Tag : ราคาที่ดิน

3 ผลลัพธ์
ราคาที่ดินในกรุงเทพฯ พุ่งขึ้น 1,000% ในช่วง 30 ปี

ราคาที่ดินในกรุงเทพฯ พุ่งขึ้น 1,000% ในช่วง 30 ปี

ราคาที่ดินในย่านใจกลางกรุงเทพมหานครปรับตัวสูงขึ้นกว่า 1,000% นับจากปีพ.ศ. 2531 เมื่อซีบีอาร์อีเปิดสำนักงานในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากในยุค “เอเชียไทเกอร์” ระหว่างปีพ.ศ. 2531 - 2539 ก่อนที่ตลาดจะหยุดชะงักเพราะวิกฤตการณ์ทางการเงินในปีพ.ศ. 2540   การเติบโตของราคาที่ดินเริ่มขยับสูงขึ้นในช่วงกลางทศวรรษปี 2540 และราคามีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสองปีที่ผ่านมาสำหรับที่ดินที่อยู่ในย่านใจกลางเมืองที่สำคัญหรือในซีบีดี   ในช่วงปลายทศวรรษปี 2520 ต่อเนื่องเข้าสู่ทศวรรษปี 2530  มีการซื้อขายที่ดินขนาดใหญ่ 2 แปลงด้วยกัน คือ ที่ดินขนาด 8 ไร่บนถนนสาทร โดยผู้พัฒนาเดิมของอาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ซื้อไปที่ราคาประมาณ 125,000 บาทต่อตารางวา และที่ดินขนาด 21-1-08 ไร่บนถนนวิทยุซึ่งเป็นบ้านของผู้จัดการธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดในยุคนั้น ขายให้กับกลุ่มเอ็มไทย มูลค่าที่ดินประมาณ 250,000 บาทต่อตารางวา ซึ่งปัจจุบันพัฒนาเป็นโครงการออลซีซั่น เพลส   สำหรับการขายที่ดินแปลงล่าสุดในย่านสารทร คือ ที่ดินขนาด 8 ไร่ของสถานทูตออสเตรเลีย ซึ่งขายไปด้วยราคาประมาณ 1.45 ล้านบาทต่อตารางวาในปีพ.ศ. 2560  และในย่านลุมพินี บริษัท เอสซี แอสเสท ซื้อที่ดินขนาด 880 ตารางวาบริเวณถนนหลังสวนด้วยมูลค่าประมาณ 3.1 ล้านบาทต่อตารางวา และการซื้อขายที่ดินที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยคือการขายที่ดินสถานทูตอังกฤษขนาด 23 ไร่ในปีพ.ศ. 2561 ให้แก่บริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่มเซ็นทรัลและฮ่องกงแลนด์   การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินนั้นไม่เหมือนกันทั้งหมด และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นยังเป็นไปตามรูปแบบการพัฒนาเมืองของกรุงเทพฯ    ในอดีตศูนย์กลางทางธุรกิจตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง และศูนย์ราชการตั้งอยู่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์   ในช่วงทศวรรษปี 2490 และ 2500 ศูนย์กลางทางธุรกิจได้ย้ายไปที่ถนนสีลมและถนนสุรวงศ์   กรุงเทพฯ เติบโตมากขึ้นในทศวรรษที่ 2510 และ 2520 แต่ยังไม่มีการกำหนดศูนย์กลางของเมืองอย่างชัดเจน และการพัฒนาได้ขยายตัวออกไปเพราะมีการสร้างถนนใหม่ๆ แต่ในปัจจุบันปัจจัยเหล่านี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว   การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ 2 ประการที่มีผลกับราคาที่ดิน คือ การเปิดและขยายระบบขนส่งมวลชน โดยรถไฟฟ้าบีทีเอสสายแรกเปิดให้บริการในปีพ.ศ. 2542 และรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินเข้มเปิดให้บริการในปีพ.