โฮมบายเออร์กรุ๊ป จับมือคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ผสานจุดแข็งเปิดตัว “Chula-Home Dot Tech” ดึง Data Science & Machine Learning ปั้น Prop Tech พลิกโฉมอสังหาฯ ตอบโจทย์ผู้บริโภค-ภาคธุรกิจและพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา เตรียมเปิดแอปพลิเคชัน “Home Hop” นวัตกรรมค้นหาที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่ครั้งแรกในประเทศไทย
รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า คณะได้ร่วมมือกับบริษัท โฮมบายเออร์ไกด์ จำกัด ในลักษณะของโครงการความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม (Industrial Liaison Program หรือ ILP) ดำเนินโครงการ Chula-Home Dot Tech ซึ่งเป็นโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านอสังหาริมทรัพย์หรือ Prop Tech ด้วยการนำเทคโนโลยี Data Scienceและ Machine Learning มาประยุกต์ใช้ในโดเมนด้านอสังหาริมทรัพย์ (www.home.co.th) และสร้างเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อประโยชน์แก่ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นครั้งแรกของประเทศไทย
นอกจากประโยชน์ต่อผู้บริโภคและภาคอสังหาริมทรัพย์โดยรวมแล้ว ความร่วมมือครั้งนี้ยังเป็นโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญด้าน Data Science และ Machine Learning ได้ศึกษาวิจัยและทดลองกับข้อมูลจริงในตลาด ช่วยพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้เกิดความชำนาญ เกิดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์และคณะที่เกี่ยวข้อง และช่วยสร้างประสบการณ์การพัฒนา Prop Tech ในอนาคตด้วย
“ต้องยอมรับว่าผู้เชี่ยวชาญด้าน Data Science และ Machine Learning ในไทยขณะนี้ยังมีไม่มาก และส่วนใหญ่อยู่ในภาคการศึกษา ขณะที่ภาคธุรกิจจะมีข้อมูลเชิงลึก มีประสบการณ์จริงที่สั่งสมมายาวนานจากภาคสนาม ความร่วมมือครั้งนี้จึงถือเป็นสุดยอดความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ ด้วยการผสานจุดแข็งของทั้งสองฝั่ง คล้ายกับความร่วมมือที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์หรือ MITร่วมดำเนินการกับองค์กรธุรกิจหรือสตาร์ทอัพ เพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ” รศ.ดร.สุพจน์กล่าว
โดยคณะได้สนับสนุนบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้าน Data Science และ Machine Learning และสาขาที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมวิจัยในโครงการนี้ โดยมี ผศ.ดร.โปรดปราน บุณยพุกกณะ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ เป็นหัวหน้าโครงการ, รศ.ดร.อติวงศ์ สุชาโต รองคณบดี ด้านนวัตกรรมการเรียนรู้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ เป็นหัวหน้าทีมวิจัย, ดร.เอกพล ช่วงสุวนิช อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ เป็นผู้วิจัยหลัก และ ดร.นฤมล ประทานวณิช อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ เป็นผู้วิจัย นายบริสุทธิ์ กาสินพิลา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮมบายเออร์ไกด์ จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท โฮมดอทเทค จำกัด กล่าวว่า บริษัท โฮมบายเออร์ไกด์ จำกัดดำเนินธุรกิจสื่ออสังหาริมทรัพย์ครบวงจรมานานกว่า 25 ปี ทำให้มองเห็นโอกาสในการนำทั้งข้อมูล ความรู้และประสบการณ์มาต่อยอด ด้วยเทคโนโลยี Data Science และ Machine Learning สร้างนวัตกรรมใหม่ แก้ปมปัญหา (Pain Point) หาวิธีการแก้ไข (Solution) ในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยให้กับผู้บริโภค ตลอดจนช่วยผู้ประกอบการวางแผนลงทุนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด บริษัทจึงได้สร้างความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการร่วมกันภายใต้ชื่อ Chula-Home Dot Tech พร้อมตั้งบริษัท โฮมดอทเทค จำกัด เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการสื่อสารอสังหาริมทรัพย์
“ที่ผ่านมาเป้าหมายของเราคือการเป็นที่พึ่งสำหรับผู้ซื้อบ้าน ด้วยการให้ข้อมูลความรู้เพื่อการตัดสินใจของผู้บริโภค วันนี้เรายังเป็นที่พึ่งของคนซื้อบ้าน แต่เราจะให้ข้อมูลและประสบการณ์ในรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนด้วยการใช้เทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยให้ผู้ซื้อบ้านได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ มีประสิทธิภาพ เกินกว่าที่ความสามารถของคนจะเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ของตัวเอง” นายบริสุทธิ์กล่าว
ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของบริษัทคือการเป็นเพื่อนที่เชื่อถือและไว้วางใจได้ตลอดทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการซื้อบ้าน หรือ Trusty Companion for the Home Buying Journey จึงจะพัฒนาเทคโนโลยีการค้นหาบ้าน การซื้อบ้าน และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อบ้าน
ทั้งนี้ Home Dot Tech เริ่มดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว ปัจจุบันมีทั้งแอปพลิเคชันที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและพัฒนาจนสามารถใช้งานได้แล้ว เช่น Home Buyers Analytics วิเคราะห์ดาต้าอสังหาริมทรัพย์ด้านDemand Side ครั้งแรกของอสังหาริมทรัพย์ไทย, Home Dashboard เครื่องมือบริหารการตลาดกับลูกค้า Walk-in Online ของโครงการอสังหาริมทรัพย์, Home Hop สำหรับค้นหาที่อยู่อาศัยจากไลฟ์สไตล์และความต้องการเฉพาะบุคคล (Persona) ซึ่งให้ผลลัพธ์เกินกว่าการใช้ประสบการณ์ส่วนตัวของบุคคลเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และ Home Event เครื่องมือชมงานมหกรรมที่อยู่อาศัยและอุปกรณ์สื่อสารการตลาดของโครงการ ซึ่งได้พัฒนา Version 2 เพื่อใช้งานในปีนี้