Tag : เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้

4 ผลลัพธ์
ทาวน์โฮม-โฮมออฟฟิศ-บ้านแฝดระดับบน อีกหนึ่งทางเลือกของคนกรุงเทพฯ

ทาวน์โฮม-โฮมออฟฟิศ-บ้านแฝดระดับบน อีกหนึ่งทางเลือกของคนกรุงเทพฯ

เน็กซัส เผยผลการสำรวจตลาดทาวน์โฮมและโฮมออฟฟิศยังคงได้รับความนิยมจากผู้ซื้อที่ต้องการพื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีอายุประมาณ 30-40 ปีที่ต้องการขยายครอบครัวแต่มีงบประมาณจำกัด ประกอบกับราคาที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นต้นทุนที่ทำให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เลือกที่จะพัฒนารูปแบบโครงการที่มีพื้นที่ขายมากที่สุด ซึ่งหากที่ดินไม่สามารถพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมได้แล้วการพัฒนาโครงการทาวน์โฮมหรือบ้านแฝดจึงเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ   ในส่วนของโฮมออฟฟิศ เป็นอีกรูปแบบการพัฒนาโครงการที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ซื้อที่เป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ ต้องการซื้อเพื่อทำเป็นออฟฟิศในทำเลที่สามารถเดินทางได้สะดวกแทนการเช่าพื้นที่ออฟฟิศในเขตใจกลางเมืองที่มีราคาแพง และยังสามารถจัดสรรพื้นที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นการแบ่งพื้นที่ชั้นบนสุดไว้เพื่อพักอาศัย หรือการปล่อยเช่าพื้นที่ในชั้นล่างเพื่อการพาณิชย์ เป็นต้น   ในปี 2559 – ไตรมาส 1 ปี 2562 ตลาดทาวน์โฮม-โฮมออฟฟิศ-บ้านแฝด ที่มีระดับราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ มีอุปทานรวมทั้งสิ้น 1,119 ยูนิต แบ่งเป็นระดับราคา 10-20 ล้านบาทคิดเป็น 62% ของจำนวนทั้งหมด รองลงมาเป็นระดับราคา 20-30 ล้านบาท,มากกว่า 40 ล้านบาท และ 30-40 ล้านบาทคิดเป็น 29%, 6% และ 3% ตามลำดับ จากภาวะชะลอตัวของตลาดคอนโดมิเนียม ทำให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หันมาพัฒนาโครงการแนวราบมากขึ้น อีกทั้งการพัฒนาแนวราบยังใช้ต้นทุนในการพัฒนาน้อยกว่าคอนโดมิเนียม ทำให้มีความเสี่ยงทางการเงินน้อยกว่า รวมทั้งกลุ่มของผู้ซื้อยังเป็นกลุ่มผู้ที่ซื้อเพื่ออยู่จริง (Real Demand) ต่างกับตลาดคอนโดมิเนียมที่มีการเก็งกำไรในสัดส่วนที่สูง ส่งผลให้ตลาดทาวน์โฮม-โฮมออฟฟิศ-บ้านแฝด เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี2561 โดยเท่ากับ 104%    “ทาวน์โฮมหรูทำเลใจกลางเมืองยังคงได้รับความนิยม” เห็นได้จากอัตราการขาย (Sold rate) ของทั้งตลาดอยู่ที่ 54% โดยทาวน์โฮม-โฮมออฟฟิศ-บ้านแฝด ระดับราคาที่มีอัตราการขายสูงอันดับ 1 คือกลุ่มระดับราคา 40 ล้านบาทขึ้นไป มีอัตราการขาย 71% เนื่องจากมีจำนวนอุปทานค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับระดับราคาอื่น โครงการส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในโซนวัฒนา-คลองเตย โดยเฉพาะตามแนวถนนสุขุมวิท รองลงมาเป็นโซนสาทร-บางรัก ซึ่งเป็นย่านที่อยู่ใจกลางเมือง อันดับ 2 เป็นกลุ่มที่มีระดับราคา 20-30 ล้านบาท มีอัตราการขาย 61% ซึ่งเป็นโครงการที่ตั้งอยู่ถัดจากเขตใจกลางกรุงเทพมหานคร ได้แก่ โซนพญาไท-รัชดาภิเษก, โซนพระโขนง-สวนหลวง-แบริ่ง, โซนลาดพร้าว-วังทองหลาง และโซนยานนาวา–บางคอแหลม-คลองสาน อันดับ 3 เป็นกลุ่มที่มีระดับราคา 10-20 ล้านบาท มีอัตราการขาย 46% ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในโซนยานนาวา–บางคอแหลม-คลองสาน, โซนพญาไท-รัชดาภิเษก, โซนสาทร-บางรัก และโซนพระโขนง-สวนหลวง-แบริ่ง   ส่วนกลุ่มระดับราคาที่มีอัตราการขายต่ำสุดเป็นกลุ่มที่มีระดับราคา 30-40 ล้านบาท มีอัตราการขาย 39% โครงการส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในโซนพระโขนง-สวนหลวง-แบริ่ง, โซนพญาไท-รัชดาภิเษก และโซนวัฒนา-คลองเตย       หากวิเคราะห์เป็นรายทำเลโซนรอบใจกลางเมืองยังเติบโตได้ดี จากผลการวิจัยของ เน็กซัส พบว่า อัตราการขาย (Sold rate) ของทาวน์โฮม-โฮมออฟฟิศ-บ้านแฝด โดยเฉลี่ยเท่ากับ 1.49 ยูนิตต่อเดือน โดยหากพิจารณาตามทำเลพบว่าโครงการที่อยู่ในโซนพระโขนง-สวนหลวง-แบริ่ง มีอัตราการขายสูงที่สุดในตลาดเท่ากับ 4.15 ยูนิตต่อเดือน โดยระดับราคาที่ส่งผลให้ทำเลดังกล่าวมีอัตราการขายสูงคือระดับราคา 10-20ล้านบาท มีอัตราการขาย 6.12  ยูนิตต่อเดือน อันดับ 2 ได้แก่โซนยานนาวา-บางคอแหลม-คลองสาน มีอัตราการขาย 1.61 ยูนิตต่อเดือน