Tag : อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

2 ผลลัพธ์
ด่วน! อัพเดทล่าสุด เรื่องภาษีที่ดิน ลดลงถึง 40%

ด่วน! อัพเดทล่าสุด เรื่องภาษีที่ดิน ลดลงถึง 40%

จากบทความที่แล้ว "มีอะไรใหม่ใน พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" เราได้พาไปทำความรู้จักกับ พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ที่กำลังร่างกันอยู่ ล่าสุดมีการอัพเดทหลังมีการเสนอให้ปรับปรุงอัตราภาษีใหม่จากร่างมติที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบก่อนหน้านี้  โดยมีประเด็นสำคัญมีดังนี้ - ที่ดินรกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ เก็บภาษีไม่เกิน 1.2% และจะขยับเพิ่มขึ้น 0.3% ทุก 3 ปี แต่ถ้าภายใน 3 ปีติดต่อกันยังไม่มีการพัฒนาที่ดินก็จะเสียภาษีที่ 2.5% ไปจนถึงอัตราสูงสุดที่ 3% - ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกอบเกษตรกรรม อัตราภาษีไม่เกิน 0.15% ของฐานภาษี จากเดิม 0.2% - ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทบ้านพักอาศัย อัตราภาษีไม่เกิน 0.3% ของฐานภาษี จากเดิม 0.5% - ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ อัตราภาษีไม่เกิน 2.0% ของฐานภาษี   ทั้งนี้มีการเสนอเก็บอัตราภาษีใหม่ คือ - พื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งบุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของ หากมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทจะไม่เสียภาษี โดยมูลค่า 50-75 ล้านบาท จะเก็บภาษี 0.01% มูลค่า 75-100 ล้านบาท เก็บ 0.05% มูลค่า 500-1,000 ล้านบาท เก็บ 0.07% และหากมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท เก็บ 0.1% - พื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งนิติบุคคลเป็นเจ้าของ หากมีมูลค่า 0-75 ล้านบาท จะเก็บภาษี 0.01% มูลค่า 75-100 ล้านบาท เก็บ 0.03% มูลค่า 100-500 ล้านบาท เก็บ 0.05% มูลค่า 500-1,000 ล้านบาท เก็บ 0.07% และหากมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท เก็บ 0.1% - ที่อยู่อาศัยหลักของบุคคลธรรมดา และเป็นเจ้าของที่ดินที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเองด้วย หากมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท จะไม่เสียภาษี มูลค่า 20-50 ล้านบาท เก็บ 0.02% มูลค่า 50-75 ล้านบาท เก็บ 0.03% มูลค่า 75-100 ล้านบาท เก็บ 0.05% มูลค่าเกิน 100 ล้านบาท เก็บ 0.1% - ที่อยู่อาศัยหลังอื่นๆ มูลค่า 0-50 ล้านบาท เก็บ 0.02% มูลค่า 50-75 ล้านบาท เก็บ 0.03% มูลค่า 75-100 ล้านบาท เก็บ 0.05% มูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท