Tag : สร้างบ้าน

4 ผลลัพธ์
บ้านสั่งสร้าง VS บ้านโครงการ อันไหนดีกว่ากัน?

บ้านสั่งสร้าง VS บ้านโครงการ อันไหนดีกว่ากัน?

ความสุขสำหรับใครหลายๆ คนคือการได้เจอและอยู่ในสถานที่ให้ความรู้สึกว่าเป็นที่ของเราใช่ไหมคะ เช่นเดียวกับการเลือกบ้านสักหลังหนึ่งที่ใครต่างให้คำนิยามว่าเป็น ‘พื้นที่ส่วนตัว’ หากคุณผู้อ่านกำลังมีแพลนจะซื้อบ้านใหม่ แต่ยังคงลังเลใจว่าควรซื้อบ้านโครงการที่สร้างไว้แล้วพร้อมเข้าอยู่ หรือบ้านสั่งสร้างโดยมองหาบริษัทออกแบบรับเหมาก่อสร้างดีนะ? วันนี้ทีมงาน Review Your Living เลยได้รวบรวมระหว่างข้อดีกับข้อเสียของบ้านสั่งสร้างและบ้านโครงการมาฝากค่ะ ซึ่งเรียกว่าเป็นตัวช่วยสำคัญ แก่การตัดสินใจเลือกบ้านแสนรักของคุณนั่นเอง เรียบเรียงโดย Review Your Living ข้อดีของบ้านสั่งสร้าง 1. เลือกบริษัทออกแบบบ้านได้ตามต้องการและสามารถควบคุมงบประมาณได้ ข้อนี้ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญของบ้านสั่งสร้างเลยล่ะคะ เพราะคุณจะสามารถกำหนดงบประมาณเองได้ โดยเอาแบบแปลนบ้านที่ใช่ให้บริษัทออกแบบรับเหมาก่อสร้างประเมิน ซึ่งถ้าหากผู้รับเหมาตีราคาสูงเกินงบไป ก็สามารถต่อรองหรือปรับเปลี่ยนแก้แบบ หรือเลือกใช้วัสดุในงบประมาณที่พอดีได้ค่ะ 2. เลือกแบบบ้านและปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งานได้ตามใจ ขึ้นชื่อว่า ‘บ้าน’ ทุกคนก็คงอยากเลือกทุกสิ่งทุกอย่างเองใช่ไหมคะ? การสั่งสร้างก็เป็นทางเลือกหนึ่งของการเนรมิตทุกสิ่งให้ออกมาอย่างใจ เพราะเราสามารถเลือกแบบบ้านในสไตล์ที่ใช่ ทั้งยังสามารถเลือกวัสดุและสีที่ชอบ รวมไปจนถึงการปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นทุกอย่างในบ้านให้ออกมาตามดั่งความต้องการ 3. มีระยะเวลาผ่อนนาน การสั่งสร้างนั้นมีระยะเวลาผ่อนนานกว่าบ้านที่สร้างเสร็จแล้ว ซึ่งสามารถผ่อนชำระเป็นงวดๆ ทำให้ทุกคนมีโอกาสเป็นเจ้าของบ้านกันง่ายขึ้น   ข้อเสียของบ้านสั่งสร้าง 1. ไม่สามารถเข้าอยู่ได้ทันที อย่างที่ทราบกันดีว่าบ้านสั่งสร้างต้องใช้เวลาในการดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งก็จะดำเนินไปตามขั้นตอนและระยะเวลาในการจ้างที่ตกลงกับผู้รับเหมา ดังนั้นใครที่คิดเลือกบ้านสั่งสร้างก็ต้องใจเย็นๆ นะจ๊ะ 2. ปัญหาการทิ้งงานหรือล่าช้า คงปฏิเสธไม่ได้เลยค่ะว่าปัญหาทิ้งงานหรืองานล่าช้านั้นเกิดขึ้นเยอะมากในวงการสร้างบ้าน ดังนั้นถ้าคุณเลือกบ้านสั่งสร้างก็ควรทำการบ้านหาข้อมูลดีๆ อาทิ ผลงานที่ผ่านมา ชื่อเสียงและการตอบรับจากลูกค้า รายละเอียดสัญญา รวมไปจนถึงข้อตกลงของบริษัทนั้นๆ เป็นต้น 3. สภาพแวดล้อมไม่เหมือนบ้านโครงการ แน่นอนค่ะว่าการสั่งสร้างบ้านนั้น สภาพแวดล้อมก็คงไม่ได้สวยงามและแวดล้อมไปด้วยสาธารณูปโภคเหมือนดั่งบ้านตามโครงการทั่วไป ดังนั้นหากคุณจะกำลังมองหาที่ดินสักแปลงหนึ่งไว้สำหรับปลูกบ้าน ก็ควรเลือกทำเลที่ใช่เพื่อง่ายต่อการเดินทางสักหน่อยแล้วกันค่ะ   ข้อดีบ้านโครงการ 1. เลือกทำเลที่สะดวกต่อการเดินทาง ข้อดีข้อนี้ให้คะแนน 10/10 ไปเลยค่ะ เพราะเนื่องจากทุกวันนี้ไม่ว่าจะจังหวัดไหนรถก็ติดเหลือเกิน การเผื่อเวลาในการเดินทางเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก แต่จะดีแค่ไหนถ้าบ้านเราอยู่ในทำเลที่ง่ายต่อการเดินทางเหมือนดั่งบ้านโครงการทั่วไปที่มักอยู่ใกล้จุดขึ้นลงทางด่วน รวมไปจนถึง BTS,MRT แค่นี้ก็เดินทางสบายแล้วค่ะ 2. ความสะดวกสบายระบบน้ำ/ไฟ รวมถึงสาธารณูปโภคและความปลอดภัย แน่นอนล่ะคะว่าบ้านโครงการส่วนใหญ่จะเดินสายไฟ ต่อท่อน้ำทุกอย่างให้เสร็จสรรพโดยที่คุณไม่ต้องเสียเงินจ้างช่างเฉพาะเพิ่ม ทั้งยังมีพื้นที่ส่วนกลางอย่าง สระว่ายน้ำ สวนสวย ฟิตเนต รองรับลูกบ้านอีกต่างหาก ที่สำคัญคือปลอดภัยไม่ต้องกลัวขโมยค่ะเพราะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง 3. ขอสินเชื่อง่าย บ้านโครงการส่วนใหญ่มักได้รับความร่วมมือและเชื่อถือจากหลายสถาบันการเงิน ดังนั้นการเลือกซื้อบ้านโครงการจึงมีแนวโน้มที่จะยื่นกู้และอนุมัติได้ง่ายค่ะ   ข้อเสียบ้านโครงการ 1. ไม่สามารถควบคุมเรื่องคุณภาพวัสดุ แน่นอนค่ะว่าบ้านโครงการส่วนใหญ่มักดำเนินการสร้างไว้พร้อมอยู่แล้วและรอเพียงการตัดสินใจซื้อของคุณเท่านั้น ดังนั้นคุณภาพของวัสดุจึงต้องเป็นไปตามการเลือกใช้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ ซึ่งบางทีอาจไม่ตรงตามความต้องการของคุณ ข้อแนะนำคือศึกษาข้อมูลให้ดีและพิจารณาจากการสำรวจบ้านตัวอย่างที่สร้างเสร็จแล้วค่ะ 2. ไม่สามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งานได้รวมถึงแบบบ้านมีให้เลือกน้อย เพราะแบบบ้านแต่ละโครงการมักถูกออกแบบและคิดฟังก์ชั่นการใช้งานมาแล้ว การปรับเปลี่ยนจึงเป็นเรื่องยาก ข้อแนะนำก็คือควรเลือกแบบบ้านและขนาดที่ลงตัวที่สุดเพื่อความสุขในทุกๆ วันนะคะ 3. มีข้อจำกัดในเรื่องของการต่อเติม การต่อเติมบ้านโครงการมักมีข้อจำกัดเยอะ เนื่องจากต้องคำนึงถึงสภาพพื้นที่ เพื่อนบ้าน การขนย้ายวัสดุก่อสร้าง ตลอดจนการแก้ปัญหาน้ำรั่วและรอยต่อของอาคาร และการขออนุญาตก่อสร้างด้วย ดังนั้นควรต้องศึกษาข้อมูลให้ดีรวมไปจนถึงขอคำปรึกษาจากวิศวกรก่อนก็จะช่วยทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นค่ะ เป็นยังไงกันบ้างค่ะกับบทความดีๆ ที่เราเอามาฝาก ยังมีบทความน่ารู้อีกมากมายให้ได้ติดตามกันได้ที่นะคะ https://goo.gl/dwpzgr
จะก่อสร้างบ้านต้องรู้เรื่องระยะห่างระหว่างอาคารกรณีอยู่ในที่ดินเจ้าของเดียวกัน

จะก่อสร้างบ้านต้องรู้เรื่องระยะห่างระหว่างอาคารกรณีอยู่ในที่ดินเจ้าของเดียวกัน

หลายครอบครัวเมื่อลูกหลานโตพอ หรือมีการแต่งงานสร้างครอบครัวใหม่ บางครั้งก็วางแผนต่อเติม ปรับปรุงบ้าน หรือสร้างบ้านใหม่อีกหลังในที่ดินเดียวกับบ้านหลังเดิม เพื่อที่จะได้อยู่ใกล้ๆ กัน หรือบางท่านมีที่ดินผืนใหญ่ แล้ววางแผนจะสร้างบ้านหลายหลังบนที่ดินผืนนั้น เพื่อให้ลูกหลานอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ แต่ยังไม่ได้แยกกรรมสิทธิ์ที่ดินออกไป ถ้าท่านกำลังมีแผนเช่นที่ว่าอยู่พอดี หากได้ศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายต่อเติม สร้างบ้าน ก็จะทราบว่า กฎหมายควบคุมอาคารมีข้อกำหนดเรื่องการก่อสร้างอาคารในที่ดินเจ้าของเดียวกันไว้  โดยอาคารแต่ละหลังจะต้องมีระยะห่างระหว่างกัน  ดังนั้น ไม่ว่าท่านกำลังจะก่อสร้างบ้านใหม่อีกหลังใกล้กับบ้านหลังเดิม หรือท่านกำลังสร้างบ้านใหม่หลายหลังพร้อมกัน ถ้าบ้านทั้งสองหลังหรือหลายหลังนั้นสร้างอยู่ในที่ดินเจ้าของเดียวกันจะต้องคำนึงถึงระยะห่างระหว่างอาคารด้วย บ้านแต่ละหลังจะต้องมีระยะห่างระหว่างกันไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกำหนดไว้ในข้อ 48 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ระยะห่างระหว่างบ้านหรืออาคารในที่ดินเจ้าของเดียวกัน