โดยระดับราคาที่มีอัตราการขายสูงที่สุดคือระดับราคา 20-30 ล้านบาท อันดับ 3 ได้แก่โซนพญาไท-รัชดาภิเษก มีอัตราการขาย 0.92 ยูนิตต่อเดือน โดยระดับราคาที่มีอัตราการขายสูงที่สุดคือระดับราคา 20-30 ล้านบาท   หากพิจารณาอัตราการขายของทั้งตลาดแยกตามระดับราคา พบว่าระดับราคา 10-20 ล้านบาท มีอัตราการขายสูงที่สุดเมื่อเทียบกับระดับราคาอื่น โดยมีอัตราการขายเท่ากับ 2.47 ยูนิตต่อเดือน รองลงมาเป็นระดับราคา 20-30 ล้านบาท มีอัตราการขายเท่ากับ 1.02 ยูนิตต่อเดือน สอดคล้องกับจำนวนอุปทานของระดับราคา 10-20 ล้านบาท  ที่มีสัดส่วนสูงที่สุดในตลาดและระดับราคา 20-30 ล้านบาทรองลงมา   นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทเน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวเสริมว่า “ดีไซน์และคุณภาพวัสดุมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ เนื่องจากวัตถุประสงค์ของลูกค้าที่ต้องการซื้อทาวน์โฮมและบ้านแฝด คือต้องการพื้นที่ใช้สอยภายในตัวบ้านที่มากขึ้นสำหรับการสร้างหรือขยายครอบครัว หรือมีครอบครัวแล้วแต่ต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและใช้ชีวิตในบ้านได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น แต่โครงการทาวน์โฮมที่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้มีจุดเด่นในเรื่องขนาดของพื้นที่ใช้สอย โดยจากผลการสำรวจพบว่าจุดเด่นของโครงการทาวน์โฮมที่ประสบความสำเร็จ โดยสามารถทำอัตราการขายสูง ประกอบไปด้วยจุดเด่น 3 ประการคือ 1. การออกแบบภายนอกที่สวยงามทันสมัยและโดดเด่น 2. การออกแบบฟังก์ชันการใช้งานภายในบ้านให้สามารถใช้พื้นที่ได้เต็มประสิทธิภาพ ขนาดกะทัดรัดแต่สามารถใช้งานได้จริงและปรับเปลี่ยนฟังก์ชันการใช้งานได้ 3. วัสดุภายในบ้านที่มีคุณภาพหรือใช้แบรนด์ที่มีชื่อเสียง”   ในขณะที่โครงการโฮมออฟฟิศ ลูกค้าที่ตัดสินใจซื้อมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันในแต่ละทำเล โดยหากเป็นโซนลาดพร้าว-วังทองหลาง ลูกค้าส่วนใหญ่ทำเป็นออฟฟิศโดยแบ่งชั้นบนสุดเพื่อพักอาศัยเพียงชั้นเดียว ลูกค้าที่ตั้งใจซื้อเพื่ออยู่อาศัยทุกชั้นมีจำนวนน้อย กลุ่มลูกค้าหลักเป็นธุรกิจประเภทสุขภาพ/ความงาม ต่างกับโซนพระโขนง-สวนหลวง-แบริ่ง ที่ลูกค้าซื้อโฮมออฟฟิศเพื่อทำเป็นที่พักอาศัยเนื่องจากทำเลโดยรอบโครงการเป็นย่านพักอาศัย ทำเลจึงเหมาะต่อการอยู่อาศัยมากกว่าการทำเป็นออฟฟิศ   โครงการโฮมออฟฟิศที่ประสบความสำเร็จในด้านยอดขาย จึงต้องมีจุดเด่นในเรื่องฟังก์ชันการใช้งานภายในบ้าน ซึ่งได้แก่ การปรับเปลี่ยนพื้นที่ได้อย่างอิสระตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย, จำนวนพื้นที่ใช้สอยและจำนวนที่จอดรถที่เพียงพอ และการมีลิฟต์หรือห้องน้ำทุกชั้นเพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลาย เป็นต้น   โครงการขนาดเล็ก VS โครงการขนาดใหญ่ ปัจจุบันที่ดินเปล่าในกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะทำเลที่สามารถเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองได้อย่างสะดวกและมีสภาพแวดล้อมรอบโครงการที่น่าอยู่หายากมากขึ้นและมีราคาสูง การพัฒนาโครงการแนวราบขนาดใหญ่จึงมีความเป็นไปได้ยาก จึงมีหลายโครงการที่พัฒนาในรูปแบบของโครงการขนาดเล็ก มีจำนวนยูนิตไม่มากนัก แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีผู้พัฒนารายใหญ่สนใจโครงการขนาดใหญ่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบและตั้งอยู่ในทำเลใจกลางเมืองเช่นกัน สำหรับโครงการขนาดเล็กก็เป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ มีข้อดีของการพัฒนาโครงการขนาดเล็กซึ่งได้แก่ ทำเลดี โดยจากการสำรวจพบว่ามีโครงการขนาดเล็กหลายโครงการที่ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ใกล้กับทางด่วนที่สามารถเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองได้อย่างสะดวก หรือใกล้กับรถไฟฟ้า BTS / MRT ซึ่งเป็นทำเลที่หาได้ยากในปัจจุบัน การปรับเปลี่ยนฟังก์ชันภายในบ้านได้ตามความต้องการของผู้อยู่อาศัย โดยโครงการขนาดเล็กมักมีความยืดหยุ่นในเรื่องการออกแบบและการก่อสร้าง ผู้ซื้อสามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชันภายในบ้านได้ในช่วงก่อนหรือระหว่างการก่อสร้าง จำนวนยูนิตน้อย ซึ่งเหมาะสมสำหรับคนที่ต้องการความเงียบสงบและเป็นส่วนตัว และป้องกันปัญหาการอยู่ร่วมกันของลูกบ้าน