Tag : ลูกบ้าน

1 ผลลัพธ์
ปัญหายอดฮิต ของชาวคอนโด

ปัญหายอดฮิต ของชาวคอนโด

ปัญหายอดฮิต ของชาวคอนโดที่ต้องเจอ เคยได้ยินคนบอกกันมั้ยครับว่า "ปัญหามีไว้แก้" หรือ "ปัญหามีไว้ฝึกปัญญา" แต่หลายๆ ครั้งก็ต้องยอมรับกันครับว่า ปัญหาในคอนโดบ้านเราเป็นปัญหาที่ต้องทำใจ และทำใจกันอย่างเดียว! วันนี้เราลองมาดูกันครับว่า ปัญหาหรือคำถามยอดฮิตที่พวกเราน่าจะเจอกันประจำในคอนโดมีอะไรบ้าง 1. ที่จอดรถไม่พอ ปัญหาอมตะครับสำหรับคอนโดเมืองไทย แถมพ่วงด้วยปัญหาต่อเนื่องอื่นอีก เช่น จอดรถซ้อนกัน (โดยเฉพาะในชั้นเตี้ยทั้งที่ชั้นสูงก็ยังมีที่จอด) คนที่มีสิทธิจอดไม่ตายตัว (Float) แต่ไปแอบจอดในตำแหน่งตายตัว (Fixed) ของคนอื่น โชคไม่ดีครับว่า สคบ. และกฎหมายบ้านเรายังไม่มีกฎเกณฑ์บังคับกับผู้ประกอบการว่าจะต้องทำที่จอดรถอย่างน้อยเท่าไหร่ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจ (และ Profit Margin) ของผู้ประกอบการแต่ละรายเองว่าจะทำเป็นสัดส่วนเท่าไร เช่น 100 ห้องอาจทำที่จอดครบ 100 ตำแหน่ง หรือ 100 ห้องแต่มีที่จอดแค่ 60 ตำแหน่ง (รวมหรือไม่รวมจอดซ้อน) วิธีเลี่ยงปัญหาที่ดีที่สุดคือ ซื้อคอนโดแบบมีกรรมสิทธิ์ในที่จอดรถด้วย (ซึ่งจะต้องระบุกรรมสิทธิ์ชัดเจนในหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดด้วย)แต่ราคาก็จะแพงสุดๆ ทีเดียว หรือเสนอที่ประชุมให้ตั้งกฎกติกาจอดรถชัดเจน เช่น กำหนดตายตัวให้จอดรถได้ 1 ห้องต่อ 1 คัน เท่าเทียมกันทุกห้อง (ไม่ว่าห้องเล็กหรือห้องใหญ่) ส่วนคันต่อไปต้องเสียเงิน หรือต้องจอดนอกโรงจอดรถหรือกำหนดว่าหากมีการจอดทับสิทธิบนตำแหน่งที่จอดรถตายตัวของคนอื่น ก็ให้มีการล็อคล้อกันไปเลย เป็นต้น   2. ไม่เข้าร่วมประชุมลูกบ้าน กฎหมายคอนโดกำหนดให้มีการเรียกประชุมใหญ่ (สามัญ) ลูกบ้านปีละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย (และอาจมีประชุมย่อยที่เรียกว่าวิสามัญได้อีกกี่ครั้งก็ได้) การไม่เข้าประชุมไม่มีความผิดใดๆแต่จะทำให้เสียสิทธิในการแสดงความเห็น และออกเสียงในการบริหารจัดการคอนโด ในการประชุมออกเสียงลงคะแนน ต้องยอมรับครับว่าห้องใหญ่จะมีคะแนนเสียงมากกว่าห้องเล็ก เพราะคะแนนเสียงจะเท่ากับสัดส่วนพื้นที่ของแต่ละห้องต่อพื้นที่ทั้งหมดของทุกห้องในอาคารนั้นข้อแนะนำคือปกติเวลาจะมีประชุม เราจะได้รับเอกสารนัดประชุมพร้อมเรื่องที่จะมีการประชุมกัน ถ้าเราเจอเรื่องสำคัญ (เช่น พิจารณาการขึ้นค่าส่วนกลาง) หรือเป็นเรื่องที่กระทบกับความเป็นอยู่เรา (เช่น การเปลี่ยนกฎเกณฑ์การจอดรถ)เราก็ควรเข้าประชุม หรือมอบฉันทะให้เพื่อน หรือคนรู้จักในคอนโดเข้าร่วมประชุม และออกเสียงแทน