จะห่างเท่าใด กฎหมายกำหนดให้พิจารณาจาก 2 เงื่อนไข คือ 1) ความสูงของอาคารทั้งสองหลัง และ 2) ผนังของอาคารทั้งสองหลังด้านที่ใกล้กันนั้นเป็นผนังทึบหรือมีช่องเปิด-ช่องแสง-ระเบียง แยกเป็น 3 กรณี ดังนี้ กรณีที่ 1 เมื่อผนังอาคารด้านที่ใกล้กันเป็นผนังที่มีช่องเปิด-ช่องแสงหรือมีระเบียง ทั้งสองหลัง ผนังของอาคารด้านที่มี หน้าต่าง ประตู ช่องระบายอากาศหรือช่องแสงหรือระเบียงของอาคาร ต้องมีระยะห่างจากผนังของอาคารอื่นด้านที่มีหน้าต่าง ประตู ช่องระบายอากาศหรือช่องแสง หรือระเบียงของอาคาร ดังต่อไปนี้ (ก) อาคารที่มีความสูงไม่เกิน 9 เมตร ผนังหรือระเบียงของอาคารต้องอยู่ห่างจากผนังหรือระเบียงของอาคารอื่นที่มีความสูงไม่เกิน 9 เมตร ไม่น้อยกว่า 4 เมตร (ข) อาคารที่มีความสูงไม่เกิน 9 เมตร ผนังหรือระเบียงของอาคารต้องอยู่ห่างจากผนังหรือระเบียงของอาคารอื่นที่มีความสูงเกิน 9 เมตร แต่ไม่ถึง 23 เมตร ไม่น้อยกว่า 5 เมตร (ค) อาคารที่มีความสูงเกิน 9 เมตร แต่ไม่ถึง 23 เมตร ผนังหรือระเบียงของอาคารต้องอยู่ห่างจากผนังหรือระเบียงของอาคารอื่นที่มีความสูงเกิน 9 เมตร แต่ไม่ถึง 23 เมตร ไม่น้อยกว่า 6 เมตร กรณีที่ 2 เมื่อผนังอาคารด้านที่ใกล้กัน มีหลังหนึ่งเป็นผนังทึบ และอีกหลังเป็นผนังที่มีช่องเปิด-ช่องแสง หรือมีระเบียง ผนังของอาคารด้านที่เป็นผนังทึบต้องมีระยะห่างจากผนังของอาคารอื่นด้านที่มี หน้าต่าง ประตู ช่องระบายอากาศหรือช่องแสง หรือระเบียงของอาคาร ดังต่อไปนี้ (ก) อาคารที่มีความสูงไม่เกิน 15 เมตร ผนังของอาคารต้องอยู่ห่างจากผนังหรือระเบียงของอาคารอื่นที่มีความสูงไม่เกิน 9 เมตร ไม่น้อยกว่า 2 เมตร (ข) อาคารที่มีความสูงไม่เกิน 15 เมตร ผนังของอาคารต้องอยู่ห่างจากผนังหรือระเบียงของอาคารอื่นที่มีความสูงเกิน 9 เมตร แต่ไม่ถึง 23 เมตร ไม่น้อยกว่า 3 เมตร (ค) อาคารที่มีความสูงเกิน 15 เมตร แต่ไม่ถึง 23 เมตร ผนังของอาคารต้องอยู่ห่างจากผนังหรือระเบียงของอาคารอื่นที่มีความสูงไม่เกิน 9 เมตร ไม่น้อยกว่า 2.50 เมตร (ง) อาคารที่มีความสูงเกิน 15 เมตร แต่ไม่ถึง 23 เมตร ผนังของอาคารต้องอยู่ห่างจากผนังหรือระเบียงของอาคารอื่นที่มีความสูงเกิน 9 เมตร แต่ไม่ถึง 23 เมตร ไม่น้อยกว่า 3.50 เมตร กรณีที่ 3 เมื่อผนังอาคารด้านที่ใกล้กัน เป็นผนังทึบทั้งสองหลัง และทั้งสองหลังมีความสูงเกิน 15 เมตรแต่สูงไม่ถึง 23 เมตร ผนังของอาคารที่มีความสูงเกิน 15 เมตร แต่ไม่ถึง 23 เมตร ด้านที่เป็นผนังทึบต้องอยู่ห่างจากผนังของอาคารอื่นที่มีความสูงเกิน 15 เมตร แต่ไม่ถึง 23 เมตร ด้านที่เป็นผนังทึบไม่น้อยกว่า 1 เมตร กรณีที่ 3 นี้ ถ้าเป็นอาคารที่ก่อสร้างอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ระยะห่างจะต้องไม่น้อยกว่า 2 เมตรนะครับ เนื่องจากมีข้อกำหนดเรื่องที่ว่างโดยรอบอาคารที่สูงเกิน 15 เมตรไว้ สำหรับกรณีที่ 2 และกรณีที่ 3 ถ้าหากมีอาคารหลังใดหลังหนึ่งหรือทั้งสองหลังชั้นบนสุดทำเป็นดาดฟ้าขึ้นไปใช้สอยได้ กฎหมายยังได้กำหนดอีกว่า ผนังของดาดฟ้าของอาคารด้านที่อยู่ใกล้กับอาคารอื่นต้องสร้างเป็นผนังทึบสูงจากพื้นดาดฟ้าไม่น้อยกว่า 1.80 เมตรอีกด้วย   ขอขอบคุณข้อมูลจาก  www.scgbuildingmaterials.com
สร้างบ้านใหม่เลือกแบบบ้านชั้นเดียวหรือแบบบ้านสองชั้นดี?

สร้างบ้านใหม่เลือกแบบบ้านชั้นเดียวหรือแบบบ้านสองชั้นดี?