ศ. 2547 ระบบขนส่งมวลชนดังกล่าวได้ทำให้วิถีชีวิตของคนในกรุงเทพฯ ทั้งในด้านการทำงานและการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไป   ในช่วงปลายทศวรรษ 2560  กรุงเทพฯ จะมีระบบขนส่งมวลชนรวมระยะทางประมาณ 460 กิโลเมตร เปรียบเทียบกับกรุงลอนดอนที่มีระบบรถไฟใต้ดินรวมระยะทาง 402 กิโลเมตร   ความนิยมในระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพฯ ที่มีผู้ใช้มากกว่า 1.2 ล้านคนต่อวัน ได้ทำให้มูลค่าที่ดินที่อยู่ใกล้กับสถานีปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกสายหรือทุกสถานีที่จะได้รับความนิยมอย่างเท่าเทียมกัน  ส่วนหนึ่งที่เป็นตัวกำหนดมูลค่าของที่ดินก็มาจากความนิยมของระบบขนส่งมวลชนแต่ละสายและแต่ละสถานี   “ปัจจัยสำคัญอีกประการที่เป็นตัวกำหนดราคาที่ดิน ก็คือ ข้อกำหนดในเรื่องผังเมืองและพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ว่าด้วยเรื่องขนาดพื้นที่ที่สามารถสร้างได้ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าถ้าสามารถสร้างพื้นที่ได้น้อย ราคาที่ดินก็จะไม่ปรับสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด” นางกุลวดี สว่างศรี กรรมการบริหาร หัวหน้าแผนกการลงทุนและที่ดิน  ซีบีอาร์อี ประเทศไทยกล่าว   ข้อกำหนดในเรื่องผังเมืองและการควบคุมการก่อสร้างอาคารมีความเข้มงวดและซับซ้อนมากขึ้น และในปัจจุบันได้กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการกำหนดราคาที่ดิน   ในช่วงทศวรรษปี 2520 และ 2530 กรุงเทพฯ ได้ขยายตัวออกไปมากขึ้น แต่ในช่วงทศวรรษปี 2540 กรุงเทพฯ ได้กลายเป็นเมืองที่ความเจริญรวมเข้าสู่ศูนย์กลางมากขึ้น ด้วยการเกิดขึ้นของอาคารชุดพักอาศัยแนวสูงและการเติบโตของพื้นที่สำนักงานที่ทันสมัย   พื้นที่ใจกลางเมืองได้รับการกำหนดขอบเขตไว้อย่างชัดเจนมากขึ้น และเกิดการพัฒนาโครงการรอบใหม่บนพื้นที่ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์มากนัก เช่น ที่ดินขนาด 105 ไร่ที่เป็นที่ตั้งของโครงการวัน แบงค็อก บริเวณหัวมุมถนนพระราม 4 ตัดกับถนนวิทยุ ราคาที่ดินเริ่มมีสัดส่วนที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับต้นทุนโดยรวมในการพัฒนาโครงการ เนื่องจากราคาที่ดินมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วกว่าค่าก่อสร้าง มูลค่าโดยรวมในการพัฒนาโครงการได้เพิ่มสูงขึ้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้คอนโดมิเนียมมีราคาขายที่แพงขึ้นและทำให้จำเป็นต้องมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้โครงการที่มีรายได้จากค่าเช่าสามารถเกิดขึ้นได้   ซีบีอาร์อีคาดการณ์ว่า ที่ดินในย่านใจกลางกรุงเทพฯ จะยังคงเป็นทำเลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดต่อไปในการพัฒนาโรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และอาคารประเภทอื่น ๆ เช่น โรงพยาบาล เป็นต้น กรุงเทพฯ จะมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ใจกลางเมืองที่ชัดเจนมากขึ้น และการพัฒนาโครงการจะขยายตัวไปตามเส้นทางการเดินรถของระบบขนส่งมวลชนบริเวณรอบสถานี   