ออกแบบบ้านให้เย็นสบาย สุขได้ทุกฤดูกาล การออกแบบบ้านที่ดี นอกจากภาพลักษณ์อันสวยงามที่ทางสถาปนิกได้ออกแบบให้บ้านในฝันของเรามีเอกลักษณ์สวยเท่ไม่ซ้ำใครแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดในการออกแบบบ้าน คือ ออกแบบอย่างไรให้ฟังก์ชั่นถูกใจเจ้าของบ้าน เพื่อการอยู่อาศัยที่สุขกายและสุขใจไปพร้อม ๆ กัน ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวมากขึ้น ทำให้เทรนด์การออกแบบบ้านสมัยใหม่ ให้ความสำคัญกับ “สภาวะอยู่สบาย” บ้านที่ดีเมื่อเดินเข้าบ้านไปแล้ว อุณหภูมิภายในบ้านควรเย็นกว่าอุณหภูมิภายนอกประมาณ 5 องศาขึ้นไป ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้อยู่อาศัยสัมผัสได้ถึงความสบายเนื้อ สบายตัวแล้ว ยังช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ดีอีกด้วยครับ บ้านไอเดียขอนำเสนอ 5 แนวทางพื้นฐานในการออกแบบ ที่จะช่วยให้บ้านของเราเกิดสภาวะอยู่สบาย โดยเน้นการออกแบบเพื่อให้สอดรับกับหลักธรรมชาติ นำข้อดีต่าง ๆ ที่ธรรมชาติสรรสร้างมาให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ 1. วางผังบ้าน ให้เหมาะกับแดด การวางผังห้องต่างๆ ภายในบ้านให้สอดรับกับธรรมชาติ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องวางแผนในงานออกแบบ เพราะการใช้งานแต่ละห้องมีความแตกต่างกัน บางห้องต้องการแสงแดดเพื่อลดความอับชื้น ในขณะเดียวกันบางห้องต้องการความร่มรื่นตลอดทั้งวัน โดยปกติแล้วในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝนซึ่งมีระยะเวลายาวนานถึง 9 เดือน แสงอาทิตย์เริ่มต้นขึ้นทางทิศตะวันออก จากนั้นอ้อมไปทางทิศใต้และตกในทิศตะวันตก ด้านที่ได้รับแสงแดดร้อนจึงเป็นทิศใต้และทิศตะวันตก ส่วนทิศเหนือเฉลี่ยทั้งปีจะเป็นทิศที่ได้รับแสงอาทิตย์น้อยที่สุดครับ เพราะฉะนั้น หากต้องการออกแบบบ้านให้อยู่สบาย ห้องที่ใช้สำหรับพักผ่อน เช่น ห้องนั่งเล่น, ห้องนอน ควรจัดวางในทางทิศตะวันออกหรือทิศเหนือ ส่วนห้องที่มีความอับชื้นสูง เช่น ห้องน้ำ, ห้องครัว, ห้องเก็บของ ควรจัดวางไว้ในทางทิศตะวันตกหรือทิศใต้ เพื่อให้ห้องดังกล่าวได้รับแสงแดดช่วยป้องกันความอับชื้นและในขณะเดียวกัน ช่วยบดบังแสงแดดให้กับห้องอื่นๆ ครับ 2. มีช่องระบายอากาศ ช่องลมเข้า ช่องลมออก การบดบังแสงแดดด้วยการจัดผังห้องให้เหมาะสมกับทิศเพียงอย่างเดียว ยังไม่เพียงพอต่อหลักการบ้านเย็น เพราะส่วนที่ได้รับแสงแดดมากที่สุดไม่ใช่ผนังบ้าน แต่เป็นหลังคาบ้าน การออกแบบบ้านให้มีช่องระบายอากาศจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้อากาศภายในบ้านหมุนเวียนอยู่เสมอ บ้านที่ดีจึงควรมีช่องระบายอากาศ ทั้งช่องลมเข้าและช่องลมออก ซึ่งหากพิจารณาจากหลักธรรมชาติแล้ว ลมธรรมชาติจะมาทางทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 9 เดือน