Tag : ไทยแลนด์ 4.0

2 ผลลัพธ์
ช.การช่าง ใช้ “BIM” จำลองแบบก่อสร้างเสมือนจริง เพิ่มประสิทธิภาพการออกแบบก่อสร้าง เดินหน้ายกระดับ “อินฟราเทค” ของประเทศไทย นำร่องโครงการแรก “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

ช.การช่าง ใช้ “BIM” จำลองแบบก่อสร้างเสมือนจริง เพิ่มประสิทธิภาพการออกแบบก่อสร้าง เดินหน้ายกระดับ “อินฟราเทค” ของประเทศไทย นำร่องโครงการแรก “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

ในยุคที่ “ไทยแลนด์ 4.0” ถูกนำไปเป็นบริบทสำคัญในการนำ “เทคโนโลยี” เข้าไปเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและปฏิรูปในทุกอุตสาหกรรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนพลิกโฉมอุตสาหกรรมในหลายวงการ เช่น การเงิน อสังหาริมทรัพย์ โทรคมนาคม ฯลฯ บางอุตสาหกรรมนั้นอยู่ในช่วงเริ่มต้นในการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยเข้ามาช่วยบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เช่นเดียวกันกับ “อุตสาหกรรมก่อสร้าง” ซึ่งในภาพรวมทั่วโลกนั้น ก็เป็นอุตสาหกรรมที่ยังมีโอกาสให้เทคโนโลยี-นวัตกรรมเข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนอีกมาก ช.การช่าง ในฐานะผู้พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยได้เล็งเห็นโอกาสนี้ จึงนำเทคโนโลยีการออกแบบและก่อสร้างด้วยระบบ BIM (Building Information Modeling) หรือ ระบบการทำงานแบบจำลองสารสนเทศอาคาร ที่ช่วยออกแบบงานโครงสร้างและประสานการทำงานในส่วนต่างๆได้อย่างแม่นยำมาใช้ในโครงการ ทำให้การดำเนินงานก่อสร้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และลดต้นทุนในการดำเนินงาน โดยช.การช่าง ได้ประเดิมเทคโนโลยีนี้กับการก่อสร้าง “โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม” เป็นโครงการแรก ดร.สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในฐานะบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม (Engineer Expertise) เป็นแกนหลักของธุรกิจ ทำให้ในการทำงานแต่ละโครงการมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย เพื่อให้การบริหารและดำเนินการในส่วนต่างๆเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เราจึงทั้งสรรหาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาขั้นตอนการทำงานเหล่านี้อยู่เสมอ โดยก่อนหน้านี้ ช.การช่างประสบความสำเร็จจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี สปป.ลาว ที่ใช้คอนกรีตทั้งโครงการกว่า 4.3 ล้านลบ.ม.  โดยได้นำฝุ่นหินละเอียดจากการโม่หินเพื่อผลิตทรายซึ่งตามมาตรฐานทั่วไปนั้นต้องล้างทิ้งมาศึกษาและทดลองปรับส่วนผสมจนสามารถนำฝุ่นหินและทรายโม่มาใช้ทดแทนทรายแม่น้ำซึ่งมีปริมาณไม่เพียงพอได้  ทำให้ลดการใช้ทรายแม่น้ำลงได้ถึง 80% นอกจากนี้ยังลดการใช้น้ำ ลดมลภาวะจากการล้างฝุ่นหิน รวมถึงประหยัดพลังงานและเวลาในการเตรียมวัสดุจนได้รับรางวัล TCA Practice Award: Silver Medal จากสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย”   “เช่นเดียวกันกับการนำเทคโนโลยี  Building Information Modelling (BIM) หรือ ระบบการทำงานแบบจำลองสารสนเทศอาคารซึ่งช.