การที่ราคาที่ดินจะปรับตัวสูงขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับระดับความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ และผลตอบแทนที่จะได้รับจากการพัฒนาโครงการ  ซึ่งจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าสามารถพัฒนาโครงการอะไรได้ และในระดับราคาใดที่ลูกค้ามีกำลังในการซื้อหรือการเช่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จ เนื่องจากที่ดินแบบมีกรรมสิทธิ์เต็มหรือฟรีโฮลด์ในย่านใจกลางเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนานั้น มีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ   ซีบีอาร์อีจึงคาดว่าราคาที่ดินจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในบางครั้ง ที่ดินมีราคาสูงกว่ามูลค่ารวมของอาคารที่ตั้งอยู่บนแปลงที่ดิน  และเราจะได้เห็นว่ามีอาคารเก่าถูกรื้อถอนและมีการพัฒนาโครงการขึ้นใหม่บนที่ดินแปลงเดิมมากขึ้น   เราได้เริ่มเห็นการรื้อถอนอาคารเคี่ยนหงวน ทาวเวอร์ 1 บนถนนวิทยุ และอาคารวานิสสา บนถนนชิดลม  รวมทั้งแผนการรื้อถอนโรงแรมดุสิตธานีและปรับปรุงพื้นที่ใหม่  แต่จนถึงขณะนี้ การรื้อถอนเกิดขึ้นกับอาคารที่มีเจ้าของเดียวเท่านั้น   ในปัจจุบัน กฎหมายอาคารชุดกำหนดให้เจ้าของร่วมต้องเห็นชอบร่วมกันทั้ง 100% ที่จะเพิกถอนอาคารเพื่อให้สามารถขายอาคารและนำมาพัฒนาใหม่ได้ ซึ่งยังไม่เคยเกิดขึ้นในบ้านเราแม้ว่าปัจจุบันจะมีคอนโดมิเนียมบางแห่งที่มูลค่าของทุกยูนิตรวมกันจะมีมูลค่าน้อยกว่าการถือครองที่ดินเปล่าที่ใช้สร้างคอนโดมิเนียมนั้นก็ตาม การขายยูนิตทั้งหมดและนำมาพัฒนาขึ้นใหม่ได้เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์ซึ่งจำนวนเจ้าของร่วมที่ต้องเห็นชอบร่วมกันในการขายทั้งอาคารมีสัดส่วนที่น้อยกว่าของไทย ซีบีอาร์อีมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะได้รับความเห็นชอบทั้ง 100% จากเจ้าของร่วมในกรุงเทพฯ ในการขายห้องชุดทั้งหมดให้กับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์   "สมมติว่าข้อกำหนดด้านผังเมืองไม่มีการเปลี่ยนแปลง และขนาดพื้นที่ที่สามารถสร้างขึ้นได้ยังคงเหมือนเดิม ที่ดินในย่านซีบีดีของกรุงเทพฯ มีแนวโน้มที่จะปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง" นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวสรุป   การปรับขึ้นราคาที่ดินจะไม่อยู่ในระดับที่คงที่ และจะมีความสอดคล้องกับวัฏจักรทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ประเมินแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง จุดเชื่อมที่อยู่อาศัยในเขตปริมณฑลเดินทางเข้าเมือง

พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ประเมินแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง จุดเชื่อมที่อยู่อาศัยในเขตปริมณฑลเดินทางเข้าเมือง

พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร พบข้อมูลการเติบโตของประชากรเขตปริมณฑลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องย้อนหลัง 20 ปี เพิ่มเฉลี่ย 21% ส่งผลที่อยู่อาศัยแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงมีแนวโน้มคึกคัก เหตุเป็นจุดเชื่อมต่อในรูปแบบวงแหวนขนาดใหญ่ ส่งผลให้ราคาที่ดินแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงปรับตัวสูงขึ้นกว่า 40% ในช่วง 5 ปี โดยทำเลที่อยู่อาศัยย่านบางใหญ่  เตาปูน วงศ์สว่าง โดดเด่นสุด นายอนุกูล รัฐพิทักษ์สันติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารและจัดการอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เปิดเผยว่า พลัส พร็อพเพอร์ตี้ พบข้อมูลจำนวนการเพิ่มของประชากรในเขตกรุงเพทมหานครและปริมณฑลในช่วงปี 2540-2560 หรือ 20 ปีผ่านมา มีประชากรในเขตกรุงเทพมหานคร ขยายตัวเพียงเล็กน้อยราว 1% เท่านั้น ในขณะที่เขตปริมณฑลกลับมีประชากรอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นถึง 21% โดยจังหวัดที่ได้รับความนิยมคือ ปทุมธานีเพิ่มขึ้น 40%  นนทบุรีเพิ่ม 24%  และสมุทรสาครเพิ่มขึ้น 19% ปัจจัยที่สนับสนุนให้ประชากรในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มขึ้นมาจากทำเลที่ไม่ได้ไกลจากกรุงเทพฯ ราคาที่ยังไม่ปรับตัวขึ้น สามารถเดินทางเข้ามาทำงานได้อย่างสะดวก ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยในเขตปริมณฑลจะมีความโดดเด่นมากขึ้น โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมทำเลแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง เนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อลักษณะวงแหวนที่เชื่อมพื้นที่การเดินทางที่สำคัญของกรุงเทพฯ เข้าไว้ด้วยกัน โดยเริ่มจากการเป็นส่วนต่อขยายที่เชื่อมต่อจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-หัวลำโพง) จากสถานีเตาปูนวิ่งไปตามถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี, ติวานนท์, รัตนาธิเบศร์ และสุดสถานีที่ถนนกาญจนาภิเษกในอำเภอบางใหญ่ นอกจากนี้ ในอนาคตที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินอยู่ระหว่างขยายเส้นทางส่วนต่อขยายจากฝั่งบางซื่อไปท่าพระ จากฝั่งหัวลำโพงไปบางแค บริเวณนี้จะกลายเป็นลูปรถไฟฟ้าเส้นทางวงแหวนที่เชื่อมการเดินทางบนพื้นที่สำคัญ นั่นหมายถึงผู้ที่อยู่อาศัยใกล้แนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงจะได้อานิสงส์การเดินทางที่สะดวกและครอบคลุมในทุกพื้นที่มากขึ้น และยังเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายต่างๆ 3 เส้นทาง ซึ่งได้แก่ ที่สถานีบางซ่อนสามารถเชื่อมต่อไปรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน-บางซื่อ) และที่สถานีเตาปูนจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และยังเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ อีกหนึ่งสายคือช่วงเตาปูน-ราชบูรณะถึงแม้ว่าในช่วงแรกที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงเริ่มเปิดให้บริการในปี 2559 ผู้โดยสารอาจจะยังไม่ค่อยให้ความนิยม