เก็บ 0.10% - ที่รกร้างว่างเปล่า หากมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท เก็บ 0.3% มูลค่า 50-200 ล้านบาท เก็บ 0.4% มูลค่า 200-1,000 ล้านบาท เก็บ 0.5% มูลค่า 1,000-5,000 ล้านบาท เก็บ 0.6%  มูลค่าเกิน 5,000 ล้านบาท เก็บ 0.7%   กรณียกเว้น หรือลดหย่อน - หากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใช้เพื่ออยู่อาศัย และมีชื่อเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฏหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฏร์ในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น จะได้รับการยกเว้นมูลค่าฐานภาษีในการคำนวณไม่เกิน 20 ล้านบาท แต่ในกรณีที่มีชื่อเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน จะได้รับการยกเว้นภาษีในการคำนวณภาษีไม่เกิน 10 ล้านบาท - กรณีบ้านพักที่อยู่อาศัยมาเป็นระยะเวลานาน แล้วราคาที่ดินมีการปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่เจ้าของบ้านมีรายได้ไม่มากจะสามารถลดหย่อนภาษีได้ 90% จากอัตราฐานภาษี - ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อเกษตรกรรม หากเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา และมีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทจะไม่เสียภาษี - ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของรัฐที่ไม่ได้หาผลประโยชน์ หรือใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ รวมถึงสหประชาชาติ สถานทูต ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด หมู่บ้านจัดสรร และนิคมอุตสาหกรรม เหล่านี้ได้รับการยกเว้นภาษี   ในช่วง 3 ปีแรกตั้งแต่บังคับใช้เป็นกฎหมายจะได้รับการบรรเทาภาระภาษีนี้ด้วยการชำระภาษีตามจำนวนที่ต้องเสีย หรือพึงชำระในปีก่อน รวมกับภาษีที่เหลือ คือ ปีแรก จ่ายภาษีเก่า+ร้อยละ 25 ของจำนวนภาษีที่เหลือ ปีที่ 2 จ่ายภาษีเก่า+ร้อยละ 50 ของจำนวนภาษีที่เหลือ และปีที่ 3 จ่ายภาษีเก่า+ร้อยละ 75 ของจำนวนภาษีที่เหลือ หลังจากนั้นก็ให้เป็นไปตามร่างกฏหมายปกติ ซึ่งเมื่อดูอัตราเพดานภาษีในร่างใหม่นี้โดยรวมแล้ว มีการปรับลดลงถึง 40% หลังจากนี้จะมีการเสนอร่างนี้ไปที่ประชุมสนช. ภายในวันที่ 24 มกราคม 2561 และคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 60 วัน และพิจารณาต่อในวาระ 2 วาระ 3 หากผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 โดยหลังจากนี้หากมีความเคลื่อนไหวอะไรเกี่ยวกับ พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่นี้ เราจะไม่พลาดที่จะเอามานำเสนอให้ทุกท่านได้ติดตามแน่นอนค่ะ  
มีอะไรใหม่ใน พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