แต่ผู้รับมอบฉันทะ 1 คนจะรับมอบอำนาจจากคนอื่นเกิน 3 ห้องไม่ได้นะครับ และจะมอบให้กรรมการ เจ้าหน้าที่นิติฯ หรือผู้จัดการนิติฯหรือผู้จัดการนิติฯ เป็นผู้รับมอบก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะทั้งหมดนี้กฎหมายห้ามไว้ หากเราเป็นกรรมการแล้วอยากให้เข้าร่วมประชุมกันเยอะๆ ก็อาจกระตุ้นโดยการแถมคูปองจอดรถสำหรับ Visitor ให้คนที่เข้าร่วมประชุมโดยมีมูลค่าแล้วแต่จะกำหนดวิธีนี้ก็ได้ผลดีไม่เลวเหมือนกัน   3. ใช้ทรัพย์ส่วนกลางกันจนเสียหาย และไม่เกรงใจเพื่อนบ้าน ปัญหานี้มีสารพัดมากมาย ตั้งแต่ทิ้งขวดน้ำกระป๋องเบียร์ไว้ข้างสระว่ายน้ำ จัดงานปาร์ตี้เสียงดังในสวน โยนรองเท้า กองถุงขยะไว้หน้าห้อง พาคนนอกเข้ามาใช้ยิม รือห้องอ่านหนังสือ ซึ่งเรื่องพวกนี้คงต้องอาศัยพวกเราชาวคอนโดช่วยกันเป็นหูเป็นตาแจ้งให้นิติฯ จัดการ โดยปกติในข้อบังคับทุกคอนโดจะเขียนไว้ว่า ถ้ามีการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้ทรัพย์ส่วนกลางเหล่านี้ ผลจะเป็นเช่นไร เช่น เรียกค่าเสียหาย แจ้งความ งดการให้บริการสาธารณูปโภค แต่ปัญหาคอนโดบ้านเรา คือการบังคับใช้กฎ เพราะแม้จะเขียนกฎไว้ แต่ถ้านิติฯ ไม่บังคับใช้กฎอย่างจริงจัง ปัญหาบางอย่างก็บานปลายออกไปได้ หรือแม้กระทั่งเรื่องเล็กน้อย อย่างเช่น การเจาะกำแพงแขวนนาฬิกาบนผนังด้านที่ติดกับอีกห้องหนึ่งโดยไม่ถามเขาก่อน เพราะถ้าว่ากันตามหลักแล้ว เรื่องนี้ก็ถือว่าผิดเช่นกัน เพราะผนังกั้นห้องนี้ถือเป็นกรรมสิทธิ์รวมของเจ้าของห้อง 2 ห้องที่ติดกันนี้นะครับ ดังนั้น ถ้าจะทำอะไรกับผนังนี้ต้องได้รับความยินยอมจากห้องที่ติดกันนี้ก่อนเสมอครับ   4. เลี้ยงสัตว์ในคอนโด คอนโดบ้านเราส่วนใหญ่จะมีกฎห้ามเลี้ยงสุนัข หรือแมว ทั้งนี้เพื่อความเป็นระเบียบ สะอาด และเงียบสงบของผู้อยู่อาศัยทุกคน ทางที่ดีทุกคนควรรักษากฎข้อนี้นะครับเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ถ้าท่านใดอยากเลี้ยงสุนัข หรือแมวจริงๆ ขอแนะนำให้มองหาคอนโดที่ยอมให้เลี้ยงได้ ในกรณีที่เราเห็นคนเลี้ยงสุนัข หรือแมวซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับคอนโด เราควรแจ้งนิติฯ ให้เข้ามาจัดการโดยเร็วเพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม เพราะถ้าเราปล่อยให้คนทำผิดข้อบังคับไปเรื่อยๆ โดยไม่มีใครร้องเรียน หรือจัดการ จะทำให้การดำเนินการกับเจ้าของห้องที่แอบเลี้ยงสุนัขเป็นไปได้ยากขึ้นเรื่อยๆ   5. โทรศัพท์มือถือสัญญาณแย่ คอนโดห้องสูงในหลายๆ คอนโดมักจะมีปัญหานี้โดยส่วนใหญ่จะเริ่มมีปัญหากันตั้งแต่ชั้น 10 ขึ้นไป (หรือแม้กระทั่งบางทีห้องชั้นเดียวกัน