แต่ภายหลังทำการเชื่อมต่อในเดือนสิงหาคม 2560 ทำให้ยอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น จากข้อมูลของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ระบุว่าปัจจุบันมีผู้ใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วงกว่า 48,000 คนต่อวัน และคาดว่าในปี 2561 จะเพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งแสนคนต่อวัน สำหรับแนวโน้มด้านที่อยู่อาศัยแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงในปี 2560 พบคอนโดมิเนียมที่เปิดขายอยู่ 56 โครงการ คิดเป็น 69,761  ในจำนวนนี้ขายไปแล้วถึง 91% ซึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการเร่งระบายสินค้าด้วยการทำโปรโมชั่นภายหลังจากรัฐบาลได้เชื่อมต่อทั้งสองสถานีแล้ว โดยโครงการที่ได้รับความสนใจมักตั้งอยู่ไม่เกิน 500 เมตรจากสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งเชื่อว่าทิศทางในปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังพบว่าราคาที่ดินกับราคาขายคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง จากปี 2556 – 2560 พบราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 41% ในขณะที่ภาพรวมราคาคอนโดมิเนียมที่อยู่ใกล้กับโดยสถานีรถไฟฟ้าที่มีจำนวนผู้ที่ใช้บริการสูงสุด 3 สถานีคือ เตาปูน, บางซื่อ,  และวงศ์สว่าง พบว่า ราคาเฉลี่ยของห้องในโครงการเหล่านี้กลับเพิ่มขึ้นเพียง 15-29% ซึ่งเป็นผลมาจากกลยุทธ์ด้านราคาของผู้ประกอบการจึงถือเป็นจังหวะดีสำหรับลูกค้าและนักลงทุนในการตัดสินใจซื้อในช่วงนี้ สำหรับผู้ที่เลือกอยู่อาศัยคอนโดมิเนียมและต้องการเดินทางด้วยรถไฟฟ้านั้นจุดเชื่อมต่อถือว่ามีความสำคัญโดยเฉพาะช่วง 3 สถานีต้นทางจากบางซื่อ ได้แก่ สถานีเตาปูน สถานีบางซ่อน สถานีวงศ์สว่าง ถือเป็นสถานีที่จะได้รับผลประโยชน์อย่างมาก เป็นจุดเปลี่ยนทำเลให้กลายเป็นสยามสแควร์แห่งที่ 2 ในอนาคต เพราะมีความต้องการหลักอยู่ ประกอบกับมีเมกะโปรเจกต์ ทั้งทางด่วนสายใหม่ ตลอดจนมี Center Station บางซื่อ และจุดเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีบางซ่อนอีกด้วย “หากวิเคราะห์ทำเลที่อยู่อาศัยที่โดดเด่นบนแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงพบ 3 ทำเล เริ่มต้นจาก บางใหญ่ ศูนย์กลางธุรกิจในฝั่งตะวันตก (WBD : West Business District) มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่  รวมถึงยังมีโครงการก่อสร้างทางพิเศษมอเตอร์เวย์บางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี พบอุปทานคอนโดมิเนียมบริเวณบางใหญ่ (MRT สามแยกบางใหญ่ และคลองบางไผ่) ที่เสนอขายอยู่ 4 โครงการ จำนวน 2,840 ยูนิต มียอดขายเฉลี่ย 83% ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 60,000 -70,000 บาทต่อตารางเมตร ด้านผลตอบแทนจากการปล่อยเช่าคอนโดมิเนียมในย่านนี้เดือนละ 6,000 – 6,500 บาท คิดเป็นผลตอบแทนจากการปล่อยเช่าที่ 4.8% ต่อปี แม้ผลตอบรับจากการปล่อยเช่าคอนโดฯ จะยังไม่สูงมาก