Tag : ส้วม

1 ผลลัพธ์
3 ตัวการหลักที่ทำให้ส้วมตันหรือกดชักโครกไม่ลง พร้อมวิธีแก้ไขแบบตรงจุด

3 ตัวการหลักที่ทำให้ส้วมตันหรือกดชักโครกไม่ลง พร้อมวิธีแก้ไขแบบตรงจุด

บางครั้งแม้ว่าจะติดตั้งสุขภัณฑ์อย่างถูกวิธี แต่ยังคงมีปัญหาที่พบกันบ่อยๆ ว่าเมื่อกดชักโครกสุขภัณฑ์แล้วไม่มีแรงดูดชำระล้าง ซึ่งทำให้กดชักโครกไม่ลง ไม่สามารถชำระล้างได้อย่างสะอาดหมดจด หรือรู้สึกว่าส้วมตัน สาเหตุสำคัญของปัญหานี้มาจากหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น ส่วนของท่อระบายอากาศ การระบายน้ำออกจากถังบำบัดหรือบ่อเกรอะ-บ่อซึม และปัญหาสิ่งอุดตันในท่อน้ำทิ้ง กดชักโครกไม่ลง เพราะติดตั้งท่อระบายอากาศ แต่ไม่สมบูรณ์ หรือเกิดการอุดตัน ปกติแล้วจะต้องมีการติดตั้งท่อระบายอากาศลักษณะตัวที (T) ต่อจากท่อน้ำทิ้งสุขภัณฑ์และถังบำบัดน้ำเสีย เพื่อป้องกันปัญหาอากาศไหลย้อนเวลากดชักโครกและยังช่วยให้สามารถกดชำระล้างสุขภัณฑ์ได้ดีอีกด้วย แต่หากระดับความสูงของปลายท่ออากาศอยู่ต่ำกว่าระดับที่น้ำท่วมถึง หรือการอุดตันบริเวณปลายปากท่อ จะทำให้ท่ออากาศไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ กรณีที่ระดับความสูงปลายท่ออากาศอยู่ต่ำเกินไปหรืออยู่ต่ำกว่าระดับที่น้ำสามารถท่วมถึง ควรเดินท่อใหม่ให้สูงกว่าระดับน้ำท่วม หรือติดตั้งเลยหลังคาขึ้นไปเพื่อป้องกันกลิ่นรบกวน ส่วนกรณีการอุดตันบริเวณปลายปากท่อ สามารถแก้ไขได้โดยเอาสิ่งอุดตันนั้นออก กรณีสิ่งอุดตันเข้าไปอยู่ภายในไม่สามารถเอาออกมาได้ง่ายๆ สามารถแก้ไขได้โดยการใช้งูเหล็กทะลวง หรือฉีดน้ำแรงๆ เข้าไป เพื่อล้างทำความสะอาดให้สิ่งสกปรกไหลกลับเข้าสู่ระบบระบายน้ำทิ้งต่อไป หลังจากนั้น ควรป้องกันโดยการติดตั้งตาข่ายกันสิ่งสกปรก แมลง และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กไม่ให้เข้าไปอยู่อาศัยที่อาจเป็นสาเหตุให้ท่ออากาศอุดตัน ภาพ: ตำแหน่งการติดตั้งท่ออากาศ แนะนำให้ติดตั้งท่ออากาศจากถังบำบัดน้ำเสีย (1) และในบริเวณที่ใกล้กับโถสุขภัณฑ์ (2) โดยติดตั้งให้ปลายท่ออยู่สูงกว่าระดับที่น้ำจะสามารถท่วมถึง การระบายน้ำออกจากถังบำบัดหรือบ่อเกรอะ-บ่อซึมติดขัด ทำให้กดชักโครกไม่ลง ไม่ว่าบ้านที่เลือกติดตั้งเป็นถังบำบัดสำเร็จรูป หรือใช้ระบบดั้งเดิมที่เป็นแบบบ่อเกรอะ-บ่อซึม น้ำจากการชำระล้างสุขภัณฑ์จะสามารถระบายออกไปได้ด้วยแรงดูดปกติ แต่อาจมีบางครั้งที่น้ำไม่สามารถระบายได้ทัน ไม่ว่ากรณีเป็นบ้านมีระดับท่อระบายน้ำจากถังบำบัดหรือบ่อเกรอะ-บ่อซึมที่ต่ำกว่าระดับท่อระบายน้ำสาธารณะ เมื่อระดับน้ำในท่อสาธารณะสูงขึ้นก็จะทำให้การระบายน้ำของบ้านเราเป็นไปได้ช้าลง นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ฝนตกหนักมากๆ จนน้ำเกิดท่วมขังที่เป็นสาเหตุทำให้มีน้ำค้างในท่อระบายของถังบำบัดหรือบ่อเกรอะ-บ่อซึมที่ต้องรอการระบายออกไป รวมถึงอาจมีแรงดันน้ำต้านกลับ (Back Pressure) ที่ส่งผลให้น้ำไหลย้อนเข้าสู่ถังบำบัดหรือบ่อเกรอะ-บ่อซึมได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลให้แรงดูดชักโครกลดต่ำลงจนทำให้การชำระล้างในโถสุขภัณฑ์ได้ไม่ดีเหมือนเดิม กรณีนี้เมื่อน้ำลดระดับที่ท่วมขังลงก็จะสามารถใช้งานสุขภัณฑ์ได้ตามปกติ ภาพ: แสดงการระบายน้ำออกจากถังบำบัดสำเร็จรูปไปยังท่อระบายน้ำสาธารณะ ภาพ: แสดงการระบายน้ำออกจากบ่อเกรอะ-บ่อซึม ปัญหาสิ่งอุดตันในท่อน้ำทิ้ง ท่อน้ำทิ้งจะรับน้ำจากโถสุขภัณฑ์โดยตรงแล้วส่งต่อไปยังถังบำบัดหรือบ่อเกรอะ-บ่อซึมที่จะระบายสู่พื้นดินหรือแหล่งน้ำสาธารณะต่อไป แต่หากมีสิ่งอุดตัน โดยเฉพาะเศษขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติหรือย่อยสลายได้ยาก เช่น เศษกระดาษทิชชู่ ผ้าอนามัย หรือเศษขยะชิ้นใหญ่ติดค้างในท่อ ซึ่งจะทำให้เกิดการอุดตันในท่อและส่งผลให้น้ำจากสุขภัณฑ์ไม่สามารถระบายออกไปได้ และอาจเกิดการไหลย้อนกลับ จนชักโครกเกิดอาการกดแล้วไม่มีแรงดูดชำระล้างนั่นเอง ปัญหาสิ่งอุดตันค้างในท่อน้ำทิ้งสุขภัณฑ์สามารถแก้ไขได้โดยการใช้ไม้ยางปั๊ม กดให้เกิดแรงดันเพื่อดันน้ำและสิ่งอุดตันให้เคลื่อนผ่านลงไป ทั้งนี้ การทิ้งเศษขยะที่ย่อยสลายยากลงไปบ่อยๆ จะทำให้ถังบำบัดสำเร็จรูปหรือบ่อเกรอะ-บ่อซึมเต็ม ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาที่ยุ่งยากต่อการแก้ไขในอนาคต จึงควรระมัดระวังการทิ้งเศษขยะลงไป นอกจากนี้ การเลือกสุขภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานก็เป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้การใช้งานเป็นไปได้อย่างราบรื่น รวมถึงการเลือกปริมาณน้ำที่จะกดชำระให้เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละครั้ง เพื่อให้สามารถใช้งานสุขภัณฑ์ได้อย่างดีและใช้น้ำเท่าที่จำเป็นอีกด้วย บทความโดย SCG Experience คู่คิดก่อนสร้างบ้าน ช่วยให้คุณสร้างบ้านได้อย่างมั่นใจ พร้อมให้คำปรึกษาตลอดการสร้างบ้าน โดยผู้เชี่ยวชาญจาก SCG เพียงนำแบบบ้านมายื่นรับคำปรึกษา พร้อมรับสิทธิพิเศษต่างๆ ได้ที่ SCGคู่คิดก่อนสร้างบ้าน​