สำหรับใครที่มีที่ดินอยู่แล้ว และอยู่ในขั้นตอนกำลังตัดสินใจจะสร้างบ้าน แต่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกแบบบ้านชั้นเดียว หรือแบบบ้านสองชั้นดี  ลองพิจารณาจากปัจจัยและความเหมาะสมในด้านต่างๆ ต่อไปนี้เพื่อช่วยตัดสินใจ 1. ความต้องการ/ฟังก์ชั่น และขนาดพื้นที่ใช้สอย การกำหนดความต้องการใช้งานในบ้านหรือฟังก์ชั่นของบ้าน จะมีผลต่อขนาดพื้นที่ใช้สอย จำนวนชั้นและลักษณะของบ้าน ยกตัวอย่างเช่น ปลูกเรือนหอสามชั้นเพื่อเตรียมขยายครอบครัวซึ่งมีความต้องการพิเศษ เช่น ห้องอเนกประสงค์ ห้องทำงาน ฯลฯ,  สร้างบ้านใหม่สองชั้นโดยเตรียมพื้นที่สำหรับพ่อแม่อยู่อาศัย (ผู้สูงอายุ) ในชั้นล่าง, สร้างบ้านชั้นเดียวเพื่ออยู่อาศัยในวัยชรา, สร้างบ้าน 4 ชั้นเพื่อทำธุรกิจควบคู่ด้วย เช่น สำนักงาน ร้านกาแฟ ร้านอาหาร หรือปล่อยเช่าบางส่วน เป็นต้น ดังนั้น เจ้าของบ้านควรทำรายการความต้องการใช้สอยพื้นที่ของบ้านในส่วนต่างๆ เตรียมไว้ เพื่อปรึกษาสถาปนิกให้ออกแบบตรงตามความต้องการ หรือเลือกแบบบ้านที่ใกล้เคียงกับความต้องการมากที่สุด สำหรับครอบครัวที่มีสมาชิกในบ้านน้อยประมาณ 1-3 คน อาจเลือกแบบบ้านชั้นเดียวได้ หากไม่ได้มีความต้องการพื้นที่ใช้สอยมากนัก นอกจากนี้แบบบ้านชั้นเดียวยังเหมาะกับผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ โดยทำเป็นพื้นระดับเดียวไม่มีขั้นบันได เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ส่วนครอบครัวที่มีสมาชิกหลายคนหรือบ้านที่ทำธุรกิจควบคู่ไปด้วย แบบบ้านสองชั้นหรือหลายชั้นจะตอบโจทย์การใช้งานมากกว่า เพราะสามารถออกแบบและจัดสรรพื้นที่ใช้สอยให้เหมาะสม เพียงพอต่อการใช้งาน เช่น มีสวนภายนอกสำหรับเด็กหรือสัตว์เลี้ยง มีบ่อปลาคาร์พ มีพื้นที่จอดรถได้หลายคัน ออกแบบพื้นที่และห้องนอนและห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ หรือแบ่งพื้นที่ชั้นล่างเป็นส่วนที่คนนอกเข้าใช้งานได้เป็นร้านหรือสำนักงาน (Public Space) ส่วนชั้นบนทำเป็นพื้นที่อยู่อาศัยส่วนตัว (Private Space) เป็นต้น นอกจากนี้ ความชอบเรื่องสเปซ (Space) ก็เป็นอีกปัจจัยในการเลือกแบบบ้านเช่นกัน สำหรับบ้านชั้นเดียวสามารถออกแบบให้มีห้องโถงสูงทั้งหลัง (ฝ้าเพดานยกสูง) เพื่อช่วยทำให้ห้องดูโปร่งสบายได้ โดยยังกลมกลืนกับบ้านพักอาศัยโดยรอบ ส่วนบ้านสองชั้นสามารถเพิ่มลูกเล่นให้พื้นที่พิเศษได้ เช่น ทำห้องโถงหรือห้องรับแขกแบบดับเบิ้ลสเปซ (Double Space) หรือแม้แต่การเล่นระดับพื้นสูงต่ำภายในบ้านเพื่อแบ่งพื้นที่ส่วนต่างๆ ก็ได้เช่นกัน 2. ขนาดที่ดิน และทำเลที่ตั้ง ขนาดที่ดินก็นับว่าเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจเลือกแบบบ้านชั้นเดียวหรือแบบบ้านสองชั้น เนื่องจากการสร้างบ้านก็มีกฎหมายควบคุมซึ่งต้องคำนึงถึงระยะร่นแนวอาคารดังนั้นเมื่อมีที่ดินพร้อมปลูกบ้านแล้ว เจ้าของบ้านจะทราบขนาดพื้นที่ที่สามารถสร้างบ้านได้เมื่อหักลบระยะร่นออกไป จากนั้นจึงพิจารณาความเหมาะสมในการสร้างบ้านให้เหมาะสมกับขนาดที่ดิน เช่น หากมีที่ดินขนาดใหญ่ จะสามารถสร้างบ้านชั้นเดียวหรือสองชั้นก็ได้ตามฟังก์ชั่นการใช้งาน แต่หากมีที่ดินขนาดเล็กซึ่งเมื่อหักลบระยะร่นออกแล้ว การสร้างบ้านสองชั้นหรือมากกว่าสองชั้นนั้นอาจเหมาะสมกว่า เพราะสามารถเพิ่มขนาดพื้นที่ใช้สอยในทางสูงได้ โดยไม่ควรสร้างบ้านที่มีความสูงเกินที่กฎหมายกำหนดตามแต่ละพื้นที่เช่นกัน