ส่วนทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 3 เดือน เพราะฉะนั้นในทิศดังกล่าว ควรมีช่องหน้าต่างหรือช่องลมระบายอากาศเพื่อให้ลมสามารถพัดผ่านเข้ามาภายในบ้านได้ สำหรับทิศใต้และตะวันตกเฉียงใต้ แม้จะได้รับลมดีเกือบทั้งปี แต่ทิศนี้นับเป็นทิศที่มีแสงแดดร้อนจัดเช่นเดียวกัน ทิศดังกล่าวจึงควรออกแบบลักษณะปิดแต่โปร่ง บดบังความร้อนจากแสงแดดได้แต่ในขณะเดียวกันต้องได้รับลมที่ดีด้วย ผู้ออกแบบจึงนิยมใช้บล็อคช่องลม, ระแนง หรือวัสดุใดๆ ที่มีความโปร่ง มาช่วยออกแบบในทิศนี้ ส่วนทิศเหนือได้รับแสงน้อยส่งผลให้ห้องมืด การออกแบบจึงเน้นใช้วัสดุกระจก เพื่อให้แสงธรรมชาติมีอย่างเพียงพอ 3. เลือกใช้หลังคาทรงสูง จากหัวข้อที่ผ่านมาได้เกริ่นไว้ว่า หลังคาเป็นส่วนที่ได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์มากที่สุด หลังคาบ้านที่ดีจึงควรมีรูปทรงที่สอดรับกับธรรมชาติ โดยหลักการแล้วมวลอากาศร้อนจะลอยตัวขึ้นสู่ที่สูงเสมอ เพราะฉะนั้นหลังคาบ้านจึงควรมีรูปทรงสูงโปร่ง มีโถงหลังคาเพื่อเปิดพื้นที่ให้มวลอากาศลอยตัวขึ้นไปได้ พร้อมกับออกแบบให้โถงหลังคามีช่องระบายอากาศ มวลอากาศร้อนที่สะสมภายในบ้านจะค่อยๆ ถ่ายเทออกและหมุนเวียนอากาศใหม่เข้ามาอยู่เสมอครับ นอกจากโถงหลังคาแล้ว องศาความชันของหลังคาก็มีส่วนในการรับความร้อน สำหรับบ้านหลังคาแบน หลังคาจะสัมผัสกับแสงอาทิตย์โดยตรงทั้งผืน ส่วนหลังคาที่มีองศาความชันสูง เช่น หลังคาจั่ว, หลังคามะนิลา และหลังคาปั้นหยา จะสัมผัสกับแสงอาทิตย์ได้น้อยกว่า อีกทั้งเมื่อแสงอาทิตย์เปลี่ยนไปอีกด้าน ส่งผลให้ด้านตรงกันข้ามเกิดเงาช่วยบดบังให้กันและกัน ส่วนหลังคาแบนจะไม่มีส่วนใดบดบังให้ครับ นอกจากนี้..หลังคาที่มีองศาความชันสูง ยังส่งผลดีต่อการระบายน้ำเมื่อฝนตก ยิ่งชันมากน้ำจะยิ่งระบายได้เร็วมากขึ้น ลดโอกาสปัญหารั่วซึมได้ดีอีกด้วยครับ 4. วัสดุช่วยกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้าน ทั้ง 3 ข้อที่ผ่านมา เป็นแนวทางการออกแบบเพื่อให้สอดรับกับหลักธรรมชาติ ทิศทางลม แสงแดด และหลักการถ่ายเทมวลอากาศร้อนออกสู่ตัวบ้าน ส่วนหัวข้อนี้เป็นส่วนประกอบเสริมที่ช่วยปกป้องบ้านจากความร้อนได้ดียิ่งขึ้น โดยการเลือกวัสดุก่อสร้างที่มีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันร้อน, ไม่นำและไม่อมความร้อนครับ พื้นสวนรอบบ้าน : ควรเลี่ยงการเทพื้นซีเมนต์รอบๆ บริเวณบ้าน เพราะพื้นซีเมนต์มีคุณสมบัติอมความร้อน ส่งผลให้ช่วงเย็นและค่ำคืน ความร้อนที่สะสมมาตลอดทั้งวันคายตัวออก ผู้อยู่อาศัยจึงรู้สึกร้อนอบอ้าว แนะนำให้เลือกวัสดุที่มีช่องระบายอากาศ เช่น พื้นตัวหนอน, พื้นอิฐ, พื้นช่องลม, พื้นหิน, ระเบียงไม้, พื้นสนามหญ้า หรือวัสดุใดๆ ที่สามารถ่ายเทอากาศได้สะดวกครับ ผนังบ้าน : วัสดุผนังเย็นที่มีในประเทศไทย ผนังบ้านโฟมจะให้ความเย็นสบายสูงสุดแต่ยังได้รับความนิยมน้อยเนื่องด้วยราคาและมีช่างที่สามารถสร้างบ้านโฟมได้ไม่มากนัก