แต่ในอนาคตคาดว่าทำเลยังมียอดดีมานด์ตอบรับอย่างต่อเนื่อง  ย่านเตาปูน เป็นที่ตั้งสถานีต้นสายและในอนาคตจะเป็นสถานีอินเตอร์เชนจ์ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่งผลให้ราคาที่ดินบริเวณนี้เพิ่มขึ้นสูงที่สุด ปัจจุบันอยู่ที่ 280,000 บาทต่อตารางวา (เฉลี่ยประมาณ 17% ต่อปี) นอกจากนี้ยังอยู่ใกล้เคียงกับอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2562 และจะกลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ จากการสำรวจข้อมูล พบอุปทานคอนโดมิเนียมในรัศมีไม่เกิน 1.5 กิโลเมตร จากสถานีเตาปูนจำนวน 2,820 ยูนิต จาก 5 โครงการ ยอดตอบรับอยู่ที่ 79% เป็นทำเลที่มีราคาขายเฉลี่ยสูงที่สุดในแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงประมาณ 90,000 – 110,000 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งราคาขายปรับเพิ่มขึ้นจากช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถึง 35% ด้านผลตอบแทนจากการปล่อยเช่าอยู่ที่ 10,000 – 15,000 บาทต่อเดือน ผลตอบแทนเฉลี่ย 4.5% ต่อปี ส่วนราคารีเซลในปัจจุบันแตะที่ 100,000 – 120,000 บาทต่อตารางเมตรแล้ว ซึ่งเป็นการปรับขึ้นตามราคาขายห้องใหม่ในปัจจุบัน ย่านวงศ์สว่าง เป็นทำเลช่วงต้นๆ ของรถไฟฟ้าสายสีม่วง เป็นจุดตัดระหว่างกรุงเทพฯ และ จ.นนทบุรี ตรงบริเวณแยกวงศ์สว่างที่เชื่อมต่อกับถนนรัชดาภิเษกสามารถเดินทางเข้าเมืองได้อย่างง่ายดาย พบโครงการคอนโดมิเนียมเสนอขายในตลาดจำนวน 4 โครงการ 4,443 ยูนิต มียอดขายแล้ว 67%  อย่างไรก็ตาม พบว่าโครงการที่มีการตอบรับดีจะอยู่บริเวณรอบสถานีวงศ์สว่างไม่เกิน 100 เมตร ซึ่งขายเกือบหมดแล้ว ด้านราคาขายเฉลี่ยโครงการคอนโดมิเนียมใกล้สถานีฯ ปัจจุบันประมาณ 90,000-100,000 บาทต่อตารางเมตร และในอนาคตคาดว่าราคาขายจะขยับขึ้นไปได้อีกตามราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นประมาณ 6% ต่อปี ด้านผลตอบแทนจากการปล่อยเช่าอยู่ที่ 5-6% ต่อปี หรือ 10,000 – 13,000 บาทต่อเดือน เนื่องจากเป็นทำเลที่อยู่ใกล้เคียงกับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าทั้งสายสีน้ำเงิน และสายสีแดงอ่อน เพราะฉะนั้น หากมีโครงการที่สามารถพัฒนาให้มีราคาในระดับนี้และอยู่ติดสถานีฯจะเป็นโครงการที่น่าสนใจมาก” นายอนุกูล กล่าว
เปิดราคาที่ดินล่าสุด เริ่มใช้ปี 61′

เปิดราคาที่ดินล่าสุด เริ่มใช้ปี 61′

ที่ดินเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นอยู่ตลอด โดยผู้ที่กำหนดราคาที่ดิน คือ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ซึ่งมีการประกาศราคาประเมินที่ดินใหม่ โดยเปลี่ยนวิธีการจากเดิมประเมินเป็นรายบล็อก เป็นการประเมินราคารายแปลงทั้งหมด 32 ล้านแปลง ราคาใหม่นี้เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2561 โดยราคาที่ดินสูงสุดเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร เรียงตามลำดับ ดังนี้ 1.ถ.สีลม เขตบางรัก ตารางวาละ 1,000,000 บาท 2.ถ.เพลินจิต ถ.พระราม1 ถ.