นอกจากนี้การไม่มีส่วนกลาง จึงไม่ต้องเสียค่าส่วนกลางโครงการ เป็นต้น   ในส่วนของโครงการขนาดใหญ่ (หรือโครงการที่ต้องยื่นขออนุญาตจัดสรรทั่วไป) ยังคงได้รับความสนใจจากผู้ซื้อ ซึ่งมีข้อดีที่แตกต่างจากโครงการขนาดเล็กโดยมีข้อดีคือ ส่วนกลางขนาดใหญ่ เช่น สระว่ายน้ำ, ฟิตเนส และสโมสร เป็นต้น มีระบบการดูแลความปลอดภัยและการดูแลความเรียบร้อยของโครงการที่ได้มาตรฐาน ความเชื่อมั่นในงานก่อสร้าง การก่อสร้างบ้านแบบเดียวกันจำนวนหลายๆ หลัง ทำให้ช่างก่อสร้างของโครงการเกิดความคุ้นเคยในงานก่อสร้างมากกว่าโครงการขนาดเล็กที่มีไม่กี่หลัง ราคาถูกกว่าโครงการขนาดเล็ก เนื่องจากการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง และการอยู่อาศัยร่วมกันหลายๆครอบครัว ทำให้เกิดสังคมภายในโครงการ       รูปแบบทาวน์โฮม-โฮมออฟฟิศ-บ้านแฝดในแต่ละทำเล การพัฒนาโครงการทาวน์โฮม-โฮมออฟฟิศ-บ้านแฝด ในแต่ละทำเลมีความแตกต่างกัน โดยหากเป็นทำเลใจกลางเมืองจะเป็นการพัฒนาโครงการทาวน์โฮมและบ้านแฝดเพื่ออยู่อาศัยทั้งหมด ซึ่งได้แก่โซนสาทร-บางรัก และโซนวัฒนา-คลองเตย โครงการทาวน์โฮมและบ้านแฝดใจกลางเมืองมีการออกแบบพื้นที่ใช้สอยให้มีขนาดใหญ่ ซึ่งโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 450 ตารางเมตร และราคาเฉลี่ยต่อยูนิตประมาณ 50 ล้านบาท แม้ว่าการออกแบบพื้นที่ใช้สอยจำนวนมากจะทำให้ราคาต่อยูนิตสูงตามไปด้วย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าทาวน์โฮมและบ้านแฝดทำเลใจกลางเมืองก็ยังได้รับความนิยม   โครงการในทำเลรอบใจกลางเมือง มีการพัฒนาโครงการทั้งทาวน์โฮม โฮมออฟฟิศ และบ้านแฝด โดยหากเป็นทาวน์โฮมโดยเฉลี่ยมีการออกแบบพื้นที่ใช้สอยประมาณ 300 ตารางเมตร ราคาเฉลี่ยประมาณ 19 ล้านบาท  บ้านแฝดมีการออกแบบพื้นที่ใช้สอยประมาณ 395 ตารางเมตร ราคาเฉลี่ยประมาณ 24 ล้านบาท และโฮมออฟฟิศ มีการออกแบบพื้นที่ใช้สอยประมาณ 460 ตารางเมตร ราคาเฉลี่ยประมาณ 29 ล้านบาท   โครงการที่เปิดใหม่ในปี 2562 มีหลายโครงการที่ตั้งอยู่ในทำเลที่แตกต่างจากโครงการที่ผ่านมา เช่น บางโครงการเป็นสัญญาเช่าระยะยาวแต่อยู่ในทำเลที่ดีและเป็นแหล่งพักอาศัยของคนกลุ่มที่มีรายได้สูง เป็นต้น   นางนลินรัตน์ กล่าวสรุปว่า “ตลาดทาวน์โฮม-โฮมออฟฟิศ-บ้านแฝด ระดับบน ในเขตกรุงเทพมหานครมีการแข่งขันมากขึ้น แต่ละโครงการจึงพยายามสร้างจุดขายโดยเน้นไปที่การออกแบบโครงการภายนอกและฟังก์ชันการใช้งานภายใน เพื่อให้แตกต่างจากโครงการคู่แข่ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการทาวน์โฮมและบ้านแฝดประสบความสำเร็จ สอดคล้องกับโครงการโฮมออฟฟิศที่ต้องมีการออกแบบพื้นที่ให้สามารถรองรับการใช้งานที่หลากหลาย   โซนใจกลางเมืองยังคงมีอัตราการขายสูงและมีอุปทานต่ำ ส่วนโซนที่อยู่รอบใจกลางเมืองยังคงมีการเติบโตได้ดี โดยสังเกตจากอัตราการขายที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาดโดยเฉพาะในโซนพระโขนง-สวนหลวง-แบริ่ง   ตลาดทาวน์โฮมที่มีทำเลที่ตั้งที่ดี มีแนวโน้มที่จะเป็นโครงการขนาดเล็กหรือโครงการที่ไม่ต้องขออนุญาตจัดสรรมากขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดในด้านที่ดินที่หายากและมีต้นทุนที่ดินที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูงและผู้ซื้อสามารถซื้อทาวน์โฮมได้ในทำเลที่ตั้งที่น่าอยู่และสามารถปรับเปลี่ยนแบบบ้านได้ตามความต้องการ”      
จับตาดู อารีย์-พหลโยธิน ย่านเก่าร่วมสมัย ศูนย์กลางสำคัญแห่งใหม่ สำหรับชีวิตติดเมือง

จับตาดู อารีย์-พหลโยธิน ย่านเก่าร่วมสมัย ศูนย์กลางสำคัญแห่งใหม่ สำหรับชีวิตติดเมือง

อารีย์-พหลโยธิน ย่านดั้งเดิมเก่าแก่กำลังจะกลายเป็น ศูนย์กลางสำคัญแห่งใหม่ของอาคารสำนักงานและแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่สำหรับคนจะย้ายเข้ามาใช้ชีวิตใจกลางเมือง โดยเฉพาะทำเลระหว่างช่วงสถานีอารีย์และสถานีสะพานควาย ในระยะทางประมาณ 2 กม. ที่มีสถานที่ราชการ อาคารสำนักงานและอาคารมิกส์ยูส ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ที่สำคัญยังแวดล้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ทั้ง ห้างสรรพสินค้า, ร้านอาหาร, คาเฟ่นั่งทำงาน, และโรงพยาบาล ด้วยการเดินทางที่ง่ายในระยะเดินเท้าถึงได้อย่างสบายหรือด้วยรถไฟฟ้าที่ใช้เวลาไม่นานสำหรับเดินทางเข้าเมืองและออกนอกเมือง จึงกลายเป็นทำเลที่ใครๆ ก็อยากเข้ามาอยู่อาศัย และขณะเดียวกันผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมไม่ค่อยจะย้ายออกไปตั้งถิ่นฐานที่อื่น   นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ทำเลย่านอารีย์-พหลโยธิน ถือเป็นทำเลที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่น่าจับตามองของย่านนี้ อาจเรียกได้ว่าที่นี่ คือ ศูนย์กลางสำคัญแห่งใหม่ของอาคารสำนักงาน เพราะนอกจากจะเป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงานเอกชนและสถานที่ราชการสำคัญอยู่ก่อนแล้ว เช่น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงค์), ธนาคารออมสิน (สำนักงานใหญ่), สำนักงาน กสทช., ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่, เอไอเอส ทาวเวอร์ เป็นต้น ยังมีอาคารสำนักงาน เกรด A แห่งใหม่บนถนนพหลโยธิน อีก 3 อาคารที่เพิ่งเปิดใช้งาน ได้แก่  1. Pearl Bangkok อาคารสูง 25 ชั้น แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ 2. Ari Hill อาคารมิกส์ยูส สูง 34 ชั้น ที่มีทั้งอาคารออฟฟิศ ร้านค้า และโรงแรม 3. SC Tower อาคารสูง 24 ชั้น คาดการณ์ว่าจะมีผู้ทำงานในทั้ง 3 อาคารนี้ประมาณ 3,733 คน, 1,500 คน และ 817 คน ตามลำดับ หรือรวมแล้วประมาณ 6,050 คน อีกทั้งยังมีโครงการใหญ่อื่นๆ ที่กำลังก่อสร้างและคาดการณ์กำหนดแล้วเสร็จภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ได้แก่ 1. The Rice อาคารมิกส์ยูส สูง 24 ชั้น มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท 2. โรงพยาบาลวิมุตติ ในเครือพฤกษา ที่มีมูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2020 ทั้ง 2 โครงการ 3. อาคารวานิช เพลส ของกลุ่มแหลมทองสหการ เป็นออฟฟิศ 31 ชั้น และคอมมูนิตี้มอลล์ที่มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2021 การผุดขึ้นของอาคารสูงระดับไฮเอนด์เหล่านี้อย่างต่อเนื่องเป็นการตอกย้ำว่าย่านนี้ ยังคงเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ ผสานกับเสน่ห์ของไลฟ์สไตล์ดั้งเดิมแบบกึ่งบ้านกึ่งเมืองทำให้คนรุ่นใหม่ อยากเข้ามาใช้ชีวิตในย่านนี้มากขึ้น ด้วยจุดเด่นที่สำคัญของทำเลนี้ ที่มีความชัดเจนของการขยายเมืองทั้งการเพิ่มขึ้นของอาคารสำนักงาน และตึกสูงเกรด A ความสะดวกในการเดินทางมีเส้นรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมถึงใกล้จุดขึ้นลงทางด่วน สร้างโอกาสในการเป็นศูนย์กลางที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ เติบโตทั้งด้านอุปทาน, อุปสงค์และราคาขาย โดยตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันมีโครงการคอนโดเปิดใหม่มากขึ้น ซึ่งภาพรวมโครงการในตลาดมีทั้งคอนโดมิเนียมรูปแบบไฮไรส์และรูปแบบโลวไรส์ โดยมีคอนโดมิเนียมเปิดขาย ทั้งหมด 4,103 ยูนิต จาก 16 โครงการ ขายไปแล้ว 3,318   ยูนิต หรือประมาณ 81% ซึ่งโครงการที่เพิ่งเปิดขายในช่วงระยะ 1-2 ปี ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะมียอดขายเกินกว่า 70% ทั้งนี้คอนโดมิเนียมตลาดระดับไฮเอนด์ (110,000 – 190,000 บาท/ตร.ม.) เป็นตลาดใหญ่ที่สุด คิดเป็น 74% ของสัดส่วนตลาดทั้งหมด หรือจำนวน 2,544    ยูนิต มีทั้งคอนโดมิเนียมรูปแบบไฮไรส์และรูปแบบโลวไรส์ โดยอัตราขายที่ดีที่สุดของตลาดกลุ่มนี้ คือ โครงการที่มีระดับราคาต่อตารางเมตรอยู่ในช่วง 110,000-120,000 บาท/ตร.ม. ซึ่งโครงการส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในทำเลอินทามระ ขณะที่ยังไม่มีโครงการในระดับราคานี้ในทำเลอารีย์-พหล จึงเป็นโอกาสทางการตลาดที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมแบบโลวไรส์ที่ยังเป็นที่ต้องการอย่างต่อเนื่องของตลาดในทำเลนี้ เพราะราคาอยู่ในช่วงที่จับต้องได้แม้อยู่ใจกลางเมืองหรือใกล้รถไฟฟ้า ในขณะที่คอนโดไฮไรส์มีราคาสูงกว่าเพราะราคาที่ดินที่ติดถนนใหญ่หรือติดรถไฟฟ้ามีราคาสูงและทำเลที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาโครงการมีอยู่จำกัด อีกทั้งคอนโดมิเนียมแบบโลวไรส์ยังมีจุดเด่นที่จำนวนยูนิตน้อยและมีบรรยากาศที่ดีทำให้มีความเป็นส่วนตัวมากกว่า ซึ่งตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนเมืองได้ตรงความต้องการมากกว่านั่นเอง ดังนั้น อาจจะกล่าวได้ว่าในโลกที่ต้องการความรวดเร็วไปหมดทุกเรื่อง รวมถึงเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง คือ การมีที่อยู่อาศัยที่อยู่ในเมือง ซึ่งจะสามารถลดเวลาการเดินทาง  ลดขั้นตอนในการออกไปหาการพักผ่อนแบบมีไลฟ์สไตล์ ทำเลย่านพหลโยธิน ถือเป็นทำเลที่ตอบโจทย์อีกทำเลหนึ่งในกรุงเทพ นางนลินรัตน์ กล่าวปิดท้าย          