แต่ห้องด้านหนึ่งมีสัญญาณ แต่ห้องอีกด้านกลับไม่มี)  ทั้งนี้ เป็นเพราะว่าในแง่วิศวกรรมนั้น การส่งสัญญาณโทรศัพท์จะเป็นการส่งลงมาจากเสาสัญญาณที่สูง เป็นรูปกรวยลงมาบนพื้นดิน ไม่ได้ยิงในระนาบเดียวกับเสาสัญญาณ ทำให้ห้องที่อยู่สูงๆ หรือห้องบางทิศไม่สามารถรับสัญญาณโทรศัพท์ที่เพียงพอได้ วิธีที่อาจจะช่วยแก้ปัญหาได้คือ ขอให้นิติฯ ติดต่อค่ายโทรศัพท์ให้เข้ามาติดตั้งตัวขยายสัญญาณเพิ่มในคอนโด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งค่ายโทรศัพท์ และนิติฯ ทั้งสองฝ่ายด้วยครับ (เช่น นิติฯ ต้องยอมเสียค่าใช้จ่ายในการติดตั้งด้วย  เป็นต้น) หรือหากคอนโด หรือละแวกนั้นมีปัญหากันมากๆ ก็คงต้องรวมตัวกันติดต่อไปที่ค่ายโทรศัพท์ เพื่อให้ติดเสาสัญญาณ หรืออุปกรณ์เครือข่ายเพิ่มในละแวกนั้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะค่าใช้จ่ายจะสูงมากสำหรับค่ายโทรศัพท์ (และจะไม่เกี่ยวกับนิติฯ คอนโดของเรา   6. ค้างค่าส่วนกลาง หรือเงินส่วนกลางหาย ปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่เกิดบ่อย คือ ลูกบ้านบางคนไม่จ่ายค่าส่วนกลาง นิติฯ หรือคณะกรรมการบางคนทำตัวมาเฟียไม่โปร่งใสในเรื่องเงินๆ ทองๆ ในการบริหารจัดการคอนโด ปัญหาแรกเป็นเรื่องของการทำผิดกฎหมายคอนโดชัดเจน พราะกฎหมายกำหนดให้ลูกบ้านต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ผลของการไม่จ่ายตามกฎหมายคือ (ก) อาจโดนเงินเพิ่มร้อยละ 12 และถ้าค้างเกิน 6 เดือนอาจโดนถึงร้อยละ 20 และอาจถูกระงับการให้บริการสาธารณูปโภค หรือใช้ทรัพย์ส่วนกลางด้วย และ (ข) คอนโดห้องที่ค้างชำระส่วนกลางจะทำนิติกรรมการโอนไม่ได้ เพราะผู้จัดการนิติฯ จะไม่ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้ ซึ่งจะทำให้จดทะเบียนขายไม่ได้ ส่วนปัญหาเรื่องไม่โปร่งใสนั้น กฎหมายกำหนดให้นิติฯ จะต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายทุกเดือน และติดประกาศให้ลูกบ้านทราบทุกเดือน นอกจากนี้ นิติฯ จะต้องทำรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงาน และงบดุล และปิดประกาศไว้ที่สำนักงานนิติฯ และเก็บไว้อย่างน้อย 10 ปีด้วย และหากนิติฯ ไม่ทำสิ่งเหล่านี้ ผู้จัดการนิติฯและประธานคณะกรรมการจะมีความผิด และต้องรับโทษปรับตามกฎหมายคอนโด ดังนั้น วิธีแก้คือพวกเราควรช่วยกันสอดส่องตัวเลขเหล่านี้ และถ้าเจออะไรมีพิรุธก็ควรดำเนินการตามกฎหมายทันที   7. ปัญหาน้ำรั่วน้ำซึม ปัญหานี้เกิดขึ้นได้บ่อยจากหลายสาเหตุ เช่น บางห้องไม่อยู่นานแล้วลืมปิดก๊อกน้ำ ปั๊มน้ำคอนโด หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของระบบแรงดันน้ำรั่วหรือเสีย