ราชดำรอ เขตปทุมวัน ตารางวาละ 900,000 บาท 3.ถ.สาทร เขตสาทร เขตบางรัก ตารางวาละ 750,000 บาท 4.ถ.วิทยุ เขตปทุมวัน ถ.เยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ ตารางวาละ 700,000 บาท 5.ถ.สุขุมวิท เขตวัฒนา คลองเตย ตารางวาละ 650,000 บาท 6.ถ.พัฒนพงษ์ ถ.ธนิยะ ถ.นราธิวาสฯ เขตบางรัก ตารางวาละ 600,000 บาท 7.ถ.สำเพ็ง ถ.ราชวงศ์ ตารางวาละ 550,000 บาท 8.ถ.พญาไท ถ.ศาลาแดง ถ.สุรวงศ์ ถ.เจริญกรุง ถ.คอนแวนต์ เขตบางรัก ถ.พระราม 4 ถ.หลังสวน เขตปทุมวัน ถ.มังกร เขตสัมพันธวงศ์ ตารางวาละ 500,000 บาท 9.ถ.มหาจักร เขตสัมพันธวงศ์ ตารางวาละ 475,000 บาท 10.ถ.พระสุเมรุ เขตพระนคร ตารางวาละ 470,000 บาท   ส่วนที่ดินที่ถูกที่สุดในเขตกรุงเทพมหานคร เรียงตามลำดับ ดังนี้ 1.เขตบางขุนเทียน บริเวณคลองโล่งชายทะเล ตารางวาละ 500 บาท 2.คลองพิทยาลงกรณ์ คลองโล่ง เขตบางขุนเทียน ตารางวาละ 800 บาท 3.ถ.ร่วมพัฒนา ถ.คู้คลองสิบ ถ.มิตรไมตรี เขตหนองจอก ตารางวาละ 850 บาท 4.ถ.สุวินทวงศ์ ถ.เลียบวารี เขตหนองจอก ถ.ขุมทอง-ลำต้อยติ่ง เขตลาดกระบัง ตารางวาละ 1,000 บาท 5.ถ.คลองเกาะโพธิ์ ถ.บางขุนเทียนเลียบชายทะเล ตารางวาละ 1,200 บาท 6.ถ.ราษฎร์อุทิศ เขตมีนบุรี คลองสามวา ตารางวาละ 1,300 บาท 7.ถ.พระราม 2 คลองสนามชัย และถ.แสมดำ เขตบางขุนเทียน ตารางวาละ 1,500 บาท 8.ถ.เอกชัย ถ.พระราม 2 เขตบางขุนเทียน 2,000 บาท 9.ซ.เทียนทะเล 22 ตารางวาละ 2,400 บาท 10.คลองหนามแดง ถ.เอกชัย ถ.บางบอน 4 เขตบางขุนเทียน ตารางวาละ 2,500 บาท ราคาที่ดินสูงสุดในต่างจังหวัด เรียงตามลำดับ ดังนี้ 1.อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ตารางวาละ 400,000 บาท 2.อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ตารางวาละ 250,000 บาท 3.ถ.เลียบหาดพัทยา จ.ชลบุรี ตารางวาละ 220,000 บาท 4.ถ.ศรีจันทร์ จ.ขอนแก่น ตารางวาละ 220,000 บาท 5.ถ.เนรมิต จ.นครศรีธรรมราช ถ.ทวีวงศ์ จ.ภูเก็ต ตารางวาละ 200,000 บาท 6.ถ.โพศรี จ.อุดรธานี ตารางวาละ 180,000 บาท 7.ถ.กรุงเทพฯ-นนทบุรี จ.นนทบุรี ถ.สุขยางค์ จ.ยะลา ตารางวาละ 170,000 บาท 8.ถ.สุขุมวิท กรุงเทพ-คลองสำโรง จ.สมุทรปราการ ตารางวาละ 160,000 บาท 9.ถ.ราชดำเนิน จ.ตรัง ถ.หน้าเมือง จ.สุราษฎร์ธานี ตารางวาละ 150,000 บาท 10.ถ.อัษฎางค์ ราชดำเนิน ถ.จอมพล จ.นครราชสีมา ตารางวาละ 130,000 บาท   ส่วนที่ดินที่ถูกที่สุดในต่างจังหวัด ซึ่งทั้งหมดเป็นที่ดินตาบอด เรียงตามลำดับ ดังนี้ 1.อ.โคกเจริญ จ.ลพบุรี ตารางวาละ 20 บาท 2.อ.กัลยาณิวัฒนา แม่แจ่ม อมก๋อย จ.เชียงใหม่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ตารางวาละ 25 บาท 3.อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ตารางวาละ 30 บาท   การประเมินราคาใหม่นี้ใช้เกณฑ์อ้างอิงหรือเป็นฐานในการจัดเก็บภาษี ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิ นิติกรรม ใช้ในการเวนคืน และใช้เพื่อเพื่อรองรับกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาในชั้นสภานิติบัญญัติ