การช่างได้เล็งเห็นประโยชน์ของระบบดังกล่าวกับงานก่อสร้างโครงการ ที่จะพลิกโฉมงานก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพในหลายๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแม่นยำในการออกแบบและการทำแบบจำลองก่อสร้างเสมือนจริงเพื่อประสานงานในส่วนต่างๆตั้งแต่ออกแบบจนถึงการก่อสร้าง  เราจึงได้เริ่มศึกษาข้อมูล และเตรียมงานตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2560 เพื่อนำมาใช้เป็นครั้งแรกกับการออกแบบก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม - ตะวันออก สัญญาที่ 1 (ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-รามคำแหง12) และ สัญญาที่ 2 (ช่วงรามคำแหง12 – หัวหมาก) จำนวน 3 สถานีจากทั้งหมด 7 สถานี เพื่อให้เจ้าของโครงการรวมไปถึงผู้โดยสารทุกท่านวางใจได้ว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมีความมั่นคงปลอดภัยและจะแล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด”   สำหรับระบบ Building Information Modelling (BIM) เป็นการออกแบบอาคารหรือโครงสร้างด้วยแบบจำลอง 3 มิติ พร้อมกับมีข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องอยู่ภายใน เช่น ขนาด สเปคและราคาวัสดุ จำนวนการใช้งานจริง การทำงานจะสร้างแบบจำลองเสมือนจริงในคอมพิวเตอร์ โดยผู้ที่ออกแบบทุกฝ่าย ทั้งงานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานระบบ สามารถทำงานบนโมเดลเดียวกันได้ ทำให้ประสานงานระหว่างทีมออกแบบและบริหารต้นทุนโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายวัชระ แสงหัตถวัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานวิศวกรรม บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ผลักดันการใช้เทคโนโลยี BIM ในช.การช่าง กล่าวว่า “ในช่วง 4-5 ปีทีผ่านมา เทคโนโลยี BIM ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ออกแบบและจำลองอาคารสูง ส่วนอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานในเมืองไทย เพิ่งเริ่มมีการตื่นตัวใช้ BIM อย่างกว้างขวางในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยสภาวิศวกร สภาสถาปนิก และวิศวกรรมสถานแห่งชาติ ได้เข้ามาให้การสนับสนุนด้วยการออก BIM Guide ฉบับแรกเพื่อเป็นคู่มือการใช้งานซอฟต์แวร์ดังกล่าวเมื่อปลายปี พ.ศ. 2560 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่วงการก่อสร้างไทยจะได้นำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพอย่างแพร่หลายในอนาคต”   การออกแบบโมเดล 3 มิติ มีความเที่ยงตรงและเห็นภาพโครงสร้างจริงรวมถึงปัญหาที่อาจจะเกิดในการก่อสร้างได้ชัดเจนมากกว่าทำงานด้วยแบบ 2 มิติแบบเดิมๆ ซึ่งต้องทำเป็นรูปด้าน รูปตัดประกอบกันหลายแผ่นจึงจะเห็นภาพ ในแบบ2มิติก็จะเป็นเพียงการเขียนชิ้นงานที่เป็นเส้น ไม่สัมพันธ์กัน ส่วนข้อมูลที่แสดงก็จะเป็นเพียงสี ความหนาเส้น เส้นประ หากต้องการแก้จุดใดจุดหนึ่ง จะต้องแก้แบบแผ่นอื่นๆที่ต่อเนื่องกันตามไปด้วย ทำให้การประสานงานจะมองเห็นเพียงส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานที่กำลังเขียนอยู่เท่านั้น ต่างจากการเขียนแบบด้วยโมเดล 3 มิติที่สามารถแก้จุดเดียวแล้วแบบแผ่นอื่นๆจะปรับแก้ตามอัตโนมัติ ทั้งยังสามารถตรวจจับโครงสร้างที่ชนกัน (Clash Check) ระหว่างทีมเขียนแบบได้อีกด้วย ซึ่งทำให้ลดเวลาในการตรวจแบบลงมาก การประสานงานด้วยโมเดล 3 มิตินี้ มีความแม่นยำสูงตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบก่อนลงมือก่อสร้างจริง ทำให้ทุกฝ่ายออกแบบได้สอดคล้องกันและลดการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งหน้างาน ทั้งนี้ ภาพ 3 มิติยังทำให้ผู้ที่ไม่ชำนาญด้านการอ่านแบบ เช่น ผู้ปฏิบัติงานหน้างาน เจ้าของงาน สามารถมองเห็นภาพโครงการได้ชัดเจนยิ่งขึ้น   “นอกเหนือจากการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานแล้วนั้น ช.