก็อาจเพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นานและยังมีโอกาสที่จะเปลี่ยนงานได้อีก ส่วนคนที่มีอายุมากอยู่ในวัยใกล้เกษียณหรือเกษียณแล้วก็อาจได้คะแนนเครดิตน้อยกว่าคนที่อยู่ในวัยทำงานเพราะธนาคารก็มองอีกเช่นกันว่าคนเหล่านี้อีกไม่นานก็จะถึงวัยที่ไม่ได้ทำงานมีรายได้อีกต่อไป อาชีพ คนที่มีอาชีพมั่นคง เช่น แพทย์หรือวิศวกรมีโอกาสที่จะได้รับอนุมัติบัตรเครดิตมากกว่าอาชีพอื่น ๆ เพราะธนาคารถือว่าการงานมั่นคงต่อให้ต้องย้ายที่ทำงานก็มีงานรองรับแน่นอน เมื่อเทียบกับอาชีพผู้รับเหมาก่อสร้างหรือพนักงานขายที่รายได้อาจจะไม่มั่นคงมีขึ้นมีลงได้ตลอด การศึกษา คนที่มีการศึกษาสูงกว่า เช่น จบปริญญาเอกหรือปริญญาโท มีโอกาสที่จะได้คะแนนเครดิตสูงกว่าคนที่เรียนไม่จบหรือจบแค่ปริญญาตรี เพราะธนาคารมองว่าคือโอกาสในการทำงานที่มีความมั่นคง เพศ มีเช่นกันสำหรับบางธนาคารที่ให้คะแนนเครดิตผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เพราะถือว่าเป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องทำงานและเป็นคนที่มีรายได้ แต่บางธนาคารก็ให้คะแนนเครดิตผู้หญิงมากกว่าก็มี เพราะมองในมุมว่าผู้หญิงมีความรับผิดชอบสูงกว่า ประวัติสินเชื่อ คนที่มีเครดิตคือเคยกู้เงินมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิตใบก่อนหน้า สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์หรือเงินกู้อะไรก็แล้วแต่ ธนาคารจะพิจารณาให้คะแนนเครดิตคนเหล่านี้มากกว่าคนที่ไม่เคยมีเครดิตหรือขอสินเชื่อที่ไหนมาก่อนเลย รายได้ ข้อมูลรายได้ของลูกค้าแน่นอนว่าต้องเป็นส่วนหนึ่งของการให้คะแนนเครดิต คนที่มีรายได้สูงกว่าก็ย่อมมีโอกาสที่จะได้รับอนุมัติบัตรเครดิตมากกว่าคนที่มีรายได้น้อย ภาระหนี้ ภาระหนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบันก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะบอกถึงความสามารถในการชำระหนี้ก้อนใหม่ที่ลูกค้ากำลังสมัครเข้ามา ลูกค้าที่มีภาระหนี้น้อยกว่าก็ย่อมมีโอกาสที่จะได้รับอนุมัติบัตรเครดิตมากกว่าลูกค้าที่มีภาระหนี้เยอะ   ที่ยกมาก็เป็นเพียงแค่ตัวอย่างของปัจจัยที่มีผลกับ Credit Scoring ที่ธนาคารใช้เป็นเครื่องมือในการพิจารณาอนุมัติบัตรเครดิตให้กับลูกค้าเท่านั้น อาจมีปัจจัยอะไรอื่น ๆ อีกที่เราไม่สามารถรู้ได้ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นนโยบายของแต่ละธนาคารที่แตกต่างกันไป น้ำหนักคะแนนของแต่ละปัจจัยว่าเรื่องไหนจะมากหรือน้อยก็ไม่มีสูตรตายตัวแล้วแต่นโยบายของแต่ละธนาคารอีก จึงเป็นเรื่องที่ตอบได้ยากในบางครั้งว่าเพราะเหตุใดบางคนถึงสมัครบัตรเครดิตแล้วไม่ผ่าน หรือบางคนสมัครบัตรเครดิตกับธนาคารหนึ่งไม่ผ่าน แต่สมัครกับอีกธนาคารหนึ่งอาจจะผ่านก็เป็นได้   เรื่องการผ่อนบ้านหรือผ่อนรถธนาคารจะอนุมัติบัตรเครดิตให้กับใครมากกว่ากัน จึงเป็นเรื่องที่ตอบยาก ต้องดูเรื่องภาระหนี้ด้วยเป็นสิ่งสำคัญ หากมีรายได้มากแม้ผ่อนบ้านหรือผ่อนรถแล้ว ภาระหนี้ก็ยังไม่ถึง 40% แบบนี้โอกาสที่จะได้รับอนุมัติบัตรเครดิตก็ย่อมสูงขึ้น อย่างลูกค้าบางรายเมื่อได้รับอนุมัติสินเชื่อบ้านเรียบร้อย ผ่อนจ่ายไปไม่กี่เดือน ธนาคารก็โทรมาเสนอบัตรเครดิตให้ใช้โดยไม่ต้องเสียเวลาสมัครก็มี หรืออย่างคนที่ผ่อนรถอยู่ก็มีที่สมัครบัตรเครดิตแล้วได้หรือไม่ได้รับอนุมัติมีทั้งสองแบบด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป   ดังนั้นการที่ธนาคารจะอนุมัติบัตรเครดิตให้หรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราผ่อนบ้านหรือผ่อนรถอยู่เท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ประกอบอีกมากมายขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละธนาคาร   ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://money.sanook.com/424023/
ผ่อนดาวน์หมด แต่บ้านยังไม่สร้าง ควรทำอย่างไร?