เน็กซัส แนะการพัฒนาโครงการคอนโดฯ ในกรุงเทพฯ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน

เน็กซัส แนะการพัฒนาโครงการคอนโดฯ ในกรุงเทพฯ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน

เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ ชี้ราคาที่ดิน ทำเล และการขยายตัวของเมือง เป็นปัจจัยหลักส่งให้ราคาคอนโดมิเนียมปรับตัวสูงขึ้น การเข้ามาซื้อคอนโดเพื่อลงทุนของชาวต่างชาติ ที่หวังผลการลงทุนระยะยาว อาจเป็นเพียงสีสันให้วงการอสังหาในช่วงระยะเวลา 1-2 ปีนี้ แนะ ผู้ประกอบการให้คำนึงถึงกลุ่มลูกค้าคนไทยที่ซื้อเพื่ออยู่จริง และควรศึกษาถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคก่อนพัฒนาสินค้า เพื่อให้ได้สินค้าที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการสูงสุด เพื่อการเติบโต อย่างมั่นคงและยั่งยืนของตลาดคอนโดมิเนียม   นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเน็กซัสฯ นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับตลาดคอนโดมิเนียม มาอย่างต่อเนื่อง เราพบว่าอัตราการเติบโตของอุปทานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10% ต่อปี โดยราคาจะปรับเพิ่มสูงขึ้น 8-12% ต่อปี ซึ่งราคาคอนโดมิเนียมที่สูงขึ้นเป็นเพราะปัจจัยหลัก คือ ราคาที่ดินที่สูงขึ้น ที่ดินหายากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นปัจจัยให้ผู้ประกอบการต้องพิจารณาในการพัฒนาสินค้า เพื่อตอบสนองกับการเติบโตของตลาดในระยะยาวแบบยั่งยืนอีกด้วย   สำหรับภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมไตรมาส 2 ของปี 2561 พบว่าอุปทานคอนโดมิเนียมในตลาดกรุงเทพฯ เติบโตขึ้น 9,395 หน่วย จาก 20 โครงการ ทำให้ในตลาดมีคอนโดมิเนียมรวม 573,000 หน่วย โดยทำเลที่มีคอนโดมิเนียมเปิดใหม่มากที่สุด คือ บริเวณจรัญสนิทวงศ์ และสะพานควาย ซึ่งเป็นเขตรอบใจกลางเมือง   ด้านราคา พบว่าภาพรวมตลาดราคาเฉลี่ยคอนโดมิเนียมปรับตัวสูงขึ้น 5% ในช่วงครึ่งปีแรก คือ 137,100 บาท/ตารางเมตร แต่เมื่อเจาะลงมาในกลุ่มตลาดใจกลางเมือง พบว่ายังคงเป็นตลาดที่ครองตำแหน่งการปรับตัวของราคาสูงที่สุด คือ 6% หรือ 223,000 บาท/ตารางเมตร ส่วนตลาดรอบใจกลางเมืองปรับตัวสูงขึ้น 4% หรือ 110,000 บาท/ตารางเมตร และตลาดรอบนอกราคาปรับตัวสูงขึ้นอีก 3% หรือ 75,000 บาท/ตารางเมตร ตามลำดับ   สำหรับความต้องการคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา พบว่าเป็นดีมานด์จากคนไทย ที่ซื้อเพื่อการอยู่อาศัยจริงมากกว่า 80% แต่ในระยะเวลาช่วง 1-2 ปีนี้ จะเห็นได้ว่าเริ่มมีกำลังซื้อจากชาวต่างชาติมากขึ้น โดยจะซื้อผ่านนายหน้าเป็นหลัก ซึ่งวัตถุประสงค์ในการซื้อก็เพื่อการลงทุน ทั้งในแบบระยะสั้น และระยะยาว เพื่อปล่อยเช่า เพราะคาดหวังในผลตอบแทนรายปีและจากราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นที่ทราบกันดีว่าราคาค่าเช่า ไม่ได้เติบโตในอัตราส่วนเดียวกับราคาขายของคอนโดมิเนียม ดังนั้น ในระยะยาวนักลงทุนน่าจะหวังผลกำไรจากราคาขายต่อที่เพิ่มสูงขึ้นได้เป็นหลัก ส่วนจากราคาค่าเช่าอาจไม่ได้สูงมากนัก และหากจะคาดว่าต่างชาติจะเข้ามาถือครองคอนโดมิเนียมในสัดส่วน 49% อาจเห็นได้ในบางโครงการเท่านั้น และในที่สุดแล้ว ตลาดที่น่าจะต้องให้ความสนใจเป็นหลักก็ยังคงเป็นตลาดคนไทยนั่นเอง     ภาพรวมการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของตลาดคอนโดมิเนียมในช่วง 7 - 10 ปีที่ผ่านมานั้น พบว่าการเปลี่ยนแปลง ด้านแรก คือ 1) ด้านทำเลที่ตั้ง เพราะเมื่อเมืองขยายตัว ส่งผลให้การคมนาคมขนส่งที่ขยายตัวและเติบโตมากขึ้น การเติบโตของคอนโดมิเนียมก็ขยายบริเวณออกไปด้วย พบการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ คือ สัดส่วนอุปทาน ที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา คือ 2 ทำเลรอบนอก ได้แก่ ธนบุรี-เพชรเกษม ซึ่งจากเดิมในปี 2554 มีเพียง 13,000 ยูนิต แต่ปัจจุบันจากการสำรวจเมื่อไตรมาส 2/2561 พบว่าเพิ่มขึ้นเป็น 66,000 ยูนิต และอีกทำเลหนึ่ง คือ งามวงศ์วาน ติวานนท์ ที่จากเดิมในปี 2554 มีเพียง 17,000 ยูนิต กลับเพิ่มขึ้นเป็น 73,000 ยูนิต   2) การเปลี่ยนแปลงด้านขนาดของห้อง พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขนาดห้องของคอนโดมิเนียมเล็กลงเป็น อย่างมาก เช่น คอนโดมิเนียม 1 ห้องนอน เดิมมีขนาด 65 ตารางเมตร ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 28 ตารางเมตร เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนแล้ว ขนาดของห้องเล็กลงเกินกว่าครึ่งหนึ่งจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในขณะที่คอนโดมิเนียมขนาด2 ห้องนอน แต่เดิมมีขนาด 120 ตารางเมตร ในปัจจุบันเหลือเพียง 45 - 48 ตารางเมตร เป็นต้น   3) ในด้านรูปแบบของห้อง (Room Mix) พบว่าสัดส่วนของห้องชุดก็แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับหลายปีก่อน พบว่าในหนึ่งโครงการ ห้องชุดขนาด 2 และ 3 ห้องนอน จะมีสัดส่วนห้องมากที่สุดของทั้งโครงการ ในขณะที่ห้องชุดขนาด 1 ห้องนอน มีสัดส่วนเพียง 20 - 30% ของโครงการเท่านั้น แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าห้องชุดแบบ 1 ห้องนอน จะเป็นสัดส่วนหลักในการพัฒนาโครงการสำหรับคอนโดมิเนียมยุคนี้ เราแทบจะหาคอนโดมิเนียมขนาด 3 ห้องนอนในโครงการใหม่ๆ ไม่ได้เลย และด้วยขนาดห้องที่เล็กลง ส่งผลให้การพัฒนาคอนโดมิเนียมมีจำนวนห้องในแต่ละโครงการเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น ที่ดินขนาด 2 ไร่ จากสมัยก่อนที่เคยทำคอนโดมิเนียมตึกสูงได้จำนวน 300 ยูนิต ปัจจุบันก็เพิ่มเป็น 500 ยูนิต ในสัดส่วนพื้นที่ขายที่เท่ากัน ซึ่งนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อุปทานคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา   4) การเปลี่ยนแปลงด้านราคาต่อหน่วย สำหรับคอนโดมิเนียมในตลาดระดับกลาง (mid market) และตลาดซิตี้คอนโด มีระดับราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 1.5 ล้านบาท ถึง 3 ล้านบาทต่อยูนิต มีจำนวนหน่วยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 70% ของจำนวนห้องชุดทั้งหมดในตลาด ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพนั้น แต่ราคาต่อหน่วยถูกจำกัดด้วยความสามารถในการผ่อนชำระของผู้ซื้อมาโดยตลอด ทำให้ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาโครงการ เพื่อกำหนดขอบเขตของต้นทุนให้อยู่ในเงื่อนไขราคาต่อหน่วยที่กำหนด โดยในหลายปีที่ผ่านมา ด้วยราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ทำเลของโครงการถูกขยับออกไปไกลจากใจกลางเมืองมากขึ้น โดยเกาะขอบแนวรถไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต หรือเข้าไปอยู่ในซอยเล็กเป็นอาคาร 8 ชั้น เป็นต้น   ทั้งนี้ หากวิเคราะห์สัดส่วนรายได้จากกลุ่มคนทำงานในกรุงเทพฯ แล้ว จะพบว่ากลุ่มคนทำงานในระดับเจ้าหน้าที่มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 35,000 บาท สามารถซื้อคอนโดมิเนียมขนาด 1 ห้องนอน ในกลุ่มซิตี้คอนโดฯ ระดับราคาไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่มตลาดระดับกลาง (mid market) พนักงานในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสหรือหัวหน้างาน ผู้มีรายได้ไม่เกิน 65,000 บาทต่อเดือน จึงจะสามารถเริ่มซื้อได้ ในขณะที่คอนโดฯ ระดับไฮเอนด์ผู้ที่สามารถซื้อได้ จะต้องอยู่ในระดับผู้จัดการขึ้นไป หรือผู้ที่มีรายได้ 120,000 บาทต่อเดือน และในกลุ่มลักซัวรี่และซูเปอร์ลักซัวรี่จะต้องเป็นเจ้าของกิจการและผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น ด้วยราคาคอนโดมิเนียมที่ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 7-8% ต่อปี ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้คอนโดมีเนียมมีราคาเพิ่มสูงขึ้นมากกว่ารายได้ของประชากรกรุงเทพฯ บางส่วน ซึ่งแน่นอนความสามารถในการซื้อห้องในราคาที่เพิ่มสูงขึ้นบ้างก็มีโอกาสเป็นไปได้ แต่อาจจะได้ห้องขนาดเล็กลงในทำเลเดิม หรือซื้อห้องขนาดเท่าเดิมในทำเลที่ไกลออกไป   “สรุปแล้วการเติบโตที่ยั่งยืนของตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ก็ยังคงต้องพึ่งตลาดคนไทยเป็นหลัก โดยตลาดต่างชาตินั้นเข้ามาเสริม ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อการลงทุนระยะยาว จากราคาคอนโดมิเนียมที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจัยค่าเช่าน่าจะเป็นส่วนเสริมให้การลงทุน มีความน่าสนใจมากขึ้นเท่านั้น ในระยะกลางหรือระยะยาวคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ จะขยายตัวออกไปยังชานเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตคนที่ทำงานจากบ้านได้มากขึ้น และศูนย์กลางการทำงานอาจมีการขยายตัวไปยังบริเวณรอบใจกลางเมืองมากขึ้นเหมือนเช่น พระราม 9 บางซื่อ พหลโยธิน รัชดาภิเษก เป็นต้น ทำให้เมืองขยายออกไป และตลาดคอนโดมิเนียมรอบนอกเมือง ก็ยังคงขยายตัวต่อเนื่องในขณะที่ตลาดคอนโดมิเนียมใจกลางเมือง การเติบโตของตลาดคอนโดมิเนียมมือสองจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยราคาที่ต่ำกว่าราคาคอนโดมิเนียมใหม่ ขนาดห้องที่ใหญ่กว่า ตอบรับกับการอยู่อาศัยได้จริง ซึ่งเราอาจจะไม่เห็นในกลางเมืองกรุงเทพฯ ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า แต่ในระยะยาวลักษณะแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นในตลาดกรุงเทพฯ เหมือนเมืองใหญ่ๆ ทั่วไปในโลก เช่น นิวยอร์ค หรือ โตเกียว เป็นต้น” นางนลินรัตน์ กล่าวสรุป      
เน็กซัส เผยลักษณะพิเศษที่ทำให้ถนนรัชดาเป็นโซนน่าอยู่ น่าลงทุน

เน็กซัส เผยลักษณะพิเศษที่ทำให้ถนนรัชดาเป็นโซนน่าอยู่ น่าลงทุน

ถนนรัชดาภิเษก เป็นถนนสายสำคัญอีกเส้นหนึ่งที่เชื่อมต่อพื้นที่โซนพระราม 9 - ลาดพร้าวเข้าด้วยกัน ตลอดระยะทางประมาณ 10.5 กิโลเมตร ตั้งแต่แยกพระราม 9 ไปจนถึงแยกรัชโยธินนั้น มีโครงการรถไฟฟ้าในอนาคตที่จะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ปัจจุบันถึง 2 จุด และมีโครงการ Mega Project ที่กำลังจะเกิดขึ้นมากมายในบริเวณพระราม 9 – รัชดา ซึ่งเป็นพื้นที่ใจกลางธุรกิจแห่งใหม่ ที่ขยายตัวมาจากพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำเลนี้เป็นอีกหนึ่งทำเลน่าสนใจสำหรับที่อยู่อาศัย แหล่งงาน หรือแม้แต่การลงทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อการปล่อยเช่า   ทำไมรัชดาภิเษกถึงน่าสนใจ? นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด กล่าวว่า “ถนนรัชดาภิเษก เชื่อมต่อถนนหลักสำคัญหลายเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นถนนลาดพร้าว ถนนสุทธิสาร และถนนพระราม 9 ถนนทั้ง 3 เส้นที่ตัดผ่าน ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน ทั้งในแง่ของการกระจุกตัวของที่อยู่อาศัย ออฟฟิศ ศูนย์การค้า ซึ่งปัจจัยดังกล่าวข้างต้นยังสะท้อนไปถึงราคาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่นั้นๆ ด้วย ทั้งนี้ทำเลรัชดาภิเษกครอบคลุมจาก (1) โซนรัชดา-พระราม 9 (2) โซนรัชดา-สุทธิสาร และ (3) โซนรัชดา-ลาดพร้าว ในด้านการอยู่อาศัย ความโดดเด่นของ 3 ทำเลนี้ สามารถตอบสนองได้ทั้งการใช้ชีวิต การทำงาน และการเดินทางที่สะดวกสบายด้วยระบบราง ในด้านราคานั้น ทำเลนี้มีอัตราการเติบโตของราคาในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยอยู่ที่ 9.3% ต่อปี จากราคาเฉลี่ย 86,900 บาทต่อตารางเมตร ในปี 2556 ต่อเป็น 116,000 บาทต่อตารางเมตร ในปี 2560” ราคาที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอัตราการเติบโตของราคาในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในที่มีการเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี ซึ่งเห็นได้ว่าแนวโน้มการเติบโตของราคาไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้หากเทียบเป็นโซนย่อยของรัชดา (1) ทำเลรัชดา-ลาดพร้าว มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าเขตกรุงเทพฯ ชั้นในอย่างเห็นได้ชัด เฉลี่ยอยู่ที่ 15% ต่อปีซึ่งสะท้อนศักยภาพในแง่ของการลงทุนและการเติบโตของชุมชนในทำเลนี้ (2) ทำเลรัชดา- สุทธิสาร มีอัตราเติบโตของราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 5% ต่อปี สะท้อนการเติบโตของตลาดและความต้องการของกลุ่มลูกค้าระดับกลาง (3) ทำเลรัชดา- พระราม 9 มีอัตราเติบโตของราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 8% ต่อปี เป็นทำเลศักยภาพใกล้ย่านธุรกิจ ด้านการลงทุนคอนโดมิเนียมในทำเลนี้ มีอัตราเฉลี่ยผลตอบแทนจากการปล่อยเช่า 5.39% เมื่อเปรียบเทียบกับทำเลในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในแล้ว มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 3-5% ทำให้คอนโดมิเนียมในทำเลนี้น่าสนใจในด้านการลงทุนปล่อยเช่า ซึ่งเนื่องมาจากเป็นทำเลที่ใกล้โซนออฟฟิศ และยังมีศักยภาพสำหรับการปล่อยขายและเช่าตลาดลูกค้าต่างชาติอีกด้วย หากจะวิเคราะห์ถึงลักษณะพิเศษที่ทำให้รัชดาภิเษกสามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วน โซนรัชดา-พระราม 9 (พื้นที่เชื่อมต่อเมือง เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ศูนย์กลางออฟฟิศในอนาคต) โซนรัชดา-พระราม 9 นับพื้นที่ตั้งแต่แยกพระราม 9 ถึงสถานี MRT ศูนย์วัฒนธรรม มีอุปทานรวมจำนวน 6,279 หน่วย อัตราขายรวม 89% มีระดับราคาเฉลี่ย 132,600 บาท/ตร.