รอยต่อท่อส่วนกลางรั่วหรือแตก เป็นต้น ดังนั้นถ้าจะดูว่าใครต้องรับผิดชอบคงต้องดูว่าสาเหตุเกิดจากอะไร วิธีปฏิบัติที่ดีหากเกิดกรณีเช่นนี้คือ แจ้งให้นิติฯ ทราบเพื่อเข้ามาช่วยดู และพิจารณาร่วมกันว่า น้ำที่รั่วเกิดจากสาเหตุอะไร เกิดจากทรัพย์สินของใคร และจะรับผิดชอบกันอย่างไร แต่ในบางกรณีก็เป็นการยากที่จะขีดเส้นแบ่งว่า น้ำที่รั่วเกิดจากทรัพย์ส่วนบุคคลของห้องชุดห้องไหน (ซึ่งเจ้าของห้องชุดนั้นเองจะต้องรับผิดชอบ) หรือเกิดจากทรัพย์ส่วนกลาง (ซึ่งนิติฯ จะต้องรับผิดชอบ) ซึ่งถ้าไม่ชัดเจนแบบนี้ ก็คงขึ้นอยู่กับความเห็นของช่างประปา การพูดคุยหารือกันของเจ้าของห้องที่ได้รับผลกระทบ และการเข้ามาช่วยแก้ปัญหา หรือเจรจาไกล่เกลี่ยของนิติฯ แต่ถ้าชัดเจนว่าเกิดจากเจ้าของห้องใดห้องหนึ่ง เช่น เจ้าของห้องไม่อยู่แล้วเปิดน้ำทิ้งไว้อย่างประมาทเลินเล่อ แล้วเจ้าของห้องนี้ไม่ยอมรับผิดชอบ ห้องติดกันที่เสียหายมีสิทธิเล่นงานตามกฎหมาย สามารถเรียกค่าเสียหายจากเจ้าของห้องนี้ได้เลยครับ โดยถือเป็นความผิดฐานละเมิดสร้างความเสียหายให้แก่ผู้อื่น   8. ยาม และแม่บ้านละเลยหน้าที่ ปัญหานี้เกิดขึ้นได้ทั้งในอาคาร แหล่งพักอาศัย และคอนโดทุกประเภท หากรปภ.ปล่อยปละละเลยในการต้องแลกบัตรของ Visitor ไม่บังคับใช้กฎกับคนที่จอดรถไม่ถูกที่ถูกทาง หรือแม่บ้านไม่ทำความสะอาดส่วนกลางให้ดี หรือมาทำงานสายเป็นประจำ ปัญหาเหล่านี้จะมีผลต่อเนื่องไปถึงเรื่องความปลอดภัยของลูกบ้าน และความสะอาดภายในคอนโด ทางแก้ในเรื่องนี้คือ นิติบุคคลอาคารชุดจะต้องกำกับดูแลการทำงานของยาม และแม่บ้านอย่างเข้มงวด และลูกบ้านก็ควรจะช่วยกันสอดส่องดูแลการทำงานของยาม และแม่บ้านเหล่านี้ด้วย หากเห็นว่ายาม หรือแม่บ้านละเลยไม่ทำหน้าที่ที่ควรทำ เราก็ควรดำเนินการ หรือแจ้งให้ผู้จัดการนิติบุคคลทราบเพื่อแก้ปัญหากันต่อไปครับ   9. อาคารชำรุดเสียหายควรทำอย่างไร ความเห็นในเชิงวิศวกรรมส่วนใหญ่เห็นว่า อาคารคอนโดสามารถยืนระยะให้อยู่ในสภาพที่ดี หรือใช้การได้ดีได้นานอย่างน้อยถึงประมาณ 30 ปี (ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาซ่อมแซมเป็นหลักด้วย) แล้วถ้าเกิดความเสียหาย เช่น ไฟไหม้ หรือแผ่นดินไหวกับตัวตึกก่อนหรือหลังจากนั้น ตามหลักแล้ว ถ้าอาคารเสียหายไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน การจะซ่อมหรือไม่ซ่อมอย่างไรนั้น จะขึ้นอยู่กับมติของเจ้าของห้องชุดเป็นหลักเสมอครับ เช่น ถ้าว่ากันตามหลักกฎหมายคอนโดบ้านเราตอนนี้ ถ้าเกิดกรณีเสียหายทั้งหมด หรือบางส่วน แต่เกินครึ่งของจำนวนห้องชุดทั้งหมด จะขึ้นอยู่กับมติไม่น้อยกว่า 