ผ่อนดาวน์หมด แต่บ้านยังไม่สร้าง ควรทำอย่างไร?

หนึ่งในปัญหาที่คนซื้อบ้านส่วนใหญ่พบเจอ คือ การผ่อนดาวน์หมดแล้ว แต่ตัวบ้านยังไม่ได้สร้าง หรือผ่อนไปเกือบหมดแล้ว แต่บ้านยังแค่เพิ่งเริ่มก่อสร้าง ดูยังไงก็คงเสร็จไม่ทันตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาแน่นอนหากเกิดปัญหาแบบนี้จะทำอย่างไรดี? กรณีแบบนี้ ในมุมกฎหมายบอกว่า หากผ่อนชำระจนครบตามงวดแล้วหรือแม้ว่ายังไม่ครบ แต่ระหว่างผ่อนชำระเจ้าของโครงการก็ไม่ดำเนินการใดๆ เลยหรือทิ้งร้างไปบ้าง หรือว่าเหลือเงินดาวน์น้อยแล้วแต่ยังไม่สร้างสักทีดูแล้วหากผ่อนจนครบงวดเงินดาวน์คงสร้างไม่ทันแน่ๆกรณีนี้คนซื้อบ้านควรมีหนังสือแจ้งให้ผู้ขายดำเนินการและผู้ซื้อยังสามารถหยุดชำระเงินดาวน์ไว้ก่อน จนกว่าจะได้ก่อสร้างให้มีความคืบหน้าหรือแล้วเสร็จ ทั้งนี้ เป็นไปตามแนวพิพากษาว่าสัญญาจะซื้อจะขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อผู้ขายไม่ก่อสร้างเพื่อเป็นการตอบแทนแล้วผู้ซื้อมีสิทธิยึดหน่วงเงินที่จะต้องชำระเอาไว้ก่อนโดยไม่ถือว่าผิดสัญญานอกจากนั้นหากผู้ขายไม่ก่อสร้างจนล่วงเลยระยะเวลาไปพอสมควรก็เลิกสัญญาขอเงินคืนได้ โดยหลักหรือแนวทางของสัญญาซื้อขายหากคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาไม่ส่งมอบตรงตามกำหนดเวลาผู้ซื้อมีสิทธิทำได้สองอย่างแต่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ เลิกสัญญาแล้วคู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิมกรณีนี้จะเรียกร้องค่าปรับไม่ได้กับอีกทางเลือกหนึ่ง คือ ยังคงให้สัญญามีผลต่อไปแต่ต้องสงวนสิทธิเรียกร้องค่าปรับเอาไว้เมื่อส่งมอบล่าช้าจึงเรียกร้องค่าปรับในฐานะเป็นค่าเสียหายของผู้ซื้อ ส่วนผลของการบอกเลิกสัญญาคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมเงินที่ผู้ซื้อผ่อนชำระไปทั้งหมดผู้ขายต้องคืนแก่ผู้ซื้อพร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5 % ต่อปี ของต้นเงินแต่ละงวด จนกว่าจะชำระคืนครบถ้วน เกี่ยวกับการทำซื้อขายบ้าน บางกรณีสัญญามีความซับซ้อนและดูจะเป็นผลเสียต่อผู้ซื้อ เช่น สัญญาไม่มีการกำหนด “ค่าปรับ กรณีผู้จะขายหรือเจ้าของโครงการ” ผิดสัญญาส่งมอบบ้านไม่ทันภายในกำหนด แต่กลับมีการกำหนด “ค่าปรับกรณีผู้จะซื้อ” ผิดนัดชำระเงินหรือในสัญญาระบุว่าให้สามารถปรับได้กรณีก่อสร้างล่าช้าแต่ไม่ระบุหรือกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ เป็นต้น หากเจอแบบนี้ ผู้ซื้อควรหลีกเลี่ยง เพราะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบตั้งแต่แรกแล้ว ครั้นจะหวังให้ผู้ขายรับผิดชอบในวันข้างหน้าเกรงว่าจะยาก เนื่องจาก บ้านเป็นสินค้าราคาแพง หลายคนต้องเก็บออมเงินมาทั้งชีวิตจึงจะสามารถซื้อได้ การที่เรามีเงินพร้อมและเก็บไว้กับตัวย่อมปลอดภัยกว่าอยู่กับคนอื่นที่สำคัญ โครงการดีๆ สัญญาที่ไม่เอาเปรียบคนซื้อยังมีอยู่มากมาย ค่อยๆ เลือก ค่อยๆ ตัดสินใจจะดีกว่า   ขอขอบคุณข้อมูลจาก  home.co.th