รองลงมาและกำลังเป็นที่นิยมสูง คือการเลือกก่อผนังด้วยอิฐมวลเบา ซึ่งมีคุณสมบัติกันร้อนได้ดีกว่าอิฐมอญแดง แต่หากผู้อ่านต้องการใช้อิฐมอญแดง แนะนำให้เลือกก่อผนัง 2 ชั้นในด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ การก่อผนัง 2 ชั้นจะช่วยปกป้องผนังด้านใน ไม่ให้สัมผัสกับความร้อนโดยตรง นอกจากนี้ยังสามารถใช้วัสดุประเภทระแนง, บล็อคช่องลม และฟาซาด เพื่อช่วยกรองแสงแดดให้มีความร้อนลดน้อยลง ในขณะเดียวกันบ้านยังรับลมธรรมชาติได้อีกด้วย สำหรับผนังกระจกควรเลือกใช้เฉพาะทิศเหนือและทิศตะวันออกเท่านั้น ส่วนทิศใต้และทิศตะวันตกควรเลี่ยงที่จะใช้กระจก เพราะกระจกนำความร้อนได้ดีมากครับ หลังคาบ้าน : นอกจากการเลือกหลังคาทรงสูงโปร่งแล้ว การเพิ่มฉนวนกันความร้อนใต้โถงหลังคา ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้บ้านเย็นขึ้นได้มาก สามารถติดตั้งได้ 2 ลักษณะ ติดตั้งบนฝ้าเพดานและติดตั้งใต้แผ่นกระเบื้องหลังคา หรือจะติดตั้งทั้ง 2 ลักษณะก็สามารถทำได้เช่นกันครับ 5. ปลูกไม้ยืนต้นให้ถูกทิศทาง อีกสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ ต้นไม้ โดยเฉพาะบ้านที่ไม่เอื้อต่อการวางผังในทิศทางที่เหมาะสมกับธรรมชาติ หรือต้องการให้บ้านมีความโปร่งสบาย เช่น ต้องการรับลมธรรมชาติในทางทิศใต้ หากออกแบบผนังบ้านในลักษณะปิด ลมจะไม่สามารถพัดผ่านเข้ามาได้ การออกแบบเปิดโปร่งจึงช่วยให้ลมพัดเข้ามาได้อย่างสะดวก แต่ในขณะเดียวกันทิศใต้มีแสงแดดร้อนกว่าทิศอื่น ๆ การปลูกไม้ยืนต้นจึงเป็นทางเลือกที่ลงตัวและช่วยให้บ้านเย็นขึ้นได้มากครับ นอกจากจะช่วยบดบังแสงแดดได้ดีแล้ว ลมที่พัดผ่านเข้ามาจะกระทบกับพุ่มไม้ก่อนเข้าสู่ตัวบ้าน ส่งผลให้ลมร้อนถูกเปลี่ยนสถานะกลายเป็นลมเย็น พร้อมกันนี้ต้นไม้ยังช่วยกรองฝุ่นละออง บ้านจึงเย็นสบายและมีอากาศที่สดชื่นเกือบตลอดทั้งปี แนวทางการออกแบบทั้ง 5 ข้อนี้ เป็นแนวทางพื้นฐานที่เหมาะสำหรับการสร้างบ้านในประเทศไทย แต่หากเป็นบ้านเรือนในประเทศอื่นๆ ที่มีอากาศหนาว การออกแบบจะตรงกันข้ามกัน ผู้อ่านท่านใดที่ชอบชมผลงานการออกแบบบ้านจากสถาปนิกต่างประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำไอเดียเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้งาน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมลงตัวกับสภาพภูมิอากาศในไทยครับ สำหรับผู้อ่านท่านใดที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการออกแบบบ้านเย็น สามารถคอมเม้นต์สอบถามมาทางเพจบ้านไอเดียได้ครับ หรือสถาปนิก นักออกแบบท่านใดต้องการแบ่งปันความรู้ในงานออกแบบเพื่อบ้านเย็น ร่วมเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ใต้เนื้อหาชุดนี้ได้ ขอบคุณแหล่งที่มา : http://www.banidea.com/how-to-cool-house-design/