การช่างก็มุ่งที่จะพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านเทคโนโลยีไปพร้อมๆกัน โดยได้คัดเลือกวิศวกร สถาปนิก และช่างเขียนแบบที่มีความสามารถไปฝึกอบรมการใช้โปรแกรมกับสถาบันตัวแทน Autodesk เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและโครงการอื่นๆในอนาคต ทั้งยังได้ปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์พร้อมโครงข่ายการทำงานในฝ่ายวิศวกรรมเพื่อให้รองรับการทำงานด้วย BIM บนโครงการคอมพิวเตอร์ของบริษัท โดยในอนาคต ช.การช่าง ยังตั้งเป้าที่จะพัฒนาเทคโนโลยี BIM ให้สามารถวิเคราะห์การใช้พลังงาน และการบำรุงรักษาโครงสร้างส่วนต่างๆ (Facility Management) ของโครงการอีกด้วย” นายวัชระเสริม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คุณวัชระมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนทิศทางด้านเทคโนโลยีของ ช.การช่าง เมื่อย้อนกลับไปถึงช่วงเวลากว่า 3 ทศวรรษก่อน คุณวัชระถือเป็นผู้ผลักดันในการนำคอมพิวเตอร์เครื่องแรกเข้ามาใช้ในบริษัท ช.การช่าง โดยได้รับการสนับสนุนจากคุณปลิว ตรีวิศวเวทย์ ในการเริ่มใช้งานกับโครงการ “ในเวลานั้น คอมพิวเตอร์ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย เครื่องหนึ่งจะมีมูลค่าหลายหมื่นบาท ถือว่ามีมูลค่าที่สูงมาก เราได้นำมาใช้กับระบบบัญชีและการจัดซื้อเป็นจุดประสงค์แรก ซึ่งเดิมทีมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน จำเป็นที่ต้องนำคอมพิวเตอร์เข้ามาจัดการระบบและย่นระยะเวลาการทำงานได้หลายเท่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ของช.การช่างในตอนนั้นจึงไม่ได้มองที่ความทันสมัย แต่เราคำนึงถึงประโยชน์ที่เทคโนโลยีที่เราจะนำมาใช้นั้นเหมาะสมกับงานแค่ไหน จะสร้างความคุ้มค่าทั้งในเชิงการทำงาน การบริหารเวลา และประสิทธิภาพของได้อย่างไรบ้าง ซึ่งถือเป็นแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีของช.การช่างในปัจจุบัน”   อย่างไรก็ตาม หัวเรือใหญ่แห่งสายงานวิศวกรรมของ ช.การช่าง มองว่า หัวใจสำคัญของการใช้เทคโนโลยีในองค์กรนั้นอยู่ที่ “คน” “การพัฒนาเทคโนโลยีขององค์กรนั้น ส่วนที่ท้าทายที่สุดไม่ได้อยู่ที่ตัวเทคโนโลยี เพราะผมเชื่อว่าเทคโนโลยีถูกสร้างมาเพื่อการใช้งานที่สะดวกและง่ายดาย แต่กลับอยู่ที่ ‘คน’ ซึ่งทัศนคติการเปิดใจและยอมรับที่จะเรียนรู้แนวทางการทำงานใหม่ๆจากเทคโนโลยีถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนเรามักยึดถือความคุ้นชินกับแนวทางที่เคยทำมา เราจึงพยายามที่จะผลักดันให้บุคลากรทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ให้ตื่นตัวที่จะเรียนรู้และใช้เทคโนโลยีในการทำงาน ด้วยการชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่พวกเขาจะได้รับว่าคุ้มค่ามากแค่ไหน การก้าวไปข้างหน้าขององค์กรและเทคโนโลยี ผมจึงมองว่า ‘การเปิดใจเรียนรู้’ นี้แหละถือเป็นสิ่งสำคัญมาก” นายวัชระกล่าว      
อสังหายุค 4.0 เทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิต

อสังหายุค 4.0 เทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิต

ศตวรรษที่ 21 นี้ โลกของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย หลายสิ่งหลายอย่างต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลาเพื่อหมุนให้ทันตามโลกที่เปลี่ยนไปอย่างชนิดที่เรียกได้ว่าพลิกฝ่ามือ บางอย่างก้าวตามยุคสมัยไม่ทันก็ต้องโบกมือลาจากไป สิ่งสำคัญที่ทำให้ทุกสิ่งรอบตัวเปลี่ยนแปลงไปได้มากมายขนาดนี้ นั่นคือ "เทคโนโลยี" ซึ่งเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันจนแทบจะกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ในยุคปัจจุบันอย่างขาดไปเสียไม่ได้ ทุกวันนี้เทคโนโลยีถูกแทรกซึมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตอยู่ตลอดเวลา จนเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การเปิดรับข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร การทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อความบันเทิง สินค้าและบริการ ฯลฯ จนเกิดเป็นแผนพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 มาตั้งแต่ปี 2559 ที่ทางรัฐบาลมุ่งหวังให้ประเทศไทยใช้นวัตกรรมเหล่านี้ผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าต่อไป ในวงการอสังหาริมทรัพย์เองก็ไม่แพ้วงการไหน เพราะ Developer หลายเจ้าที่นำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้จนเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ หรือบริษัทเอกชนต่างๆ ที่สร้างเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ขึ้นมาให้บริการ ตั้งแต่ช่วงเริ่มก่อสร้างอาคาร ระบบจัดการภายในที่อยู่อาศัย ระบบการซื้อ-ขาย และนวัตกรรมอื่นๆ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าในแต่ละเทคโนโลยีที่คิดค้นกันขึ้นมานั้นก็เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่กำลังมองหาที่อยู่อาศัย หรือลูกบ้านที่ใช้ชีวิตอยู่ในโครงการให้ได้มากที่สุด จุดนี้เองสามารถสะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจของเจ้าของโครงการที่มีให้กับลูกบ้านได้เป็นอย่างดี ตลอดจนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานให้กับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เองด้วย โดยเรียกกันว่า  "PROP TECH" หรือ "Property Technology" PROP TECH ได้กลายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งนำมาแข่งขันโชว์ศักยภาพกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำทีมขึ้นมาสร้าง พัฒนานวัตกรรมมาใช้ในโครงการของตัวเอง หรือร่วมมือกับบรรดาสตาร์ทอัพ ระดมไอเดียพัฒนาปรับปรุงจนนำมาใช้ได้จริง และยังสามารถผลัดดันไปแข่งขันบนเวทีโลกได้อีกด้วย ตรงนี้เป็นอีกหนึ่งจุดขายที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดไม่แพ้เรื่องของทำเล ดีไซน์ทางสถาปัตยกรรม และราคา ซึ่งนวัตกรรมเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยไม่ได้เป็นเพียงแค่โครงการพัฒนาอีกต่อไป แต่ทุกวันนี้สามารถนำมาใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ จึงถือว่าเป็นกำไรของผู้บริโภคในการมีตัวเลือกของการใช้ชีวิตให้ง่ายมากขึ้น หากพูดภาพรวมแบบนี้อาจจะนึกไม่ออก เราลองไปดูตัวอย่างของนวัตกรรมเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันนำมาใช้งานจริงแล้วในประเทศไทย Precast concrete นวัตกรรมการก่อสร้างด้วยแผ่นคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูป เป็นเทคโนโลยีจากประเทศเยอรมนีที่สามารถควบคุมคุณภาพได้ทุกแผ่น