ผ่อนบ้านหมดไว เหมือนได้รถใหม่ 1 คัน

ผ่อนบ้านหมดไว เหมือนได้รถใหม่ 1 คัน

หากใครที่กำลังจะซื้อบ้าน แล้วคิดว่าจะซื้อด้วยวิธีการกู้เงิน ผ่อนรายเดือนกับธนาคาร ต้องไม่ลืมว่าค่าผ่อนที่จ่ายในแต่ละเดือนนั้น ไม่ได้นำไปชำระเงินต้นทั้งหมด แต่จะชำระดอกเบี้ยจ่ายก่อน ส่วนที่เหลือจึงค่อยชำระเงินต้น ซึ่งการจ่ายค่าผ่อนตามจำนวนเงินที่ธนาคารกำหนดไว้ในแต่ละเดือน โดยไม่มีการผ่อนชำระเพิ่ม เมื่อจ่ายแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนครบกำหนด ดอกเบี้ยทั้งหมดอาจจะสูงถึงประมาณ 70% ของวงเงินกู้เลยทีเดียว แต่ถ้าเราเลือกที่จะชำระค่าผ่อนบ้านเพิ่มจากการผ่อนปกติ รู้หรือไม่ว่าวิธีนี้จะช่วยให้เราประหยัดดอกเบี้ยจ่ายเท่ากับได้รถใหม่มา 1 คัน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นเรามีคำตอบครับ   ยิ่งจ่ายมาก ยิ่งลดมาก ปกติแล้วดอกเบี้ยบ้านจะคิดแบบลดต้นลดดอก หมายความว่าดอกเบี้ยที่ต้องชำระในแต่ละเดือนจะคำนวณจากเงินต้นคงเหลือของเดือนนั้นๆ   ตัวอย่างเช่น สมมุติว่า กู้เงินซื้อบ้าน 2,000,000 บาท ธนาคารกำหนดให้ผ่อนชำระเดือนละ 15,000 บาท เป็นระยะเวลา 30 ปี อัตราดอกเบี้ยปีแรก 2.50% ต่อปี หลังจากนั้น MRR-1 (สมมุติให้ 1 เดือนเท่ากับ 30 วัน) ในเดือนแรกจะเสียดอกเบี้ยอยู่ที่ [2,000,000X2.5%] X [30/365]  = 4,109.59 บาท เมื่อจ่ายชำระค่าผ่อน 15,000 บาท จะถูกนำไปชำระดอกเบี้ยก่อน 4,109.59 บาท ส่วนที่เหลือ 15,000 – 4,109.59 = 10,890.41 บาท ค่อยนำไปชำระเงินต้น เท่ากับว่าเงินต้นคงเหลือจะอยู่ที่ 2,000,000 – 10,890.41 = 1,989,109.59 บาท และเงินต้นคงเหลือก็จะนำไปใช้คำนวณดอกเบี้ยในเดือนถัดไป ซึ่งเท่ากับ [1,989,109.59X2.5%] X [30/365]  = 4,087.21 บาท จะเห็นได้ว่าหากอัตราดอกเบี้ยเท่ากัน ในเดือนถัดไปดอกเบี้ยจะลดลงตามเงินต้นที่ลดลง ดังนั้นการผ่อนชำระหนี้ในแต่ละเดือนด้วยจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นก็จะยิ่งทำให้เงินต้นลดลง ซึ่งเท่ากับว่าดอกเบี้ยจ่ายก็จะลดลงด้วยเช่นกันครับ   ผ่อนเพิ่มแค่เดือนละ 2,000 บาท ประหยัดดอกเบี้ยเท่ากับราคารถอีโคคาร์ 1 คัน จากตัวอย่างจะพบว่าหากเลือกผ่อนชำระเดือนละ 15,000 บาท ตามที่ธนาคารกำหนดไว้ไปเรื่อยๆ จนครบกำหนด ดอกเบี้ยจ่ายทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 1,600,000 บาท แต่หากผ่อนเพิ่มแค่เดือนละ 2,000 บาท จากผ่อนเดือนละ 15,000 บาท เป็น 17,000 บาท ดอกเบี้ยจ่ายทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 1,170,000 บาท เมื่อเปรียบเทียบดอกเบี้ยจ่ายแล้ว การผ่อนเพิ่มเดือนละ 2,000 บาท จะช่วยให้ประหยัดดอกเบี้ยได้ถึง 430,000 บาท และช่วยร่นระยะเวลาในการผ่อนบ้านให้เร็วขึ้นถึงประมาณ 5 ปี   นอกจากนี้หากเราได้รับเงินก้อน ไม่ว่าจะเป็น เงินโบนัส ค่าคอมมิชชั่น ก็อย่าลืมแบ่งเงินบางส่วนนี้ไปโปะบ้านด้วยนะครับ จะได้ประหยัดดอกเบี้ยจ่าย และหมดภาระหนี้สินเร็วขึ้นครับ   ขอขอบคุณข้อมูลจาก K-Expert