ด้านทำเลที่ตั้ง ควรดูบริบทโดยรวมว่าที่ดินอยู่ในพื้นที่แบบใด เช่น ที่ดินอยู่ในเขตชุมชนเมืองที่มีตึกสูงรายล้อม อยู่ในหมู่บ้านจัดสรร อยู่ใกล้แหล่งน้ำ หรือมีที่ดินอยู่ในเขตที่เสี่ยงน้ำท่วม บริบทและสภาพ:แวดล้อมเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการออกแบบบ้าน ลักษณะของบ้านที่จะสร้างจึงต้องพิจารณาด้านทำเลที่ตั้งร่วมด้วยตามความเหมาะสม เช่น สร้างบ้านแบบอาคารสามชั้นในเขตชุมชนเมืองเนื่องจากพื้นที่ขนาดเล็ก สร้างบ้านเดี่ยวสองชั้นในหมู่บ้านจัดสรร หรือสร้างบ้านใต้ถุนสูงในเขตพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้ำท่วม เป็นต้น 3. งบประมาณการก่อสร้าง งบประมาณเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดการสร้างบ้าน  เพราะหากเปรียบเทียบระหว่างบ้านชั้นเดียวและบ้านสองชั้นที่มีพื้นที่ใช้สอยเท่ากันแล้ว บ้านสองชั้นจะมีราคาก่อสร้างที่ต่ำกว่า เพราะไม่ต้องลงเสาเข็มในพื้นที่บริเวณกว้าง และขนาดผืนหลังคาขนาดเล็กกว่าบ้านชั้นเดียว อย่างไรก็ตาม ราคาการก่อสร้างก็ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ร่วมด้วย ควรศึกษาข้อมูล หรือปรึกษาสถาปนิกก่อนตัดสินใจ 4. การดูแลรักษา นอกจากการอยู่อาศัยแล้ว การดูแลรักษาก็เป็นสิ่งที่ควรพิจารณา สำหรับบ้านชั้นเดียวจะเป็นบ้านที่ดูแลรักษาได้ง่าย เช่น การเช็ดกระจก ทำความสะอาดผนังและรางน้ำฝน การซ่อมแซมงานหลังคา ฯลฯ แต่สำหรับบ้านสองชั้นหรือมากกว่าสองชั้นนั้นจะดูแลรักษาลำบากกว่าเพราะระดับความสูง อาจต้องใช้บันได หรืออุปกรณ์เสริมอื่นๆ ในการทำความสะอาด หรือซ่อมแซมส่วนต่างๆ 5. การต่อเติมในอนาคต หากคิดไว้ว่าในอนาคตอาจมีการต่อเติม โดยเฉพาะการต่อเติมขยายพื้นโดยรอบ เช่น ปลูกบ้านอีกหลังเชื่อมกับบ้านเดิม ต่อเติมห้องครัว ต่อเติมห้องนอนชั้นล่าง ฯลฯ ซึ่งต้องมีพื้นที่เพียงพอสำหรับการก่อสร้าง การเลือกแบบบ้านสองชั้นที่ประหยัดการใช้ที่ดินมากกว่าก็อาจจะเหมาะกว่าการเลือกแบบบ้านชั้นเดียวที่มีพื้นที่ใช้สอยเท่ากัน หรือหากวางแผนต่อเติมเพิ่มจำนวนชั้นในอนาคต ซึ่งในช่วงแรกของการอยู่อาศัยจะเป็นบ้านชั้นเดียว โดยเตรียมทำแบบบ้านสองชั้นไว้ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบหน้าตาบ้าน งานโครงสร้าง รวมถึงงานระบบต่างๆ เป็นต้น หลังจากพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาเพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเลือกแบบบ้านแล้ว ไม่ว่าจะตัดสินใจเลือกแบบบ้านชั้นเดียวหรือแบบบ้านสองชั้นก็ตาม สิ่งสำคัญของการสร้างบ้านขึ้นมาสักหลังคือ ควรตอบโจทย์การใช้งานของสมาชิกในบ้าน อยู่แล้วมีความสุขสบาย ปลอดภัย และไม่ขัดต่อกฎหมายควบคุมอาคาร   ขอขอบคุณข้อมูลจาก  www.scgbuildingmaterials.com
10 ลำดับขั้นตอนการก่อสร้างบ้าน

10 ลำดับขั้นตอนการก่อสร้างบ้าน

การปลูกบ้าน หรือสร้างบ้านใหม่ จะเริ่มสร้างจากล่างขึ้นบน กล่าวคือต้องเริ่มจากโครงสร้างเสาเข็ม ฐานราก จากนั้นจะเริ่มงานโครงสร้างจากชั้นหนึ่ง และชั้นสองตามลำดับ แล้วจึงติดตั้งหลังคา ก่อผนัง เตรียมงานระบบ จนเมื่องานโครงสร้างเรียบร้อยก็จะตกแต่งงานสถาปัตย์ เก็บรายละเอียดงาน ทำความสะอาดจนพร้อมส่งมอบบ้านให้แก่เจ้าของบ้าน ทั้งนี้ แต่ละขั้นตอนต้องวางแผนการดำเนินงานเป็นอย่างดี เพราะมีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย และสำหรับตัวเจ้าของบ้านเองควรเข้าใจลำดับขั้นตอนเพื่อสามารถตรวจและควบคุมงานในเบื้องต้น รวมถึงจดบันทึกตำแหน่งหรือข้อมูลทั้งงานระบบท่อไฟฟ้า-ประปา ตำแหน่งระบบสุขาภิบาล เผื่อการบำรุงซ่อมแซมในอนาคต 10 ลำดับขั้นตอนการก่อสร้างบ้าน ที่เจ้าของบ้านทุกคนควรทราบ มีดังนี้ 1.