50% ของจำนวนห้องชุดทุกห้อง แต่ถ้าเสียหายบางส่วน หรือไม่ถึงครึ่งของจำนวนห้องชุดทั้งหมด จะขึ้นอยู่กับมติไม่น้อยกว่า 50% ของเจ้าของห้องชุดที่เสียหาย ซึ่งไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม ค่าใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมทรัพย์ส่วนกลาง เจ้าของห้องชุดทุกคนจะต้องร่วมกันรับผิดชอบเฉลี่ยตามส่วนที่ตนมีในทรัพย์ส่วนกลาง แต่ถ้าเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมทรัพย์ส่วนบุคคลในห้องชุดของแต่ละคน เจ้าของห้องชุดที่เสียหายต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองนะครับ ซึ่งถ้ามีการทำประกันภัยครอบคลุมความเสียหายพวกนี้ไว้ ก็จะเป็นประโยชน์ทีเดียว   10. นิติบุคคลอาคารชุดไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหาสุดท้ายแต่เป็นปัญหาที่ใหญ่ทีเดียว โดยหลักแล้ว วัตถุประสงค์ของการมีนิติบุคคลอาคารชุดตามกฎหมายคือ เพื่อจัดการ และดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และให้มีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว โดยในตัวของนิติบุคคลเองก็จะประกอบไปด้วย 1) ผู้จัดการ 1 คน (แต่งตั้งตามมติที่ประชุมใหญ่ของลูกบ้าน) โดยผู้จัดการมีหน้าที่ปฏิบัติตามมติที่ประชุมลูกบ้าน จัดให้มีการดูแลความปลอดภัย หรือความสงบเรียบร้อย จัดให้มีการทำบัญชีรายรับรายจ่าย และอื่นๆ 2) คณะกรรมการนิติบุคคล (แต่งตั้งโดยที่ประชุมลูกบ้าน) โดยคณะกรรมการจะมีหน้าที่ควบคุมจัดการนิติบุคคลอาคารชุด และอื่นๆ ในทางปฏิบัติ ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นคือ ผู้จัดการอาจไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ในการบังคับใช้กฎ หรือขาดซึ่งประสบการณ์ในการจัดการกับผู้อยู่อาศัยในคอนโด ในทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าเป็นการยากที่จะหาคนเข้ามาเป็นคณะกรรมการ (โดยเฉพาะคนที่มีประสบการณ์ที่เหมาะสมที่จะเข้ามาเป็น เช่น นักบัญชี นักกฎหมาย หรือวิศวกรที่รู้เรื่องอาคาร) เพราะการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการนั้นจำเป็นต้องมีเวลาพอสมควร เช่น ต้องเข้าร่วมประชุมบ่อย แถมยังเปลืองตัวโดนด่า (ต้องตัดสินใจในเรื่องที่ไม่ค่อยเป็นที่ชื่นชอบของลูกบ้านหลายๆ คนแต่เป็นประโยชน์สำหรับส่วนรวม) และการเป็นคณะกรรมการก็ไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นหากคนที่เข้ามาเป็นผู้จัดการ หรือคณะกรรมการไม่มีประสิทธิภาพ ความรู้ หรือประสบการณ์ในการแก้ปัญหาที่เพียงพอ ก็อาจนำมาซึ่งปัญหา หรือทำให้ปัญหาบางอย่างเรื้อรังได้ง่ายๆ