มีอะไรใหม่ใน พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

เรื่องการเก็บภาษีเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ผ่านมาประเทศไทยใช้ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ซึ่งในปัจจุบันพบปัญหาขึ้นมากมาย ทั้งข้อจำกัดเกี่ยวกับอัตราภาษี ฐานภาษี รวมถึงการลดหย่อนภาษีไม่สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน เพื่อปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจึงเกิดขึ้น และจะมีผลบังคับใช้ปี 2562 ใครได้-ใครเสีย ? หน่วยงานที่จัดเก็บภาษี คือ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ซึ่งรายได้จากการจัดเก็บภาษีนี้จะไปอยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น โดยไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินหรือรายได้ของรัฐบาล ส่วนผู้ที่จะต้องเสียภาษี คือ ผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและห้องชุด หรือผู้ทำประโยชน์ในที่ดิน สิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ   อัตราภาษีฉบับใหม่ จะมีการเปลี่ยนการคิดจากค่าเช่า มาเป็นราคาประเมินที่ดิน และจากสิ่งปลูกสร้าง มาเป็นฐานภาษีแทน ซึ่งกรมธนารักษ์จะเป็นผู้กำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน ราคาประเมินทุนทรัพย์โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด และอัตราค่าเสื่อมราคา ไม่จำเป็นต้องอาศัยดุลยพินิจของของเจ้าหน้าที่อีกต่อไป ตรงนี้ถือเป็นการลดขั้นตอน และป้องกันการเกิดคอรัปชั่น โดยมีการกำหนดอัตราภาษีเป็นเพดานแบ่งเป็นประเภททรัพย์สิน ดังนี้ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อการเกษตร เพดานภาษีไม่เกิน 0.2% ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย เพดานภาษีไม่เกิน 0.5% ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ เพดานภาษีไม่เกิน 2.0% ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ภาษีเริ่มต้นไม่เกิน 2% เพดานภาษีไม่เกิน 5.0% หากยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็จะเก็บเพิ่ม 0.5% ทุกๆ 3 ปี มากที่สุดไม่เกิน 5% *อัตราการเสียภาษีนี้เป็นข่าวที่ออกมาล่าสุด อาจยังไม่ใช่ข้อสรุปที่แท้จริง   วิธีการคำนวณภาษีที่ 1.กรณีที่ดินที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ภาระภาษี = มูลค่าที่ดิน x อัตราภาษี ทั้งนี้ กำหนดให้ มูลค่าที่ดิน = ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน (ต่อ ตร.ว.) x ขนาดพื้นที่ดิน 2.กรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาระภาษี = (มูลค่าที่ดิน + มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง) x อัตราภาษี ทั้งนี้ กำหนดให้มูลค่าที่ดิน = ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน (ต่อ ตร.ว.) x ขนาดพื้นที่ดิน โดยมูลค่าสิ่งปลูกสร้าง = (ราคาประเมินทุนทรัพย์โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง) – ค่าเสื่อมราคา 3.กรณีห้องชุด ภาระภาษี = มูลค่าห้องชุด x อัตราภาษี ทั้งนี้ กำหนดให้ มูลค่าห้องชุด = ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่ห้องชุด (ตร.ม.)   ข้อยกเว้น ตามเพดานการเสียภาษีแบบใหม่นี้ แม้ที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะได้รับผลกระทบในการเสียภาษีมากที่สุด แต่จะถูกยกเว้นเมื่อที่ดินนั้นถูกมอบให้เป็นสาธารณะประโยชน์ โดยให้มีหน่วยราชการเข้าไปดูแลว่ามีการทำประโยชน์ดังกล่าวจริง ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องยกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ราชการแต่อย่างใด และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย วาตภัย ภัยพิบัติต่างๆ ก็ยังได้รับการยกเว้นหรือบรรเทาภาระภาษีด้วยเช่นกัน ล่าสุดกำลังพิจารณาปรับการยกเว้น เช่น บ้านพักอาศัยที่มีราคาไม่เกิน 20 ล้านบาท บ้านหลังที่ 2 เถียงนา กระต๊อบ เพื่อการเกษตรที่มีราคาประเมินต่ำกว่า 50 ล้านบาท หากตั้งอยู่ในตำบลเดียวกันกับบ้านหลังแรกมูลค่าต่ำกว่า 10 ล้านบาท รวมถึงธุรกิจเอสเอ็มอี หรืออุตสาหกรรมขนาดเล็กที่จดทะเบียนแต่งตั้งบริษัท จะให้อยู่ในข่ายยกเว้น หลายคนเชื่อว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะมีส่วนช่วยให้ลดความเลื่อมล้ำทางสังคมได้ เพราะผู้ที่มีทรัพย์สินมูลค่าสูงจะต้องเสียภาษีมากกว่าผู้ที่มีทรัพย์สินมูลค่าต่ำ การกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไรก็จะลดน้อยลงด้วย และยังสามารถสร้างรายได้ในระดับท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นถึง 200,000 ล้านบาท โดยไม่ต้องรองบประมาณจากภาครัฐ แต่ในขณะเดียวกันหลายฝ่ายยังเห็นช่องว่างที่อาจทำให้เกิดปัญหา โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีประเภทกิจการท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว ซึ่ง ณ วันนี้ก็ยังหาข้อสรุปกันไม่ได้ สุดท้ายแล้ว พรบ. ที่จะออกมาบังคับใช้จริงจะมีบทสรุปอย่างไร จะได้ผลจริงตามที่คาดหวังหรือไม่ก็คงต้องรอดูกันต่อไปหลังจากบังคับใช้ไปแล้วสัก 2-3 ปี