ม. เป็นโซนที่มีระดับราคาต่อตารางเมตรเฉลี่ยสูงที่สุดของทำเลรัชดาภิเษก ด้วยทำเลที่เชื่อมต่อจากอโศก-สุขุมวิท ย่านพื้นที่ดินราคาแพงของกรุงเทพฯ มีศูนย์การค้าเกิดขึ้นมากมายในบริเวณนี้ ทั้งเซ็นทรัลพระราม 9  ฟอร์จูน เอสพลานาดรัชดา และเดอะ สตรีท รวมทั้งตึกออฟฟิศจากนายทุนเจ้าใหญ่หลาย ๆ แห่ง เช่น SET, True Tower,  AIA เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีแนวโน้มการขยายตัวของเมือง ในบริเวณนี้เพิ่มเติมจากโครงการ Mega Project ต่างๆ เช่น โครงการ Super Tower โครงการมักกะสัน รวมมูลค่าโครงการดังกล่าวทั้งสิ้นกว่า 340,000 ล้านบาท ทำเลนี้จึงมีความน่าสนใจหากต้องการคอนโดมิเนียมที่อยู่ใกล้ใจกลางเมือง เชื่อมต่อเข้าสู่ใจกลางเมืองได้เพียง 2 สถานี และแวดล้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ในราคาที่ถูกกว่าคอนโดมิเนียมในแนวรถไฟฟ้าเส้นสุขุมวิท โซนรัชดา-สุทธิสาร (แหล่งท่องเที่ยวและออฟฟิศ โซนเปลี่ยนผ่านไปยังชุมชนกรุงเทพฯ ชั้นกลาง) โซนรัชดา-สุทธิสาร นับพื้นที่ตั้งแต่สถานี MRT ศูนย์วัฒนธรรม แยกเทียมร่วมมิตรไปจนถึงแยกสุทธิสาร มีอุปทานรวมจำนวน 3,305 หน่วย อัตรขายรวม 93% มีระดับราคาเฉลี่ย 117,875 บาท/ตร.ม. โดยมีราคาขายต่ำลงมาจาก โซนรัชดา-พระราม 9 ประมาณ 11%  พื้นที่โซนนี้เต็มไปด้วยออฟฟิศ และแหล่งท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวจีนและชาวเกาหลีอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และยังสามารถเชื่อมต่อไปยังถนนลาดพร้าว หรือลัดออกสู่ถนนพหลโยธิน จากซอยสุทธิสารได้ นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มในอนาคต ตัดผ่านบริเวณสถานี MRT ศูนย์วัฒนธรรม ทำให้พื้นที่โซนนี้มีโอกาสเติบโตอีกในอนาคต โซนรัชดา-ลาดพร้าว (พื้นที่เชื่อมต่อไปยังชานเมืองหลายเส้นทาง มีความเป็นชุมชน คุ้มค่าราคา) โซนรัชดา-ลาดพร้าว นับพื้นที่ตั้งแต่แยกสุทธิสารไปจนถึงแยกรัชโยธิน มีอุปทานรวมจำนวน 5,256 หน่วย อัตราขาย68% มีระดับราคาเฉลี่ย 100,200 บาท/ตร.ม. มีโครงการคอนโดมิเนียมใหม่เกิดขึ้นในโซนนี้จำนวนมาก เนื่องจากรถไฟฟ้าในอนาคตสายสีเหลืองได้มีกำหนดวันเข้าก่อสร้างที่ชัดเจน ส่งผลให้มียูนิตเหลือขายอีกจำนวนหนึ่งจากโครงการเปิดใหม่ภายใน 1 ปีที่ผ่านมา ทำเลนี้เป็นย่านที่อยู่อาศัยและออฟฟิศขนาดเล็ก มีความเป็นชุมชน เต็มไปด้วยร้านอาหารสไตล์ Street food ย่านรัชดา-ลาดพร้าวจึงเป็นอีกหนึ่งทำเลที่เหมาะสำหรับผู้ที่มองหาคอนโดมิเนียมที่คุ้มค่าราคา และยังมีความสะดวกสบายอยู่ โดยสามารถเดินทางเข้าเมืองได้ภายใน 15 นาที โดยรถไฟฟ้า MRT นอกจากนั้นยังมีโครงการในรถไฟฟ้าความเร็วสูงในอนาคตบริเวณบางซื่อซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบริเวณนี้ ทำให้พื้นที่นี้เป็นย่านที่น่าจับตา เนื่องจากมีจุดเชื่อมต่อ (intersection) หลายจุดใกล้ๆ กัน ในอนาคตอันใกล้ภายในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลากำหนดเสร็จของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ทำเลรัชดาภิเษกน่าจะเป็นทำเลที่กลุ่มนักลงทุนให้ความสนใจมาพัฒนาโครงการในบริเวณนี้มากขึ้น โดยเฉพาะทำเลที่เป็นจุดตัดของรถไฟฟ้าทั้ง สายสีเหลืองและสายสีส้ม ซึ่งเริ่มก่อสร้างไปแล้วทั้งสองสาย นอกจากนั้นยังมีโครงการส่วนต่อขยายจากรถไฟฟ้าสายสีเหลืองแยกรัชดา-ลาดพร้าว เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้มแยกรัชโยธินซึ่งอยู่ระหว่างทำการศึกษาเพิ่มเติมอีกโครงการ ปัจจุบันมีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในทำเลรัชดาจำนวน 1,697 ยูนิต ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา รวมทั้งมี Developer รายใหญ่อีกหลายๆ รายเริ่มเข้ามาจับจองพื้นที่เตรียมพัฒนาโครงการใหม่หรือเปิดตัวเพิ่มตั้งแต่ปลายปี 2560  จึงไม่แปลกใจที่ทำเลรัชดาตั้งแต่แยกพระราม 9 ถึงแยกรัชโยธินจะคึกคักมากกว่าเดิมภายใน 1-2 ปีนี้ และเป็นทำเลที่น่าจับตามองเรื่องราคาคอนโดมิเนียมที่มีโอกาสปรับสูงขึ้นตามอัตราการเติบโตของราคาเฉลี่ยโซนรัชดาต่อไป