เริ่มขั้นตอนสร้างบ้าน โดยการเตรียมพื้นที่ เมื่อมีแบบก่อสร้างบ้าน และทำสัญญากับผู้รับเหมาเรียบร้อยแล้ว ทางผู้รับเหมาจะเริ่มเข้าหน้างานเตรียมพื้นที่ กำหนดจุดวางและขนย้ายเครื่องมืออุปกรณ์ อาจมีสถานที่พักสำหรับคนงาน (ในกรณีที่คนงานพักในพื้นที่) หากมีบ้านเดิมจะต้องรื้อถอนออกก่อน หรือหากเป็นที่ดินเปล่าจะมีการขอน้ำและไฟฟ้าชั่วคราวสำหรับใช้งาน สำหรับงานเตรียมพื้นที่ จะครอบคลุมอยู่หลายเรื่อง ตั้งแต่ระดับพื้นบ้านที่ต้องพิจารณา อาจต้องถมที่ดินเพื่อปรับระดับ ให้เหมาะสม ซึ่งโดยทั่วไปจะถมให้สูงกว่าระดับถนน 50-80 ซม. และควรสูงกว่าท่อระบายน้ำสาธารณะ ส่วนระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการถมดินอยู่ในช่วงหน้าแล้ง (ช่วงเดือนธันวาคม – พฤษภาคม) เพราะสามารถทำงานได้สะดวก ได้ดินที่แน่นและมีคุณภาพ เพราะหากถมในช่วงหน้าฝนอาจเกิดเหตุการณ์ดินไหลได้ ภาพ: การปรับระดับดินก่อนลงเสาเข็ม 2.งานวางผังอาคาร ขั้นตอนสร้างบ้านที่ต้องวางแผนให้ดี เมื่อเตรียมพื้นที่เรียบร้อย จะเริ่มวางผังแนวอาคารซึ่งเป็นการกำหนดตำแหน่งของเสาเข็มโดยอ้างอิงจากแบบ เพื่อให้ทุกฝ่ายทั้งเจ้าของบ้าน ผู้ออกแบบ วิศวกร บริษัทรับเหมาก่อสร้าง และบริษัทรับเหมางานเสาเข็มมีความเข้าใจที่ตรงกัน ในขั้นตอนนี้ อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับระยะต่างๆ ให้เหมาะสมได้เนื่องจากอาจพบอุปสรรคที่หน้างาน เช่น แนวต้นไม้ใหญ่ แนวเสาเข็มโครงสร้างอาคารเดิม หรือตำแหน่งอาคารข้างเคียงที่มีผลต่อพื้นที่ใช้สอยอาคาร เป็นต้น โดยผู้รับเหมาจะนำเสนอแนวทางแก้ไขให้ผู้ออกแบบเซ็นชื่อรับรอง เพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป ภาพ: ตรวจแบบก่อสร้างเพื่อเตรียมวางผังอาคาร (กำหนดจุดลงเสาเข็ม) 3.หนึ่งในขั้นตอนสร้างบ้านสำคัญ คือ งานเสาเข็ม สำหรับงานเสาเข็มมักจะจ้างบริษัทรับเหมางานเสาเข็มโดยเฉพาะ ซึ่งทางผู้ออกแบบจะสำรวจหน้างานและกำหนดมาแล้วว่าบ้านแต่ละหลังเหมาะจะใช้เสาเข็มประเภทใด ไม่ว่าจะเป็นเสาเข็มตอกหรือเสาเข็มเจาะ (อ่านรายละเอียด Material Guide ทรุดไม่ทรุด จุดเริ่มต้นอยู่ที่เสาเข็ม) การตรวจสอบคุณภาพเสาเข็มต้องทดสอบความแข็งแรง (Load Test) สามารถรับน้ำหนักได้ตามมาตรฐาน ไม่เยื้องศูนย์ แต่หากเกิดความผิดพลาดหรืออุปสรรคในการตอกหรือเจาะเสาเข็ม ผู้ออกแบบอาจต้องแก้ไขแบบเพื่อให้เสาเข็มและฐานรากดังกล่าวสามารถรับน้ำหนักได้ นอกจากนี้สำหรับการตัดหัวเสาเข็มเพื่อเตรียมหล่อฐานราก ผู้รับเหมางานเสาเข็ม และผู้รับเหมาหลักต้องยืนยันระดับฐานรากให้ตรงกันก่อนส่งต่องาน ภาพ: การทำเสาเข็มเจาะ 4.ขั้นตอนสร้างบ้านของงานฐานรากโครงสร้างชั้นล่าง เมื่อตัดหัวเสาเข็มแล้ว ผู้รับเหมาหลักจะเริ่มงานส่วนโครงสร้างฐานรากซึ่งประกอบด้วยฐานรากและเสาตอม่อจากนั้นจึงขึ้นโครงสร้างชั้น 1 ซึ่งประกอบด้วย คานคอดิน เสา คาน และพื้นชั้นล่าง โดยอาจอาจเลือกเป็นพื้นหล่อในที่ (พื้นห้องน้ำ) ร่วมกับพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป หากโครงสร้างต่างๆ เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ควรมีขนาดและค่ากำลังอัด ตามที่วิศวกรได้คำนวณไว้ ซึ่งต้องใช้เวลาในการบ่มคอนกรีต และถอดแบบค้ำยัน ช่วงระยะเวลาหนึ่ง (ประมาณ 14-28 วัน ขึ้นอยู่กับลักษณะงานและประเภทปูน) เพื่อให้โครงสร้างมีความแข็งแรง พร้อมรับน้ำหนักโครงสร้างอื่นๆ ต่อไป แต่ในกรณีที่สร้างบ้านโครงสร้างเหล็ก ก็จะเริ่มนำชิ้นส่วนเหล็กในแต่ละส่วนมาเชื่อมกันทั้งในส่วน เสา คาน ตง เป็นต้น ในระหว่างขั้นตอนนี้ จะมีการขุดดินเพื่อวางระบบสุขาภิบาล เช่น บ่อพัก  Manhole ระบบท่อน้ำทิ้ง ท่อประปา เป็นต้น ซึ่งเจ้าของบ้านควรถ่ายรูปและจดบันทึกตำแหน่งและระยะงานระบบเอาไว้เพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงหากมีการซ่อมแซมในอนาคต ภาพ: งานเตรียมเหล็กเสริมโครงสร้างคานและเสาชั้นล่าง 5. งานโครงสร้างชั้นสอง โครงหลังคา และโครงสร้างงานระบบสุขาภิบาล งานโครงสร้างชั้นสองก็ทำเช่นเดียวกับโครงสร้างชั้นล่าง ทั้งเสา คานอะเส(คานหลังคา) และอาจมีงานหล่อชิ้นส่วนตกแต่ง เช่น บัว กันสาด ขอบปูน ซึ่งโครงสร้างแต่ละส่วนจะต้องใช้ระยะเวลาบ่มคอนกรีตเช่นเดียวกับโครงสร้างชั้นล่าง นอกจากนี้จะเริ่มขึ้นโครงหลังคา ซึ่งมีหลายประเภท เช่น โครงหลังคาเหล็ก หรือโครงหลังคาสำเร็จรูป เป็นต้น ในส่วนของงานระบบประปาและสุขาภิบาลทั้งถังเก็บน้ำใต้ดิน ท่อน้ำทิ้ง และถังบำบัดจะถูกติดตั้งในช่วงนี้โดยสมบูรณ์เพื่อเตรียมการเดินท่อเข้าภายในบ้าน ภาพ: ติดตั้งโครงหลังคาเหล็ก 6.ขั้นตอนสร้างบ้าน งานมุงหลังคา และโครงสร้างบันได เมื่องานโครงสร้างหลักเสร็จเรียบร้อย จะเริ่มติดตั้งวัสดุมุงหลังคาเพื่อให้ภายในบ้านมีร่มเงาและลดอุปสรรคจากลมฟ้าอากาศในการทำงาน ในช่วงนี้จะเริ่มหล่อโครงสร้างบันไดคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือติดตั้งบันไดเหล็กตามที่แบบระบุ นอกจากนี้อาจเก็บงานโครงสร้างในส่วนอื่นๆ ให้พร้อมก่อนเริ่มงานก่อผนังและติดตั้งวัสดุปิดผิว ภาพ: (บน) มุงหลังคากันแดดและฝน  (ล่าง) ติดตั้งบันไดโครงสร้างเหล็ก 7.งานก่อผนัง ติดตั้งวงกบไม้ประตู-หน้าต่าง และงานระบบไฟฟ้า-ประปา เมื่อมุงหลังคาเรียบร้อย จะเข้าสู่ขั้นตอนการก่อผนังและหล่อเสาเอ็น-คานเอ็น ในขั้นตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับบ้านแต่ละหลังว่าเลือกใช้ผนังบ้านแบบใด เช่น ผนังก่ออิฐ หรือผนังเบา ซึ่งในช่วงนี้จะเดินท่องานระบบต่างๆ ที่ฝังในผนังไปด้วย ทั้งระบบไฟฟ้าและประปา รวมถึงติดตั้งวงกบไม้ประตูหน้าต่างตามตำแหน่งที่ระบุตามแบบ ภาพ: การก่อผนัง หล่อเสาเอ็น-คานเอ็น และฝังท่อไฟฟ้า-ประปาในผนัง 8.ขั้นตอนสร้างบ้าน งานฉาบผนัง และงานติดตั้งฝ้าเพดาน  ในงานฉาบผนังก่ออิฐ จะต้องจับปุ่มจับเซี้ยม หรืออาจขึงลวดกรงไก่ เพื่อฉาบผนังให้เรียบสม่ำเสมอ ส่วนผนังเบาจะต้องฉาบเก็บรอยต่อระหว่างแผ่นผนังให้เรียบเนียน เตรียมพร้อมก่อนขั้นตอนการปิดผิว ในขั้นตอนนี้ต้องอาศัยความชำนาญของช่างเพื่องานที่ละเอียดเรียบร้อย ผนังต้องได้ดิ่ง-ฉากทุกพื้นที่ สำหรับฝ้าเพดานจะมีการกำหนดระดับความสูงตามแบบทั้งภายในและภายนอกบ้าน โดยติดตั้งโครงฝ้าและปิดด้วยวัสดุฝ้าเพดาน เช่น แผ่นยิปซั่ม แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ เป็นต้น ในขั้นตอนนี้จะมีการติดตั้งระบบไฟฟ้า โคมไฟ และช่องเซอร์วิสไปพร้อมกัน ภาพ: การฉาบผนัง และติดตั้งฝ้าเพดานทั้งภายนอกและภายใน 9. งานวัสดุตกแต่งพื้นผิว ขั้นตอนสร้างบ้าน ติดตั้งอุปกรณ์ ติดตั้งประตู-หน้าต่าง และงาน Build-In เป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยความประณีตของช่างอย่างมาก