ทุกขั้นตอน โดยให้ตัวผนังนี้มารับน้ำหนักแทนที่เสา และคาน ส่งผลให้การตกแต่งภายในสวยงามมากขึ้น มีคุณสมบัติต้านแรงลม แรงแผ่นดินไหว กันความร้อนและเสียงจากภายนอก โดยในเมืองไทยนิยมใช้วิธีการก่อสร้างแบบนี้กันมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะช่วยลดขยะหน้าไซต์งานก่อสร้าง ไม่ต้องมาคอยผสมปูน หล่อเสา ก่ออิฐ ฉาบปูนแบบเดิม และยังทำให้งานก่อสร้างเสร็จเร็วมากขึ้นด้วย ปัจจุบันนิยมนำมาสร้างคอนโด ทาวน์โฮม บ้านเดี่ยว เป็นต้น Online Booking ระบบจองโครงการที่อยู่อาศัยผ่านเว็บไซต์ เมื่อก่อน(หรือปัจจุบันก็ยังมีอยู่) เมื่อโครงการทำการเปิดรอบ Pre sale ผู้ซื้อก็จะต้องเดินทางไปที่ตั้งของโครงการนั้นๆ ตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อให้ได้คิวอันดับต้นๆ ในการเลือกจองห้องดีที่สุดที่เราเล็งเอาไว้ แต่ปัจจุบันหลายโครงการทำการเปิดจอง Pre sale ผ่านเว็บไซต์ ไม่ต้องตื่นแต่เช้า เดินตากแดดไปจองห้องกันอีกต่อไป ไม่ว่าจะทำอะไร อยู่ที่ไหนก็สามารถจองได้ เรียกว่าใครเร็วกว่าก็ได้ไป Automatic parking ระบบจอดรถอัตโนมัติ หลายคนคงเคยใช้บริการกันตามห้างสรรพสินค้าบางแห่งที่มีให้ใช้บริการ เช่น The EmQuartier ซึ่งไม่ต้องเสียเวลาขับรถวนหาที่จอดนานๆ เพียงแค่ขับรถเข้าไปจอดในลิฟท์ตัวใหญ่แล้วทำตามคำแนะนำ รถของเราก็จะเข้าจอดได้อย่างปลอดภัยมากกว่า ประหยัดพื้นที่จอดรถ แถมยังเพิ่มปริมาณการจอดรถได้อีกมาก ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีบางโครงการคอนโดมิเนียมนำมาใช้บ้างแล้ว    Delivery Robot หุ่นยนต์เซอร์วิชภายในโครงการ ทำหน้าที่ได้หลายอย่างด้วยกัน เช่น ส่งพัสดุ, อาหาร ถึงหน้าห้องพัก Smart home หรือ Home Automation เป็นเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเอาไว้ในสมาร์ทโฟนของเรา ใช้สำหรับควบคุมปิด-เปิด ไฟ, เครื่องปรับอากาศ, โทรทัศน์, ดูกล้องวงจรปิด, ฯลฯ จากสมาร์ทโฟนของเรา ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าจะลืมปิดไฟก่อนออกจากบ้าน และสามารถสั่งเปิดไฟเอาไว้ก่อนเราจะถึงบ้าน เพื่อความปลอดภัยช่วงกลางคืนอีกด้วย Application สำหรับลูกบ้าน เจ้าของโครงการที่อยู่อาศัยรายใหญ่หลายราย ได้ทำ Application เพื่อรองรับบริการหลังการขาย เพื่อความสะดวกสบายของลูกบ้านอย่างรอบด้าน เช่น สำหรับติดต่อนิติบุคคล, แจ้งช่างซ่อม, จองพื้นที่ส่วนกลาง นอกจากนี้ยังมี Application และเว็บไซต์ ที่พัฒนาโดยบริษัทสตาร์ทอัพซึ่งเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยโดยตรง เช่น เรียกแม่บ้านให้เข้ามาทำความสะอาดที่ห้อง Website สุดท้ายที่คงจะไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะเราคือ www.reviewyourliving.com เว็บไซต์รีวิวโครงการที่อยู่อาศัยทั้งคอนโดมิเนียม ทาวน์โฮม บ้านเดี่ยว ลงประกาศขาย-เช่า ข่าวสารวงการอสังหาริมทรัพย์ที่อัพเดทอยู่ตลอด บทความต่างๆ และยังมี Application reviewyourliving เพิ่มความสะดวกสบายในการเข้าถึงบนสมาร์ทโฟนของคุณอีกด้วย           สุดท้ายข้อสำคัญของเทคโนโลยี คือ ทำให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้นกว่าเดิมในยุคที่ต้องแข่งขันกับเวลาอยู่ตลอด ฉะนั้นเทคโนโลยีจะต้องใช้งานง่าย ไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อนจนเกินไป ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และสอดคล้องกับการดำเนินชีวิต