เพราะทำให้บ้านเนี้ยบสวยงาม ซึ่งในขั้นตอนนี้จะประกอบไปด้วย   9.1 วัสดุตกแต่งผนังและพื้น ขึ้นอยู่กับการออกแบบและความชอบของเจ้าของบ้าน โดยวัสดุพื้นผิวผนัง เช่น ทาสี ฉาบสกิมโค้ท ปูกระเบื้องเซรามิก ติดวอลล์เปเปอร์ ฯลฯ ส่วนวัสดุพื้น เช่น หินขัด กรวดล้าง/ทรายล้าง ปูกระเบื้องเซรามิก ไม้ปาร์เกต์ ไม้ลามิเนต เป็นต้น 9.2 ระบบแสงสว่างและติดตั้งดวงโคมการติดตั้งแสงสว่างและหลอดไฟจะเริ่มในช่วงนี้เพราะติดตั้งฝ้าเพดาน โคมไฟ และเดินงานระบบเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ช่างจะเดินสายไฟเชื่อมกับสวิตช์ไฟ ปลั๊ก และติดตั้งเครื่องปรับอากาศ 9.3 ติดตั้งบานประตู หน้าต่างไม้ ชุดประตู-หน้าต่างไวนิล/อะลูมิเนียม ขั้นตอนนี้จะเป็นการติดตั้งบานประตู บานกระจก หน้าต่างเข้ากับวงกบไม้ที่ติดตั้งเอาไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงติดตั้งชุดประตู-หน้าต่างไวนิลหรืออะลูมิเนียมเข้ากับผนังที่เว้นช่องไว้ ซึ่งขอบผนังโดยรอบต้องเรียบสม่ำเสมอ ได้ระดับดิ่ง-ฉาก เพื่อให้ชุดประตู-หน้าต่างติดตั้งได้พอดี ลดความเสี่ยงการรั่วซึมในอนาคต 9.4 งาน Build-in ด้านงาน Build-in อาจมารวมอยู่ในช่วงนี้ได้ เช่น ตู้เสื้อผ้า ชั้นวางของ เคาน์เตอร์ครัว เป็นต้น 9.5 ติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ สุขภัณฑ์ในห้องน้ำ และอุปกรณ์เครื่องครัว วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เมื่อติดตั้งแล้วควรคลุมด้วยพลาสติกเพื่อป้องกันฝุ่นละออง รอยขีดข่วน และสีที่อาจกระกระเด็นเปรอะเปื้อนในช่วงการเก็บงาน 9.6 สวนและทางเดินรอบบ้านอาจเริ่มทำในช่วงนี้ หรืออาจทำในช่วงที่บ้านสร้างเสร็จแล้วก็ได้ ภาพ: การตกแต่งภายใน ติดตั้งวัสดุปูพื้น-ผนัง ประตูหน้าต่าง (บานเฟี้ยม) และงานBuild-in 10. ทำความสะอาดและตรวจความเรียบร้อยในการเก็บงาน ขั้นตอนสร้างบ้านสุดท้าย ช่างจะเก็บรายละเอียดต่างๆ เช่น งานทาสี ตรวจสอบงานระบบต่างๆ ซึ่งในช่วงนี้เจ้าของบ้านควรเข้ามาตรวจสอบด้วยตัวเอง ซึ่งถ้าเจอข้อผิดพลาด ควรแจ้งให้ช่างแก้ไขให้เรียบร้อยก่อนจะส่งจะส่งมอบงาน จากนั้นจะเริ่มทำความสะอาด (โดยมากจะจ้างบริษัททำความสะอาดหลังงานก่อสร้างโดยตรง) แล้วเสร็จจนพร้อมส่งมอบงานให้เจ้าของบ้านขนย้ายเฟอร์นิเจอร์เข้าอยู่ ภาพ: บ้านที่อยู่ในช่วงการเก็บงาน การเรียงลำดับขั้นตอนตามที่กล่าวมาอาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือซ้อนทับกันได้ในแต่ละงาน อาจมีเพิ่ม หรือแยกย่อยมากกว่า 10 ลำดับได้ขึ้นอยู่กับปลายปัจจัย เช่น วัสดุที่เข้าหน้างาน ความถนัดของช่าง/ผู้รับเหมา ปัจจัยสภาพคล่องทางการเงิน ปัญหาแรงงานช่าง และสภาพลมฟ้าอากาศที่ไม่อำนวย เป็นต้น Tip: เจ้าของบ้านควรตรวจสอบสัญญาการรับประกันผลงานของทั้งผู้รับเหมา และตัวผลิตภัณฑ์สินค้า รวมถึงการติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตามที่ระบุในเอกสาร เพื่อรับรองคุณภาพการก่อสร้าง และตัวสินค้าให้ได้ตามมาตรฐาน ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก www.scgbuildingmaterials.com เกี่ยวกับการสร้างบ้านอื่นๆ ซื้อบ้านจัดสรรกับสร้างบ้านเอง แบบไหนดีกว่ากัน สร้างบ้านใหม่เลือกแบบบ้านชั้นเดียวหรือแบบบ้านสองชั้นดี? จะก่อสร้างบ้านต้องรู้เรื่องระยะห่างระหว่างอาคารกรณีอยู่ในที่ดินเจ้าของเดียวกัน 7 ความผิดพลาดในการสร้างบ้าน ที่ควรใส่ใจ